ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

สกุล พนมยงค์ มาจากไหน ?

23
พฤศจิกายน
2563

-1-

ณ บริเวณฝั่งเหนือของคลองเมืองหลวง ห่างจากมุมกำแพงพระราชวังโบราณ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ด้านตะวันตกประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร  มีวัดหนึ่งตั้งอยู่ ผู้เฒ่าได้เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า พระนมแห่งพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดนั้น  พระนมนั้นมีชื่อว่า “ประยงค์” (ตรงกับชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า “ปิยงคุ”)  ในสมัยโน้นชาวกรุงออกเสียงเรียกพระนมว่า “พะนม”  โดยไม่มี “ร” กล้ำ  และเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์เป็น “พนม”  ทำนองเดียวกับใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” แทนคำว่า “ข้าพระเจ้า” และทำนองเดียวกับอีกหลายคำที่ชาวกรุงฯ ไม่ออกเสียง “ร” กล้ำ และเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์  ส่วนบุคคลที่มีชื่อหลายพยางค์นั้น ชาวกรุงฯ ก็นิยมเรียกแต่พยางค์ต้นหรือพยางค์ท้าย เช่น เรียกผู้ที่ชื่อ “ประยงค์” ว่า “ยงค์”  พระนมประยงค์จึงเป็นที่รู้จักของชาวกรุงฯ ในนาม “พนมยงค์”  วัดนั้นจึงมีชื่อตามชื่อของผู้สร้างวัด “พนมยงค์”  และมีการเขียนชื่อวัดตามอักขรวิธีเช่นนั้นสืบทอดกันมาหลายชั่วคน (เมื่อประมาณ พ.ศ. 2466 ได้มีผู้เขียนชื่อวัดนั้นว่า “พนมยง”  ซึ่งมีความหมายแตกต่างกับชื่ออันเป็นประวัติของวัดนั้น)

เมื่อพระนมประยงค์หรือพนมยงค์ได้สร้างวัดนั้นสำเร็จแล้ว ได้ไปนมัสการพระพุทธบาท และพระพุทธฉายแขวงเมืองสระบุรี แล้วได้สถาปนาพระเจดีย์องค์หนึ่งเป็นพุทธบูชาบนยอดเขาหนึ่ง ซึ่งอยู่ทิศใต้ของเขาพระฉายประมาณ 10 กิโลเมตร  ราษฎรจึงเรียกเขานั้นว่า เขา “พนมยงค์” (กาลล่วงเลยมาช้านานจึงมีบางคนเขียนชื่อเขานั้นว่า “พนมยงค์”)

พระนมประยงค์หรือพนมยงค์ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณฝั่งใต้ของคลองเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์  ผู้สืบสายจากท่านก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่นั้นและในบริเวณใกล้เคียงวัดนั้น  เมื่อกาลล่วงเลยมานาน ผู้สืบสายจากท่านไม่อาจลำดับวงศ์ญาติถอยหลังขึ้นไปหลายชั่วคนได้ แต่มีสิ่งผูกพันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผู้สืบสายเหล่านั้นนับถือว่า วัดพนมยงค์เป็นวัดของปู่ย่าตายายหรือของบรรพบุรุษ แม้ผู้ที่อพยพไปตั้งภูมิลำเนาห่างไกลก็ได้ทำบุญ ณ วัดนั้นตามโอกาส

โดยเฉพาะที่ดินซึ่งเรือนของพระนมประยงค์ปลูกอยู่นั้น เป็นมฤดกตกทอดมาหลายชั่วคนถึงนายเกริ่น ซึ่งเกิด ณ ที่นั้นในระหว่างที่กองทัพแห่งกษัตริย์พม่ารุกรานกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310

