-1-
สมัยที่ข้าพเจ้ายังใช้บรรดาศักดิ์ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลซึ่ง ‘นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา’ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นแล้ว[1] ได้เขียนและพูดทางวิทยุกระจายเสียงแสดงนโยบายสันติภาพของรัฐบาลไว้หลายครั้ง ซึ่งได้รวบรวมเป็นเอกสารทางการเล่มหนึ่งชื่อ “LE SIAM PACIFISTE” (สยามสันติภาพ) แสดงชัดแจ้งถึงนโยบายการคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติกับหกประเทศที่มีระบบสังคม ต่างกับสยามโดยข้าพเจ้าให้คำขวัญว่า “สยามต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับชาติอื่นใด”
ทั้งนี้ย่อมเห็นได้ว่าคณะราษฎร มิได้ปฏิเสธวิธีดำเนินวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศส่วนที่ดีของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ 6) พระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ที่ได้ทรงรักษาเอกราชของชาติให้คงไว้
ข้าพเจ้าได้อ้างหลักธรรมของพระพุทธองค์ที่รัฐบาลยึดถือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ อีกทั้งได้เคยแสดงปาฐกถาที่พุทธธรรมสมาคมว่าด้วยพุทธศาสนากับการต่างประเทศ หลักธรรมของพระพุทธองค์ก็ตรงกับที่ศาสนาคริสต์ที่เกิดขึ้นภายหลังได้มีคติอยู่ว่า “อย่าทำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้ผู้อื่นทำแก่ตน”
ดั่งนั้น เมื่อเราไม่ประสงค์ให้ชาติอื่นรุกรานประเทศไทย เราก็ไม่รุกรานชาติอื่น เราไม่ประสงค์ให้ชาติอื่นแทรกแซงในกิจการภายในระหว่างชาวสยามด้วยกันเอง เราก็ไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่น มิฉะนั้นแล้ว ชาติอื่นก็จะแทรกแซงกิจการภายในของเรา ซึ่งจะเป็นทางทำให้ชาติของเราเสียความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน เพราะสมัยนั้น อังกฤษกับฝรั่งเศสมีข้อตกลงระหว่างกันว่า อาจพร้อมกันเข้ามาแทรกแซงในสยามได้วิเทโศบายดังกล่าวนั้น สำเร็จได้ด้วยการรักษาดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศไว้โดยไม่ลำเอียงหนักไปทางชาติหนึ่งชาติใด
-2-
การรักษาดุลแห่งอำนาจนั้น มิได้หมายความว่า เราจะยอมจำนนต่อการรุกรานหรือละเมิดอธิปไตยของชาติ เราจำเป็นต้องต่อสู้การนั้น เพราะการต่อสู้เช่นนี้ของเราเป็น “ธรรมสงคราม”
พระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานคติไว้ในบทประพันธ์ของพระองค์เรื่อง “ธรรมาธรรมสงคราม” อีกทั้งพระองค์ได้ทรงนิพนธ์ “ธรรมะระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง” ซึ่งข้าพเจ้าและนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมรุ่น พ.ศ. 2462 นับถือว่าพระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากปีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนกฎหมายฯ เพิ่มหลักสูตรการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองที่ได้ระงับไปแล้วหลายปี ในตารางสอนได้บอกชื่ออาจารย์ผู้บรรยายไว้สำหรับวิชาอื่นๆ สำหรับวิชากฎหมายระหว่างประเทศฯ ไม่บอกว่าท่านผู้ใดเป็นผู้บรรยาย
ข้าพเจ้าทราบจากผู้ใหญ่ในกระทรวงฯว่า ในหลวงจะเสด็จมาทรงบรรยายด้วยพระองค์เอง นักเรียนกฎหมายชื่นชมยินดีที่จะได้ฟังพระบรมราโชวาท แต่เรารอคอยมาหลายสัปดาห์แล้วก็ยังมิได้เสด็จพระราชดำเนินมา ท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ แนะว่าให้เราศึกษาพระราชนิพนธ์ดังกล่าวไว้ ครั้นถึงเวลาสอบไล่กรรมการได้ออกข้อสอบจากพระราชนิพนธ์นั้น
การที่พระมงกุฎเกล้าฯ นำสยามประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรียฮังการีเมื่อ พ.ศ.2460 นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยธรรมะนับได้ว่าเป็น “ธรรมสงคราม” เพราะเยอรมันกับออสเตรียฮังการีเป็นฝ่ายรุกราน ทำการประหัตประหารมนุษย์อย่างโหดร้ายทารุณ เช่น เริ่มใช้อาวุธก๊าซพิษ ใช้ปืนใหญ่ ทำลายบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ ทำให้พลเมืองสามัญหญิงชาย คนแก่คนเฒ่า ตลอดจนเด็กที่ไร้เดียงสาต้องล้มตายพลัดที่นาคาที่อยู่เป็นจำนวนมาก ได้ใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือบรรทุกคนโดยสารที่ไม่ใช่ทหารต้องล้มตายสูญหายหลายครั้ง ฯลฯ
