ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อพูนศุข-ปรีดี ล่องเรือฮันนีมูนหลังแต่งงาน

14
กุมภาพันธ์
2564

คนรักที่แต่งงานกันแล้วมักจะหาโอกาสในวันหยุดออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันเพื่อฉลองการร่วมชีวิตคู่ หรือเรียกแบบถ้อยคำติดปากคนปัจจุบันว่าไป ‘ฮันนีมูน’ หรือดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ เนื่องในวาระเทศกาลวันแห่งความรักของเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าจะทดลองเอ่ยถึงลักษณะการเดินทางไปทัศนาจรด้วยกันของนายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์อันเข้าเค้า ‘ฮันนีมูน’แล้ว ก็คงน่าสนใจไม่เบา ประกอบกับมีเกร็ดข้อมูลที่สามารถจะแจกแจงได้พอสมควร

นายปรีดีเข้าพิธีสมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ใช่ว่าทั้งสองจะได้ไปท่องเที่ยวด้วยกันหลังแต่งงานทันที เนื่องจากสามีหนุ่มมิแคล้วติดพันภาระหน้าที่งานราชการ อาจควงคู่ไปชมภาพยนตร์บ้างในวันหยุด หรือแวะไปเยี่ยมเยือนพระนครศรีอยุธยาบ้านเกิดของนายปรีดี

จวบจนเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 ในช่วงที่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมได้หยุดพักผ่อนหนึ่งเดือน นายปรีดีและภรรยาจึงสบโอกาสไปทัศนาจรด้วยกันตามประสาผู้เพิ่งเคียงครองชีวิตคู่หมาดใหม่หรือ ‘ฮันนีมูน’  ดังท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์เปิดเผยไว้ในข้อเขียน “ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จําได้” ตอนหนึ่งว่า

“...ภายหลังแต่งงานเราได้ไปเที่ยวชายทะเลแถบตะวันออก โดยเรือภาณุรังษี ออกจากกรุงเทพฯ เที่ยงวันเสาร์แวะระยอง จันทบุรี เข้าเขตกัมพูชา แวะเมืองเรียม เมืองเด๊ป และเมืองซาเตียนซึ่งขึ้นกับเวียดนาม เรือเทียบท่าเฉพาะจันทบุรีและเมืองเรียม ใช้เวลา ๖ วัน ถึงกรุงเทพฯ เช้าวันพฤหัสบดี เสียค่าโดยสารคนละ ๖๐ บาท นับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า เพราะได้อากาศทะเล อาหารดีทั้งไทยและฝรั่ง” 

นายปรีดีและนางพูนศุขโดยสารเรือภาณุรังษีออกจากท่าเรืออีสต์เอเชียติกบริเวณวัดพระยาไกรตอนเที่ยงของวันเสาร์ แล่นล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่อ่าวไทย และแล่นเลียบชายฝั่งตะวันออกไปเรื่อย ๆ ให้ผู้โดยสารดื่มด่ำบรรยากาศท้องทะเล อาศัยเวลาประมาณ 18 -24 ชั่วโมงจึงเทียบท่าเรือเมืองจันทบุรี เรือลำนี้ยังแล่นเข้าไปในเขตกัมพูชา แวะจอดที่เรียม (Ream) เมืองท่าสำคัญของเขมร ปัจจุบันเป็นฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ในจังหวัดสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ส่วนเมืองเด๊ปที่ท่านผู้หญิงพาดพิง ผมคิดว่าน่าจะหมายถึงเมืองแกบ (Kep) หรือแก็ป ซูร์ แมร์ (Kep-Sur-Mer) เมืองตากอากาศสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสเสียมากกว่า ขณะที่เมืองซาเตียนในเขตเวียดนามติดกับพรมแดนกัมพูชา คงหมายถึงเมืองฮาเตียน (Ha Tien) หรือเมืองพุทไธมาศ (บันทายมาศ) ตามที่เรียกขานในเอกสารเก่า ๆ ของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เรือภาณุรังษีแล่นเลียบชายฝั่งย้อนเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครตอนเช้าวันพฤหัสบดี เป็นอันจบการทัศนาจรในลักษณะเที่ยวตากอากาศทางทะเลอ่าวไทยชายฝั่งตะวันออกโดยเรือเมล์  ใช้ทั้งสิ้นเวลา 6 วัน ราคาค่าโดยสารคนละ 60 บาท  ซึ่งจะว่าไปหาใช่เงินจำนวนน้อย ๆ ถ้าเทียบอัตราค่าเงินยุคนั้น แต่ท่านผู้หญิงพูนศุขมองว่าคุ้มค่า เพราะบนเรือยังจัดเลี้ยงอาหารเลิศรสทั้งตำรับไทยและตำรับฝรั่ง

 

บรรยากาศเมืองจันทบุรีในปี ค.ศ.1930 (พ.ศ. 2473) ภาพจาก teakdoor.com
บรรยากาศเมืองจันทบุรีในปี ค.ศ.1930 (พ.ศ. 2473) ภาพจาก teakdoor.com

 

เมืองแกบ (Kep) ในปี ค.ศ.1931 (พ.ศ. 2474) ภาพจาก publikam.com
เมืองแกบ (Kep) ในปี ค.ศ.1931 (พ.ศ. 2474) ภาพจาก publikam.com

 

เรือภาณุรังษี (Bhanurangsi) เป็นเรือสังกัดบริษัท เรือไฟไทย จำกัด (The Siam Stream Navigation Co., Ltd: SSNC) ซึ่งอยู่ในเครือบริษัทอีสต์เอเชียติก (East Asiatic Company) กิจการสัญชาติเดนมาร์ก ชื่อเรือตั้งมาจากพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (เรือกลไฟของบริษัท เรือไฟไทย มักตั้งชื่อตามพระนามเจ้านายสยาม เช่น เรืออัษฎางค์ มาจากพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และเรือบริพัตร มาจากพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น)

เรือภาณุรังษีสร้างขึ้นที่เดนมาร์กเมื่อปี ค.ศ. 1927 (ตรงกับ พ.ศ. 2470) มีระวางประมาณ 685 ตัน  เสร็จสิ้นแล้วจึงนำเข้ามาใช้งานในเมืองไทย นั่นแสดงว่าตอนปรีดีกับพูนศุขโดยสารเรือลำนี้เที่ยวชมชายทะเลฝั่งตะวันออกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 (ตรงกับ ค.ศ. 1929) ก็ถือเป็นเรือลำใหม่เอี่ยมอ่องทีเดียว

 

เรือภาณุรังษี ภาพจาก ssmaritime.com
เรือภาณุรังษี ภาพจาก ssmaritime.com

 

เรือภาณุรังษีกำลังเทียบท่า ภาพจากหนังสือ เมืองสามสมุทร ผลงานของภราดร ศักดา
เรือภาณุรังษีกำลังเทียบท่า ภาพจากหนังสือ เมืองสามสมุทร ผลงานของภราดร ศักดา

 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ห้วงยามสถานการณ์ยังไม่สงบราบรื่นเท่าไหร่  พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในหลายพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือภาณุรังษีออกจากพระนครเพื่อไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อยจังหวัดสงขลา

ปลายทศวรรษ 2470  การทัศนาจรทางทะเลด้วยการโดยสารเรือภาณุรังษียังได้รับความนิยมมิเสื่อมคลาย ปรากฏโฆษณาของบริษัทเรือไฟไทยเสมอ ๆ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ เฉกเช่น ในหนังสือพิมพ์ ปีที่ 2 ฉะบับที่ 352 ประจำวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ให้รายละเอียดว่า

“การพักผ่อนเพื่อความสุขและอนามัยของท่าน ตามระยะทางฝั่งทะเลอันสวยงามของจังหวัดจันทบุรี ในระหว่างที่คลื่นลมเปนปกติ   ซึ่งเริ่มแต่พฤศจิกายน ๗๖ ถึงพฤษภาคม ๗๗ โดยเรือโดยสานที่ทันสมัย  เรือยนตร์ “ภาณุรังษี” และเรือกลไฟ “นิภา”

การไปและกลับภายในระยะ 5 วัน  ออกจากรุงเทพฯ ในวันพุธและวันเสาร์เที่ยงวัน  กลับถึงกรุงเทพฯ ในวันจันทร์และวันพฤหัส ก.ท.

การไปและกลับในปลายสัปดาห์  ออกจากรุงเทพฯ วันเสาร์ เที่ยงวัน  กลับถึงกรุงเทพฯ วันจันทร์ ก่อนเที่ยง

ค่าโดยสานชั้นที่ 1 คนละ 20 บาท ไม่รวมค่าอาหาร อาหารจีน ฝรั่ง ได้จัดทำบนเรือเปนพิเศษ และขายโดยราคาอันย่อมเยาว์....”

