ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทำไมจึงต้องวางโครงการเศรษฐกิจ

8
เมษายน
2564

ในปัจจุบันสมัยนี้ ไม่ว่าในงานเอกชนหรืองานมหาชน หากรัฐจะประกอบกิจการอันใด ไม่ว่าเรื่องการศึกษา การป้องกันประเทศ รักษาทรัพยากรของชาติ การผังเมือง การผังชนบท การวางเส้นทางคมนาคม ถนนหนทาง การบุกเบิกป่าไม้งานต่างๆ ที่กรมกองต้องกระทำ รัฐผู้กระทำต้องวางแผน วางจุดหมายที่มุ่งให้บรรลุถึงวิธีการและเครื่องมือเครื่องใช้ดำเนินการเป็นขั้นๆ 

ไม่มีรัฐใดหรือรัฐบาลใดที่จะปล่อยให้การเป็นไปตามธรรมชาติ รัฐหรือรัฐบาลต้องตัดสินตกลงใจว่าจะทำอะไร ให้ได้อย่างไร เมื่อใด โดยวิธีใด ต้องศึกษา ต้องวางแผน ต้องเตรียมการ และต้องปฏิบัติแน่วแน่ให้บรรลุจุดหมาย สิ่งบกพร่อง เมื่อประสบต้องรีบแก้ สิ่งใดที่ดีต้องจักทำให้ดียิ่งขึ้นไป

เรื่องแผนการดำเนินงานหรือโครงการ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของลัทธิ หรือความนึกคิดในเรื่องเศรษฐกิจอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ ทุกลัทธิเศรษฐกิจและทุกความนึกคิดในเรื่องเศรษฐกิจต้องมีโครงการด้วยกันทั้งนั้น แผนการหรือโครงการนี้อาจใหญ่โตมากมาย อาจอยู่ในหัวงแห่งความฝัน คือ ประสงค์จะให้บรรลุถึง แม้ว่าจะไม่อาจทำได้ในชีวิตของผู้วาดโครงการ แต่ท่านก็อยากให้มีการพิจารณากัน หากเห็นชอบพร้อมกันก็ขอให้เริ่มทำเป็นโครงการเล็กๆ ขึ้นไปก่อน แผนการจึงอาจเป็นได้หลายอย่าง ขอได้เริ่มคิดเริ่มวาง กำลังน้อยก็เอาแต่เล็ก กำลังมากจะเอาอย่างใหญ่โตก็ได้

ได้มีการโต้เถียงในเรื่องวางแผนการเศรษฐกิจในสมัยปัจจุบัน คือ หลังสงครามนี้อย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าขอนำมากล่าวให้ท่านวินิจฉัยดู ดังนี้

ข้อโต้เถียงกันระหว่างผู้นิยมวางโครงการในทางเศรษฐกิจ กับ ผู้นิยมให้การเศรษฐกิจเป็นไปของมันเอง คือ พวกเสรีนิยมนั้น ไม่ใช่การโต้เถียงกันระหว่างความไม่เป็นระเบียบ (Anarchy) กับ ความเป็นระเบียบ (Order) ของชีวิตเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายต้องการให้ การผลิต (Production) กับ การแบ่งปัน (Distribution หรือ Repartition) ได้ส่วนสัด ต้องการให้จุดหมายปลายทางของส่วนรวมหรือสังคมได้รับบริการจากการผลิตและการแบ่งปันนั้นโดยเรียบร้อยเป็นอย่างดี 

ฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่า “ตลาด” (Market) เป็นตัวคุมให้สัดส่วนระหว่างผลิตกับวิภาคได้ แต่เป็นตัวคุมที่ มองเห็นไม่ได้ (Invisible) ส่วนผู้นิยม วางโครงการ (Planner) เห็นว่า รัฐ (State) เป็นตัวคุม รัฐต้องวางโครงการจัดทำกิจการต่างๆ และ การคุมของรัฐนั้น มองเห็นได้ (Visible) 

ในระบบ เศรษฐกิจเสรี (Free economy) การผลิตอยู่ภายใต้ การสนอง (Demand) เจ้าของทุนไม่อาจผลิตสิ่งใดตามใจชอบ เขาจะผลิตสิ่งที่เขาจะขายได้ และของจะขายได้ก็ต้องมีผู้ต้องการซื้อ และจะซื้อเป็นจำนวนเท่าใด การผลิตเพื่อกำไรโดยตลาดจึงเป็นการผลิตเพื่อใช้การวิภาค เงินที่ได้มา (Income) ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของตลาดเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตไม่สามารถจะตั้งราคาขายได้ตามใจชอบ การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตทำให้ราคาลดลงใกล้ต้นทุน และทำให้เจ้าของทุนต้องทำให้สมรรถภาพในการผลิตดียิ่งขึ้น

