สถาบันปรีดี พนมยงค์
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทย สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ใดๆ และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว การยึดมั่นในหลักการปกครองโดยกฎหมาย การดำเนินการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤติต่าง
หากเป็นทางออกที่แท้จริงของประเทศ นำมาสู่ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เสียงของประชาชนจะดังขึ้นและผู้มีอำนาจต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ จะนำสู่ความเจริญก้าวหน้าพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ลดผูกขาดเพิ่มการแข่งขันและแบ่งปันความสมบูรณ์ พูนสุขและสันติธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสังคมไทย
“วิกฤติโควิดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ตลอดระยะเวลา 7 ปี ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความจริงของเครือข่ายฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยที่ได้ร่วมกันสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการรัฐประหาร สิ่งต่างๆ ได้ถูกเปิดเผยและได้มีการพิสูจน์ถึงวาทกรรมปราบโกง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้งขอเวลาอีกไม่นาน ไม่สืบทอดอำนาจ เอาคนดีคนเก่งมาบริหารประเทศล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง”
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า “แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่วันนี้ คือ ความถดถอยลงของระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิติรัฐรวมทั้งจริยธรรมของผู้ปกครอง โดยในทางการเมืองนั้น ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 43 ปี โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ
สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงบทเฉพาะกาลเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ในทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ก่อนการรัฐประหารสองปี คือ ปี พ.ศ. 2555 อัตราการเติบโตจีดีพีอยู่ที่ 6.5% และ ปี พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 2.9% หลังรัฐประหาร 6-7 ปี โดยในปี พ.ศ. 2563 ติดลบ -6.1% และในปีนี้น่าจะเติบโตได้ไม่ถึง 2% โดยอัตราการขยายตัวไตรมาสแรกยังคงติดลบที่ -2.6% และประเมินเบื้องต้นว่า ผลกระทบจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ได้สร้างความเสียหายและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนไม่ต่ำกว่าสองล้านล้านบาทเมื่อผนวกเข้ากับการไม่สามารถเจรจาทำข้อตกลงการค้าได้ ระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์อำนาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมาก”
หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหาร รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูงขณะนี้ประเทศไทยอาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้ ถึงแม้ระบอบ คสช. จะผลักดันให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง
ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในบางมิติ แต่ภาพรวมแล้วไม่ได้ทำให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงกว่าเดิมสาเหตุน่าจะมาจากการที่ต้นทางแห่งอำนาจของ คสช.นั้นไม่ได้มีที่มาจากประชาชนและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
ถึงแม้หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ดูเหมือนได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นเปลือกนอกส่วนเนื้อแท้ยังเป็นระบอบอำนาจนิยมอยู่เพราะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งจึงถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านระบบกลไก ระบบเลือกตั้งและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่สมดุลและบิดเบี้ยว โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล คสช.จึงก่อเกิดขึ้นจากเสียงของประชาชนบางส่วนบวกกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้น ระบอบ คสช.จึงไม่ต่างจากระบอบการปกครองของเผด็จการทหารเมียนมาร์มากนัก เพียงแต่ระบอบ คสช. ฉลาดในการใช้อำนาจมากกว่าระบอบของเผด็จการมิน อ่อง หลาย
ทั้งนี้ ระบอบ คสช. มีลักษณะคล้ายกับระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในยุคซูฮาร์โต ขณะที่เวลานี้อินโดนีเซียได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวกระโดดหลังสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โต ผู้นำกองทัพเป็นทหารอาชีพ พากองทัพกลับสู่กรมกองปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก และไม่มีรัฐประหารมามากกว่า 30 ปีแล้ว
การปฏิรูปการเมืองในยุคประธานาธิบดี นายพลซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน นายทหารประชาธิปไตยทำให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงมากยิ่งขึ้นเป็นผลบวกอย่างมากต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปัจจุบันและอนาคต สังคมไทยจึงควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จจากอินโดนีเซีย ระบอบ คสช.กึ่งประชาธิปไตยในปัจจุบันมีความโปร่งใสและประสิทธิภาพต่ำกว่า ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบยุครัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549
นอกจากนี้มีการออกแบบรัฐธรรมนูญ ปิดประตูไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามชนะการเลือกตั้ง มีการใช้ศาลและองค์กรอิสระในการปฏิบัติการต่อคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมของระบอบ คสช. เหมือนกับเผด็จการทหารพม่าดำเนินการต่อนางอองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่ความพังทะลายต่อความน่าเชื่อถือของระบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ
เมื่อสถาบันหลักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและฝ่ายที่เห็นต่างทำให้ประเทศเสี่ยงต่อสภาวะอนาธิปไตยและรัฐล้มเหลวในอนาคตได้ และถึงแม้เป็นสังคมแห่งการประนีประนอม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รักความเป็นธรรม การได้เห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปใหญ่ในระบบยุติธรรมได้ในอนาคต และระบอบ คสช. ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ สามารถสร้างความสงบได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่เข้ามาแทนที่ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับ เสื้อแดง เป็นความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองที่ใหญ่กว่าเดิมซับซ้อนกว่าเดิมและหยั่งรากลึกยิ่งกว่าเดิม
หากไม่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบธรรมต้องหมดอำนาจลงจากผลการเลือกตั้ง ระบบและสถาบันประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้นเช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศเมียนมาร์หรือพม่าหากผู้มีอำนาจตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็มีการรวบอำนาจการบริหารไว้ที่คนๆ เดียวโดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อระบอบกึ่งประชาธิปไตยให้เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบอำนาจนิยมอีกครั้งหนึ่ง
การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตของประเทศไทย ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อทางออกจากวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติชาติและการแพร่ระบาดของโควิด และการพิจารณาถึงบทเรียนจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. ดังนี้
1. ขอให้ทุกฝ่ายเคารพเจตจำนงและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่เรียกร้องให้สถาปนาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม รวมทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆด้วยกลไกรัฐสภาและเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักนิติรัฐ การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองหรือการเมืองควรต้องยึดแนวทางประชาธิปไตยและเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
2. ขอให้ทุกฝ่ายพึงระลึกว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมั่งคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมายที่สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย พร้อมด้วยศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
3. ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19
4. ความกล้าหาญและเสียสละของประชาชน ความมีเอกภาพและสามัคคีของประชาชนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้การเสียสละของผู้นำและกลุ่มผู้นำสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้
5. ผู้มีอำนาจรัฐทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ควรคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลาที่เหมาะสมหลังจากปัญหาการแพร่ระบาด Covid-19 คลี่คลายลงด้วยการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจโปร่งใส ยุติธรรมและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
6.ต้องลดเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อที่นำไปสู่ความขัดแย้งอันต้นทางของสงครามกลางเมือง และ ยึดในแนวทางสันติ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ หรือ มีผู้สูญเสียชีวิต เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากลุกลามไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นติดตามมา
7. รัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) การฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ วิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในรอบ 14 ปี จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก การรัฐประหารครั้งนี้จะนำไปสู่เส้นทางหายนะของประเทศ และจะสร้างความแตกแยกมากยิ่งกว่ารัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้
ผู้นำทหาร ผู้นำตุลาการ ผู้นำภาคธุรกิจ ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบสืบทอดอำนาจ หากผู้นำกองทัพ ผู้นำศาล ผู้นำภาคธุรกิจ ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีทางมั่นคงได้ และ ประเทศไทย คนไทย จะมีชะตากรรม ไม่ต่างจากประเทศเมียนมาร์ และ คนพม่า ในเวลานี้ ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ป้องปราม ไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ภาวะดังกล่าว
8. ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทำให้กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกันความปลอดภัยในชีวิตและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ยารักษาโรคและวัคซีน ความยุติธรรม ประโยชน์ส่วนรวมและศีลธรรมจักบังเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริงโดยปราศจากความกลัวจากการคุกคามโดยอำนาจรัฐและการกลั่นแกล้งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
“ความสามัคคีและความมีเอกภาพภายใต้รัฐบาลที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาจะก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพสิ่งนี้จะเป็นรากฐานในการทำให้สังคมไทยฝ่าวิกฤติโควิด และวิกฤติแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้”
หมายเหตุ:
- บทความนี้ได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่ได้