ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ทหารชั่วคราว

9
สิงหาคม
2563

 

“ถ้าตั้งใจทำอะไร เมื่อคิดว่าดีแล้ว ชอบธรรมแล้วก็ต้องทำให้ได้ แม้จะต้องเสี่ยงต่อความยากลำบาก เสี่ยงต่ออันตราย เสี่ยงต่อเสียงติฉินนินทาเย้ยหยัน ก็ต้องมานะอดทนทำไป โดยหวังประโยชน์แก่ส่วนรวม” 

(ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน ผู้หญิงในชีวิตของผม - แม่)

 

ในบรรดาเสรีไทยสายอังกฤษที่เป็นทหาร 'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' ได้รับยกย่องทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการให้เป็นระดับหัวหน้า หรือ ระดับผู้นำคนหนึ่งของนักเรียนอังกฤษ ที่สมัครเข้าเป็นทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และนอกจาก 'พ.ต. เสนาะ นิลกำแหง' (เนติบัณฑิตไทยปี 2470) ผู้มีโอวุโสแล้ว “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เป็นผู้เดียวที่ได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ

 

หนุ่มน้อยนักเรียนนอก

นาย 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' เกิดที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) บิดาเป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย ส่วนมารดาเป็นมีเชื้อสาย-จีน นายป๋วยได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกฝรั่งเศสจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ ทางโรงเรียนได้บรรจุเข้าเป็นครูสอนหนังสือขณะที่มีอายุ 18 ปี

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ในวัยเยาว์
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ในวัยเยาว์

 

เมื่อนาย 'ปรีดี พนมยงค์' ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ขึ้นในปี พ.ศ. 2477 “มาสเตอร์ป๋วย” ครูหนุ่มวัย 18 ปี จึงได้สมัครเข้าเรียนเป็นนักศึกษารุ่นแรกและได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2480 แล้วเปลี่ยนอาชีพใหม่มาเป็นล่ามให้อาจารย์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ  ปีต่อมานายป๋วยสอบได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลัง ณ ประเทศอังกฤษ

อย่างช้าสุดที่นายปรีดีรู้จักกับนายป๋วย คือ เมื่อนายป๋วย นักเรียนทุนกระทรวงการคลัง ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งที่ LSE 'นายวิจิตร ลุลิตานนท์' เลขาธิการ ม.ธ.ก. นำความไปเสนอต่อนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ในเวลานั้น เพื่อให้ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดี

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต

 

"สงครามมหาเอเชียบูรพา" อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ กำลังศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ LSE มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อทราบข่าวว่ากองทัพญี่ปุ่นรุกรานเมืองไทย นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษก็มารวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งที่เป็นนักเรียนเคมบริดจ์แท้และนักเรียนจากที่อื่นๆ รวมทั้งนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อพยพจากลอนดอนมาด้วย

'นายเสนาะ ตันบุญยืน' หนึ่งในนักเรียนเคมบริดจ์ ได้ทำหนังสือถึง 'ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช' อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เชิญให้เดินทางมากรุงลอนดอนเพื่อดำเนินการจัดตั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ขึ้นในอังกฤษ โดยรวบรวมจากนักเรียนไทยและคนไทยที่ไม่เดินทางกลับจากไทยตามคำสั่งของรัฐบาลเช่นเดียวกับที่ ม.ร.ว.เสนีย์จัดตั้งในสหรัฐฯ

นายเสนาะทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2485 หลังจากรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ 5 วัน และได้รับตอบจาก ม.ร.ว.เสนีย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมว่าจะส่ง 'นายมณี สาณะเสน' เลขานุการโทแห่งสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เดินทางมากรุงลอนดอนเพื่อประสานงานการจัดตั้งเสรีไทยที่อังกฤษ

นายมณีติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตัน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษแล้ว จึงเดินทางมาถึงกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ด้วยความสามารถและด้วยการติดต่อเป็นการภายในของนายมณี ('ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน' ทรงดำเนินการอีกทางหนึ่งด้วย) รัฐบาลอังกฤษจึงรับอาสาสมัครนักเรียนไทยเข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ

ทหารออกจากลิเวอร์พูล เดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่แอฟริกาใต้ไปขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 26 เมษายนปีเดียวกัน รวมเวลาเดินทาง 103 วัน

คณะเสรีไทยในเคมบริดจ์ลงมติให้นายเสนาะ ตันบุญยืน และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ติดต่อประสานกับนายมณี สาณะเสน หลังจากนายเสนาะได้ทำหนังสือเวียนแจ้งข่าวให้คนไทยในประเทศอังกฤษทราบถึงความก้าวหน้าในการจัดตั้งเสรีไทยและข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทยแล้ว นายมณีก็ได้พึ่งนักเรียนไทยกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญในการติดต่อประสานงานกับคนไทยในอังกฤษด้วย

นายมณีได้เรียกประชุมอาสาสมัครเสรีไทยในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2485 และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ภัตตาคาร “เลย์ออน” เพื่อเป็นกำลังใจแก่อาสาสมัครเสรีไทยซึ่งกองทัพบกอังกฤษรับเข้าเป็นทหาร 36 คนด้วย

 

 

ทหารชั่วคราว

'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' เป็นพลทหารอังกฤษนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยเข้าประจำในกองการโยธา (Pioneer Corps) ทุกคนได้ฝึกวิชาทหารตามค่ายต่างๆ จนกระทั่งวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2486 พลทหารเสรีไทยจึงลงเรือสินค้าบรรทุกจากนั้น นายป๋วยและเสรีไทยสายอังกฤษอีก 21 นาย ได้รับการคัดเลือกให้ไปฝึกฝนการรบที่ค่ายฝึกของกำลัง 136 แห่งหน่วยบริหารการปฏิบัติการเฉพาะกิจ (เอส.โอ.อี. ของอังกฤษ มีหน้าที่รับผิดชอบในลักษณะเดียวกับหน่วยโอ.เอส.เอสของสหรัฐฯ) ขึ้นกับกระทรวงการสงครามเศรษฐกิจของอังกฤษ ทหารเสรีไทยกลุ่มนี้มีนามแฝงว่า “กลุ่มช้างเผือก” อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของแผนกสยาม (เอส.ซี.เอส.) ในกองกำลัง 136 เมื่อฝึกครบตามหลักสูตรเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 แล้ว  พลทหารเสรีไทยจึงได้รับยศร้อยตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ

 

กองกำลัง 136 สังกัดกองทัพอังกฤษ-เสรีไทย
กองกำลัง 136 สังกัดกองทัพอังกฤษ-เสรีไทย

 

ช่วงเวลานั้น ทางอังกฤษทราบว่ามีองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นอุบัติขึ้นในประเทศไทยแล้ว และทางองค์การได้ส่ง 'นายจำกัด พลางกูร' เล็ดลอดออกไปถึงฉงชิ่ง ประเทศจีน ทางอังกฤษจึงให้ 'หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน' เดินทางไปพบนายจำกัด เมื่อทราบข้อมูลจากนายจำกัดแล้ว หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทได้ให้ 'นายกระจ่าง ตุลารักษ์' เป็นคนนำสาส์นของกองทัพอังกฤษไปให้ 'นายปรีดี พนมยงค์' เพื่อนัดหมายให้รอรับเสรีไทยสายอังกฤษคณะแรกที่จะลอบเข้าประเทศโดยเรือดำน้ำ ซึ่งจะยกพลขึ้นบกที่จังหวัดพังงาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486

