Focus
- บทความนี้เสนอให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่เขียนบทและอำนวยการสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อพ.ศ. 2483 ซึ่งอยู่ในบริบทก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อส่งสาส์นสันติภาพ ผ่านการนำเสนอภาพราชอาณาจักร “อยุธยาใหม่” ที่ไม่ยึดติดกับกรอบประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบเดิมที่มุ่งเน้นชาตินิยม
- ความสำคัญของเหล่านี้ทำให้ภาพยนต์พระเจ้าช้างเผือกไม่ได้มีเพียงแต่คุณค่าเชิงศิลปะภาพยนตร์ แต่ยังมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์โลก, ประเด็นเรื่องสันติภาพ, อธิปไตย, ประชาธิปไตย รวมถึงบทบาทของสามัญชน ส่งผลให้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในปีพ.ศ. 2568

ปรีดี พนมยงค์ ในกองถ่ายพระเจ้าช้างเผือก
(๑) บทนำและความสำคัญ
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” (รวมทั้งเอกสารเกี่ยวข้อง) เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)[1]
“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นหนังเก่าอย่างเอกอุชนิดสร้างมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นเวลาก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะอุบัติขึ้น เขียนบทและอำนวยการสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยแรก (พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗) โดยใช้ชื่อทีมผู้สร้างว่า “ปรีดีโปรดักชั่น” (Pridi Production)

ฉากเปิดภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกระบุชื่อผู้สร้างว่า “ปรีดีโปรดักชั่น” (Pridi Production)
ที่มา: หอภาพยนตร์
จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษออกฉายในต่างประเทศ ก็ดังที่ทราบกันว่าเป็นความพยายามที่จะนำเสนอประเด็นความสำคัญของสันติภาพ และเพื่อประกาศต่อชาวโลกที่กำลังจะทำสงครามห้ำหั่นกันอยู่ในสมัยนั้นว่าชาวสยามประเทศไทยเป็นผู้รักสันติ แต่เมื่อถูกรุกรานก็จะต่อสู้อย่างถึงที่สุด เพราะฉะนั้นอย่าได้รุกรานหรือทำอันตรายแก่คนประเทศนี้เลย
นอกเหนือจากที่มีคุณค่าในฐานะภาพยนตร์เก่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่หลงเหลือมาให้ได้รับชมกันในปัจจุบัน ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์แล้ว “พระเจ้าช้างเผือก” ยังถือได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงแนวคิดและความทรงจำทางประวัติศาสตร์ต่ออยุธยา ซึ่งเป็นฉากเนื้อเรื่องของ “พระเจ้าช้างเผือก” อีกด้วย
ทั้งนี้เพราะเราไม่ค่อยนึกถึงอยุธยาในมุมที่ว่าด้วยเรื่องสันติภาพ เพราะอยุธยาซึ่งถูกเขียนโดยนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อน โดยเฉพาะรุ่นเกิดทันและเป็นขุนนางข้าราชการภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มักจะเป็นอยุธยาที่เต็มไปด้วยศึกสงคราม การสู้รบ การขยายอำนาจ แผ่บารมีของประมุขชนชั้นนำสยาม
อยุธยาใน “พระเจ้าช้างเผือก” ไม่ใช่รัฐโบราณหรือพวกจารีตนิยมที่สนใจฝักใฝ่แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของตนเอง พระเจ้าจักรามีสายพระเนตรยาวไกล เล็งเห็นว่าการขยายอำนาจของราชวงศ์โมกุลในอินเดีย ถึงแม้จะอยู่ไกลจากอยุธยา ก็จะส่งผลกระทบมาถึงอยุธยาด้วยเป็นแน่
