“ตอนสายฟ้าครึ้มและฟ้าร้อง”
นี่เป็นบันทึกประโยคสุดท้ายด้วยลายมืออันสวยงามของคุณแม่ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัยย่าง 96 ปี ที่เขียนไว้ในบันทึกประจำวันของท่าน เมื่อบ่ายวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 จากนั้นไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง อาการแน่นหน้าอกของคุณแม่กำเริบหนัก วาณี (ลูกคนสุดท้อง) จึงพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล วันนั้น คุณแม่ถือกระเป๋าคู่ใจใบเก่าๆ เดินขึ้นรถไปเอง แต่แล้วท่านก็ไม่ได้กลับมาที่บ้านอีกเลย
เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนแห่งความสูญเสียอันใหญ่หลวงของลูกๆ
ครั้งแรก
วันที่ 2 พฤษภาคม 2526 คุณพ่อได้จากลูกๆ ไปอย่างสงบ ที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านพัก เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ครั้งที่สอง
คืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2550
คุณแม่จากลูกๆ ไปในวันคล้ายวันเกิดคุณพ่อพอดี ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลานชายที่ยืนอยู่ข้างเตียงคุณแม่ เปรยขึ้นมาว่า
“คุณปู่มารับคุณย่าแล้ว”
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้ให้กำเนิดที่ประเสริฐ
คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้ ลูกๆ 6 คนโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกของปรีดี-พูนศุขที่เป็นบุคคลอันเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เป็นแบบอย่างของการยืนอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
คุณแม่อุ้มท้องลูกทั้ง 6 คน อย่างทะนุถนอม และด้วยความยากลำบาก เสี่ยงชีวิต อดทนต่อความเจ็บปวด คลอดเราออกมา และดูแลอภิบาลตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต
คุณแม่เป็นคนฝึกสอนแนะนำการดำเนินชีวิต และความดีงาม เป็นครูคนสำคัญที่สุดในการวางรากฐานชีวิต เป็นผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวงของลูก
วันแม่ที่แท้จริงของลูกทุกคนคือ วันที่แม่ให้กำเนิดลูกนั่นเอง
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้ให้ตลอดกาล
ท่านให้ความรัก ความเมตตา ให้ความอบอุ่นแก่ลูกทุกคนอย่างไม่เห็นแก่ตัว เลี้ยงดูลูกด้วยสมองและสองแขนของท่านจนลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านเป็นพลังและกำลังใจอยู่เบื้องหลังลูกๆ ให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความศรัทธา
คุณแม่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส นอกจากจะจุนเจือผู้ที่ขาดปัจจัยในการดำรงชีวิตเสมอๆ แล้ว ก่อนละสังขารไม่นาน ท่านได้บริจาคเงินให้กับวัดแห่งหนึ่งย่านฝั่งธน เพื่อซื้อเครื่องฟอกไตสำหรับคนยากไร้ โดยไม่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง
กว่าผู้รับบริจาคจะทราบว่าผู้บริจาคเป็นใคร ก็เมื่อคุณแม่ละสังขารไปแล้ว
คุณแม่เป็นผู้ที่ “ปิดทองใต้ฐานพระ” ที่ยิ่งกว่า “ปิดทองหลังพระ”
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีความกตัญญู
คุณแม่ใช้การกระทำแทนคำพูดในการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณทุกท่าน
คุณแม่คอยเยี่ยมเยียนครู (มาเซอร์) ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟเป็นประจำ
คุณแม่เดินทางกลับมารับใช้คุณยาย (คุณหญิงเพ็ง) ที่ป่วยหนักจนวาระสุดท้ายของชีวิต
คุณแม่ดูแลเอาใจใส่ผู้ที่ได้ช่วยเหลือคุณพ่อยามลี้ภัยเผด็จการ และทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณเมื่อโอกาสอำนวย
คุณแม่ไม่เคยลืมบุญคุณของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ได้ให้การต้อนรับและดูแลครอบครัวเรายามตกทุกข์ได้ยาก คุณแม่บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในจีน และมองประเทศจีนในด้านบวกเสมอ
‘พุทธทาสภิกขุ’ กล่าวว่า
