ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview: รังสิมันต์ โรม "6 ตุลาฯ อุดมการณ์ที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล"

6
ตุลาคม
2564

 

ครอบครัวของผมไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรมากนัก ตอนเด็กๆ พอจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมป่วยหนักมาก และครอบครัวก็เป็นกังวลมากในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ จนมาวันหนึ่งมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เราก็ไม่ต้องกังวลแบบนั้นอีก

ผมเป็นคนที่สนใจการเมืองตั้งแต่เด็กๆ ด้วยสังคมที่ภาคใต้ และสภาพแวดล้อมทางครอบครัว ในบ้านที่เห็นผู้ใหญ่ตั้งวงนั่งด่านายกกันในยุคนั้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นผมเองก็ไม่ได้มีแนวคิดอย่างเดียวกับเขา แต่ด้วยบริบทของสิ่งที่กำลังเกิด ผู้ใหญ่หลายๆ คนจึงมีการตั้งคำถามว่า คุณทักษิณมีความต้องการที่จะเป็นประธานาธิบดีหรือเปล่า?

นี่คือเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่รอบๆ ตัวของผมมาโดยตลอด ผมจึงไม่ได้มีความรู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว หรือ การที่เด็กคนหนึ่งจะพูดเรื่องการเมือง หรือ มีความสนใจในเรื่องของการเมืองเป็นเรื่องที่แปลก การอยู่กับนโยบายของรัฐ การได้เห็นการเมือง มันสร้างความเป็นตัวตนของผม ผมไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองรุนแรง แต่กลับมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของเราด้วยซ้ำ การเมืองต้องเป็นเรื่องที่จับต้องได้

หลังจากที่ผมย้ายจากนครศรีธรรมราชมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่ทวีธาภิเษก กลับพบสภาพแวดล้อมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง กลายเป็นว่า ณ จุดนี้ การพูดเรื่องการเมือง เรื่องนโยบายของพรรคนั้นพรรคนี้ หรือนักการเมืองคนนั้นคนนี้เป็นเรื่องที่น่าแปลก เพื่อนๆ ทำหน้างง “มึงพูดอะไรของมึง” แต่ที่ไม่แปลกคือการคุยเรื่องส่วนตัวของศิลปิน-ดาราใต้เตียงบนเตียงอะไรทำนองนั้น

ตอนนั้นถือได้ว่าเป็น culture shock สำหรับผมมากๆ ทั้งที่ภูเก็ตเป็นเมืองที่ห่างจากกรุงเทพมหานครแค่ 800 กว่ากิโลเมตร และที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเกิดการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นม็อบเสื้อเหลืองหรือว่าม็อบเสื้อแดง มีคนจำนวนมากอยู่ภายใต้การเมืองที่ร้อนแรง แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา หรือว่าการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนควรมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญควรจะเป็นเรื่องของการเรียน เรื่องของอนาคตเสียมากกว่า 

 

เพราะ “การเมือง ผมจึงเดินทางมาหยุดอยู่ที่ “ธรรมศาสตร์”

“ผมอยากเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์” ด้วยความที่เราสนใจการเมืองมากๆ อยู่แล้ว จึงมีความคิดว่า ถ้าเราเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ได้ น่าจะมีเพื่อนที่ชวนคุยการเมือง และสนใจการเมืองมากขึ้น คิดไว้อยู่ 2 คณะ ไม่นิติฯ ก็รัฐศาสตร์ คือมันเป็นความเชื่อของเราตั้งแต่อยู่ที่ภูเก็ตว่า คนที่เข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ คือ คนที่สนใจในเรื่องของการเมืองมากๆ มันเป็นเหมือนสมการ เหมือนกับการอนุมานของเราที่คิดว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนสอบนิติศาสตร์ แล้วก็สอบติด …