'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' ใช้ชื่อรหัสว่า “เข้ม” เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ “พริชาร์ด” โดยมีนายทหารอังกฤษ 2 นาย และสิบเอก 1 นาย มาส่งทหารเสรีไทย 3 นายขึ้นบก เดินทางโดยเรือดำน้ำ “แทคติเชี่ยน” ของอังกฤษจากฐานทัพที่กรุงโคลัมโบ เกาะลังกา ไปถึงอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาปลายเดือนพฤศจิกายน 2486 แต่ปฏิบัติการดังกล่าวได้ประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีการตอบรับจากเสรีไทยภายในประเทศและไม่มีใครมาคอยรับ

 

ประทาน เปรมกมล, สำราญ วรรณพฤกษ์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปฏิบัติการพริชาร์ดลักลอบเข้าประเทศไทย
ประทาน เปรมกมล, สำราญ วรรณพฤกษ์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปฏิบัติการพริชาร์ดลักลอบเข้าประเทศไทย

 

เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยโดยเรือดำน้ำประสบความล้มเหลว จึงได้มีการวางแผนกันใหม่ โดยพวก “ช้างเผือก” 2-3 คนจะต้องเข้าประเทศไทยด้วยการกระโดดร่มจากเครื่องบินพร้อมด้วยเครื่องรับส่งวิทยุ บริเวณปฏิบัติการจะเป็นพื้นที่ในป่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลกในเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ. 2487

สมาชิกช้างเผือกจะแยกออกเป็น 2 คณะ คณะละ 3 คน โดยคณะแรกจะทำการในเดือนมีนาคม เมื่อกระโดดลงไปแล้วให้ซ่อนตัวอยู่ในป่าสูง ส่งวิทยุติดต่อฐานทัพ และเตรียมรับคณะที่ 2 ซึ่งจะปฏิบัติการในเดือนถัดไป และหากเป็นไปได้ให้ติดต่อขบวนการใต้ดินภายในประเทศด้วย

ปฏิบัติการของคณะแรกอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายทหารเสรีไทยทั้งสามคนได้กระโดดร่มลง (ผิดจุด) ที่บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท ซึ่งนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อเท้าแพลงหลังจากลงถึงพื้นแล้ว โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือศึกษาแผนที่ ตามมาด้วยการออกค้นหาร่มสัมภาระที่มีเสบียงอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ

เวลาประมาณตีห้า ทหารเสรีไทยทั้งสามนำสัมภาระที่ไม่จำเป็นไปซุกซ่อน และต้องส่งวิทยุติดต่อกับฐานทัพเพื่อรายงานผลการปฏิบัติการ แต่การติดต่อทางวิทยุไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งสายของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ล้อมจับนายป๋วยที่อยู่ในป่าตามลำพัง เนื่องจากเพื่อนทั้งสองไปส่งวิทยุ

นายป๋วยถูกนำตัวไปอำเภอวัดสิงห์โดยใช้โซ่ล่ามข้อเท้าติดกับเกวียน เมื่อมาถึงสถานีตำรวจวัดสิงห์ นายป๋วยก็ถูกส่งเข้าห้องขัง จนกระทั่งบ่ายวันต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดชัยนาทก็ได้มารับตัวนายป๋วยไป เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนแล้วก็ได้ส่งนายป๋วยไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจก่อนที่จะส่งไปอยู่ที่เรือนจำจังหวัดชัยนาท จากนั้นตำรวจก็นำตัวนายป๋วยเดินทางไปที่กองตำรวจสันติบาลในเวลาต่อมา

ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 ที่กองกำลังตำรวจสันติบาลปทุมวันมีนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษพำนักอยู่ทั้งหมด 8 นาย และต่อมาในเดือนสิงหาคม-กันยายน ก็มีนายทหารเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาเข้ามาอยู่ในความดูแลของตำรวจสันติบาลด้วยอีก 8 นาย

การคุมขังที่กองตำรวจสันติบาลนั้น อธิบดีกรมตำรวจสั่งให้ดูแลพวกเสรีไทยให้ดี โดยทำกันเป็นความลับภายใน ส่วนภายนอกให้ถือเป็นผู้ต้องหาอุกฉกรรจ์ และให้เขียนรายงานถึง 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' นายกรัฐมนตรีโดยเน้นถึงความรักชาติให้มากที่สุด

นายป๋วยลักลอบไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการช่วยเหลือของตำรวจ ครั้งแรกเพื่อมอบสาส์นของ 'ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน' ให้หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และตำรวจที่นำตัวนายป๋วยมาก็ได้เสี่ยงอันตรายด้วยการแอบเอาเครื่องรับส่งวิทยุที่ยึดไว้มาให้นายป๋วยได้ทดลองส่งวิทยุติดต่อกับฐานทัพสัมพันธมิตรในอินเดีย เมื่อติดต่อกับฐานทัพได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 จึงรายงานให้นายปรีดี พนมยงค์ทราบ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา วิทยุของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ได้ถูกใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารและประสานงานระหว่างเสรีไทยในประเทศกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ปฏิบัติการมีความคืบหน้ารุกคืบไปอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงไว้เนื้อเชื่อใจและให้ความสำคัญกับขบวนการเสรีไทยในประเทศเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2488 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนที่อินเดียและอังกฤษเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อไปถึงอินเดีย นายป๋วยก็ได้เลื่อนยศเป็นพันตรี แล้วเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศอังกฤษ โดยนายปรีดีได้มอบหมายให้ไปปฏิบัติงานเสรีไทยที่สำคัญด้วย นั่นคือ การไปขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับรองขบวนการเสรีไทยเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐฯ ได้รับรองแล้ว และไปขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษปลดปล่อยเงินสำรองเงินตราที่ประเทศไทยฝากไว้ที่อังกฤษด้วย แต่ก็มิเป็นผลสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้

ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488 นายป๋วยเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยเครื่องบินอังกฤษมาลงที่สนามบินลับนาอาน จังหวัดเลย จากนั้นนายป๋วยก็ได้ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งสงครามยุติลง

 

คนดีศรีแผ่นดิน

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเครื่องแบบชุดพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเครื่องแบบชุดพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ

 

หลังสงคราม นายป๋วยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการของคณะผู้แทนไทยไปเจรจากับอังกฤษ โดยคณะผู้แทนไทยได้พยายามต่อรองกับอังกฤษอย่างสุดความสามารถ การเจรจาได้ยืดเยื้อต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน จนในที่สุดรัฐบาลไทยได้ให้คณะผู้แทนลงนามในข้อตกลงที่เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกเรียกตัวกลับไปศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกที่ยังค้างอยู่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนก่อนที่การเจรจาจะสิ้นสุดลง โดยในระหว่างนั้นก็ได้รับคำสั่งจากนายปรีดี พนมยงค์ให้ไปร่วมกับนายทหารเสรีไทยคนอื่นๆ เพื่อถวายความอารักขาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระอนุชาซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินจากสวิตเซอร์แลนด์นิวัตประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในปฏิบัติการเสรีไทยของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์

หลังจากสำเร็จปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ. 2492 แล้ว นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงเดินทางกลับมารับราชการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ในราชการเป็นอันมาก เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ชำนาญการคลัง, ผู้เชี่ยวชาญการคลัง, รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานกรรมการสาขาเศรษฐศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ, ศาสตราจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยปรินซตันและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานภาครัฐ ประจำปี 2508 อันทรงเกียรติอีกด้วย

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นายป๋วยจึงเดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยกลับมาเยี่ยมประเทศไทยบ้างเป็นครั้งคราว  หลังจากพำนักที่บ้านชานกรุงลอนดอนอยู่นานกว่า 20 ปี ก็กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' เป็นตัวอย่างของคนไทยผู้รักชาติ รักความเป็นธรรมและความชอบธรรม มีความกล้าหาญและองอาจในการที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อแผ่นดิน จากบทบาทในขบวนการเสรีไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า 'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' เป็นคนไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน

 

เรียบเรียงใหม่จาก: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546, น. 969 - 984.