ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ปรากฏกระแสความตื่นตัวและให้ความสนใจต่อสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ในหมู่ประชาชน ไม่เพียงแต่พลเมืองแห่งพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น หากยังรวมถึงชาวบ้านตามท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ
แม้ช่วงแรกๆ คนจะมิค่อยรู้จัก “รัฐธรรมนูญ” สักเท่าไหร่ จวบกระทั่งสมัยรัฐบาลที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ทางการพยายามมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้าใจเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ให้แก่ราษฎรทั้งหลาย โดยเฉพาะพื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัดและพื้นที่ท้องถิ่นห่างไกลเมืองหลวง เนื่องจากเป็นแหล่งที่ชาวบ้านจำนวนมากใช้ภาษาพื้นเมืองในการสื่อสาร อันแตกต่างจากภาษาส่วนกลางของรัฐ
ดังนั้น รัฐบาลคณะราษฎรจึงสนับสนุนให้มีการเผยแผ่เนื้อหาว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” หลากหลายรูปแบบและกระจายวงกว้างที่สุด
ปลายปี พ.ศ. 2476 ทางการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนดวันลงคะแนนพร้อมกันทุกจังหวัดตรงกับวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน ครั้นได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดแล้ว รัฐบาลคณะราษฎรก็มอบหมายให้ตัวแทนประชาชนเหล่านี้มาร่วมช่วยกันประชาสัมพันธ์และเผยแผ่หลักการของ “รัฐธรรมนูญ” ไปสู่ชาวบ้านอย่างทั่วถึง
ที่ เชียงใหม่ อันเป็นจังหวัดสำคัญแห่งภาคเหนือและเป็นหัวเมืองหลักแห่งดินแดนล้านนา บุคคลผู้ได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดคือ หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย)
ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลวงศรีประกาศปรารถนาให้ชาวบ้านทำความเข้าใจหลักการของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เอกสารที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของรัฐบาลส่วนกลางนั้น อาจใช้ภาษาที่ชาวภาคเหนือไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด เขาจึงพลันเกิดแนวความคิดที่จะจัดพิมพ์คำปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญเป็นภาษาพื้นเมืองถิ่นเหนือขึ้น เพื่อชาวบ้านทั่วไปจะมีโอกาสทำความรู้จักต่อรัฐธรรมนูญ
ครั้นปี พ.ศ. 2477 หลวงศรีประกาศพยายามติดต่อรัฐบาลคณะราษฎรผ่านทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ โดยส่งจดหมายไปยังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ครั้นวันที่ 21 มิถุนายน ปีนั้น เลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ได้รายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ที่ ม.๒๖๑๐/๒๔๗๗
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗
เรื่อง ให้หลวงศรีประกาศ พิมพ์ปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญเป็นภาษาพื้นเมือง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ด้วยหลวงศรีประกาศผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่มาหารือเรื่องจะพิมพ์ปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญเป็นภาษาพื้นเมือง เพื่อจะแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี และไม่ขัดข้องต่อทางการอย่างใด จึงได้ขอให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้หลวงศรีประกาศดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปตามกฎหมาย ดั่งสำเนาหนังสือที่ส่งมาเพื่อทราบพร้อมกับหนังสือนี้.
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ย่อมเห็นชอบกับแนวความคิดดังกล่าว ในวันเดียวกัน กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้แจ้งไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่
ที่ จ.๒๖๐๖/๒๔๗๗
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗
เรื่อง เห็นควรให้หลวงศรีประกาศ พิมพ์ปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญเป็นภาษาพื้นเมือง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่
ด้วยหลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่มาหารือเรื่องจะพิมพ์ปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญเป็นภาษาพื้นเมือง เพื่อจะแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี และไม่ขัดข้องต่อทางการอย่างใด ฉะนั้นจึ่งเรียนมาเพื่อได้โปรดอนุญาตให้หลวงศรีประกาศดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปตามบทกฎหมาย.
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(ลงนาม) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
แท้จริง หลวงศรีประกาศหาใช่ชาวพื้นเมืองเชียงใหม่มาดั้งเดิม พื้นเพเป็นชาวจันทบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2428 มูลเหตุที่มาอยู่เชียงใหม่ก็เพราะช่วงปี พ.ศ. 2452 ได้ติดตาม พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ (เชิญ ปริชญานนท์) ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์ “หลวงธำรงราษฎร์ประเพณี” เดินทางมารับราชการตำแหน่งข้าหลวงพิเศษและอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพายัพ (ช่วงต้นทศวรรษ 2470 พระยามโหสถฯ ได้เป็นปลัดทูลฉลอง กระทรวงยุติธรรม และกรรมการองคมนตรี สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7)
หลวงศรีประกาศ เองก็เข้ารับตำแหน่งเสมียนศาล พบรักกับแม่หญิงเรือนแก้ว สาวพื้นเมืองผู้มีแหล่งพำนักแถวถนนเชิงสะพานนวรัฐด้านตะวันออก นั่นทำให้คุณหลวงตัดสินใจเลือกตั้งรกรากอยู่เชียงใหม่เรื่อยมา ยึดอาชีพทนายความ และสั่งสมชื่อเสียงจากการว่าความคดีฟ้องร้องเรื่องการทำป่าไม้ระหว่างชาวพื้นเมืองกับบริษัทต่างชาติหลายคดี ก่อนที่จะลงสมัครับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร แล้วประสบผลสำเร็จ
น่าเสียดายเหลือเกิน ผมยังตามเสาะหาไม่พบหลักฐาน ‘คำปาฐกถาในการเผยแผ่รัฐธรรมนูญ’ อันเป็นภาษาพื้นเมืองถิ่นเหนือ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยหลวงศรีประกาศ แต่ความคิดของคุณหลวงที่จะเสนอเรื่องราวหลักการของ “รัฐธรรมนูญ” เป็นภาษาถิ่นพื้นเมือง นับว่าจุดประกายให้ใครอีกหลายคนและอีกหลายท้องถิ่น เฉกเช่น ในปี พ.ศ. 2478 ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) นายอำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเอาเนื้อหาและหลักการของรัฐธรรมนูญมาประพันธ์เป็นคำกลอนภาษาอีสาน จัดพิมพ์ออกเผยแพร่
ใช่เพียงความพยายามเผยแผ่ “รัฐธรรมนูญ” เป็นภาษาพื้นเมืองถิ่นเหนือ หลวงศรีประกาศยังปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรแข็งขัน พัฒนาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ให้กับเชียงใหม่มากมาย ทั้งระบบสุขาภิบาล การพยาบาล การศึกษา และวางระบบงานเทศบาล อีกทั้งสนับสนุน ครูบาศรีวิชัย ในการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ พอช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณหลวงเปิดกิจการ โรงแรมศรีประกาศ ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูนเลียบลำน้ำปิง ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกๆ ของจังหวัด
ภาพ: ป้ายโรงแรมศรีประกาศ ถ่ายจากสถานที่จริง
ที่มา: aday
ภาพ: บริเวณหน้าโรงแรมศรีประกาศ ถ่ายจากสถานที่จริง
ที่มา: https://pantip.com/topic/39347321
เอกสารอ้างอิง
- หจช. สร. 0201.8/57 หลวงศรีประกาศ (พ.ศ. 2477)
- คำถามคำตอบศีลสมาธิปัญญา แล อุบาสกปฏิบัติ. คุณหญิงแนบ มโหสถศรีพิพัฒน์ และหลาน ๆ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ (เชิญ ปริชญานนท์) ที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2492. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2492
- บุญเสริม ศาสตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. อดีตลานนา. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2520
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
- รักฎา เมธีโภคพงษ์ และวีระ เลิศสมพร. นักการเมืองถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2551