บิดาของนายเกริ่น เป็นบุตรของนายกองคนหนึ่งแห่งกองทัพไทยที่ทำการต่อต้านกองทัพพม่า ณ ตำบลสีสุก และได้สิ้นชีวิตในการต่อสู้ข้าศึก ณ ตำบลนั้น  เมื่อมารดานายเกริ่นรู้ข่าวการตายของสามี และการรุกของข้าศึกเข้ามาใกล้กรุงฯ ยิ่งขึ้นแล้ว ก็ได้พานายเกริ่นพร้อมด้วยญาติบางคนลงเรือ รีบแจวและพายออกไปทางแม่น้ำป่าสักถึงบ้านญาติ ณ ตำบลท่าหลวง แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งคิดคะเนว่า ห่างไกลจากกรุงฯ  อันเป็นเป้าหมายของข้าศึก และได้อาศัยอยู่กับญาติที่นั้น จนกระทั่งพระเจ้าตากสินได้นำราษฎรขับไล่กองทหารพม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว มารดานายเกริ่นจึงได้พานายเกริ่นกลับมาบ้านหน้าวัดพนมยงค์  ซึ่งถูกข้าศึกทำลายเช่นเดียวกับบ้านของชาวกรุงฯ และวัดต่าง ๆ ในกรุงนั้น

มารดานายเกริ่นได้ปลูกเรือนไม้ไผ่เพื่ออาศัยเป็นการชั่วคราวขึ้น ณ ที่ดินนั้น แล้วได้ทำขนมชนิดต่าง ๆ จำหน่าย  ขนมนั้นมีรสโอชะ ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวกรุงฯ ว่า ขนมบ้านหน้าวัดพนมยงค์  ฝีมือในการทำขนมของมารดานายเกริ่นนั้นได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้สืบสายซึ่งประกอบอาชีพนั้นต่อมาอีกหลายชั่วคน

เนื่องจากครอบครัวของพวกที่อยู่ในบริเวณวัดพนมยงค์มาแต่ก่อนซึ่งหลบภัยจากกองทัพพม่า แล้วได้อพยพกลับมาบ้านเดิมภายหลังที่กองทัพพม่าถูกขับไล่ไปแล้วนั้น  จึงเป็นเหตุให้บริเวณใกล้เคียงวัดนั้นกลับฟื้นเป็นย่านตลาดขึ้นอีก  มารดานายเกริ่นได้ขยายการค้าดังกล่าวแล้วยิ่งขึ้น จึงสามารถสร้างเรือนฝากระดานขึ้น ณ ที่เดิมนั้น และได้เป็นหัวแรงในการออกเงินกับชักชวนญาติมิตรกับผู้มีจิตศรัทธา สถาปนาโบสถ์วัดพนมยงค์ที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ บนรากฐานของโบสถ์เก่า และสถาปนาศาลาการเปรียญกับกุฏิสงฆ์ขึ้น แล้วนิมนต์พระภิกษุจากวัดอื่นมาอยู่ที่วัดพนมยงค์

เมื่อนายเกริ่นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเป็นเวลากว่า 10 พรรษา แล้วได้เป็นสมภารแห่งวัดนั้น แล้วลาสิกขาบทเป็นฆราวาส

นายเกริ่นลาสิกขาบทแล้วแต่งงานกับ แก้ว บุตรีของหัวหน้าคณะปี่พาทย์ตำบลสวนพริก มีบุตรี 4 คน คือ ปิ่น บุญมา ทรัพย์ อ้น

ปิ่น แต่งงานกับ ก๊ก แซ่ตั๊ง มีบุตรชาย 2 คน คือ เกิดและตั้ว  ทายาทสืบต่อมาได้แยกย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเดิม  จึงมีนามสกุลต่าง ๆ กันตามที่ทางการตั้งให้  แต่มีทายาทสาขาหนึ่งที่มีนามสกุลว่า “พนมยงค์”

บุญมา แต่งงานกับ พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) ผู้ช่วยรักษากรุง (สมัยที่ทางการยังคงถือว่า พระนครศรีอยุธยาเป็นกรุงเก่าของไทย จึงเรียกตำแหน่งผู้ว่า ราชการจังหวัดนี้ว่า ผู้รักษากรุง)  ทายาทสืบต่อมามีนามสกุลว่า “ณ ป้อมเพชร์”

ทรัพย์ แต่งงานกับจีนผู้หนึ่ง มีบุตรชาย 2 คนชื่อ รื่น และผึ้ง (ขุนประเสริฐ)  มีบุตรี 3 คนชื่อ สุข เผือก จันทร์ และอื่น ๆ ที่ไม่แต่งงาน

-2-

นายก๊ก แซ่ตั๊ง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษฝ่ายชายของสกุลพนมยงค์นั้น เกิดเมื่อ พ.ศ. 2337 ที่หมู่บ้านเอ้ตั๊ง แขวงเท่งไฮ้ (แปลว่า ทะเลแห่งสันติภาพ) เขตแต้จิ๋ว ประเทศจีน (บรรพบุรุษได้อพยพจากเขตฮกเกี้ยน มาตั้งเป็นหมู่บ้านเอ้ตั๊งขึ้น หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตำบลไฮฮวง)  นายก๊กได้เข้ามาพึ่งโพธิสมภารของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2357

ตามบันทึกของบรรพบุรุษแซ่ตั๊งแห่งหมู่บ้านเอ้ตั๊ง กล่าวว่า ก๊กเป็นลูกของเส็ง เส็งเป็นลูกของเฮง  เฮงไปเมืองไทยเมื่อเส็งยังเล็กอยู่ แม่ของเฮงเป็นอาของ “แต้อ๋อง” (จีนแต้จิ๋วเรียกพระเจ้ากรุงธนว่า “แต้อ๋อง”)  เฮงช่วยแต้อ๋องรบพม่าตาย เส็งส่งก๊ก ลูกชาย ไปค้าขายที่เมืองไทย’

 

สุสานของนายเส็งและนางยิ้ง ภรรยา ณ ตำบลเอ้ตั๊ง อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง ข้อมูลจากคุณกมลลักษณ์  ตั้งทรงศิริศักดิ์
สุสานของนายเส็งและนางยิ้ง ภรรยา ณ ตำบลเอ้ตั๊ง อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง
ข้อมูลจากคุณกมลลักษณ์  ตั้งทรงศิริศักดิ์

 

ตามที่บรรพบุรุษได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมประกอบด้วยอาศัยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเฮง ปู่ของก๊ก เป็นดั่งต่อไปนี้

เฮงได้เข้ามาเมืองไทยในรัชสมัยของพระเจ้าที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้พักอยู่กับญาติฝ่ายจีนของพระเจ้าตากในบริเวณคลองสวนพลู (สมัยนั้นเป็นบริเวณที่ชาวจีนอาศัยอยู่)

เมื่อกษัตริย์พม่าได้ส่งกองทัพมารุกรานอาณาจักรไทย และสามารถทำลายแนวต้านทานที่มีอยู่ประปรายได้แล้วเคลื่อนกำลังเข้ามาใกล้กรุงฯ นั้น  พระมหากษัตริย์จึงได้มีพระบัญชาให้เจ้าหน้าที่รวบรวมราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าไปรักษาป้องกันกำแพงกรุง  โอกาสนั้นมีชาวจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งนายเฮง ได้อาสาสมัครเข้าร่วมกับราษฎรไทยในการนั้นด้วย  ทางการไทยจึงได้มอบให้คนจีนเหล่านั้นสังกัดอยู่ในกองที่พระยาตากเป็นผู้บังคับบัญชา

โดยที่ฝ่ายไทยไม่มีหน่วยต้านทานนอกกำแพงกรุงฯ เหลืออยู่เลย  กองทัพพม่าจึงสามารถล้อมกรุงฯ ไว้รอบด้าน  แล้วใช้ปืนใหญ่ระดมยิงกรุงฯ พระยาตากเห็นว่า ตามสภาพเช่นนั้นประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และอ่อนแอในการป้องกันประเทศชาติ  กรุงศรีอยุธยาจะต้องเป็นอันตราย พระยาตากจึงได้ชักชวนทหารไทยจีนภายใต้การบังคับบัญชาของตนตีฝ่าวงล้อมพม่า เพื่อรวบรวมราษฎรไทยในชนบทและในหัวเมืองตะวันออกจัดตั้งเป็นกองทัพราษฎรขึ้นใหม่ เพื่อกอบกู้เอกราชแห่งชาติไทย

