ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วัฒนธรรม ความขำ และอำนาจในการประท้วง

7
มีนาคม
2564

คำว่า Soft Power เราถูก Popularize ในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ ถูกใช้กับอำนาจทางวัฒนธรรมของสหรัฐ ในช่วงที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง และพูดถึงเรื่องการศึกษาวัฒนธรรมดนตรี วัฒนธรรมหนังฮอลลีวูด ให้ความหมายในเชิงวัฒนธรรมค่อนข้างเป็นรูปธรรม

สำหรับ “วัฒนธรรม” วัฒนธรรมนั้นไปไกลมากกว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นรูปธรรม เช่น ภาพยนตร์ เพลง การศึกษา หรือ นวนิยาย และดิฉันเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “กะบะที่ใส่วัฒนธรรม”

Soft Power ถ้าพูดกันให้ลึกซึ้ง ในมุมมองของหลายๆ คน จะเรียกว่า Propaganda สำหรับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทย หรือเป็นที่รู้จักกันในนามว่า io นี่ก็เรียกว่า Soft Power ในเวลาที่เราพูดถึงอำนาจที่ลื่นไหล ไม่ใช่ความรุนแรง ไม่ใช่การใช้อาวุธ เราสามารถเรียกอำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจเชิงความคิดได้หรือไม่ หรือ อำนาจเชิงวาทกรรม แต่อำนาจเหล่านี้ในความเป็นจริง ไม่มีอำนาจไหนที่เป็นอำนาจละมุนเลย

Propaganda สามารถเป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้เราไปทำร้ายคนอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ในเวลาที่เราถูกบอกว่า ชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มเป็นแมลงสาป เราฟังเรื่องๆ นี้ทุกวัน จนในที่สุด เราก็สามารถลุกขึ้นหยิบไม้กวาดมาตีแมลงสาปได้ เพราะฉะนั้น อำนาจเชิงวาทกรรม อำนาจเชิงความคิดนั้น ไม่มีอะไรที่ละมุน

อำนาจจูงความคิด คืออำนาจที่ใช้สร้างความชอบธรรม ที่จะสามารถพยุงสถาบันการเมืองเอาไว้ได้ อย่างเช่น โลกตะวันตกในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นช่วงวิกฤตของประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้น ลึกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเชื่อมั่นที่เชื่อในประชาธิปไตยนั้นหายไป นี่เป็นเรื่องของไอเดีย เป็นเรื่องของความคิด ที่เราจะเชื่อมั่นในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เมื่อความเชื่อมั่นค่อยๆ กัดกร่อนหายไป อำนาจและความคิดที่พยุงสถาบันนั้น ก็จะค่อยๆ กัดกร่อนหายไปเหมือนกัน

 

วัฒนธรรมกับความขำ

หากเราพูดถึงเรื่องของ วัฒนธรรม คนเรามักจะนึกถึงมวยไทย ต้มยำ การไหว้ ใส่ชุดไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่า วัฒนธรรมแช่แข็ง อยากให้มองวัฒนธรรมไทยและ วัฒนธรรมทั่วไปในลักษณะที่เป็นชุดความคิด ความเชื่อ ที่ทำให้เรื่องที่ไม่ปกติ กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะฉะนั้นชุดความคิดแบบนี้อยู่ในหลายที่ อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องการข่มขืน เราเห็นชุดความคิดที่ให้ความชอบธรรมกับการข่มขืนแบบนี้อยู่ในละครไทยที่ปรากฏเต็มไปหมด อย่างเช่น เรื่องจำเลยรักที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ภาพยนตร์ไทยที่อยากจะดังเหมือนอย่างจำเลยรัก ก็ต้องมีฉากข่มขืน และเป็นฉากข่มขืนที่สุดท้ายแล้วนางเอกไม่มีการไปแจ้งตำรวจ แต่กลับแต่งงานกับพระเอก และนี่คืออำนาจของวัฒนธรรมในฐานะชุดความคิดที่ทำให้เรื่องไม่ปกติ เป็นเรื่องปกติ

อำนาจทางวัฒนธรรมนั้น ใช้ในการครอบงำก็ได้ เช่น การส่งต่ออุดมการณ์บางอย่าง และทำให้อุดมการณ์บางอย่างผิดเพี้ยนไปในสังคมไทย การลดความน่าเชื่อถือของบุคคลบางกลุ่ม และอำนาจใช้ในการปกครองก็ได้ แต่ในเวลาที่เราพูดถึงอารมณ์ ซึ่งความขำนั้นทำงานในพื้นที่ทางวัฒนธรรมไม่ใช่ในเรื่องของการปกครองเท่านั้น แต่ว่าในที่นี้มีความหลากหลาย และเป็นพื้นที่ที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างซึ่งใช้ในการปกครองก็ได้ หรือ ใช้ในการต่อต้านอำนาจในการปกครองก็ได้