ตลาดเสรี (Free market) จึงเป็นกลไกมีกำลังอันแรงกล้าควบคุมการเศรษฐกิจในสังคม เป็นตัวชี้ทางให้ผลิตในทางบริการการสนอง ทำให้การผลิตเกิดกระตือรือร้นหาทางก้าวหน้า และกำจัดการได้มาอย่างมากมายแห่งผลกำไรนั้นให้หายไป (เพราะการแข่งขันกันนั้น) ไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านกันว่า ประโยชน์ส่วนตัว (Self interest) ของบุคคลนั้นเป็นตัวกำลังอันสำคัญในการกระทำทางเศรษฐกิจ แต่จะปล่อยให้การเศรษฐกิจเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นไปตามเรื่องของมันก็ลำบาก เพราะบุคคลเป็นมนุษย์สามัญยังมีกิเลส ความกลมกลืนกันระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัวไม่เป็นไปด้วยดีเสมอไป ข้อแย้งก็มีกันบ่อยๆ เสียด้วย 

เสรีภาพในการกระทำถึงจะมีมาช้านาน แก้ไขปรับปรุงกันให้อยู่ในกรอบตามกาลสมัย แต่ความทุกข์ยาก ความมี ความจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแห่งฐานะของบุคคลก็ยังมีกันอยู่ เห็นกันอยู่เสมอ การเข้าควบคุมของรัฐจึงจำเป็น ไม่ใช่รัฐจะเข้ามาทำการเศรษฐกิจแทนเอกชนทั้งหมด (ที่จริงผู้ทำในนามของรัฐ ก็คือเอกชน ส่วนที่เรียกว่ารัฐบาล คือเจ้าหน้าที่ต่างๆ นั่นเอง) แต่ก็อาจเข้ามาช่วยเหลือผดุงกิจการซึ่งเอกชนเป็นผู้ทำให้ดีให้เที่ยงธรรมได้ 

พวกเสรีนิยมสมัยนี้ จึงไม่คัดค้านการเข้าแทรกแซงของรัฐในการเศรษฐกิจ แต่กลับสนับสนุนการวางแผนเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ ส่วนพวกที่นิยมให้รัฐเข้าควบคุมเป็นตัวกระทำการในการเศรษฐกิจเสียเองก็มิใช่จะเลิกล้างตัวกลไกที่ควบคุมการเศรษฐกิจ ซึ่ง มองเห็นไม่ได้ (Invisible) คือตลาดนั้นเสียเลย พวกนี้ก็ยอมรับอยู่เหมือนกันว่าตลาดมีอิทธิพลในการเศรษฐกิจ ประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ และระบบเศรษฐกิจส่วนบุคคลก็มิใช่ระบบที่เป็น ปฏิปักษ์ต่อสังคม (Anti-Social) อย่างเด็ดขาด

 

อันที่จริงระบบเศรษฐกิจทุกระบบก็มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ด้วยทั้งนั้น ความมุ่งหมายในการกระทำการเศรษฐกิจคือจัดให้มี “กลไกอันใด” ที่จะทำให้ความต้องการที่ สังคม (Society) ใคร่ได้รับบำบัดมากและดีที่สุด และในขณะเดียวกัน สิ่งนั้นเป็นประโยชน์มากที่สุด (Profitable) แก่บุคคลในฐานะเอกชน เป็น เอกเทศ (Individualy) เป็นการเชื่อมโยงประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลเข้าไปในเรื่องของมหาชนของส่วนรวม 

แม้ในกรณีระบบเศรษฐกิจที่ยึดการวางแปลนโครงการการเศรษฐกิจ เป็นหลักโดยมีองค์การศูนย์กลาง (Centre) วางแปลนหรือแผนผัง ในระบบนี้ก็ต้องมีตัวกลไก มีตัวบุคคลที่จะวางแปลนให้ได้ คือบุคคลที่มีความสามารถดีเยี่ยม เก่งจริง และ ต้องมีบุคคลผู้ปฏิบัติงานตามแปลนโครงการที่วางไว้นั้นอย่างดีเยี่ยม มีความสามารถปฏิบัติงานดีเหมือนกัน

บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการยกย่องได้รางวัลความดีความชอบ ดีกว่าผู้ที่วางแปลนเลว หรือปฏิบัติงานเลว ระบบเศรษฐกิจที่ด้านระบบ เศรษฐกิจตลาด (Market Economy) นั้น ไม่ใช่จะค้านว่าระบบเศรษฐกิจตลาด ไม่สามารถนำความวัฒนารุ่งเรืองมายังสังคมได้ มิใช่อย่างนั้น ที่โต้เถียงและค้านกันนั้น มีเพียงว่า การควบคุมโดยรัฐ (State Control) จะไม่เป็นสิ่งที่ดีกว่า หรือถ้านำเข้ามาแทนระบบเศรษฐกิจตลาดเสียเลย หรือนำเข้าแทรกแซงเป็นการช่วยระบบเศรษฐกิจตลาดอีกแรงหนึ่ง



ที่มา: เดือน บุนนาค. “ทำไมจึงต้องวางโครงการเศรษฐกิจ” ใน, “ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก”, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2552), พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้า 273-276

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