ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่

24
ตุลาคม
2563

สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านนายกกรรมการ ท่านกรรมการ และท่านสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันที่ต้อนรับผมกับภรรยาในการเชิญมาร่วมงานประจําปีของสมาคม ขอขอบใจสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ได้มาร่วมต้อนรับด้วย และขอขอบใจทุกท่านจากหลายประเทศที่สละเวลาฟังปาฐกถาและสนทนากับผมในวันนี้

ท่านนายกกรรมการได้แจ้งมายังผมว่า กรรมการและสมาชิกมีความสนใจใคร่ที่จะให้ผมแสดงปาฐาถาในหัวข้อว่า “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่” เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งประชุมประจําปีของสมาคมปีกลายนี้ คณะกรรมการขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า “การนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้แก่ประเทศกําลังพัฒนา” เมื่อจบปาฐกถาแล้ว มีหลายท่านได้สนใจถามผมถึงวิธีการที่จะได้ประชาธิปไตย ผมได้สนองตอบเป็นใจความว่า ราษฎรใช้วิธีสันติบ้างและไม่สันติบ้าง ทั้งนี้ผมอาศัยปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งผมมิได้คิดขึ้นเอง แต่ทว่าเมื่อปีกลายนี้ผมไม่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึงตัวอย่างในประวัติศาสตร์ได้ยืดยาว ฉะนั้น จึงขอยกยอดมากล่าวภายใต้หัวข้อปาฐกถาปีนี้

ผมเห็นว่า การจะได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่นั้นในเบื้องแรกสมควรพิจารณาตัวอย่างอันเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การได้มาซึ่งระบบประชาธิปไตยของมนุษยชาติเมื่อครั้งปฐมกาล ซึ่งต่อมาได้ถูกชะงักลงโดยระบบทาสและระบบศักดินา แล้วต่อมาจึงมีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น ผมจะหยุดปาฐกถาลงเพียงการได้ประชาธิปไตยชนิดนี้ เพราะประชาธิปไตยยังมีอีกมากมายหลายชนิด อาทิ ประชาธิปไตยแบบใหม่หรือแบบในค่ายสังคมนิยม, ประชาธิปไตยเพียงด้านการเมือง, ประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และทัศนะประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นหลักนํา ถ้าหากจะกล่าวให้ครบถ้วนถึงวิธีได้ประชาธิปไตย เหล่านี้ก็จะต้องใช้เวลานานมาก

บัดนี้ ผมขอเริ่มวิธีได้ประชาธิปไตยของมนุษยชาติในสมัยปฐมกาล คือ เมื่อมีมนุษยชาติขึ้นในโลกนี้เป็นเวลาหลายแสนปีมาแล้วนั้น มนุษยชาติมีความสัมพันธ์กันอยู่ตามระบบประชาธิปไตยปฐมกาล คือ สมาชิกในสังคมต่างร่วมมือกันฉันท์พี่น้องในการแสวงหาอาหารและผลิตสิ่งจําเป็นในการดํารงชีพ ไม่มีผู้ใดหวงกันที่ดินและเครื่องมือการผลิตไว้เป็นของตนโดยเฉพาะ คือ ไม่มีนายทุน ไม่มีกรรมกรหรือผู้ไร้สมบัติ ไม่มีความต่างกันระหว่างคนมั่งมีกับคนจน

ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกนั้นมนุษยสังคมปกครองโดยแม่ซึ่งเป็นหญิง สังคมชนิดนี้ คือ “มาตุสังคม” (Matriachal Society) ต่อมามีความจําเป็นต้องอาศัยผู้มีกําลังกายแข็งแรงจึงได้เปลี่ยนหัวหน้าสังคมจากหญิงมาเป็นชาย สังคมชนิดนี้ คือ “ปิตุสังคม” (Patriachal Society)

หญิงทั้งหลายควรจะภูมิใจว่า ในยุคเริ่มแรกแห่งมนุษยชาตินั้น หญิงเป็นผู้นําสังคมก่อนชาย ในภาษาไทยก็ยังมีร่องรอยนี้อยู่ เช่น หัวหน้ากองทัพนั้นเราเรียกว่า “แม่ทัพ” ไม่ใช่ “พ่อทัพ” คําว่า “หัวหน้ากอง” นั้น ใน สมัยก่อนเคยเรียกกันว่า “แม่กอง” แล้วต่อมาก็เรียกว่า “นายกอง” บ้าง “หัวหน้ากอง” บ้าง

หัวหน้าสังคมในยุคปฐมกาลนั้นจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม หัวหน้าสังคมก็ปกครองสมาชิกในสังคมอย่างแม่พ่อปกครองลูก ระบบสังคมในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยปฐมกาล ซึ่งเหมาะสมแก่สภาพเครื่องมือในการแสวงหา และผลิตวัตถุมาเป็นของกินของใช้ในการดำรงชีพ คือ เครื่องมือหินและโลหะอย่างหยาบ 

มนุษยชาติได้ประชาธิปไตยปฐมกาลโดยวิธีสันติ คือ วิธี “Evoulution” ซึ่งผมเรียกเป็นภาษาไทยว่า “วิวัฒน์” ซึ่งต้องใช้เวลาหลายล้านปี

ถ้าคะเนเพียงเวลาที่ “Anthropoid ape” หรือที่ผมเรียกเป็นภาษาไทยว่า “กระบี่” อันเป็นสัตว์ที่มีอวัยวะพัฒนาสูงกว่าลิงทั้งหลายนั้นก็ต้องใช้เวลาหลายแสนปีที่อวัยวะของกระบี่เปลี่ยนแปลงทีละนิดๆ จึงมีอวัยวะครบถ้วนเป็นมนุษยชาติ  การวิวัฒน์อวัยวะของกระบี่นั้น เนื่องจากความอุตสาหะของกระบี่ที่พยายามหาอาหารเพื่อดํารงชีพให้มาก และดีขึ้นกว่าลิงและสัตว์ทั้งหลายอื่น  ในการนั้นกระบี่ก็ต้องออกแรงงานทางกายและพยายามใช้มือของตนให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น อวัยวะรวมทั้งมือของกระบี่ก็ค่อยๆ วิวัฒน์ทีละนิดๆ ในระหว่างเวลาหลายแสนปี จึงสามารถเอาหินมาทำเป็นเครื่องมือในการผลิตวัตถุสิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพได้ กระบี่จึงหมดสภาพเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือ วิวัฒน์เป็นมนุษยชาติ

ความต่างกัน ในขั้นพื้นฐาน คือ สัตวชาติ แม้จะพัฒนาสูงสุดเป็นกระบี่ แต่ก็ยังไม่สามารถทําเครื่องมือผลิตได้ ส่วนมนุษยชาติสามารถทําและใช้เครื่องมือการผลิตได้ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษยชาติ คือ สัตว์ที่สามารถทําเครื่องมือการผลิตได้ จากรากฐานนั้นความคิดของมนุษยชาติก็เกิดขึ้นและพัฒนาไปตามลําดับว่า มนุษยชาติจะควรสัมพันธ์กันอยู่ในสังคมโดยวิธีใด จึงจะสอดคล้องกับพลังการผลิต คือ เครื่องมือกับคนที่สามารถทําและใช้เครื่องมือนั้น เพื่อสังคมจะได้ผลผลิตมากและดีที่สุด ตามสภาพของพลังการผลิตนั้น ความคิดดังกล่าวนี้จึงเป็นทัศนะสังคมที่เป็นหลักนําในการดําเนิน ชีวิตทางสังคม ซึ่งก็วิวัฒน์ไปตามการวิวัฒน์ของพลังการผลิตในยุคต่อๆ มา

ต่อมามนุษย์ได้พัฒนาเครื่องมือหินและโลหะให้ประณีตขึ้นสามารถใช้เครื่องมือนั้นทําการเพาะปลูก สามารถจับสัตว์ เช่น วัว ควาย ม้า มาใช้เป็นพาหนะ และเป็นแรงในการเพาะปลูกและลากจูง มนุษย์จึงทําการผลิตปัจจัยในการดํารงชีพได้มากขึ้น หัวหน้าสังคมซึ่งเป็นผู้มีอํานาจก็ใช้อํานาจหวงกันที่ดินในบริเวณที่สังคมของตนตั้งอยู่นั้นเป็นของๆ ตนโดยเฉพาะ ส่วนสมาชิกในสังคมก็ถูกถือว่าเป็นทรัพย์สินของหัวหน้าสังคม ซึ่งมีอํานาจใช้คนในสังคมให้ทํางานอย่างสัตว์พาหนะในสมัยโน้นสังคมน้อยๆ ที่กระจายกันอยู่นั้นมีการต่อสู้วางอาวุธเพื่อล่ามนุษย์ต่างสังคมเอามาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ ดังนั้น สังคมประชาธิปไตยแบบปฐมกาลจึงเปลี่ยนเป็นสังคมทาส เราจะเห็นได้ว่า มนุษยชาติในยุคนั้นได้ระบบทาสโดยวิธีที่ผู้มีเครื่องมือการผลิตใช้กําลังอาวุธบังคับ จึงไม่ใช่วิธีสันติแต่หัวหน้าสังคมซึ่งมีอํานาจใช้กําลังอาวุธนั้นเสียเอง การกระทําของเขาแม้ผิดกฎอันเป็นจริยธรรมของมนุษยชาติ แต่ไม่ผิดกฎหมาย

มนุษย์ได้ปรับปรุงเครื่องมือการผลิตให้มีสมรรถภาพยิ่งๆ ขึ้น ครั้นแล้วก็มีเครื่องมือหัตถกรรมสามารถผลิตสิ่งของได้หลายอย่างหลายชนิด อีกทั้งได้ขยายการเพาะปลูกในที่ดินกว้างขวางยิ่งขึ้น การที่จะใช้ทาสอยู่แต่ในครัวเรือน ก็ไม่อาจที่จะทําการผลิตในที่ดินกว้างใหญ่ของหัวหน้าสังคมได้ผล ฉะนั้น หัวหน้าสังคมซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่ดินในสังคม จึงต้องผ่อนผันโดยวิธีสันติเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง ให้ทาสมีเสรีภาพยิ่งขึ้นโดยให้ทาสบางส่วนอยู่ประจําเป็นเอกเทศในที่นาซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของนายทาส ทาสส่วนนี้มีลักษณะเปลี่ยนจากเดิม คือ เป็นข้าไพร่ที่ทําการเพาะปลูกในที่ดิน โดยตนเองต้องส่งผลผลิตส่วนใหญ่เป็นบรรณาการให้แก่หัวหน้าสังคมหรือคําโบราณของไทยว่า “ส่งส่วย” ซึ่งต่อๆ มาได้เปลี่ยนเป็นการส่งเงินแทนผลิตผลให้แก่หัวหน้าสังคมซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่ดินทั่วทั้งหลายในเขตแคว้นนั้นๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกเป็นภาษาเยอรมัน “Feudalsystem” ภาษาฝรั่งเศสว่า “Systeme feodal” อังกฤษ “Feudal System” ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ระบบศักดินา” คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าศักดินาซึ่งมีอันดับลดหลั่นกันตามขนาดและความสําคัญของเขตแคว้น เช่น ในดินแดนเยอรมันมี Freiherr, Graf, Prinz, Furst Herzog ซึ่งบางเขตแคว้นเป็นรัฐเอกราช ส่วนบางเขตแคว้นก็ขึ้นต่อ Konig และ Kaiser ที่เป็นยอดสูงสุดของเจ้าศักดินา ในดินแดนฝรั่งเศสมี Baron, Vicomte, Marquis, Duc, Prince, Roi, Empereur ในดินแดนอังกฤษมี Baron, Viscount, Earl, Marquess, Duc, Prince, King (ครั้งหนึ่ง Queen และ King อังกฤษเป็น Empress และ Emperor ของ India ด้วย) ในดินแดนอินเดีย ได้แก่ ราชา, มหาราชา, ฯลฯ  ส่วนราษฎรในสังคมศักดินานั้นมีฐานะเป็น “Serf” หรือ “ข้าศักดินา” ตรงกับภาษาไทยว่า “ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”

เครื่องมือหัตถกรรมก็ได้พัฒนาต่อๆ มา ครั้นแล้วในปลายศตวรรษที่ 18 ได้มีผู้คิดทําเครื่องมือจักรกลที่ใช้กําลังไอน้ำแทนแรงงานสัตว์พาหนะและแทนเครื่องมือหัตถกรรม ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นแห่ง “Industrial revolution” หรือ “การอภิวัฒน์อุตสาหกรรม” ความจําเป็นจึงเกิดขึ้นว่าคนที่จะใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นได้จําต้องเป็นคนที่มีความรู้ในทางวิศวกรรมพอสมควร ถ้าหากใช้ข้าไพร่ศักดินาที่รู้แต่การใช้เครื่องมือหัตถกรรมอย่างเก่าแล้ว เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นก็พังทลายหรือดําเนินไปอย่างไม่ได้ผล และเมื่อต้องใช้คนงานที่มีความรู้ทางวิศวกรรม แล้วก็จะใช้กันอย่างกดขี่เหมือนใช้ข้าไพร่ศักดินาไม่ได้ คือ จําต้องให้คนงานสมัยใหม่มีเสรีภาพ หลุดพ้นจากการเป็นข้าไพร่ศักดินาจึงจะมีกําลังใจในการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นให้มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดทวีผลในการผลิต

ดังนั้น นายทุนสมัยใหม่หรือเจ้าสมบัติผู้เป็นเจ้าของเครื่องมือจักรกลสมัยใหม่ รวมทั้งผู้ก้าวหน้าสมัยนั้น จึงได้ร่วมกันเรียกร้องที่จะให้เจ้าศักดินาในยุโรปตะวันตกเปลี่ยนระบบศักดินาเดิมมาเป็นระบบที่ให้คนงานและพลเมืองมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเป็นภราดรภาพยิ่งขึ้น เพราะถ้าขึ้นใช้วิธีใช้ข้าไพร่แก้วิธีการผลิตโดยเครื่องจักรกลสมัยใหม่แล้ว การผลิตเพื่อความต้องการชีวปัจจัยของพลเมืองก็จะไม่ได้ผลและจะนําไปสู่ความอัตคัดขาดแคลน ระบบที่จะต้องเปลี่ยนใหม่นั้น คือ ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก

ปัญหามีว่า คนตะวันตกได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่ ในระยะแรกๆ คนตะวันตกเรียกร้องทางสันติ ส่วนเจ้าศักดินาได้มีปฏิกิริยาต่อคําเรียกร้องนั้นต่างๆ กัน

 

ในประเทศแห่งคนเชื้อสายแองโกล-แซกซอน คือ ในดินแดนอังกฤษและอเมริกาเหนือนั้น พวกศักดินาในดินแดนอังกฤษที่เคยถูกราษฎรภายในประเทศของตนเองต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาแล้วหลายครั้ง จึงได้สติว่า ถ้าขืนดื้อรั้นไม่ผ่อนผันให้ราษฎรภายในประเทศของตนได้ระบบประชาธิปไตยโดยสันติแล้ว ความขัดแย้งก็จะเกิดมีขึ้นอย่างรุนแรงกับพลังใหม่สมัยนั้นที่กําลังก้าวหน้า ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งสมบัติและฐานะของตนเองที่จะคงอยู่ต่อไป จึงได้ผ่อนผันให้ราษฎรในประเทศอังกฤษมีระบบประชาธิปไตย และอาศัยระบบนั้นพัฒนาสมบัติศักดินาให้เป็นทุนสมัยใหม่ ร่วมกับนายทุนสมัยใหม่

ส่วนคนอังกฤษและคนผิวขาวจํานวนหนึ่งที่อยู่ในดินแดนอเมริกาเหนือส่วนใหญ่นั้น พวกศักดินาอังกฤษไม่ยอมให้ระบบประชาธิปไตย คือ ยังดื้อรั้นปกครองอย่างอาณานิคม แม้คนผิวขาวในอาณานิคมนั้นจะพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติแต่พวกศักดินาชาวอังกฤษก็ไม่ยอม คนผิวขาวอเมริกันภายใต้การนําของยอร์ช วอชิงตัน จึงจําต้องใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธเป็นสงครามภายในจนได้ชัยชนะแล้วเป็นสหรัฐเอกราชสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ได้ดําเนินตามหลักการประชาธิปไตยตามแนวทางซื่อสัตย์ต่ออุดมคติของวอชิงตันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ครั้นแล้วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เปลี่ยนออกห่างจากอุดมคติเดิม ยิ่งขึ้นแล้วก็มีผู้ยกย่องว่าเป็นหัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตย แต่เราก็เห็นได้ว่า หัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตยทุกวันนี้กลายเป็นผู้สนับสนุนหลายประเทศที่ยังคงมีระบบศักดินาและระบบเผด็จการให้ดํารงคงอยู่โดยทุ่มเทวัสดุเงินทองจํานวนหลายแสนล้านดอลลาร์และชีวิตคนอเมริกันหลายล้านคน

ประเทศฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 สมัยเมื่อมีเครื่องจักรกลไอน้ำใช้แพร่หลายเป็นเครื่องมือการผลิตสมัยใหม่แล้ว แม้นายทุนหรือเจ้าสมบัติผู้เป็นเจ้าของวิสาหกิจสมัยใหม่ รวมทั้งผู้ก้าวหน้าสมัยนั้น เรียกร้องโดยสันติให้เจ้าศักดินาเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่พวกเจ้าศักดินาก็ดื้อรั้นรักษาระบบเดิมของตนไว้ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับความสัมพันธ์ใหม่ในวิธีผลิตด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ วิกฤตการในทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น ผู้คนอดอยากกันมากถึงกับพากันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซาย ครั้นแล้วก็ได้ทําลายคุกบาสติยล์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 อันเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นแห่งการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส ในปีนั้นแล้วสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น แม้ในระยะ 40 ปีต่อมาในฝรั่งเศสได้มีการต่อสู้ระหว่างพวกนิยมระบบเก่ากับระบบใหม่หลายครั้ง แต่ระบบประชาธิปไตยตะวันตกก็มีพื้นฐานอยู่ การพัฒนาในทางอุตสาหกรรมและการผลิตของฝรั่งเศสเมื่อก่อนการอภิวัฒน์ในดินแดนเยอรมัน ค.ศ. 1848 นั้น ได้ก้าวหน้ามากกว่าในดินแดนเยอรมัน

ส่วนรัฐต่าง ๆ ในดินแดนเยอรมันก่อน ค.ศ. 1848 นั้น แม้จะได้มีเครื่องจักรกลไอน้ำเพื่อใช้ในการผลิตและดินแดนเยอรมันอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และนายทุนเยอรมันสมัยใหม่ครั้งนั้น รวมทั้งผู้ก้าวหน้าได้เรียกร้องโดยสันติให้เจ้าศักดินาในเขตแคว้นใหญ่น้อยเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่พวกเจ้าศักดินาเยอรมันก็ดื้อรั้นอยู่อีก ความอัตคัดขาดแคลนมีอยู่ทั่วไป คนเยอรมันจํานวนไม่น้อยต้องอพยพไปเป็นกรรมกรทํางานในประเทศตะวันตกที่มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกแล้ว อาทิ ในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม แล้วก่อหวอดเป็นสันนิบาตกรรมกรเยอรมันขึ้น สมัยนั้นผู้ใดคัดค้านระบบปกครองก็ถูกพวกศักดินาตั้งชื่อให้เป็น “คอมมิวนิสต์”

เช่น เฟรดเดอริค เองเกลส์ ลูกเศรษฐี เจ้าของอุตสาหกรรมทอผ้าขนาดใหญ่ ชาวเมืองบาร์เมน “BARMEN” (ปัจจุบันนี้รวมอยู่ใน “WUPPERTAL”) ได้เขียนจดหมายใน ค.ศ. 1844-1845 ถึงมาร์กซ์ ขณะที่ทั้งสองยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ว่า สารวัตรตํารวจ, นักดนตรี, นักวาดภาพการ์ตูน, ขุนนางผู้ให้กู้เงิน, เจ้าของร้านค้า ฯลฯ ก็เรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์ ตามที่เจ้าศักดินากับลูกสมุนตั้งชื่อนั้นให้แก่ผู้ที่อัดค้านหรือไม่พอใจระบบศักดินาเผด็จการ ผู้ตั้งชื่อนั้นให้ก็ดี ผู้ที่รับเอาชื่อนั้นมาเรียกตัวเองก็ดี ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่า คอมมิวนิสต์คืออะไร เองเกลส์ก็เป็นถึงลูกเศรษฐี ส่วนมาร์กซ์ก็เป็นลูกทนายความมีรายได้มากและเพิ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (เดิมเรียนที่บอนน์) และแต่งวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปรัชญากรีกแห่งสํานักอีปิคูรัส” (EPICURUS) อันเป็นสํานักที่สอนว่า ความสุขแห่งชีวิตอันเป็นจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องดําเนินไปภายใต้ศีลธรรม, ความอดกลั้น, ศักดิ์ศรี และการพัฒนาทางวัฒนธรรม มาร์กซ์เป็นสานุศิษย์ปีกซ้ายของศาสตราจารย์ “ฮีเกลส์” ซึ่งสมัยนั้นถือกันว่าเป็นปรัชญาแบบฉบับของชาวเยอรมัน มาร์กซ์มิใช่มีเมียเป็นสามัญชน หากได้แต่งงานกับสตรีแห่งตระกูลเจ้าศักดินา ชื่อ “เจนนี่ ฟอน เวสต์ฟาเลน” มาร์กซ์กับเมียต้องการต่อสู้เพื่อระบบสังคมที่ดีกว่าระบบศักดินาจึงถูกหาจากพวกศักดินาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเนรเทศไปอยู่นอกประเทศ 

ฝ่ายสันนิบาตกรรมกรเยอรมันในเบลเยี่ยม, ในอังกฤษ และในฝรั่งเศสนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นกัน ดังนั้น พวกเขาจึงขอร้องให้มาร์กซ์กับเองเกลส์ช่วยค้นคว้า ทฤษฎีสังคมที่เขาจะถือเป็นหลักนําการปฏิบัติ ครั้นแล้วมาร์กซ์กับเองเกลส์ก็ได้ร่างแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ค.ศ. 1847 ขึ้นซึ่งสันนิบาตกรรมกรเยอรมันถือเป็นหลักนําแล้วแพร่หลายเข้ามาในดินแดนเยอรมัน

นี่ก็เป็นตัวอย่างแห่งการพูดพล่อยๆ ของพวกศักดินาเยอรมันที่เที่ยวหาว่า คนที่ไม่พอใจระบบตนเป็นคอมมิวนิสต์ ตนก็รับผลเอง คือ ได้คอมมิวนิสต์ขึ้นมาจริงๆ ครั้นแล้วคอมมิวนิสต์เยอรมันสมัยนั้นก็จับอาวุธทําการต่อสู้ระบบศักดินาที่เมืองโคโลญ ใน ค.ศ.1848 ขบวนคอมมิวนิสต์เยอรมันพ่ายแพ้ แต่พวกก้าวหน้าที่ต้องการให้เยอรมันเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ได้ทําการต่อสู้ทั้งทางสันติและไม่สันติอันเป็นผลให้เจ้าศักดินาในดินแดนเยอรมันยอมผ่อนผันให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบตะวันตก

จากตัวอย่างแห่งการพูดพล่อยๆ ของพวกศักดินาเยอรมันที่หาว่า คนที่ไม่พอใจระบบนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ไปเสียทั้งหมด ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มกําลังคนให้คอมมิวนิสต์โดยคอมมิวนิสต์อยู่เฉยๆ ก็ได้มา  ในรุสเซียสมัยพระเจ้าซาร์ก็เพิ่มกําลังให้คอมมิวนิสต์โดยวิธีพลอยๆ เช่นนั้น ในประเทศจีนสมัยโกว๊ะมิ่นตั๋งก็พูดพล่อยๆ หาว่า คนไม่พอใจระบบนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ทําให้ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้เห็นใจคอมมิวนิสต์ไป

เมื่อเจ้าศักดินาในดินแดนเยอรมันยอมผ่อนผันให้มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น แม้จะยังไม่สมบูรณ์แต่ก็ช่วยให้ประเทศและแคว้นต่างๆ ในดินแดนเยอรมันได้พัฒนาก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและการผลิตชีวปัจจัยและเป็นพลังให้เยอรมันชนะฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1870 เมื่อได้สถาปนาจักรภพเยอรมันขึ้นใน ค.ศ. 1871 แล้วระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในเยอรมันกลับเสื่อมลงโดยไคเซอร์และผู้นิยมได้ผันแปรให้ท่านเป็นราชาธิบดี ออกนอกเหนือรัฐธรรมนูญยิ่งขึ้น และนําความหายนะมาสู่เยอรมันในการทําสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ คนเยอรมันอัตคัดขัดสนกันมาก

ท่านที่เป็นนักศึกษาในเยอรมันย่อมรู้อยู่แล้วว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีอภิวัฒน์รุนแรงในเยอรมันเพียงใด ครั้นแล้วมวลราษฎรเยอรมันก็ได้ทําการต่อสู้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับไวมาร์” ประเทศเยอรมันกําลังดําเนินก้าวหน้าไปตามระบบประชาธิปไตยนั้น ก็เกิดมีระบบนาซีซึ่งนําเยอรมันสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทําให้เยอรมันพ่ายแพ้เสียหายยับเยิน เสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว มวลราษฎรในดินแดนเยอรมันตะวันตกได้รวมกันเป็นพลังเรียกร้องระบบประชาธิปไตยซึ่งสัมพันธมิตรผู้ยึดครองจําต้องยินยอมให้มวลราษฎรเยอรมันตะวันตกสถาปนาดินแดนของตนเป็นสหพันธรัฐมีระบบประชาธิปไตยแบบยุโรปตะวันตก สหพันธรัฐนี้ก็พัฒนาก้าวหน้าในการอุตสาหกรรมและการผลิต การเศรษฐกิจและการเงินของเยอรมันเข้มแข็งมั่นคงตามที่เราเห็นกันอยู่ ต่างกันมากกับสมัยภายใต้ระบบเผด็จการนาซีที่คนเยอรมันอัตคัดมาก

ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตกนั้น พลังใหม่ที่ก้าวหน้าได้ต่อสู้กับพลังศักดินาเก่าโดยใช้วิธีสันติบ้าง ไม่สันติบ้างเพื่อจะได้ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก พวกเจ้าศักดินาในประเทศเหล่านั้นก็ดื้อรั้นเหนี่ยวรั้งอยู่ตลอดเวลามาในระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่า ถ้าขืนดื้อรั้นอยู่ต่อไป ระบบศักดินาของตนก็จะถูกโค่นล้มอย่างถอนราก ฉะนั้น เพื่อรักษาส่วนที่ควรรักษาระบบเดิมไว้ได้บ้างจึงได้ผ่อนผันให้มวลราษฎรในประเทศของตนได้ระบบประชาธิปไตยตามคำเรียกร้องโดยวิธีสันติของมวลราษฎร

ส่วนรุสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์นั้น แม้ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเกิดมีขึ้นในยุโรปตะวันตกเป็นเวลากว่า 100 ปีก็ตาม แต่พระองค์กับพวกสนับสนุนก็ยังหลงเข้าใจว่า ราษฎรรุสเซียส่วนมากนั้นโง่เขลายังไม่พร้อมที่จะได้การปกครองประชาธิปไตย แม้เพียงขนาดแบบตะวันตก ราษฎรรุสเซียก็ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักตามระบบศักดินาซึ่งได้รับความอัตคัตขัดสนอย่างแสนสาหัส ส่วนพระเจ้าซาร์และเจ้าศักดินาทั้งหลายได้เสวยสุขเกษมสําราญซึ่งในสมัยนั้นถือว่าราชสํานักนั้นหรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุดในระบบศักดินาด้วยกัน

แม้ว่าราษฎรรุสเซียส่วนมากยังจะโง่เขลา ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบประชาธิปไตยตะวันตก แต่ตามธรรมชาตินั้นมนุษย์ต้องการปลดเปลื้องความทุกข์ยาก ซึ่งแม้จะเป็นพลังที่เงียบอยู่ แต่ก็เป็นพลังที่คอยรับการปลดเปลื้องความทุกข์ยาก ซึ่งเมื่อขบวนใดปลุกระดมขึ้น ก็เป็นพลังมหาศาลที่เอาการเอางานจริงจังได้แทนที่จะเงียบอยู่ ดังนั้น จึงได้มีพวกก้าวหน้าในรุสเซียได้มองเห็นพลังสําคัญของราษฎรที่จะได้สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบศักดินารุสเซียมาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้นก่อน

ส่วนวิธีที่จะได้ประชาธิปไตยนั้นในระยะแรกๆ มีหลายขบวนการที่คิดใช้วิธีต่างๆ กัน บางขบวนการคิดใช้วิธีเรียกร้องอย่างสันติ บางขบวนการคิดใช้กําลังอาวุธ พระสังฆราชองค์หนึ่งแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเปโตรกราด, ปัจจุบันเป็นเลนินกราด) เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่พระเจ้าซาร์จะต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ท่านสังฆราชองค์นั้นเห็นว่าต้องใช้วิธีสันติ ท่านจึงป่าวร้องทายกทายิกาให้รวมกําลังกันเดินขบวนไปยังพระราชวัง เพื่อทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่เมื่อขบวนราษฎรไปถึงหน้าพระราชวังก็ถูกทหารรักษาพระองค์ใช้อาวุธยิงกราดมายังราษฎรซึ่งล้มตายบาดเจ็บไปตามๆ กัน

ผลจากการที่ไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญโดยวิธีสันติ จึงทําให้ขบวนก้าวหน้าส่วนข้างมากที่เรียกเป็นภาษารุสเซียว่า “บอลเชวิค” แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตยใช้วิธีต่อสู้อย่างไม่สันติจึงถูกปราบหลายครั้ง ส่วนพวกก้าวหน้าฝ่ายนายทุนก็พยายามต่อสู้อย่างสันติ พระเจ้าซาร์ก็ยังดื้อรั้นไม่ยอมให้ประชาธิปไตยแบบตะวันตกจนกระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ราษฎรรุสเซียได้รับความอัตคัดขาดแคลนยิ่งขึ้น ฝ่ายก้าวหน้าของนายทุนทนดูอยู่ต่อไปไม่ได้จึงร่วมกับบอลเชวิค ใช้กําลังบังคับให้พระเจ้าซาร์สละราชสมบัติให้พระอนุชา สถาปนาประชาธิปไตยแบบยุโรปตะวันตกขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 พระอนุชาเห็นท่าไม่ดีก็สละราชสมบัติอีก ครั้นแล้วรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพวกตัวแทนนายทุนก็ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น รัฐบาลชั่วคราวก็ไม่สามารถแก้ความขัดสน การอัดคัดขนมปังของราษฎรรุสเซียได้ ต่อมาอีกเพียง 6 เดือน ฝ่ายบอลเชวิคจึงนําราษฎรลุกขึ้นจับอาวุธล้มรัฐบาลชั่วคราวในเดือนตุลาคม (ปฏิทินเก่ารุสเซีย) ค.ศ. 1917 แล้วประกาศสถาปนาระบบสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ขึ้น

การดื้อรั้นของพระเจ้าซาร์เข้าลักษณะคําพังเพยโบราณของไทยว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

แม้ประเทศในยุโรปตะวันตกบางประเทศจะผ่อนผันโดยสันติให้ราษฎรภายในประเทศของตนได้ประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ดี แต่ไม่ยอมให้ระบบนั้นแก่อาณานิคมหรือเมืองขึ้น ดังนั้น ราษฎรในทวีปอเมริกา อาฟริกา และอาเซียที่เป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรปตะวันตก จึงต้องต่อสู้โดยวิธีไม่สันติเพื่อได้เอกราชและสถาปนาระบบประชาธิปไตยตะวันตกขึ้นหลายแห่ง ถ้าท่านศึกษาในเรื่องนี้คงทราบอยู่แล้ว และจะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ยกย่องว่าเป็นหัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตยนั้นก็ใช้วิธีทําสงครามภายในต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษ

ส่วนอินเดียนั้นที่ได้เอกราชจากอังกฤษและเอาเยี่ยงประชาธิปไตยตะวันตกมาสถาปนานั้น นอกจากมีขบวนการอื่นๆ ที่ต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างไม่สันติแล้ว ก็มีขบวนการภายใต้มหาตมคันธี ที่ใช้วิธี “ดื้อแพ่ง” โดยไม่ใช้กําลังอาวุธ คือ การไม่ยอมร่วมมือในองค์การรัฐ ห้าง ร้านวิสาหกิจของอังกฤษ ไม่ยอมใช้สิ่งของที่อังกฤษทําขาย ท่านคันธีถูกจับเข้าคุกหลายครั้งซึ่งท่านก็ยอมเสียสละ แม้วิธีของท่านไม่ทําให้เศรษฐกิจบั่นทอนมาก แต่เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว รัฐบาลพรรคกรรมกรของอังกฤษเห็นว่า การที่ฝ่ายตนจะดื้อรั้นอยู่ต่อไป ก็จะทําให้ขบวนการที่ใช้ความรุนแรง คือขบวนการคอมมิวนิสต์อินเดียที่จะก่อสงครามกลางเมือง อันจะทําให้วิสาหกิจนายทุนของอังกฤษเสียหายหนัก ฉะนั้น เพื่อรักษาระบบทุนของอังกฤษในอินเดียไว้ รัฐบาลอังกฤษจึงผ่อนผันโดยวิธีสันติ ให้อินเดียได้รับเอกราชและสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น

จากอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผมกล่าวมาข้างต้น จึงเห็นได้ว่า ในยุโรปนั้นระบบประชาธิปไตยโดยวิธีสันติเป็นไปได้โดยเงื่อนไข 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 เงื่อนไขฝ่ายราษฎร ที่ตกทุกข์ได้ยากพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนทุกข์โดยระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก และมีกองหน้าเป็นขบวนนํา มีทัศนะประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนําการปฏิบัติของตน เพราะถ้าเพียงแต่คิดๆ ว่าอยากได้ระบบประชาธิปไตย แต่ยึดถือทัศนะล้าหลังที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย การปฏิบัติในขั้นสุดท้ายของตนก็จะวกไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการที่ 2 เงื่อนไขฝ่ายผู้กุมอํานาจเศรษฐกิจและการเมือง และผู้กุมอํานาจทางจิตใจของมวลราษฎรว่าจะพร้อมเสียสละผลประโยชน์ของตนให้แก่มวลราษฎรได้มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือไม่ เพื่อให้ระบบนั้นสมานกับพลังการผลิตที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปลื้องทุกข์ของมวลราษฎร

เงื่อนไขประการที่ 2 นี้ สําหรับผู้กุมอํานาจที่นับถือธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริงโดยไม่ถือแต่เปลือกนอกเพียงให้ขึ้นชื่อว่านับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็มีทางที่จะให้เกิดประชาธิปไตยโดยวิธีสันติได้ พระพุทธองค์ได้ทรงบําเพ็ญเป็นตัวอย่างมาแล้วในการที่พระองค์ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณมองเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ จึงได้สละความสุขสําราญของพระองค์เข้าทรงบรรพชาเทศนาสั่งสอนให้มนุษย์ปกครองกันโดยสามัคคีธรรม และทรงปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์ให้เป็นตัวอย่างแก่ระบบประชาธิปไตย

ผู้ที่เคยอุปสมบทหรือเคยศึกษาพระธรรมวินัยย่อมรู้ว่า ตามวินัยของสงฆ์ที่ปกครองกันในวัด “ตามฉบับแท้” ของพระพุทธองค์ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ วินัยมุข ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงนิพนธ์ไว้นั้น เป็นระบบประชาธิปไตยเพรียบพร้อมด้วยสามัคคีธรรมโดยแท้ หากในสมัยต่อๆ มามีผู้ละเมิดคําสอนของพระองค์ ในสมัยพุทธกาลนั้นพระองค์ได้เทศนาโปรดพระราชบิดา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์และโปรดกษัตริย์ใหญ่น้อยให้ตั้งอยู่ในศีลสมาธิปัญญา และได้ทรงพระราชทานพระพุทโธวาทแก่บรรดากษัตริย์ในชมพูทวีปให้ตั้งอยู่ใน “ทศพิธราชธรรม” คือ ธรรม 10 ประการของราชาธิบดี ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงนํามาวิสัชนาถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ร.ศ. 112 (ค.ศ. 1893)

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สยามแล้ว ได้มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ถือเคร่งครัดในทศพิธราชธรรมและปกครองสยามตามคติประชาธิปไตย โดยขจัดอิทธิพลไสยศาสตร์แห่งคติพราหมณ์ อาทิ พ่อขุนรามคําแหงแห่งกรุงสุโขทัยก็ได้ทรงบําเพ็ญเป็นตัวอย่างที่รับฟังความเดือดร้อนของราษฎร ผู้ใดทุกข์ก็ทูลเกล้าถวายฎีกาซึ่งพระองค์ได้ทรงช่วยแก้ไขทําให้ชาวไทยได้รับความผาสุกสมดังที่ทรงจารึกไว้ในหลักศิลาว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”

ต่อมาในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ก็มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้เจริญรอยตามพ่อขุนรามคําแหง แต่อิทธิพลไสยศาสตร์ได้แทรกเข้ามาจึงทําให้บางพระองค์สนับสนุนวิธีนั้นของลัทธิพราหมณ์ อันเป็นลัทธิที่ขัดแย้งต่อคติประชาธิปไตยทางพุทธศาสนา ผลก็คือ ในระหว่างเวลา 417 ปี แห่งสมัยอยุธยานั้นท่านที่เคยอ่านพระราชพงศาวดารก็รู้แล้วว่าได้มีการเปลี่ยนพระราชวงศ์หลายพระราชวงศ์และภายในพระราชวงศ์ก็มีการต่อสู้แย่งราชสมบัติระหว่างกัน  หมอแมกฟาร์แลนด์ได้สรุปไว้ในหนังสือปทานุกรมของเขาว่า สมัยอยุธยามีพระมหากษัตริย์ ถึง 34 พระองค์ ถัวเฉลี่ยองค์ละ 12.3 ปีเท่านั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แห่งพระราชวงศ์จักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสละพระราชอํานาจหลายประการของพระองค์เพื่อเบิกทางสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยวิธี “Evolution” หรือ “วิวัฒน์” อย่างสันติ อาทิ ได้ทรงแก้ไขระบบทาษต่อจากที่กษัตริย์สมัยอยุธยา ได้แก้ไขไว้บ้างในการให้ทาษได้มีมนุษยภาพมากขึ้นโดยวิธีสันติทีละขั้นๆ ครั้นแล้วใน ค.ศ. 1905 ก็ได้ทรงประกาศยกเลิกระบบทาษทั้งระบบ พระองค์ได้ทรงเริ่มปรับปรุงระบบสังคมและประเพณีโบราณที่ล้าสมัยหลายอย่าง

ผมได้เคยกล่าวไว้ว่า การที่จะมีระบบประชาธิปไตยได้นั้น ขบวนการนําก็จะต้องมีทัศนะประชาธิปไตยเป็นหลักนําการปฏิบัติ และช่วยให้มวลราษฎรมีทัศนะเช่นนั้นดุจกัน

ในเรื่องนี้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเริ่มให้ราษฎรของพระองค์เลิกความเชื่อถือไสยศาสตร์และมีความเชื่อถือที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เป็นขั้นๆ ไป อาทิ มีความปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 คือ ในกาลหนึ่งมกุฎราชกุมารเสด็จประทับที่พระปฐม ทรงเห็นแสงรัศมีแผ่มาจากองค์พระปฐมเจดีย์ (องค์เดิม) มกุฎราชกุมารเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จึงทําบุญสมโภชแล้วนําความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานพระราชหัตถเลขาตอบอธิบายว่า ปรากฏการณ์นั้นได้ปรากฏในเจดีย์หลายแห่งแต่ก็เป็นในฤดูฝน ซึ่งน้ำฝนอาจจะชะมายังปูนขาวที่ประกอบเจดีย์นั้น

มีอีกกรณีหนึ่ง คือ เมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สมัยเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้รับแต่งตั้งเป็นเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อที่รุกรานหลวงพระบาง สมัยขึ้นอยู่กับสยาม  ท่านเจ้าหมื่นได้ไปเฝ้ารัชกาลที่ 5 ที่วังบางปะอินแล้วเอาผ้าเช็ดหน้าขาวของตนปูขึ้นขอพระราชทานให้พระองค์ประทับพระบาทบนผ้าเช็ดหน้านั้น ทูลว่าจะนําติดตัวไปในกองทัพเพื่อความสวัสดีมีชัย รัชกาลที่ 5 ก็ทรงอนุโลมตามความประสงค์ แต่รับสั่งว่าต่อไป พระองค์จะใช้วิธีใหม่แทน วิธีของเจ้าหมื่นนั้นคือ พระองค์จะเอาเส้นผมของพระองค์ (ซึ่งตามราชาศัพท์เรียกว่า เส้นพระเจ้า) มาบรรจุในยอดธงประจํากองทหารให้ถือว่า พระองค์ได้เสด็จไปกับกองทหาร ทั้งนี้ เป็นการเลิกวิธีไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง

ยังมีประเพณีโบราณที่ล้าสมัยบางอย่างที่พระองค์ยกเลิก อาทิ เมื่อได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการเลิกวิธีหมอบคลานกราบในการเข้าเฝ้าโดยให้ใช้วิธียืนถวายคํานับข้าราชการไทยสมัยนั้น และสมัยต่อมาก็รู้กันอยู่ทั่วไป ฝรั่งหลายคนก็เขียนบันทึกไว้เชิดชูพระเกียรติคุณ ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงวางเบิกทางการมีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยทาง “EVOLUTION” หรือวิวัฒน์

การบําเพ็ญพระองค์ของรัชกาลที่ 5 จึงต่างกับพระเจ้าซาร์นิโกลาสที่ 2 ที่ได้ทรงฟื้นไสยศาสตร์ที่พระเจ้าซาร์องค์ก่อนๆ ได้สละไปบ้างแล้ว ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะเวลาเพียง 50 ปีเศษ ย่อมรู้กรณีราสปูตินผู้เป็นจอมแห่งไสยศาสตร์ที่มีอิทธิพลเหนือพระเจ้าซาร์และพระราชินี ซึ่งราษฎรรุสเซียและเจ้านายและขุนนางก็ไม่พอใจพระองค์ ไสยศาสตร์ไม่อาจป้องกันราชวงศ์ “โรมานอฟ” ของพระเจ้าซาร์ให้พ้นจากความต้องการระบบใหม่ที่สามารถแก้ไขความทุกข์ยากของราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ รัชกาลที่ 7 แห่งพระราชจักรีวงศ์นั้นผมได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อว่า “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ขอให้ท่านหาเวลาว่างอ่านดูว่า การที่คณะราษฎรได้ใช้กําลังทําการยึดอํานาจรัฐเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้นก็เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ถ้าจะพิจารณาแล้วก็มีการกระทํา 2 ตอน คือ ตอนที่คณะราษฎรยึดอํานาจในกรุงเทพฯ นั้นเป็นการกระทําที่ใช้อาวุธ ส่วนการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทําโดยสันติ ซึ่งพระองค์ก็โปรดพระราชทานให้โดยสันติ

มีผู้โฆษณาว่า คณะราษฎรไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์เพียงชั่วเวลา 41 ปีมาแล้ว ท่านก็จะเห็นว่า คณะราษฎรที่ยึดอํานาจรัฐได้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถ้าไม่ต้องการระบบกษัตริย์แล้ว ก็มีอํานาจอยู่ในมือประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่คณะราษฎรยังเคารพในระบบกษัตริย์ จึงได้ขอพระราชทานให้พระปกเกล้าฯ ทรงดํารงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมาใน พ.ศ. 2477 พระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ ถ้าหากคณะราษฎรไม่เคารพในระบบกษัตริย์แล้ว ก็มีอํานาจอยู่ในมือที่จะประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่คณะราษฎรก็ได้คัดเลือกเจ้านายพระองค์หนึ่งในพระราชจักรีวงศ์ คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ในข้อเสนอของรัฐบาล คณะราษฎรอัญเชิญพระองค์เจ้าองค์นั้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 รายละเอียดปรากฏในหลักฐานที่ผมกล่าวไว้ในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2515 และหลักฐานอื่นๆ ที่ท่านต้องการสัจจะอาจค้นดูได้

ต่อมาเมื่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 สวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยได้มีเสียงสนับสนุนอย่างมากทั้งในพฤฒสภา (วุฒิสภา) และสภาผู้แทนซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ถ้าหากรัฐบาลขณะนั้น ไม่เคารพระบบกษัตริย์ก็อาจประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่รัฐบาลขณะนั้นได้เสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบอันเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับ 10 พฤษภาคม 2489

บางคนโฆษณาอ้างเหตุพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติว่า คณะราษฎรไม่เคารพระบบกษัตริย์ แต่ผมได้กล่าวแล้วข้างบนนี้ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า คณะราษฎรปรารถนาระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อพระองค์ท่านสละราชสมบัติก็อัญเชิญเจ้านายในพระราชจักรีวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป เรื่องนี้ผมได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างข้างบนนี้ ผมขอคัดความตอนหนึ่งมาอ่านให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

“การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ นั้น พระองค์ได้ทรงชี้แจงไว้ในเอกสารสละราชสมบัติแล้วว่า พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยนั้นอย่างไรบ้าง รัฐบาลได้พยายามที่จะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อข้องพระทัยของพระองค์ จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีของพระองค์มาก่อนให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปกราบบังคมทูล แต่พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ”

มีผู้วิจารณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ควรสละราชสมบัติ เพราะพระองค์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบอย่างใดในการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมา ข้าพเจ้าตอบผู้วิจารณ์ว่า รัฐบาลสมัยนั้นก็เสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละพระราชสมบัติ แต่ถ้าคิดทางด้านพระองค์แล้ว เราก็ควรเคารพสักการะพระองค์ท่านที่มีพระราชประสงค์รักษาศักดิ์ศรีแห่งราชขัตติยะไว้ คือ เมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นทําการไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงสละความสุขสําราญส่วนพระองค์ในการสละราชสมบัติ ยิ่งกว่าจะต้องลงพระปรมาภิไธยในเรื่องที่ขัดต่อความบริสุทธิ์ใจของพระองค์ ดังนี้ ปวงชนชาวไทยต้องเคารพสักการะ และเทอดพระเกียรติ ศักดิ์ศรีอันสูงยิ่งของพระองค์ชั่วกาลนาน

ผมได้ยกอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหัวข้อที่ท่านต้องการทราบมาแสดงเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงขอยุติปาฐกถาไว้เพียงนี้ 

 

ที่มา: ปาฐกถาเรื่อง “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่” ที่นายปรีดี พนมยงค์ แสดงในงานประชุมประจําปีของนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2516