การทำสงครามของพระองค์ครั้งกระนั้นได้ทรงปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศและโบราณราชประเพณีครบถ้วน มิใช่ “โมฆสงคราม” คือ พระองค์ได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายเยอรมันละเว้นการโหดร้ายทารุณดังกล่าว เมื่อฝ่ายเยอรมันไม่ยอมทำตามคำขาดของพระองค์ พระองค์จึงทรงประกาศสงคราม มิใช่ทำสงครามโดยไม่ประกาศสงคราม
ในวันประกาศสงครามนั้น ได้ทรงฉลองพระองค์อย่างขัตติยมหาราชในโบราณกาลที่ได้ทรงนำประชากรด้วยพระองค์เองเข้าต่อสู้อริราชศัตรู ทรงกระทำพิธีปฐมกรรม “ตัดไม้ข่มนาม” ไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 และ จักรพรรดิฟรานซิสโจเซฟ เป็นการบำรุงขวัญของประชาชน ซึ่งข้าราชบริพารที่ได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีในวันนั้นต่างแช่ซร้องสาธุการด้วยความปิติโสมนัสยิ่งนัก
- 3 -
การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศสมัยพระยาพหลฯ ได้รับผลประจักษ์เป็นรูปธรรม โดยอาศัยวางพื้นฐานประชาธิปไตยภายในประเทศให้เป็นกำลังหลักของปวงชนชาวสยาม และการจัดทำประมวลกฎหมายครบถ้วนเป็นหลักประกันให้แก่ชาวสยามและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อีกทั้งเราประคับประคองบรรยากาศสันติภาพไว้ให้ดี เราจึงเป็นฝ่ายกุมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับสยาม
ดังนั้นเราจึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศแล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค, ถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติต่อกัน, ความเป็นธรรม, เอื้อประโยชน์แก่กันและกัน นานาประเทศจึงเห็นใจเราและยินยอมทำสนธิสัญญาอันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ
ศาลต่างประเทศ และศาลกงสุลได้ยกเลิกไป ศาลสยามมีอำนาจเต็มที่ในการชำระคดีของคนต่างประเทศด้วย สยามสามารถเก็บอัตราศุลกากรได้โดยไม่ถูกจำกัดเหมือนแต่ก่อน สยามสามารถทำการผูกขาดวิสาหกิจ และการผลิตทุกชนิดรวมทั้งการทำบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งเดิมอยู่ในอำนาจผูกขาดของบริษัทอังกฤษอเมริกัน สยามมีสิทธิอธิปไตยสมบูรณ์เหนือเขตภายใน 25 กิโลเมตรจากฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งก่อนนี้ถูกจำกัดมิให้สยามเก็บศุลกากรในเขตนั้นได้
ฝ่ายเราได้เจรจาปรับปรุงเขตแดนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับผลสำเร็จในการที่ฝ่ายอังกฤษได้โอนดินแดนส่วนหนึ่งที่ปากน้ำจั่น (ระหว่างชุมพรกับวิคโทเรียพอยท์) และดินแดนฝั่งแม่น้ำสายที่งอกเงยมาทางฝั่งไทย นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้เดินทางไปสำรวจลำน้ำโขงเพื่อเปิดการเจรจาปรับปรุงให้บริเวณที่มี 2 ร่องน้ำนั้น โดยถือเอาร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน แทนที่จะถืออย่างแต่ก่อนว่า ถ้าตอนใดมี 2 ร่องน้ำ ก็ให้ถือร่องน้ำที่ติดกับฝั่งสยามเป็นเส้นเขตแดน
ข้าพเจ้าได้เตรียมเจรจาเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร เพราะตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือเอาสันปันน้ำเป็นเส้นปันเขตแดน แต่ตามสัญญากับฝรั่งเศสแต่ก่อนนั้น สยามจำต้องยอมตกลงยกเว้นหลักดังกล่าวไว้ คือ ให้ถือตามแผนที่ต่อท้ายสัญญา ซึ่งแสดงว่าเขาพระวิหารตกเป็นของฝรั่งเศส
ในการนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรใช้วิธีเจรจาจะได้ผลดีกว่านำเรื่องสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะเหตุแผนที่ต่อท้ายสัญญาซึ่งฝ่ายผู้เจรจาสมัยก่อนและนายทหารที่ได้ทำการปักปันเส้นเขตแดน ได้ลงนามไว้มีสัตยาบันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังมิทันลงมือเปิดการเจรจาก็ได้ออกจากกระทรวงการต่างประเทศไปพร้อมด้วยรัฐบาลพระยาพหลฯ
ในการเจรจากับนานาประเทศดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลือจาก ‘หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ’ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนพระอิสริยยศจนถึงทรงกรมเป็น ‘กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์’ ท่านผู้นี้ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ในการเจรจานั้น นอกจากเราอาศัยหลักความเป็นธรรมระหว่างประเทศแล้ว หลายครั้งเราได้อ้างเหตุที่รัฐธรรมนูญของเรามีข้อกำหนดว่า สำหรับสัญญาบางชนิดที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
ฉะนั้น เมื่อข้อใดที่ฝ่ายต่างประเทศเสนอมาแต่เรายอมรับไม่ได้ เราก็ให้เหตุผลว่า เราไม่สามารถรับได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ยอมให้สัตยาบัน ซึ่งเป็นผลให้บางประเทศเห็นใจเราหลายเรื่อง แต่มีเรื่องขำอยู่คือ ครั้งหนึ่ง ม.โปแลง อุปทูตเบลเยี่ยมถูกเราอ้างเหตุนั้น ได้ย้อนเป็นเชิงสัพยอก ม.จ.วรรณฯ เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ใต้ฝ่าพระบาทก็ทรงมีศิลปะในภาษาศาสตร์ คงสามารถใช้ศิลปะนั้น อธิบายให้ผู้แทนราษฎรเข้าใจได้ถึงข้อเสนอของเบลเยี่ยม” ทำให้บรรยากาศการเจรจาของเราครึกครื้นขึ้น ซึ่งเราก็เจรจากันได้สำเร็จโดยมิได้มีฝ่ายใดเอาเปรียบกัน
ส่วน ‘ม.ดอลแบร์’ ชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้ามิได้ให้เขาร่วมเจรจาด้วย เพราะไม่สมควรที่จะเอาที่ปรึกษาชาวอเมริกันมาเป็นปากเสียงแทนสยามในการเจรจากับชาติอื่น แม้การเจรจากับทูตอเมริกัน ข้าพเจ้าก็มิได้ให้ ม.ดอลแบร์ร่วมด้วย เราใช้ ม.ดอลแบร์ ในการติดต่อกับบางประเทศในเรื่องอื่นบางเรื่องเท่านั้น
การเจรจาสนธิสัญญาใหม่ฝ่ายสยามนั้น เป็นไปโดยคนไทยเองซึ่งนอกจากข้าพเจ้าและ ม.จ.วรรณฯ แล้ว ข้าพเจ้าได้ความช่วยเหลือจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทุกคนและนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอื่นๆ ที่รักสันติภาพได้มีส่วนช่วยเหลือทางตรงและทางปริยาย การเจรจานั้นมิใช่นั่งเจรจาอยู่ที่โต๊ะประชุม คือต้องใช้วิธีการผูกมิตรกับนานาประเทศให้เขาเชื่อถือและไว้ใจได้ว่า ฝ่ายเราเป็นมิตรซึ่งรักษาสัจจะวาจา
ในเรื่องผู้ช่วยการเจรจานี้ยังมีเรื่องขำๆ อยู่อีก คือ อดีตเสมียนกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งไปสมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่จังหวัดหนึ่งทางปักษ์ใต้ มีราษฎรคนหนึ่งมาถามข้าพเจ้าว่า จริงหรือที่อดีตเสมียนคนนั้นไปอ้างว่าเขาเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้าในการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ข้าพเจ้าตอบว่าจริง เพราะอดีตเสมียนคนนั้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มมาบริการระหว่างเจรจาเท่ากับเขาช่วยให้ทุกคนที่ทำการเจรจามีความสดชื่นขึ้น จึงสนทนากันได้ด้วยอารมณ์ฉันมิตร
- 4 -
ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวถึงการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาในสมัยพระมงกุฎเกล้าฯ ที่มีผู้กล่าวไว้ในหนังสือบางเล่ม และอดีตผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งได้เคยนำร่างข้อความที่เขาจะนำพิมพ์ลงในหนังสือมาถามข้าพเจ้า ปรากฏข้อความที่บางคนพิมพ์ขึ้นแล้วและกำลังอยู่ระหว่างที่จะพิมพ์นั้น เขียนตามคำเล่าลือที่ตกทอดกันมาว่า ‘ดร. F.B. Sayre’ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระยากัลยาณไมตรี’ นั้น เป็นผู้แก้ไขสนธิสัญญาให้แก่ชาติของเรา โดยบางคนอ้างว่าเพราะ ดร.แซยร์ เป็นบุตรเขยประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา จริงอยู่ท่านผู้นี้เป็นบุตรเขยประธานาธิบดีวิลสัน แต่ประธานาธิบดีผู้นี้ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1921 สิ้นชีพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924