ปรีดีซึ่งเคยศึกษาอยู่ต่างประเทศก็เข้าใจดีว่า ประวัติศาสตร์อยุธยาในแบบนั้นเป็นที่รับรู้ในต่างประเทศสมัยนั้นด้วย เพราะความแพร่หลายของประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้อยุธยาเป็นแกนกลางของการสร้างความรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทสถาบันชั้นสูงของสยาม
นักศึกษาประวัติศาสตร์ (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) เมื่อมาดู “พระเจ้าช้างเผือก” ครั้งแรก ๆ อาจรู้สึกหงุดหงิด เพราะเนื้อเรื่องดูไม่สอดคล้องกับความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของอยุธยาเท่าไรเลย ตั้งแต่ชื่อบุคคล ลำดับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง ฉากสถานที่ การแต่งกาย ผมเผ้า ไปจนบทสนทนาของตัวละคร แต่เมื่อเข้าใจแนวคิดและบริบทความรับรู้ของยุคสมัยนั้นก็จะเริ่มดูได้สนุกมากขึ้น
ในเมื่อความรับรู้หลักเกี่ยวกับอยุธยาของเราส่วนใหญ่มักจะมาจากหลักฐานประเภทพระราชพงศาวดาร แต่ดังที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ทราบกันดีว่า พระราชพงศาวดารมีด้านที่เป็นงานประพันธ์ซึ่งแล้วแต่ว่าผู้แต่งมีมุมมองเช่นใด พระราชพงศาวดารไม่ใช่บันทึกหลักฐานที่แม่นตรงดังที่เคยเข้าใจกันแต่อย่างใด หรือหากจะมองในแง่ที่ว่าพระราชพงศาวดารมักมีการชำระปรับเปลี่ยนเนื้อหาใหม่ในภายหลัง
เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็พยายามย้อนคิดทบทวนอดีตผ่านการชำระพระราชพงศาวดาร จึงนำไปสู่พระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ที่มีหัวข้อเรื่องว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา แต่เรียบเรียงขึ้นใหม่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยิ่งเมื่อเกิดแนวคิดใหม่ที่อธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้แจ่มชัดขึ้น ก็เป็นธรรมดาอีกที่มักจะนำไปสู่การทบทวนและสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมาแทนที่ความทรงจำเก่าที่ผุพังไปไม่เหมาะกับยุคสมัย
กล่าวโดยสรุปในเบื้องต้นก็คือ นอกเหนือจากคุณค่าในฐานะความทรงจำระดับโลกแล้ว ก็คือการชำระอดีตในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงภายในของสยามเอง ดังนั้น ในแง่นี้แล้วจึงอาจกล่าวได้ว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ที่มีฉากและเนื้อหาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ อาจจะถือได้ว่าเป็นพงศาวดารประเภทหนึ่งที่ชำระโดยปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการท่านหนึ่ง ก็ได้
(๒) “อยุธยาเก่า” ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ อยุธยากลายเป็น “กรุงเก่า” แม้ไม่ได้เป็นเมืองหลวง แต่ยังคงมีความสำคัญในหลายด้านด้วยกัน[2] โดยเฉพาะในแง่ประวัติศาสตร์ความทรงจำ เรื่องราวของยุคสมัยอยุธยา ยังคงเป็นที่เล่าขานในฐานะ “ยุคบ้านเมืองดี” กระทั่งเป็นข้ออ้างการรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และย้ายศูนย์กลางข้ามฟากจากฝั่งธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยุธยาเป็น “เมืองทดลอง” ระบบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า “มณฑลเทศาภิบาล” นอกเหนือจากเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสด็จประทับที่พระราชวังบางปะอิน และทรงจัดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกฉลองครองราชย์ของพระองค์ที่อยุธยาแล้ว เช่นเดียวกับการก้าวไปข้างหน้าครั้งอื่น