ฝ่ายครอบครัวของนายเฮงในประเทศจีนนั้นไม่ได้รับข่าวคราวจากนายเฮงเป็นเวลาหลายปี เพราะภายหลังกรุงฯ แตกแล้ว การเดินเรือสำเภาระหว่างเขตแต้จิ๋วกับเมืองไทยได้หยุดชะงักไปชั่วคราว  ต่อมาภายหลังที่พระยาตาก ซึ่งราษฎรไทยยกย่องให้เป็นประมุขแห่งชาติไทย ได้ย้ายเมืองหลวงของชาติไทยไปตั้งอยู่ที่ธนบุรีแล้ว  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเดินเรือค้าขายติดต่อกับประเทศจีนอีก   มารดาของนายเฮงจึงได้ฝากจดหมายมากับนายเรือ เพื่อมาถวายพระเจ้ากรุงธนหนึ่งฉบับ แสดงความชื่นชมยินดีในการที่ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาติไทย และได้ถามข่าวนายเฮงด้วย  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตอบไปว่า นายเฮงได้สิ้นชีพในการรับใช้พระองค์ต่อสู้กับศัตรูของชาติไทย และได้พระราชทานเงินพดด้วงจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวของนายเฮง

นายเฮงมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ เส็ง ซึ่งเกิดในประเทศจีน ก่อนที่นายเฮงเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพียงไม่กี่เดือน  มารดาของนายเฮงตั้งใจไว้ว่า เมื่อนายเส็งเป็นหนุ่มพอสมควรแล้ว ก็จะให้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับใช้พระเจ้ากรุงธนบุรี  แต่ต่อมาเกิดมีการเปลี่ยนพระราชวงศ์ใหม่ในประเทศไทย นายเส็งจึงมิได้เข้ามาในประเทศไทย โดยทำมาหากินทางกสิกรรมในประเทศจีนต่อไป  นายเส็งได้แต่งงานมีบุตรหลายคน คนหนึ่งเป็นชายชื่อ ก๊ก                            

เมื่อนายก๊กมีอายุ 20 ปีเศษแล้ว การทำมาหากินของบิดามารดาในประเทศจีนฝืดเคืองมาก บิดานายก๊กจึงให้นายก๊กเดินทางเข้ามาพึ่งโพธิสมภารของราษฎรไทย  ก่อนออกเดินทางบิดานายก๊กได้มอบเงินพดด้วง 1 ตำลึงดังกล่าวข้างบน ซึ่งเป็นมฤดกตกทอดมาให้แก่นายก๊ก โดยกำชับว่า จะใช้เงินนั้นได้เฉพาะเป็นการลงทุนในการทำมาหากินเท่านั้น  วันหนึ่งของเดือน 3 (กุมภาพันธ์) ในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เรือสำเภาที่นายก๊กโดยสารมาจากประเทศจีนได้ถึงกรุงเทพฯ  นายก๊กพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่นานก็เดินทางไปอยุธยาเพื่อตั้งต้นประกอบอาชีพ ณ ที่นั้น

นายก๊กมีความรู้ในการทำแป้งข้าวหมัก ทำขนมแบบจีน ทำเต้าหู้ และเต้าเจี้ยว จึงได้เอาเงินพดด้วง 1 ตำลึงที่มีติดตัวมาออกจำหน่าย เพื่อได้เงินและเบี้ยที่ใช้กันในสมัยนั้นเป็นทุนในการทำแป้งข้าวหมักและทำข้าวหมักจำหน่าย ปรากฏว่า จำหน่ายได้มากขึ้นเป็นลำดับ  นายก๊กปรารถนาที่จะขยายการค้ากว้างขวางขึ้น  จึงได้ขอยืมเงินจำนวนหนึ่งจากญาติสมทบกับเงินที่นายก๊กทำมาหาได้ ซื้อแพหนึ่งหลังไปจอดอยู่ที่บริเวณตลาดใกล้วัดพนมยงค์ แล้วขยายการค้าที่มีอยู่ต่อไปอีกทั้งได้ทำขนมแบบจีน เต้าหู้ เต้าเจี้ยวเพิ่มขึ้นอีก  ในเวลาไม่ช้านายก๊กสามารถชำระหนี้ให้แก่ญาติได้หมดสิ้นแล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่ จึงได้เอาเงินนั้นให้ผู้อื่นกู้ยืม  ฐานะของนายก๊กจึงเปลี่ยนจากผู้มีทุนน้อยมาเป็นนายทุนขนาดกลางของหัวเมืองนั้น

