Focus
- บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 22) ของนายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้เห็นข้อบิดเบือนในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าใน 2 ประการที่ตอบโต้การบิดเบือนงานของนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในข้อ 17.6. เรื่อง การร่วมกับสายนายทหารผู้ใหญ่และการเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร และข้อ 18. วิเคราะห์วิจารณ์สิ่งที่บางคนถือเอาว่า ร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” ปรีดีคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในบันทึกประกอบคำประท้วงฯ ของนายปรีดีเสนอข้อเท็จจริงทั้งสองประการดังกล่าวแตกต่างจากบันทึกของนายประยูร กล่าวคือ นายปรีดีไม่ได้ผูกขาดการเป็นหัวหน้าคณะราษฎรและนายประยูรไม่ได้ชักจูงนายปรีดีและเพื่อนคนอื่น ๆ ให้ก่อการหรือก่อตั้งคณะราษฎรเนื่องจากนายประยูรมาถึงภายหลังจากที่มีการก่อหวอดความคิดปฏิวัติของกลุ่มนักเรียนนอกมาแล้วโดยเฉพาะในกรณีของสามัคยานุเคราะห์สมาคม
- ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป
17.6.
การร่วมกับสายนายทหารผู้ใหญ่
และ
การเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 สมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ณ กรุงปารีส และเพื่อนที่ร่วมด้วยดังกล่าวในข้อ 17.5. นั้น ได้ร่วมกับสายนายทหารผู้ใหญ่ซึ่งท่านได้คิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ไว้แล้ว คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช,พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ
เมื่อผู้ก่อการฯ ทุกสายดังกล่าวแล้วต้องร่วมงานกัน ก็จำต้องมีหัวหน้าคณะร่วมกัน___________หัวหน้าของทุก ๆ สายจึงเห็นชอบพร้อมกันเชิญ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร __________เพราะท่านผู้นี้มีวัยวุฒิสูงกว่าหัวหน้าสายต่าง ๆ และมีตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น ๆ ในสายทหารและพลเรือน และที่สำคัญที่สุดคือคุณสมบัติของท่านซึ่งแม้ว่าท่านผู้นี้เป็นนายทหาร แต่ท่านเป็นนักประชาธิปไตยท่านถือว่าชายไทยทุกคนเป็นทหาร คือ ทุกคนต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินอัตราที่ถูกระดมเข้าประจำการ ผู้ใดถูกเกณฑ์เป็นทหารประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน ท่านไม่เห็นด้วยที่นายทหารบางคนถือว่าทหารเป็นผู้ใหญ่กว่าพลเรือน ท่านเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีรายได้น้อย จึงควรที่นายทหารมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น ยกเว้นในระหว่างสงครามจึงมีนายพลได้ ๑ คน อย่างสวิตเซอร์แลนด์ และควรมีนายพล ๑ คนในยามปกติสำหรับราชสมุหองครักษ์ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์จากสำนักวัดเบญจมบพิตร์เป็นประจำ ท่านมีความเป็นอยู่อย่างคนสมถะปราศจากความโลภ ฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเคารพนับถือและไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตของท่าน
พระยาพหลฯ ได้รักษาวาจาสัตย์ตลอดมา คือ เมื่อท่านได้นำคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว ท่านก็ได้นำคณะฯ ดำเนินการต่อไปตามวัตถุประสงค์ยันเป็นหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร
แม้ว่าพระยาพหลฯ ได้สำเร็จวิชานายทหารจากเยอรมันสมัยไคเซอร์วิลเลียมที่ ๒ แต่ท่านนิยมประชาธิปไตย ดังนั้นท่านได้ปรับปรุงกองทัพสยามเพื่อให้เป็นกองทัพประชาธิปไตย ท่านได้ให้คำมั่นไว้ว่าทหารไทยควรมียศอย่างสูงในยามปกติเพียงยศ “นายพันเอก” ท่านได้รักษาวาจาสัตย์ไว้ คือ ภายหลังการอภิวัฒน์แล้วท่านได้นำให้มีการปลดนายพลออกจากประจำการ คงเหลือไว้แต่พลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหราชองครักษ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพลเรือตรีพระยาปรีชาชลยุทธ กับพลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนี เป็นการชั่วคราวระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ(ซึ่งต่อ ๆ มาย้ายไปรับราชการพลเรือน)
พระยาพหลฯ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ท่านก็ดำรงยศนายพันเอกตามที่ท่านมีอยู่ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ตลอดมา แม้ว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งหลายครั้งระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2476 ถึง ธันวาคม 2481 แต่ท่านก็คงยืนกรานมียศเป็นนายพันเอกตามเดิม
ต่อมาท่านได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลพิบูลฯ ได้ฟื้นการมียศนายพลขึ้นมาอีก และได้มีการพระราชทานยศนายพลตรีให้แก่หลวงพิบูลฯ และยศนายพลเรือตรีให้แก่หลวงสินธ์ุฯ และขอยศนายพลตรีให้แก่พระยาพหลฯ นั้น แม้พระยาพหลฯ ไม่เต็มใจ แต่ท่านก็มีความจำแห็นต้องรับยศนั้น เพราะท่านถือว่าท่านมิใช่ผู้ขอพระราชทาน แต่เป็นพระบรมราชโองการท่านก็ต้องปฏิบัติตาม
ข้อ 18.
วิเคราะห์วิจารณ์
สิ่งที่บางคนถือเอาว่า ร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” ปรีดีคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เมื่อ พล.ท.ประยูรฯ ได้ตั้งหัวข้อว่า “สหายสาม ป. ก่อหวอดปฏิวัติ” ในหนังสือของท่านหน้า 99 แล้ว ท่านก็ได้เขียนพรรณาไว้ดังต่อไปนี้
“สำหรับข้าพเจ้ากับคุณปรีดี พนมยงค์ ก็ได้มีความรักใคร่สนิทสนมกันยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ตอนค่ำลงหลังอาหารก็ขอไปเดินสนทนาคุยกันวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ในโอกาสนี้ก็ได้วิจารณ์เรื่องการเมืองกันมาเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงเมื่อต้นสิงหาคม 2476 ในขณะที่รับประทานอาหารกลางวันอยู่สองต่อสองที่ร้านอาหารเรสทัวรองค์ Des Ecoleav lienry-Martin (พิมพ์ชื่อตามหนังสือพล.ท. ประยูรฯ) ข้าพเจ้าได้ชักชวนคุณปรีดี พนมยงค์ว่า เราได้พูดเรื่องการเมืองกันมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที ซึ่งคุณปรีดีก็ตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับมือแน่นด้วยความยินดี “เอาจริงหรือ ?” ข้าพเจ้าก็รับรองว่า “เอาจริง เอาแน่ เอาเดี๋ยวนี้
การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น”
เมื่อจบประโยคนั้นแล้ว พล.ท. ประยูรฯ เขียนต่อไปว่า
“ครั้นต่อมาอีก 2-3 วัน คุณปรีดีเกิดหวาดระแวงว่าข้าพระเจ้าเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 อาจเป็นสายลับของตำรวจมาลวงถามเรื่องนี้ ความจริงก็มีเหตุผลน่าคิดอยู่มาก เพราะว่ามีหนังสือลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาถึงข้าพเจ้าทรงตอบหนังสือที่ได้เคยกราบบังคมทูลไปบางครั้งข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้คุณปรีดีดังว่า การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ได้เป็นกบฏหรือล้มราชบัลลังก์ เพราะการมีรัฐธรรมนูญการปกครองบ้านเมือง นับเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ส่วนคุณงามความดีทั้งหลายก็เทอดทูนถวายส่งเสริมพระบารมี ฉนั้นพระมหากษัตริย์ย่อมมั่นคงและรุ่งโรจน์ตลอดไป เมื่อได้รับความเข้าใจกันแน่วแน่แล้วก็ได้ดำเนินการหาวิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป”
