ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : แผนสังหารสุพานุวง
รัฐบาลผสมครั้งที่สองจัดตั้งขึ้นกลางปี ค.ศ. 1962 โดยมีฝ่ายเป็นกลางฝ่ายแนวลาวรักชาติ และฝ่ายขวา เจ้าสุวันนะพูมา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีการบริหารประเทศเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ การสู้รบที่ดำเนินต่อมาทำให้กองกำลังปเทดลาวของแนวลาวรักชาติได้เปรียบในสมรภูมิทั่วประเทศจนกระทั่งฝ่ายขวาร่วมมือกับอเมริกาเตรียมการสังหารท่านสุพานุวงเเต่ท่านก็เล็ดลอดกลับไปยังฐานที่มั่นได้ปลอดภัย
ขณะสถานการณ์ประเทศเวียดนาม เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเขตปลดปล่อยของแนวลาวรักชาตินั้น กองทัพประชาชนเวียดนามที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าเวียดนามเหนือ ได้ส่งกำลังเข้าไปช่วยแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นทางซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม "เส้นทางโฮจิมินห์" อันเป็นเส้นทางตามทิวเขา "เจรื่องเซิน" (หรือ แนวเขายาว)
เริ่มจากเวียดนามภาคกลาง ลัดเลาะตามแนวเขานี้ที่บางครั้งผ่านชายแดนลาวทางด้านสะหวันนะเขต ผ่านแขวงทางใต้ของลาวเข้าไปในกัมพูชาเเล้วย้อนตลบเข้าเวียดนามทางใต้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้อเมริกาจำต้องให้ความช่วยเหลือเเก่เวียดนามใต้อย่างสุดกำลัง ด้วยการส่งทหารนับแสนคนเข้าทำการสู้รบแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใด
อเมริกามองเห็นถึงความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของลาว ซึ่งประการหนึ่งก็คือการกดดันเวียดนามเหนือมิให้ส่งกำลังบำรุงให้แก่เวียดนามภาคใต้ เพราะต้องพะวงต่อแนวรบทางชายแดนด้านตะวันตกของเวียดนาม และที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ การต้านยันสิ่งที่เรียกว่า “การรุกแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์”
สำหรับสถานการณ์ในลาว ย่อมแตกต่างไปจากเวียดนาม การจะส่งทหารอเมริกันเข้าไปเป็นกองทัพเช่นเดียวกับเวียดนามใต้ เมื่อประเมินเเล้วน่าจะเป็นไปได้ยาก แม้จะมีเผด็จการทหารไทยช่วยหนุนอยู่ก็ตาม หรือ เมื่อเข้าไปแล้วก็จะถอนกลับยาก ยิ่งไปกว่านั้นมติมหาชนอเมริกาคัดค้านการทำสงครามได้เเผ่ขยายวงกว้างออกไปทุกที ชายหนุ่มอเมริกันไม่ยอมรับหมายเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบ บางคนก็หลบไปประเทศใกล้เคียง เช่น แคนาดา เป็นต้น
ในอเมริกา เสียงเรียกร้อง “เอาเด็กของเรากลับบ้าน” “ถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้” ดังขึ้นทุกที และเกิดขบวนการ “ซ้ายใหม่” เรียกร้องความเป็นธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับประเทศแห่งค่ายสังคมนิยมที่มีพรรคคอมมิวนิสต์บริหารประเทศ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสำหรับในประเทศลาว สำนักข่าวกรองกลาง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ ซีไอเอ (CIA. - Central Inteligence Agency) จึงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการในลาวด้วยรูปแบบ ‘สงครามที่ไม่ประกาศ’
