ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

16 พ.ย. 2471 ปรีดี-พูนศุข ตราบนานเท่านาน

16
พฤศจิกายน
2565

ความตอนหนึ่งจาก บันทึกส่วนตัวของนายปรีดี พนมยงค์มีว่า

 

“......เมื่อปรีดีกลับจากฝรั่งเศสถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2470 พระยาชัยวิชิตฯ ได้กรุณาให้ปรีดีอาศัยอยู่ในบ้านของท่านที่สร้างใหม่บนถนนสีลม โดยให้อยู่ที่เรือนไม้แบบโบราณแยกออกต่างหากจากตัวตึกของท่าน ส่วนอาหารท่านให้รับประทานพร้อมกัน นายปรีดีจึงไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้านและค่าอาหารเช้าเย็น

พูนศุขชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลซึ่งพระยาชัยวิชิตฯ ได้สะสมไว้ พูนศุขมีปัญญาดี จำเรื่องที่อ่านได้แม่นยำ ปรีดีกับพูนศุขจึงสนทนาระหว่างกันมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าวนั้น ความสนิทระหว่างปรีดีกับพูนศุขจึงทวีขึ้นตามลำดับ ความรักระหว่างกันจึงเกิดขึ้น

ต้นปี พ.ศ. 2471 ขณะนั้นพูนศุขมีอายุ 17 ปี ปรีดีได้กราบเรียนท่านเจ้าคุณและคุณหญิงว่าปรีดีกับพูนศุขมีความรักระหว่างกัน จึงขอความกรุณาท่านทั้งสองโปรดกรุณาให้ปรีดีกับพูนศุขเป็นคู่ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน……”

 

สมุดอวยพรพิธีแต่งงานระหว่างนายปรีดีกับนางสาวพูนศุข
สมุดอวยพรพิธีแต่งงานระหว่างนายปรีดีกับนางสาวพูนศุข

 

คุณแม่เล่าว่า ตอนที่คุณพ่อไปขอให้คุณปู่มาสู่ขอคุณแม่กับคุณตาที่บ้านป้อมเพ็ชร์ คุณปู่รู้สึกตื่นเต้นและเกรงใจอย่างมาก กว่าจะกล่าวคำสู่ขอได้

คุณพ่อได้ไปขออนุญาตคุณตาคุณยายพาคุณแม่ไปดูละคร คุณแม่จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ที่ไหน ดูเหมือนว่าอยู่ใกล้ๆ สนามหลวง

และนี่เป็นการออกเดท (ภาษาวัยรุ่น) ครั้งแรกและครั้งเดียวก่อนการสมรสของทั้งสอง

 

แสงเงินแสงทองแห่งชีวิตคู่

(จากหนังสือ 101 ปี ปรีดี - 90 ปี พูนศุข)

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2471 ฤกษ์งามยามดี หรือ อีกนัยหนึ่งเป็นฤกษ์สะดวกที่ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพ็ชร์) จัดพิธีมงคลสมรสระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ (อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) บุตรนายเสียง – นางลูกจันทน์ พนมยงค์ กับ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพ็ชร์ บุตรสาว

นับแต่นั้นมา หนุ่มสาวคู่นี้ ซึ่งก็คือคุณพ่อคุณแม่ของลูกๆ ร่วมทุกข์ร่วมสุขตลอด 55 ปี จนกระทั่งคุณพ่อละสังขารไปในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

คุณแม่ได้เขียนความประทับใจคุณพ่อ ดังปรากฏใน “คำปรารภ” ของหนังสือ “กาลเวลารำลึกแห่งความทรงจำ” ความตอนหนึ่งว่า

 

“เราได้อยู่ด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องแยกกันอยู่บางขณะ แต่ในที่สุด เราก็ได้มาอยู่ร่วมกันในบั้นปลายชีวิต จนเธอจากไปตามกฎธรรมชาติ เธอเป็นคู่ชีวิตและมิตรที่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าเราจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน เธอเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้โดยไม่หยุดยั้ง เป็นตัวอย่างในความเป็นอยู่แบบสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ บำเพ็ญชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับใช้ประเทศชาติด้วยความเสียสละและมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณ ถึงคราวมีเคราะห์กรรมก็ไม่หวั่นไหว ได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง โดยยึดถือพุทธภาษิต “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” คือ “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

เธอเน้นหนักในการอบรมข้าพเจ้าและลูกๆ ให้ยึดหลักสังคมที่เป็นธรรม คือสังคมที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และในการศึกษาหาความรู้ทั่วไปต้องทำตนให้ปราศจากอุปาทานและกิเลส จึงจะสามารถรับเอาสิ่งที่เป็นสัจจะตามภววิสัยและรูปธรรมที่ประจักษ์ได้”

 

คุณพ่อรักและผูกพันคุณแม่เป็นอย่างยิ่ง ได้ยกย่องคุณแม่ว่าเป็น “ภรรยาที่ดียิ่ง” เป็น “เพื่อนที่ดีที่สุด” คุณพ่อกล่าวไว้ว่า

 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้ น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”

 

คุณพ่อได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตและการงานปรีดี-พูนศุข” ว่า

 

“ชะตากรรม (Destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง “อภิวัฒน์” ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทย เพื่อจะได้ก้าวหน้าไปตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูกเบียดเบียนและเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์”