ๆ ของสยาม ที่มักมีจุดเริ่มต้นควบคู่กันกับการย้อนทวนอดีต การใช้อยุธยาเป็น “เมืองทดลอง” นวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้ประวัติศาสตร์อยุธยาได้รับการทบทวนใหม่ตามมาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ที่สยามเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ประวัติศาสตร์อยุธยาก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าใหม่และดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับบรรยากาศเงื่อนไขของการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม พม่าที่รุกรานอยุธยาได้ถูกสร้างภาพตัวแทน (Representation) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในอดีตที่สยามเคยสู้รบปรบมือ บางช่วงพ่ายแพ้ บางช่วงเอาชนะ แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้[3]
อยุธยาเป็นทั้งบทเรียนและกำลังใจในการก้าวไปเผชิญหน้ากับโลกภายนอกที่กำลังล่าอาณานิคมกันอยู่อย่างคึกคัก ที่สำคัญอยุธยายังถูกสร้างให้เป็นยุคสมัยแห่งการสู้รบกับศัตรูภายนอกโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นผู้นำ และก็แน่นอนว่าผู้นำที่มากบุญญาธิการบารมีย่อมต้องมีเมียเยอะ เพื่อมีลูกเยอะ ได้ส่งไปปกครองหัวเมือง และเป็นเครือญาติกับเจ้าต่างบ้านกษัตริย์ต่างแคว้น ผูกมิตรกันภายในชนชั้นนำด้วยกัน
เมื่ออยู่ภายใต้บรรยากาศกระแสต่อต้านลัทธิเจ้าอาณานิคม ก็นำไปสู่แนวคิดชาตินิยม ประวัติศาสตร์อยุธยาในสมัยนั้นยังกลายเป็นวัตถุดิบ (Material) ที่ถูกนำไปใช้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง “ชาติบ้านเมือง” และสร้างวาทกรรมการเสียดินแดนขึ้นมาในสยาม นำมาสู่ความเชื่อว่าสยามแต่ก่อนมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลกว่าปัจจุบัน แต่ถูกรุกรานและแย่งชิงดินแดนเอาไป
ทั้งที่สมัยอยุธยาจริง ๆ ส่วนกลางมีอำนาจน้อยกว่าในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ล้านนายังเป็นอิสระและขึ้นกับพม่า อีสานตอนบนเหนือลุ่มน้ำมูลก็เป็นเขตอิทธิพลของล้านซ้าง ใต้ลงไปกว่าพัทลุงก็ขึ้นกับอยุธยาบ้างไม่ขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้น บางช่วงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายกษัตริย์อยุธยา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่ง และบางช่วงก็พยายามตั้งตัวเป็นอิสระ
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์จากประวัติศาสตร์นิพนธ์อยุธยาในแบบนี้มีแต่ชนชั้นนำ และจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์อยุธยาในแบบข้างต้นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประวัติศาสตร์อยุธยาที่ปรากฏใน “พระเจ้าช้างเผือก”
(๓) “อยุธยาใหม่” หลัง ๒๔๗๕
ปรีดี พนมยงค์ มีภูมิหลังกำเนิดเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา และใช้ชีวิตจนเติบโตมาจากที่นั่น ถ้าจะมีใครในคณะราษฎรที่รู้เรื่องอยุธยาอย่างดีที่สุด ก็คงเป็นปรีดี พนมยงค์ นี่แหละ และการมีชาติภูมิมาจากสามัญชนที่อยุธยา ก็ย่อมเป็นธรรมดาอีกที่จะไม่เห็นด้วยกับการที่อยุธยาบ้านเกิดของตนถูกนำไปใช้อ้างอิงสนับสนุนแก่คนบางกลุ่มที่มีอำนาจเท่านั้น
