เสรีไทยเสรีชน Ep.2: ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยในมุมมองของศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ในความคิดของผมขบวนการเสรีไทยมีความสําคัญ 2 ประการ
1) ทําให้ประเทศไทยไม่ถูกถือว่าเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
2) ปลูกจิตสํานึกและระดมพลังของประชาชนไทยธรรมดาทุกหมู่เหล่าให้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของประเทศชาติ
การอภิปรายของผมในวันนี้เป็นการอธิบายเกียรติคุณ 2 ข้อนี้ ซึ่งเป็นความสําคัญที่สูงมากอย่างยิ่ง มีผลโดยตรงต่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
ข้อแรกทําให้ประเทศไทยไม่ถูกถือว่าเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
ในเรื่องนี้ผมขออธิบายก่อนว่าทําไมเราอาจถูกถือว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม แล้วจะชี้ว่าขบวนการเสรีไทยได้ทำอะไรไป ทําให้เรารอดพ้นจากการถูกถือเช่นนั้น
เดิมนั้นผมไม่ได้คิดว่าเราเสี่ยงถูกถือว่าแพ้สงคราม คิดว่าเราคงแก้ตัวหลุดว่าถูกบังคับให้เข้ากับญี่ปุ่น เพราะว่าญี่ปุ่นได้รุกรานเรายกทหารเข้ามาในประเทศของเรา แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านงานเกี่ยวกับสงครามมหาเอเชียบูรพาอย่างตั้งใจเต็มที่ก็รู้สึกตกใจ ผมได้รับรู้ใหม่ว่าฝ่ายทหาร โดยเฉพาะจอมพล ป. มีส่วนพาประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโดยสมัครใจ ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งทําให้อังกฤษโกรธมาก และต้องการลงโทษไทย คิดอยู่ทีเดียวในระยะต้นที่จะจัดการหนักกับไทยหลังสงครามในฐานะผู้แพ้ ผมได้รับรู้ใหม่เพราะหลังจากพิจารณาหลักฐานอย่างจริงจัง พบว่าเราต้องแยกนโยบายของไทยออกเป็นสองตอน ซึ่งแตกต่างกันมาก แต่เดิมนั้นผมแยกไม่ออก เพราะนโยบายสองนโยบายนี้เกิดในเวลาใกล้กันมาก ทําให้ผมไม่เฉลียวใจว่ามันต่างกันมาก คือในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกเข้าประเทศไทย เราต่อสู้ ณ 6 จังหวัดภาคใต้บน อ่าวไทย แล้วเราได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านดินแดนไทยได้โดยสันติ แต่ในวันที่ 11 ธันวาคมจอมพล ป. ตกลงทําสัญญาร่วมรบกับ Teiji Tsubokami เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ไม่เห็นด้วย ต่อมาจอมพล ป.ก็ลงนามเป็นทางการเรียกว่าสนธิสัญญาพันธมิตร Japan - Thailand Alliance วันที่ 21 ธันวาคม ในวันที่ 25 มกราคม 1942 ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คือภายใน 3 วันจอมพล ป.เปลี่ยนจากการให้ญี่ปุ่นผ่านแดนเฉย ๆ เป็นพันธมิตรร่วมกับญี่ปุ่น และในเวลาไม่ถึง 2 เดือนประกาศทำสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย
จอมพลป.เขียนไว้ในบันทึกของท่านเองหลังสงครามว่าท่านต้องทําสัญญาร่วมรบและประกาศสงครามเพราะญี่ปุ่นบีบบังคับให้ทํามิฉะนั้นจะปลดอาวุธทหารไทย หนังสือ ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา (2540) ของกองบัญชาการทหารสูงสุดก็เขียนในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อมและหลักฐานจากทางฝ่ายญี่ปุ่น ทําให้น่าคิดว่าเป็นเพราะจอมพล ป. และคณะผู้นําไทยส่วนที่นิยมญี่ปุ่นเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย คือเป็นความประสงค์ของคณะนิยมญี่ปุ่นฝ่ายไทยอยู่ด้วยมาก ศาสตราจารย์ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ได้วิเคราะห์เหตุการณ์สําคัญมากครั้งนี้ในหนังสือ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (2544) ว่าเป็นความประสงค์และเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของจอมพล ป. เพราะได้รับข่าวชัยชนะของญี่ปุ่นในการรบด้านแปซิฟิกและการโจมตีอ่าวเพิ่ล พล.ต.ต.ชะลอ ศรีศรากร ผู้ก่อการ 2475 และเสรีไทยได้เขียนไว้ในหนังสือ สันติบาลใต้ดิน (2488) ว่าจอมพล ป. "วิ่งเต้นเพื่อประกาศสงครามกับ อังกฤษและอเมริกา ซึ่งความจริงญี่ปุ่นมิได้บีบบังคับอย่างไรใคร ๆ ก็ ทราบดี" ศาสตราจารย์ Eiji Murashima แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะก็คิดว่าเป็นเพราะญี่ปุ่นชนะติด ๆ กันในการรบขั้นต้น และอาจารย์ Murashima ได้ให้ข้อมูลแก่ผมเพิ่มเติมว่า มีหลักฐานเป็นเอกสารของทางฝ่ายญี่ปุ่นว่า ไทยต้องการประกาศสงครามกับอังกฤษ จะได้สามารถส่งทหารบุกเข้าไปในพม่า เพื่อขยายดินแดน และได้เสนอต่อญี่ปุ่นที่จะทําเช่นนั้นขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่อยากให้ไทยทําอย่างนั้นทันที เพราะเกรงว่าอังกฤษจะเข้ามาโจมตีไทยอยากเอาไทยไว้เป็นที่เก็บเสบียงที่ปลอดภัย จนเมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าได้เด็ดขาดแล้วจึงอยากให้ไทยประกาศสงครามตอนนั้นไทยได้ขอส่งทหารเข้าไปทางด้านตะนาวศรี เข้าใจว่าเพื่อยึดเมืองท่าทวายและมะริด ซึ่งทั้งสองเมืองนี้เคยเป็นของไทยมาก่อน เพื่อไทยจะสามารถออกทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นความปรารถนา ตลอดมาในประวัติศาสตร์ไทย แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ ไทยจึงขอส่งทหารเข้าไปในรัฐฉานแทน ผมเห็นด้วยกับคําอธิบายของ ศาสตราจารย์ดร.แถมสุขและศาสตราจารย์ Murashima ขณะนั้นจุดประสงค์สําคัญที่สุดของญี่ปุ่น คือเข้าไปยึดสิงคโปร์และพม่า เกี่ยวกับไทยญี่ปุ่นเพียงต้องการให้กองทัพเดินทางผ่าน และไทยก็ยอมแล้ว ไม่มีความจําเป็นเร่งรีบใด ๆ ที่ญี่ปุ่นจะต้องมาบีบบังคับไทยให้เข้าร่วมรบ ถึงขั้นคุกคามว่าจะปลดอาวุธกองทัพไทย การเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาภายในเวลาเพียง 1-2 เดือนหลังการเข้ามาของญี่ปุ่น น่าจะเป็นความประสงค์ของฝ่ายไทย โดยเฉพาะของจอมพล ป. และคณะ และเป็นการกระทําที่คณะผู้นําไทยส่วนหนึ่งคือฝ่ายนายปรีดีไม่เห็นด้วย ยังผลให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากการตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม นายปรีดีและนายดิเรก ชัยนามต้องพ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรี ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ญี่ปุ่นกับมหาเอเชียบูรพา (2548)
ดังนั้นการที่อังกฤษถือว่าไทยเป็นประเทศคู่สงคราม เป็นศัตรูจึงเป็นเรื่องที่มีมูลอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง อังกฤษได้ประกาศสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1942 ส่วนสหรัฐอเมริกาถือว่าไทยเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองถูกญี่ปุ่นยึดบังคับ สหรัฐไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรู สหรัฐไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย
การที่อังกฤษถือว่าไทยเป็นคู่สงครามนี้เป็นเรื่องล่อแหลมมาก เป็นเรื่องน่ากลัวมาก น่ากลัวที่ว่าถ้าเราแพ้สงครามอังกฤษจะจัดการกับเราอย่างไร เราอาจต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม เราอาจต้องเสียเอกราช กองทัพของเราอาจถูกปลดอาวุธ ประเทศของเราอาจถูกกองทัพทหารต่างชาติยึดครองระยะหนึ่ง เราอาจเสียดินแดนบางส่วน ตัวอย่างเหล่านี้คนไทยในสมัยนั้นทราบได้จากกรณีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และถ้านึกถึงในขณะนี้ ตัวอย่างของประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นก็เห็นได้ชัดเจนและที่จริงแล้วก็มีแนวคิดเหล่านี้อยู่ในรัฐบาลอังกฤษพอสมควรและสุดท้ายแล้วเมื่อเราลงนามสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ เพื่อให้อังกฤษยอมเลิกสถานะสงครามกับเราเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 เราก็ต้องยอมสัญญว่าจะมอบข้าวที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศโดยไม่คิดมูลค่าจำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันให้อังกฤษ และยอมขายข้าวให้อังกฤษอีกจำนวนหนึ่งในราคาถูกด้วย (ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม 1946 อังกฤษยอมปรับปรุงสนธิสัญญาข้อนี้เป็นให้ไทยขายข้าวในราคาถูกให้อังกฤษ 1.2 ล้านตัน แทนการให้เปล่า ศาสตราจารย์ ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล ระบุในหนังสือ การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศํกราช 2483 ถึง 2495 (2527) ว่าสุดท้ายไทยต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเปล่า ๆ ทั้งหมดเพียง 150,000 ตัน) และส่งคืนดินแดนที่เราได้มาระหว่างสงคราม และรับรองที่จะไม่ขุดคอคอดกระถ้าอังกฤษไม่เห็นด้วย แต่ด้วยการที่อังกฤษเองก็ยอมรับการมีขบวนการเสรีไทยและปฏิบัติการของขบวน รวมทั้งการช่วยเจรจาและท่าทีชัดเจนของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ถือว่าไทยเป็นคู่สงคราม ทำให้ไม่เสียเอกราช กองทัพไทยไม่ต้องเข้าพิธียอมจำนน หลังสงครามกองทัพของเราไม่ถูกปลดอาวุธกองทหารจักรวรรดิอังกฤษเพียงเข้ามาระยะหนึ่งปลดอาวุธและรับอาวุธทหารญี่ปุ่น เราไม่ต้องทำสนธิสัญญาสันติภาพ เราไม่เสียดินแดนที่เป็นของเราแท้ ๆ แม้ว่าในช่วงหนึ่งของสงครามเคยปรากฏข้อเสนอในอังกฤษให้ยึดครองหรือเฉือนดิน แดนภาคใต้ออกจากประเทศไทยไป เพื่อประกันความมั่นคงของมาลายูของอังกฤษ หรือจีนชาติบางครั้งเคยคํานึงถึงการเข้ามายึดครองบางส่วนของอินโดจีน ซึ่งคงคุกคามมาถึงภาคเหนือและภาคอีสานของไทย สรุปได้ว่าหลังสงครามไทยอยู่ในฐานะก้ำกึ่ง ถูกลงโทษบ้าง แต่ไม่ถึงกับถูกว่าเป็นประเทศผู้แพ้สงครามชัดเจน ไม่เสียเอกราช ทั้ง ๆ ที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพบุกเข้าไปในรัฐฉานซึ่งขณะนั้นเป็นของพม่าอาณานิคมของอังกฤษ เรารอดพ้นการเสียเอกราชมาได้ เหตุสําคัญมากคือการดําเนินการของขบวนการเสรีไทย
เราทราบกันว่าขบวนการเสรีไทยไม่ได้รบกับญี่ปุ่นโดยตรง แต่กระนั้นทําไมอังกฤษและอเมริกาจึงให้ความสําคัญแก่ขบวนการ
คําอธิบายของทั้งอังกฤษและอเมริกาและเป็นที่รับทราบทั่วกัน คือขบวนการเสรีไทยขอลุกขึ้นสู้ แต่สัมพันธมิตรขอร้องให้รอก่อน นายปรีดีหัวหน้าขบวนได้เสนอการลุกขึ้นสู้นี้กลางเดือนพฤษภาคม 1945 ไทยไม่ได้หวังว่าจะชนะญี่ปุ่น คิดจะสู้ในเมืองกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งแล้ว ถอยไปสู้ต่อในชนบทขณะที่รอกองทหารสัมพันธมิตรเข้ามาช่วย อังกฤษได้ตอบมาว่าให้รอจนถึงปลายปี 1945 ซึ่งระหว่างนั้นจะได้ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์มาให้ขบวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ขบวนรอการรุกของสัมพันธมิตร แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นได้ยอมจํานนเสียก่อนในวันที่ 15 สิงหาคม 1945
ผมเองขอเสนอคําอธิบายอีก 2 ข้อ คือ
1) คณะเสรีไทยเป็นคณะที่ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทยไม่ใช่จะมาต่อต้านเมื่อญี่ปุ่นเริ่มปราชัยในสงคราม อีกทั้งได้พยายามหาทางจะติดต่อและประกาศให้โลกรู้จุดยืนต่อต้านนี้ตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกัน
ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 1941 คือคืนแรกของวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย นายปรีดีได้พบกับเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ที่บ้านถนนสีลม ในบทความ “การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย” (2524) ของนายปรีดีเอง ท่านระบุว่าบุคคลเหล่านี้มีอาทิเช่น หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์)
นายสงวน ตุลารักษ์ นายจํากัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล เป็นต้น ปรีดีระบุว่าผู้ที่มาประชุม ได้ตกลงใจที่จะ “กอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการ นั้นจึงตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติ ทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ ประชุมได้มอบภาระให้ ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกําหนดแผนการ ปฏิบัติต่อไป” ถือได้ว่าเป็นต้นกําเนิดของขบวนการเสรีไทย และเมื่อพิจารณาบทความนี้ของนายปรีดีรวมกับบันทึกของนายจํากัด พลางกูร เรื่อง “การกู้ชาติ" (2486) ถ่ายทอดอักษรต่ออักษรลงในหนังสือ X.O.Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย (2489) ของนายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) แกนนําของขบวนการเสรีไทยเกิดจากการรวมกันของคณะของนายปรีดีกับคณะของนายจํากัด คณะผู้นําเสรีไทยสายอีสานคนสําคัญ ๆ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายจําลอง ดาวเรืองนั้น น่าจะเข้ามาร่วมกับคณะของนายปรีดีผ่านการยอมเข้ารวมของนายจํากัดนี่เอง ดังที่นายจํากัดได้เขียน ไว้ในบันทึกของเขาว่า “ข้าพเจ้า...มอบคณะของข้าพเจ้า ให้ตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของอาจารย์ปรีดีโดยเด็ดขาด...และอยู่ในระเบียบวินัยของท่านอย่างเคร่งครัด...อุทิศตัวและชีวิตให้แก่ท่าน สุดแล้วแต่จะ ใช้ให้ทํางาน เพื่อชาติสิ่งใด”
ในวันที่ 11 ธันวาคม 1941 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต ไทย ณ สหรัฐอเมริกาได้แจ้งแก่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า ท่านต้องการแยกจากรัฐบาลจอมพล ป. และได้ประกาศต่อหนังสือพิมพ์บ่ายวันเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นขบวนการเสรี ไทยสายสหรัฐอเมริกา 30 มกราคม 1942 คณะนักเรียนไทยในอังกฤษทําหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ แจ้งให้ทราบว่า คนไทยในอังกฤษปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย ต่อมานักเรียนไทยในอเมริกาและอังกฤษสมาชิกคณะเสรีไทยเหล่านี้รวมประมาณ 80 คนต่างสมัครเป็นทหารประจําในกองทัพอเมริกาและอังกฤษ ฝึกเป็นทหารและทําหน้าที่สําคัญคือช่วยในการข่าว ซึ่งในช่วงหลังของสงครามหลายคนได้ลอบเข้ามาในประเทศไทย มาช่วยในการติดต่อระหว่างเสรีไทยใน ประเทศกับสัมพันธมิตร รายงานการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น การชี้จุดยุทธศาสตร์ให้เครื่องบินทิ้งระเบิด การฝึกพลพรรค และการรับอาวุธ และเสบียง ตลอดจนลักลอบนําเชลยศึกชาวสหรัฐ อังกฤษและออสเตรเลียนออกจากประเทศไทยในยามสงคราม นอกจากเสรีไทยนอกประเทศที่เป็นทหารแล้วยังมีเสรีไทยที่ทําหน้าที่แบบพลเรือนอีก จํานวนหนึ่งทั้งหญิงและชายในการกระจายเสียงทางวิทยุให้ประชาชนในประเทศไทยได้รับทราบความคืบหน้าของสงคราม โน้มน้าวจิตใจให้คนไทยหวงแหนเอกราชและอธิปไตยของบ้านเมือง ช่วยในการแปลแผนที่ภาษาไทยและสอนภาษาไทยให้แก่ทหารสัมพันธมิตรที่จะต้องปฏิบัติงานในประเทศไทย เป็นต้น
นายปรีดีและคณะคิดจะสู้รบกับญี่ปุ่นตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นยกทหารเข้ามา โดยเริ่มแรกคิดจะไปตั้งกองกําลังอยู่ในภาคเหนือ แต่ญี่ปุ่นได้เข้าคุมเส้นทางคมนาคมที่สําคัญไว้รวดเร็วมากทําให้แผนการนี้ไม่ลุล่วงไปได้ นายปรีดีกับคณะก็คิดหาวิธีที่จะแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า ประชาชนไทยไม่ได้เห็นด้วยกับคณะของจอมพล ป. และมีคณะที่ต่อต้านญี่ปุ่นขนาดใหญ่ตั้งขึ้นแล้วในประเทศไทย นายปรีดีและผู้นําต้องการที่จะหลบหนีออกนอกประเทศและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเสรีไทยขึ้นที่อินเดีย ร่วมกับสัมพันธมิตรสู้รบกับญี่ปุ่น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1943 นายปรีดีส่งนายจํากัด พลางกูร เลขานุการขบวนการเสรีไทยไปติดต่อเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวกับสัมพันธมิตรที่จุงกิงเมืองหลวงจีนชาติ โดยให้เล็ดลอดหลบซ่อนญี่ปุ่นไปทางอินโดจีน ข้ามชายแดนที่เมืองมองกาย เข้าเมืองตงเฮง มณฑลกวางสี ถึงเมืองกุ้ยหลิน นายจํากัดเดินทางถึงจุงกิงวันที่ 21 เมษายน 1943 ได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและผู้แทนสัมพันธมิตร รวมทั้งนายพลเจียงไคเชคด้วย นายจํากัดได้เสนอข้อมูลสถานการณ์ภายในประเทศ การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและแผนปฏิบัติการของขบวน อย่างเป็นที่น่า เชื่อถือ แต่เนื่องจากอังกฤษถือว่าไทยเป็นคู่สงครามจึงเบียงบ่ายไม่ยอม เจรจาทางการเมืองหรือให้ฐานะทางการเมืองใด ๆ อีกทั้งไม่เชื่อว่า คณะเสรีไทยเป็นคณะใหญ่ที่มีพลัง อังกฤษซึ่งรับผิดชอบพื้นที่สมรภูมิ ประเทศไทยในนามสัมพันธมิตรจึงบอกปัดแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และไม่พิจารณาการช่วยพานายปรีดีและผู้นําหลบหนีออกนอกประเทศไทย อีกทั้งทางขบวนเสรีไทยเองก็มีความระแวงต่อกันอยู่บ้างในระยะต้นสุด ระหว่างสายภายในประเทศสายอเมริกาและสายอังกฤษ ใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ทุกสายจะยอมรับชัดเจนว่าเห็นด้วยกันเต็มที่ที่จะให้นายปรีดีเป็นหัวหน้า ซึ่งจะทําให้ฝ่ายไทยเองรับรองฐานะสําคัญยิ่งของนายจํากัดแต่เมื่อถึงเวลานั้นคือเดือนกันยายน 1943 นายจํากัดก็ล้มป่วยและเสียชีวิตวันที่ 7 ตุลาคม 1943 ที่เมือง จุงกิง อายุเพียง 28 ปี นัยว่าโดยโรคมะเร็งที่ตับและกระเพาะอาหาร คณะของนายสงวน ตุลารักษ์ซึ่งนายปรีดีส่งตามมาได้สานงานประสานระหว่างเสรีไทยกับสัมพันธมิตรที่นายจํากัดเริ่มไว้ ทําให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยพฤตินัยยอมรับการมีตัวตน มีองค์การของขบวนการเสรีไทยเชื่อถือคณะของนายปรีดี ต้องการและเห็นประโยชน์ในความช่วยเหลือของขบวนการเสรีไทยทางการทหาร สัมพันธมิตรจึงเริ่มติดต่อกับคณะของนายปรีดีโดยสม่ําเสมอตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1943 การมีเสรีไทยได้อํานวยประโยชน์ให้สัมพันธมิตรมาก ในด้านการข่าว การเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่นและการทิ้งระเบิดจุดที่ตั้งและการส่งกําลังบํารุงของกองทัพญี่ปุ่นในไทย แต่สัมพันธมิตรก็ไม่ได้ยอมให้คณะเสรีไทยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น คือไม่ยอมสัญญาว่าหากคณะเสรีไทยตั้งรัฐบาลเช่นว่านั้นขึ้น จะให้การรับรองและถ้ามีรัฐบาลเช่นนั้นหลังสงครามจะไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศแพ้สงคราม โดยสรุปคือสัมพันธมิตร รับรองคณะเสรีไทยทางการทหาร แต่ไม่รับรองคณะชัดเจนทางการเมืองจนสิ้นสงคราม ปัญหาจากนโยบายของอังกฤษดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุทําให้ในระยะหลังของสงครามนายปรีดีลังเลที่จะเล็ดลอดออกนอกประเทศ ประกอบกับตั้งแต่ปลายปี 1943 เป็นต้นไป คณะเสรีไทยในประเทศก็สามารถติดต่อกับสมัมพันธมิตรได้สม่ำเสมอแล้ว และตั้งแต่กลางปี 1944 งานขยายพลพรรคในประเทศกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกันการติดต่อได้กับสัมพันธมิตรก็เป็นประโยชน์แก่ขบวนการเสรีไทยในประเทศมาก คือได้รับอาวุธที่ทันสมัยมาจากสัมพันธมิตรรวมแล้วสำหรับพลพรรค 8 กองพัน (คำกล่าวของนายเตียง ศิริขันธ์ ในหนังสือ มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า (2500) โดย ร.ต.อ.เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์) วิทยุสื่อสารเสบียงและยารักษาโรค รวมทั้งได้ครูฝึกพลพรรคที่ลอบเดินทางเข้ามาด้วย ทั้งที่เป็นเสรีไทยสายต่างประเทศและเป็นทหารสัมพันธมิตร
2) ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 1944 คณธเสรีไทยมีพลังมากได้เข้ามาเป็นอำนาจโดยพฤตินัยข้างหลังรัฐบาลไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 1944 ภาพที่ปรากฏข้างหน้าคือ จอมพล ป. แพ้คะแนนเสียงในการเสนอพ.ร.บ.ยกฐานะเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และลาออกในเดือนกรกฎาคม 1944 สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 สิงหาคม 1945 และรัฐบาลนายควงได้ให้จอมพล ป. พ้นจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด คณะของจอมพล ป. เช่น หลวงวิจิตรวาทการ นายสังข์ พัธโนทัย และผู้นำทหารฝ่ายจอมพล ป. ก็ถูกลดความสำคัญลงด้วย โดยนิตินัยไทยยังเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่ความเป็นจริงข้างหลังคือ ขณะนั้นทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นกำลังแพ้ในแทบทุกสนามรบ ทําให้คณะผู้ที่ไม่ศรัทธาจอมพล ป. กล้ามากขึ้น กล้าสนับสนุนนายปรีดีชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนและกองทัพเรือ ประกอบกับญี่ปุ่นก็ไม่อยากให้มีการใช้กำลังสู้กันภายในประเทศ ซึ่งจะทําให้ญี่ปุ่นต้องใช้กองทัพเข้าควบคุมโดยตรง อีกทั้งเมื่อถึงกลางปี 1945 นั้น ญี่ปุ่นก็ไม่ไว้ใจจอมพล ป. แล้ว จอมพล ป. เองก็กลับลําไม่ยอมไปประชุมวงศ์ไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพาด้วยตนเอง และจอมพล ป. มีการติดต่อใต้ดินกับกองพล 93 ของจีนในยูนนาน ญี่ปุ่นจึงแสดงท่าทีปรามไม่ให้ จอมพล ป. ใช้กําลังทหารบกทํารัฐประหาร นายควงด้วยการหนุนอยู่ข้างหลังของคณะของนายปรีดีจึงสามารถขึ้นเป็นรัฐบาลได้
หลังจากที่คณะของนายปรีดีโค่นล้มคณะของจอมพล ป. ได้การติดต่อสื่อสารกับเสรีไทยภายนอกประเทศและกับสัมพันธมิตร การสร้างหน่วยและพลพรรคของเสรีไทย การติดต่อรับ-ส่งคนจากสัมพันธมิตรมาฝึกกองกําลังของเสรีไทย การรับอาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงและยารักษาโรคจากสัมพันธมิตรทางการทิ้งร่มและทางสนามบินลับทั้งหมดนี้ทําได้สะดวกขึ้นมาก หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากจอมพล ป.เป็นนายควงนี้ สัมพันธมิตรเองก็ยอมรับการมีตัวตนของขบวนการเสรีไทยอย่างชัดเจน รับรู้ถึงกําลังที่มีอยู่จริงของขบวนและโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในการรบของกําลังนี้เป็นพลพรรค ซึ่งต่อมามีอาวุธทันสมัย ครบมือประมาณ 10,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีกําลังทหารปรกติและตํารวจที่พร้อมสนับสนุนอีกนับเป็นแสนคน กล่าวได้ว่าตั้งแต่ช่วงกลางปี 1944 ไทยทั้งประเทศ รวมจอมพล ป. และคณะมารวมอยู่ในฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นหมดแล้วโดยมีคณะเสรีไทยเป็นกองหน้า แต่หากมีการปะทะกันรุนแรงจริง ๆ ขบวนการเสรีไทยก้จะได้รับการเข้าช่วยร่วมรบจากกองทัพปรกติของไทย ผู้ที่ควรได้รับเครดิตจากการร่วมกันทั้งประเทศต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานนี้คือคนไทยทุกหมู่เหล่า เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลได้นี้เป็นผลงานร่วมกันของพลังภายในประเทศหลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายทหารด้วย แต่นายปรีดีและคณะเสรีไทยก็ควรได้รับเครดิตเป็นพิเศษ เพราะเป็นคณะที่กล้าเริ่มจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนครั้งนี้
ผมสรุปคําอธิบาย 2 ข้อเพิ่มเติมของผมว่า สัมพันธมิตรให้ความสําคัญแก่ขบวนการเสรีไทย และเป็นเหตุสําคัญมากข้อหนึ่งที่ ทําให้อังกฤษยอมอะลุ่มอล่วยบ้างกับไทยหลังจากที่สงครามสิ้นสุด ทั้งๆ ที่ขบวนการเสรีไทยไม่ได้รบกับญี่ปุ่นโดยตรง เพราะตามความ เป็นจริง คณะเสรีไทยมีมาตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ประชาชนไทย ส่วนใหญ่ไม่พอใจการเข้ามาแบบบังคับของญี่ปุ่นและคณะผู้นําของไทย กลุ่มใหญ่ก็นิยมตะวันตกตลอดมา นายพลนากามูระ (Aketo Nakamura) ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจําประเทศไทยเขียนไว้ใน หนังสือบันทึกของท่าน (๑๙๕๔) ว่า “ประเทศไทยนี้เป็นประเทศที่มี ฝ่ายนิยมอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเกาะกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่นับตั้งแต่ เริ่มสงครามมาเลยทีเดียว" ประชาชนให้การสนับสนุนคณะเสรีไทย และคณะมีเอกภาพ มีหัวหน้าผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากทุกฝ่าย คือนายปรีดี ขบวนพร้อมที่จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นภายนอกประเทศและ สู้รบกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยตั้งแต่ต้น อะไรต่างๆที่ยืดเยื้อมาส่วนสําคัญ เป็นเพราะอังกฤษเองแต่แรกไม่ช่วยเหลือ และไม่รับรองขบวนการ อีกทั้งเมื่อมาถึงกลางปี๑๙๔๔ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดถึงหนึ่งปี ก็เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยทั้งประเทศได้เปลี่ยนข้างมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว
มาถึงข้อสองของเกียรติคุณหรือความสําคัญของขบวนการเสรี ไทยในความคิดของผม คือ:
ข้อสอง : ปลูกจิตสํานึกและระดมพลังของประชาชนไทยธรรมดา ทุกหมู่เหล่าให้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของประเทศชาติ
เมื่อกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 1941 ทหาร ยุวชน ข้าราชการและประชาชนไทยได้ร่วมกันต่อสู้อย่างกล้าหาญ ณ 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย เมื่อหยุดยิงในวันเดียวกันนั้นฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 141 คน ฝ่ายไทย 153 คน นายปรีดี ได้เขียนรายงานสถานการณ์วันที่ 8 ธันวาคมนั้นที่กรุงเทพว่า “เมื่อเสร็จ การประชุมค.ร.ม. เวลา 17.55 น.แล้ว ข้าพเจ้าได้นั่งรถยนต์กลับบ้านสังเกตเห็นประชาชนไทย 2 ฟากถนนได้ยืนชุมนุมกันอยู่เป็นจํานวนมากด้วยน้ําตาไหล เป็นสภาพตรงกับที่หนังสือพิมพ์อเมริกา Washington Times Herald (วอชิงตันไทมส์ฮีราลด์)...รายงาน... เจ็บใจ.... เพราะถูกต่างชาติรุกราน" นายจํากัด พลางกูร เลขานุการของคณะเสรีไทยก็เขียนในบันทึกส่วนตัว ถึงความไม่พอใจนี้ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ ของนายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนครและของตัวนายจํากัดเองว่า “ตอนบ่ายวันที่ 9 ธันวาคม นายเตียง ศิริขันธ์ได้มาหาข้าพเจ้า บอกว่าพอทราบเรื่องญี่ปุ่นเข้าเมือง ก็รีบขึ้นเครื่องบินมาจากสกลนครทันที... ข้าพเจ้าจึงวิ่งรวบรวมพวกพ้องเพื่อตั้งคณะกู้ชาติ โดยมีความประสงค์ ที่จะทําลายล้างญี่ปุ่น และรัฐบาลจอมพลต่อไป...” และนายจํากัดก็ได้รายงานกับนายทหาร อังกฤษที่กุ้ยหลินในค.ศ. 1943 ถึงความไม่พอใจ ของประชาชนไทย ทั่วไปต่อญี่ปุ่นนี้
คณะเสรีไทยคือตัวแทนของความคิดต่อต้านญี่ปุ่นของประชาชนไทยโดยส่วนรวมนี้ มิได้เป็นความคิดของพรรคการเมือง หรือแนวทางการเมืองเฉพาะอันใด ทั้งนายปรีดีหัวหน้าขบวนและนายทวี บุณยเกตุหัวหน้าฝ่ายพลพรรคต่างให้ข้อมูลตรงกันหลังสงครามว่า ขบวนการเสรีไทยประกอบไปด้วยประชาชนทุกหมู่เหล่า นายปรีดี แถลงว่าขบวนการ “ไม่ใช่ทําเพื่อประโยชน์ของบุคคลใด หรือหมู่คณะ ใด แต่ได้ทําไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล การกระทําคราวนี้ มิได้ตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง” (คําปราศรัยของนายปรีดีต่อผู้ แทนหน่วยขบวนเสรีไทยต่างๆ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2488) นาย ทวี บุณยเกตุ ก็กล่าวว่า “เสรีไทยนั้นประกอบด้วยบุคคลอาชีพต่างๆกัน คือ มีทั้งทหารบก ทั้งทหารเรือ ทหารอากาศ ตํารวจ พ่อค้าคหบดี ผู้ แทนราษฎร นิสิต นักศึกษา ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ครูประชาบาล กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล รวมตลอดถึงประชาราษฎร" (คํานําของนายทวี บุณยเกตุ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2510 ในหนังสือ ชีวิตนายพล โดย พลเอกเนตร เขมะโยธิน (พิมพ์ พ.ศ.2510))
เมื่อนําเอาข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ลักษณะการจัดองค์การและอุดมการณ์ ผมคิดว่าขบวนการเสรีไทยประกอบด้วยสมาชิกจากหลายชนชั้น มีลักษณะเป็นองค์กรแนวร่วม มีอุดมการณ์ร่วมกัน คือความเป็นอิสระเสรีของประเทศชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือชาตินิยม อันประกอบขึ้นมาจากประชาชน พิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์สังคมไทย อุดมการณ์ และการจัดองค์การของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคณะเสรีไทยนี้มีความสําคัญและมีความหมายมากอย่างยิ่ง เพราะเดิมมาสังคมไทยถูกครอบงําโดยอุดมการณ์ศักดินา การประกอบประเทศชาติอาศัยอํานาจรัฐ ชุมชนท้องถิ่นและประชาชน แม้ดํารงอยู่ก็ถูกละเลยเหมือนเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิต เสรีไทยเป็นขบวนการที่ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนมีบทบาทได้ฟื้นคืนมีชีวิตเป็นพลังสําคัญที่ผลักดันและกําหนดแนวทางของประเทศชาติ อีกทั้งพลังการเคลื่อนไหวในส่วนของประชาชนนี้ ยังได้สะท้อนให้ส่วนรัฐและรัฐบาลหวนกลับมาตอบสนอง เป็นรัฐและรัฐบาลของประชาชาติมากยิ่งขึ้น
ผมอยากขอขยายความโดยกล่าวถึงเป็นพิเศษถึงส่วนของประชาชนชาวบ้านธรรมดาและปัญญาชนของประชาชนธรรมดาเหล่านี้ พลพรรคเสรีไทยที่มีอาวุธครบมือ มีประมาณ 90,000 คน ส่วนใหญ่คนของพลพรรคคือชาวบ้านธรรมดา พวกเขาเป็นกําลังพื้นฐานของขบวนการ จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วย กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคอีสาน หน่วยพลพรรคที่มาจากประชาชนที่ใหญ่ และเข้มแข็งในภาคกลางคือที่ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้การนําของนาย ชาญ บุนนาค ในภาคอีสานคือที่สกลนครภายใต้การนําของนายเตียง ศิริขันธ์ และเนื่องจากขบวนการและการต่อต้านญี่ปุ่นของพลพรรคในคําของท่านเสรีไทยพิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา “เป็นสงครามลับที่ทหารเสรีไทยและพลพรรคต้องแอบแฝงภายใต้กําบัง (cover) ของป่าทึบหรือของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อลอบตัดเสบียงอาหาร ก่อวินาศกรรมเพื่อขัดขวางการเดินทัพหรือการลําเลียงยุทโธปกรณ์ของฝ่ายศัตรู...ถ้าเสรีไทยและพลพรรคมิได้มีป่าหรือประชาชนในป่าและในชนบท ช่วยคุ้มครอง ย่อมถูกกวาดล้างได้ง่ายจากกองทัพญี่ปุ่น งานสงครามลับย่อมต้องล้มเหลว ฉะนั้นประชาชนจึงเกิดความสํานึกว่า ตนเองได้มีส่วนช่วยเหลือบ้านเมืองในยามคับขันได้มากและอย่างดียิ่ง” (จดหมายของคุณพิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ถึงผู้เขียนวันที่ 23 กันยายน 2548) คือขบวนในลักษณะนี้ต้องพึ่งประชาชน ขณะเดียวกันการเข้าขบวนก็ปลูกจิตสํานึกของประชาชนพร้อมกันไปด้วย ตัวอย่างที่ดี ก็อย่างเช่นการที่นายเตียง สามารถสร้างกองทัพพลพรรคขึ้นได้ก็เพราะเขาได้รับความเคารพรักอย่างสูงจากชาวบ้านอีสานนั่นเอง ขณะ เดียวกันเขาและคณะก็ได้ช่วยทําให้ชาวบ้านอีสานโดยเฉพาะที่แอ่งสกลนคร-นครพนมมีความตื่นตัวทางการเมืองตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ นายปรีดีเองก็รับรองเห็นความสําคัญอย่างมากของประชาชนชาวบ้านธรรมดา ทั้งที่เข้ามาอาสาเป็นพลพรรคและที่สนับสนุนอยู่โดยรอบนายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) ในหนังสือ X.O. Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย (2489) ระบุว่านายปรีดีกล่าวกับท่านว่า “อย่าดูแต่งานของผม ดูงานของพวกที่เขาได้เข้ามารับใช้ชาติบ้านเมือง อย่างที่คุณรู้จักเหมือนพวกนั้น” นายฉันทนาอธิบายว่านายปรีดี “หมายถึงพวก หลังเขาด่างที่หัวหิน ซึ่งเคยเป็นเพื่อนและเป็นคนงานของข้าพเจ้า คราวลงไปทําไร่อยู่หลายปีมาแล้ว บุคคลเหล่านี้แต่ละคนยากจน เสื้อผ้าเกือบไม่มีสวม อาหารเกือบไม่มีติดก้นหม้อ แต่ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการรับของ รับคน และเข้ารับฝึกหัดอาวุธ โดยมิได้ เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยหรือสินจ้างรางวัลอันใด นอกจากความภาคภูมิใจที่จะได้รับใช้ประเทศชาติของตน
บุคคลเช่นนั้น ปรากฎอยู่ทั่วไป ตามค่ายพลพรรค จากทิศเหนือ จดทิศใต้ จากตะวันออกจดตะวันตก ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเมือง ในหมู่บ้าน ตําบล หรือหุบเขาห่างไกลออกไปในดงดิบดงดํา ซึ่งภราดรภาพและ วัฒนธรรมดั้งเดิม มีความหมายอันลึกซึ้งตรึงใจยิ่งกว่าวัฒนธรรมแผน ใหม่ หรือขนบประเพณีของสังคมในเมืองหลวง”
เมื่อผมได้ออกสัมภาษณ์ในงานวิจัย “เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต” ในช่วงทศวรรษ 2520 ผมได้พบอดีตเสรีไทยหลายคน เช่นที่ กิ่งอําเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ คณะอดีตเสรีไทยแห่งกิ่งอําเภอนาคู ได้พาผมไปที่ซึ่งเคยเป็นสนามบินลับของเสรีไทย และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาปีนี้เอง ผมยังได้พบและสัมภาษณ์ชาวนาผู้เป็น อดีตเสรีไทย นายคาน พิลารักษ์ อายุประมาณ 80 ปี ที่บ้านง่อน ตําบลสว่าง อําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ชาวนาอดีตเสรีไทยทุกคนที่ผมได้พบ มีความตื่นตัวทางการเมือง มีอุดมการณ์ฝังลึก มั่นคงในจิตวิญญาณประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน พวกเขามีความสําคัญมาก เป็นกําลังพื้นฐานของขบวนการกู้เอกราชของชาติในครั้งนั้น และต่อมาทุกคนก็เป็นผู้นําคนสําคัญของชุมชนในท้องถิ่นชนบทมา จนถึงทุกวันนี้
การเคลื่อนไหวเสรีไทยได้ปลุกจิตสํานึกของชาวบ้านในท้องถิ่นให้รู้ฐานะและความสําคัญของตัว ความสําคัญของราษฎรธรรมดาสามัญในชีวิตและเส้นทางของประเทศชาติ นี่คือการสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยและประชาชาติที่ประชาชนธรรมดามีส่วนร่วมและเป็นผู้กระทํา เมื่ออ่านทราบว่าทั้งนายปรีดีและนายมาลัยต่างรับรู้ถึงบทบาทและความสําคัญของราษฎรธรรมดาที่มีต่อขบวนการเสรีไทยที่มีต่อการรักษาเอกราชของประเทศ ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมาก ท่านทั้งสองเห็นความสําคัญของชาวบ้านสามัญในชีวิตและเส้นทางของชาติตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อนโน้นแล้ว
ผมคิดว่า ในกระบวนการรวมตัวของชาวบ้านเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเสรีไทย การปลุกจิตสํานึกว่าด้วยฐานะและบทบาทของประชาชนในตัวชาวบ้านจนชัดเจนสําคัญมาก ผู้ทําหน้าที่สําคัญยิ่งนี้คือปัญญาชนของชาวบ้าน (organic intellectual) ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทยที่เป็นครูในชนบท บุคคลเหล่านี้บางคนก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรมาก่อนการตั้งขบวนการเสรีไทยแล้ว คือกลุ่มที่นายจํากัดนํามารวมกับกลุ่มของนายปรีดีนั้นเองประกอบด้วยบุคคล เช่น นายเตียง นายทองอินทร์ นายถวิล และนายจําลอง เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ทําให้ชาวบ้านมีจิตสํานึกแจ่มชัด อบรมพลพรรคในทางการเมือง และยังช่วยในการจัดตั้งองค์การในท้องถิ่นด้วย พวกเขานําประชาชนเข้ามาร่วมต่อสู้ในอุดมการณ์ขบวนการระดับชาติภายใต้นายปรีดีและ คณะของนายปรีดีขณะเดียวกันพวกเขาก็มาช่วยทําให้นายปรีดีและคณะซึมซับความรู้สึกประสบการณ์ความทุกข์ยาก ความเอื้ออาทรต่อกัน และกันและความใฝ่ฝันของราษฎรธรรมดาพร้อมกันไป เห็นความสําคัญของประชาชนคนสามัญในชนบทมากขึ้น พวกเขาทําให้นายปรีดีและคณะมีความเป็นราชการน้อยลง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนมากขึ้น หลักฐานชัดเจนหนึ่งที่จะเห็นได้ต่อไปก็คือการที่พวกเขากลุ่มนี้ก่อตั้งพรรคสหชีพขึ้นภายหลังสงคราม มีอุดมการณ์ แบบชาวนา คือสหกรณ์ของผู้ผลิตเล็กอิสระ และนายปรีดีได้โน้มเอียง สนับสนุนพรรคนี้เป็นอย่างดี และพรรคก็สนับสนุนนายปรีดีและคณะอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ความคิดของนายปรีดีในช่วงหลังก็ระบุถึง และให้ความสําคัญอย่างมากแก่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองชาวบ้าน ไทย ซึ่งเป็นระบบชุมชน และท่านปรีดีเรียกว่าระบบปฐมกาลหรือระบบสามัคคีธรรม (บทความของปรีดี พนมยงค์ “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ” (2517) และ “จะมีทางได้ประชาธิปไตบโดยสันติวิธีหรือไม่” (2516))
ปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกําลังสําคัญมากของขบวนการเสรีไทยคือชนชั้นกลาง การเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยได้หล่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นปัญญาชนของประชาชน คือพวกนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ลูกศิษย์นายปรีดีอย่างเช่น นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ นายวงศ์ พลนิกร นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์ สามท่านนี้ได้ออกไปฝึกเป็นทหาร จารุบุตรที่อินเดีย วงศ์และสุภัทรที่ลังกา ร่วมงานกับสัมพันธมิตร นายไสว สุทธิพิทักษ์ช่วยงานติดต่อภายในประเทศของศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้จัดการสํานักงานใหญ่กลางของขบวนการเสรีไทยซึ่งตั้งอยู่อย่างลับ ๆ ในมหาวิทยาลัยฯ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 298 คนได้สมัครเป็นนักเรียนนายทหาร สารวัตร และนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 396 คนได้สมัครเป็นนักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร คณะนิสิตและนักเรียนประมาณ 700 คนนี้มีความสําคัญมาก คณะเสรีไทยได้จัดตั้งขึ้นในปีสุดท้ายของสงคราม 1945 เพื่อให้เป็นกองหน้านําพลพรรค เสรีไทยต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วยอาวุธ พวกเขาได้รับการอบรมให้ทราบ ภาระกู้ชาติและได้รับการฝึกการใช้อาวุธทันสมัยที่ได้รับจากสัมพันธมิตร ปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่งคือนักศึกษาไทยในต่างประเทศก็ได้เสียสละ ความสุขส่วนตัวสมัครเป็นทหารและเสี่ยงอันตรายเล็ดลอดเข้ามาติดต่อหาข่าว รวมทั้งฝึกอบรมและฝึกอาวุธพลพรรค ณ ค่ายต่าง ๆ ในชนบทของประเทศ คณะเสรีไทยสายต่างประเทศที่ลักลอบเข้ามาในประเทศเหล่านี้เสี่ยงอันตราย แบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะมี โอกาสมากที่จะถูกสังหารฐานเป็นจารชน ทั้งจากญี่ปุ่นและไทย ถูกจับและถูกซ้อมทารุณ ประสบอุปัทวเหตุหรือเจ็บป่วยหนักในป่า และในความเป็นจริง เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา 2 คน คือนายการเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงษ์ ศัลยพงษ์ถูกตํารวจไทยยิงเสียชีวิต เสรีไทยสายจีนหลายคนก็ถูกสังหารขณะลอบเข้ามาปฏิบัติการ นายฉันทนาได้บรรยายภาพนักเรียนนอกเหล่านี้ในหนังสือ X.O. Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย (2489) ว่า “ข้าพเจ้านึกเห็นภาพหนุ่มน้อยนักเรียนไทยร่างกํายําลําใหญ่ บ้างตัวเล็กจิ๋ว บางคนชั่วชีวิตไม่เคยกินผิดเวลา บางคนไม่รู้ว่าความตกระกําลําบากคืออะไร ต่างออกไปจากและเข้ามาสู่ดินแดนไทย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน ในท่ามกลางมหาภัยและความทุรกันดารร้อยแปดพันประการ โดยมิได้ย่อท้อ บ้างเจ็บไข้ได้ป่วยและเอาชีวิตไม่รอด และบ้างก็ได้เสียชีวิตไปเป็นชาติพลี”
ขบวนการเสรีไทยมีสมาชิกบางคนเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีด้วย ผู้ที่มีพระอิสริยยศสูงสุดคือสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 นอกจากนั้นก็มีบุคคลระดับพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าหลายคน ผู้ที่มีบทบาทสําคัญที่สุดคือ พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์พระเชษฐาสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระองค์ท่านทรงสมัครเป็นเสรีไทยตั้งแต่เริ่มแรกที่ประเทศไทยเข้าสงคราม ได้ทรงเดินทางจากอังกฤษไปพบนายจํากัด พลางกูรในประเทศจีน และในปีสุดท้ายของสงครามได้ทรงเล็ดลอดเข้ามาในประเทศ และทรงช่วยก่อตั้งหน่วยพลพรรคหลายแห่งผู้นําเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาก็เป็นหม่อมราชวงศ์ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายมาลัย ชูพินิจ ได้เขียนไว้ว่า “ไม่มีครั้งใดที่บุคคลผู้ต่างกันทั้งความเป็นอยู่ อาชีพ สังคม และสิ่งแวดล้อมราวฟ้ากับดิน จะมีโอกาสรับใช้ชาติ ได้ร่วมชีวิตเพื่ออยู่ตายร่วมกันอย่างสมาชิกขององค์การ X.O. Group” (X.O. Group เป็นชื่อรหัสของคณะเสรีไทยเมื่อแรกจัดตั้ง)
บุคคลกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึงคือทหาร ทหารประจําการได้ร่วมกับประชาชนต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ ณ 6 จังหวัดภาคใต้ ในวันแรกที่ญี่ปุ่นบุกขึ้นมา หลายคนเสียชีวิต และหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 1944 ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ทหารได้โน้มเอียงมาใกล้หรือหนุนหลังขบวนการเสรีไทย ก่อนหน้านั้นจอมพล ป.เองก็พยายามกลับลํา พยายามติดต่อใต้ดินกับฝ่ายในจีนกองพล 93 ในยูนนาน
หลักฐานของการปลุกจิตสํานึกและระดมพลังของประชาชนไทยธรรมดาของขบวนการเสรีไทย ก็คือเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ประเทศชาติมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประชาชนมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยม มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกบทเฉพาะกาล ไม่มีสมาชิกสภาประเภท 2 ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจํา พรรคการเมืองมีได้ทุกลัทธิ มีได้แม้พรรคคอมมิวนิสต์ การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพเต็มที่ สหบาลกรรมกรม ขนาดใหญ่และมีพลัง
แม้ว่าในช่วงสมัยต่อมา พลังแห่งรัฐแบบเดิมได้หวนกลับเนื่องจากรัฐประหาร 2490 (ค.ศ.1957) และในสมัยสงครามเย็น ระบบทุนที่ขยายตัวมีลักษณะเป็นแบบขวารวมกับพลังรัฐแบบเดิม เป็นช่วงรัฐบาลทหารที่ยาวนาน พลังก้าวหน้าของประชาชนที่ขบวนการเสรีไทยมีส่วนสร้างขึ้นก็ดํารงอยู่ แม้ล้มลุกคลุกคลานบ้างแต่ก็ขยายตัวจนกระทั่งนํามาซึ่งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยประชาชนสามัญ ปัญญาชน นักศึกษาและนักเรียน 14 ตุลาคม 2516 (ค.ศ.1973) ท่านปรีดีได้เขียนบทความวิเคราะห์และสดุดีพลังนี้ไว้ในบทความ “จง พิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” (2516) และท่านได้พยายามชี้ความผิดพลาดของคณะราษฎรที่ไม่สามารถพัฒนาพลังฝ่ายก้าวหน้าคือจิตวิญญาณประชาธิปไตยสมบูรณ์ของประชาชนให้สําเร็จถึงที่สุดได้ มีนัยว่าแนวคิดและจิตวิญญาณขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 14 ตุลาคม คืออุดมการณ์เดียวกับของคณะราษฎร แต่ได้พัฒนามากขึ้นมากในการปฏิบัติ คือได้แผ่ซ่านเข้าอยู่ในจิตใจและการปฏิบัติการของมวลประชาชนแล้ว ทําให้อุดมการณ์ที่ก้าวหน้า อุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น มีพลังมากขึ้น อย่างมากในสังคมไทย ผมคิดว่ากระบวนการพัฒนาจิตสํานึกของประชาชนนี้ได้สืบเนื่องส่งต่อกันเรื่อยมา และจะสืบเนื่องพัฒนาต่อไปในอนาคต ผมคิดว่าแม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะทําให้คณะราษฎรสลายตัว ซึ่งต่อมาทําให้พลังรัฐแบบเดิมหวนคืนอํานาจ การเกิดขบวนการเสรีไทยซึ่งประสานประชาชนกับปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าได้ทําหน้าที่ในทางตรงกันข้าม คือปลุกจิตสํานึกของชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้เข้ามามีส่วนกําหนดชีวิตของประเทศชาติ โดยเฉพาะพันธมิตร ระหว่างคนชั้นกลางกับประชาชน ซึ่งมีผลสําคัญอย่างยิ่งและเป็นผลที่สืบเนื่องยาวนาน เป็นพื้นฐานที่จะอํานวยให้ความหวังและความใฝ่ฝันของชาวไทยพัฒนาเป็นความจริงสมบูรณ์ คือความหวังและความใฝ่ฝันที่ประเทศของเราจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กระจายอํานาจประชาชนมีเสรีภาพและมีส่วนร่วมเต็มที่ เศรษฐกิจเป็นระบบสหกรณ์ และเป็นประชาชาติที่มีเอกภาพอันถักทอขึ้นมาจากชุมชนของประชาชนท้องถิ่นต่าง ๆ
ที่มา:
- บทความนี้ปรับปรุงจากบทอภิปรายในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “60 ปีวันสันติภาพไทย” ร่วมกับ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โครงการวันรำลึก ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์ สนั่น เกตุทัต ครั้งที่ 1 จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2548 เวลา 13.15-16.00 น. ณ ห้องประชุมหอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อาคารไสว สุทธิพิทักษ์ อนุสรณ์ ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณคุณพิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา อดีตเสรีไทยที่กรุณาเขียนจดหมายมาถึงผู้เขียนหลังจากการเสวนา ผู้เขียนได้ความคิดเพิ่มเติมในเรื่องลักษณะสงครามลับหรือสงครามกองโจรของพลพรรคเสรีไทยและข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเสรีไทยสายต่างประเทศจากท่าน และได้นำมาปรับปรุงคำอภิปราย ขอขอบคุณ คุณจุฑามาศ ประมูลมาก ผู้ช่วยเหลือ ช่วยหาหนังสือและบทความจำนวนมาก ซึ่งนำมาใช้ในการเตรียมบทความนี้
- บางส่วนจาก ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2549). “ความสำคัญของขบวนการเสรีไทย”. คณะกรรมการจัดงานสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2549 สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์