ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

แถมสุข นุ่มนนท์: เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่ไม่เป็นอย่างที่คิด)

8
สิงหาคม
2563

หากเรารวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มาจำนวนหนึ่ง แล้วขอให้แต่ละคนช่วยแนะนําหนังสือที่ควรอ่านสักสิบเล่มสําหรับผู้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปของประเทศไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สุดท้ายแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในรายการแนะนําของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะต้องมีหนังสือชื่อ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏอยู่ด้วย

หากพลิกดูเผิน ๆ หนังสือเล่มนี้คงทําให้ใครหลายคนรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย เพราะถูกตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 แถมยังมีความหนาเพียงแค่ไม่กี่ร้อยหน้า เทียบไม่ติดกับวิทยานิพนธ์บางเล่มเสียด้วยซ้ําที่มีจํานวนหน้าเกือบจะเหยียบเข้าหลักพัน แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นดั่งที่คนชอบพูดกัน คือ “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก เนื่องจากพอได้สัมผัสเนื้อในของหนังสือ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างจริงจังแล้ว เราย่อมพบว่า หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นงานวิชาการที่หนักแน่นมาก และนําเสนอภาพรวมของประเทศไทยระหว่างสงครามอย่างครอบคลง ตั้งแต่เรื่องวัฒนธรรมชาตินิยม ปมขัดแย้งในหมู่ผู้นําไทย สภาพเศรษฐกิจ ไปจนถึงขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น จึงไม่แปลกที่นักวิชาการหลายคนจะต้องเคยผ่าน หรือเคยใช้หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อของเจ้าของ ผลงานที่เรากําลังกล่าวถึงอยู่ ก็คือ “แถมสุข นุ่มนนท์”

 



อาจารย์แถมสุขเคยสังกัดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2538  ชีวิตการทํางานของอาจารย์ต้องถือว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะทับซ้อนพอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่เป็น “ยุคทอง” ของวงการประวัติศาสตร์ไทย เหตุสําคัญเพราะมีการทยอยเปิดแหล่งข้อมูล จดหมายเหตุ ตลอดจนมีนักวิชาการเรืองนามปรากฏตัวขึ้นเป็นจํานวนมาก อาจารย์แถมสุขจึงเป็นบุคคลที่ได้เห็น ได้สัมผัส และได้มีส่วนแต่งเติมยุคทองดังกล่าว 

สําหรับทุกวันนี้ อาจารย์ก็กลายเป็นนักประวัติศาสตร์ในวัยเกษียณ ผู้ใช้เวลามากขึ้นกับลูกหลาน แต่ถึงกระนั้น อาจารย์แถมสุขยังคงความเฉียบคมทางปัญญา และพยายามติดตามความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการเท่าที่สุขภาพจะเอื้ออํานวย ในโอกาสวันสันติภาพไทย เราจึงติดต่อขอสัมภาษณ์อาจารย์แถมสุข ซึ่งอาจารย์ก็ยินดีเปิดบ้านต้อนรับโดยไม่ลังเล

ณ ยามเช้าที่จังหวัดนครปฐม อาจารย์แถมสุขออกมาคอยต้อนรับผู้สัมภาษณ์ถึงหน้าบ้านด้วยรอยยิ้ม  ทีแรก พวกเราเป็นกังวลเล็กน้อย เพราะอาจารย์ต้องอาศัยโรเลเตอร์ไว้ช่วยเดิน แต่อาจารย์ยืนยันว่ายังแข็งแรงดีมาก พวกเราจึงพากันโล่งใจ หลังทักทายแนะนําตัวกันพักใหญ่ ก็ถึงจังหวะที่การสัมภาษณ์เริ่มขึ้น โดยประเด็นแรกที่พวกเราขอให้อาจารย์ช่วยให้ความรู้ คือ เรื่องบรรยากาศทางสังคมในประเทศไทยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนส่วนใหญ่ช่วงดังกล่าวเขามีวิถีชีวิตกันแบบใด

อาจารย์แถมสุขเริ่มต้นจัดการกับประเด็นคําถามด้วยการพาเราย้อนกลับไปหาช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ “ท่านผู้นํา” เพิ่งก้าวขึ้นสู่อํานาจ อาจารย์อธิบายว่า มีความพยายามถักทอจิตสํานึกในเรื่องชาติไว้เป็นฐานสําหรับค้ําจุนอํานาจความชอบธรรมของจอมพล ป. โดยชาวไทยสมัยนั้นจะถูกกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า  ตนกําลังใช้ชีวิตอยู่ใน “ประเทศไทยใหม่” จึงต้องประพฤติตัวให้เป็น “ผู้มีอารยะ” เพื่อช่วยกันสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ ท้ายที่สุด จึงนําไปสู่สิ่งที่อาจารย์แถมสุขนิยามว่าเป็น “การปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างพิสดาร” กล่าวคือ ประเทศไทยช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายถึงขั้นถอนรากถอนโคน

ตัวอย่างเช่น “ความพิสดาร” อย่างหนึ่ง คือ เรื่องการปฏิรูปเครื่องแต่งกายของคนไทย ก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างพิสดาร ผู้ชายนุ่งผ้าม่วงไปทํางาน และนุ่งผ้าแพรสีสันต่าง ๆ เวลาไปเที่ยว  ขณะที่ผู้หญิงนุ่งซิ่น ผ้าถุง หรือโจงกระเบน แล้วใส่เสื้อแขนกระบอก หรือใช้เพียงผ้าผืนเดียวคาดอก  นอกจากนี้ ทั้งหญิงชายนั้นยังไม่สวมใส่รองเท้า ชอบไปไหนมาไหนกันด้วยเท้าเปล่า  จอมพล ป. เห็นว่า ลักษณะการแต่งกายเช่นนี้เป็นที่น่าอาย ไม่มีอารยะ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ความเป็นมหาอํานาจ  รัฐบาลของจอมพล ป. ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยแนะให้ผู้คนทั้งหลายหันมาแต่งกายตามระเบียบที่วางไว้ เช่น ผู้ชายใส่รองเท้าหุ้มส้น ถุงเท้า เสื้อนอก กางเกงขายาว  ส่วนผู้หญิงใส่กระโปรง เสื้อนอกคลุมไหล่ รองเท้ารัดส้น หรือหุ้มส้น

โดยอีกส่วนหนึ่งที่สําคัญอย่างมาก ก็คือ การสวมหมวก ซึ่งต้องทํากันอย่างพร้อมเพรียง กันทั้งเพศหญิง และเพศชาย  ในทัศนะจอมพล ป. นั้น การแต่งกายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมาก เขาวิงวอนคนไทยว่า ควรแต่งกายให้ถูกต้องเรียบร้อย เพราะเป็นการสร้างชาติอย่างหนึ่ง  ถ้าประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประเทศไทยก็จะเจริญเสมอบรรดาอารยะประเทศ  ในแง่นี้ การทําเพื่อชาติจึงเริ่มต้นจากเสื้อผ้าที่สวมใส่เลยทีเดียว ตามแนวนโยบายของภาครัฐขณะนั้น หากประชาชนแต่งกายถูกแบบก็มีส่วนช่วยให้ชาติเจริญก้าวหน้า หากแต่งกายผิดแบบก็ย่อมให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

หลังจากนั้น อาจารย์แถมสุขก็หันมาไขข้อสงสัยที่ว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่รวดเร็วภายใต้การนําของภาครัฐ แล้วคนไทยเขารู้สึกกันอย่างไร ด้านหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนไปเดินตามวิถีชีวิตแบบใหม่ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง วิถีชีวิตเดิมก็ถูกลดค่าให้เป็นสิ่งที่ “ไม่ศิวิไลซ์” (Uncivilized)

