ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เรื่องน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ

4
กรกฎาคม
2563

วันที่ 11 พฤษภาคม [2533] เป็นวันคล้ายวันเกิดของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถ้ามีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ จะมีอายุครบ 90 ปีบริบูรณ์

มีเรื่องน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นายปรีดีได้บันทึกไว้ในเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางญาติระหว่างปรีดี-พูนศุข” เพื่อลูกหลานจะได้ทราบประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษ ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงปู่ข้าพเจ้า พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร) ซึ่งได้รับราชการมาหลายตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2425 รัฐบาลสยามได้ตั้งสถานทูต (LEGATION) ประจำกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์เป็นอัครราชทูต และได้โปรดเกล้าฯ ให้ปู่ข้าพเจ้า ในขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษสาลี เป็นผู้ช่วยสถานทูต (ATTACHE) คนหนึ่ง 

ในขณะที่รับราชการอยู่กรุงลอนดอน มีสิ่งหนึ่งที่ลูกหลานมีความภาคภูมิใจ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2428 หลวงวิเศษสาลีเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับท่านอัครราชทูต เจ้านายบางพระองค์ และข้าราชการสถานทูตรวม 11 ท่าน ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเยี่ยงประเทศยุโรปตะวันตกที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งนับว่าท่านเหล่านั้นมีทรรศนะก้าวหน้าขึ้นในระบอบประชาธิปไตย และมีความกล้าหาญอย่างยิ่งในสมัยนั้น

เมื่อหลวงวิเศษสาลีกลับจากลอนดอนแล้วได้ย้ายไปรับราชการในหลายตำแหน่ง และเลื่อนบรรดาศักดิ์ตามลำดับเป็น “พระยาอภัยพลภักดิ์” “พระยาเพ็ชรฎา”  งานที่ได้ทำและยังเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ท่านเป็นแม่กองสร้าง “คุกใหม่” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ลหุโทษ” และปัจจุบัน คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนมหาไชย  ต่อมาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “ผู้รักษากรุงเก่า” (กรุงศรีอยุธยา) และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา”

นอกจากประวัติในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว ยังมีประวัติการณ์ที่ปรากฏขึ้นภายหลังที่ท่านได้ถึงอนิจกรรมไปก่อนหลายสิบปี คือ ท่านมีเขยเป็นผู้สำเร็จราชการแทน 3 พระองค์ ซึ่งได้แต่งตั้งรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันบ้าง และต่างฉบับกันบ้าง คือ

(ก) โดยมติของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475

1. พระยายมราช (ปั้น สุขุม) บุตรเขยที่เป็นสามีท่านผู้หญิงตลับ (ท.จ.ว.) บุตรีของพระยาไชยวิชิต (นาค) กับคุณหญิงนวล

2. นายปรีดี พนมยงค์ หลานเขยที่เป็นสามีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ บุตรของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) กับคุณหญิงเพ็ง

(ข) ตามระบบที่คณะรัฐประหาร 2490 ได้ตั้งขึ้นและภายหลังระบบรัฐประหารนั้น

ท่านผู้นี้ คือ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัต) หลานเขยที่เสกสมรสกับหม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา (ท.จ.ว) ธิดาของเจ้าพระยายมราชกับคุณโต น้องสาวท่านผู้หญิงตลับ

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้รับแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนตามรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรฉบับ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ซึ่งคณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ได้สถาปนาขึ้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2494 รัฐสภาแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 (บัญญัติขึ้นโดยรัฐสภาแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 8 พ.ย. 2490) นั้น ได้แต่งตั้งกรมหมื่นพิทยาลาภฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2494 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ กับนายทหารรวม 8 นาย ได้ทำรัฐประหารที่เรียกว่า “รัฐประหารทางวิทยุกระจายเสียง” ล้มรัฐธรรมนูญ 2492 แล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม รักษาการณ์ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ต่อมาใน พ.ศ. 2506 กรมหมื่นพิทยาลาภฯ ได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสญี่ปุ่น

แผนผังบุตรธิดาพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร)
(1) เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8
(2) เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8
(3) เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9

 

พิมพ์ครั้งแรก: วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2533, น. 35-37.