เดิมทีสังคมไทยนับแต่อดีตจวบจนต้นทศวรรษ 2470 ยังไม่ปรากฏการเรียนการสอนและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ นายปรีดี พนมยงค์คือบุคคลผู้เริ่มรินำเอาหลักการและเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวมาถ่ายทอดต่อนักเรียนโรงเรียนกฎหมายเป็นครั้งแรกๆ ก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่นานนัก
ย้อนไปในทศวรรษ 2460 เมื่อคราวที่นายปรีดีกำลังศึกษาทางด้านนิติศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส เขาได้เรียนรู้วิชากฎหมายอันมีเนื้อหาหลากหลายตามหลักสูตรระดับต่างๆของมหาวิทยาลัยและของรัฐ นายปรีดีขณะเป็นนักเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย ภาค 3 (Thèse) และสอบผ่านดีกรีซองสิเอ ออง ดรัวก็เคยเรียบเรียงบทความ “การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ” ส่งมาลงตีพิมพ์ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2469 เพื่ออธิบายรายละเอียดว่าตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี (ประกอบด้วยกฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1895, กฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1921 และกฎเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ค.ศ. 1912) นักเรียนนิติศาสตร์แต่ละชั้นแต่ละดีกรีปริญญาจะต้องเรียนวิชากฎหมายอะไรบ้าง เฉกเช่นการเรียนวิชาชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย ได้แก่ วิชาพงศาวดารกฎหมายอย่างพิสดาร, วิชากฎหมายโรมัน,วิชากฎหมายแพ่งอย่างพิสดาร, วิชากฎหมายอาญา,วิชากฎหมายลักษณะปกครองท้องที่, วิชากฎหมายค้าขาย, วิชากฎหมายคดีเมือง,วิชากฎหมายคดีบุคคล, วิธีพิจารณาและปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา, กฎหมายการคลัง, การเขียนตำรากฎหมาย และเศรษฐวิทยา เป็นต้น
ส่วนการสอบให้ได้รับ “ดีกรีของแผ่นดิน” หรือเป็นนักกฎหมายของรัฐทั้งในระดับบาเชอลิเอร์ ออง ดรัว (Bachelier en Droit), ลิซองสิเอ ออง ดรัว (Licencié en Droit) และด๊อกเตอร์ ออง ดรัว (Docteur en Droit) ก็จำเป็นจะต้องศึกษาวิชากฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายการเมือง, กฎหมายทะเล, กฎหมายการโรงงาน และกฎหมายการจดทะเบียนการค้า เป็นต้น
อีกวิชาหนึ่งที่นักศึกษานิติศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสย่อมได้เรียนรู้ นั่นคือ Droit Constitutionnel ซึ่งนายปรีดีขณะเป็นนักศึกษากฎหมายเรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งถ้าในปัจจุบันนี้ก็คงเรียกขานกันว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”
ครั้นสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส นายปรีดีหวนกลับมารับราชการในกระทรวงยุติธรรมช่วงต้นทศวรรษ 2470 มีบรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ณ โรงเรียนกฎหมาย
แรกทีเดียว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับผิดชอบสอนวิชากฎหมายอื่นๆ เฉกเช่น ในปีการศึกษา 2473 สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ซึ่งจะเปิดสอนตั้งแต่วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 นายปรีดีจะมีตารางสอนวิชากฎหมายนี้ทุกวันอังคาร เวลา 09.00-10.00 น. และทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-11.00 น.
ล่วงสู่ พ.ศ. 2474 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับมอบหมายให้สอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administrative) ถือเป็นวิชาแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยยุคนั้น เปิดสอนครั้งแรกที่โรงเรียนกฎหมายตามหลักสูตรที่เพิ่งวางแผนหมาดๆ ของสภานีติศึกษา (หน่วยงานที่ดูแลกิจการโรงเรียนกฎหมายและวางแผนหลักสูตรการศึกษาวิชากฎหมาย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2467) โดยในปีการศึกษา 2474 กำหนดจะเปิดสอนกฎหมายภาค 1 ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคมเป็นต้นไป นายปรีดีมีตารางสอนวิชากฎหมายปกครองทุกวันอังคารและทุกวันพฤหัส เวลา 10.00-11.00 น.
อันที่จริง ก่อนหน้าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะเริ่มเปิดสอนวิชากฎหมายปกครองในปี พ.ศ. 2474 เขาได้เริ่มเขียนบทความอธิบายถึงกฎหมายปกครองและศาลปกครอง ซึ่ง “...เป็นของแปลกสำหรับประเทศเรา” และยกตัวอย่างกรณีศึกษาคดีความที่พิจารณาโดยศาลปกครองในประเทศฝรั่งเศสลงตีพิมพ์ใน บทบัณฑิตย์ ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2473 แล้ว เช่นบทความ “คดีปกครองในประเทศฝรั่งเศส” จากเล่มที่ 6 ตอน 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2473
การสอนวิชากฎหมายปกครองช่วงปี พ.ศ. 2474-2475 สร้างชื่อเสียงลือเลื่องให้กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่เคยมีใครสอนมาก่อนเลย สอดคล้องกับที่ศาสตราจารย์แอล ดูปลาตร์ (L. DUPLATRE) ผู้อำนวยการแผนกวิชาแห่งสภานีติศึกษาเคยเสนอมุมมองผ่านบทความ “ว่าด้วยกฎหมายปกครอง” ในหนังสือ นิติสาส์น แผนกสามัญ ฉบับปฐมฤกษ์ออกเผยแพร่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2471 ว่าวิชากฎหมายปกครองเจริญรุ่งเรืองมากในประเทศฝรั่งเศส แต่ในเมืองไทยยังไม่มีผู้ใดรวบรวม พอสามปีถัดมา นายปรีดีเริ่มต้นเปิดสอนวิชานี้ การณ์จึงเป็นไปตามที่นายเดือน บุนนาคบอกเล่า “ท่านปรีดีเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย เคยสอนหลายวิชา แต่มีวิชาหนึ่ง ซึ่งถึงไม่ใช่วิชากฎหมายแท้ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับท่านมาก คือวิชากฎหมายปกครอง...”
อีกมูลเหตุทำให้นายปรีดีเป็นที่เอ่ยขานเกรียวกราว นั่นเพราะเขาไม่เพียงสอนแค่วิชากฎหมายปกครองอย่างเดียว กลับหมั่นสอดแทรกเนื้อหาว่าด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญใช้ปกครองรัฐ หรือ Droit Constitutionnel ซึ่งเขาเคยเรียนรู้มาสมัยเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศสในการบรรยายให้นักเรียนโรงเรียนกฎหมายรับฟังเสมอๆ เพื่อเร้าความสนใจและค่อยๆปลูกจิตสำนึกเรื่องความจำเป็นที่เมืองไทยจะต้องปกครองด้วยการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ส่งผลให้นักเรียนกฎหมายเกิดความตื่นตัวทางการเมือง ต่อมาภายหลังในช่วงต้นทศวรรษ 2510 นายปรีดีเองได้ย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งที่ตนเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายปกครองว่า
“...คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่ เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจแนวทางประชาธิปไตยและในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น”
ข้อสำคัญที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจุดประกายไว้ในการสอนวิชากฎหมายปกครองคือเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจปกครอง กฎหมายปกครอง และกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ในมุมมองของนายปรีดี อำนาจสูงสุดของประเทศอันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ หรืออำนาจในการออกกฎหมาย, อำนาจบริหารบัญญัติ หรืออำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมาย และอำนาจตุลาการ หรืออำนาจในการวินิจฉัยกฎหมาย ควรแยกออกจากกัน เพราะถ้ารวมอยู่ด้วยกันอาจนำมาซึ่งความไม่ยุติธรรม แน่นอน แนวคิดนี้ย่อมได้รับอิทธิพลมาจากหลักลัทธิกฎหมายฝรั่งเศส กระนั้น นายปรีดียังอาศัยแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของหลากหลายประเทศมาประกอบการศึกษาค้นคว้า เขาพยายามบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างกฎหมายปกครองกับกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินว่า
“กฎหมายปกครองนี้ต่างกับกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กล่าวคือกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในแผ่นดินทั้งหลาย และวิธีดำเนิรการทั่วไปแห่งอำนาจเหล่านี้ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า กฎหมายธรรมนูญการปกครองวางหลักทั่วไปแห่งอำนาจสูงสุดในประเทศและกฎหมายปกครองจำแนกระเบียบแห่งอำนาจบริหารหรืออำนาจธุรการให้พิสดารออกไปและว่าด้วยการใช้อำนาจนี้”
