เมื่อฝรั่งเศสยึดครองลาวเป็นเมืองขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้พยายามผนวกดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอันเป็นมณฑลอีสานของสยาม มีการยุยงสร้างความขัดแย้งระหว่างลาว-ไทย ด้วยการปลูกฝังความคิดให้คนลาวเกิดความรู้สึกถึงความขมขื่นที่ศักดินาไทยสยามกระทำต่อชาวลาวในอดีต ในขณะที่ชนชั้นปกครองไทยเองก็มีทัศนะดูถูกดูแคลนพี่น้องชาวอีสาน ถือว่าเป็นลาวไม่ใช่คนไทย ทำให้พี่น้องสองฟากฝั่งมีความรู้สึกเก็บกดตลอดเวลา กระนั้นก็ตาม สิ่งเหล่านี้มิอาจกีดกันความสัมพันธ์แห่งความเป็นญาติทางสายโลหิตของผู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี ค.ศ. 1932 ทำให้ชาวอีสานเริ่มมีสิทธิเสรีภาพในการบ้านการเมือง ผู้แทนราษฎรจากอีสานมีความเห็นอกเห็นใจที่พี่น้องฝั่งซ้ายต้องตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ
‘เสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด’ มหาอุปราชอาณาจักรลาว ผู้นำการต่อสู้กอบกู้เอกราชรุ่นแรกในสมัยกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อปีค.ศ. 1940-1941 ท่านได้ติดต่อกับ ‘ขุนไสวแสนยากร’ ผู้มีเชื้อสายเจ้าลาวแห่งราชวงศ์ล้านช้างท่านหนึ่ง ที่รับราชการเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกไทย เพื่อยื่นข้อเสนอต่อ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ขอให้กองทัพไทยช่วยขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากลาว
เมื่อลาวเป็นประเทศเอกราชแล้วก็อาจเข้าเป็นสมาพันธรัฐกับไทย แต่การจะผนวกเอาแผ่นดินลาวมารวมกับไทยเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นเลยไกลจนไม่อาจเป็นไปได้แล้ว ทางจอมพล ป. ไม่ได้ตอบสนองตามข้อเสนอดังกล่าว อาจจะเป็นด้วยปัจจัยทางภาววิสัยหลายประการไม่อำนวยให้ดำเนินการได้ และจากการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นในกรณีพิพาทอินโดจีนทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ก็เป็นประเด็นที่ไม่ตรงกับข้อเสนอของเสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด
รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, ท่านสิงกะโป และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
สถานการณ์โลกได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้นก่อนในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์สามารถกรีฑาทัพบุกฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสต้องยอมจำนนต่อเยอรมนีอย่างรวดเร็ว ทำให้ฐานะของฝรั่งเศสอ่อนแอลงและหันไปขึ้นกับรัฐบาลหุ่นที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมัน
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' ก็มองเห็นความอ่อนแอของฝรั่งเศสในอินโดจีนเช่นกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นดีเห็นงามกับแนวความคิดฟาสซิสต์อิตาลีและนาซีเยอรมันประกอบกับได้ที่ปรึกษา คือ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ผู้ซึ่งต่อมาก็ยังกลับมารับใช้ ‘สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ผู้โค่นล้มจอมพล ป. การปลุกใจให้คนไทยรักชาติเป็นไปอย่างอึกทึกครึกโครมผ่านทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเป็นเสียงรัฐบาล
‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ได้แต่งเพลงปลุกใจหลายเพลงโดยอาศัยทำนองจากเพลงต่างประเทศ เช่นเพลง “รักเมืองไทย”, “ข้ามโขง” เป็นต้น ทำให้มีการ “เรียกร้องดินแดน” คืน กระทั่งนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินขบวนไปพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กระทรวงกลาโหมเพื่อขอให้ดำเนินการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส รวมทั้งทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เกรงว่าจะไม่ทันต่อเหตุการณ์จึงเริ่มจะเดินขบวนเช่นกัน
‘นายปรีดี พนมยงค์’ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยรีบรุดไปพบกับบรรดานักศึกษาพร้อมทั้งให้คำอธิบายว่าฐานะของฝรั่งเศสเป็นผู้แพ้เยอรมนีรัฐบาลหุ่นไม่มีความชอบธรรม ดินแดนที่ได้มาก็อาจต้องคืนกลับไป ควรหาวิธีการอื่นที่เป็นเหตุเป็นผล เช่น การเจรจา ไม่ทราบว่านักศึกษาจะมีความเข้าใจถ่องแท้ประการใดหรือไม่ แต่ในเวลาต่อมาดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่ได้มาก็ต้องคืนกลับไป
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากกรณีพิพาทอินโดจีนทำให้ผู้รักชาติลาวเริ่มเห็นหนทางกอบกู้เอกราชที่เริ่มโดยเสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด ดังได้กล่าวมาแล้วพี่น้องชาวลาวผู้รักชาติต่างเอาใจช่วยไทยในการรบกับฝรั่งเศส บางคนข้ามโขงมาช่วยทางฝั่งไทย ซึ่งมีทั้งชาวลาวเช่น ‘ท่านอุ่น ชนะนิกอน’ ชาวเวียดนาม เช่น ‘หวูหิวบิ่นห์’ (Vu Huu Binh) ทหารชั้นประทวนในกองทัพฝรั่งเศส ต่อมาได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรีแห่งกองทัพไทย
ในชื่อ ‘ร.ต.สุบิน ภักดีไทย’ อันที่จริงบุคคลผู้นี้รับผิดชอบองค์กร “เวียดมินห์” ในลาว และดูแลชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานตอนบนส่วนหนึ่ง มีหน้าที่สำคัญคือการทำลายล้างอำนาจฝรั่งเศสเพื่อกอบกู้เอกราชเวียดนาม
มหาสิลา วีระวงส์
ณ ค่ายเสรีไทยบนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่ นายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง ได้จัดตั้งกองกำลังขึ้น นอกจากจะมีพลพรรคชาวไทยอีสานเป็นกำลังสำคัญแล้วยังมีพี่น้องลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และชาวเวียดนามที่อยู่ทางภาคอีสานเข้าร่วมรับการฝึกอบรมเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นด้วย
กองทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนเข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จจากผู้ปกครองฝรั่งเศสที่เริ่มแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายฝรั่งเศสเสรีของนายพลเดอโกลล์ แต่แล้วในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นก็ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตร
ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวที่มีเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นผู้นำได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่า ฝรั่งเศสจะต้องกลับมาปกครองลาวอีก ทางเสรีไทยภาคอีสานได้ประสานงานกับกลุ่มผู้รักชาติลาว พร้อมทั้งให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งชาวอีสานที่มิได้เป็นพลพรรคเสรีไทยมาก่อนก็เข้าร่วมขบวนการกอบกู้เอกราชของลาว
ลาวประกาศเอกราชในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1945 โดยมี ‘พญาคำเม้า วิไล’ อดีตเจ้าแขวงเวียงจันทน์เป็นนายกรัฐมนตรี ‘เจ้าสุพานุวง’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังกู้ชาติลาวนั้นก็ปรากฏว่ามีชาวอีสานจากร้อยเอ็ดคือ ‘นายอัมพร สุวรรณบล’ เข้ารับหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ‘มหาสิลา วีระวงส์’ ชาวร้อยเอ็ดเช่นกัน และเคยบวชเรียนจนได้เปรียญธรรม ท่านผู้นี้เป็นนักค้นคว้า มีความรู้ดีมากด้านประวัติศาสตร์ ด้านภาษาไทยและภาษาลาว เข้าไปทำหน้าที่เลขานุการให้เจ้าเพ็ดชะลาดในการร่างคำประกาศเอกราช ต่อมามหาสิลา วีระวงส์ได้เขียนประวัติศาสตร์ลาวในอดีตจวบจนกระทั่งการกอบกู้เอกราชและได้สร้างครอบครัวอยู่ประเทศลาวเป็นการถาวร
ชาวโลกได้รับรู้การประกาศเอกราชของลาวอย่างเป็นทางการแล้วแต่ทาง ‘เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวง’ ของลาวยังมีความเกรงกลัวฝรั่งเศสจึงไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งๆ ที่ผู้รักชาติได้พยายามยกย่องให้ท่านเป็นผู้นำในการประกาศเอกราช ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพระบรมราชโองการปลดเจ้าเพ็ดชะลาลออกจากตำแหน่งอุปราช
ในขณะที่พี่น้องชาวอีสานได้เข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องชาวลาวผู้รักชาติ ชายหนุ่มหลายคนได้เข้าไปอยู่ในสังกัด “ลาวอิสระ” กองกำลังคิดอาวุธกู้ชาติซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าสุพานุวง ทางการรัฐบาลไทยชุดก่อนรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ก็ให้การสนับสนุนต่อขบวนการกู้ชาติลาว ถึงแม้ว่าจะไม่สบอารมณ์ฝรั่งเศสก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
ระยะแรกของการประกาศเอกราชมีอุปสรรคไม่น้อย เนื่องจากประสบการณ์ แต่ในด้านจิตใจของการต่อสู้นั้นถือว่ามีเต็มร้อย พร้อมที่จะเผชิญกับการสู้รบในการกลับมายึดครองฝรั่งเศส
เตียง ศิริขันธ์ กับ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่ร้านกาแฟกลางเมืองสกลนคร
‘ครูฟอง สิทธิธรรม’ แห่งอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ต่างจาก ‘ครูเตียง ศิริขันธ์’ ผู้สังกัดพรรคสหชีพ แต่ก็จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมกู้เอกราชลาวที่มีเขตปฏิบัติการติดต่อกับทางอีสานเหนือ ดังนั้นครูฟองจึงได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับครูเตียง, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด), นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม), นายผล แสนสระดี (ขอนแก่น) รวมทั้งพี่น้องชาวอีสานอีกหลายท่าน ทั้งที่เคยเป็นสมาชิกแห่งขบวนการเสรีไทยและบุคคลภายนอก โดยมี ‘พันตรี สีห์พนม วิชิตวรสาร’ เป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มชาวลาวและกลุ่มเวียดนามโพ้นทะเล (เวียดเกี่ยว) ที่อยู่ในองค์กรจัดตั้งของเวียดมินห์
‘พันตรี สีห์พนม’ อดีตนายทหารกองทัพบกไทยผู้ผ่านสมรภูมิเชียงตุงในระหว่างไทยร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตีเข้าไปในเชียงตุง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็กลับมาร่วมงานกับครูฟอง และได้เข้าร่วมในการประกาศเอกราชของลาวที่เวียงจันทน์กับทางเสด็จเจ้าเพ็ดชะลาดบุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังเสรีลาวเพื่อเตรียมต่อต้านและขับไล่ฝรั่งเศสที่กำลังจะกลับเข้ามายึดครองประเทศลาวอีก กองกำลังเสรีลาวมีชื่อใหม่ว่า “ลาวอิสระ”
จากข้อกำหนดของฝ่ายสัมพันธมิตร การปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเหนือเส้นขนานที่ 16 ให้เป็นหน้าที่ของกองพล 93 ของจีน ส่วนใต้เส้นขนานที่ 16 เป็นหน้าที่ของกองทัพอังกฤษ และในฐานะที่เป็นชาวเอเชียด้วยกัน รัฐบาลลาวอิสระจึงได้รับความเห็นอกเห็นใจอยู่บ้างจากพล 93 ของจีนคณะชาติ แม้กระทั่งกองทหารญี่ปุ่นประจำอยู่ท่าแขกเมื่อยอมจำนนแล้วก็ยังมอบอาวุธให้กับลาวอิสระ
ก่อนรัฐประหารในประเทศไทย ค.ศ. 1947 ทางฝ่ายรัฐบาลลาวอิสระได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ รัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐบาลต่างก็เป็นระดับแกนนำของขบวนการเสรีไทยในอีสานเช่น นายเตียง, นายจำลอง, นายทองอินทร์ และนายถวิล และถึงแม้ฝรั่งเศสจะใช้กำลังทหารเข้าตีเมืองท่าแขกได้ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 ตีเวียงจันทน์แตกในเวลาต่อมา รัฐบาลลาวพลัดถิ่นก็ได้มาตั้งมั่นเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสอยู่ในไทย
เหตุการณ์พลิกผันหลังจาก ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ เข้าเถลิงอำนาจภายหลังรัฐประหาร รัฐบาลพลัดถิ่นลาวอิสระไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากไทย ยังถูกขัดขวางกีดกันไม่ให้กระทำการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะสร้างความไม่พอใจให้แก่ฝรั่งเศส แต่กระนั้นก็ตาม นายอัมพร สุวรรณบล, ครูทิม ภูริพัฒน์ (พี่ชายนายทองอินทร์), ดร.เซ้ง ปทุมรัตน์, พันตรี สิงห์พนม, ครูฟอง ได้ชักชวนเด็กหนุ่มในภาคอีสานหลายจังหวัดเข้าร่วม บางคนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ยังหาที่เรียนต่อไม่ได้เพราะสงครามเพิ่งสิ้นสุดก็ตัดสินใจร่วมขบวนการกู้ชาติลาว
นายอัมพรได้ติดต่อกับทางรัฐบาลจีนคณะชาติเพื่อขอนำชายหนุ่มเหล่านี้ไปฝึกวิชาทหารที่คุนหมิง เพื่อกลับมาต่อด้านขับไล่ฝรั่งเศสไปจากลาว ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ทางจีนได้มอบหมายให้กองพล 93 รับผิดชอบในการฝึกอบรม จำนวนผู้ที่เดินทางไปคุนหมิงคงมีประมาณหนึ่งหมวด (30-40 คน) ต้องเดินทางขึ้นเหนือผ่านเชียงราย, ท่าขี้เหล็ก แล้วด้นดั้นไปจนถึงชายแดนจีน
เมื่อจบการฝึกอบรมวิชาทหารได้กลับมาปฏิบัติการร่วมกับลาวอิสระที่กำลังสู้รบต่อต้านฝรั่งเศสอยู่หลายคนได้เสียสละชีวิต บางคนก็กลับประเทศไทย แต่ส่วนหนึ่งจากสังกัดลาวอิสระก็เข้าร่วมขบวนการปเทดลาว และหลังจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1975 ต่างก็ได้ ‘พันตรีสีห์พนม วิชิตวรสาร’ รับตำแหน่งที่สูงขึ้น ปัจจุบันเกษียณอายุไปหมดแล้ว เพราะล้วนมีอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี ต่อมาภายหลังมีการเรียกชื่อสมาชิกคณะนี้ว่า “นักเรียนนายร้อยคุนหมิง”
พันตรี สีห์พนม วิชิตวรสาร
รัฐบาลทหารไทยสมัยหลังรัฐประหารหวาดระแวงการเคลื่อนไหวของชาวอีสาน ประกอบกับสายสืบตบแต่งต่อเติมรายงานข่าวที่เกินความจริงไปมาก จนเป็นเหตุให้ ‘ครูฟอง สิทธิธรรม’ ถูกจับกุมในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จากเรือนจำไปขึ้นศาลถูกตีตรวนขนาดหนัก แต่ท่านมิได้ย่อท้อ ยังกล่าวติดตลกว่ามิได้เป็นผู้แบ่งแยกดินแดนที่จะเอาอีสานไปขึ้นกับลาว ตรงกันข้ามกลับมีความคิดที่จะรวบรวมผนวกดินแดนเข้ามา ในที่สุดศาลสั่งปล่อย และต่อมาในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังถูกจับอีกข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเพราะพยานให้การรับสารภาพว่าข้อหาที่ใส่ความนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น
‘ครูฟอง’ เป็นที่เคารพรักของชาวอีสาน ซึ่งผิดแผกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ ‘นายเลียง ไชยกาล’ ส.ส.อุบลราชธานี ที่มิได้รับการชักชวนให้เข้าขบวนการเสรีไทย เพราะมีพฤติกรรมใกล้ชิดกับทางญี่ปุ่น ทำญี่ปุ่นระแคะระคายการเคลื่อนไหวของเสรีไทยทางอีสานในขณะที่พี่น้องอีสานกำลังเข้าร่วมในการกอบกู้เอกราชของลาว นายเถียงกลับกลายเป็นมือเป็นเท้าให้ ‘ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ ในการทำลายล้าง ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ถึงกับสมคบกันว่าจ้างให้คนไปตะโกนที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”
รัฐบาลลาวพลัดถิ่นที่เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่เมื่อก่อนรัฐประหารนั้นต้องยุติบทบาทลง เนื่องจากถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กดดันในขณะที่ฝรั่งเศสได้ยื่นมือเข้ามาติดต่อโดยสัญญาจะมอบเอกราชและนิรโทษกรรมให้ ‘พญาคำเม้า วิไล’ นายกรัฐมนตรีจึงประกาศยุบรัฐบาลและกองกำลังลาวอิสระ ผู้นำลาวกู้ชาติส่วนหนึ่งเดินทางกลับเวียงจันทน์ รวมทั้ง ‘เจ้าสุวันนะพูมา’
‘เจ้าสุพานุวง’ ขณะพำนักรักษาตัวอยู่ในไทยเวลานั้นเข้าร่วมประชุมกับมิตรสหายชาวลาวที่สวนลุมพินี ผลสรุปคือไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นตัวท่านและสหายร่วมอุดมการณ์ก็ได้เดินกลับไปเคลื่อนไหวในลาวอย่างปิดลับ
กำลังสำคัญของพลพรรคเสรีไทยภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘เตียง ศิริขันธ์’ คือ ครูประชาบาลภาคอีสานซึ่งถือว่าเป็นระดับรากหญ้า ก็ได้จัดรวบรวมลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นชายหนุ่มที่มีความตั้งใจเข้าร่วมกอบกู้เอกราชของลาว โดยสังกัดกองกำลังลาวอิสระเช่นกัน เมื่อรัฐบาลทหารครองอำนาจ ครูประชาบาลเหล่านี้ถูกชนชั้นปกครองข่มขู่ บางคนถูกจับกุมข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน และก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอีสานขับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลอีกหลายปีต่อมาดังเป็นที่ทราบกันดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมแสดงออกอย่างเด่นชัดว่า “โขงสองฝั่งเหมือนดั่งฝั่งเดียว”
ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. โขงสองฝั่งเหมือนดั่งฝั่งเดียว, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553), น.56-64
หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ปรีดา ข้าวบ่อ
- เสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด
- ขุนไสวแสนยากร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- หลวงวิจิตรวาทการ
- ปรีดี พนมยงค์
- อุ่น ชนะนิกอน
- มหาสิลา วีระวงส์
- เตียง ศิริขันธ์
- จำลอง ดาวเรือง
- พญาคำเม้า วิไล
- เจ้าสุพานุวง
- อัมพร สุวรรณบล
- เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวง
- ลาวอิสระ
- ฟอง สิทธิธรรม
- พันตรี สีห์พนม
- นักเรียนนายร้อยคุนหมิง
- เจ้าสุวันนะพูมา
- โขงสองฝั่งเหมือนดั่งฝั่งเดียว