ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับ การราชทัณฑ์

19
เมษายน
2564

ประวัติเดิมของ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ (ดร.ปรีดี พนมยงค์) และผลงานของท่านที่ได้ทำใว้ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล อันควรจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ได้มีผู้กล่าวขวัญถึง และ เขียนบันทึกเรื่องราวไว้อย่างมากมายในที่ต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังมิได้เขียนหรือบันทึกเรื่องราวขึ้นไว้ ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรเขียนขึ้นไว้ ณ ที่นี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ได้ทำงานเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง

เมื่อ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้จากบ้านเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาเรียนกฎหมายที่กรุงเทพฯ นั้น บิดาของท่านคือ ‘นายเสียง พนมยงค์’ ได้ฝากให้มาอยู่ในความอุปการะของ ‘พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา’ (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทัณฑ์

‘ณ บ้านป้อมเพชร์’ ถนนสีลม บ้านนี้ข้าพเจ้าเคยไปเห็นเมื่อครั้งถนนสีลมมีคลองขนานไปตามริมถนน ต่อมาเป็นสำนักงานทนายความของ คุณสมนึก เพชรพริ้ม และ คุณสุธี คุณากร ซึ่งเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า และ ข้าพเจ้าเคยไปหาเพื่อนที่นั่น แล้วก็ต่อมาเป็นร้านขายอาหารเวียดนาม - ฝรั่งเศส ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยไปแวะกินหลายครั้ง บัดนี้ส่วนหนึ่งใดรื้อสร้างเป็นอาคารอื่นไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งคงเป็นร้านอาหาร

‘พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา’ เคยเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (พ.ศ. 2458-2469) ได้อุปการะ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งเป็นลูกหลานให้ได้เล่าเรียน แล้วยังหางานให้ทำเป็นผู้คุมโทเรือนจำในเบื้องต้น ซึ่งขณะนั้นกรมราชทัณฑ์ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม แต่ตัวนายปรีดี พนมยงค์ มิได้ทำงานที่เรือนจำแต่ทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม เพียงกินอัตราผู้คุมเรือนจำเท่านั้น

ต่อมาเมื่อ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปเรียนวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส จนได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย (Docteur en Droit) กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม และ เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ และได้สมรสกับ ‘น.ส.พูนศุข ณ ป้อมเพชร์’ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) บุตรีของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา

‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

พอปี พ.ศ. 2476 ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ก็ได้ติดต่อดำเนินการสถาปนากรมราชทัณฑ์ขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ ‘พระยาฤทธิ์อาคเนย์’ เป็นอธิบดี ซึ่งนับว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ทำงานสืบทอดเจตนารมณ์ของญาติผู้ใหญ่ของท่าน เพราะกรมราชทัณฑ์ได้ยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีเหตุผลว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ การเงินปั่นป่วนมาก งบประมาณรายได้รายจ่ายไม่ได้ดุลยภาพกัน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินลงส่วนหนึ่ง จึงได้ยุบกรมราชทัณฑ์ไปสังกัดกรมพลำภัง (กรมการปกครองในขณะนี้) เพราะกรมราชทัณฑ์ได้จัดวางระเบียบและข้อบังคับไว้เรียบร้อยแล้ว

เมื่อ ‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ สมัยเมื่อมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2477- พ.ศ. 2480 ซึ่งควบคุมกรมราชทัณฑ์อยู่ด้วย ได้ทำงานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการราชทัณฑ์ คือ ได้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 กับ พ.ร.บ. กักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 ฯลฯ ซึ่งได้ใช้ปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้ แต่ก่อนนี้ใช้กฎหมายลักษณะเรือนจำ ร.ศ. 120 ซึ่งล้าสมัย