“สงครามไม่ได้เกิดขึ้น เพราะคนไปทำหน้าที่ของคนกตัญญูกตเวทีกันหมด”
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีความอดทน
คุณพ่อจำต้องลี้ภัยอำนาจเผด็จการไปต่างประเทศ เป็นครอบครัวบ้านแตก แต่สาแหรกไม่ขาด และเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมาก คุณแม่เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูกทุกคนในเวลาเดียวกัน ชีวิตครอบครัวยึดหลักเดินทางสายกลาง และดำเนินไปตามปกติเรียบง่าย ท่ามกลางความยากลำบาก
คุณแม่อดทนต่อการกดดัน การใส่ร้ายป้ายสี และการคุกคามทางการเมืองนานัปการจากผู้ครองอำนาจในยุคนั้นเป็นเวลายาวนานอย่างไม่ย่อท้อ
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คุณแม่ต่อสู้กับความเจ็บปวดอย่างอดทนที่สุดเป็นเวลาหลายวัน ด้วยอาการแน่นหน้าอก (ในบันทึกประจำวันของท่านเขียนว่า ปวดหน้าอก) แต่แพทย์ที่ ร.พ.เอกชนหาสาเหตุไม่พบ จนในที่สุดเมื่อไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็สายเกินแก้แล้ว
เมื่อวัยล่วงเลย 90 ปี กลางดึกคืนหนึ่ง คุณแม่ประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้มในห้องน้ำศีรษะแตก แต่เนื่องจากท่านทานยาเบบี้แอสไพรินเป็นประจำ เลือดจึงไหลไม่หยุด คุณแม่ได้เอากระดาษทิชชูกดตรงแผลให้เลือดหยุด กว่าเลือดจะหยุดคุณแม่ก็ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดเป็นเวลาหลายนาที ก่อนจะไปรักษาที่โรงพยาบาล
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีความเข้มแข็ง
หลังจากคุณพ่อลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศไม่กี่ปี คุณแม่ก็ถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งในที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง
84 วันในที่คุมขัง ถ้าปราศจากจิตใจที่เข้มแข็ง ก็ยากจะทนกับสภาพที่ไร้อิสระเสรี และการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ใน ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า
“ท่านผู้หญิงฯ เป็นบุคคลที่นับว่าเข้มแข็ง ชีวิตของท่าน ได้ผ่านความทุกข์ยาก ผจญภยันอันตรายอย่างที่เรียกว่าถึงขั้นลำเค็ญ ชนิดที่เรียกว่าทั้งหนักทั้งนาน แต่ท่านก็ยังทนได้ นอกจากทนได้แล้วยังเป็นผู้อยู่ผ่านมาได้ ...ยังสามารถรักษาตนให้อยู่ในความดีได้ ...และอยู่ในความดีตลอดด้วย ...จึงเป็นความเข้มแข็งที่สำคัญ
........ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างยวดยิ่ง ในการดำรงรักษาเกียรติของท่านรัฐบุรุษอาวุโสผู้เป็นสามีไว้”
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้เสียสละ
ในยามที่ครอบครัวของเราขาดผู้เป็นพ่อ คุณแม่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว ทำหน้าที่เป็นพ่อและเป็นแม่ในคราวเดียวกัน โดยไม่ขาดตกบกพร่องเป็นเวลาหลายปี
คุณแม่อดหลับอดนอนดูแลลูกทุกคนที่เจ็บป่วย เอาใจใส่ดูแลลูกที่ประสบเคราะห์กรรมจากฝ่ายอธรรม คอยเป็นกำลังใจให้ลูกทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ความเสียสละของคุณแม่ ยังแสดงออกเมื่อไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคุณพ่อที่ประเทศจีน ในยามที่ไทยเดินตามนโยบายอเมริกันเป็นคู่อริกับจีน ชีวิตความเป็นอยู่ของเราในประเทศจีนสมัยที่ยังเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แม้จะดีกว่าคนจีนทั่วไปแต่ก็ไม่สุขสบายนัก
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้กล้าหาญ
คืนวันรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เวลาประมาณตีสาม คุณแม่ตะโกนแหวกเสียงปืนกลที่ดังเหมือนห่าฝนว่า “อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก”
คุณแม่เปรียบเสมือนแม่นกที่กางปีกปกป้องลูกนกอย่างกล้าหาญ
ในระหว่างที่คุณพ่อหลบภัยอยู่นั้น คุณแม่ได้เดินผ่านตรอกป่าช้าที่ตัดระหว่างถนนสีลมกับถนนสาทรไปพบคุณพ่อเพื่อประสานงานให้ลี้ภัยไปต่างประเทศ ยามดึกดื่นเพียงคนเดียว ในสภาพที่บริเวณนั้นทั้งมืด ทั้งเปลี่ยว
