ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์: ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ตอนที่สอง

29
พฤษภาคม
2564
ภาพ: (จากซ้าย) นายชม จารุรัตน์, นายแดง (วิเลียม) คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก หรือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยานายควง อภัยวงศ์, นายควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายประยูร ภมรมนตรี และ นายแนบ พหลโยธิน ภาพถ่ายเมื่อวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ที่ Place du Trocadéro ถ่ายครึ่งปีก่อนการประชุมของ 7 ผู้ริเริ่มคณะราษฎรที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: (จากซ้าย) นายชม จารุรัตน์, นายแดง (วิเลียม) คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก หรือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยานายควง อภัยวงศ์, นายควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายประยูร ภมรมนตรี และ นายแนบ พหลโยธิน ภาพถ่ายเมื่อวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ที่ Place du Trocadéro ถ่ายครึ่งปีก่อนการประชุมของ 7 ผู้ริเริ่มคณะราษฎรที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

กลุ่มนักเรียนสมาชิกแห่งสมาคมนักเรียนไทยในยุโรปนี้ ต่อมาได้เป็นเพื่อนร่วมก่อการอภิวัฒน์ในเวลาต่อมา ในบรรดาสมาชิกคณะราษฎร ท่านปรีดี พนมยงค์ กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำที่โดดเด่นและมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของการเมืองไทยในเวลาต่อมา

ทั้งสองท่านนี้ถือได้ว่าเป็น เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์และร่วมริเริ่มก่อการมาด้วยกันตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่กรุงปารีส ความสัมพันธ์ของแกนนำคณะราษฎรนี้ก็แปรผันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ของ “ท่านปรีดี” และ “จอมพล ป.” ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา

เวลานั้น จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ท่านปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีคลัง มีความขัดแย้งกันเรื่องนโยบายต่อญี่ปุ่นอย่างชัดเจน มีการโต้เถียงในเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านปรีดีมีความชัดเจนว่าต่อต้านการเข้าร่วมทำสงครามกับฝ่ายอักษะ อีกท่านหนึ่ง คือ ท่านวิลาศ โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยท่านวิลาศ มีภริยาเป็นบุตรสาวของ เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง ประธานสาขาก๊กมินตั๋งในไทย       

จากการค้นคว้าในงานเขียน เรื่อง “อำนาจ: ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย” โดย คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ[1] ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของ จอมพล ป. และ ท่านปรีดี คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ ได้อ้างถึงข้อความของ “ปรีดี พนมยงค์” ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ว่า ตัวท่านปรีดีได้สั่งซื้อหนังสือ “Technique Du Coup D’dtat”[2] หรือ “เทคนิครัฐประหาร” ที่เขียนโดย Curzio Malaparte จากฝรั่งเศส เมื่อหนังสือมาถึงเพื่อความปลอดภัยได้ฉีกปกเผาไฟ “ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็มอบให้ ร.ท. แปลก ซึ่งมียศและบรรดาศักดิ์เป็นพันตรี หลวงพิบูลสงคราม”

คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ ได้ขยายความข้อเท็จจริงตรงนี้อีกว่า มีผู้เข้าใจผิดว่า จอมพล ป. ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือในการก่อการ ๒๔๗๕ จากการค้นคว้าของคุณรุ่งมณีได้อ้างอิงว่า ปรีดียืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะแผนการต่างๆ เราค้นคว้ากันที่ปารีสก่อนมีหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น

 

ภาพ: (จากซ้าย) พันเอก พระยาทรงสุรเดช  พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ  (วัน ชูถิ่น)  พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  พันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ) ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์
ภาพ: (จากซ้าย) พันเอก พระยาทรงสุรเดช  พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ  (วัน ชูถิ่น)  พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  พันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ) ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์

 

อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญของการวางแผนและเคลื่อนไหวในการก่อการยึดอำนาจจากระบอบเก่านั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “สี่ทหารเสือประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นนายทหารผู้บังคับบัญชาระดับกลาง อันประกอบไปด้วย ‘พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ‘พันเอก พระยาทรงสุรเดช’ ‘พันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์’ (สละ เอมะศิริ) และ ‘พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ’ (วัน ชูถิ่น)

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นมันสมองในการก่อการยึดอำนาจ ต่อมา พระยาทรงสุรเดช ได้ขัดแย้งกับจอมพล ป. จนต้องหลีกภัยทางการเมืองและถึงแก่อนิจกรรมในกัมพูชา