ประวัติศาสตร์อยุธยาที่ไม่มีเรื่องสามัญชนย่อมเป็นของแปลกแยกสำหรับคนที่เคยใช้ชีวิตเกิดและเติบโตมาจากที่นั่น ซึ่งในชีวิตประจำวันมีแต่คนธรรมดาสามัญชน ไม่มีเจ้าไม่มีนายแบบในนวนิยายและงานเขียนทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ก่อให้เกิดการตีความอยุธยาในมุมใหม่ ทั้งในประเด็นบทบาทพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ทหาร ไพร่ และสตรี
“พระเจ้าช้างเผือก” เปิดมาฉากแรก ก็เล่าเรื่องการปฏิเสธขนบประเพณีการมีฝ่ายใน ๓๖๕ นาง สำหรับนางละวัน/คืน การรำถวายตัวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งหากเป็นกษัตริย์อยุธยาแบบเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คือการแต่งตั้งพระมเหสี พระสนม และนางกำนัล แต่ “พระเจ้าจักรา” ในเรื่องพระเจ้าช้างเผือกไม่ใช่อย่างนั้น ทรงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ หันไปสนพระทัยกับการคล้องช้างเพื่อนำมาใช้ในบ้านเมือง
นอกจากอยุธยาแล้ว “พระเจ้าช้างเผือก” ยังได้ให้ความสำคัญแก่เมืองด่านอันเป็นศูนย์กลางปลายแดนด้านตะวันตกอย่างกาญจนบุรี ในฐานะหัวเมืองที่มีบทบาทในการต่อต้านการรุกรานจากภายนอกและเผชิญภัยสงครามไม่น้อยไปกว่าอยุธยา ฉากเมืองที่ถูกพม่าเผาทำลายในพระเจ้าช้างเผือก ก็คือกาญจนบุรี (ชื่อในเรื่อง ย่อว่า “กานบุรี” ก็หมายถึงกาญจนบุรีนั่นแหล่ะ)
สมัยนั้นคนยังคิดหมกมุ่นอยู่กับวาทกรรมพม่าเผาอยุธยา โดยละเลยว่านั่นเป็นธรรมดาของสงคราม ฝ่ายไทยเมื่อไปทำศึกรุกรานผู้อื่น ก็ใช้ไฟเผาบ้านเรือนศัตรูเช่นกัน และบ้านเมืองที่ถูกเผาก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เมืองหลวง หัวเมืองรอบนอกก็โดนเหมือนกัน ในเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ก็จะเห็นว่าเจ้าเมืองกาญจนบุรีและชาวกาญจนบุรีถูกข้าศึกทำลายล้างก่อนอยุธยาเสียอีก แต่เรามักไม่ค่อยคิดถึงหัวเมืองเหล่านี้ เพราะมุมมองประวัติศาสตร์ของไทยมักให้ความสำคัญแต่ศูนย์กลางราชธานี
ในส่วนของฉากยุทธหัตถี ซึ่งเป็น “ไฮไลต์” ของเรื่อง จากเดิมที่พระราชพงศาวดารเมื่อเล่าเรื่องยุทธหัตถี จะเล่าในแง่สะท้อนกฤดาภินิหารอันบดบังมิได้ สมเด็จพระนเรศวรไสช้างเข้าถลำเข้าไปในแนวทัพของข้าศึก โดยที่ขุนศึกเหล่าทหารตามเสด็จไปด้วยไม่ทัน ด้วยไหวพริบปฏิภาณเมื่อเห็นช้างทรงของพระมหาอุปราชามังสามเกียด จึงได้ร้องท้าให้พระมหาอุปราชาออกมาชนช้าง พูดง่าย ๆ คือยุทธหัตถีเป็นเพียงกลอุบายเพื่อเอาตัวรอด และไม่เพียงรอดได้อย่างปาฏิหาริย์ ยังพลิกกลับทำให้เป็นฝ่ายชนะสงครามอย่างเด็ดขาดอีกด้วย

แต่ยุทธหัตถีใน “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นวิธีการที่พระเจ้าจักราทรงใช้ด้วยเหตุผลเพื่อไม่ให้ไพร่ฟ้าประชาชนต้องมาบาดเจ็บล้มตาย พระเจ้าจักราไม่ได้ถลำเข้าไปในแนวทัพของข้าศึก แต่ทรงไสช้างเข้าไปท้าพระเจ้าหงสาด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง
พระมหากษัตริย์ที่ทรงเห็นแก่แผ่นดินและไพร่ฟ้าประชาชน ไม่เสวยสุขส่วนพระองค์ไปกับสุราและนารี หรือมีพระทัยลำเอียงเห็นแก่พระญาติวงศ์และพวกพ้องเท่านั้น เป็นอุดมคติใหม่ที่คณะราษฎรเรียกร้องต้องการ โดยมีรูปธรรมลายลักษณ์อักษรคือ “รัฐธรรมนูญ” ที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนเป็นตัวแทน ถึงได้แปล Constitution King และนิยามเรียกกันว่า “กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ”