ก่อนละสังขารเพียงสองวัน เมื่อนั่งรถผ่านบริเวณดังกล่าว ท่านยังพูดถึงความทรงจำในครั้งนั้นให้ลูกฟัง
เมื่อท่านถูกฝ่ายเผด็จการจับกุมคุมขัง ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร คุณแม่ไม่รู้สึกสะทกสะท้าน เพราะถือคติว่า เมื่อไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว
ภาพคุณแม่เดินไปขึ้นศาลท่ามกลางตำรวจที่มีอาวุธครบมือ ในปี พ.ศ. 2495 สะท้อนถึงความกล้าหาญของท่าน
“ท่านไม่ยอมก้มหัวให้อธรรมอย่างเด็ดขาด”
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีคุณธรรม
คุณแม่ใฝ่ในธรรมะ หนังสือบนโต๊ะข้างตัวท่าน มีทั้งของพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทเถระ) หนังสือธรรมะเล่มล่าสุดที่ท่านอ่านและแนะนำให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่อ่านคือ “รักลูกให้ถูกทาง” ของ ท่านปัญญานันทเถระ
คุณแม่ชอบฟังเทศน์ ท่านตื่นนอนตีสองทุกวัน บางวันฟังเทศน์ทางวิทยุโดยเฉพาะพระครูไพศาลประชาทร บางวันฟังเทศน์ทางโทรทัศน์จากนักบวชคริสต์ศาสนา หรือบางวันฟังคำสอนของศาสนาอิสลาม หลายคนอาจไม่ทราบว่า บรรพบุรุษท่านเป็นอิสลาม คุณแม่นับเป็นลูกหลานชั่วที่ห้าที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุไลมาน
ตลอดระยะเวลา 95 ปี 4 เดือน 9 วัน คุณแม่รักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด คุณแม่ไม่เคยให้ร้ายใคร ทั้งทางกาย วาจา และใจ ท่านยึดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ธมโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ - ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
คุณแม่พูดอยู่เสมอว่า การทำความดี ก็คือดี ท่านอโหสิกรรมให้กับทุกคนที่คิดร้ายกับครอบครัวเรา ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ แต่ใครที่ทำดีกับเรา เราต้องจดจำ และพยายามตอบแทน
คุณแม่ได้รับรางวัล Outstanding Women In Buddhism Awards จากองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีความเมตตา
ท่านมีความเห็นใจต่อคนไทยหรือแม้แต่คนต่างชาติที่ได้ประสบเคราะห์กรรมและภัยพิบัติ หลายครั้งที่คุณแม่และคุณพ่อได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านั้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ท่านมีเมตตาต่อผู้อื่น โดยไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้พบปะวิสาสะกับท่านคงตระหนักได้ถึงข้อนี้
แม้ในช่วงวิกฤตแห่งชีวิตที่เริ่มมีอาการหัวใจวาย และท่านเชื่อตามที่แพทย์บอกว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อน คุณแม่ปรารภหลายครั้งว่า สงสารผู้ช่วยแม่บ้านที่ป่วยเป็นโรคที่มีอาการเดียวกับคุณแม่ กลางวันต้องทำงานบ้าน ทั้งๆ ที่ตอนกลางคืน คงเจ็บปวดทรมานเหมือนที่ท่านเป็นอยู่ขณะนั้น วันสุดท้ายของชีวิตท่านยังพูดว่า ท่านรู้สึกเห็นใจและขอให้เธอหายป่วยเร็ววัน เพื่อดูแลเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม
คุณแม่ไม่เคยขาดการประชุมมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เลยสักครั้ง แม้ล่วงวัยกว่าเก้าสิบ และต้องเดินขึ้นบันไดสถาบันปรีดีฯ ถึง 3 ชั้นเพื่อไปยังห้องประชุม อีกทั้งยังร่วมงานการกุศลและงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานวันที่ 16 สิงหาคมวันสันติภาพไทย งานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา งานเปิดนิทรรศการศิลปะเด็กและเยาวชน ฯลฯ
แม้กระทั่งก่อนละสังขารเพียง 2 เดือน คุณแม่ไปเป็นประธาน และกล่าวเปิดงาน การประชุมวิชาการ ปรีดี พนมยงค์ ภาคแรก ณ สำนักงานศาลปกครอง
คุณแม่ใช้การกระทำเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนลูกทุกคนให้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมโดยยึดหลักทำงานเพื่อ รับใช้ชาติและราษฎรไทย
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้ใฝ่เรียน ใฝ่รู้
