ปรีดีคีตานุสรณ์เป็นผลงานประพันธ์ทางดนตรีของสมเถา สุจริตกุล ประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งทางองค์การยูเนสโก สหประชาชาติ ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสําคัญของโลกในปี ค.ศ. 2000
วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ได้นํา “ปรีดีคีตานุสรณ์” ออกแสดงเป็นรอบปฐมทัศน์ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 โดย สมเถา สุจริตกุล ผู้ประพันธ์ได้ทําหน้าที่เป็นผู้อํานวยเพลง ซึ่งได้รับความสําเร็จอย่างงดงาม
โดยเหตุที่ประธานโฮจิมินห์ และรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้มีสัมพันธภาพอันต่อเนื่องมาตั้งแต่ขบวนการกู้อิสรภาพของเวียดนาม ที่นําโดยประธานโฮจิมินห์ทําการต่อสู้กับพวกล่าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ได้พยายามกลับมาปกครองเวียดนามอีกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง การต่อสู้กู้อิสรภาพของชาวเวียดนามถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่เป็นธรรม นายปรีดีฯ ซึ่งดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุคนั้น พร้อมด้วยมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกแห่งขบวนการเสรีไทย จึงได้ให้การสนับสนุนภารกิจแห่งการกอบกู้เอกราชของเวียดนาม
ในด้านหนึ่งก็คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเวียดนามที่จําต้องอพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาในไทย เป็นการให้การดูแลทางด้านมนุษยธรรม อีกด้านหนึ่งก็คือ การมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งให้กับพลพรรคเสรีไทยตอนสงคราม ประธานโฮจิมินห์ได้มีหนังสือถึงนายปรีดีฯ เพื่อตอบขอบคุณในอาวุธที่ได้รับ ซึ่งได้ประกอบขึ้นเป็นกองพัน ก็จะขอตั้งชื่อว่า “กองพันแห่งสยาม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ชาวเวียดนามในรุ่นต่อ ๆ มาได้รับการบอกเล่าถึงการช่วยเหลือสนับสนุนจากนายปรีดีฯ ในระยะที่พวกเขาประสบกับความยากลําบากอย่างแสนสาหัส จึงทําให้พวกเขาระลึกถึงและไม่ลืมเลือนผลงานของนายปรีดีฯ เลย
ดังนั้น เมื่อได้มีการติดต่อเพื่อจัดแสดงปรีดีคีตานุสรณ์ขึ้น ณ กรุงฮานอย ทางเวียดนามได้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และตระเตรียมการแสดงอย่างแข็งขัน และก็เป็นที่ทราบกันว่ามาตรฐานทางดนตรีของเวียดนาม ก็เป็นที่หนึ่งไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้ โน้ตเพลงซิมโฟนีจากไทยได้ถูกส่งไปให้นักดนตรีเวียดนามฝึกซ้อมเป็นขั้นต้นก่อน เพราะการแสดงเครื่องดนตรีทั้งหมดจะเป็นวงดุริยางค์เวียดนาม รวมทั้งคณะนักร้องประสานเสียง ผู้เข้าร่วมแสดงทางไทย มีเพียงอาจารย์สุดา พนมยงค์ และครูดุษฎี พนมยงค์ ส่วนผู้อํานวยเพลง คือ สมเถา สุจริตกุล ผู้ประพันธ์เพลงซึ่งเต็มใจรับหน้าที่เป็นผู้อํานวยเพลง เพื่อความสําเร็จอันงดงามให้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าฟังการแสดงทั้งชาวเวียดนามและชาวต่างชาติ
9 กรกฎาคม 2545 ปรีดีคีตานุสรณ์ และคณะคนไทยผู้ติดตามชมการแสดงร่วม 100 คน ได้ออกเดินทางถึงฮานอย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้ร่วมเดินทางเพื่อเยี่ยมเยียนเวียดนามตามคําเชิญของทางการรัฐบาลเวียดนาม และก็จะได้เข้าร่วมชมการแสดงด้วย สําหรับผู้ร่วมเดินทาง ประกอบด้วยคุณกําจัด กีพานิช อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, คุณวิเชียร กลิ่นสุคนธ์ ประธานชมรม ต.ม.ธ.ก., อาจารย์ประสาร มฤคพิทักษ์, คุณกมล กมลตระกูล, อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต และ รศ.ปทุมพร วัชรเสถียร ฯลฯ เป็นต้น
