การค้นหาว่า ทรรศนะใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามเริ่มจากบุคคลใดนั้น ก็จะปรากฏว่า ฝ่ายที่อยู่ในพลังเก่าที่ตกค้างย่อมมองเห็นแต่ว่าเกิดจากบุคคลในพลังเก่า ส่วนผู้ที่เป็นพลังใหม่เฉพาะที่ทําตนว่าเป็นคนใหม่ที่สุด ก็มองแต่คนในพลังใหม่เท่านั้น แต่ผู้ที่บําเพ็ญตนตามคติของปราชญ์นั้นคือผู้ที่ “พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งวิวรรตการทั้งปวง” ก็ไม่จํากัดความคิดของตนเอง มองแต่บุคคลในพลังเก่าหรือไม่โดยข้างเดียว คือ ย่อมมองทุกด้านจึงจะประสบสัจจะ
-1-
ภายในพลังเก่าแห่งสยาม เคยมีบุคคลส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้ากว่าผู้ที่เกาะแน่นอยู่ในความคิดเก่า คือ ปรากฏว่า เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้วได้มีพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นนเรศร์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (ต่อมาเป็นกรมขุนพิทยลาภ), พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ) และข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน อาทิ หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร์ ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่า), สับเลฟท์เทอแนนท์ สอาด (สกุล “สิงหเสนี” ต่อมาเป็นนายพลตรี พระยาประสิทธิศัลยการ อัครราช ทูตสยามประจํากรุงลอนดอน แล้วได้เป็นพระยาสิงหเสนี สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมา) ฯลฯ ได้เคยทําหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ท่านเหล่านี้มีลักษณะก้าวหน้า แต่ท่านมีทรรศนะไม่ไกลถึงขนาดขอให้สยามมีระบบรัฐสภาที่ราษฎรมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทน และถึงขนาดที่เสนาบดีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็นับว่า ท่านเหล่านั้นมีความกล้าหาญมากในการกราบบังคมทูล
ปัญญาชนรุ่นปัจจุบันที่เป็นพลังใหม่แท้จริงไม่ควรสะดุดอยู่เพียงแต่เห็นว่าเคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวแล้วได้มีความคิดก้าวหน้าเท่านั้น ขอให้ติดตามค้นคว้าต่อไปให้สิ้นกระแสความว่า พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตอบคํากราบบังคมทูลนั้นว่ากระไร และได้มีพระราชดํารัสในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาว่ากระไรในเรื่องการปกครองโดยระบบรัฐสภา และมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดาองค์หนึ่ง ในหนังสือ ไกลบ้าน ตอนที่เสด็จนอร์เวย์ว่ากระไร ซึ่งข้าพเจ้าได้เชิญพระราชหัตถเลขามากล่าวไว้ใน คําอธิบายกฎหมายปกครอง ที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2474
ผู้สนใจในประวัติศาสตร์แห่งความคิดประชาธิปไตยของคนไทยควรค้นคว้าต่อไปว่า ท่านที่ได้กราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าหลวงดังกล่าวนั้น เมื่อท่านกลับสยามแล้ว ท่านเองได้มีการปฏิบัติหรือมีการแสดงความเห็นประชาธิปไตยไว้ในที่ใดเมื่อใดบ้าง ข้าพเจ้าเคยเป็นนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในสมัยที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เป็นอธิบดีศาลฎีกา จึงมีโอกาสศึกษาคําพิพากษาฎีกาที่พระองค์ทรงวางบรรทัดฐานไว้ แสดงให้เห็นถึงทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาล อาทิ คําพิพากษาฎีกาที่ 326/2455 มีความตอนหนึ่งว่า
“...ในคดีที่เป็นอุกฤษฎโทษถึงตาย ถ้าการพิจารณายังมิกระจ่าง จะฟังเอาพิรุธนายถมยา ลงโทษถึงตายนี้ยังหมิ่นเหม่ยังมิบังควร และธรรมภาษิตว่าไว้ว่า คดีเมื่อมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย แม้จะปล่อยผู้ผิดเสียสัก 10 คน ก็ยังจะดีกว่าลงโทษคนที่หาผิดมิได้คนหนึ่งดังนี้”
บรรทัดฐานประชาธิปไตยทางศาลที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้น ตุลาการในสมัยนั้นและสมัยต่อมาก็ได้ปฏิบัติตามอยู่อีกหลายปี จนกระทั่งซากเก่าแห่งความยุติธรรมตามระบบศักดินาโบราณได้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงมีตุลาการบางคนที่ถือซากทรรศนะเก่าได้ละทิ้งธรรมภาษิตที่เป็นรากฐานแห่งทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาลดังกล่าวแล้ว
นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมสมัยนั้นจําต้องศึกษาพระราชบัญญัติใหญ่น้อย ดังนั้น คนรุ่นนั้นจึงยังพอจํากันได้ถึงพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2460 ประวัติของเรื่องมีอยู่ว่า กระทรวงธรรมการสมัยนั้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อกวดขันโรงเรียนราษฎร์ที่สมัยก่อนเอกชนตั้งขึ้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล กระทรวงธรรมการต้องการให้การตั้งโรงเรียนราษฎร์ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก่อน อีกทั้งมีข้อบังคับควบคุมโรงเรียนราษฎร์อย่างกวดขัน
รัชกาลที่ 6 ได้ทรงส่งร่างพระราชบัญญัติของกระทรวงธรรมการมาให้คณะกรรมการร่างกฎหมาย ซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ขณะนั้นเป็นกรมหลวงทรงเป็นสภานายก ท่านผู้นี้ได้ตรวจร่างแล้วทรงร่างขึ้นใหม่ด้วยพระองค์เองตามทรรศนะประชาธิปไตยของพระองค์ที่ต้องการให้บุคคลมีเสรีภาพในการให้การศึกษา และให้พลเมืองได้มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เหตุฉะนั้น พระองค์จึงได้ร่างบทบัญญัติไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า ถ้าผู้ขอตั้งโรงเรียนราษฎร์ได้ยื่นคําขอต่อกระทรวงธรรมการแล้ว กระทรวงนี้ไม่ตอบอนุญาตภายในกําหนดเวลาที่กล่าวไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการให้อนุญาตแล้ว
รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นชอบด้วยจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ โรงเรียนราษฎร์ฉบับดังกล่าวแล้ว ซึ่งทําให้กระทรวงธรรมการไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์หลายครั้ง แต่ไม่สําเร็จ ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่า สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ในขณะยังทรงรับราชการอยู่นั้นมีทรรศนะประชาธิปไตยอยู่บ้างดังกล่าวมานั้น
-2-
ผู้ที่เป็นพลังใหม่แท้จริงจะต้องไม่ดูหมิ่นคนธรรมดาสามัญว่าไม่มีความคิดที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัย 60 ปีกว่ามาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว 2 คน คือ ก.ส.ร. กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร “สยามประเภท” ที่แคะไค้ระบบปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่า ท่านฟังซ่าน
อีกคนหนึ่งคือ “เทียนวรรณ” ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณาโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้วประมาณว่า ขณะนั้นมีอายุเกือบ 70 ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุก เพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่า ท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะมีคําพังเพยโบราณว่า “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้” ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ
แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุกได้กล่าววลีเติมอีกรวมเป็นดังนี้ “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบบสมบูรณาฯ ชนรุ่นใหม่หลายคนในยามสมัยนั้นที่ได้อ่าน และสนทนากับท่านเทียนวรรณยังพอจํากันได้ถึงวลีของท่านดั่งกล่าวนี้
แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญ จึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ส.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นหนุ่มเมื่อ 100 ปีกว่ามาแล้วได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ
-3-
ชนรุ่นเรียนหนังสือไทยจากหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ก่อนสมัยมี “แบบเรียนเร็ว” นั้นก็ดี สมัยมีแบบเรียนเร็วแล้วแต่ได้ยินชนรุ่นก่อน ๆ กล่าวถึงก็ดี ยอมจําหรือระลึกได้ว่า เริ่มอ่านตั้งแต่ แม่ ก กา ก็ได้รับคําสอนแสดงถึงความเสื่อมโทรมในระบบสมบูรณาฯ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์บทอ่านไว้โดยสมมติถึงความเสื่อมในอาณาจักร “สาวัตถี” มีความเท่าที่ข้าพเจ้าพอจําได้บ้างดังนี้
“สาธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสะระณา
พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราษี…
อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดี ๆ ทํามโหรีที่เคหา
ค่ําเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา…
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ…
ถือน้ําเข้าไป แต่น้ำใจไม่นําพา
หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าในอุรา...”