ในทศวรรษ ๒๔๘๐ ลัทธิทหารและอำนาจนิยมแบบ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” กำลังมาแรง “พระเจ้าช้างเผือก” แฝงนัยต่อต้านลัทธินี้ไว้อย่างแนบเนียนด้วยมุขตลกขำขัน ปกติภาพยนตร์ที่มีฉากสงคราม ทหารมักจะเป็นพระเอก แต่ใน “พระเจ้าช้างเผือก” จะเห็นภาพความเป็นมนุษย์ของทหาร ไม่ใช่เครื่องจักรสังหาร มีภาพทหารโวยวายไม่อยากออกศึก บ้างก็แอบอู้ไปเสพสุราและสูบบ้อง (กัญชา)
ภาพทหารขี้ยาแบบนี้ไม่ค่อยมีบันทึกหลักฐาน แต่มีในหลักฐานประเภทจิตรกรรม ที่เก่าถึงสมัยอยุธยาก็เช่น จิตรกรรมลายรดน้ำวัดยม, จิตรกรรมวัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี, จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก นนทบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์มีภาพนี้หลายแห่ง เช่น ที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และกระทั่งในจิตรกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เองอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น อันที่จริงน่าสังเกตว่าการแต่งกายของไพร่พลทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายอยุธยา ในเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้จะเห็นได้ว่าสอดคล้องต้องกันกับภาพไพร่พลโยธาทวยหาญที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา ค่อนข้างมาก
น่าเชื่อว่า ปรีดี พนมยงค์ จะชื่นชอบการชมจิตรกรรมไม่น้อยเลย จึงนำเอาภาพวิถีชีวิตของไพร่ราบพลเลวที่มักปรากฏในภาพจิตรกรรมมานำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย หรือไม่ในทีมงาน “ปรีดีโปรดักชั่น” อาจมีผู้มาก่อนกาล “กัญชาเสรี” รวมอยู่ในนั้นด้วยก็เป็นได้
(๔) บทสรุปและส่งท้าย
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นการนำเอาอดีตมาปรุงแต่งดัดแปลงเพื่อรับใช้ปัจจุบัน “พระเจ้าช้างเผือก” นำเสนออยุธยาในแง่มุมใหม่ ทำให้ประวัติศาสตร์อยุธยามีมิติเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ แตกต่างจากอยุธยาในนวนิยายและประวัติศาสตร์นิพนธ์ก่อนหน้านั้นที่เต็มไปด้วยฉากการทำสงครามสู้รบ เห็นเพื่อนบ้านอย่างพม่าเป็นศัตรู แต่เรื่องนี้ พระเจ้าจักราประกาศชัดว่า รบกับพระเจ้าหงสา ไม่ได้รบกับประชาชนชาวหงสา เมื่อพระเจ้าหงสาสิ้นพระชนม์ตกจากหลังช้างแล้ว ก็ให้ปล่อยไพร่พลฝ่ายหงสากลับคืนบ้านเมืองไป ไม่ให้ทำอันตรายใด ๆ ต่อกันอีก
ทราบกันดีว่า ลัทธิทหารและอำนาจนิยมสมัยนั้นกำลังนำไปสู่สงคราม แม้ว่า “พระเจ้าช้างเผือก” จะไม่ถึงขั้นยับยั้งสงครามโลกและไทยก็ถูกดึงเข้าไปพัวพันกับสงคราม ในจังหวะที่ฝรั่งเศสพ่ายให้กับนาซีเยอรมนีและรัฐบาลวีชีของฝรั่งเศสไม่มีนโยบายแน่ชัดในการป้องกันอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศสงคราม ส่งทหารเข้าไปอินโดจีน โดยมีญี่ปุ่นให้การหนุนหลัง และเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ก็ได้ทำความตกลงให้ญี่ปุ่นสามารถเดินทัพผ่านประเทศไทยไปพม่า
แต่นั่นไม่ได้ทำให้เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ด้อยคุณค่าไปด้วย ตรงข้าม “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นสื่อที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อครั้งที่เกิดสงครามเข่นฆ่ากันในระดับโลกสากลนั้น ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่เล็งเห็นคุณค่าของสันติภาพมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แนวคิดของฝั่งนี้ไม่ได้รับการยอมรับให้ชี้นำประเทศชาติและสังคม เรื่องนี้ยังคงเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนที่ว่าแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมแต่ไม่ได้รับการนำเอาไปเป็นแนวปฏิบัติ แต่รัฐและผู้มีอำนาจกลับเห็นชอบไปกับแนวคิดที่นำพาผู้คนไปสู่สงครามนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรตามมา
หมายเหตุ:
- รูปแบบอ้างอิงคงไว้ตามต้นฉบับ
[1] UNESCO. “The King of the White Elephant and the archival documents” https://www.unesco.org/en/memory-world/register2025 (April 17, 2023) อนึ่ง ตามคำประกาศยูเนสโกระบุถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้โดยย่อว่า “The King of White Elephant is a Thai feature film produced in 1940, adapted from an English-language novel in with the same title into a 35 mm black-and-white film with sound. It is the first Thai film presented in English language, reflecting the filmmaker's intent for international distribution. Emerging at the onset of the World War II, the film stands as a testament to peace and diplomacy, promoting a message of harmony. From an archival standpoint, it is the only surviving Thai film from the pre-World War II era, providing invaluable insights into the entertainment of the time. The film skilfully combines traditional Thai performances with Western cinematic language.”
[2] อยุธยาหลัง 2310 เป็นหัวข้อเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อย เมื่อเทียบกับ 417 ปีนั้น มีงานศึกษาไว้ไม่มากเท่าไรเลย อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้เคยวางรากฐานเอาไว้ในงานบางชิ้น อาทิ กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559; อีกชิ้นที่กล่าวถึงบทบาทการพัฒนาเมืองอยุธยาสมัยปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้ด้วยดู กำพล จำปาพันธ์. บทวิพากษ์ประวัติศาสตร์อยุธยา & ความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมเมืองอยุธยาหลังเสียกรุง พ.ศ.2310. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560 (เอกสารประกอบการสัมนาประจำปีมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 15 กันยายน 2560).
[3] อนุสรณ์สำคัญที่ถือเป็นตัวแทนของผลงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของยุคสมัยดังกล่าวนี้มีหลายชิ้นด้วยกัน แต่โดยมากถือว่า บรรดาหนังสือชุด “ประชุมพงศาวดาร” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นบรรณาการตรวจชำระและตีพิมพ์ เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการหอพระสมุดวชิรญาณ พระนคร เป็นผลงานชิ้นอีกทรงคุณค่าและสำคัญที่สุดสำหรับงานของนักประวัติศาสตร์ในยุคสมัยดังกล่าวนี้ ก็ไม่แปลกที่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังมีนิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นต้น จะนิยามเรียกประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคนี้ว่า “สกุลดำรงราชานุภาพ” และธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่าประวัติศาสตร์ไทยแบบ “ราชาชาตินิยม” (Royal-nationalism) เพราะเนื้อหาหลักเป็นการแสดงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องโยงใยกันอย่างแยกไม่ออกระหว่าง “ความเป็นชาติ” กับสถาบันชั้นสูงของสยาม