เมื่อนายก๊กมีฐานะเป็นนายทุนขนาดกลางแล้ว ได้แต่งงานกับ ปิ่น บุตรีนายเกริ่น โดยมีสินสอดทองหมั้นและเงินกองทุน และใช้แพของนายก๊กเป็นแพหอ  ดังนั้น นายก๊กจึงได้ย้ายแพจากที่เดิมมาจอดที่หน้าบ้านของนายเกริ่น ตรงข้ามวัดพนมยงค์

นายก๊กนางปิ่นได้ร่วมกันขยายการค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายเคยทำมาแต่ก่อน ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ มีการทำขนมแบบจีนและแบบไทย อีกทั้งปรุงแต่งขนมขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง

นายก๊กได้ปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมแก่ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของครอบครัวนางปิ่น  โดยสงวนความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมจีนที่ไม่ขัดต่อความเป็นอยู่และวัฒนธรรมไทย  นายก๊กได้มีจิตศรัทธานับถือพุทธศาสนาตามแบบไทย เป็นอุปัฏฐากวัดพนมยงค์  นอกจากบำเพ็ญกุศลตามเทศกาลไทยแล้ว นายก๊กยังคงทำพิธีกรรมระลึกถึงคุณบุพการีในเทศกาลตรุษและสารทจีน

แม้นายก๊กนางปิ่นจะมีทาษไว้ใช้แรงงานตามสภาพของผู้มีเงินเหลือกินเหลือใช้ในสมัยนั้นก็ดี  แต่เนื่องจากเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา  จึงได้ปลดปล่อยทาษชายให้เป็นไทหลายคนโดยทำการอุปสมบททาษเหล่านั้นเป็นพระภิกษุ วิธีการปลดปล่อยทาษเช่นนั้น ได้สืบทอดต่อมาจนถึงบุตรหลานของนายก๊กนางปิ่นในสมัยที่ระบบทาษยังคงมีอยู่

นายก๊กได้ถึงแก่กรรมในวัยชรา นางปิ่นจึงได้จัดการฌาปนกิจศพนายก๊กตามประเพณีไทย  แล้วได้ส่งอัฐิและอังคารมาบรรจุไว้ในสุสานใกล้บ้านของนายก๊ก  ต่อมาอีกไม่นานนางปิ่นก็ถึงแก่กรรม

นายก๊กนางปิ่นมีบุตรชาย 2 คน คือ นายเกิดกับนายตั้ว

นายเกิดแต่งงานแล้วยังคงอยู่ที่บ้านหน้าวัดพนมยงค์ และรับมฤดกที่บ้านนั้นสืบต่อมา  ส่วนนายตั้วเมื่อแต่งงานแล้ว ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากบ้านหน้าวัดพนมยงค์ประมาณ 400 เมตร

นายเกิดได้เกิดในรัชกาลที่ 3  เมื่อยังเยาว์ขณะที่เพิ่งเริ่มคลาน ได้ตกจากแพลงไปในคลอง บิดามารดาพร้อมทั้งคนในบ้านได้ช่วยกันงมขึ้นมาได้  นางปิ่นมารดาจึงตั้งชื่อให้บุตรนั้นว่า “บุญเกิด” ซึ่งหมายถึงบุญกุศลช่วยให้เด็กนั้นเกิดมา นายก๊กบิดาเห็นชอบด้วยในการตั้งชื่อบุตรเช่นนั้น  แต่ต่อมานิยมเรียกชื่อนั้นแต่พยางค์ท้ายว่า “เกิด”

นายเกิดได้เรียนหนังสือไทยที่กุฎีสมภารวัดพนมยงค์  เมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบทจำพรรษาอยู่วัดพนมยงค์ 1 พรรษา แล้วลาสิกขาบทเป็นฆราวาสช่วยเหลือบิดามารดาในการทำมาหากินต่อไป

ต่อมานายเกิดได้แต่งงานกับ คุ้ม บุตรีของผู้ประกอบการค้าขายที่ตำบลพระงาม แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (บัดนี้เป็นอำเภอวิเศษชัยชาญ)