ในแม่กมนั้น มีความที่มีผู้ฟื้นเอามากล่าวกันมากในรัชกาลที่ 6 เจ้านายบางองค์ที่ปารีสเคยเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกความตอนหนึ่งของแม่กมที่มีว่า
“ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ ผู้ผ่านภาราสาวัตถี
เชื่อกลหลงเล่ห์เสนีย์ กลอกกลับอัปรีย์บุรีจึงล่มจมไป...”
ฉะนั้น ย่อมเห็นได้ว่า ชนรุ่นที่เรียนหนังสือไทยจาก มูลบทบรรพกิจ หรือคนรุ่นต่อมาที่ได้ยินชนรุ่นเก่าท่องให้ฟังแล้ว ก็เกิดสํานึกกันทั่วไปถึงความเสื่อมในระบบสมบูรณาฯ หรือระบบศักดินาที่ล้าหลัง ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงมีพระทัยก้าวหน้ากว่าผู้ล้าหลังมาก คือ แม้หนังสือ มูลบทบรรพกิจ จะแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนใช้เป็นตําราเรียนได้ เพื่อจะได้เกิดจิตสํานึกช่วยพระองค์กําจัดข้าราชการที่ทุจริต และหน้าไว้หลังหลอก เอาความเท็จมากราบบังคมทูล และผู้ที่ทําตนเป็นคนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี
-4-
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารใหญ่น้อยมากมาย ได้มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามหลายฉบับที่แสดงทรรศนะกล้าหาญ หนังสือพิมพ์เหล่านี้คงหาอ่านยากในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าผู้สนใจค้นอย่างเอาจริงเอาจังก็อาจหาได้บ้าง ทรรศนะที่แสดงออกในสยามนี้ช่วยให้ชาวสยามบางส่วนตื่นตัวขึ้นทีละน้อย ๆ จนถึงมีผู้คิดใช้กําลังยึดอํานาจรัฐที่มีฉายาว่า “คณะ ร.ศ. 130”
ต่อจากนั้นมาก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับแม้ภายใต้ระบบสมบูรณาฯ ได้กล้าหาญเสียงแก่คุกตะราง เขียนข้อความเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ บางฉบับถูกปิด บรรณาธิการหลายคนถูกจําคุก แต่ก็มีผู้ออกหนังสือพิมพ์และนิตยสารปลีกย่อยมากมาย
-5-
เมื่อข้าพเจ้ากลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2470 ภายหลังที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเกือบ 7 ปีนั้นแล้ว ปรากฏว่า ชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้นชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ทั้งนี้ ก็แสดงถึงว่า ผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบบศักดินา เกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมของระบบนั้น และอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้นที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรป จึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว
การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภทดี 1 เพียง 100 คนเศษ ก็จำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎร และเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด แต่เมื่อเราได้ยึดอำนาจรัฐในวันที่ 24 มิถุนาฯ ได้แล้ว ก็ได้รับความสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมหาศาลทั้งที่มาแสดงความยินดีด้วยตนเองที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการคณะราษฎร และทางจดหมายกับโทรเลข ประจักษ์พยานยังมีอยู่อีก คือ คณะได้มอบให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้รับสมัครผู้ที่ขอเข้าร่วมในคณะราษฎรที่สวนสราญรมย์ มีผู้ต้องการสมัครมากมายจนถึงกับเรามีใบสมัครมากมายจนถึงกับเรามีใบสมัครเตรียมไว้ไม่พอแจก จึงแย่งกันที่จะได้ใบสมัคร
ดั่งนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น “คณะราษฎร” เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร “People” ไม่ใช่ตามความประสงค์ของ “Reactionaries”
ที่มา: ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เขียนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2515