ท่านฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับเป็นประจำทุกวัน ทั้งๆ ที่สายตาเริ่มเสื่อมไปตามวัย ท่านไม่เคยตกข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญของไทยและของโลกเลย
หัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารของครอบครัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องข่าวสารบ้านเมืองและเรื่องที่มีสาระประโยชน์ต่อส่วนรวม
ท่านจะติดตามผลงานเล็กๆ น้อยๆ ของลูกทุกคนด้วยความสนใจ ลูกๆ ที่มีงานเขียน ถ้าเขียนได้ดีมีสาระ ท่านก็ชมเชย บางครั้งอาจจะติติงบ้าง ถ้ามีข้อมูลคลาดเคลื่อน
ท่านมีความจำเป็นเลิศ ชนิดที่ยากจะหาได้ในคนวัยเดียวกัน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีจิตใจประชาธิปไตย
คุณแม่เรียนรู้เรื่องราวประชาธิปไตย จากครูใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยชีวิตของคุณแม่ ซึ่งก็คือคุณพ่อ ในครอบครัวของเรามีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ลูกๆ สามารถจะเสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ต่อคุณแม่ได้เสมอ และท่านก็รับฟัง
คุณแม่ไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้ง ด้วยวัยกว่า 90 ปี ท่านยืนเข้าแถวเพื่อหย่อนบัตรฯ ในฐานะราษฎรเต็มขั้น ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ และไม่มีกองทัพนักข่าวคอยติดตาม ดังเช่นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือดาราศิลปินทั้งหลาย
ท่านติดตามสถานการณ์บ้านเมืองตั้งแต่วัยสาว จนถึงก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต
ท่านคัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ เพราะท่านประสบมาด้วยตนเองว่า การทำรัฐประหารนั้น ไม่สามารถทำให้สังคมรุดไปข้างหน้าได้
เมื่อครั้งรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คุณแม่เผชิญหน้ากับนายทหารฝ่ายรัฐประหาร พวกเขาบอกคุณแม่ว่า “เราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล” คุณแม่สวนกลับไปว่า “ทำไมต้องมาเปลี่ยนรัฐบาลที่นี่ ไม่ไปเปลี่ยนที่สภา”
คุณแม่เข้าใจหลักการของประชาธิปไตย ดีกว่าพวกรัฐประหาร
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีชีวิตสมถะ
คุณแม่วางแผนในการใช้เงินอย่างรอบคอบ ตั้งแต่แต่งงานมีครอบครัว ท่านจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน แม้ในช่วงไม่อยู่บ้าน ก็ยังเขียนสั่งลูกๆ ให้ใช้จ่ายเงินทองอย่างประหยัด ท่านกระทำเช่นนี้จนถึงวันละสังขาร ท่านเป็นคนไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เคยหมดเงินไปกับสิ่งฟุ้งเฟ้อ ไม่เคยเดินเข้าร้านเพชรร้านทอง ไม่เคยซื้อสินค้ายี่ห้อดังราคาแพง ท่านเป็นลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 10 บาท ใช้บริการร้านทำผม ร้านดอกไม้ ฯลฯ แถวตลาดสวนพลู ไม่ได้เสพสุขอยู่บนกองเงินกองทอง เพราะคุณพ่อไม่เคยโกงบ้านกินเมือง มีแต่เงินที่ได้มาจากการทำงานสุจริต คุณพ่อคุณแม่จึงรู้ค่าของเงิน และใช้เงินแต่ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ท่านบอกว่า คุณตา (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) สอนให้เดินสายกลาง ถือคติว่า ถ้าไม่จน อยู่อย่างจน จะไม่จน ถ้าไม่รวย อยู่อย่างรวย จะไม่รวย
คุณแม่เป็นแบบอย่างของ ความพอดี ที่ไม่จำเป็นต้องโฆษณาหรือป่าวประกาศให้คนอื่นทราบ
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้ครองชีวิตเรียบง่าย
ชีวิตประจำวันของคุณแม่ เป็นชีวิตของแม่บ้านธรรมดาที่สุดคนหนึ่ง สมัยลูกยังเล็ก คุณแม่ปรุงอาหารและทำขนมให้ลูกรับประทาน ช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส คุณแม่เดินลากรถเข็นไปกลับยังตลาดสด ระยะทางกว่าสองกิโลเมตรทุกวัน เพื่อซื้อเสบียงกลับมาทำอาหารให้คุณพ่อและลูกๆ อาหารที่รับประทานเหลือมื้อนี้ก็เก็บไว้กินมื้อต่อไป