สนธิสัญญาที่ได้ทำกับนานาประเทศในสมัยพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น ปรากฏว่า ทำสัญญากับสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1920 ต่อมาทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1924 ภายหลังที่ประธานาธิบดีวิลสันออกจากตำแหน่งแล้ว และได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1925 เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1925, กับอังกฤษ ค.ศ.1925 และกับประเทศอื่นๆ ระหว่าง ค.ศ. 1925 - 1926 อันเป็นสมัยที่มิเพียงแต่ประธานาธิบดีวิลสันออกจากตำแหน่งแล้วหากแต่สิ้นชีพไปแล้วด้วย
ผู้ที่ศึกษาการเมืองของสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง ก็ย่อมรู้ได้ว่าประธานาธิบดีที่ออกจากตำแหน่งแล้วหรือสิ้นชีพไปแล้วจะมีอิทธิพลต่อรัฐบาลอเมริกันรุ่นต่อๆ มาได้อย่างไร ฉะนั้น การฟังข่าวลือตามทัศนะแห่งระบบ “ลูกท่านหลานเธอ” จึงใช้ไม่ได้ ในกรณีบุตรเขยของอดีตประชานาธิบดี อนึ่ง เราต้องใช้ความคิดว่า มหาประเทศอื่นๆ ในสมัยนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นพี่เบิ้มอยู่ จะยอมเชื่อฟังบุตรเขยอดีตประธานาธิบดีอเมริกันกระนั้นหรือ แม้จะเดาเอาว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นฝรั่ง เช่นเดียวกับอเมริกัน แต่ญี่ปุ่นเขม่นอเมริกันอยู่ในสมัยนั้น ถ้าใครขืนเอาบุตรเขยอดีตประธานาธิบดีอเมริกันไปเป็นตัวตั้งตัวดีในการเจรจาระหว่างสยามกับญี่ปุ่นแล้ว ก็มีท่าว่าจะไปไม่รอด
ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศส[2] ได้รับคำบอกเล่าจาก ‘หลวงพหิทธานุกร’ (ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระ) ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขานุการคนหนึ่งแห่งสถานทูตไทยประจำกรุงโรมว่า สถานทูตนั้นได้พยายามด้วยวิธีการที่มุสโสลินีชอบสังสรรค์กับสาวสวยๆ เมื่อสถานทูตนั้นได้เค้าเช่นนั้นแล้ว ก็ได้จัดการรับรองเลี้ยงอาหารค่ำแก่มุสโสลินีที่สถานทูตสยาม ซึ่งตามปกติมุสโสลินีไม่ยอมรับเชิญไปสถานทูตต่างประเทศได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสถานทูตสยาม ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเพียง “สถานอัครราชทูต” (Legation) ไม่ใช่สถานเอกอัครราชทูต (Embassy) แต่มุสโสลินีก็ยอมรับเชิญเป็นกรณีพิเศษมารับประทานอาหารค่ำที่สถานทูตสยาม ซึ่งได้เชิญสาวๆ อิตาเลียนที่หน้าตาสวยๆ รูปร่างดีๆ มาร่วมรับประทานด้วย
ค่ำวันนั้นมุสโสลินีมีความชื่นบานมากถึงกับอุทานแก่ข้าราชการสถานทูตสยามเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “C'est magnifique” แปลเป็นไทยว่า “เลิศแท้” เมื่อเสร็จรับประทานอาหารแล้ว ก็ยอมสนทนากับอัครราชทูตสยามยอมตามร่างสนธิสัญญาที่ฝ่ายสยามเสนอโดยมีการแก้ไขเล็กน้อย
ดั่งนั้น แม้ดร.แซยร์ได้ทำคุณประโยชน์ในฐานะเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศผู้ชำนาญทางเทคนิคในการร่างสนธิสัญญา แต่ความสำเร็จอยู่ที่พระมงกุฎเกล้าฯ และพระปกเกล้าฯ และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ผู้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ท่านเสนาบดีนี้ มิใช่ทรงเป็นหุ่นที่จะให้บุตรเขยอดีตประธานาธิบดีอเมริกันชักเล่นได้ตามชอบใจ
หากท่านใช้ความปรีชาสามารถของท่านเท่าที่จะทำได้ตามสภาพในเวลานั้นที่นานาชาติรวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วยที่แม้จะผ่อนผันให้แก่ฝ่ายสยามบ้าง แต่ก็ยังยืนกรานที่จะมีสิทธิพิเศษเหนือสยามอยู่อีกหลายประการ
