ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : 10 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ค.ศ. 1976-1986)

15
พฤษภาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ประธานเเห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

การได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศ ในด้านหลักต้องถือว่าเป็นผลสำเร็จ แห่งชัยชนะของประชาชนที่จะได้นำพาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้า ตามการดำเนินไปของสัจธรรมที่สังคมต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง หากแต่ว่าจะต้องเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ

ตามข้อสรุปแห่งวิวัฒนาการของสังคม จากระบอบสังคมชุมชนบุพกาลสู่ระบอบทาส, ศักดินา, ทุนนิยมและก้าวสู่สังคมนิยม สำหรับประเทศลาวนั้น ก่อนการเปลี่ยนแปลงปลายปี ค.ศ. 1975 ไม่ปรากฎว่ามีการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยม มีเพียงแต่สังคมศักดินาที่ไม่ขยายใหญ่โตเกินไป เพราะลักษณะประเทศมิได้กว้างใหญ่ และอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมของฝรั่งเศส ตามด้วยการเข้าแทรกแซงของจักรวรรดินิยมอเมริกาและเผด็จการทหารไทย ดังนั้น วิถีทางของลาวในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมจึงมีลักษณะพิเศษเฉพาะของลาวเอง

ทางด้านเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศที่เคยได้รับการหยิบโยนมาให้จากจักรวรรดินิยมอเมริกาก็หมดสิ้นไป เรียกว่าเงินของรัฐเกลี้ยงคลังไปทีเดียว ความต้องการเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะสกุลเงินบาทเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งด้านเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่สำคัญคือการซื้อสินค้าจากไทยตามจังหวัดชายแดนริมแม่น้ำโขง ทางออกเฉพาะหน้าหรือการขัดตาทัพไว้ก่อนก็คือ ตัดไม้ขายเพื่อแลกกับเงินตราต่างประเทศ เพราะในระยะยาวเรื่องตัดไม้จะเกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติ

สหภาพโซเวียตและจีนเป็นประเทศแรกๆ ที่ช่วยเหลือลาวเต็มที่ ส่วนเวียดนามก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ทั้งๆ ที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยและรวมแผ่นดินเหนือ-ใต้เป็นเอกภาพ มีภารกิจบูรณะฟื้นฟูประเทศมากมาย มิตรภาพพิเศษระหว่างลาว-เวียดนาม อันเกิดจากร่วมกันต่อสู้กับระบอบอาณานิคมและจักรวรรดินิยม ทำให้ทั้งสองประเทศต้องไม่ทอดทิ้งกัน การช่วยเหลือจากเวียดนามเน้นด้านฝึกอบรมผลิตบุคลากร สวีเดนเป็นประเทศแรกในยุโรปตะวันตกที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทั้งด้านการส่งเครื่องจักรกลมาให้ การช่วยเหลือในรูปของเงินให้เปล่าและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะยาว จากนั้นติดตามมาด้วยการช่วยเหลือจากประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป มีฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย

การช่วยเหลือด้านการเงินจากกลุ่มประเทศตะวันตกนั้นมาในรูปเงินตราต่างประเทศส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วยให้รัฐบาลลาวรักษาสถานะทางงบประมาณแผ่นดินไว้ได้ ทั้งนี้ประเทศลาวยังยากจนติดอันดับโลก หน่วยงานพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (UNDP.) มีส่วนให้การแนะนำและช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

แม้ประชาชนลาวร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะเริ่มต้น แต่เนื่องจากการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศยังขาดประสบการณ์ ความพยายามที่จะใช้นโยบายสังคมนิยมเต็มตัวเหมือนประเทศสังคมนิยมที่อำนาจรัฐมีความมั่นคงแล้ว ไม่อาจนำมาประยุกต์ในประเทศลาวได้ ชาวลาวบางคนเมื่อไม่อาจอดทนต่อสภาพการณ์นี้ได้จึงหลบหนีจากประเทศ ทั้งๆ ที่มิได้เป็นพวกปะติกานทรยศต่อชาติ ไม่เข้าข่ายการลี้ภัยทางการเมือง เรียกว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจมากกว่า

ชาวลาวเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีเชื้อสายจีน ได้หาทางจัดการให้ตนเข้าเป็นผู้อพยพลี้ภัยไปประเทศที่สาม โดยเฉพาะฝรั่งเศส, อเมริกา, ออสเตรเลียเป็นต้น บางคนประสบความสำเร็จในการทำมาหากินที่ต่างประเทศและก็กลับมาลงทุนในประเทศลาว กรณีเช่นนี้คล้ายคลึงกับชาวเวียดนามโพ้นทะเล (เวียดเกี่ยว) ที่ไปทำมาหากินประสบความสำเร็จในอเมริกาและกลับมาร่วมลงทุนพัฒนาประเทศของตน

 

เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม (150MW)
เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม (150MW)

 

บรรดาข้าราชการแห่งระบบเก่าผู้เคยมีตำแหน่งรับผิดชอบระดับสูง แต่ไม่มีประวัติคิดร้ายต่อชาติบ้านเมือง ทางรัฐบาลใหม่จัดส่งไปสัมมนาปรับจิตสำนึกเป็นเวลาไม่นาน จากนั้นก็กลับมารับตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเดิม บุคคลเหล่านี้ต่างมีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวประธานสุพานุวง ซาบซึ้งถึงจิตใจเสียสละ ประจักษ์ผลงานการต่อสู้เพื่อประเทศชาติและประชาชน จึงยินดีเต็มใจและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปกับระบอบใหม่ที่มีความเป็นธรรม

กระทั่งทหารของระบอบเก่าเมื่อผ่านการอบรมสัมมนาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ให้ปลดประจำการกลับบ้านไปประกอบอาชีพโดยเสรี ทหารชั้นผู้น้อยที่มีเงื่อนไขพร้อม ก็เข้าร่วมกองทัพประชาชนลาวที่กำลังปรับปรุงรูปแบบแห่งกองทัพประจำการ

นักศึกษาลาวผู้ได้รับทุนจากต่างประเทศให้เดินทางไปศึกษาในระยะเวลาการปกครองของระบอบเก่า ส่วนใหญ่มีจิตใจรักชาติ เมื่อประเทศได้รับการปลดปล่อยมีรัฐบาลใหม่ต่างกลับมารับใช้ประเทศ บางคนได้ภรรยาเป็นคนต่างชาติ ทั้งสามีภรรยาร่วมกันกลับมาลาว แต่ทว่าสภาพความยากลำบากในระยะเริ่มต้นทำให้ภรรยาชาวต่างชาติบางคนไม่คุ้นเคย และไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้จึงต้องแยกทางกัน

อดีตนักศึกษาเหล่านี้ต่างรับใช้ชาติและรับผิดชอบภาระหน้าที่สูงขึ้น บางคนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี, รองรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล หลายคนได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจ หรือเป็นหัวหน้าในรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ เช่นการไฟฟ้าลาว ฯลฯ

ระยะ 10 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ยากลำบากที่สุด การพัฒนาประเทศก้าวไปอย่างเชื่องช้าอุปสรรคมีมากมาย ทั้งความพยายามของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่ยังสนับสนุนพวกเดนตาย สมุนวังเปา ทำการก่อกวนเพื่อหวังโค่นอำนาจรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดไม่ได้เพราะสาธารณรัฐฯ มีความมั่นคงขึ้นทุกวัน สมุนวังเปาจึงกลายเป็นโจรปล้นสดมภ์และฆ่าผู้คนในท้องถิ่น ที่รัฐยังไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง แต่ในที่สุดก็สามารถปราบปรามลงได้ ยังความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ผู้ประสงค์ร้ายถึงแม้หลงเหลืออยู่บ้างก็น้อยเต็มที

ส่วนชนเผ่าม้งที่ถูกวังเปาและสมุนชักจูงไปในทางที่ผิด รัฐบาลได้ใช้นโยบายที่เหมาะสมผ่อนปรนจนช่วงชิงให้กลับมาเป็นประชาชนที่ดีของประเทศ

10 ปีแรกแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ผ่านพ้นมาด้วยความยากลำบาก อันเนื่องจากขาดประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ประกอบกับฝ่ายที่สูญเสียอำนาจซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหัวเรือใหญ่อเมริกา ยังมุ่งบ่อนทำลายสาธารณรัฐที่เกิดใหม่นี้ รวมทั้งความพยายามให้พวกม้งเดนตายกลุ่มวังเปาร่วมมือกับอดีตเจ้ามหาชีวิต ก่อตั้งรัฐอิสระขึ้น เพื่อต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐของประชาชน การกระทำดังกล่าวถึงแม้ไม่เกิดผลอันใดก็ตาม แต่ก็ทำให้ต้องใช้กำลังรักษาความสงบเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ

ถึงแม้ได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศที่เคยช่วยเหลือสมัยต่อสู้ปลดปล่อยเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากก็ไม่อาจบรรลุผลมากมายนัก สิ่งที่ฝ่ายนำของพรรคยึดเหนี่ยวอย่างเหนียวแน่นคือ สามัคคีแน่นแฟ้นกับประชาชนผู้รักชาติฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงดังที่ผ่านมาแล้วร่วม 30 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 - 1975

“แนวลาวรักชาติ” แห่งระยะการต่อสู้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็น “แนวลาวสร้างชาติ” ในปี ค.ศ. 1979 ประธานสุพานุวง ที่เคยดำรงตำแหน่งประธาน “แนวลาวรักชาติ” ก็ได้กลับมาเป็นประธาน “แนวลาวสร้างชาติ” เป็นคนแรกอีกตำแหน่งหนึ่งตามความเหมาะสมของการพัฒนาชาติ และเป็นองค์กรจัดตั้งที่เปิดกว้างมากขึ้น ด้วยการรวบรวมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น ชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งรัฐมีนโยบายให้การดูแลให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง

จากประสบการณ์และบทเรียนบริหารประเทศมาร่วม 10 ปี พรรคประชาชนปฏิวัติลาวโดยสมาชิกประจำศูนย์กลางกรมการเมืองของพรรคฯ จึงมีมติกำหนดนโยบายเพื่อก้าวสู่การพัฒนาประเทศในยุคต่อไปด้วยการเสนอนโยบาย “จินตนาการใหม่”

อันที่จริงแล้ว “จินตนาการใหม่” เป็นการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ โดยร่วมลงทุนกับทางรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลให้มีความเป็นธรรมทั้งทางภาคเอกชนและภาครัฐ การทำสัญญาระหว่างกันก็เริ่มได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยรัฐจะมีหน้าที่ดูแลให้เป็นไปตามกลไกการตลาด มิให้เกิดการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ให้ได้รับแต่ความสำเร็จและเป็นธรรมทุกฝ่าย

 

สกุลเงินกีบของ สปป.ลาว
สกุลเงินกีบของ สปป.ลาว

 

ปรากฏว่าแนวนโยบาย “จินตนาการใหม่” ได้รับผลสำเร็จอย่างดีสอดคล้องกับความเป็นไปในตลาดโลก และพิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง มีการขยายตัวยิ่งขึ้น

เนื่องจากประธานสุพานุวงเป็นบุคคลเดียวในแกนนำแห่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีทางด้านวิศวกรรมโยธา แห่งสถาบันสะพานและถนนแห่งชาติ กรุงปารีส ท่านจึงมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งก็ได้เรียนรู้ทางธรณีวิทยาเช่นเดียวกัน ทำให้ท่านทราบว่าทรัพยากรมากมายในดินนั้นอยู่บริเวณใดบ้าง อาทิเช่นที่เมืองเซโปน บนทางหลวงหมายเลข 9 ติดชายแดนเวียดนาม ท่านเคยสร้างทาง และต่อมาก็ยังเคลื่อนไหวกู้ชาติในเขตนี้ จึงรู้พื้นที่ดีว่ามีแหล่งแร่ทองคำและทองแดงมหาศาล ท่านจึงยิ่งรักและหวงแหนผืนแผ่นดินของลาว

ฝรั่งเศสเตรียมขุดค้นเอาสินทรัพย์ในดินของลาวไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง แต่เมื่อปลดปล่อยประเทศได้แล้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็เป็นผู้กำหนดให้สัมปทานแก่บริษัทข้ามชาติออสเตรเลีย ทำการขุดค้นถลุงผลิตออกมา โดยแบ่งรายได้ให้กับทางรัฐบาลลาว เป็นการสร้างงานให้คนลาวพร้อมทั้งผลประโยชน์ที่ได้มาเป็นเงินตราต่างประเทศ ในทำนองเดียวกันกับเหมืองทองที่พูเบี้ยทาง แขวงเชียงขวางก็ทำผลประโยชน์ให้กับประเทศเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์และปณิธานที่ประธานสุพานุวงตั้งไว้