ในวันที่ผมเข้ามาสัมผัสความเป็นธรรมศาสตร์ครั้งแรกกลับพบว่า ไม่มีใครสนใจการเมืองเลย เป็นงงจริงๆ ครับ อย่างเพื่อนที่เรียนนิติฯ ด้วยกัน บางคนมาเรียน เรียนเพื่อไปเป็นผู้พิพากษา ไปสอบเป็นอัยการ เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ ไปทำงานทำการที่มีความมั่นคง เพื่อเป็นความภาคภูมิใจในครอบครัวและที่สำคัญคือเงินน่าจะดีเป็นอันดับต้นๆ ของบรรดาข้าราชการทั้งหมด

ผมคิดว่า การเป็นผู้พิพากษา คือ การทำสิ่งที่มันต้องชี้ขาดระหว่างผิดกับถูก เขาจะได้ชี้ขาดในสิ่งที่ถูก เอาความรู้ที่มีมาทำตรงนี้ แต่เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าในสภาพแวดล้อมทางการเมืองภาพใหญ่แบบนี้ มันสร้างความยุติธรรมกับคนได้อย่างไร สมมติว่าคุณเป็นผู้พิพากษา คุณสามารถตัดสินถูกต้องได้ แต่ในทุกวินาทีที่เราอยู่กันตรงนี้ ไม่ว่าจะอยู่กันตรงไหนก็แล้วแต่ มีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับความอยุติธรรมและเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

แต่แล้วผมก็ได้มาเรียนกับอาจารย์ปริญญา (ปริญญา เทวานฤมิตรกุล) ท่านพูดถึงประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์การเมือง Motto ต่างๆ เราก็เริ่มอิน เริ่มคิดว่า … เออ เราน่าจะมาถูกทางแล้ว

อย่างตอนที่เราลงไปเหยียบที่ลานสนามฟุตบอล เราก็นึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นี่เรายืนอยู่บนสถานที่ที่รุ่นพี่ของเราได้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันรู้สึกได้ถึงพลังอะไรบางอย่างที่ส่งกลับมาในความรู้สึกของเรา มันทำให้อุดมการณ์ของเราชัดเจนขึ้น ซึ่งตอนแรกๆ ผมยอมรับว่าผมเคว้งมาก

 

“ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยครั้งแรก

ช่วงที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ผมมีโอกาสได้มารู้จักกับคณาจารย์กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มนิติราษฎร์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของกฎหมายมาตรา 112 เรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งแน่นอนว่าทางมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับคณาจารย์กลุ่มนี้ และในตอนนั้นผมก็เห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันในชื่อ “ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ทำแคมเปญธรรมศาสตร์ตายแล้ว ชวนให้แต่งชุดดำซึ่งผมก็แต่งชุดดำไปร่วมกับเขาด้วย มีการวางพวงหรีดที่หน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วยที่ธรรมศาสตร์ รังสิต

ตอนนั้นผมแค่ไปสังเกตการณ์ ไปดู ไปเฝ้ามอง ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ในวันนั้นมีใครสักคนยื่นป้ายกระดาษมาให้ผมถือ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ป้ายเขียนว่าอะไร เขาก็บอกให้ผมเดินๆ ไป ผมไม่กล้าที่จะส่งคืน บอกให้เดินก็เดิน พอถึงหน้าอนุสาวรีย์ นักข่าวยืนรอตรงนั้นเต็มไปหมด ผมยอมรับเลยว่าตกใจกลัวมาก ในหัวนี่คิดอะไรต่างๆ นานาเยอะแยะเต็มไปหมด ห่วงทั้งเรื่องเรียนว่าถ้าภาพหลุดออกไปอธิการบดีเห็น ผมจะโดนไล่ออกไหม เพื่อนจะคิดอย่างไร ไหนจะครอบครัวอีกที่ตั้งความหวังกับเราไว้สูงมาก วินาทีตรงนั้น ทุกความคิดไหลเข้ามาในหัวทั้งหมด

