ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เหตุผลของการที่ต้องนำประชาธิปไตยสมบูรณ์กลับมา

12
กุมภาพันธ์
2564

“ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใด หรือเหล่าชนใด กล่าวคือ ประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่สิ้นสุด”

ในสังคมที่มนุษย์มีฐานะและวิธีดำรงชีพแตกต่างกันนั้น ความขัดแย้งย่อมมีขึ้นระหว่างจำพวกต่าง ๆ หรือชนชั้นวรรณะต่าง ๆ ของสังคม ในปัญหาดังกล่าว ตามปกตินั้น คนจำนวนส่วนข้างน้อยของสังคมซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจการเมือง มีอิทธิพลทางทัศนะสังคม ทำให้มีจิตใจเป็นไปตามอำนาจเศรษฐกิจการเมืองนั้น รวมทั้งบุคคลที่อาศัยหาประโยชน์จากผู้กุมอำนาจและมีอิทธิพลชนิดนั้นก็พอใจในระบบสังคมเท่าที่เป็นอยู่ ถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงบ้างก็เพื่อให้ฐานะเศรษฐกิจการเมืองและอิทธิพลทางจิตใจนั้นมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ยกเว้นผู้ที่มองการไกล เห็นกฎแห่งความเป็นอนิจจังว่า ระบบเพื่อประโยชน์ของชนจำนวนน้อยจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสานไม่ได้ คืออนาคตจะต้องเป็นของราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก และราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ก็คือผู้ไร้สมบัติ, ชาวนายากจน, ผู้มีทุนน้อย, รวมทั้งนายทุนที่รักชาติซึ่งมิได้คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนของวรรณะพวกตัวเป็นที่ตั้งแล้วก็ต้องการระบบสังคมใหม่ที่จะช่วยความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนข้างมากให้ดีขึ้น คือมีระบบการเมืองที่สอดคล้องสมานกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมเพื่อให้การเบียดเบียนหมดไปหรือลดน้อยลงไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

แต่ในบรรดาพลเมืองส่วนข้างมากของสังคมนั้น ที่แม้ตามสภาพหรือฐานะถูก เบียดเบียนจากคนจำนวนส่วนข้างน้อยและยังไม่เกิดจิตสำนึกเช่นนั้น เพราะความเคยชินต่อการถูกเบียดเบียนมาช้านาน หรือเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งทัศนะสังคมที่ทำให้เกิดสภาพทางจิตใจในระบบเศรษฐกิจและการเมืองเท่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตามราษฎรที่เป็นพลเมืองส่วนข้างมากนั้น แม้จะยังไม่แสดงความต้องการให้ประจักษ์ชัดแจ้ง แต่เป็นพลังเงียบที่พร้อมต้อนรับระบบที่ทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น

การมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรส่วนมาก ดีกว่าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเลยก็จริงอยู่ แต่ถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้ เพราะคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจ เศรษฐกิจอยู่ในมือย่อมมีโอกาสดีกว่า ในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางการเมือง ขอให้ดูตัวอย่างการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของหลายประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้น พวกของผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถทุ่มเทเงินมาใช้จ่าย ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในรัฐสภายิ่งกว่าผู้มีความสามารถทางการเมืองแต่ไม่มีทุนมาลงในการเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้อำนาจทางการเมืองก็ตกอยู่ในมือของผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถใช้อำนาจทางการเมืองดลบันดาลให้เศรษฐกิจเป็นไปตามความประสงค์ของตนและพวกของตนที่เป็นคนจำนวนส่วนข้างน้อยของสังคม

สังคมของมนุษย์จะดำเนินไปสู่รูปใดนั้นก็โดยความเคลื่อนไหวของมนุษย์ ในสังคมนั้น ๆ มนุษย์จะสามารถผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้นั้น ก็จำต้องมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนำในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือแม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนำแล้วก็ย่อมดำเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้

อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมนั้นก็เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎี และทางปฏิบัติ ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดำเนินทัศนะที่ยืดถือนั้น คือ ถ้าทัศนะนั้นนำไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจำพวกประชาธิปไตย ถ้าไม่บังเกิดผลดังกล่าวก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่าทัศนะนั้นขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย และเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่มิใช่ประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม ผมจึงขอมอบให้ท่านทั้งหลายค่อย ๆ หาเวลาตรึกตรองแล้ววินิจฉัยเพื่อแสวงหาทัศนะที่เป็นประชาธิปไตยทางสังคมเป็นหลักนำ