อาจารย์ตอบในประเด็นนี้ด้วยสายตาที่มองเหตุการณ์อย่างค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์ ว่า คนไทยมีแนวโน้มเป็นผู้ตามที่ดี ดังนั้น คนไทยจึงเชื่อและปฏิบัติตามคําสั่งของทางการ เพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหา ช่วยให้ชีวิตดําเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นตามปกติ ในแง่นี้ พวกเขาจึงอาจไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ถูกสร้างขึ้นมาตามความต้องการของจอมพล ป. ก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน อาจารย์แถมสุขยังเสนอให้เก็บไปขบคิดต่อด้วยว่า ในกรณีมีคนไทยบางส่วนปฏิบัติตามคําสั่งของทางการเรื่องวัฒนธรรมด้วยความกระตือรือร้น สิ่งที่จูงใจผู้คนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังนั้น คือ ความรักชาติจริงหรือไม่ เพราะตามความคิดของอาจารย์ สิ่งดังกล่าวน่าจะไม่ใช่ความรักชาติ ความหึกเหิม หรืออุดมการณ์ทางการเมืองใด ๆ หากแต่เป็น “กระแสสังคม” หรือที่อาจารย์ใช้คําอย่างเห็นชัดว่า “แฟชั่น” เรื่องการแต่งกายแบบสากลนิยม การเลิกกินหมาก การทําตัวตามตะวันตกที่รัฐไทยพยายามส่งเสริมสิ่งพวกนี้ ถูกผู้คนหลายส่วนมองว่าเป็นอะไรที่ “โก้เก๋” การปฏิบัติตามนโยบายของจอมพล ป. จึงเกิดมาจากความต้องการที่จะทําตัวให้ทันสมัย ไม่อยากตกยุค อยากเป็นเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม  ท้ายที่สุด สําหรับผู้คนกลุ่มนี้ กระแส “การปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างพิสดาร” จึงไม่ใช่ทั้งเรื่อง “อํานาจนิยม” ที่คนถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนวิถีชีวิต และเรื่อง “ชาตินิยม” ที่คนถูกปลุกระดมให้รู้สึกฮึกเหิมไปตามอุดมการณ์ที่ภาครัฐปลูกฝัง หากแต่เป็นเพียงเรื่อง “สมัยนิยม” ที่คนทําตาม “ความโก้เก๋ทันสมัย” ต่างหาก

สําหรับประเด็น “สมัยนิยม” นี้ อาจารย์แถมสุขยังขยายความด้วยการย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องการสวมหมวก เดิมที การสวมหมวกเป็นเรื่องใหม่และประหลาดมาก โดยเฉพาะในหมู่สตรี หลังรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนสวมหมวก คนมากมายต่างพูดถึงแต่เรื่องหมวกว่า จะซื้อหมวกแบบไหนดี ทรงไหนดี เพื่อให้ตัวเองดูโก้เก๋ทันสมัย นโยบายเรื่องหมวกจึงได้รับเสียง ตอบรับดีในหมู่สตรีที่ใส่ใจแฟชั่น แถมรัฐบาลยังใช้วิธีการประชาสัมพันธ์มากมาย เช่น การเชิญสตรีที่เป็นผู้นําแฟชั่นในสมัยดังกล่าวออกมาแต่งกาย ตามแนวทางรัฐนิยม การจัดประกวดการแต่งกาย การเผยแพร่ภาพของสตรีที่แต่งกายสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ยิ่งสร้างกระแส สมัยนิยมที่ไปดึงดูดความสนใจของผู้คนที่รักสวยรักงาม  อย่างไรก็ดี ถึงจุดนี้ อาจารย์แถมสุขเสริมขึ้นมาด้วยว่า นอกจากพวกที่คอยทําตามสมัยนิยมแล้ว คนไทยที่รําคาญใจกับการสวมหมวกก็ต้องมีอยู่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอายุที่คุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ซึ่งพอมีคนไม่ทําตาม รัฐบาล จอมพล ป. ก็ใช้มาตรการเคร่งครัด อาทิ ไม่ให้รถโดยสารรับคนที่ไม่สวมหมวก ไม่ให้สถานที่ราชการรับติดต่อ หรือบางรายอาจโดนหนักถึงขึ้นถูกจับกุมในข้อหาผิดวัฒนธรรม

มุมมองที่ว่าคนไทยแต่งกายตามแบบที่รัฐบาลต้องการเพียงแค่เพราะเดินตามกระแสสมัยนิยมนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่ารัฐบาลสมัยนั้นมีอํานาจถึงขั้นสามารถสร้างกระแสให้สังคมพากันหันมานิยมชมชอบบางสิ่งบางอย่างได้ ซึ่งผิดจากสภาพของประเทศไทยในปัจจุบันนี้  อาจารย์จึงเล่าต่อถึง “เครื่องมือ” ที่รัฐบาลใช้ในการสร้างกระแสค่านิยมดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่า ก็คือ กรมโฆษณาการ หน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ไม่นานนักภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ทําหน้าที่เป็นกลไกสําคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายชาตินิยม และส่งผ่านอุดมการณ์ของจอมพล ป. ลงไปยังมวลชน หรือที่อาจารย์กล่าวว่า “ไปย้อมความคิดประชาชนไทย” โดยเฉพาะรายการสนทนาทางวิทยุของ “นายมั่น ชูชาติ” กับ “นายคง รักไทย” ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสําคัญให้แก่ท่านผู้นํารายการดังกล่าวจะมีพิธีกรสองคนมานั่งพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งแฝงเนื้อหาความรักชาติ นโยบายรัฐนิยม ไปจนถึงแนวปฏิบัติในยามสงคราม