ในบ่ายวันเดียวกัน ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ และครอบครัว ได้เดินทางไปยังทําเนียบ ประธานาธิบดี เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีของประเทศ มาดามเหวียน ธิ บินห์ ผู้ซึ่งได้เคยปะพบกันมาแล้วที่ปารีส เมื่อ 30 กว่าปีก่อน และในขณะนั้น เหวียน ธิ บินห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแห่งแนวร่วมปลดแอกเวียดนามใต้ ทําหน้าที่เป็นรองหัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนาม เจรจากับทาง อเมริกา ด้วยมาดที่เฉียบขาด สวยเป็นสง่า สุภาพสตรีเวียดนามในวัยต้น 40 เศษ เป็นที่ประทับใจแก่คนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการที่มั่นคงสามารถโต้ตอบกับนโยบายของฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่สะทกสะท้าน
มาดามเหวียน ธิ บินห์ ได้เข้ารับตําแหน่งรองประธานาธิบดี เมื่อประเทศเวียดนามใต้เป็นเอกภาพแล้ว ปัจจุบันแม้จะมีอายุถึง 70 ปีเศษ แต่ท่านก็ยังมีความสง่างามสมวัย ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสําเร็จของเวียดนาม ซึ่งรองประธานาธิบดี ได้พูดถึงสิ่งที่เป็นความสำเร็จและอุปสรรคที่ยังคงมีอยู่ อนึ่ง ท่านได้รับปากว่าจะไปชมการแสดงปรีดีคีตานุสรณ์ ตามคําเชิญ หลังจากนั้นได้มีการถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก
วันรุ่งขึ้น ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ และครอบครัว ได้ไปคารวะสรีระร่างของประธานโฮจิมินห์ และ ท่านผู้หญิงฯ ก็ได้วางมาลาตรงบริเวณด้านหน้าของสถานที่และเดินทางต่อไปยังที่พักของประธาน โฮจิมินห์ อันเป็นเรือนไม้เล็ก อยู่ด้านหลังทําเนียบประธานาธิบดี อันเป็นแบบอย่างชีวิตที่เรียบง่ายและอุทิศตนเพื่อภารกิจประเทศชาติอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงฯ ยังได้เข้าเยี่ยมท่านเกา หง ลันห์ ผู้เฒ่าอายุ 96 ปี แต่ยังแข็งแรงและมีความจําเป็นเลิศ ซึ่งถือว่าท่านเป็นเพื่อนเก่าคนหนึ่งเคยปฏิบัติงานในเมืองไทยและเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของประธานโฮจิมินห์ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ท่าน สถานีวิทยุโทรทัศน์เวียดนามได้มาถ่ายทําและสัมภาษณ์เพื่อออกอากาศ ในเรื่องสัมพันธภาพของประธานนี้ โฮจิมินห์ และรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดีฯ ตลอดจนการพบปะคุ้นเคยกันฉันท์มิตรสนิทของบุคคลทั้งสองท่านในอดีตเป็นต้น
วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2545 เป็นอันเปิดการแสดงปรีดีคีตานุสรณ์ ณ โรงละครโอเปร่า ใจกลางกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศ ฮานอยโอเปร่า มีอายุร่วมร้อยปี สร้างในสมัยฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม เมอร์ซิเออร์ปอล ดูแมร์ ผู้สําเร็จราชการฝรั่งเศส ซึ่งปกครองอินโดจีนสมัยนั้น ต้องการจะแสดงอิทธิพลบารมีฝรั่งเศสเพื่อแข่งกับอังกฤษที่ปกครองอินเดียสมัยเดียวกัน จึงได้สั่งการให้มีการสร้างโรงละครโอเปร่าขึ้นที่ฮานอยให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทํานองเดียวกับโรงโอเปร่าในยุโรปผสมผสานกับสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเป็นของเวียดนาม
ก่อนการแสดงได้มีการกล่าวสุนทรพจน์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และการกล่าวสุนทรพจน์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเวียดนาม พร้อมกันนี้ได้มีการมอบวิดีทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่นายปรีดีฯได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 และทางเวียดนามก็ได้มอบวิดีทัศน์ภาพยนตร์ชีวประวัติ “ประธานโฮจิมินห์”
รองประธานาธิบดี เหวียน ธี บินห์ มาร่วมชมการแสดง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร.ม.ต.ช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, ท่านเกา หง ลันห์ เพื่อนเก่าผู้อาวุโส และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเวียดนามอีกหลายท่าน คณะทูตานุทูตประจําฮานอย, ชาวเวียดนาม โดยเฉพาะผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในไทย และคณะคนไทยที่ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้