การเคลื่อนไหวของกลุ่มของนักเรียนไทยในยุโรปเรื่องความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลในครั้งนั้น ได้สร้างความไม่พอใจต่อผู้แทนของรัฐบาลสยามในฝรั่งเศส และ เป้าหมายใหญ่ในการจัดการ คือ นักเรียนปริญญาเอก ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”

พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตฝรั่งเศสได้โทรเลขด่วนถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ส่งตัวท่านปรีดีกลับประเทศโดยด่วน ตามเหตุผลที่ท่านอัครราชทูตกล่าวหาว่าทำการประดุจเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน โดยยุยงนักเรียนเรียกร้องเงินกระเป๋า หรือ เงินเดือนเพิ่มขึ้นปฏิบัติการโดยขัดคำสั่งอัครราชทูต ฯลฯ

สมาคมนักเรียนไทยได้โต้แย้งการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการถวายฏีกากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยโต้แย้งคำกล่าวหาของท่านอัครราชทูต แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถูกต้องแล้วว่า “ปรีดี” ต้องรับผิดชอบในการที่จะปรับเปลี่ยนสมาคมของนักเรียนนอกแห่งนี้ให้กลายเป็นสภาพแรงงาน มีการตั้งสอบสวนกรณีดังกล่าวและได้ผลว่า “ปรีดี” ในฐานะหัวหน้ากลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องต้องรับผิดชอบ โทษที่ได้รับ คือ ให้กระทรวงต่างประเทศเรียกตัวกลับประเทศสยาม[3] ปรีดี พนมยงค์ เรียนปริญญาเอกทางกฎหมายและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐกิจ และ กำลังจะจบการศึกษาอยู่แล้ว

นายเสียง พนมยงค์ ผู้เป็นบิดาเกรงว่า ลูกชายจะเรียนไม่จบ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอความกรุณาเลื่อนเวลาที่จะเรียกตัวท่านปรีดีกลับ รอจนกว่าจะสอบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายเสียก่อน แต่ต้องให้ทำทัณฑ์บนว่าจะอยู่ในถ้อยคำต่อไป (สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมในหนังสือชีวประวัติย่อของนายปรีดี  พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ที่ปารีส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ - อรุณ เวชสุวรรณ ๒๕๕๐)

หลังจากหัวหน้านักศึกษาแห่งสามัคยานุเคราะห์สมาคม มีความขัดแย้งกับท่านทูตไทยในฝรั่งเศส ไม่นานนัก แกนนำของนักศึกษาหลายท่านก็เริ่มปรึกษาหารือกันมากขึ้นถึงปัญหาของบ้านเมือง และ การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของระบอบเก่า

แต่การพูดคุยเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองน่าจะได้มีการริเริ่มมาก่อนหน้านี้  จากบันทึกของปรีดี ระบุว่า ผู้ริเริ่มพูดคุยกัน ๒ คนแรก คือ ปรีดี กับ ร้อยโทประยูร (ยศในขณะนั้น)

หากย้อนกลับไปสำรวจบรรยากาศของ “ปารีส” ในช่วงเกือบ ๙๐ ปีที่แล้ว เป็นบรรยากาศของเมืองที่เต็มไปด้วยเยาวชนคนหนุ่มสาวผู้มีจิตวิญญาณแห่งการอภิวัฒน์ คนหนุ่มสาวเหล่านี้มาจากทั่วโลก เวลานั้น “ฝรั่งเศส” และ “ปารีส” ยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญของโลก

คนอย่าง ‘เติ้งเสี่ยวผิง’ ‘โจวเอินไหล’ ก็ได้มาฝรั่งเศสเพื่อกึ่งเรียนกึ่งทำงาน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เรือแพ็คเก็ตสัญชาติฝรั่งเศส André Lyon แล่นเข้าไป มาร์กเซย โดยมีนักเรียนชาวจีน ๒๑๐ คนบนเรือ รวมทั้งเติ้งวัยสิบหกปี นักเรียนมัธยมต้น เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสทำงานมากกว่าเรียน

งานแรกของเขา คือ ช่างฟิตที่โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า Le Creusot ใน La Garenne-Colombes ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของปารีสซึ่งเขาย้ายมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔

โจวเอินไหล และ หลี่เหวินไห่ เดินทางมาปารีสก่อนหน้าเติ้งเสี่ยวผิง นักปฏิวัติเหล่านี้พบกันที่ปารีส และ “เติ้งเสี่ยวผิง” ก็ได้รับคำแนะนำจาก “โจวเอินไหล” และ “หลี่เหวินไห่” ให้ “เติ้ง” ศึกษาลัทธิมาร์กซ์และเข้าร่วมงานเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่นักศึกษาจีนและคนงานชาวจีน

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔  เติ้งเสี่ยวผิงเข้าร่วมสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนในยุโรป ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เขาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกชั้นนำของ General Branch of the Youth League ในยุโรป

ในปีพ. ศ. 2469 เติ้งเดินทางไปยัง สหภาพโซเวียต และศึกษาที่ มหาวิทยาลัยมอสโกซุนยัดเซ็นซึ่งเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งของเขาอยู่ เจียงจิงกัวลูกชายของ เจียงไคเช็ค

ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่า กลุ่มนักเรียนนอกคณะราษฎร และ กลุ่มนักศึกษาผู้นำจีนในอนาคตได้พบปะหารือกันหรือไม่ นอกจากนี้ ปารีสยังเป็นสถานที่ปฏิบัติเคลื่อนไหวของ “โฮจิมินห์” หัวหน้าขบวนการกอบกู้เอกราชเวียดนาม        

“คณะราษฎร” ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ผู้ก่อตั้งเป็นนักเรียนและข้าราชการในสายทหารและพลเรือน กำลังศึกษาอยู่ทั้งในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และ สวิตเซอร์แลนด์ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายที่เข้มแข็งของ “นักเรียนนอก” เหล่านี้

 

ภาพ: หอพัก Rue Du Sommerard
ภาพ: หอพัก Rue De Sommerard

 

การประชุมครั้งแรกของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๖ (ตรงกับปฏิทินไทยขณะนั้น คือ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๗๐) ประชุมทางการครั้งแรกที่หอพัก Rue De Sommerard ซึ่งกลุ่มนักเรียนผู้ก่อการได้เช่าห้องใหญ่ไว้สำหรับการประชุมโดยเฉพาะ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๗ คน คือ  

๑. ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ รัชกาลที่ ๖

๒. ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส

๓. ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าฝรั่งเศส

๔. นายตั้ว พลานุกรม เดิมศึกษาในเยอรมนีสมัยพระเจ้าไคเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ต่อมาเมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน นายตั้วฯ ถูกรัฐบาลเยอรมันจับไปเป็นเชลยศึก ต่อมาเยอรมันทำสัญญาหยุดยิง (Armistice) กับสัมพันธมิตร นายตั้วฯ ได้รับการปลดปล่อยตัว แล้วเดินทางมาฝรั่งเศส สมัครเป็นทหารอาสาไทย ได้รับยศเป็นจ่านายสิบ เสร็จสงครามแล้วไปศึกษาปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์

๕.  หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) (อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส

๖. นายแนบ  พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานอาพระยาพหลพลพยุหเสนาพจน์

๗. นายปรีดี  พนมยงค์  นักศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ข้าราชการและนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรม

ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ท่านปรีดีเป็นประธาน และเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นในกาลต่อไป การประชุมเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ได้ดำเนินการเป็นเวลา ๕ วัน วัตถุประสงค์ของคณะราษฎรคือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศสอังกฤษ REVOLUTION

ดังนั้นทางคณะก่อการจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และมุ่งหมายให้สยามบรรลุเป้าหมายหลัก ๖ ประการ ได้แก่

๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

 

หมายเหตุ: แก้ไขและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ

อ่าน: ปรีดี พนมยงค์: ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ตอนที่หนึ่ง

 

[1] นักเขียนและสื่อมวลชนคุณภาพ ผู้มีประสบการณ์ในสายสื่อมวลชนอย่างหลากหลายทั้งในไทยและบีบีซี ปัจจุบันทำหน้าที่เป็น กรรมการนโยบาย ของ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส

[2] ตีพิมพ์ออกจำหน่ายเผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ตามการค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ของ รุ่งมณี เมฆโสภณ

[3] อรุณ เวชสุวรรณ. รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์: บุคคลสำคัญของไทยและของโลก: สำนักงานอรุณวิทยา ๒๕๕๐.