ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อ่าน ชีวประวัติของพลเมืองไทย

22
กันยายน
2563

ชีวประวัติของพลเมืองไทย

 

ชีวประวัติของพลเมืองไทย

 

ชื่อหนังสือ : ชีวประวัติของพลเมืองไทย: กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย (2475 – ปัจจุบัน)

ผู้เขียน : ณัฐพล ใจจริง

สำนักพิมพ์ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ 

ปีที่พิมพ์ : 2556

ราคา : 95 บาท

สั่งซื้อได้ที่ : https://shop.pridi.or.th/th/product/645042/product-645042

 

ชีวประวัติของพลเมืองไทย: กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย (2475 – ปัจจุบัน) เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ในชุดปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ที่ ดร.ณัฐพล ใจจริง ได้แสดงไว้ในปี 2556

จุดเน้นของหนังสือเล่มนี้ คือ การนำเสนอมุมมองทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับที่ทางในทางประวัติศาสตร์ของ “สามัญชน” โดยชวนตั้งคำถามถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไม่ค่อยมีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของสามัญชน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักบอกเล่าประวัติศาสตร์แบบ “มหาบุรุษ” หรือ “ราชาชาตินิยม”

ในหนังสือเล่มนี้ ดร.ณัฐพล ใจจริง ตั้งสมมุติฐานว่า การที่ประชาธิปไตยของไทยมีลักษณะไม่ยั่งยืน มาจากความไม่สมดุลของความรู้ของผู้คนที่มีต่อการจัดวางสถานะของตนเองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเหมาะสมด้วย เนื่องจากในสังคมไทย กระบวนการทำให้ความรู้ที่เกิดประโยชน์มีเพียงแต่กระบวนการทำให้เกิดความรู้ที่เกิดประโยชน์ต่ออภิชนคนชั้นสูงเท่านั้น  การที่ประวัติศาสตร์ไม่ค่อยได้กล่าวถึงคนธรรมดา “สามัญชน” จึงทำให้ไม่เกิดความตระหนักถึงความรู้และความสำคัญของ “สามัญชน”

หนังสือเริ่มต้นจากการสำรวจความหมายของ “สามัญชน” ผ่านมุมมองทางเวลาและลัทธิทางการเมือง การให้นิยามความหมายของ “สามัญชน” “ไพร่” “พลเมือง” และ “ราษฎร” คำทั้ง 4 คำนั้น มีการปรับเปลี่ยนความหมายกาลเวลา

ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจได้พยายามสร้างสถานะของ “สามัญชน” ให้แตกต่างกันไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกัน  ในช่วงก่อน 2475 ทัศนะของผู้มีอำนาจต่อ “สามัญชน” มีลักษณะเป็นไปในเชิงดูถูกและมองว่า “สามัญชน” ไม่สามารถทำให้เป็นอารยะได้ หากปราศจากชนชั้นนำจารีตที่เป็นผู้ปกครอง และแม้ “สามัญชน” คนใดจะพยายามข้ามพรมแดนทำหน้าที่ปัญญาชนซึ่งเป็นงานสงวนไว้สำหรับเจ้านายและขุนนางก็จะถูกกล่าวหาว่า “ทำเทียมเจ้าเทียมนาย” ดังเช่นที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์

ตัวอย่างของทัศนะของเจ้านายที่มองว่า “สามัญชน” ไร้เหตุผลและไม่เจริญ ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลนติดล้อ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “ราษฎรชอบเล่นการพนันและหวย เงินไม่มีประโยชน์สำหรับราษฎร หากจะมีประโยชน์สำหรับราษฎรเพียง 2 ประการเท่านั้น คือ เสียภาษี และเล่นการพนัน”

อย่างไรก็ตาม สถานะของราษฎรเปลี่ยนแปลงไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะของ “สามัญชน” ที่ต่ำต้อย ไม่ได้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ และเป็นผู้รับใช้ มาสู่การเป็นผู้มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองที่นำมาสู่การสร้างความหมายและคุณค่าของคำที่เปลี่ยนแปลงไป  อย่างไรก็ตาม สถานะเช่นว่านั้นก็ไม่ได้มั่นคงมากนัก เมื่อภายหลังปี 2490 ซึ่งกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงได้กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองและสามารถฟื้นฟูตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในทางการเมืองได้สำเร็จ และเริ่มเกิดงานเขียนประเภทปฏิกิริยาที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตแสนสุขของ “สามัญชน” ภายใต้ร่มพระบารมี ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับภาพความขัดแย้ง ความไม่สงบ และความยุ่งเหยิงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้าปี 2490 ตัวอย่างงานเขียนในลักษณะนี้ ก็คือ สี่แผ่นดิน วรรณกรรมชิ้นเอกของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

จุดเปลี่ยนของสถานะ “สามัญชน” ในประวัติศาสตร์ไทยได้รับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งอย่างสำคัญเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2549 ที่เป็นการลดทอนคุณค่าของ “สามัญชน” อีกครั้งหนึ่ง และนำกลับมาสู่กระแสการโต้ตอบกลับเพื่อและเสียดสีการรัฐประหาร 2549

ท้ายที่สุดแล้ว สถานะของ “สามัญชน” นั้นก็ยังไม่มีความปลอดภัย และยิ่งไปกว่านั้นสถานะดังกล่าวกลับคลุมเครือยิ่งกว่าเดิมเมื่อสังคมไทยได้ผ่านการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี 2557