ในการร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ ได้ตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ เป็น ประธานกรรมการเอง ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’ ‘ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ’  ‘ดร.เรเน่ กียอง’ ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็น กรรมการ และ ‘นายบรรยง มกราภิรมย์’ เป็น เลขานุการ นายบรรยง มกราภิรมย์ ผู้นี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้โอนมาจากกระทรวงยุติธรรม มาเป็นหัวหน้ากองทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ เป็น เนติบัณฑิตไทย และ ได้ปริญญาทางกฎหมายมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เป็น อาจารย์สอนวิชาพะยานจิตวิทยา ชั้นปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้าพเจ้าได้เคยทำงานใกล้ชิดกับท่านอยู่หลายปี ได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการราชทัณฑ์อย่างมากมาย ซึ่งข้าพเจ้ายังระลึกถึงพระคุณท่านอย่างมิรู้ลืม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านถึงแก่กรรมลงในวัยอันยังไม่สมควร ข้าพเจ้าขอยกย่องว่า ท่านควรจะเป็นปรมาจารย์แห่งการราชทัณฑ์ของประเทศไทย 

 


ภาพ: เรือนจำภาคธารโต อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. 2479
ที่มา: University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 

พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ได้เขียนขึ้นไว้อย่างล้ำหน้า และ กว้างไกล กรมราชทัณฑ์ใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลดีตราบเท่าทุกวันนี้ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ดำริตั้งทัณฑนิคมขึ้นตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2479 โดยอพยพนักโทษที่มีกำหนดโทษสูงๆ จากเรือนจำกลางบางขวางไปอยู่ทัณฑนิคมที่ธารโต จังหวัดยะลา แบ่งปันที่ดินให้แก่ผู้พ้นโทษ มุ่งหมายให้ขยายเป็นเมืองใหม่ โดยมีนโยบายลับมุ่งป้องกันภัยเกี่ยวกับทางศาสนา และ เชื้อชาติอันอาจจะรุกรานมาจากต่างชาติ และยังเป็นผู้กำหนดตัวบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งท่านรู้จักดีไปเป็นผู้อำนวยการนิคมธารโต 

 


ภาพ: เรือนจำภาคธารโต อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. 2479
ที่มา: University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 

งานนี้เป็นงานจะต้องต่อสู้บุกป่าฝ่าดงในที่ทุรกันดาร ชุกชุมด้วยไข้ป่า มาลาเรีย โดยได้คัดเลือกเอาสมาชิกท่านหนึ่งจากคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ข้าพเจ้ากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ส่งคนไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามโรงเรียนต่างๆ 

 


ภาพ: สงวน ตุลารักษ์ (กลาง) ผู้บัญชาการเรือนจำภาค ธารโต จังหวัดยะลา ถ่ายภาพร่วมกับคณะข้าราชการที่เข้าเยี่ยมชมกิจการทัณฑนิคม บริเวณหน้าอาคารบัญชาการเรือนจำ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2479
ที่มา: University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 


ภาพ: แผนผังเรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา
ที่มา: กรมราชทัณฑ์, 80 ปี กรมราชทัณฑ์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมราชทัณฑ์, 2539), 163.

 

‘นายสงวน ตุลารักษ์’ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้ชี้แจงที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้มีท่านผู้หนึ่งถามนายสงวน ตุลารักษ์ ขึ้นอย่างไม่สมควร นายสงวน ตุลารักษ์ ตอบพร้อมกับตบปืนซึ่งพกไว้ที่บั้นเอวว่า นี่ถามอ้ายนี่มันดูซิ แสดงว่านายสงวนเป็นนักต่อสู้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้เลือกนายสงวน ตุลารักษ์ ให้ทำงานสำคัญดังกล่าวนี้ แต่มีอุปสรรคนานาประการ ตลอดจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นโยบายนี้ก็ไม่สำเร็จผล