อนึ่ง สินแร่บ๊อกซ์ไซด์ (Bauxite) ที่สามารถถลุงให้เป็นแร่อะลูมิเนียมนั้นมีจำนวนมากในบริเวณแขวงจำปาศักดิ์ กำลังสำรวจขุดค้น โดยบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่แห่งเมืองไทย และกำลังอยู่ในขั้นเจรจาด้านสัมปทานกับรัฐ นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อาทิ เหล็ก, ถ่านหิน ฯลฯ ยังมความอุดมสมบูรณ์ ก็อยู่ในช่วงสำรวจขุดค้นทั่วทั้งประเทศ

ในด้านพลังงานไฟฟ้า สภาพทางภูมิศาสตร์มีความเหมาะสมในการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า “น้ำงึม 1” เป็นเขื่อนแรกที่ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 (สมัยระบอบเก่า) แต่รัฐบาลใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปลดปล่อยประเทศได้ มีกำลังการผลิต 155 เม็กกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อมามีเขื่อนพลังน้ำเกิดขึ้นอีกหลายแห่งที่ได้สัมปทานจากรัฐ และรัฐมีส่วนร่วมลงทุนและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

“เขื่อนน้ำเทิน 2” ตั้งอยู่ที่แขวงคำม่วนกับบอลิคำไซ มีขนาดใหญ่มากด้วยกำลังการผลิตร่วม 1,000 เม็กกะวัตต์ กำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้า ในต้นปี ค.ศ. 2010 เพื่อสนองความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในภาคอีสานของไทย นักวิเคราะห์ด้านพลังงานถึงกับให้สมญาว่า ลาวจะเป็นเช่น “แบตเตอรี่” แห่งเอเชียอาคเนย์ นอกจากไทยจะเป็นผู้ซื้อไฟแล้ว เวียดนาม, กัมพูชา ก็จะเป็นผู้ซื้อรายต่อๆ ไปจากลาว ดังนั้น การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน การจ้างงาน ภาษีในรูปแบบต่างๆ ก็จะนำมาซึ่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศอีกเช่นกัน

ทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง พี่น้องชาวนาต่างได้รับผลตอบแทนจากผลิตผลในที่นาส่วนตัวโดยเสรีนอกจากนี้ยังมีบริษัทต่างชาติเข้ามาได้สัมปทานในด้านต่างๆ บริษัทจากไทยมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมด้านการเกษตร อาทิ การปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล รวมทั้งการร่วมทุนในด้านการเพาะปลูกผลิตผลทางเกษตรทั่วไป การดำเนินงานเหล่านี้ล้วนได้รับผลที่น่าพอใจ

เรื่องราวของการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ มีอยู่อีกมากมาย จนไม่อาจบรรจุเรื่องราวให้ครบถ้วนได้ สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ตาม “จินตนาการใหม่”  คือ ความเป็นอยู่ของประชาชนลาวยกระดับขึ้นทุกปี ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่มุ่งหลุดพ้นจากการติดกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

กองประชุมสมัชชาของพรรคที่จัดขึ้นทุกๆ ระยะเวลาประมาณ 4 ปีนั้น มุ่งเน้นพัฒนาประเทศ ขจัดความยากจน ก็ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง การประชุมสมัชชาพรรคทุกครั้งจึงมีมติผ่านร่างนโยบายให้รัฐบาลนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

วันนี้ แม้ว่าประธานสุพานุวง สหายอาวุโส และแกนนำของพรรคฯ ได้ละสังขารหลังจากปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ, ประชาชน มากว่า 30 ปี สหายนำใหม่ก็ทยอยเข้ารับผิดชอบสืบต่อภารกิจสร้างสรรค์ประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองและมั่งคงสถาพรสืบไป

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. 10 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ค.ศ.1976-1986), ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2552, น. 190-201)

ความเดิมตอนที่แล้ว : 

บทความที่เกี่ยวข้อง :