ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์ และภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอินเดียนแดง

26
มีนาคม
2566

นอกเหนือจากการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ดังปรากฏผลงานชิ้นสำคัญอย่าง พระเจ้าช้างเผือก ที่นำออกฉายสู่สายตาผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศช่วงต้นทศวรรษ 2480 แล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นบุคคลผู้ชื่นชอบการ ‘ดูหนัง’ มาแต่สมัยหนุ่มๆ โดยเฉพาะขณะเป็นนักเรียนวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผมเคยเขียนถึง ปรีดี พนมยงค์ ชอบดูภาพยนตร์ ไว้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

หากที่กล่าวมานั้น คือเรื่องราวของนายปรีดีในยุคก่อนหน้าที่ชาวโลกทั้งหลายจะมีโอกาสทำความรู้จักมักคุ้นกับโทรทัศน์ !

แท้จริงจุดเริ่มต้นของความพยายามทดลองประดิษฐ์เครื่องโทรทัศน์ได้ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ดังมีนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนาม ปอล ก็อตต์ลีบ นิปโคว์ (Paul Gottlieb Nipkow) ค้นพบวิธีการถ่ายทอดสัญญาณภาพผ่านสายโดยใช้แผ่นโลหะหมุน ฐานคิดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์อีกหลายรายและหลายเชื้อชาตินำเอาไปพัฒนาต่อยอดสู่การประดิษฐ์หลอดภาพอิเล็กทรอนิกส์

จวบจนในทศวรรษ 1920 สองนักประดิษฐ์อย่าง จอห์น โลจี เบร์ด (John Logie Baird) ชาวสก๊อต และ ชาร์ลส ฟรานซิส เจนกินส์ (Charles Francis Jenkins) ชาวอเมริกัน สามารถทดลองถ่ายทอดสัญญาณภาพโดยไม่ต้องใช้สายเป็นผลสำเร็จครั้งแรก นับจากนั้น สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “โทรทัศน์” (Television) ก็ถือกำเนิดขึ้นและมีการพัฒนาระบบกลไกการทำงานเรื่อยๆ 

ส่วนทางเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2475 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เริ่มริที่จะเตรียมการทดลองส่งสัญญาณภาพโทรทัศน์ แต่ยังไม่ทันดำเนินการก็เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนขึ้นเสียก่อน ความสนใจเรื่องโทรทัศน์จึงหยุดชะงักไป

ล่วงมาสู่ต้นทศวรรษ 2490 รัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี บังเกิดความสนใจจะก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้น สืบเนื่องจากท่านจอมพลได้อ่านบทความเกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องโทรทัศน์ในทวีปยุโรปและอเมริกาเรื่อง “วิทยุภาพ” ของ สรรพสิริ วิรยศิริ เจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศประจำกรมโฆษณาการ พร้อมมีดำริไปยังอธิบดีกรมโฆษณาการว่า เมืองไทยคงจะต้องตั้งสถานีโทรทัศน์แล้ว แม้เสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายและประชาชนจะเซ็งแซ่ เพราะไม่เห็นด้วยในการลงทุนด้านกิจการโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

แต่รัฐบาลจอมพล ป. ก็ให้ดำเนินการจัดตั้ง บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2495 โดยส่งเจ้าหน้าที่ของไทยไปดูงานและฝึกงานด้านต่างๆ เกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา บุคคลผู้บัญญัติคำศัพท์ “วิทยุโทรทัศน์” ขึ้นมาใช้คือ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

กระทั่งที่สุด รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498

นับแต่นั้นเรื่อยมา โทรทัศน์ก็กลายเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สำคัญยิ่งและได้รับความนิยมในสังคมไทย ทั้งยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย

ทศวรรษ 2490 คือห้วงยามที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องอำลาบ้านเกิดแล้วระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน เขาจึงมิได้สัมผัสบรรยากาศการมีโทรทัศน์ในประเทศไทย

ทว่าช่วงที่นายปรีดีพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนับแต่ปี พ.ศ. 2513 - 2526 การดูโทรทัศน์ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขา

ภายหลังการอสัญกรรมของนายปรีดีล่วงผ่านไปไม่นานนัก ทางหนังสือพิมพ์ สยามใหม่ ได้มาเยือนบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และสัมภาษณ์ปากคำของ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรสาวคนหนึ่งของนายปรีดี แล้วนำมารายงานในหัวเรื่อง บันทึกชีวิตสมถะ ปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2526 ซึ่งเนื้อความส่วนหนึ่ง เอ่ยถึงการชอบดูภาพยนตร์สารคดีผ่านจอโทรทัศน์ของนายปรีดี อันเป็นกิจวัตรภายหลังอาหารเย็นซึ่งส่วนมากเขามักจะกินข้าวต้ม ดังความว่า

 

หลังจากนั้นก็ดูข่าวทีวี. ต่อจากนั้นก็จะเป็นภาพยนตร์ ที่ชอบมากที่สุดก็คือพวกสารคดี โดยเฉพาะเรื่องทางประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็เรื่องเกี่ยวกับจักรๆ วงศ์ๆ ของรัสเซีย ด้วยความที่ท่านมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์มาก ท่านก็มักจะอธิบายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่ร่วมชมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย เรื่องที่ไม่ชอบดูเป็นที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอินเดียนแดงที่สร้างโดยชาวอเมริกัน ซ้ำท่านยังกล่าว บริภาษอีกด้วยว่า “พวกอเมริกันนี่ ไปรุกรานเขาแล้ว ยังสร้างภาพยนตร์บิดเบือนความจริงอีก เป็นการเอาเปรียบกันเกินไป”

 

บ้านอองโตนี ณ ชานกรุงปารีสอันเป็นแหล่งพำนักของนายปรีดี มีโทรทัศน์อยู่ทั้งหมด 2 เครื่อง โทรทัศน์เครื่องใหญ่ผลิตในฝรั่งเศสราคา ไม่แพงนัก ส่วนโทรทัศน์เครื่องเล็กที่อยู่ในห้องนอนนั้น บุตรหลานซื้อมอบให้นายปรีดี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดปี พ.ศ. 2523

ภาพยนตร์เกี่ยวกับอินเดียนแดงที่สร้างโดยสหรัฐอเมริกามีจุดเริ่มต้นมาจากการอุบัติขึ้นของ “ภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตก” (The Western) นับแต่ช่วงทศวรรษ 1910 เรื่อยมา ภาพยนตร์ประเภทนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวที่ชาวอเมริกันผิวขาวได้พยายามเดินทางเข้าไปสำรวจในดินแดนทางฟากตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นภาพของคาวบอยและกองคาราวาน และต้องเผชิญกับชาวพื้นเมืองดั้งเดิมรวมถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลแห่งท้องถิ่นเหล่านั้น

 

ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์อเมริกันแนวบุกเบิกตะวันตก
ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์อเมริกันแนวบุกเบิกตะวันตก

 

ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์อเมริกันแนวบุกเบิกตะวันตก
ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์อเมริกันแนวบุกเบิกตะวันตก

 

เดิมทีเนื้อหาว่าด้วยการบุกเบิกดินแดนตะวันตกปรากฏอยู่ในรูปแบบนวนิยาย เฉกเช่น ผลงานประพันธ์เรื่อง The Virginian ของ โอเวน วิสเตอร์ (Owen Wister) ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1902 ซึ่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้ค่อนข้างครบถ้วน จนถือเป็นนวนิยายเกี่ยวกับดินแดนตะวันตกเรื่องแรก กลายเป็นหมุดหมายและแนวทางให้งานเขียนเรื่องอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

 

The Virginian (1902) ที่มา : วิกิพีเดีย
The Virginian (1902)
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

ส่วนการนำเรื่องราวของดินแดนตะวันตกมาจัดสร้างเป็นภาพยนตร์ แล้วก่อให้เกิดความนิยมในหมู่ผู้รับชมอย่างแม่นมั่น ปรากฏขึ้นในทศวรรษ 1920 โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง The Covered Wagon ออกฉายเมื่อ ค.ศ. 1924 แสดงภาพการเดินทางของกองคาราวานจากฟากตะวันออกเข้าไปบุกเบิกฟากตะวันตก ทั้งยังสร้างฉากการผจญภัยน่าตื่นเต้นและการต่อสู้ดวลอาวุธอย่างดุเดือด กำหนดให้ตัวละครมีความเป็นวีรบุรุษและผู้ร้าย แน่นอนว่าฝ่ายผู้ร้ายมักจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในดินแดนตะวันตก พอปีถัดมาก็มีการสร้างภาพยนตร์ The Iron Horse ออกมาสนันสนุนอีกเรื่อง นับแต่นั้น ภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตกก็ได้รับการทยอยผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากมายในโลกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์จากฮอลลีวูด (Hollywood)

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Covered Wagon ที่มา : วิกิพีเดีย
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Covered Wagon
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Iron Horse ที่มา : วิกิพีเดีย
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Iron Horse
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

ประเด็นสำคัญอันภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตกมุ่งเน้นนำเสนอคือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างความเป็นตะวันออกกับตะวันตก เมืองกับป่า เมืองกับทะเลทราย ชาวผิวขาวผู้เข้ามาสำรวจกับชาวพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มผู้มีอิทธิพลแห่งท้องถิ่นเหล่านั้น โดยตัวละครชาวผิวขาวจะตัดสินใจเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งในฐานะวีรบุรุษด้วยการปราบปรามกำราบผู้ร้ายในดินแดนตะวันตกที่ประพฤติตนเลวทราม ดังนั้น ฉากต่อสู้ดวลปืนกันจึงเป็นหัวใจหลักที่จะต้องปรากฏในภาพยนตร์ประเภทนี้ ยิ่งเฉพาะการดวลปืนของพวกคาวบอยที่เป็นภาพจำสำหรับผู้รับชมมิรู้ลืมเลือน

 

ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์ยุค 1920
ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์ยุค 1920

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะนับจากทศวรรษ 1950 เรื่อยมา ความขัดแย้งกันระหว่างนักบุกเบิกผิวขาวและคาวบอยกับชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตก การนำเสนอเช่นนี้ไม่เพียงมุ่งถ่ายทอดความบันเทิงเท่านั้น หากยังใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในเชิงเผยแพร่แนวคิดเชื้อชาตินิยมและการเหยียดผิวให้กว้างขวาง โดยเน้นย้ำว่าสหรัฐอเมริกามีความชอบธรรมแล้วในการเข้าไปบุกเบิกดินแดนตะวันตกหรือแม้กระทั่งรุกรานชนเผ่าอินเดียนแดงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ราวๆ ค.ศ. 1860-1890) เพราะเป็นการสร้างความเจริญให้กับดินแดนนั้น

ชาวอเมริกันผิวขาวนิยามการกระทำเช่นนี้ว่า “การพิชิตตะวันตก” ทั้งๆ ที่จริง พวกชาวอเมริกันผิวขาวเข้าไปกดขี่ข่มเหงชาวอินเดียนแดงอย่างโหดร้ายทารุณ ทั้งก่อเหตุสังหารหมู่และยึดครองตักตวงทรัพยากร แต่ในภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตกกลับสร้างภาพให้การกระทำของชาวอเมริกันผิวขาวไม่ว่าจะเป็นนักบุกเบิก คาวบอย พ่อค้าขนสัตว์ มิเว้นกระทั่งหมอสอนศาสนา กลายเป็นวีรกรรมของวีรบุรุษผู้กล้าหาญ และสร้างภาพความชั่วช้าให้กับชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงจนกลายเป็นผู้ร้าย มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรจากสัตว์ป่า

 

ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์ยุค 1920
ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในภาพยนตร์ยุค 1920

 

ภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตกได้รับความสนใจแพร่หลายและครอบงำความคิดของผู้ชมมาตลอดช่วงสงครามเย็นจนกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน ครั้นล่วงสู่ทศวรรษ 1980 กระแสความนิยมภาพยนตร์แนวนี้สร่างซาลงไปมาก แทบไม่ปรากฏการจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่กระนั้น ก็มีการสร้างภาพยนตร์แนวบุกเบิกตะวันตกออกมาจำนวนมากเพื่อนำเสนอผ่านทางสื่อโทรทัศน์แทน ช่วงเวลานี้เองที่นายปรีดีได้รับชมภาพยนตร์ทำนองดังกล่าวผ่านจอโทรทัศน์ขณะพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

น่าเสียดายเหลือเกิน เป็นเวลานานอีกหลายปีภายหลังการอสัญกรรมของนายปรีดี กว่าจะมีการสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพชาวอเมริกันผิวขาวแสดงความเห็นอกเห็นใจและยืนหยัดเคียงข้างชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอย่าง Dances with Wolves (ออกฉาย ค.ศ. 1990)

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Dances with Wolves ที่มา : moviepostershop
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Dances with Wolves
ที่มา : moviepostershop

 

การที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดูภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอินเดียนแดงที่สร้างโดยชาวอเมริกันแล้วถึงกับเอ่ยปากบริภาษว่า “พวกอเมริกันนี่ ไปรุกรานเขาแล้ว ยังสร้างภาพยนตร์บิดเบือนความจริงอีก เป็นการเอาเปรียบกันเกินไป” นั้น ย่อมยืนยันถึงแนวคิดหนักแน่นของเขาที่มองเห็นคนทุกคนทุกเผ่าพันธุ์ล้วนเท่าเทียมกันและไม่เห็นพ้องต่อการยึดถือเชื้อชาตินิยมและการเหยียดสีผิว นั่นจึงเป็นเหตุให้นายปรีดีมิอาจอดทนนิ่งเฉยต่อการรับชมภาพการกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน ซึ่งถูกนำเสนอให้กลายเป็นความบันเทิงผ่านสื่อโทรทัศน์ได้ลงคอ !

เอกสารอ้างอิง

  • กฤษฎา เกิดดี. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์: การศึกษาว่าด้วย 10 ตระกูลสำคัญ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ หสน.ห้องภาพสุวรรณ, 2541.
  • “บันทึกชีวิตสมถะ ปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส.” ใน มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526. หน้า 475-481.
  • อาจินต์ ปัญจพรรค์. ยักษ์ปากเหลี่ยม. กรุงเทพฯ: หมึกจีน, 2533.
  • Abramson, Albert. The History of Television, 1880 to 1941. Jefferson, NC: McFarland & Co., 1987.
  • Burns, R. W. John Logie Baird: Television Pioneer. London: Institution of Electrical Engineers, 2000.
  • Gehring, Wes D. Handbook of American Film Genre. New York: Greenwood Press, 1988.