ส่วนระบบประชาธิปไตยทางการเมืองโดยเฉพาะนั้นเกี่ยวกับระบบอำนาจรัฐที่ราษฎรมีสิทธิในการใช้อำนาจรัฐนั้นมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เป็นเม่บทและกฎหมายเลือกตั้ง อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับระบบบริหารและระบบตุลาการ ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองที่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่สุดคือระบบที่ราษฎรทั้งปวงในสังคมนั้นมีสิทธิออกเสียงบัญญัติกฎหมายได้ โดยตรงไม่ใช่ผ่านทางผู้แทนราษฎร ระบบประชาธิปไตยชนิดนี้ย่อมทำได้ในประเทศเล็ก ๆ ที่มีพลเมืองไม่มาก แต่ในประเทศที่มีพลเมืองหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านคนก็เป็นการพ้นวิสัยที่จะนัดประชุมราษฎรทั้งปวงให้มาลงมติในร่างกฎหมายใด ๆ โดยตรงได้ ฉะนั้น

จึงจำต้องมีระบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้มาใช้สิทธิแทนราษฎร ปัญหาระบบการเมืองประชาธิปไตยโดยผ่านทางผู้แทนราษฎรนั้นมิใช่อยู่ที่ว่า รูปภายนอกมีรัฐสภาอันประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่ยังจะต้องพิจารณาถึงระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรว่าในทางปฏิบัติราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงเสมอภาคกันเละมีความสะดวกเพียงใด

ประเทศไทยภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ซึ่งบางคราวได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่ใช้วิธีถือเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดยมิได้แยกออกเป็นหลายเขตในจังหวัดที่มีพลเมืองมาก ส่วนจำนวนผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีได้นั้น ให้คำนวณตามจำนวนพลเมือง 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ดังนั้นจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยกว่า 150,000 คน เช่น จังหวัดระนองก็มีผู้แทนราษฎรได้เพียงคนเดียว ส่วนจังหวัดที่มีพลเมืองมาก เช่น จังหวัดพระนครก็มีผู้แทนราษฎรได้ 9 คน เมื่อ พ.ศ. 2501

ดังนั้นความไม่เสมอภาคหรือความไม่เป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นระหว่างราษฎรไทยในจังหวัดต่าง ๆ เหตุผลที่อ้างมีหลายอย่างที่ฟังไม่ขึ้น แต่เราก็เห็นได้ว่า เมื่อราษฎรไม่มีความเสมอภาคกันเช่นนั้น แล้วก็จะเรียกว่าระบบประชาธิปไตยไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลกันจึงไม่สะดวกแก่การที่ราษฎรมาลงคะเนนได้ทั่วถึง เป็นเหตุให้ราษฎรที่มาลงคะแนนน้อยมากและเป็เหตุให้ราษฎรไทยเป็นส่วนรวมถูกกล่าวหา เพื่อเป็นข้ออ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะรับความเป็นประชาธิปไตย แต่อันที่จริงราษฎรไทยนิยมความเป็นประชาธิปไตยมาแต่โบราณกาลแล้ว อาทิ ในสมัยก่อนเมื่อสมภารวัดใดในชนบทว่างลงก็จะมีการประชุมพระในวัด และราษฎรในหมู่บ้านเลือกสมภาร ผู้ใหญ่บ้านว่างลงก็ประชุมราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านซึ่งราษฎรส่วนมาก ก็มา ประชุมกันโดย ไม่ต้องเดินทางมาหน่วยเลือกตั้งที่ห่างไกล

ดังนั้นระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ ก็จำต้องมีรัฐธรมนูญ วิธีเลือกตั้งซึ่งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารจำต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และระบบที่ฝ่ายตุลาการจำต้องมีอิสระและดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม ปัญหารูปแห่งระบบประชาธิปไตยทางการเมืองนี้มีความพิสดารมาก ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่สนใจหาโอกาส ศึกษาค้นคว้าต่อไป

ผมขอฝากข้อสังเกตไว้อีกเล็กน้อยว่า ท่านอาจได้ยินวาทะของบางคนว่าระบบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตย อย่างไทย ๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใส ถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาละสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่า คำที่ว่าอย่างไทย ๆ นั้น ขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น

สังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎร ดังนั้นระบบของสังคมที่ทำให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าก็คือ ระบบประชาธิปไตย ซึ่งท่านย่อมได้ยิน หรือบางท่านอาจเคยพูด หรือเคยเรียกร้องที่จะให้ประเทศไทยมีระบบประชาธิปไตย ท่านย่อมรู้ความหมายของคำนี้และผมเคยกล่าวไว้แล้วในที่หลายแห่งคือหมายถึงระบบที่ประชาชนหรือมวลราษฎรมีอธิปไตยตามมูลศัพท์คือ “ประชา” สนธิกับ “อธิปไตย”

ผมได้กล่าวแล้วว่ารูปของสังคมใด ๆ นั้น ย่อมประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจ, การเมือง, ทัศนะสังคม ดังนั้นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง, ทัศนะสงคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำทางจิตใจ

 

ที่มา : ตัดตอนจาก ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง ‘อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปแบบใด’ ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ประเทศอังกฤษ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2516

หมายเหตุ : ตัดตอน แก้ไขเล็กน้อย จัดรูปแบบตัวอักษร โดยบรรณาธิการ