ข้าพเจ้าขอให้ข้อสังเกตแก่ท่านที่ปรารถนาสัจจะไว้ดังต่อไปนี้
(1)
ข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ในวรรคต้นข้างบนนั้นต่างกับข้อเขียนของข้าพเจ้าในหนังสือชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 หน้า 21-22 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้
“ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 นับเมื่อมาถึงปารีสใน ค.ศ. 1925 และได้พบข้าพเจ้าได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบบนั้น ฉนั้นใน ค.ศ 1925 นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ ร.ท.ประยูรฯ หลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มากมายหลายคนแล้วแต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉนั้นเราจะไม่พูดแต่ปากคือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น ต่อมาจึงได้ชวน ร.ท.แปลก, ร.ต.ทัศนัยฯ ซึ่งย้ายจากบ้านหลังเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ “Quartier Latin ” จึงได้สนทนากันแทบทุกวันแล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่น ๆ ให้ร่วมด้วย”
ข้าพเจ้ามิได้กล่าวรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ “ชักจูง” ใคร ข้าพเจ้าเขียนเพียงว่า “ปรารภกัน” คือข้าพเจ้าปรารภบ้าง ร.ท.ประยูรฯ ปรารภบ้าง แต่ข้าพเจ้าได้บันทึกเตือนความทรงจำไว้ว่า ร.ท.ประยูรฯ เป็นผู้ยื่นแผ่นกระดาษโน๊ตให้ข้าพเจ้า ๆ อ่านดูเห็นข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “รู้ว่ากำลังคิดทำการอะไรอยู่ ขอร่วมด้วย” ซึ่งอ่านใต้บรรทัดก็เข้าใจได้ว่า ร.ท.ประยูรฯ สังเกตจากการที่ข้าพเจ้าได้ปรารภกับเพื่อนนักเรียนหลายคนนั้นว่าข้าพเจ้ามีความคิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ข้าพเจ้าจึงถาม ร.ท.ประยูรฯ ว่า “เอาจริงหรือ” ร.ท.ประยูรฯ จึงตอบ “เอาจริง”ข้าพเจ้าจึงกำชับว่า “อย่าเอาไปพูด” ร.ท. ประยูรฯ ตอบว่า“ขอให้เชื่อใจและขอปฏิญาณรักษาเป็นความลับเด็ดขาด” ข้าพเจ้าจึงจับมือกับ ร.ท.ประยูรฯ แสดงความยินดีที่จะเข้าร่วมงานกับข้าพเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ และปรารภกันว่า “ได้ยินผู้ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้วแต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง”
(2)
ความในวรรคต่อมาที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า
“ ครั้นต่อมาอีก 2 - 3 วันคุณปรีดีก็เกิดหวาดระแวงว่า ข้าพเจ้าเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 อาจเป็นสายลับของตำรวจมาลวงถามเรื่องนี้……….”
นั้นก็แสดงอยู่แล้วว่าข้าพเจ้ามิได้ถูก “ชักจูง” โดย ร.ท.ประยูรฯ ให้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากข้าพเจ้าระแวงว่า ร.ท.ประยูรฯ ลวงถามเอาเรื่องนี้ที่ข้าพเจ้าปรารภกับเพื่อนหลายคนไว้ถึงการต่อสู้ระบบสมบูรณาฯ
เรื่องการระแวง ร.ท.ประยูรฯ นี้ข้าพเจ้าจะขอเสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะพิจารณาในข้อ 19.