งานของ James C. Scott ว่าด้วยเรื่องของการครอบงำและการต่อต้านอำนาจครอบงำ Scott สนใจกลุ่มผู้ถูกกดขี่ ทาส ชาวนาในมาเลเซีย แต่ไม่ได้สนใจการสร้างอำนาจแบบเฮไปลงถนน แต่สิ่งที่สนใจคือวิธีการสร้างอำนาจแบบซ่อนหลังฉาก นั่นคือการที่ผู้ด้อยอำนาจล้อเลียนผู้มีอำนาจเบื้องหลัง หรือ ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่านินทาผู้มีอำนาจเบื้องหลัง แต่งนิยายขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นเครื่องมือวิจารณ์ผู้มีอำนาจแบบปกปิด ตรงนี้เลยกลายเป็นพื้นที่สำคัยในการเข้าใจอำนาจของความขำ

Soft Power กับ ความขำ

Humor กับ Funniness มีความหมายแตกต่างกัน Humor มีความหมายที่กว้างมาก และหากพูดในบริบทสังคมไทย ทุกคนจะคิดว่าดิฉันมีอารมณ์ขันแต่จริงๆ เป็นคนเล่าเรื่องตลกอะไรไม่ค่อยได้ แต่ที่ใช้คำว่า Funniness เป็นเพราะว่าเป็นความบ่งบอกเฉพาะถึงการกระทำ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนขำกับเป้าหมายบางอย่าง เพราะฉะนั้น Funniness รวมถึงรูปแบบของอารมณ์ขันที่ค่อนข้างจิกกัด อย่างเช่นการเสียดสี การล้อเลียน การเหยียดหยาม

ในเวลาที่เราพูดถึงอารมณ์ขันในฐานะเครื่องมือการต่อต้านอำนาจครอบงำ 

อารมณ์ขันมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง และใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำก็ได้ อย่างเช่น สมัยนาซีเยอรมัน ฮิตเลอร์ใช้การเสียดสีล้อเลียนชาวยิวชนกลุ่มน้อย เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้นในอารมณ์ขันมีบทบาทที่หลากหลายเนื่องจากเป็นกะบะทางวัฒนธรรมอันหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในเวลาที่ความขำ หรือ การเสียดสีล้อเลียน นำมาถูกใช้เพื่อต้านอำนาจนั้นทำงานกันอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจในมิติของอำนาจความขำนี้คือเมื่อเวลาที่เรานึกถึงเผด็จการหรือคนที่มีอำนาจมากๆ มีความตึงเครียดและขึงขัง เช่น พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ในที่ประชุมรัฐสภาวันก่อนที่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ท่านหนึ่งในสภาขำพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หรือจริงๆ เขาอาจจะขำเรื่องอื่นๆ กันอยู่ แต่ท่านนายกฯ ของเรานั้นไม่ชอบมาก คือไม่ชอบการถูกขำและเดินออกจากห้องประชุมสภาซะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่คนที่ดูเหมือนด้อยอำนาจกว่าได้ทำการขำ หยอก หรือเสียดสีล้อเลียนผู้ที่มีอำนาจมากกว่า นั่นเป็นการลดทอนผู้ที่มีอำนาจมหาศาลเป็นเป้าในการขำหรือเสียดสีล้อเลียน ดังนั้น เมื่อถูกลดหลั่นลงมาเป็นสิ่งที่สามารถขำได้ ล้อเลียนได้ สิ่งที่มีอำนาจ น่ากลัว หรือศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนอำนาจทางสมการทันที

ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) เขียนถึงอารมณ์ขันว่า “การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ (Authority) ที่ดีที่สุดก็คือการขำหรือการหัวเราะใส่อำนาจนั้น เพื่อเป็นการลดอำนาจนั้นลงมา”

เพราะฉะนั้น ที่น่าสนใจในการศึกเรื่องการขำหรือการเสียดสีล้อเลียนทางการเมืองส่วนใหญ่นั้นคือการทำให้สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในบางครั้งอาจดูโหดร้ายในบางสังคมที่มีความเห็นที่หลากหลาย และอาจมองว่าการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงมาสู่พื้นดิน เหยียบย่ำและล้อเลียน แต่ในหลายพื้นที่อย่างเช่น การล้อเลียนระบอบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง 

 

 

ในอีกหนึ่งแง่มุมอยากจะนำเสนอการล้อเลียนท่านผู้นำของชาวเน็ต เนื่องจากเทคโนโลยีนั้นได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการแสดงออกทางความคิดเห็นต่างๆ ของผู้คน ซึ่งมีมีมในการทำหน้าที่ล้อเลียนอำนาจของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเช่น การล้อเลียนสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการล้อเลียนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการโจมตี หรือทำให้เป้าที่ถูกโจมตีนั้นด้อยค่าเสมอไป หากแต่เป็นการสื่อสารที่คลุมเครือเพื่อที่จะเปิดโปงอำนาจไม่ชอบธรรมที่แฝงอยู่ในสถาบันนั้น