ขอให้นักศึกษาตรวจสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2463 ดูเองเถิดว่า ประเทศนี้ได้สงวนความไม่เป็นธรรมไว้ในสนธิสัญญานั้นประการใดบ้าง และขอให้ศึกษาให้ดีด้วยว่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ตุรกีเป็นฝ่ายแพ้สงครามแต่สัญญาสันติภาพระหว่างสัมพันธมิตรกับตุรกีที่เรียกกว่า “สัญญาโลซานน์ ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466)” นั้น สัมพันธมิตรยอมยกเลิกสิทธิพิเศษทางศาลที่เรียกว่า สภาพนอกอาณาเขต
ส่วนสยามที่เป็นฝ่ายชนะสงครามกลับถูกสัมพันธมิตรรวมทั้งสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมเลิกสิทธิพิเศษนั้น คือ ยังมีศาลกงสุลและศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศต่อไปอีก แม้สนธิสัญญาสมัยที่ ดร.แซยร์เป็นที่ปรึกษาบางฉบับจะทำกันภายหลัง “สัญญาโลซานน์” (ปัจจุบันนี้ยังมีผู้เข้าใจว่า “พระยากัลยาณไมตรี” นั้น มีแต่ ดร.แซยร์ คนเดียว
อันที่จริงในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าฯ นั้นมีพระยากัลยาณไมตรีที่ปรึกษาการต่างประเทศอีกคนหนึ่ง คือ ‘มิสเตอร์เวสเทอร์นการ์ด’ ที่รับราชการนานปีกว่า ดร.แซยร์ พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงบันทึกไว้ในอนุทินของพระองค์ว่า พระยาคนนี้ได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า แม้เขาเป็นคนอเมริกันแต่ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลอเมริกันที่ความเห็นอย่างใดของเขาต้องเป็นความเห็นของรัฐบาลอเมริกัน ความตกลงใดๆ กับรัฐบาลอเมริกันต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลทั้งสอง ผู้นี้ได้กราบทูลพระองค์อีกว่ารัฐบาลเปอร์เซียฯ (อิหร่านสมัยนั้น) เคยเข้าใจผิดมาแล้วในการจ้างที่ปรึกษาอเมริกันโดยคิดว่า คนอเมริกันสามารถบีบบังคับรัฐบาลอเมริกันได้)
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- โมฆสงคราม โดย ปรีดี พนมยงค์
- Infographic: "เสรีไทย" ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ความสําคัญของขบวนการเสรีไทย โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์
ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “นโยบายสันติภาพของรัฐบาลซึ่งนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี” ใน, “โมฆสงคราม”. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 47-56
หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
[1] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ถึง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2481 - กองบรรณาธิการ
[2] พ.ศ. 2463 นายปรีดีได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสโดยเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยก็อง (Universite de Caen) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเซพิเยกฎหมาย” (Bachelier en Droit) และได้ปริญญารัฐเป็น “ลิซองซิเยกฎหมาย” (Licence en Droit) ตามลำดับ
ในปีพ.ศ. 2469 นายปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีมาก (Tres Bien) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (Doctorat d'tar) เป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) - กองบรรณาธิการ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- คณะราษฎร
- LE SIAM PACIFISTE
- สยามสันติภาพ
- ธรรมาธรรมสงคราม
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ธรรมะระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
- โมฆสงคราม
- พิธีตัดไม้ข่มนาม
- กเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2
- จักรพรรดิฟรานซิสโจเซฟ
- วรรณไวทยากร วรวรรณ
- ฟรานซิส บี. แซร์
- พระยากัลยาณไมตรี
- หลวงพหิทธานุกร
- สัญญาโลซานน์ ค.ศ. 1923
- สัญญาโลซานน์
- มิสเตอร์เวสเทอร์นการ์ด