(3)
ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 นั้น ร.ท.ประยูรฯ เพิ่งเดินทางไปถึงปารีสได้ประมาณ 3 เดือน
แม้ว่าท่านผู้อ่านไม่ทราบว่า ร.ท.ประยูรฯ ถึงปารีสเมื่อใด แต่ท่านก็คำนวณได้จากการที่ ร.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 64 ว่าเรือที่ท่านโดยสารไปนั้นออกจากท่าเมืองปีนังวันที่ 5 พฤศจิกายน 2465 เรือก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงถึงกรุงลอนดอน ร.ท.ประยูรฯ พักอยู่ที่นั่นแล้วเดินทางต่อไปยังเมืองฮัมบูร์กเยอรมนี ท่านอยู่ในเยอรมนีจนเข้ามหาวิทยาลัยเรียนได้ระยะเวลาหนึ่งแล้วป่วยเป็นวัณโรคต้องไปรักษาตัวที่สวิตเซอร์แลนด์อีกหลายเดือนจึงหายป่วยแล้วไปฝรั่งเศส
พล.ท.ประยูรฯ ได้พรรณาถึงการที่ท่านพบข้าพเจ้าครั้งแรกที่สถานทูตสยามไว้ในหนังสือของท่านหน้า 95 มีความตอนหนึ่งต่อไปนี้
“พอตอนสายก็ได้ไปสถานทูตพบกับนายกิมเหลียง (หลวงวิจิตรวาทการ) เอาจดหมายของคุณควง อภัยวงศ์ ส่งให้อ่านดูแล้วก็ไม่สนใจข้าพเจ้านัก บอกเพียงว่ามีธุระอะไรก็ให้บอกกล่าวมา ครั้นแล้วข้าพเจ้าได้ไปพบกับคุณปรีดี พนมยงค์ ส่งจดหมายคุณควง อภัยวงศ์ไปให้อ่าน ก็ลุกขึ้นกุลีกุจอต้อนรับข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเอง และช่วยจัดหาที่อยู่ให้มาอยู่ใกล้ ๆ กันที่ในลาตินควอเตอร์ และช่วยหาจัดหาครูพิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสกับจัดหาโรงเรียนสอนภาษาฝรั่งเศสให้อีกด้วย คุณปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะที่มีนะเมตตาดี นักเรียนในกรุงปารีสมีความรักใคร่ศรัทธาชอบพอกันทั่วไป”
ข้อเขียนของ พล.ท.ประยูรฯ นั้นก็แสดงว่า
(ก)
ระหว่างประมาณ 3 เดือนตั้งแต่ ร.ท.ประยูรฯ ถึงปารีสนั้น ร.ท.ประยูรฯ กำลังศึกษาภาษาฝรั่งเศส แต่ยังมิได้เข้าศึกษาที่ ร.ร.รัฐศาสตร์ กรุงปารีส แม้ว่าร.ท.ประยูรฯ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบนั้นก็ตาม แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะ “ชักจูง” ข้าพเจ้าหรือเพื่อนนักเรียนคนอื่นซึ่งได้ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสก่อน ร.ท.ประยูรฯ หลายปี ถ้า ร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” โดยอ้างเหตุดังกล่าวไว้ในวรรคต่อมาว่า “จะช่วยแบ่งเบาพระราชภาระของพระเจ้าอยู่หัว” โดยมีรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าก็จะต้องตอบว่า “เป็นการดีที่ช่วยแบ่งเบาภาระของพระเจ้าอยู่หัวโดยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ ร.ท.ประยูรฯ จะเห็นว่าธรรมนูญมีรูปแบบอย่างไร ? ร.ท.ประยูรฯ ก็จะตอบตามที่ท่านกล่าวไว้ในหลักการ 3 ประการ ของท่านว่า “ธรรมนูญแบบอังกฤษ”
ข้าพเจ้าก็จะต้องคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะธรรมนูญแบบอังกฤษนั้นมีสภาเจ้าศักดินาหรือที่บางคนเรียกว่า สภาขุนนาง ( House of lorde) ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหลายข้อข้างต้นแล้ว และข้าพเจ้าก็จะต้องถาม ร.ท.ประยูรฯ ว่าเมื่อมีธรรมนูญขึ้นแล้วจะมีนโยบายหลักอย่างไรบ้างในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, ฯลฯ ร.ท.ประยูรฯ ก็จะต้องตอบตามที่ข้าพเจ้าได้อ้างถึงข้อความที่ท่านกล่าวไว้หลายแห่งว่าไม่เห็นควรมีโครงการเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังนั้น ร.ท.ประยูรฯ จึงไม่อาจ “ชักจูง” ข้าพเจ้าได้ ส่วนข้าพเจ้าก็ไม่อาจ “ชักจูง” ร.ท.ประยูรฯ ได้นอกจาก ร.ท.ประยูรฯ ตอบว่าสุดแท้แต่ข้าพเจ้าเห็นสมควร ดังที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 106 ว่า
“สำหรับในการแสวงหาความรู้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คุณปรีดี พนมยงค์ ได้พาข้าพเจ้าไปเยี่ยมดูสำนักงานหนังสือพิมพ์ทั้งฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย ตลอดจนหนังสือพิมพ์ของคณะคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรามีความจำเป็นที่จะต้องหาความรู้ความเข้าใจให้ซาบซึ้งในทุกด้านกับทั้งไปเยี่ยมห้องสมุดต่าง ๆ ที่ค้นคว้าหาหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ และการยึดอำนาจกับทั้งหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้พาข้าพเจ้าไปในที่ชุมนุม เพื่อสิทธิและเสรีภาพของมวลชน”
