ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สวัสดิการการศึกษาเมืองไทย: หนทางที่ยังมืดมน

18
พฤษภาคม
2564

“สวัสดิการด้านการศึกษา” นั้น มีความสำคัญมากไม่น้อยกว่าสวัสดิการในด้านอื่นๆ ด้วยการศึกษานั้นเป็นแก่นกลางของนโยบายทางสังคม[1] โดยการศึกษานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในแง่ของการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (ก่อนอุดมศึกษา) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการฝึกอาชีพในลักษณะอื่นๆ ก็เป็นสวัสดิการที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ เพราะการศึกษาและการฝึกอาชีพนั้น เป็นกลไกที่จะนำไปสู่การพัฒนา และเพิ่มมูลค่าชีวิตมนุษย์ให้เพิ่มขึ้นได้

การศึกษาของประเทศไทยในฐานะการบังคับให้ศึกษา

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากโดยรับรองสิทธิในการได้รับการศึกษาโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”[2] และเพื่อป้องกันมิให้พ่อแม่ หรือ ผู้ปกครองขัดขวางมิให้บุตรหรือเด็กในอุปการะไม่ได้รับการศึกษากฎหมายก็จะได้รับโทษตามกฎหมายปรับไม่เกิน 10,000 บาท[3] ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความสำคัญของการศึกษาที่รัฐไทยมีให้กับเด็กและเยาวชน

จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองเรื่องนั้น สะท้อนความใส่ใจของรัฐไทยที่มีต่อนโยบายการศึกษาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจนำไปสู่ข้อถกเถียงต่อไปได้ว่าลำพังแล้วเพียงแค่กฎหมายอาจจะไม่เพียงพอ แต่การเข้าถึงการศึกษาตามความเป็นจริงนั้นมีความสำคัญกว่านั้น

จากการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกี่ยวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยมีนักเรียนยากจนจำนวน 1.7 ล้านคน โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษ (รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนพิเศษในปีที่ผ่านมาประมาณ 1,337 บาท/คน/เดือน) 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียนที่ 2/2562 มากกว่า 2.4 แสนคน

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า นักเรียนยากจนด้อยโอกาสในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวน 2.1 ล้านคน คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 29.9 จากนักเรียนทั้งหมด เป็นเด็กนอกระบบ (ช่วงอายุ 6 – 14 ปี) จำนวน 4.3 แสนคน และคุณภาพของโรงเรียนในชนบทนั้นมีลักษณะการให้บริการการศึกษาล้าหลังไป 2 ปีการศึกษาเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมือง นอกจากนี้ ผลกระทบของโควิด-19[4]

 

 

 

จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. จะเห็นได้ว่าแม้รัฐไทยจะรับรองสิทธิการศึกษาของประชาชนเอาไว้โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะให้บริการอย่างมีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วนั้น ไม่สามารถที่จะทำได้ในความเป็นจริง มีบุคคลจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากการศึกษาของประเทศไทย เป็นการบังคับศึกษาที่นอกจากค่าเทอมแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่พ่อแม่และผู้ปกครองต้องจ่ายเพื่อให้บุตรหลานได้รับการศึกษา ซึ่งค่าใช้จ่ายประเภทนี้ได้แก่ ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าทำกิจกรรม ค่ากวดวิชาในช่วงมัธยม หรือแม้แต่ค่าหอพักในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเด็นนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประมาณค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดกลุ่มนี้เอาไว้ โดยจำแนกตามช่วงชั้นการศึกษาต่อเทอมไว้ดังนี้

 

ตารางแสดงค่าใช้จ่ายประมาณต่อช่วงชั้นการศึกษาต่อเทอม

อนุบาล ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 80,000 บาท/เทอม
ประถม ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 150,000 บาท/เทอม
มัธยม ค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 – 300,000 บาท/เทอม
มหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 – 500,000 บาท/เทอม

ที่มา: ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, จ่ายหนักแค่ไหน? เมื่อเทศกาลเปิดเทอมใกล้เข้ามา (ฉบับพ่อแม่มือใหม่).[5]

 

ภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คือ เมื่อใกล้ช่วงเปิดเรียนในภาคการศึกษาแต่ละเทอมนั้น จะเห็นได้ว่าพ่อ แม่ และผู้ปกครองจะมีการไปใช้บริการโรงรับจำนำ สถานธนานุบาล และ สถานธนานุเคราะห์เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดว่าในบางปี หน่วยงานของรัฐที่ดูแลสถานที่เหล่านี้ ต้องเพิ่มเงินงบประมาณเพื่อรับจำนำสิ่งของ เพื่อเอาไปใช้จ่ายในรายจ่ายเบ็ดเตล็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าชุดนักเรียน

สวัสดิการการศึกษา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในช่วงต้นว่า รัฐไทยได้รับรองสิทธิในการได้รับการศึกษาเอาไว้ แต่ในภาพของความเป็นจริง มีผู้เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก และงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการใส่งบประมาณเข้าไปให้กับสถานศึกษามากกว่าจะลงไปที่เด็กและเยาวชน

ในแง่หนึ่งก็เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา และใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบุคคล นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่รัฐไทยช่วยรับรองให้ภาระส่วนนี้ก็จะตกอยู่กับครัวเรือน

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนที่มีเด็กในวัยเรียนนั้น แม้ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาก็ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งหากครัวเรือนใดมีบุตรหลานจำนวนมาก ก้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

 

ภาพแสดงเปรียบเทียบรายได้รวม รายจ่ายรวม และรายจ่ายด้านการศึกษาครัวเรือน

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา.[6]

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในกลุ่มสวัสดิการที่สนับสนุนด้านการศึกษาพบว่า ในประเทศไทยมีเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่ได้รับสิทธิสวัสดิการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ. 2562 โดยมีประเภทและอัตราในการเบิกค่าบำรุงการศึกษาดังนี้

 

ตารางแสดงประเภทและอัตราในการเบิกค่าบำรุงการศึกษา

ที่มา: กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลางแจงการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรตามสิทธิข้าราชการ.[7]

 

สำหรับสถานการณ์สิทธิสวัสดิการของประเทศในเรื่องการศึกษานั้น แม้นโยบายของรัฐจะรับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง สิทธิดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องที่ทำให้มีผู้เข้าไม่ถึงสิทธิในการได้รับการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก

เงินสวัสดิการดังกล่าวก็ยังคงจำกัดอยู่แค่ค่าเล่าเรียนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เป็นภาระของครัวเรือนในปัจจุบัน ซึ่งคอยแต่จะซ้ำเติมภาระของครัวเรือนให้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นของ “รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา” ที่รัฐยังควรต่อแก้ไขให้ลงตัวอย่างมีคุณภาพ และเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของประชาชนในสังคมไทยเสียที

 

[1] อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ, รัฐสวัสดิการกับสังคมประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2562), น. 195

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, มาตรา 54.

[3] พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545, มาตรา 15.

[4] กสศ., “รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลัง โควิด-19,” สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.eef.or.th/infographic-10-10-20/.

[5] ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, “จ่ายหนักแค่ไหน? เมื่อเทศกาลเปิดเทอมใกล้เข้ามา (ฉบับพ่อแม่มือใหม่),” สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/จ่ายหนักแค่ไหน-เมื่อเปิดเทอม.

[6] สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, “ข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนที่มีเด็กในวัยเรียน,” สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564, จาก https://research.eef.or.th/nea/.

[7] กระทรวงการคลัง, “กรมบัญชีกลางแจงการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรตามสิทธิข้าราชการ,” สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564, จากhttp://www1.mof.go.th/home/eco/200619.pdf.