จากการเริ่มต้นแบบงงๆ ที่ถือป้าย “ธรรมศาสตร์ตายแล้ว” แบบตกกระไดพลอยโจน ก็เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ผมเห็นว่ามีคนที่สนใจการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ ก็คือกลุ่มนักกิจกรรมตรงนี้ ทุกคนที่ว่านั้นพูดคุยถึงเรื่องการเมืองอย่างเป็นเรื่องปกติ ภาพอุดมการณ์ในหัวของผมชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ อีกครั้ง ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่ตามมาอีกหลายอย่าง 

 

“รัฐประหาร” จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต

 

 

การรัฐประหาร ปี 2557 เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับผมและอีกหลายๆ คน คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ตอนนั้นช่วงปิดเทอมชั้นปีที่ 3 จำได้ว่ากำลังจะเปิดอาเซียน เลยทำให้มีช่วงเวลาของภาคฤดูร้อนที่ยาวนานเป็นพิเศษ ผมฝึกงานอยู่ที่สำนักงานกฎหมายวุฒิสภา ก่อนรัฐประหารวันนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก ผมกับเพื่อนๆ เริ่มรู้สึกว่าคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ พวกเราเริ่มคุยกันว่าถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ จะรับมือกันยังไง จะมีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกันยังไง

ปรากฏว่าสองวันหลังจากนั้น เกิดการรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่กังวลต่อมาคือเพื่อนเราใครสักคนจะถูกควบคุมตัวไปหรือไม่ และภาพใหญ่กว่านั้นคือจะมีผลมาถึงมหาวิทยาลัยด้วยมั้ย จึงเกิดมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ที่เรากำลังเคลื่อนไหวทางสังคมมากพอจริงๆ หรือไม่ และอะไรที่เราควรต้องทำให้มากขึ้น เราค้นพบคำตอบกันในวันนั้น ก็คือผมและเพื่อนๆ ต้องออกไปชุมนุม ออกไปเพื่อแสดงออกว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร ต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม และการก้าวออกไปในวันนั้น ทำให้ผมเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับชาติแทบจะทันที

ชีวิตการเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงไม่ใช่แค่เป็นนักศึกษา แต่เป็นบทบาทของนักกิจกรรม ภาพที่หลายๆ คนจดจำผมได้ก็คือเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ พฤษภาคม ปี 2558 เป็นภาพที่เรากำลังโดนรุมสกรัมจากเจ้าหน้าที่ วันนั้นผมแค่จะไปจัดกิจกรรมเฉยๆ ประมาณ 15 นาที คิดว่าไม่น่าจะโดนอะไร แต่สุดท้ายโดน ผมกับเพื่อนหลายคนถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจและในที่สุดก็ถูกดำเนินคดี จากที่จะวางมือกลับกลายเป็นว่ามาสู้กันใหม่อีกยกหนึ่ง พอเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ทำให้โดนคดีมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

จาก “นักกิจกรรม” สู่ “นักการเมือง”

 

 

“มันตลกที่เราคาดหวังให้สังคมมันเปลี่ยน ในเมื่อทุกๆ คน ยังเป็นคนหน้าเดิมๆ มันยังอยู่ในบริบทการเมืองแบบนี้”

ภายหลังรัฐประหาร 4 ปี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของผม ทุกอย่างยังคงวนซ้ำกลับไปกลับมาที่เดิม ผมจึงรู้สึกว่า ผมต้องทำอะไรสักอย่าง ถ้าจะเปลี่ยนให้ได้ ต้องไม่ใช่แค่นักกิจกรรม แต่ต้องมีบทบาทใหม่ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ผมก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง

ตอนเด็กๆ ผมฝันอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ให้พูดกันตามตรงตอนนี้ก็ยังอยากเป็นอาจารย์อยู่ ผมรู้สึกว่ามันเท่ รู้สึกการเป็นอาจารย์เหมือนเป็นสตาร์ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมตั้งใจเรียน แต่พอมาได้รู้จักอาจารย์ในนิติราษฎร์โดยเฉพาะอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล นั่นทำให้มุมมองความเป็นอาจารย์ของผมเปลี่ยนไป ความฝันที่เป็นอาจารย์ยังอยู่ แต่เพิ่มเติมคือการมีภารกิจบางอย่าง และ อาจจะเป็นภารกิจที่ทำให้เราไม่สามารถเดินไปในสิ่งที่เราฝันเอาไว้ในตอนนี้ได้ นั่นก็คือการมาอยู่เส้นทางการเมืองแบบนี้