อาจารย์เน้นย้ำว่า เราต้องไม่ลืมสภาพของประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนั้นไม่เหมือนยุคปัจจุบัน ยังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีสื่อมวลชนที่เป็นอิสระจากรัฐบาล เว้นแต่หนังสือพิมพ์ที่จํากัดวงเผยแพร่เฉพาะแค่ตามเมืองใหญ่ ๆ เวลาผู้คนจะเข้าถึงข่าวสารเลย มักต้องผ่านรัฐ กรมโฆษณาการจึงมีอิทธิพลอย่างสูง สามารถผูกขาดทางความคิด และชักจูงให้ประชาชนคล้อยตามในหลาย ๆ เรื่อง  โดยทางกรมได้ใช้วิทยุเป็นช่องทางดําเนินงานด้วยความกระตือรือร้น วิทยุเป็นอะไรที่ทรงพลัง เพราะสามารถกระจายข้อมูลไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ในชนบทที่ผู้คนยังไม่มีวิทยุเป็นของตนเอง พวกเขาก็สามารถมารับฟังได้ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ ยิ่งในหมู่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยแล้ว วิทยุย่อมมีพลังสูงมาก และเวลาที่มีข้อมูลอะไรประกาศออกมาทางวิทยุ ผู้คนก็จะเชื่อกัน ถือว่าเป็นความจริง อย่างกลับไปเรื่องการแต่งกาย พอได้ยินได้ฟังจากวิทยุว่าต้องแต่งกายแบบใดถึงจะดูดี คนจํานวนมากมายก็พากันคล้อยตามแบบไม่สงสัยอะไร จนกลายเป็นกระแสแฟชั่นในท้ายที่สุด

แต่แน่นอนว่า สําหรับกระแสสมัยนิยม พอมีขึ้นแล้วก็ต้องมีลง อาจารย์อธิบายทิ้งท้ายในประเด็นเรื่องบทบาททางวัฒนธรรมของรัฐว่า ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยนับไม่ถ้วนเดินตามนโยบายรัฐบาล แต่สุดท้ายแล้ว กระแสสมัยนิยมที่รัฐบาลจุดประกายไว้ก็ค่อย ๆ จางหายไปตามธรรมชาติ ไม่ต่างอะไรจากกระแสสมัยนิยมอื่นๆ คือได้รับความนิยมเฉพาะสมัยเท่านั้น ไม่ใช่ของที่ถาวรจีรัง ยิ่งพอจอมพล ป. หมดอํานาจด้วยแล้ว สิ่งที่เคยมองกัน ว่าโก้เก๋ดีงามก็เริ่มถูกวิจารณ์กลับว่า เป็นมาตรการที่ทําให้คนไทยสูญเสีย อิสรภาพ และความเป็นตัวของตัวเอง

หลังจากที่อาจารย์แถมสุขอธิบายให้เราฟังอย่างตั้งใจถึงเรื่องราว “การปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างพิสดาร” ในระยะสงคราม เราถามอาจารย์ต่อถึงประเด็นที่ใหญ่โตไม่แพ้กัน คือ เรื่องทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยว่า พอมีทหารชาวต่างชาติเข้ามาประจําการในประเทศมากมายนับหมื่น ผู้คนชาวไทยมีปฏิกิริยาตอบรับกันอย่างไร วิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

อาจารย์แถมสุขเปิดประเด็นด้วยการยอมรับว่า มีคนไทยไม่พอใจ กระทั่งแข็งขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงแรกของสงคราม แต่ขณะเดียวกัน อาจารย์ก็เสนออีกมุมมองหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนักว่า แท้จริงแล้ว ความไม่พอใจที่ผู้คนมีต่อทหารญี่ปุ่นอาจไม่ได้แพร่กระจายกว้างไกลอย่างที่เรายุคปัจจุบันมักรู้สึก คือ มีบางคนอึดอัดไม่พอใจรุนแรง แต่ก็มีบางคนที่แค่รู้สึกรําคาญใจแบบอ่อน ๆ รู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย หรือ กระทั่งรู้สึกยินดีเห็นเป็นโอกาสของประเทศ  อาจารย์ไม่มีคําตอบแน่ชัดว่า ผู้คนส่วนใหญ่สมัยก่อนเขารู้สึกโน้มเอียงไปทางไหน แต่อาจารย์แถมสุขไม่คิดว่าประชาชนไทยจะสามารถรู้สึกไปทางเดียวเหมือนกันหมดประเทศได้ สังคมมีความแตกต่างหลากหลายดํารงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตาม

อาจารย์เท้าความถึงเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 วันสําคัญที่ทหารญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาในประเทศไทย อาจารย์บรรยายถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาอย่างรวดเร็วจนคนไทยตั้งตัวไม่ติด และไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถึงกระนั้น ผู้คนทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับญี่ปุ่นมากนัก คือ ถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติ เป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คนไทยก็เริ่มรู้สึกว่า การที่มีทหารญี่ปุ่นจํานวนมากมาอาศัยอยู่ในประเทศนั้นส่งผลกระทบให้ชีวิตประจําวัน และการทํามาหาเลี้ยงชีพของตนไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ทําอะไรไม่ได้มากกว่าอยู่เฉย ๆ และยอมรับสภาพที่เป็นไป หลายคนมีอาชีพประจํา มีเงินเดือน มีภาระต้องคอยเลี้ยงดูครอบครัว จะให้พวกเขาออกไปเคลื่อนไหวทําอะไรเสี่ยงภัย ก็เป็นเรื่องผิดวิสัย ทางออกคือการบ่นเพื่อระบายความรําคาญใจออกมา แล้วก็ใช้ชีวิตกันตามเดิม อดทน อยู่กับทหารญี่ปุ่นกันต่อไป

อาจารย์แถมสุขยังเตือนด้วยว่า การจะไปประเมินความรู้สึกนึกคิดของประชาชนไทยช่วงสงครามนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความระมัดระวังมาก เพราะด้านหนึ่งมีความรู้สึกพื้นฐานของพวกเราในยุคปัจจุบันว่า ชาวไทยสมัยก่อนน่าจะต้องรู้สึกไม่พอใจ เห็นว่า ประเทศของตนถูกญี่ปุ่นกดขี่รุกราน นี่เป็นการเอาปัจจุบันไปมองอดีต เพราะอย่างที่บอก คือ ยังมีคนไทยที่ไม่ค่อยสนใจการเข้ามาปฏิบัติการของกองทัพญี่ปุ่น คนไทยส่วนนี้ ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก หรือบางคนก็ยินดีเสียด้วยซ้ำ เวลาทหารญี่ปุ่นมาแจกสมุด แจกดินสอ เด็ก ๆ หลายคนก็ยิ้มชอบใจ หรือพ่อค้าบางรายก็ได้กําไร ร่ำรวยขึ้นมากจากการทําธุรกิจกับกองทัพญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่ง อาจารย์แถมสุขชวนให้เราตั้งคําถามว่า เวลาเราพูดถึงคนไทยสมัยสงคราม เราเองคิดว่าหมายถึงใครกัน เพราะชาวไทยในภาคใต้ก็คงมีประสบการณ์ และความทรงจําต่อทหารญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากชาวไทยในเขตกรุงเทพฯ หรือในหมู่ภาคใต้เอง ประสบการณ์ของแต่ละจังหวัดย่อมไม่มีทางเหมือนกัน บางจังหวัดราบรื่น บางจังหวัดขมขื่น บางจังหวัดราบรื่นมาก บางจังหวัดราบรื่นน้อย บางจังหวัดขมขื่นมาก บางจังหวัดขมขื่นน้อย ฯลฯ สุดท้าย เราจึงต้องไม่มองความเห็นของคนไทยต่อทหารญี่ปุ่นเป็นก้อนใหญ่ ๆ แค่ก้อนเดียว สถานการณ์ความรู้สึกนึกคิดไม่เคยเป็นเนื้อ เดียวกัน หากกลับเต็มไปด้วยความหลากหลาย แถมยังแปรเปลี่ยนไปตลอดช่วงเวลาของสงครามด้วย รายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะมองข้าม หรือเหมารวมไม่ได้เลย

