ภาพ: งานฉลองรัฐธรรมนูญ
ที่มา: เชียงใหม่นิวส์
กระแสลมหนาวต้นเดือนธันวาคมพัดโชย ขณะผมทอดน่องท่องถนนเลียบริมคลองหลอด สายตาจับมองท้องน้ำ พลันหวนระลึกว่า เมื่อ 80 ปีก่อนตรงบริเวณลำคลองแห่งนี้ เคยเกือบจะปรากฏ “การประกวดแต่งเรือ” เนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี พ.ศ. 2484
เมืองไทยยุครัฐบาล “คณะราษฎร” ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ถ้าจะมีงานมหกรรมประจำปีอันสลักสำคัญที่สุดคงมิพ้น “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมักจัดขึ้นประมาณช่วงวันที่ 7-14 ธันวาคมของแต่ละปี ไม่เพียงจัดขึ้นในเมืองหลวงเยี่ยงกรุงเทพมหานครเท่านั้น หากในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศยังจัดงานนี้เช่นกัน
แม่งานหลักที่จัดงานคือ “กระทรวงมหาดไทย” ขณะหน่วยงานรัฐอื่นๆ และเอกชนก็พร้อมใจร่วมมือร่วมแรงจัดกิจกรรมขึ้นมากมายหลากหลายประเภท นอกเหนือไปจากการแสดงมหรสพนานา เช่น โขน ลิเก ละคร อุปรากรจีน และภาพยนตร์ เพื่อมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้าใจและความศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เชิดชูเทิดทูนรัฐธรรมนูญ เผยแพร่หลัก 6 ประการของคณะราษฎร (เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) รวมถึงสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของงานให้ครึกครื้นคึกคัก
การจัดประกวดด้านต่างๆ นับเป็นสิ่งที่ขาดมิได้เลยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ กิจกรรมโดดเด่นของทุกๆ ปีคือ “การประกวดนางงาม” หรือ “การประกวดนางสาวไทย” (ก่อนปี พ.ศ. 2482 เรียก “ประกวดนางสาวสยาม”) เพื่อดึงดูดใจให้คนมาเที่ยวชมงานอย่างคับคั่ง (แม้ปัจจุบันจะไม่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว แต่กิจกรรมการประกวดนางงามยังตกทอดสืบมา) อีกทั้งอาณาบริเวณพื้นที่จัดงานจะมีการออกร้านแสดงสินค้าของหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งแต่ละร้านจะออกแบบตกแต่งประดับประดาซุ้มของตนเป็นสัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญ เช่น พานรัฐธรรมนูญจำลอง เสาหกเสา จึงมีการจัดประกวดความสวยงามและความสร้างสรรค์ของซุ้มที่ออกร้าน ส่วนการประกวดอื่นๆ เช่น ประกวดเขียนเรียงความ ประกวดศิลปกรรม เป็นต้น
ยวดยานพาหนะยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏขบวนรถแห่พานรัฐธรรมนูญ ขบวนรถแห่แฟนซี ขบวนพาเหรดของแต่ละหน่วยงานรัฐและเอกชนที่แล่นไปตามท้องถนน หรือทางแม่น้ำลำคลองก็มีขบวนเรือแห่รัฐธรรมนูญ ซึ่งกองอำนวยการที่จัดงานได้จัดประกวดความสวยงามและความสร้างสรรค์ของขบวนรถและขบวนเรือเหล่านี้ด้วย
ปลาย พ.ศ. 2484 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นปีที่ 9 ของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ (งานจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476) กองอำนวยการงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484 ที่ทำการตั้งอยู่สวนพุดตาน พระราชวังดุสิต มี นายเชื้อ พิทักษากร เป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ (ขณะนั้นนายเชื้อรับราชการตำแหน่งหัวหน้ากองกลาง กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนที่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 จะโอนไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ) ได้วางแผนจะให้มีกิจกรรม “การประกวดการแต่งเรือในคลองหลอด” ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
นายเชื้อจึงส่งหนังสือลงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2484 ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งข่าวและเรียนเชิญชวนกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้ส่งเรือเข้าประกวดโดยพร้อมเพรียงกัน
นายเชื้อ พิทักษากร