นายเกิดนางคุ้มรับมฤดกกิจการของนายก๊กนางปิ่นแล้ว ได้ขยายกิจการกว้างขวางยิ่งขึ้น  ในการนั้นได้ปรับปรุงคุณภาพขนมให้ดีขึ้นหลายอย่าง และได้ปรับปรุงการทำเต้าหู้และเต้าเจี้ยวให้ดีขึ้น  โดยจ้างครูจากประเทศจีนมาทำการสอนให้แก่บุตรของนายเกิดนางคุ้ม  เต้าเจี้ยวที่ปรับปรุงใหม่นั้นชาวกรุงฯ เรียกกันว่า เต้าเจี้ยวหวาน  การทำเต้าเจี้ยวอยุธยาของญาติรุ่นต่อ ๆ มาบางคนนั้นได้อาศัยวิธีที่สืบทอดมาจากที่กล่าวนี้  นายเกิดนางคุ้มมีฐานะเป็นนายทุนและเจ้าทาษมากยิ่งขึ้นกว่า บิดามารดา

นายเกิดได้สนใจในศิลปดนตรี อันเป็นมฤดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง  ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษฝ่ายมารดา (นางปิ่น) จึงได้มีวงเครื่องสาย 1 วง  และบุตรชายของนายเกิดก็ได้รับการฝึกหัดการดนตรีนั้น

นายเกิดได้ถึงแก่กรรมในวัยชรา เมื่อฌาปนกิจศพแล้ว นางคุ้มและบุตรได้จัดการสร้างเก๋งจีนเล็ก ๆ ไว้ที่ข้างกำแพงโบสถ์วัดพนมยงค์ แล้วได้บรรจุอัฐิและอังคารไว้ในเก๋งนั้น

นายเกิดนางคุ้มมีบุตร 8 คน คือ

  1. นางแฟง           
  2. นายฮวด
  3. นายชุน
  4. นางสาวง้วย
  5. นายฉาย
  6. นายฮ้อ
  7. นายเสียง
  8. นางบุญช่วย

บุตรชายนายเกิดนางคุ้มซึ่งแต่งงานแล้ว  ได้แยกครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลหรือจังหวัดอื่น  คือ นายฮวดได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดเชิง  นายชุนตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดสามวิหาร ต่อมาย้ายไปอยู่หน้าวัดมณฑป  นายฉายย้ายไปอยู่ที่ตำบลปากน้ำบางพุดซา จังหวัดสิงห์บุรี  นายฮ้อย้ายไปอยู่ที่เกาะลอยใกล้วัดสะพานเกลือ 

บุตรหญิงของนายเกิดนางคุ้มซึ่งแต่งงานแล้ว  มีแพหอซึ่งฝ่ายชายจัดหามาและจอดอยู่ที่บ้านหน้าวัดพนมยงค์ คือ นางแฟง 1 หลัง และนางบุญช่วย 1 หลัง

นายเสียงได้ไปทำป่าไม้และทำนาในอำเภออื่น แต่ครอบครัวยังคงอยู่ที่บ้านเดิม

ส่วนนางสาวง้วยมิได้แต่งงาน  พี่น้องจึงตกลงให้เป็นผู้รับมฤดกที่บ้านร่วมกับนายเสียง และดำเนินวิสาหกิจของบิดามารดาต่อไป

ผู้ที่แต่งงานแยกครอบครัวแล้วนั้น  ต่างก็ทำมาหากินตามกำลังทุนที่ได้รับแบ่งจากบิดามารดา  บางคนก็พัฒนาทุนต่อไปได้  บางคนทำมาค้าขายไม่ขึ้นจึงทรุดโทรมลงยิ่งกว่า บิดามารดา  บางคนร่ำรวยอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วทรุดโทรม  ส่วนกิจการที่นายเกิดนางคุ้มเคยทำอยู่นั้นบุตรไม่สามารถที่จะพัฒนาหรือรักษาไว้ให้คงที่ได้  คือ มีแต่ทรุดโทรมลงตามลำดับเพราะมีผู้อื่นทำการแข่งขันมากขึ้น  และบริเวณใกล้วัดพนมยงค์หมดสภาพเป็นย่านตลาด เพราะคลองเมืองตื้นเขินยิ่งขึ้น  ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลารัฐบาลมณฑลขึ้นที่วังจันทรเกษมและศูนย์การปกครองขึ้นในบริเวณนั้น  อีกทั้งได้มีตลาดใหม่ขึ้นที่หัวรอ  และโรงบ่อนเบี้ยได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมข้างวัดพนมยงค์ ไปอยู่ที่ตลาดหัวรอ จึงทำให้บริเวณใกล้วัดพนมยงค์หมดสภาพเป็นย่านตลาดอีกต่อไป  การทำมาหากินของผู้ที่ยังอยู่บ้านเดิมนั้นจึงฝืดเคืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