อาจารย์ยังเสริมต่อไปอีกว่า สําหรับคนไทยบางส่วน โดยเฉพาะที่คาดหวังว่าประเทศของตนจะต้องก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอํานาจให้จงได้ พวกเขายินดีที่ญี่ปุ่นสนับสนุนให้ประเทศไทยได้รับดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับคืนมาจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2483 โดยความยินดีนี้ก็ยังเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อญี่ปุ่นช่วยนําดินแดนที่ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยถูกอังกฤษยึดไปกลับคืนมา ความรู้สึกเป็นมิตรต่อญี่ปุ่นนั้นมีอยู่จริง เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนไทยบางส่วนที่ตื่นเต้น และภาคภูมิใจที่ชาติของตนได้มีสถานะเป็นมหามิตรเคียงข้างญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับไล่จักรวรรดินิยมตะวันตกออกไปจากแผ่นดินเอเชีย แม้ว่าเราจะไม่สามารถบอกว่า คนไทยที่คิดแบบนี้มีจํานวนอยู่เท่าใด มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ที่แน่นอนอีกประการ คือ ความรู้สึกของคนไทยต่อทหารญี่ปุ่นยังแปรผันไปตลอดระยะเวลาของสงคราม บางส่วนที่เคยยินดี สนับสนุนกลับเริ่มหันมาไม่พอใจ โดยเฉพาะหลังฝ่ายอักษะตกเป็นรองและเสียที่มันในสงครามหลายแห่ง ยิ่งพอมาเจอปัญหากระทบกระทั่งกับทหารญี่ปุ่น และสภาวะข้าวยากหมากแพงที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความยินดีที่เคยมีก็เสื่อมไปจนแทบไม่หลงเหลืออยู่ช่วงปลาย ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2  เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ จึงต้องมีความละเอียด อย่าสรุปอะไรไปแบบฟันธงว่า คนไทยเกลียดญี่ปุ่น หรือเข้าร่วมกับญี่ปุ่น รายละเอียดมีอยู่มากมาย และสลับซับซ้อนกว่านั้นหลายเท่าตัว

เมื่ออาจารย์แถมสุขเข้ามาแตะประเด็นความรู้สึกอันหลากหลายที่ ชาวไทยมีต่อจักรวรรดิญี่ปุ่น เราเลยถามอาจารย์ถึงเรื่องขบวนการเสรีไทยบ้างว่า ขบวนการใต้ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันถึงความอึดอัดใจที่ชาวไทยมีต่อการเข้ามาของจักรวรรดิญี่ปุ่นหรือไม่ และขบวนการเสรีไทยมีบทบาททางสังคมใหญ่โตแค่ไหนกัน

ในเรื่องนี้ อาจารย์แถมสุขไม่ปฏิเสธว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นองค์กรของชาวไทยผู้รักชาติที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท และยอมเสี่ยงตนเองเป็นสายลับคอยบ่อนทําลายกําลังของฝ่ายญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียว อาจารย์ให้ประเด็นที่น่าคิดแก่เรา 2 เรื่องว่า อันที่จริงแล้ว ขบวนการเสรีไทยอาจไม่ใหญ่โตอย่างที่เราชอบอ้างถึงในปัจจุบัน กล่าวคือ ขบวนการเสรีไทยนั้นมีอยู่จริง และมีสมาชิกเข้าร่วมมากมาย แต่ไม่มากมายเท่าที่เรามักเชื่อกัน

อาจารย์พูดว่า “เสรีไทยในยุคนั้นมีน้อยกว่าปัจจุบัน …  เพราะพอหลังสงคราม ใคร ๆ ก็เป็นเสรีไทยกันหมด” คือ มีคนอวดอ้างหลังญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ว่า ตนเคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย อาจจะเพื่อผลประโยชน์อะไรก็แล้วแต่  ส่วนประเด็นที่สอง ในบรรดาคนไทยที่เคยลองขัดขวางต่อต้านฝ่ายญี่ปุ่น เช่น ขโมยอาวุธ ทําลายจุดยุทธศาสตร์ เตะเสบียง ทหารญี่ปุ่นลงจากขบวนรถไฟ ฯลฯ ผู้คนเหล่านี้รับรู้ถึงการดํารงอยู่ของขบวนการเสรีไทยหรือไม่ พวกเขาทําไปเพียงเพราะไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่น หรือเพราะร่วมอยู่ในขบวนการเสรีไทย  จุดนี้ต้องแยกแยะกันให้รอบคอบ ไม่ควรเหมารวมว่า คนไทยทุกคนที่ได้เคยทําอะไรต่อต้านญี่ปุ่น คือ สมาชิกของขบวนการเสรีไทยไปเสียหมด เพราะมีบรรยากาศช่วงหลังสงครามที่คําว่า “เสรีไทย” กินความหมายกว้างไปไกลถึงผู้รักชาติทุกคนที่ไม่ได้เข้าข้างเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น ไม่ได้จํากัดแค่เฉพาะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย จึงควรพิจารณากันดี ๆ ว่า คนที่เรียกตัวเอง หรือถูกผู้อื่นเรียกว่า เป็น “เสรีไทย” นั้น เขาเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ หรือเป็นแค่คนที่ไม่เห็นด้วยกับญี่ปุ่น