คุณแม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีคำนำหน้าว่า ท่านผู้หญิง แต่นามบัตรที่ท่านพิมพ์ไว้ใช้สอย คือ พูนศุข พนมยงค์ เฉยๆ ท่านกล่าวว่าไม่เคยลืมตัว หรือ รู้สึกว่าต้องสวมหัวโขน ท่านยังพูดอย่างอารมณ์ดีว่า ถ้าใครมีรูปถ่ายท่านแต่งชุดสายสะพายเต็มยศจะให้รางวัลคนนั้น แต่ก็ไม่มีใครหาพบ เพราะท่านไม่เคยแต่งชุดนี้ถ่ายรูปเลย
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีอารมณ์สุนทรีย์
คุณแม่ได้รับการปลูกฝังจากคุณตาคุณยาย ให้เรียนดนตรี (เปียโน) ตั้งแต่เด็ก เมื่อมีลูก คุณแม่ก็ได้ให้ลูกทุกคนเรียนดนตรี เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวลูกๆ ได้ ลูกบางคนยึดอาชีพสอนดนตรีจนทุกวันนี้ คุณแม่คอยให้กำลังใจ และติดตามชมงานแสดงดนตรีของลูกทุกครั้ง
ก่อนละสังขารเพียงไม่กี่เดือน คุณแม่พยายามที่จะเสาะแสวงหาเปียโนหลังเล็ก เพื่อท่านจะได้เอาไว้ใช้สอนเด็กอายุ 4-5 ขวบสองคน ที่คุณแม่รักและเอ็นดูเปรียบเสมือนลูกหลาน
ท่านอยากเป็นครูเปียโนในวัยชรา
คุณแม่...คือตัวอย่างของผู้มีความรักชาติ
คุณแม่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่มีคุณพ่อเป็นหัวหน้า คุณแม่มีหน้าที่รับฟังวิทยุฝ่ายสัมพันธมิตรและเขียนรหัสลับ คุณแม่ใช้การกระทำของตนเองพิสูจน์ว่า ท่านรักชาติ และพร้อมที่จะทำงานเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย โดยไม่ต้องอวดอ้างใดๆ ทั้งสิ้น
คุณแม่พูดอยู่เสมอว่า “ความภูมิใจในชีวิตของคุณแม่ ก็คือการได้รับใช้ชาติในขบวนการเสรีไทย”
ท่านฝาก วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ให้คนรุ่นหลัง
คุณแม่...เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องความจริง ความดี และความงาม
คุณแม่...เป็นแม่ดีเด่นที่สุดของลูกๆ ทั้ง 6 คน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น
ความรักที่คุณแม่มีต่อลูกๆ นั้น ไม่สามารถพรรณนาได้ด้วยตัวหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น
อนุสาวรีย์แห่งความดีของคุณแม่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น เมื่อได้เขียนคำสั่งถึงลูกๆ 10 ประการ ดังที่ได้ทราบทั่วกันแล้ว
แม้ลูกคิดว่า จะต้องมีวันนี้ วันที่คุณแม่ละสังขารจากไป แต่ก็นึกไม่ถึงว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วเช่นนี้ เพราะปกติคุณแม่เป็นคนแข็งแรงกว่าคนในวัยเดียวกันมาก และใส่ใจในการกินอยู่ คุณแม่เป็นคนไม่ประมาท เมื่อมีอาการป่วยจะรีบไปพบแพทย์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
แม้หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อน คุณแม่ยังปรารภว่า แม่มีโรคใหม่อีกโรคหนึ่ง คือ โรคกรดไหลย้อน คงต้องงดอาหารที่ทำให้เกิดกรดมากๆ…
คุณแม่พูดอยู่บ่อยๆ ว่า จะมีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี
ก่อนละสังขารเพียง 2 วัน ท่านรู้สึกไม่สบาย จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ยังมีคนเข้ามาทักว่าท่านดูท่าทางแข็งแรง คงอยู่ได้ถึง 120 ปี แน่ๆ เลย
ถ้าย้อนวันคืนได้ ลูกก็อยากจะให้เป็นเช่นนั้น จึงตั้งตัวไม่ทัน เมื่อคุณแม่ด่วนจากไปอย่างกะทันหันเช่นนี้ วันนี้ ลูกเพียงจะบอกว่า รักและคิดถึงคุณแม่ที่สุด !
บันทึกสุดท้ายของคุณแม่
ตอนสายฟ้าครึ้มและฟ้าร้อง
คืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 เวลาประมาณตีหนึ่ง ฟ้าร้องไห้ ให้กับคุณแม่
แม่จ๋า แม่คือฟ้าอันสูงส่ง
แม่ยืนยงบนหนทางสร้างสิ่งดี
แม่จ๋า แม่คือฟ้า คือศักดิ์ศรี
คือความรัก คือสตรี
ที่ไม่ท้อต่อผองภัย
ดุษฎี พนมยงค์
เขียนในนามลูกๆ ทุกคนของคุณแม่
หมายเหตุ:
- บทความนี้เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือ “หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์” จัดพิมพ์เมื่อ 14 ธันวาคม 2551 ซึ่งในบทความนี้ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนโดย ดุษฎี พนมยงค์