การแสดงได้เริ่มขึ้นด้วยเพลงโหมโรง “ศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นเพลงที่พระเจนดุริยางค์ได้ดัดแปลงมาจากเพลงไทยโบราณหลายเพลง เช่น เพลงจากแตรสังข์ ธรณีกรรแสง ขับไม้ บัณเฑาะว์ อัศดงคต และเพลงสายสมร ที่ราชทูตฝรั่งเศส ลาลูแบร์ ได้บันทึกไว้ในภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ตามที่ทางเวียดนามได้รับมอบวิดีทัศน์ภาพยนตร์เรื่องนี้เพลง “ศรีอยุธยา” มีความไพเราะและขรึมขลัง เหมาะสมอย่างยิ่งในการนํามาเป็นเพลงโหมโรง ทําให้มีความรู้สึกดื่มด่ำประทับใจ เพลิดเพลิน ในการติดตามการแสดงในส่วนต่อไป
ต่อจากนั้น อาจารย์สุดา พนมยงค์ ได้แสดงเดี่ยว Piano Cencerto No.4 in G Major จากบทประพันธ์ของท่าน Beethoven การแสดงจบลงด้วยเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง ท่านรองประธานาธิบดี เหวียน ธิ บินห์ ได้ แสดงความยินดีและชื่นชมเป็นอย่างมาก
สุดยอดของการแสดงในลําดับต่อมาคือ “ปรีดีคีตานุสรณ์” ผลงานของสมเถา สุจริตกุล ซึ่งเป็นซิมโฟนีหมายเลข 4 อันมีความสัมพันธ์กับชีวประวัติของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เริ่มขึ้นด้วยกระบวนที่หนึ่ง ชัยชนะแห่งโศกนาฏกรรม ซึ่งบรรยายถึงอสัญกรรมในต่างแดนด้วยการอุทิศตนรับใช้ประเทศชาติมาโดยตลอด ถือได้ว่าเป็นชัยชนะต่อความตาย
กระบวนที่สอง เพลิงมรสุม เป็นการบรรยายถึงประเทศถูกรุกรานในสงครามโลกครั้งที่สอง การร่วมมือกับคนไทยผู้รักชาติในการกอบกู้สันติภาพและ และความสงบ ให้กลับคืนสู่ประเทศชาติและประชาชน
กระบวนที่สาม พลัดถิ่น บรรยายในต่างแดน โดยเฉพาะการลี้ภัย 21 ปี ในจีน ซึ่งจะมีส่วนประกอบของเพลงจีนที่เยือกเย็นเข้ามาเสริม
และเมื่อถึงกระบวนที่สี่อันเป็นกระบวนสุดท้าย “ธรรมบท” ขับร้องโดยนักร้องประสานเสียงเวียดนาม ซึ่งร้องเป็นภาษาบาลี สะกดด้วยตัวอักษรโรมัน จึงทําให้นักร้องเวียดนามร้องได้โดยสะดวก เพราะภาษาเวียดนามก็ได้ใช้ตัวอักษรโรมันเช่นกัน
ธรรมบทนี้พระพุทธเจ้าทรงอรรถาธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ได้อดทนต่ออุปสรรคทั้งปวง ดําเนินวิถีทางไปในทางที่ถูกต้องที่ควรสู่จุดสูงสุด ดั่งเช่นชั่วชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์
“เขาผู้นั้น เราเรียกว่าพราหมณ์”
เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องยาวนาน ครูดุษฎีซึ่งได้ร่วมร้องเพลงกับนักร้องเวียดนามในกระบวนท่าที่สาม ก็ได้เป็นผู้มอบภาพถ่ายที่อยู่ในกรอบรูปขนาดใหญ่ เป็นภาพประธานโฮจิมินห์ และรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กําลังนั่งสนทนากันอยู่ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ทางฝ่ายเวียดนาม
การแสดงปรีดีคีตานุสรณ์ ณ กรุงฮานอย ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการนําไมตรีจิตมิตรภาพ และวัฒนธรรมจากไทยมาแลกเปลี่ยนกับเวียดนามเพื่อนบ้านของเราที่ไม่เคยลืมผลงานในอดีตของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อประชาชนเวียดนาม การให้การต้อนรับจากกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปวงเป็นไปอย่างดียิ่ง คณะคนไทยที่ได้ร่วมไปด้วย ต่างมีความประทับใจและได้รับความรู้ความเข้าใจที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับเวียดนาม อีกทั้งยังได้เข้าคารวะสรีระร่างของท่านประธานโฮจิมินห์ และเที่ยวชมทิวทัศน์อันสวยสดงดงามของอ่าวฮาลอง สถานที่อันเป็นมรดกโลก
มิตรภาพระหว่างประชาชนไทย-ประชาชน เมื่อเสร็จสิ้นการแสดง ก็ได้รับเสียงปรบ เวียดนาม จึงพัฒนาสนิทแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทุกวันเวลาที่ผ่านไป
พิมพ์ครั้งแรก: ปรีดีสาร ธันวาคม 2545, น. 7-11.
รับชมบันทึกการแสดง “ปรีดีคีตานุสรณ์” ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2543 ได้ทาง
- ชัยชนะแห่งโศกนาฏกรรม https://www.youtube.com/watch?v=0RqsES3yay4
- เพลิงมรสุม https://www.youtube.com/watch?v=5-z_uIaF6uk
- พลัดถิ่น https://www.youtube.com/watch?v=osvXtfuR8mE
- ธรรมบท https://www.youtube.com/watch?v=lHojK8IsBYE