สุดท้าย หลังรบกวนเวลาอาจารย์มาเกือบ 2 ชั่วโมง เราขออาจารย์ให้ช่วยตอบอีกหนึ่งคําถามว่า อาจารย์พอจะมีคําแนะนําอะไรบ้างหรือ สําหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงคราม ครั้งที่ 2

“ศึกษาทําไม” คือ ประโยคแรกที่ออกมาจากปากของอาจารย์แถมสุข ทันทีที่เราเสนอคําถามสุดท้าย อาจารย์ฝากไว้ว่า นักวิจัยจะต้องรู้ตัวก่อนว่าจะศึกษาเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร เพื่อทําปริญญาโท เพื่อทําปริญญาเอก หรือเพื่อตอบสนองความสนใจ เพราะการมีเป้าหมายชัดเจนนั้นสําคัญมาก เป้าหมายจะเป็นตัวกํากับทิศทางของงานทั้งหมด เช่น ถ้าอยากจะทําเพื่อจบปริญญาโท ควรเลือกศึกษาเฉพาะเพียงบางแง่มุม ไม่ให้หัวข้อของตนมีความกว้างขวางครอบคลุมจนเกินไป คํานึงถึงเวลา และทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่อย่างจํากัด กับข้อมูลที่มีอยู่เป็นจํานวนมหาศาล  โดยส่วนตัว อาจารย์คิดว่า ประเด็นเรื่องประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีคนศึกษามากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีคนทํา เช่น เรื่องรถไฟสายเหนือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในเชิงหลักฐานก็ยังมีเอกสารจดหมายเหตุที่ญี่ปุ่นอยู่บ้าง ซึ่งยังไม่มีนักประวัติศาสตร์ไทยไปค้นคว้าอย่างจริงจัง เหตุเพราะข้อจํากัดทางภาษา  หลายปีก่อน อาจารย์เองก็เคยไปพยายามนั่งอ่าน แม้จะมีคนช่วยแปล แต่ก็เกินกําลังจริง ๆ จึงฝากไว้เผื่อมีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจ

บทสนทนาทั้งหมดกับอาจารย์แถมสุขในเรื่องประเทศไทยระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยให้เราได้ข้อคิดใหม่ ๆ ติดตัวกลับไปจํานวนมาก นอกเหนือจากรายละเอียดปลีกย่อยในเชิงข้อเท็จจริงแล้ว อาจารย์ยังชวนให้เราตั้งคําถามกับความเข้าใจเดิม ๆ ที่เรามีต่อประวัติศาสตร์ว่าอาจไม่เป็นอย่างที่คิด หลายต่อหลายครั้ง อาจารย์ได้หยิบยกเอาประเด็นที่เราคุ้นเคยมาพิจารณาใหม่ผ่านแง่มุมที่แตกต่าง จนทําให้เรารู้สึกประหลาดใจไปตาม ๆ กัน เพราะสุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้ให้เราเชื่อ หากแต่มีไว้ให้เราตั้งคําถาม ผู้ใฝ่รู้จึงต้องคอยวิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่าส่งต่อกันว่า มีความถูกต้องแม่นยําเพียงใด บางครั้งลําพังหลักฐาน หรือข้อมูลใหม่เพียงชิ้นเดียว ก็อาจเปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่ออดีตไปได้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมไม่เคยหยุดนิ่ง และยังคงมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทบทวนอดีตเสมอ ไม่ว่าอดีตดังกล่าวจะเป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่หรือเรื่องราวอันเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

 

พิมพ์ครั้งแรก: ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (บรรณาธิการ), 70 ปี วันสันติภาพไทย, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, น. 41-54.