 

 

บางทีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นอารมณ์ขันที่แหลมคมเอาไว้ทิ่มแทงเสมอไป แต่ก็เป็นอารมณ์ขันที่น่ารักที่ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งของประเด็นนั้น ๆ เช่น เพจมนุษย์ธรรมศาสตร์ ลงข้อความว่า “อยากจะด่าศาลรัฐธรรมนูญ แต่นั่นก็อาจารย์กูทั้งนั้น”

ในแง่นี้กล่าวถึง ตุลาการหลายท่านเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์แต่ทำอะไรหลายๆ อย่างขัดกับหลักการ หรือประเด็นในภูมิภาคเอเชียที่ดาราจีนมีการเรียกไต้หวัน หรือฮ่องกงว่าเป็นประเทศ ทำให้ผู้ที่ปกป้องรัฐบาลจีนนั้นออกมาต่อสู้ ดังนั้น ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนั้นได้งัดมาต่อสู้นั้นคือการใช้ดูหมิ่นทางประวัติศาสตร์หรือทางวัฒนธรรม เช่นในกรณีของไทยที่ชาวทวิตเตอร์ได้มีการโพสต์มีม (Meme) ว่า “เราทั้งไม่มีประวัติศาสตร์และไม่มีอนาคต” หากลองมองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยมีการพัฒนาความขำมากยิ่งขึ้น โดยเป็นอารมณ์ขันแบบ “Black Humor” คือการขำขันกับข้อบกพร่องของตนเอง

ซึ่งอารมณ์ขันที่ชี้ให้เห็นนั้นไม่ใช่เพียงการวิ่งชนเท่านั้น แต่ยังมีการทำงานหลายทิศทางมาก เช่น บางครั้งเป็นการยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เพื่อให้สมการทางอำนาจนั้นมันผกผวน อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามคาดหวังว่าจะทำให้เราโกรธแต่กลับกลายเป็นทางตรงกันข้าม

อารมณ์ขัน และการประท้วง

ทั้งอารมณ์ขัน และการประท้วง เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันมา โดยมากเป็นวิธีการที่แกนนำหรือผู้ชุมนุมนั้นใช้สื่อสารกันเพื่อประคับประคองให้การชุมนุมนั้นดำเนินต่อไปได้นานๆ แต่รูปแบบอารมณ์ขันที่น่าสนใจคือวิธีการที่เอาไว้ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ผู้ถือปืน หรือเอาไว้ใช้สร้างภาวะอีลั่กอีเหลื่อที่ทำให้อีกฝ่ายสับสนว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรกับผู้ชุมนุม หรือที่เรียกว่าภาวะ “Dilemma Action”

 

 

เพราะฉะนั้นการประท้วงที่เราเห็นนั้น เริ่มมีการใช้อารมณ์ขันที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่ใช้โต้กลับในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้นการชุมนุม อย่างเช่น กิจกรรมที่จะมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นพื้นที่โดยนำกระถางต้นไม้มาวาง จากนั้นแทนที่ฝั่งผู้ชุมนุมจะยอมแพ้ แต่กลับกลายเป็นว่าเปลี่ยนจากคำว่ามาชุมนุมให้กลายเป็นการชมสวน และร่วมกันตะโกนว่า สวนสวยจริงๆ หรือหลายๆ ครั้งมีการปรากฏของความขันแบบแหย่ ล่อหลอก (Trickster) หรือการกวนผู้มีอำนาจ ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะ ทำให้หลุดรอดจากการโดนลงโทษ แต่ก็มิใช่กรณีที่เกิดขึ้นแบบเดียวกับสังคมไทย

 

 

อย่างในการชุมนุมเมื่อปลายปี 2563 เกิดพฤติกรรม “การแกง” หรือการหลอกว่าจะไปที่ชุมนุมที่หนึ่งๆ แต่กลับไม่ได้ไป โดยตัวการกระทำเองมิได้เป็นการเสียดสีล้อเลียนในเชิงคอนเทนต์ แต่ในทางปฏิบัตินั้น มันคือการกวน และทำให้อำนาจที่แช่แข็งนั้นติดกับความแช่แข็งของตัวเองที่ไม่มีความลื่นไหลมากพอ 

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะหน้า กะทันหันเพื่อรับมือกับความรุนแรงแทนที่จะใช้ความรุนแรงโต้กลับ เช่น เป็ดยาง ที่ทำให้เกิดภาพของการชุมนุมอย่างสันติและน่ารัก โดยสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุมที่อยู่ตรงข้ามความน่ากลัว ไม่ชอบธรรม ความไม่ดีของระบอบการเมือง ในแง่นี้ อารมณ์ขันและการเมืองจึงมีความสัมพันธ์กัน 

 

ที่มา: เรียบเรียงจากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ PRIDI Live : Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