ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ขบวนการประชาธิปไตย “มิใช่” กบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

23
กุมภาพันธ์
2564

พวกปรปักษ์ประชาธิปไตยเรียก “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ว่า “ขบถวังหลวง” บางคนก็พลอยเรียกเช่นนั้น โดยไม่พิจารณาตามหลักวิชาการแท้จริงว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นเป็นขบถต่อระบบปกครองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ หรือเป็นขบวนการที่ต่อต้านพวกปฏิกิริยาที่ทําลายระบบประชาธิปไตยซึ่งได้สถาปนาถูกต้องสมบูรณ์ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ[1]

“วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 (ตรงกับวันเสาร์) เวลา 21 น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ (ที่ถนนสีลม) เพื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการฯ อันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ กำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหารซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง (กองรักษาการณ์ด้านประตูวิเศษไชยศรี) เพื่อที่เราจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น พระบรมมหาราชวังนี้มิได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว (ยกเว้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 6)

ผู้บังคับหน่วยทหารกองรักษาการณ์ฯ ที่พระบรมมหาราชวังมิได้ต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าของขบวนการฯ ดังนั้นภายในเวลา 15 นาที เราก็ควบคุมบริเวณพระบรมมหาราชวังได้หมด พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กันโดยฝ่ายขบวนการฯ ได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล กองพันทหารราบที่ 1 ของฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะออกจากที่ตั้งแต่ถูกกระสุนปืนและระเบิดของฝ่ายเราสกัดไว้ได้ เรายึดสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ และมอบให้อยู่ในความควบคุมของนายทหารยศนายพันผู้หนึ่ง (อดีตเสรีไทย) ในคืนวันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล น่าเสียดายที่กำลังสนับสนุนฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

เวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทหารฝ่ายรัฐบาลภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลา และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหารชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังของฝ่ายขบวนการฯ ถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการกองทัพเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้บรรดาเพื่อนร่วมขบวนการฯ ข้ามแม่น้ำจ้าพระยาโดยเรือซึ่งนายพลเรือผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้

ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่พระราชวังเดิม เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน ระหว่างนั้นทหารฝ่ายรัฐบาลได้ควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ของข้าพเจ้าจึงประสบความพ่ายแพ้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

นายทหารฝ่ายรัฐบาลที่ได้เข้าร่วมปราบปรามขบวนการฯ ของเรา ต่างได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้นว่า พลตรีสฤษดิ์ฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลเมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาใน พ ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ฯ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลพิบูล.ฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ฝ่ายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกา และต่อมาก็ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น แรกทีเดียวจอมพลสฤษดิ์ฯ เองไม่ได้ครองอำนาจอย่างเปิดเผยโดยมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ พลเอก ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) ต่อมาอีก 1 ปี จอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ทำรัฐประหารครั้งใหม่และโค่นล้มรัฐบาลถนอมฯ แล้วจอมพลสฤษดิ์ฯ เองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทำการปกครองประเทศจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อ พ ศ.2506 ตั้งแต่นั้นมา พลเอก ถนอม กิตติขจร ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

พลเอกถนอมฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลและดำเนินการปกครองประเทศต่อมาตามรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ทำขึ้น หลังจากนั้นจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดให้สมาชิกของวุฒิสภา มาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2515 รัฐธรรมนูญที่จอมพลถนอมฯ เป็นผู้ประกาศใช้ก็ถูกทำลายโดยตัวจอมพลถนอมฯ เอง เพื่อนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่

เที่ยงคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นาวาโท มนัส จารุภา ได้นำข้าพจ้าไปยังที่หลบซ่อนแห่งหนึ่ง ที่นั่น ภรรยาและบุตรชายของข้าพเจ้า ได้ช่วยพาข้าพเจ้าไปยังบ้านของผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ซึ่งเขาได้กรุณาให้ที่พัก แก่ข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา 5 เดือน (28 กุมภาพันธ์-6 สิงหาคม 2492) แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งสินบนนำจับด้วยรางวัลมูลค่าสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของข้าพเจ้า แต่ผู้รักความเป็นธรรมผู้นี้ ก็ไม่ได้มีความอยากได้ผลประโยชน์อันนี้เลย

สองปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2494 นาวาตรีมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ ปุณฑริกาภา ได้ก่อการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏแมนฮัตตัน” เนื่องจากการปฏิบัติการครั้งนั้น ซึ่งหน่วยทหารเรือนำโดยนาวาตรีมนัส จารุภา ได้เข้าจี้ตัวจอมพล พิบูลฯ ระหว่างพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” ต่อหน้าเอกอัครราชทูตอเมริกันและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสองประเทศ

นาวาโทมนัสฯ และหน่วยทหารของเขาได้จับกุมจอมพลพิบูลฯ ไปลงเรือหลวง “ศรีอยุธยา” การรบจึงเริ่มขึ้นระหว่างกำลังของกองทัพเรือฝ่ายหนึ่ง กับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในเบื้องแรกดูเหมือนว่าทางทหารเรือจะควบคุมกรุงเทพฯ ไว้ได้ แต่กองทัพอากาศได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งอยู่ในเรือนั้นลย จอมพลพิบูลฯ ได้เรียกร้องผู้ที่จงรักภักดีต่อตนมิให้ใช้กำลังอาวุธแต่ให้เจรจาโดยสันติกับฝ่ายก่อการฯ แต่เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงฯ ที่ทอดสมออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาจนกระทั่งจมลงในไม่ช้า จอมพลพิบูลฯ หลบหนีออกจากเรือลำนั้นอย่างหวุดหวิดด้วยการกระโดดน้ำและว่ายมาถึงฝั่ง ซึ่งบรรดาผู้ที่จงรักภักดีได้ให้การต้อนรับ จึงสามารถกลับเข้ามายังกองบัญชาการของรัฐบาลได้

หน่วยทหารบกอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล และรบชนะฝ่ายทหารเรือ จนในที่สุดกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถควบคุมกรุงเทพฯ ได้อีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายทหารเรือหลายคน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือนบางคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ

ขณะที่นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ฯ พร้อมด้วยนายทหารกองทัพบกอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ สามารถหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในพม่า ผู้ก่อการฯ อีกจำนวนหนึ่งก็สามารถหลบหนีไปลี้ภัยในลาว กัมพูชา และ สิงคโปร์

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน นาวาโทมนัสฯ ก็กลับคืนสู่กรุงเทพฯ นาวาโทมนัส จารุภา ได้ถูกจับกุมพร้อมปาล บุตรชาย และภรรยาของข้าพเจ้าในข้อหา “กบฏสันติภาพ” พ.ศ. 2495 ส่วนนาวาเอกอานนท์ฯ ก็เดินทางกลับจากพม่าไม่นานนักหลังเหตุการณ์ โดยคาดว่าอาจจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งปล่อยตัวนาวาตรีมนัสฯ กับบุตรชายข้าพเจ้าและผู้ต้องหากบฏอื่นๆ แต่เสียดาย เขากลับถูกจับกุมและศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ต่อมาก็ได้รับการลดโทษและในที่สุด ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในเดือนสิงหาคม พ ศ.2515

วัตถุประสงค์ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้แถลงเมื่อขบวนการได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ว่า ขบวนการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ จึงมิใช่กบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงไม่ควรที่ผู้รณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มและระบบต่างๆ ที่สืบเนื่องจากระบบใต้ตุ่ม โดยใส่ความว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เป็น "ขบถวังหลวง"

ข้อสังเกต

ในการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 กับขบวนการปรปักษ์ประชาธิปไตยเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ในหลวงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นการยึดวังหลวงชั่วคราวจึงไม่มีภยันตรายต่อพระมหากษัตริย์[2]

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492”, ใน, “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529), หน้า 114-120

หมายเหตุ : ตัดตอน แก้ไขเล็กน้อย ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยค โดย บรรณาธิการ

 

[1] ปรีดี พนมยงค์. “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ (2492)”, ใน, “ชีวิตประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์”, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553), หน้า 225

[2] อ้างแล้ว. หน้า 70