พิจารณาดู เนื้อหาวิชากฎหมายปกครองที่สอนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงสะท้อนนัยยะของการมุ่งเน้นที่เมืองไทยควรจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุให้แบ่งแยกอำนาจสูงสุดของประเทศทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการออกจากกัน เพื่อความสร้างความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตยให้แก่คนในสังคม หาใช่การสอนวิชากฎหมายปกครองเพื่อนำเอากฎหมายไปปกครองคนในสังคมให้อยู่ภายใต้อำนาจของพวกตน
กระทั่งคำสอนและคำอธิบายวิชากฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่โรงเรียนกฎหมายได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือ ก็เป็นดังที่เดือน บุนนาคว่า “...คำอธิบายกฎหมายปกครองของท่านปรีดีจึงกว้างขวาง จูงใจบุคคลผู้อ่านให้หันเข้าเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง ราษฎรผู้ถูกปกครองใคร่ได้มีปากมีเสียงในการปกครองบ้าง ความรู้สึกอยากปกครองตนเองจึงเกิดมีมากขึ้น”
ยิ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สังคมไทยพลันทบทวีความตื่นตัวเรื่องการเมืองการปกครอง กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ หนังสือคำสอนและคำอธิบายวิชากฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงมิแคล้วอยู่ในความสนใจของผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนเรื่อยมา เช่น ในหนังสืออนุสรณ์งานปลงศพนายพร้อม พรหโมบล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2475 (เทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2476) นางสาวแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรกสุดของเมืองไทยก็เลือกที่จะนำคำสอนวิชากฎหมายปกครองของนายปรีดีมาจัดพิมพ์เผยแพร่
ทุกวันนี้ กฎหมายว่าด้วยรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจแพร่หลายและเกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวางในสังคมไทย มีกิจกรรมต่างๆ จำนวนไม่น้อยที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงนับว่าความพยายามเริ่มริสอนเนื้อหาว่าด้วย “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ในเมืองไทยของนายปรีดี พนมยงค์ตั้งแต่ทศวรรษ 2470 ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิได้สูญเปล่า ยังคงเปี่ยมพลังส่งทอดสู่คนรุ่นใหม่ๆตราบปัจจุบัน แม้รัฐธรรมนูญของไทยจะผ่านชะตากรรมไม่ค่อยราบรื่นมาไม่น้อยหนก็ตามที
เอกสารอ้างอิง
- เดือน บุนนาค. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สามัคคีธรรม, 2517
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2544
- บทบัณฑิตย์. เล่ม 6 ตอนที่ 3 (กรกฎาคม 2473)
- บทบัณฑิตย์. เล่ม 6 ตอนที่ 6 (กันยายน 2474)
- ประดิษฐ์มนูธรรม,หลวง. “คดีปกครองในประเทศฝรั่งเศส.” บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอน 3 (กรกฎาคม 2473). หน้า 227-232
- ประดิษฐ์มนูธรรม,หลวง. คำสอนกฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ณ โรงเรียนกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๗๕. นางสาวแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิต แจกในงานปลงศพ พร้อม พรหโมบล ณ เชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2475. พระนคร: โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2475
- ประดิษฐ์มนูธรรม,หลวง. คำอธิบายกฎหมายปกครอง. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจ ตรีพัฒน์ นีลวัฒนานนท์ วันที่ 24 มิถุนายน 2513. พระนคร: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2513
- ปรีดี พนมยงค์. “การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ.” บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 (มิถุนายน
- 2469). หน้า 660-665
- ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. . กรุงเทพฯ : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526
- แอล ดูปลาตร์. “ว่าด้วยกฎหมายปกครอง.” นิติสาส์น แผนกสามัญ ปีที่ 1 เล่ม 1. (กรกฎาคม 2471). หน้า 42-49