 

มุมความเป็นการเมืองของ สส. รังสิมันต์ โรม

การเป็นนักการเมืองสำหรับผม มีข้อดีในมุมที่ว่า เรามายืนอยู่ในจุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ว่าเราด่าเขาอย่างเดียว แต่คือพื้นที่ที่เราจะต้องเข้าไปเปลี่ยน ถ้าอยากให้ให้สังคมเป็นสังคมที่ดีกว่านี้

ในวันที่เรารู้สึกว่านักการเมืองมันแย่ เรารู้สึกว่าสภาไม่ได้เห็นหัวประชาชน เรารู้สึกว่าทำไมเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องกับเรื่องที่สภาพูดคุยเป็นคนละเรื่องกัน ก็เข้าไปสิ เข้าไปเปลี่ยนให้ได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบอกว่าคุณไม่อยากมาพื้นที่นี้ เพราะพื้นที่นี้มันสกปรก แล้วถามว่า แล้วจะเอายังไง ไปอยู่กับทหารเหรอ มันก็แย่กว่าเดิมอีก งั้นก็ต้องมาอยู่ตรงนี้ก็ต้องมาแก้กันเพื่อให้ระบบมันเป็นการทำงานที่ใช้ได้จริง

นี่คือ “ภารกิจ” ในการทำให้การเมืองมันไม่เป็นแบบเดิม ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะมีคนอีกจำนวนมากในวงการการเมือง สิ่งที่เขาอยากเห็น คือ การทำอย่างไรให้การเมืองมันกลับไปเป็นแบบเดิม ส่วนเราบอกว่า เราอยากได้การเมืองแบบต่างประเทศ การเมืองแบบใหม่ การเมืองที่มันเปลี่ยน มันเป็นไปได้อย่างไร คุณมาซื้อส.ส. เหมือนซื้อวัว ซื้อควาย ท่ามกลางที่ประชาชนมันวุ่นวาย ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก คนจำนวนมากพยายามเสียสละตัวเองไปม็อบเพื่อเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่า แต่เรากำลังทำอะไรไม่รู้

ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องแก้ และต้องเข้ามาเพื่อเปลี่ยน แล้วจะมีวิธีการใดที่จะเปลี่ยนแล้วมาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องไปรอว่าให้เด็กอายุ 25 ปี เข้าไปเป็นข้าราชการ แล้วหวังว่าคนพวกนี้จะกลายเป็นอธิบดี กลายเป็นปลัด จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด มันใช้เวลานาน

ที่เห็นและได้ผล คือ การเข้ามาสู่อำนาจทางการเมือง มาเป็นสส. ลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อสร้างรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลที่ไม่เหมือนเดิม และเราก็หวังว่าเราจะพยายามค่อยๆ ถ่ายน้ำเสียออกไปแล้วเอาน้ำดีๆ กลับเข้ามา และให้อยู่ในระบบได้ แล้วผมคิดว่าวันนั้นภาพใหญ่ทั้งหมดของประเทศนี้จะเปลี่ยนสิ้นเชิง 

 

เรากำลังก้าวสู่ “จุดเปลี่ยน” กับสภาวะที่เรียกว่า “ตาสว่าง”

ถ้าถามถึงองค์ประกอบของสังคมทั้งหมดมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แน่นอนมีอำนาจรัฐหลายส่วน มีกองทัพ มีศาล อาจจะมีข้าราชการ อาจจะมีสภา มีรัฐบาล มีผู้คน มีประชาชน มีเรื่องของเศรษฐกิจ มีเรื่องของวัฒนธรรม ผมคิดว่าทุกวันนี้สังคมเราเปลี่ยนไปเยอะมาก ถ้าวัดจากวันแรกที่ผมเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันที่คนพูดถึงเรื่องของการเมืองแล้วไม่เข้าพวก ดูเป็นคนแปลก อย่างบางคนที่เรียนนิติฯ หรือเรียนรัฐศาสตร์ แทบไม่ใช่คอการเมืองเลยด้วยซ้ำ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ คุณลองมองไปที่เด็กมัธยม พวกเขามีความสนใจการเมืองมากๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นแฮชแท๊กต่างๆ เหล่านี้ คือ คนรุ่นใหม่ทั้งหมด อย่างเพื่อนๆ ผมบางคน แต่ก่อนที่เจอกันมันยังเล่นการ์ดยูกิอยู่เลย แต่วันนี้มาตามเรื่องการเมืองกันแล้ว มีคนจำนวนมากที่เคยไปสนับสนุนทหาร อาจจะไม่ได้ทางตรง เคยเข้าร่วมกับกลุ่มกปปส. ที่วันนี้เขาก็รู้สึกว่าเขาจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม เพราะเขาเห็น เขาเรียนรู้ ผมคิดว่านี่คือสภาวะตาสว่าง

เขาเห็นว่าสังคมไทยกำลังเดินไปสู่หายนะได้อย่างไร ถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อน พวกผมเวลาชุมนุมทางการเมือง หรือ ร่วมกิจกรรมเต็มที่ก็ 500 คน ปีที่แล้ว 19 กันยายน คนออกมาเป็นแสน โลกมันเปลี่ยนกันอย่างกลับตาลปัตร เหมือนกับว่าเราตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่งแล้วทุกคนมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป

 

สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน แต่โครงสร้างอำนาจรัฐไม่เคยเปลี่ยน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคงต้องพูดถึง คือ เรื่องของโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปมากมายแค่ไหน แต่สิ่งนี้ไม่เคยเปลี่ยนจริงๆ

โครงสร้างหรือคนที่สามารถเข้าสู่อำนาจรัฐได้ ยังเหมือนเดิม เช่น ถ้าเกิดคุณจะเป็นประธานศาลฎีกา คุณจะเป็นอัยการสูงสุด คุณคือคนที่เรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ในนี้ คุณไม่ได้ถูกเปลี่ยน แต่คุณคือคนที่อยู่ในระบบราชการที่แข็งตัวมาโดยตลอด แล้ววันหนึ่งคุณได้ดิบได้ดี และคุณก็ได้มาซึ่งตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุด

คนที่อยู่ในกองทัพ เขามีกำแพงมิดชิดของเขาซึ่งอยู่ในโลกของเขา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าความคิดแบบประชาชน มันเป็นแบบนี้มานานมาก และไม่พร้อมจะปรับตัวอะไรเลย

โจทย์ที่ค่อนข้างยาก คือ จะทำอย่างไรให้กองทัพยึดโยงกับประชาชนมากกว่ายึดโยงกับอำนาจของรัฐแบบที่กำลังเป็นอยู่ และผมคิดว่า ถ้าเราไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ในสังคมไทยก็จะเป็นอย่างนี้ ก็จะรัฐประหารต่อไปเรื่อยๆ และไม่ว่าเราจะเป็นรัฐบาลที่ดีแค่ไหน เราก็จะถูกฉีก ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขนาดไหน เราก็จะถูกฉีก ไม่ว่ารัฐบาลจะเก่งแค่ไหนก็จะถูกฉีก ไม่ว่าเราจะเห็นนายกรัฐมนตรีที่ก้าวหน้าแค่ไหน ก็จะถูกทำลายลง

ดังนั้น วิธีการที่เราเลี่ยงไม่พ้นและเราต้องยอมรับว่าเราเลี่ยงไม่พ้น ก็คือการต้องทำลายระบบรัฐประหารที่กำลังเป็นอยู่ ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน ผมยังเชื่อว่าถ้าทลายจุดนี้ได้ รวมถึงการเอาคนที่เคยทำรัฐประหารในอดีตมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐประหารต่อๆ ไปในอนาคตก็น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก การทำรัฐประหาร คุณอาจจะชนะในศึกนี้แต่คุณจะไม่มีทางชนะตลอดไป

 

45 ปี 6 ตุลาฯ อุดมการณ์ที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

 

 

ในมุมมองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ช่วงที่รุ่นพี่ถูกกระทำอาชญากรรมโดยรัฐ จนถึง ณ วินาทีนี้ ยังไม่มีใครถูกนำมารับบทลงโทษ ซึ่งในขณะเดียวกันกับบางคน ได้ยศ ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นเหตุการณ์ที่เราต้องไม่หยุดพูด  เราต้องพูดเพื่อย้ำเตือนตลอดเวลา ว่ามีความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร แน่นอนว่าบางคนก็อาจจะบอกว่าไอ้ความรุนแรงนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว มันมีมาหลายครั้ง และมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก นี่คือเหตุผลว่าเราจะหยุดพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ เราต้องพูดต่อไป เพื่ออย่างน้อยทำให้สังคมไทยรู้สึกว่าเราจะกลับไปเป็นแบบนั้นอีกไม่ได้

นั่นหมายความว่าเรายังต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อบอกว่าเรามีบทเรียนแล้วนะ และเราไม่ควรกลับไปที่เดิม ถึงแม้หลังจากนั้นจะเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียซ้ำๆ อีกหลายครั้ง และไม่มีใครการันตีได้ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และโดยส่วนตัวของผม ผมคิดว่า ที่ยังคงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เป็นเพราะมันไม่ต้องมีใครมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เลย

พูดง่ายๆ ถ้าคุณอยากจะหยุดอุ้มหาย สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่แค่ติดกล้องวงจรปิด แต่คุณต้องไปจับคนที่อุ้มเข้ามาอยู่ในคุก เข้ามารับโทษทางกฎหมาย เพื่ออะไร เพื่อบอกว่า เฮ้ยเราไม่ปล่อยคุณนะ คุณจะไม่มีทางอยู่ในสังคมและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ถ้ามือของคุณยังเปื้อนเลือดอยู่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับตาลปัตรเพราะคนที่มือเปื้อนเลือด เลือดที่เปื้อนมือเป็นสิ่งที่เขาใช้ในการทำให้ตัวเองเติบโตในชีวิตราชการ ในชีวิตการงานได้มากขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งต้องยอมรับด้วยว่าคนเหล่านี้มีพื้นที่ในสังคม และดูเหมือนไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

ดังนั้น วิธีการที่ผมคิดว่าจะทำให้ 6 ตุลาฯ เป็นบทเรียนของสังคมไทยจริงๆ เราจำเป็นต้องกลับมาถอดรื้อกันใหม่ เราต้องมาสรุปกันใหม่ว่าตกลงแล้ว ใครต้องรับผิดชอบ? 6 ตุลาฯ ใครที่ต้องเกี่ยวข้อง? แน่นอนบางคนบางส่วนอาจจะเสียชีวิตไปแล้วแต่เราต้องทำให้เห็นว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร และเป็นการจดจำร่วมกันเป็นประวัติศาสตร์ของชาติว่า มีคนแบบนี้นะที่ผิด

คนคนนี้...เคยเป็นมือปืน คุณไปยิงประชาชน
คนคนนี้...เคยเป็นคนที่ทำร้ายนักศึกษา 
คนคนนี้...เคยเอานักศึกษาเข้าไปในคุก
คนคนนี้...มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้นักศึกษาต้องไปอยู่ในป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐ
คนคนนี้...เคยปลุกระดมให้เกิดการฆ่า

คือถ้าเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้ จะไม่มีทางเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่เกิดจากการเห็นภาพ รู้ว่าเคยเกิดความรุนแรง มีคนเอาเก้าอี้ไปตีศพ มีคนลากศพ หรือแม้กระทั่งการอ่าน ผมคิดว่ายังไม่พอ

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ไม่ควรถูกจดจำว่าเป็นแค่เรื่องของความรุนแรง แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ควรถูกจดจำในฐานะที่ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันต้องมีคนรับผิดชอบ คนที่ทำผิดต้องถูกกระบวนการยุติธรรมการดำเนินการ เพื่อให้เขาเกิดการชดใช้ในสิ่งที่เขาทำลงไป เพื่อที่ว่าเหตุการณ์ต่อๆ มาจะไม่เกิดซ้ำรอยเดิมอีก

มันจะเป็นการสร้างมาตรฐานให้เห็นว่าความรุนแรงจะไม่มีวันถูกยอมรับในสังคมไทยอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเห็นในการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ในวันข้างหน้า ไม่ใช่แค่เรื่องของประวัติศาสตร์ แต่มันเป็นเรื่องของการทำให้เห็นว่า เราในสังคมไทย มีวุฒิภาวะ สังคมไทยเป็นสังคมไทยที่มีคุณภาพ และไม่ยอมรับกับความรุนแรงหรือไม่อย่างไร

มีคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมมันล่าช้า” นี่ 45 ปีแล้ว สำหรับ 6 ตุลาฯ ยิ่งกว่าล่าช้าเสียอีก แต่ถ้าให้ผมมองอีกมุมหนึ่ง 6 ตุลาฯ เหมือนเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้กับทุกคนที่ไม่อยากเห็นความรุนแรง ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้ภาครัฐเห็นเช่นกันว่า เขาสามารถใช้ความรุนแรงได้นะ แล้วเขาก็ไม่ถูกจับ หรือถูกลงโทษอีกด้วย กลายเป็นโครงสร้างอันบิดเบี้ยวที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ กับความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในม็อบ ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราไม่สร้างมาตรฐานที่ชัดเจน และการเข้าใจร่วมกันของเรื่องนี้ “เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ” 

 

“ตั๋วช้าง” เรื่องที่ไม่ได้จบแค่ในสภา

การอุปถัมภ์กันในระบบราชการเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างอันบิดเบี้ยว จนส่งผลให้เราเห็นถึงเรื่องของผู้กำกับโจ้ ซึ่งอันที่จริงหากศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ คุณจะรู้ว่าระบบอุปถัมภ์ของตำรวจมีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ ในยุคที่ตำรวจมีอำนาจสั่งเก็บ สั่งฆ่า แม้แต่กระทั่งค้ายา ค้าฝิ่นกันเอง ภาพใหญ่ของเรื่องนี้ คือ พวกกู พวกกัน รุ่นพี่ รุ่นน้อง กูได้ มึงก็ได้ แบ่งสรรปันส่วนกันอย่างพอดี วินวินกันทั่ว

พอหมดรุ่นนั้น ก็ส่งต่อถึงรุ่นนี้ สืบทอดกันมาอย่างยาวนานไม่จบไม่สิ้น อย่างที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่าพวกเขามีกำแพง มีโลกของพวกเขา ซึ่งคนนอกอย่างเราไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเขาไม่ให้เราเข้าไปถึง จริงๆ ไม่ได้มีแค่ “ตั๋วช้าง” แต่มีมากมายอีกหลายตั๋ว

ตั๋วจำนวนมากแบบนี้ ทำให้ทุกระบบ ทุกองคาพยพของตำรวจกลายเป็นเรื่องของตั๋วไปหมด ไม่ได้กลายเป็นเรื่องว่าคุณมีความสามารถ คุณใช้ความสามารถ และคุณมีผลงาน มันไม่ใช่เรื่องของการที่คุณจับคดีนี้ได้ คุณทำผลงานได้ คุณได้แต้มเท่านี้แล้ว พอถึงเวลาคุณก็ต้องเอาแต้มมารวมกันแล้ว คุณก็มาคิดคำนวณว่าใครคืออันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 3 อันดับ 4 มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย แต่มันกลายเป็นเรื่องของเด็กใคร มันเป็นเรื่องของเงินใครมากกว่า มันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าหากจะแก้ปัญหาอะไรแบบนี้ได้ ผมคิดว่าการกระจายอำนาจ คือ ทางออก การทำให้ตำรวจยึดโยงกับประชาชน ตำรวจควรเป็นของประชาชนและรับใช้ประชาชนจริงๆ และให้ประชาชนมีความหมายในสายตาของพวกเขา

 

“ปรีดี พนมยงค์” แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนกฎหมาย

อาจารย์ปรีดี คือ ผู้หนึ่งที่ถูกกระทำรุนแรงจากรัฐ ซึ่งบุคคลที่มีคุณูปการมากๆ กลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำต่างๆ นานา นี่คือความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ผมรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ท่านคิดและวางแผนไว้หลายอย่างไม่ได้บรรลุเป้าหมาย

ในมุมของนักเคลื่อนไหว อาจารย์ปรีดีเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนให้ใครต่อใครหลายๆ คน และ “สิ่งที่ผมคิดว่า แนวคิดที่อาจารย์ปรีดีมอบให้กับพวกเราก็คือ ไม่ว่าสังคมมันจะยากขนาดไหน สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมันจะแย่อย่างไร แต่เราต้องไม่หยุดการเคลื่อนไหว เราต้องไม่หยุดในสิ่งที่เราจะทำเพื่อความเป็นประชาธิปไตย”

มรดกของคณะราษฎร คือ แรงบันดาลใจ อย่าเพิ่งหมดหวังกับสังคมที่เป็นอยู่ ถ้าคุณศึกษาประวัติศาสตร์ คุณจะรู้ว่าสังคม ณ เวลานั้นเป็นเรื่องที่ยากสุดแสนจะยาก ไม่มีโซเชียล และสังคมยังเป็นระบบอุปถัมภ์มากกว่านี้ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับร่วมกันก่อการในสิ่งที่ยากยิ่งกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ต้องออกไปรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านในวันนั้นไม่ประสีประสารู้ความอะไรเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่อาจารย์ปรีดีทำในช่วงเวลานั้น ต้องยอมรับว่าสภาพสังคมมันอาจจะโหดร้ายกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ว่าท่านก็ยังยอมที่จะเสี่ยง และพยายามในสิ่งที่ดีที่สุด ในความเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งที่อยากจะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าจุดนี้แหละคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนที่ธรรมศาสตร์หรือไม่ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์ เข้าใจว่าคณะราษฎรชุดปัจจุบันก็น่าจะได้แรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยจากภารกิจนั้นอยู่ และส่วนตัวผมเอง ท่านก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้สนใจเลือกเรียนทางด้านกฎหมาย

อาจารย์ปรีดีเปรียบเสมือนเป็นอิฐก้อนแรก อิฐก้อนที่สำคัญมากในการที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ไม่มีอาจารย์ปรีดี เราคงจะไม่มีประชาธิปไตย ไม่กล้าฝันเลยก็ว่าได้

นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า การปฏิวัติไม่ใช่แค่การใช้กำลัง แต่คุณต้องใช้สติปัญญา คุณต้องเข้าอกเข้าใจถึงความต้องการของประชาชน คุณต้องใช้มันสมอง สันติวิธีมีมากมายให้คุณได้ศึกษา ประวัติศาสตร์ก็มี และสุดท้าย หมุดหมายที่สำคัญ คือ ประชาชน คือ ราษฎร 

 

 

SPECIAL THANK........รังสิมันต์ โรม
บรรณาธิการ...................ณภัทร ปัญกาญจน์
ถ่ายภาพ........................กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ถอดความ......................ปวิตรา ผลสุวรรณชัย

สัมภาษณ์: ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564
สถานที่: อาคารรัฐสภา เกียกกาย