อีกประการหนึ่ง คือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ดำริตั้งเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นนิคมฝึกอาชีพ ตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 สำหรับส่งนักโทษที่มีสันดานเป็นผู้ร้ายไปกักกันไว้ แล้วท่านเป็นผู้เลือกข้าราชการที่ท่านรู้จักดี และเป็นผู้เหมาะสมกับงานที่จะต้องบุกเบิกจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพอีกท่านหนึ่ง คือ “หลวงพิธานทัณฑทัย” ซึ่งเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา พ่อตาของท่านเป็นอธิบดี หลวงพิธานทัณฑทัยผู้นี้ เป็นผู้ทำงานขยันขันแข็ง อุตสาหะ บากบั่น ทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต่อสู้กับอุปสรรคได้ร้อยแปดพันประการ เรือยนต์ที่ใช้ราชการวิ่งระหว่างจังหวัดสตูลกับเกาะตะรุเตา ชื่อว่า ‘เรือชัยวิชิต’ ซึ่งเจ้าคุณชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ได้มอบให้กับกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2481 เพื่อใช้ในราชการ (ราคาขณะนั้นประมาณ 5,000 บาท) ข้าพเจ้าได้เคยติดตามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (หลวงเชวงศักดิ์สงคราม) ไปตรวจงานที่หลวงพิธานทัณฑทัยกำลังบุกเบิกเตรียมก่อตั้งนิคมเกาะตะรุเตา

คณะที่ไปมี ‘นายบรรยง มกราภิรมย์’ และ ‘ดร.เบรารเดลลี่’ ผู้เชี่ยวชาญการราชทัณฑ์ชาวอิตาเลียน และคนอื่นๆ ข้าพเจ้าไปในฐานะล่ามภาษาฝรั่งเศส เพราะล่ามภาษาอิตาเลียนแท้ๆ ป่วย ข้าพเจ้าจึงไปเป็นล่ามจำเป็น ไปแทนเนื่องจาก ดร.เบรารเดลลี่พูดภาษาฝรั่งเศสได้ด้วย อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีความชื่นชมผลงานของหลวงพิธานทัณฑทัยเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าเรียกหลวงพิธานทัณฑทัยว่าคุณอา เพราะเลื่อมใสในการทำงานของคุณอา คุณอาปรารภว่า หลานเอ๊ย อาลงมือทำงานร่วมกับนักโทษแต่เช้ามืดไม่เป็นเวล่ำเวลาทุกวัน ไม่มีวันหยุดกะเขาหรอก ขนาดถอดเสื้อบิดเหงื่อให้นักโทษ มันเห็นตำตาทีเดียว สำหรับ ดร.เบรารเดลลี่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็เป็นผู้ดำริว่าจ้างมาเป็นผู้เชี่ยวชาญกรมราชทัณฑ์ เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีประเทศอักษะ คือ เยอรมันนี อิตาลี และญี่ปุ่น กำลังแสดงอำนาจร่วมกัน หลวงประดิษฐ์ก็มีนโยบายเอาใจประเทศอักษะตามสมควร ได้เสนอรัฐบาลว่าจ้างชาวอิตาเลี่ยนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญกรมราชทัณฑ์

ข้าพเจ้าเห็นสมควรเล่าเรื่องสืบไปถึงเรื่องเก่าๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา คือ ตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่ง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เคารพนับถือเป็นบุพการีของท่าน เป็นตระกูลที่ได้ทำงานให้แก่ประเทศชาติในกิจการราชทัณฑ์ถึงขนาดได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2458 และกิจการราชทัณฑ์ได้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมาจนทุกวันนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเองได้มาคิดเมื่อออกจากราชการรับบำนาญแล้วหลายปี

เมื่อได้เห็นหน่วยราชการและองค์การต่างๆ ได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่บุคคลที่ทำประโยชน์ดีเด่น โดยเฉพาะ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้มีผู้ทำให้แล้ว สำหรับพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ท่านเป็นผู้ก่อตั้งกรมราชทัณฑ์เป็นครั้งแรกและเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกมาด้วยความเรียบร้อย เจริญก้าวหน้าถึงกว่า 10 ปี (ปี พ.ศ. 2458-2469) เป็นอธิบดีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติการณ์ ยิ่งกว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนอื่นๆ แม้ในขณะนี้ท่านเป็นบุคคลที่สามารถและขยันขันแข็ง เอาใจใส่ในกิจการงานอย่างที่สุด

