ในเดือนแห่งการครบรอบ 89 ปี การเปลี่ยนการปกครอง 2475 มีหลากหลายเรื่องราวที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงชุดคำอธิบายต่อกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือ “การอภิวัฒน์” ตามที่ปรีดี พนมยงค์ใช้เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้น
ความหมายทางการเมืองของการอภิวัฒน์ ล้วนสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองของแต่ละยุคสมัยไม่มากก็น้อย กล่าวได้ว่าฐานะทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง 2475 ในเชิงบวกเกิดขึ้นเพียง 15 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่เมื่อถึงการรัฐประหาร 2490 ก็นับเป็นจุดหักเหที่ทำให้เกิดการลบล้างความทรงจำต่อการอภิวัฒน์ ยิ่งภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ครองอำนาจยาวนานนับทศวรรษก็แทบจะฝังกลบความทรงจำและปณิธานของผู้ก่อการครั้งนั้น
ในช่วงทษวรรษ 2490-2510 ได้เกิดคำอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการแย่งอำนาจการปกครอง หรือ การรัฐประหารธรรมดา ไม่ใช่จุดกำเนิดการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ
บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอคำโต้แย้งแรกๆ ต่อคำอธิบายข้างต้น ที่เกิดขึ้นหลังจากระบอบเผด็จการทหารล่มสลาย การผลิดอกออกผลของปัญญาญาณและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ค่อยๆ เบ่งบานขึ้นมา
“ชิงสุกก่อนห่าม”
จากการค้นคว้าประวัติศาสตร์ ด้วยแนวทางการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เสนอว่า ระหว่างปี 2501-2516 สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำทหาร 2 ท่านคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2501-2506) และ จอมพลถนอมกิตติขจร (2506-2516) แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล แต่รัฐบาลของจอมพลทั้งสองมีความต่อเนื่องกันทางหลักนโยบายและอุดมการณ์
การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ จึงมิใช่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาลดังการรัฐประหารยึดอำนาจในการเมืองไทยก่อนหน้านั้น แต่มีผลในการทำลายสถาบันทางการเมืองหลักที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก 24 มิถุนาฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญรัฐสภา การรวมกลุ่มทางการเมืองของประชาชน ฯลฯ เปลี่ยนระบอบการเมืองไทยกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism) อีกครั้ง ทว่า ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิ์โดยองค์พระมหากษัตริย์ หากคราวนี้เป็นอำนาจอาญาสิทธิ์ของผู้นำกองทัพที่เข้มแข็งเด็ดขาดที่ทำลายหลักนิติธรรม (rule of law)
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ที่ก่อตัวขึ้นมาในทศวรรษที่ 2510 รับเอาความหมายเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาด้วย เนื่องจากนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 มีงานเขียน อธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในเชิงลบเป็นจำนวนมาก
ซ้ำเติมด้วยการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2500 ทำให้มีการสร้างความทรงจำต่อเหตุการณ์ 2475 ไว้ว่าเป็นการแย่งอำนาจการปกครองหรือการรัฐประหารธรรมดาๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นกำเนิดของระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งนำความก้าวหน้ามาให้กับชาติแบบงานในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แสดงผ่านวลีที่สั้นๆ เช่น เป็นการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ หรือไม่ก็เป็นเรื่องของ ‘พวกที่ใจร้อน ทนรอไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนฝรั่งเศส’
ทางออกของการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา-ประชาชนคือการยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ) ให้เป็นผู้นำต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทนประชาชน ควบคู่ไปกับความใกล้ชิดระหว่างนักศึกษาและในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีโครงเรื่องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม เพื่อสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างสถาบันกษัตริย์และเผด็จการทหาร
กรณีนี้รวมถึงการรับรู้ต่อบทบาทของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ที่ลางเลือน แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่สำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างนักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม ก็ขาดการรับรู้ต่อบทบาท ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งงานชิ้นนี้เสนอว่า มีสาเหตุมาจากระบอบเผด็จการทหารได้ทำลายความทรงจำของคณะราษฎรลงไปยาวนานหลายปี
การเริ่มชำระประวัติศาสตร์
จนกระทั่งในปี 2525 ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขียนบทความเรื่อง “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475”
เสกสรรค์พิจารณาสถานะทางประวัติศาสตร์ของ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสามปัจจัย ได้แก่
หนึ่ง – แบบแผนรัฐธรรมนูญที่พระองค์ศึกษา
สอง – เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รับสั่งให้ร่าง
สาม – ประเด็นขัดแย้งกับคณะราษฎรอันนำไปสู่การสละราชสมบัติ เพื่ออธิบายว่า ‘2475’ ไม่ใช่ชิงสุกก่อนห่าม หากแต่หมายถึง ‘ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เสกสรรค์พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ เรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) กับ พระยาศรีวิสารวาจา เขียนขึ้น มีเนื้อหามุ่งไปสู่การเอื้ออำนวยให้เกิดความชอบธรรมแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แก้ไขใหม่ ดังตัวอย่าง สิทธิ์ของกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
“นายกรัฐมนตรีจักต้องได้รับการเลือกสรร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารรัฐบาล อำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกสรร (นายกรัฐมนตรี) จักต้องไม่ถูกจำกัดโดยสิ่งใดทั้งสิ้น”
ถึงกระนั้นพระประสงค์นี้ก็เป็นสิ่งที่ถือว่า ‘มากเกินไป’ ในสายตาของ เรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พึงประสงค์การปฏิรูประบอบตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไม่สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ได้ในวันที่ 6 เมษายน 2475 หรือครบรอบ 150 ปีของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชประสงค์ตั้งต้น
อีกสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงคือ บริบทของสังคมไทยในปี 2475 ประสบปัญหาในระดับรากฐาน กล่าวคือ มีการลดลงของเงินคงคลังในรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวฯ และภาวะข้าวยากหมากแพงแพร่กระจาย ซึ่งระบอบการเมืองแบบเดิมไม่สามารถปรับตัวรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่บริบทโลกเอง ก็เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่การปฏิวัติไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จะเห็นได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้การันตีว่าจะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถร่วมใช้อำนาจอธิปไตย แต่อย่างใด จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะราษฎรนำเสนอรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าและขยายอำนาจไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งกว่า (โปรดดูล้อมกรอบท้ายบทความ)
ในตอนหน้าเราจะมาพิจารณาเงื่อนไขที่คณะผู้ก่อการใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์สถานการณ์และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือ ‘Outline of Preliminary Draft’ 12 มาตรา
(ฉบับแปลโดยวิษณุ เครืองาม)
มาตรา 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้ แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง
มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี 5 นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 9 ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่ง เป็นทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท
มาตรา 10 ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราวๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ
มาตรา 11 อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 12 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดย พระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา
เอกสารอ้างอิง
- ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วย ความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
- วิษณุ เครืองาม.2523. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้า 132-4. กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. 2525. ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475. ใน วารสารธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, หน้า 62-67
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2540. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง
- อิทธิพล โคตะมี
- ปรีดี พนมยงค์
- การเปลี่ยนการปกครอง 2475
- การอภิวัฒน์
- การรัฐประหาร 2490
- การรัฐประหาร
- ประจักษ์ ก้องกีรติ
- จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- จอมพลถนอมกิตติขจร
- การรัฐประหาร 2500
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
- วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- เรมอนด์ บี. สตีเวนส์
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี
- Outline of Preliminary Draft
- ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง