ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เสรีไทย...ผู้ปิดทองใต้ฐานพระ

25
กันยายน
2564

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ประกาศสันติภาพ แสดงจุดยืนแห่งความเป็นกลาง สันติภาพ และอิสรภาพของชนชาวไทยต่อประชาคมโลก เป็นการประกาศเอกราช อธิปไตย ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นชาติผู้แพ้สงคราม

 

ประกาศสันติภาพดังกล่าว มีข้อความตอนหนึ่งว่า

................

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า

การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทยในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติประเทศไทยตัดสินใจให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกวิถีทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้.........

‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมัยที่ท่านเป็น พระราชวรมุนี ได้เขียนบทคำนำ สันติภาพ ในหนังสือจากมหาสงครามสู่สันติภาพ ไว้ว่า

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติ ชนชาวไทยได้ประสบทั้งความทุกข์จากสงคราม และความสุขจากสันติ สลับกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ผ่านพ้นภัยพิบัติมาได้ สามารถดำรงอิสรภาพของตนได้สืบมา สงครามครั้งใหญ่ที่สุดซึ่งความเดือดร้อนแผ่ไปทั้งผืนแผ่นดิน ก็คือมหาภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง แม้คนไทยจะไม่ได้ก่อสงครามนั้น แต่ก็ต้องถูกดึงเข้าไปร่วมเคราะห์กรรมในเหตุการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความเสียสละและสติปัญญาของชาวไทยด้วยกันนี่เอง ซึ่งหวังดีต่อชาติ ประเทศไทยก็รอดพ้นจากการสูญเสียอิสรภาพ และกลับคืนสู่ความสงบ โดยได้มีการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488

 

วันประกาศสันติภาพ เป็นหนึ่งในวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย

รู้ท (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กล่าวสุนทรพจน์ไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“...เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ  เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน  การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด  แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล

..วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น

กล่าวคือ เมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัว ที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง

….เราพึงพอใจด้วยความระลึกและด้วยความภาคภูมิใจว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิด

มาเป็นคนไทย

…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง”

 แต่เป็นที่น่าสลดใจคือ ไม่นานหลังจากนั้น เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490  สมาชิกขบวนการเสรีไทยจำนวนหนึ่ง  ถูกอุ้มฆ่าอย่างโหดเหี้ยม หรือทำให้สูญหายไป

ขอคารวะต่อวีรชนเสรีไทยทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย

 

‘นายทศ พันธุมเสน’ เสรีไทยสายอังกฤษ กล่าวถึงภารกิจของเสรีไทย ผู้ทำงานรับใช้ชาติว่า

“เสรีไทยทุกคน ทำงานปิดทองใต้ฐานพระ ที่ยิ่งกว่าปิดทองหลังพระ”

ธรรมเนียมเดิมสำหรับผู้ที่ทำความดีอย่างเงียบๆ เราจะเรียกว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระ  แต่ในความจริง  หากเดินอ้อมด้านหลังองค์พระฯก็สามารถมองเห็นแผ่นทองนั้นได้  ในขณะเดียวกัน  คงไม่มีผู้ใดยกพระพุทธรูปขึ้นมาเพื่อส่องดูแผ่นทองที่ปิดอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปนั้น  อุปมาได้ว่า การทำงานรับใช้ชาติของเสรีไทยที่เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อเอกราชของชาติ  นั่นคือการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น หรือการปิดทองใต้ฐานพระอย่างแท้จริง

 

ปัจจุบัน โลกเราก็ยังอยู่ในภาวะไร้สันติภาพ ทั้งทางกาย วาจา และใจ  การเบียดเบียนและเข่นฆ่ากันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

ขอฝากส่วนหนึ่งจากคำนำของนายปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือพระเจ้าช้างเผือก ที่เขียนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2482 ไว้ดังนี้

“ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียง บันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

 

ดุริยกวีนิพนธ์ “สันติธรรม” 

ประพันธ์โดย ‘ไกวัล กุลวัฒโนทัย’ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน

เนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียงเสียงประสานโดย ไกวัล กุลวัฒโนทัย

บรรเลงโดย วงดุริยางค์ และคณะนักร้องประสานเสียง ๑๖ สิงหา

 

 

เนื้อเพลง 

โลกนี้...ยังไม่มีสันติภาพ
โลกยังอาบเปลวไฟไปทุกแห่ง
เพลิงสงครามลามลุกระอุแรง
ยังแอบแฝงแสดงออกทั้งนอกใน

ความชอบธรรมพิพากษาด้วยการฆ่า
แค่ชี้นิ้วชี้ชะตาชีวิตได้
คนหยิบมือถือสิทธิ์ขาดอำนาจไว้
คนนับล้านร่วงบรรลัยไปกับตา

สิ่งใดเล่าคือความยุติธรรม
คือกระสุนระเบิดซ้ำสักแสนห่า
เสียงคำถามข้ามยุคทุกข์ทรมาน์
เหลือเพียงเลือดและน้ำตาชโลมดิน

เกลียวเมฆครึ้มความเกลียดชังยังแผ่ครอบ
แผ่ขยายขอบอาฆาตวินาศสิ้น
เมื่อไหร่หนอจะสิ้นยุคทุกข์ทมิฬ
ให้โลกยินยลรักได้สักครา

ร้อยบทกวี  สันติธรรมซ้ำคำถาม
ร้อยบทร้อยเพลง  แห่งสงครามร่ำร้องหา
ให้เปลวไฟสันติภาพอาบท้องฟ้า
ฉีกริ้วเมฆทะลุฝ่าเปิดฟ้าไกล

โลกนี้  คงจะมีสันติภาพ
เมื่อมนุษย์หยุดบาปอันยิ่งใหญ่
ให้แสงแห่งสันติสุขส่องหัวใจ
ก่อนจะสายเกินไป...มนุษย์เอยฯ