สังเกตดูจะพบว่า ราคาค่าโดยสารลดลงมาจากตอนที่ปรีดีกับพูนศุขล่องเรือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2472 ถึง 40 บาท บางที อาจเพราะยังไม่รวมค่าอาหารก็เป็นได้

ด้านหนังสือพิมพ์ ปีที่ 2 ฉะบับที่ 376 ประจำวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 1 มกราคม พ.ศ. 2477) กล่าวถึงเรือภาณุรังษีในฐานะเรือเดินเมล์ฝั่งตะวันออกไปจันทบุรีและเขมรว่า “ออกทุกวันเสาร์เวลาเที่ยง ไปเกาะสีชัง ศรีราชา, บ้านนาเกลือ, ระยอง, จันทบุรี, เกาะกง, เรียม และท่าอื่น ๆ” ทั้งโปรยถ้อยคำเชิญชวนทำนอง “เปนเรือสายที่เหมาะที่สุดสำหรับการเที่ยวตากอากาศทางทะเลเพื่ออนามัยของท่าน จะเที่ยวไปในเรือหรือจะพักบนฝั่งขึ้นเที่ยวบนบกด้วยก็ได้ทั้งสองประการ”

การท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งตะวันออก ไม่ว่าจะไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือเพื่อสุขภาพอนามัย อันที่จริงคือค่านิยมที่ชนชั้นนำสยามได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ถ่ายทอดเป็นพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวทะเลตะวันออก แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองชลบุรีไปจนเมืองประจันตคีรีเขตรหรือเกาะกง ขณะที่พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง อธิบายถึงเรื่องเที่ยว เสนอประโยชน์ของการท่องเที่ยวว่ามิเพียงทำให้แลเห็นภูมิประเทศหลากหลายเท่านั้น แต่ยังส่งผลดียิ่งต่อสุขภาพพลานามัย 

ประมาณปี พ.ศ. 2479 เจอข้อมูลว่าเรือภาณุรังษีได้แล่นลำกลางทะเลอ่าวไทยไปทางภาคใต้ด้วยอีกสายหนึ่ง สวมบทบาทในฐานะเรือขนส่งสินค้าพร้อมบรรทุกผู้โดยสารระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และแวะจอดรับคนตามท่าเรือหัวเมืองปักษ์ใต้รายทางย้อนขึ้นมาพระนคร

ในทศวรรษ 2490 เรือภาณุรังษีมีส่วนในการอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หวนคืนสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2492 กล่าวคือ ครั้นเรือวิลเล็มไรซ์ (Willem Ruys) เดินทางออกจากท่าเรือเซาท์แธมป์ตัน ประเทศอังกฤษมาถึงสิงคโปร์ในวันที่ 18 พฤษภาคม ทางรัฐบาลไทยได้ส่งเรือภาณุรังษีไปอัญเชิญพระบรมอัฐิเดินทางต่อมาถึงเกาะสีชังในวันที่ 24 พฤษภาคม จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมอัฐิจากกล่องหินอ่อนลงบรรจุในพระโกศทองคำเดินทางมากับเรือรบหลวงแม่กลองแล่นลำสู่กรุงเทพมหานคร

วกไปที่ข้อเขียนบันทึกความทรงจำของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งบอกเล่าเสริมอีกว่าในปีถัด ๆ มา ท่านกับนายปรีดีได้เดินทางทัศนาจรไปไกลถึงสงขลาและเลยพ้นไปจนถึงเกาะปีนัง นับเป็นการไปต่างประเทศครั้งแรกของท่านเอง และบางปีถัดมา ท่านกับนายปรีดีก็ได้ไปเช่าบังกะโลราคาวันละสี่บาทเพื่อพักผ่อนตากอากาศที่หัวหิน

แม้ดูเหมือนเป็นการเดินทางไปท่องเที่ยว ‘ฮันนีมูน’ ของนายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขในวัยหนุ่มสาวแห่งวันวานเพื่อกระชับความรักหวานชื่นแน่นแฟ้น ทว่าการโดยสารเรือภาณุรังษีทัศนาจรทางทะเลอ่าวไทยชายฝั่งตะวันออก  ทั้งสองย่อมประสบพบเห็นความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็สัมผัสคลุกคลีกับผู้โดยสารผู้มีอันจะกินบนเรือ ภาพเหล่านี้ไม่เพียงเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวาง แต่อาจบันดาลให้สามีหนุ่มและภรรยาสาวตระหนักเข้าใจสภาพสังคมจนก่อเกิดปณิธานและความปรารถนาจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงเมืองไทยให้เจริญวัฒนาก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

  • ประชาชาติ. ปีที่ 2 ฉะบับที่ 352 (2 ธันวาคม 2476)
  • ประชาชาติ. ปีที่ 2 ฉะบับที่ 376 (1 มกราคม 2476)
  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. “ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จําได้” ใน ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์. บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ: ตถาตาพับลิเคชั่น, 2551.
  • ภราดร ศักดา. เมืองสามสมุทร. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2561
  • ภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, สมมตอมรพันธุ์, กรมพระ. อธิบายถึงเรื่องเที่ยว ทะเลตะวันออก เที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ เที่ยวน้ำตกเจ้าอนัมก๊กที่เกาะกูด เที่ยวไทรโยค. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2504
  • ราชเลขาธิการ, สำนัก. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ 9 เมษายน 2528. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ, 2531