ตามรายละเอียดและกฎเกณฑ์ของ “การประกวดการแต่งเรือในคลองหลอด” ระบุวันประกวดตรงกับวันอังคารที่ 9 และวันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แต่ถ้ามีเรือส่งเข้าร่วมประกวดจำนวนมากก็จะขยายวันเพิ่มเติมอีก 1 วันคือ 11 ธันวาคม จะเริ่มประกวดตั้งแต่เวลา 14.00 น. แบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทสวยงาม, ประเภทความคิด และประเภทตลกขบขัน ซึ่งสามารถร้อง “เพลงเรือ” (เพลงพื้นบ้าน) แบบสุภาพหรือดนตรีประกอบอื่นๆ หลังจากตัดสินผลการประกวดแล้ว เฉพาะเรือประเภทสวยงามและประเภทความคิดจะยังจอดอยู่ให้ประชาชนมาชมต่อไป
ผู้มีความจำนงจะสมัครเข้าร่วมประกวดเรือให้นำเรือไปลงนามสมัคร ณ สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่าในวันเวลาทำงานปกติ ตั้งแต่วันที่ 10-25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ซึ่งตอนสมัครต้องเลือกประเภทของการประกวด บอกขนาดความกว้างความยาวของลำเรือและชนิดของเรือ โดยเรือมีขนาดกว้างกลางลำได้ไม่เกิน 2 เมตร ครั้นเจ้าหน้าที่รับใบสมัครเรียบร้อยจะมอบป้ายหมายเลขประจำเรือแก่ผู้สมัคร
กองอำนวยการงานฉลองรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้เข้าประกวดนำเรือเข้าไปในคลองหลอดในวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่ 9.00-14.00 น. เข้าได้ทั้งด้านเหนือและด้านใต้ แต่ถ้าน้ำในคลองมาก อาจเปิดให้เข้าช้ากว่าเวลาดังกล่าวได้ เรือที่นำเข้ามาในคลองหลอดแล้ว ให้ไปจอดรอกันบริเวณระหว่างสะพานหัวตะเข้กับคลองถม วัดราชบพิธ ซึ่งทางกองอำนวยการทำเครื่องหมายธงไว้เป็นที่สังเกต
ภาพ: คลองหลอด
ที่มา : หนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีต ของเทพชู ทับทอง
ภายหลังส่งหนังสือเรียนเชิญชวนกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ สิ่งที่กองอำนวยการงานฉลองรัฐธรรมนูญได้รับตอบกลับมา เช่น กรมสาธารณสุขไม่พร้อมจะส่งเรือเข้าประกวด และกรมราชทัณฑ์ไม่มีเรือ เป็นต้น
“การประกวดการแต่งเรือในคลองหลอด” คงจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นที่ตื่นตาตื่นใจในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี พ.ศ. 2484 หากว่ามิเกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดเปลี่ยน นั่นคือการที่กองทัพทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองดินแดนในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคมปีนั้นและเข้ายึดกรุงเทพมหานครสำเร็จ ส่งผลให้ประเทศก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกว่าจะสิ้นสุดสงครามเมื่อกลางปี พ.ศ. 2488 ประชาชนจึงมิได้สัมผัสบรรยากาศงานมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญเสียหลายปีระหว่างประเทศเป็นสมรภูมิ
"มหกรรมงานฉลองรัฐธรรมนูญ" อาจมิใช่สิ่งที่ชาวไทยยุคทศวรรษ 2560 รู้จักคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะเคยเป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปีในอดีตก็ตาม นั่นเพราะงานนี้มีจุดจบสิ้นสูญไปราวต้นทศวรรษ 2500 เฉกเช่นเรื่องราว “การประกวดการแต่งเรือในคลองหลอด” ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รับทราบแพร่หลาย กระทั่งในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญเอง
เอกสารอ้างอิง
- หจช. มท. 2.2.13/22 กองอำนวยการงานฉลองรัฐธรรมนูญ เชิญชวนส่งเรือเข้าประกวดการแต่งเรือในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484 (พ.ศ. 2484)
- เชื้อ พิทักษากร. ผู้บริหารราชการแผ่นดิน. กระทรวงมหาดไทย พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเชื้อ พิทักษากร ผู้ว่าราชการภาค 6 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม 2496. ธนบุรี : โรงพิมพ์เพชรรัตน์, 2496
- เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2539
- ปรีดี หงษ์สต้น. สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562