 

นายเสียง พนมยงค์
นายเสียง พนมยงค์

 

-3-

นายเสียงเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2409  ได้ศึกษาภาษาไทยกับภาษาบาลีที่วัดศาลาปูน  ได้แต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนสั้น ๆ ไว้หลายเรื่อง ได้ฝึกฝนทางดนตรีมีฝีมือพิเศษทางซออู้และซอด้วงและหีบเพลง

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดพนมยงค์ 3 พรรษา

เมื่อลาสิกขาบทเป็นฆราวาสแล้ว  ได้แต่งงานกับ ลูกจันทน์ บุตรีหลวงพานิชย์พัฒนากร (เบ๊ก) และนางพานิชย์พัฒนากร (เล็ก กิจจาทร)

ภายหลังแต่งงานแล้ว มีผู้แนะนำให้นายเสียงสมัครเข้าทำราชการ เพราะมีพื้นความรู้ทางหนังสือพอสมควร  แต่นายเสียงชอบอาชีพอิสสระ  จึงได้สมัครเรียนการปลูกฝีกันไข้ทรพิษ ณ สำนักหมออาดัมซัน  (ซึ่งต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นพระบำบัดสรรพโรค) สอบได้ประกาศนียบัตรแล้วทำการปลูกฝีแก่ราษฎรหลายราย  ต่อมาได้ไปทำป่าไม้ในบริเวณพระพุทธบาท ซึ่งขณะนั้นมีไข้จับสั่นระบาดเป็นประจำ นายเสียงไม่สามารถต้านทานต่อโรคนั้นได้ จึงต้องเลิกกิจการป่าไม้นั้นด้วยการขาดทุนมาก

นายเสียงเป็นผู้สนใจในกสิกรรมและที่สนใจที่สุด คือ การทำนา เมื่อได้พบกับผู้รู้จักครั้งไรก็จะพูดถึงแต่เรื่องทำนา  แม้จะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียงมิได้ละเลยที่จะสงเคราะห์และให้การศึกษาแก่บุตรเลย พยายามส่งบุตรเข้าศึกษาเล่าเรียน  ในชั้นต้นเมื่อยังเยาว์อยู่ก็ให้เรียนในโรงเรียนที่ใกล้บ้าน  ครั้นโตขึ้นก็ส่งมาอยู่กับญาติและศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนกรุงเทพฯ  ทำดังนี้นับว่า ได้ผลดีสมความประสงค์  เป็นอันว่า นายเสียงได้กระทำหน้าที่เป็นบิดาที่ดี และตั้งใจสงเคราะห์บุตรตามธรรมเนียม

ต่อมานายเสียงกับนางลูกจันทน์ได้ไปทำนาที่ตำบลท่าหลวง  แต่เนื่องจากฝนแล้งติด ๆ กัน 2 ปี  การทำนาไม่ได้ผลต้องเป็นลูกหนี้ผู้อื่น จึงเลิกจากการทำนา ณ ที่นั้น

ต่อมานายเสียงได้ทำการหักร้างถางพงที่ว่างเปล่าที่ตำบลอู่ตะเภา  ในสมัยที่ทุ่งบริเวณนั้นมีช้างป่า  ก่อนที่ทางราชการจัดตั้งอำเภออุทัยน้อย (ปัจจุบันอำเภอวังน้อย)  นายเสียงได้ทำนาในที่หักร้างไว้นั้น โดยต้องทำการต่อสู้กับช้างที่มารบกวนคอยกินต้นข้าว  การทำนาไม่ได้ผล เพราะฝนแล้งบ้าง หรือบางปีมีน้ำท่วมมากบ้าง อีกทั้งมีเพลี้ยคอยรบกวนต้นข้าว  ครั้นต่อมาบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทำการขุดคลอง ได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินซึ่งนายเสียงหักร้างไว้นั้น  นายเสียงก็จำต้องจ่ายเงินให้บริษัทเป็นค่าขุดคลองตามอัตรา  นายเสียงไม่มีเงินของตนเองจึงจำต้องยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ซึ่งทำให้นายเสียงมีหนี้สินรุงรังยิ่งขึ้นจากหนี้สินที่มีอยู่แล้ว  เนื่องจากการทำนาไม่ได้ผล ฐานะของนายเสียงได้เปลี่ยนจากนายทุนน้อยในเมือง มาเป็นชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบท ที่กำลังอัตคัดขัดสนมีหนี้สินยิ่งขึ้น  นายเสียงต้องต่อสู้กับการอัตคัดมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งโครงการชลประทานป่าสักใต้ของรัฐบาลได้ขยายไปถึงบริเวณที่นาของนายเสียง จึงช่วยให้นายเสียงกลับฟื้นเป็นชาวนานายทุนน้อยแห่งชนบท

ในระหว่างอยู่ที่ชนบทนั้น  นายเสียงได้มีภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ “ปุ้ย”

นายเสียงมีบุตรกับนางลูกจันทน์ 6 คน คือ

  1. นางธราทรพิทักษ์ (เก็บ)
  2. นายปรีดี
  3. นายหลุย
  4. นางนิติทัณฑ์ประภาศ (ชื่น)
  5. นางเนื่อง  ลิมปินันท์
  6. นายถนอม

นายเสียงมีบุตรกับนางปุ้ย 2 คน คือ

  • นายอรรถกิติกำจร (กลึง)
  • นางน้อม  ตามสกุล

-4-

ภายหลังที่นายเกิดกับนางคุ้มได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว 30 ปีเศษ  จึงได้มีประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456  สมัยนั้นราษฎรส่วนมากในหัวเมืองและชนบทไม่สนใจมากนักในการขอจดทะเบียนของตนภายในกำหนด กรมการอำเภอจึงคิดและแต่งตั้งจดทะเบียนให้ตามความสะดวกของกรมการอำเภอ

เนื่องจากบุตรชายหลายคนของนายเกิดได้แยกย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ตำบลอื่นหรือจังหวัดอื่น  ฉะนั้น กรมการอำเภอจึงแต่งตั้งนามสกุลให้ตามตำบลที่ผู้นั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ และหลานของนายเกิดบางคนที่กำลังรับราชการทหาร  ก็ได้รับการแต่งตั้งนามสกุลจากผู้บังคับบัญชา

ส่วนนายเสียงได้รับทราบจากผู้ใหญ่บ้านว่า กรมการอำเภอคิดตั้งนามสกุลให้  นายเสียงเห็นว่า นามสกุลนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษเลย จึงได้ไปนมัสการท่านเจ้าคณะเมือง (จังหวัด) ขณะนั้น คือ พระสุวรรณวิมลศีล เพื่อขอให้ท่านตั้งนามสกุลที่เหมาะให้ และขอให้ท่านแนะศิษย์คนหนึ่งของท่าน ซึ่งเป็นผู้คิดนามสกุลประจำอำเภอรอบกรุง (ปัจจุบัน คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา) ให้ช่วยแก้ไขนามสกุลที่ตั้งไว้เดิมนั้น  ท่านเจ้าคณะเมืององค์นั้นรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษนายเสียงเป็นอย่างดี ท่านจึงได้บอกนายเสียงว่า สมควรใช้นามสกุลว่า “พนมยงค์”  ครั้นแล้วท่านได้ให้คนไปตามศิษย์ของท่านมาจากอำเภอฯ แล้วท่านแจ้งแก่ผู้นั้นว่า ให้แนะนำกรมการอำเภอแต่งตั้งนามสกุลให้แก่นายเสียงว่า “พนมยงค์”  ผู้นั้นเห็นชอบด้วยจึงจัดการให้กรมการอำเภอแต่งตั้งนามสกุลให้แก่นายเสียงว่า “พนมยงค์”

 

ที่มา: บทความเรื่อง “สกุล พนมยงค์” ข้อเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เขียนขึ้นสมัยเมื่อพำนักอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีน  ท่านผู้หญิงพูนศุขนำมาพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ สกุล พนมยงค์ เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2530.