‘ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร’ เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ‘ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ’ เล่าว่า “เวลาไฟไหม้ยามค่ำคืน ไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงใด และจะไหม้ที่ไหนก็ตาม ท่านจะต้องนุ่งม่วง ใส่เสื้อกระดุม 5 เม็ด สวมถุงน่องรองเท้า เรียกว่า แบบฟอร์มข้าราชการสมัยก่อน ถือไม้เท้าขึ้นรถยนต์ไปดูแลความเรียบร้อยที่เรือนจำลหุโทษจนกว่าไฟไหม้สงบจึงจะกลับบ้าน” ดังนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ากรมราชทัณฑ์ควรจะสร้างอนุสาวรีย์เป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง

บุคคลสำคัญในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ อีกท่านหนึ่ง คือ ‘พระยาไชยวิชิตสิทธิ์ศาสตรา’ (นาค ณ ป้อมเพชร์) บิดาของ ‘พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา’ (ขำ ณ ป้อมเพชร์) พระยาไชยวิชิตสิทธิ์ศาสตรารับราชการอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว เคยรับราชการเป็นผู้ช่วยสถานทูตไทยที่อังกฤษ เมื่อครั้งเป็น ‘หลวงวิเศษสาลี’ โดยมี ‘กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์’ เป็นราชทูต

ดร.วิชิตวงศ์ฯ เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ทวดของท่านคือ หลวงวิเศษสาลีผู้นี้ ระหว่างทำงานอยู่สถานทูตได้ให้ความเอาใจใส่ไปศึกษาดูงานเรือนจำในกรุงลอนดอนอยู่เป็นประจำ ข้าพเจ้าจึงบอก ดร.วิชิตวงศ์ฯ ว่า นั่นแหละ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงรับสั่งให้ทูตดูงานเรือนจำในต่างประเทศมาเป็นแบบอย่างสร้างเรือนจำในประเทศไทย และทูตก็คงใช้หลวงวิเศษสาลีไปศึกษาตามเรือนจำแทน เพราะหลักสูตรวิชาการราชทัณฑ์ไม่มีเรียนในสมัยนั้น ดังที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้มีพระเนตรกว้างไกล ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ ในนานาอารยประเทศ เช่น การทหาร การช่าง การปกครอง ฯลฯ แล้วให้กลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณให้แก่แผ่นดินไทย

ดังเป็นที่ทราบกัน ข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าน่าจะเป็นจริง เพราะเมื่อกรมหมื่นนเรศฤทธิ์และหลวงวิเศษสาลี ซึ่งต่อมาได้ย้ายกลับมาเมืองไทยและได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และ พระยาไชยวิชิตสิทธิ์ศาสตรา ตามลำดับ ท่านทั้งสองได้มาทำการปรับปรุงกิจการราชทัณฑ์ขนานใหญ่ สมดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสว่า “การคุก การตะรางเป็นการสำคัญของประเทศ สมควรจะได้สร้างสถานที่ และ จัดระเบียบให้เป็นปึกแผ่น” โดยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้เป็นผู้ริเริ่มและปรับปรุงกิจการเรือนจำกองราชทัณฑ์สมัยใหม่ และพระยาชัยวิชิตสิทธิ์ศาสตรา เป็นแม่กองสร้าง “เรือนจำมหันตโทษ” อันเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนั้น อยู่ถนนมหาไชย (เรือนจำกองลหุโทษเดิม บัดนี้ชื่อ ‘เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร’ ซึ่งก็ได้ย้ายมาตั้งที่ลาดยาวเมื่อ พ.ศ. 2535 แล้ว)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนจำมหันตโทษขึ้นใหม่ที่บางขวาง นนทบุรี ขึ้นแทนเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรือนจำที่พระยาไชยวิชิตสิทธิ์ศาสตราสร้างขึ้นจึงเป็นเรือนจำรองลงมา เป็นเรือนจำสร้างตามแบบเรือนจำ Brixton (อันเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุด Maximum Security) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งบัดนี้อังกฤษได้รื้อทุบทิ้งสร้างอาคารอื่นแทนแล้ว

ดังนั้นแบบอย่างเรือนจำ Brixton ของอังกฤษก็จะดูได้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ลหุโทษเดิม) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรือนจำประวัติศาสตร์ไปแล้ว กิจการเรือนจำขณะนั้นยังมิได้เป็นกรมราชทัณฑ์ เพียงอยู่ในสังกัดกระทรวงนครบาลอันมีกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเสนาบดี และพระยาไชยวิชิตสิทธิ์ศาสตรา เป็นผู้บริหารกิจการเรือนจำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสืบทอดเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น โดยมีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดาเป็นผู้บริหารงานราชทัณฑ์สืบต่อจากพ่อของท่านโดยเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก เมื่อ พ.ศ. 2458

งานที่เกี่ยวกับกรมราชทัณฑ์อีกประการหนึ่ง คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (คืนบรรดาศักดิ์จากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้ตั้งองค์การสรรพาหารขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการครองชีพ ตอนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ให้กรมราชทัณฑ์ตั้งเรือนจำเกษตรที่บางบัว อยู่แถบบางเขน ให้นักโทษทำการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชขึ้นจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูก และท่านก็กำหนดให้หลวงพิธานทัณฑทัย ผู้ที่ท่านรู้จักและไว้วางใจในฝีมือทำงานเป็นผู้บริหารงานเรือนจำเกษตร

ดร.ปรีดีฯ ผู้นี้เป็นคนรักชาติและห่วงใยประเทศชาติมาก ในบั้นปลายแห่งชีวิตตอนอยู่ประเทศฝรั่งเศส ได้เกิดภาวะวิกฤตเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ราวปี พ.ศ. 2516-2518 มีนายทหารชั้นพลโทนอกราชการผู้หนึ่ง ได้ไปเยี่ยมท่านที่กรุงปารีส ท่านยังบอกให้นายทหารท่านนั้นมาหาอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งข้าพเจ้ากำลังดำรงตำแหน่งอยู่ ให้ดำเนินนโยบายแบบองค์การสรรพาหารเมื่อครั้งที่ท่านเคยทำ ก็คือ ให้นักโทษเพาะปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูก เป็นการลดค่าครองชีพตามหลักเศรษฐกิจ

ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีความรู้ ความสามารถ มีปัญญาหลักแหลม ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างหาที่เปรียบได้ยาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้ทรงเห็นความดีจึงโปรดเกล้าฯ ยกย่องท่านเป็น รัฐบุรุษอาวุโส แต่ต่อมาท่านต้องตกระกำลำบาก ต้องไปพำนักอยู่ในต่างประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ก็พลอยถูกจับในข้อหา กบฏสันติภาพ คือ กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ปี 2495 ถูกคุมขังอยู่ถึง 84 วัน

เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขฯ พ้นจากการคุมขังแล้ว ท่านคิดว่าอยู่ในประเทศไทยต่อไปก็รังแต่จะทำให้เกิดความรำคาญ จึงเดินทางไปอยู่ประเทศจีน และ ประเทศฝรั่งเศส สมทบกับ ดร.ปรีดีฯ ในต่างแดน รวมเวลาถึง 31 ปี เป็นที่น่าสงสารและน่าเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว

เมื่อปี พ.ศ. 2481 ข้าพเจ้าได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ประศาสน์การ ได้สรวมเสื้อดรุยดอกเตอร์อังดรัวยืนตระหง่านอยู่บนตึกหน้าโดมของมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษายืนอยู่กลางสนามชั้นล่างหน้าโดม ท่านได้ให้โอวาทแก่นักศึกษา ข้าพเจ้ายังจำได้ติดตาและก้องอยู่ในหูจนบัดนี้ 2 ประการว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “ผลของการที่ก่อสร้างดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย” อันเป็นคติพจน์ที่เป็นอมตะและมีความสำคัญในชีวิตของคนเรา

อนุสาวรีย์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเตือนให้อนุชนรุ่นหลังระลึกถึงคติพจน์ของท่านที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” กับ “ผลของการที่ก่อสร้างดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”

 

ที่มา: หนังสือ “ส.ค.ส. 2536” โดย ประดิษฐ พานิชการ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ราชทัณฑ์ เรือนจำคลองเปรม พุทธศักราช 2535

อ่าน: พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ 2479

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