(ข)
พล.ท.ประยูรฯ เขียนรับรองไว้ว่า
“คุณปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบุคคลิกลักษณะที่มีนะเมตตาดี นักเรียนในกรุงปารีสมีความรักใคร่ศรัทธาชอบพอกันทั่วไป”
ดังนั้นข้าพเจ้าก็ต้องปรารภเรื่องสมควรเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ไว้แก่เพื่อนนักเรียนหลายคนก่อนที่ ร.ท.ประยูรฯ อยู่ที่กรุงปารีส อันเป็นการเตรียมพื้นฐานเบื้องต้นไว้เพื่อสู่ขั้นต่อสู้ท่านอัครราชทูตซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาฯ กล่าวในข้อ 16 ซึ่งเมื่อถึงเวลาสมควรก็จะได้ชวน(ไม่ใช่ชักจูง) ให้ร่วมคณะราษฎรต่อไป
หมายเหตุ
ตามที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนถึงสถานที่สนทนากับข้าพเจ้าเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2467 ว่า “ในขณะรับประทานอาหารกลางวันอยู่สองต่อสองที่ร้านอาหารเรสทัวรองค์” Des Ecoleave Henry - Martin” (พิมพ์ชื่อตามหนังสือ พล.ท.ประยูรฯ) นั้นคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะในสมัยนั้นก็ดีและสมัยปัจจุบันนี้ก็ดีไม่มีร้านอาหารเรสทัวรองค์ ” “Des Ecoleave” หรือจะเขียนว่า Des Ecoiea” ณ ถนน Henry - Martin หรือที่ Henri Martin ที่ข้าพเจ้าชวน ร.ท.ประยูรฯ ไปเดินเล่นวันนั้น
โปรดติดตาม “บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 23”
ภาคผนวก
คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี
บรรณานุกรม
หลักฐานชั้นต้น :
- ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 1)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 2)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 3)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 4)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 5)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 6)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 7)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 8)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 9)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 10)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 11)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 12)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 13)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 14)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 15)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 16)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 17)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 18)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 19)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 20)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 21)
- ประชาธิปไตย
- ปรีดี พนมยงค์
- ประยูร ภมรมนตรี
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- ธรรมนูญแบบอังกฤษ
- สภาขุนนาง
- พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- Des Ecoleave Henry-Martin
- พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย
- ควง อภัยวงศ์
- หลวงวิจิตรวาทการ
- ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ
- ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พระยาทรงสุรเดช
- พระยาฤทธิอัคเนย์
- พระประศาสน์พิทยายุทธ
- พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร
- พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี