ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ศาสตร์พระเจ้าจักรากับสารที่พระเจ้าช้างเผือกสื่อ

23
พฤศจิกายน
2564

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 80 ปีแห่งการฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” บทประพันธ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจัดสร้างโดย PRIDI PRODUCTION ในบรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มต้นขึ้นแล้วบนโลกใบนี้

หลังจากนั้นเพียง 8 เดือน ญี่ปุ่นบุกไทย สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แผ่มาถึงประเทศไทย ก่อนที่จะสงบลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 โดยที่ไทยยังรักษาเอกราชเอาไว้ได้ เพราะการทำงานของขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้านั่นเอง

เมื่อกล่าวถึง “พระเจ้าช้างเผือก” มักนึกกันถึงจุดยืนในทางสันติภาพ เพราะเป็นประเด็นหลักที่ผู้สร้างเขียนไว้ทั้งในหนังสือและเกริ่นไว้ในตอนต้นของเรื่อง แต่หากพิเคราะห์ต่อไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีสารอีกหลายประการที่นายปรีดีได้ใส่ความหมายไว้ให้ผู้ชมได้ขบคิด

ในวาระ 80 ปีของการฉาย “พระเจ้าช้างเผือก” จึงขอนำเสนอ ศาสตร์พระเจ้าจักรา ให้คนร่วมสมัยได้ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด

จุดยืนทางการเมืองในยามสงคราม

ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นการนำประวัติศาสตร์ยุคอยุธยามาดัดแปลงผสมจินตนาการขึ้นใหม่ โดยสร้างพระเจ้าจักราขึ้นมาจากเรื่องราวของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์ซึ่งมีช้างเผือกในรัชสมัยถึง 7 เชือก จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ผู้ทรงเคยกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรในประวัติศาสตร์มาแล้ว

โดยในเรื่องนี้ กำหนดให้พระเจ้าจักราเป็น “ยุวกษัตริย์” และเน้นให้พระเจ้าจักราเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ซึ่งกล้าหาญ แต่รักสันติ (โปรดสังเกตว่า เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ทรงเป็น “ยุวกษัตริย์” ของชาติเช่นเดียวกัน)

เรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ พระเจ้าหงสา ผู้มีความทะเยอทะยานและประสงค์จะทำลายอโยธยา ได้อ้างเรื่องขอช้างเผือกจากพระเจ้าจักราเป็นเหตุ และเมื่อทรงปฏิเสธ จึงรุกรานเข้ามาทางเมือง “กานบุรี” พระเจ้าจักราก็ออกรบต่อตีกับอริราชศัตรู โดยไม่ประสงค์ให้อาณาราษฎรต้องล้มตาย จึงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าจักราจนได้รับชัยชนะ

แต่ความแตกต่างของเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” กับภาพยนตร์สงครามในเวลาต่อมานั้นมีหลายประการ เช่น ปกติสงคราม “ไทยรบพม่า” มักจะพูดถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่องนายปรีดีได้พูดเรื่องสงครามโลกในเวลานั้น ผ่านการแต่งเรื่องทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือ การที่เน้นในเรื่องว่า เมื่อพระเจ้าหงสามีพระเจ้าโมกุลแห่งอินเดียหนุนหลังแล้ว ก็จะสามารถแผ่ขยายอำนาจเข้ามายังอโยธยาได้ ในความหมายว่าเป็นบริบทของการเมืองในระดับภูมิภาค-โลก ที่เพิ่มมิติมากกว่าเพียงหงสากับอโยธยา

และมีหลายต่อหลายครั้งที่พระเจ้าจักรามักทรงปรารภว่า “มิตรภาพจะมีคุณค่าอะไร ถ้ามันเป็นอุปสรรคขวางกั้นความทะเยอทะยาน”

 

พระเจ้าจักรา
พระเจ้าจักรา


ชีวิตอาณาราษฎร

ในเรื่องนี้ พระเจ้าจักราได้แสดงให้เห็นโดยตลอดว่า พระองค์ไม่ประสงค์ให้ไพร่ฟ้าต้องเดือดร้อนจากภัยของสงคราม เมื่อถึงจุดที่สามารถจะยุติการเข่นฆ่ากันได้ พระองค์ก็ใช้วิธีเป็นฝ่ายทรงช้างไปหาพระเจ้าหงสา เพื่อขอทำยุทธหัตถี เป็นการสู้กันตัวต่อตัวเพื่อยุติปัญหาเพราะศัตรูของพระเจ้าจักรา คือ พระเจ้าหงสา พระองค์เดียวเท่านั้น มิใช่ราษฎรชาวหงสา

ดังนั้น เมื่อเอาชนะพระเจ้าหงสาได้แล้ว จึงทรงปล่อยราษฎรชาวหงสาให้เดินทางกลับมาตุภูมิ โดยมิได้เบียดเบียนบีฑาประการใดดังมีพระบรมราโชวาทความตอนหนึ่งว่า

“ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำหรับพวกเจ้า บทเรียนสำหรับพวกเราทุกคน อย่าให้ต้องถูกบังคับขับขี่เช่นวัวควายอีกเลย ... จงเล่าขานให้ลูกหลานของเจ้าฟังถึงเรื่องในวันนี้ เรื่องของกษัตริย์ต่อกษัตริย์ทรงกระทำยุทธหัตถีกันเพื่อยุติกรณีพิพาท เพื่อว่าอนุชนรุ่นหลังจะได้รับรู้และกำชับผู้นำของตนให้กระทำเยี่ยงนี้บ้าง หากพวกเขาจำต้องต่อสู้กัน ด้วยวิถีทางนี้เท่านั้น จึงจะทำให้ชนทั้งผองในโลกได้รอดพ้นจากสงครามอันไร้ประโยชน์ และความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นเลย” (หน้า 325)

และ “ทหารแห่งหงสา! เก็บอาวุธของพวกเจ้า แล้วกลับไปบ้านเมืองของเจ้า ขอจงมีสันติสุขเถิด” (หน้า 326)

นอกจากนี้ ยังมีอีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ เมื่อพระเจ้าหงสาจะเกณฑ์ไพร่พลมารบกับอโยธยา ได้เสด็จออกพระระเบียงเพื่อประกาศข่าวการทำสงครามให้พสกนิกรได้รับทราบ มีชายสูงอายุคนหนึ่ง ลุกขึ้นแล้วกล่าวอย่างเด็ดเดี่ยวว่า

“พสกนิกรต่างเหนื่อยล้าจากการทำสงครามไปทั่วทุกคน ในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าได้ถูกสั่งให้ไปทำสงครามกว่าสิบหน และครั้งนี้เพื่อช้างเผือกเพียงเชือกเดียว ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเชื่อมั่นเหลือเกินว่า สิ่งที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พวกข้าพระพุทธเจ้าไปตายเพื่อให้ได้มานั้นย่อมสามารถได้มาด้วยวิธีการเจรจาโดยสันติ” (หน้า 267)

ชายผู้นั้นได้รับพระราชทานหอกจากพระเจ้าหงสา พุ่งตรงไปปักอกที่หัวใจ เป็นการปลิดชีพทันที

 

คติทางประชาธิปไตย

 

ชายชราชาวหงสา แสดงโดย หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) ผู้ประพันธ์ความไม่พยาบาท นวนิยายเรื่องแรกของไทย
ชายชราชาวหงสา แสดงโดย หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) ผู้ประพันธ์ความไม่พยาบาท นวนิยายเรื่องแรกของไทย

 

เมื่อพระเจ้าหงสาปลิดชีพพสกนิกรของตนเองด้วยความโกรธเกรี้ยวแล้วนั้น มีพระราชดำรัสชัดเจนว่า “คำสั่งของข้า คือ กฎหมายสูงสุดยิ่งกว่าอื่นใด” (หน้า 268)

คติทางการเมืองเช่นนี้ ตรงกันข้ามกับพระเจ้าจักราทีเดียว

ดังในตอนต้นเรื่อง เมื่อสมุหราชมณเฑียรเสนอว่า พระเจ้าจักราควรปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีในการมีพระมเหสี 365 คน แต่พระเจ้าจักราทรงปฏิเสธ โดยยกสถานการณ์ที่หงสาอาจมาบดขยี้อโยธยาได้ทุกเมื่อ สมควรที่จะหาช้าง 365 เชือกไว้ใช้งานมากกว่านั้น พระองค์ทรงถามความเห็นของเสนาพฤฒามาตย์ที่อยู่ในมหาสมาคม ณ ที่แห่งนั้นโดยต่างก็พากันโค้งกายถวายความเคารพ และเห็นด้วยทุกประการคงมีแต่สมุหราชมณเฑียรผู้เดียวที่ไม่เห็นด้วย

ดังนี้แล้ว พระเจ้าจักราจึงตัดสินว่า “ในเมื่อบรรดาเสนาบดีส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบที่จะจับช้างก่อน เราก็ควรเตรียมให้พร้อมสำหรับการนั้น” (หน้า 226)

 

พระเจ้าหงสา
พระเจ้าหงสา

 

ความเป็นอารยะ/ศิวิไลซ์

ในประเด็นความเป็นอารยะ หรือความศิวิไลซ์ของประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกนั้น ไม่เพียงแต่ในส่วนเนื้อหาที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้เท่านั้น แต่ที่อยากตราไว้ในเบื้องต้น คือ เรื่องการถ่ายทำภูมิประเทศความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ วิถีชีวิตของผู้คน นาฎศิลป์ ดนตรี โดยเฉพาะเพลงประกอบภาพยนตร์ ที่พระเจนดุริยางค์นำเพลงดนตรีไทยเดิมมาเรียบเรียงแล้วบรรเลงออกมาอย่างไพเราะ ฟังได้โดยไม่ล้าสมัยประเด็นสำคัญที่พระเจ้าจักราในเรื่องนี้แสดงให้เห็น คือ “ทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมนียมต่างๆ ให้สอดคล้องกับพระราชอัธยาศัยที่เรียบง่ายและสมถะ กล่าวได้ว่า ในขณะที่ความต้องการจะเปลี่ยนแปลงระเบียบขนบธรรมเนียมเริ่มเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกนั้น แผ่นดินไทยโดยพระเจ้าแผ่นดินเองได้ทรงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงในแบบเดียวกันแล้ว แผ่นดินไทยจึงเริ่มมีการปฏิรูปขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่างที่เหมาะสม โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้นำ ในเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตะวันตก” (หน้า 212-213)

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นายปรีดีได้ยึดถือ “ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเคร่งครัดดังพระบรมราชโองการ ความว่า

“ธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ... ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนยืนเปนเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมแลกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนเปนก้มสีสะ ธรรมเนียมที่ยืนที่เดินแลก้มสีสะนี้ไช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานถวายบังคมแลกราบไหว้”

โดยจะเห็นได้ว่า ตลอดภาพยนตร์นี้ทั้งเรื่อง มีแต่ธรรมเนียมเดินยืน และก้มศีรษะเท่านั้น

 

 

 

 

พระราชาผู้ประเสริฐ

สมุหราชมณเฑียรในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผู้เร่งรัดให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่จะทรงมีมเหสีเทวี 365 องค์นั้น ได้กล่าวสรรเสริญพระมหากษัตริย์ของเขาเมื่อจบเรื่องว่า “พระองค์ทรงรักประเทศกับช้างของพระองค์มากกว่าความคิดที่จะมีพระมเหสี 365 องค์!” (หน้า 338)

โดยในตอนจบเรื่องพระเจ้าจักราได้เลือก เรณู ธิดาของสมุหราชมณเฑียร เป็นพระราชินีเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีเบี้ยหวัด เงินปีหรือพระตำหนักส่วนพระองค์ (หน้า 331)

จากนั้น พระราชินีเรณูได้ทูลพระเจ้าจักรา ความว่า “ถึงหม่อมฉันจะเป็นเพียงราชินีกิตติมศักดิ์ ก็ขอให้หม่อมฉันได้ทูลว่า การเลี้ยงดูนางสนมทั้ง 364 นางนั้น จะเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อย่างมากพระราชทรัพย์เหล่านี้ควรจะนำไปใช้ในการส่งเสริมความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาราษฎร์และความรุ่งเรืองของประเทศมากกว่า” (หน้า 332)

และ “ถึงสงครามจะยุติ เราก็ยังต้องการใช้ช้างจำนวนมากไม่เพียงแต่สำหรับกองทัพเท่านั้น แต่สำหรับงานในป่าด้วยเพคะ อีกอย่างหนึ่งพวกช้างนี่เป็นสัตว์น่ารักนะเพคะ หม่อมฉันชอบมัน ... ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทน่าจะทรงนำพระราชทรัพย์ไปใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช้างทั้งหลาย” (หน้า 333)

พระเจ้าจักราทรงเห็นพ้องด้วยกับพระราชินีของพระองค์ ทรงชื่นชมว่า “ที่รักของฉัน การณ์จะเป็นไปตามที่เธอบอกมา แต่เธอต้องช่วยฉัน ดูเธอจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจฉัน ยิ่งมองเธอ ฉันยิ่งชอบเธอ” (หน้า 333-334)

และยกจากตำแหน่งพระราชินีกิตติมศักดิ์ให้เป็นพระราชินีตัวจริงของพระองค์ ดังความตอนหนึ่งว่า “เธอจะมาเป็นราชินีของฉันไหม เป็นราชินีตัวจริงของฉัน” (หน้า 334)

 

เรณู
เรณู

 

ตั๋วช้าง (เผือก)

พระเจ้าจักราได้แสดงศาสตร์ของพระองค์ไว้ให้ปรากฏแล้วถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้รักประเทศชาติและความสุขของราษฎรยิ่งกว่าความสุขส่วนพระองค์

แม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่วิเศษถึงเพียงนั้น แต่ก็น่าสงสารพระองค์อยู่ไม่น้อย หากชีวิตของพระองค์จะมีพระราชินีเพียงพระองค์เดียวที่เข้าใจพระองค์ท่าน (“ดูเธอจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจฉัน”)

ท้ายที่สุดนี้ จึงขอเชิญชวนผู้อ่านบทความนี้ รับชมภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่อาจเห็นศาสตร์พระเจ้าจักราในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากผู้เขียนก็เป็นได้ ซึ่งรับชมได้ฟรีทาง YouTube ของหอภาพยนตร์ โดยมิได้ต้องมี “ตั๋วช้าง (เผือก)” แต่อย่างใด

 

หมายเหตุ : แก้ไขเล็กน้อยจากที่เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.the101.world/the-king-of-the-white-elephant/ เมื่อวันที่  18 เมษายน 2564

บรรณานุกรม

  • ประกาศธรรมเนียมใหม่ จุลศักราช ๑๒๓๕
  • ปรีดี พนมยงค์. พระเจ้าช้างเผือก. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), ๒๕๕๘.