"ซีไอเอ" กำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีพื้นฐานมาจากหน่วยงานโอเอสเอส (OSS.- Office Of Strategic Services) ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โอเอสเอสมีภารกิจให้การช่วยเหลือสนับสนุนกองกำลังใต้ดินที่ต่อสู้กับการยึดครองของฝ่ายอักษะอันมีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม ดังเช่น "ขบวนการเสรีไทย" ก็ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนส่วนหนึ่งจากโอเอสเอสในการต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานหรือแม้กระทั่งกองกำลังเวียตมินห์ก็เคยได้รับการสนับสนุนจากโอเอสเอสมาแล้ว ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรม
พอสงครามสงบ องค์การนี้ก็ถูกยุบไป ต่อมาเมื่อสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับโซเวียตมีความรุนแรงมากขึ้น อเมริกาจึงได้จัดตั้งซีไอเอขึ้นมา โดยปัดฝุ่นเอาส่วนหนึ่งของอดีตพนักงานโอเอสเอสเข้ามาทำหน้าที่แต่วัตถุประสงค์เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง มุ่งเน้นต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” ให้ถึงที่สุด
"ซีไอเอ" สามารถใช้วิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีทั้งทำลายล้างสังหารบุคคลชั้นนำของฝ่ายตรงข้าม เข้าแทรกแซงในการทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เห็นว่าจะเป็นพิษภัยต่ออเมริกา ดังตัวอย่างที่ปรากฏในทวีปอเมริกาใต้, อเมริกาละติน ฯลฯ แม้กระทั่งการสั่งให้ล้มล้างเเละสังหาร ประธานาธิบดีโงดินเดียม แห่งเวียดนามใต้ สมุนผู้ซื่อสัตย์ของตน
การดำเนินงานของซีไอเอในแต่ละประเทศก็ผิดแผกแตกต่างกันไป เช่น ในเวียดนามใต้ ขณะที่กองทหารอเมริกาเข้าไปรบกับเวียดนามเหนือ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการทหาร ส่วนซีไอเอทำงานอยู่เบื้องหลัง ติดตามการเมืองในเวียดนามใต้ เมื่อเห็นว่าสมุนผู้เผด็จการทหารของตนคนใดชักจะมีท่าทางออกนอกลู่นอกทาง ก็จัดให้มีรัฐประหาร โค่นล้มคนเดิมเอาคนใหม่เข้าแทนที่ ทำเช่นนี้หลายครั้งหลายหน
มีการสำรวจค้นคว้าวิธีการเอาชนะคอมมิวนิสต์ ด้วยการจ้าง บริษัทแลนด์คอร์ปอเรชั่น (Rand Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทในอาณัติเข้ารับงานมีการสอบเชลยที่ถูกจับด้วยวิธีการทรมานอย่างพิสดาร เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวางแผนสู้รบกับฝ่ายตรงข้าม และแม้กระทั่งประเทศไทยระยะนั้น อิทธิพลของซีไอเอแผ่คลุมอยู่ก็คงเป็นที่จดจำกันได้ดี
สำหรับในลาว ซีไอเอเข้าไปเกี่ยวข้องสงครามที่ไม่ประกาศโดยอาศัยการร่วมมือจากกลุ่มเผด็จการทหารไทย ด้วยการชี้ให้เห็นภยันตรายของคอมมิวนิสต์ที่รุกคืบจากลาวเข้าสู่ไทย ทั้งโฆษณาชวนเชื่อว่า เมื่อลาวเป็นคอมมิวนิสต์แล้วต่อไปก็คือเมืองไทย เกิดปรากฎการณ์ “โดมิโน” คือ เมื่อล้มเหลวก็จะพากันล้มต่อๆ ไป เหมือนเอาตัวโดมิโนมาตั้งเรียงต่อๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ไทยต้องออกไปรบนอกบ้านกับคอมมิวนิสต์ในลาวเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งหมดก็คือให้คนเอเชียรบกันเอง คนอเมริกันไม่เกี่ยว
สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบพิเศษให้ซีไอเอในกิจการนี้ ซึ่งอันที่จริงก็คือเงินจากภาษีอากรของคนอเมริกันนั่นเอง เงินจำนวนมหาศาลได้สั่งจ่ายเป็นเหรียญดอลลาร์สหรัฐผ่านธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) ผ่านมายังธนาคารแห่งอเมริกา สาขากรุงเทพฯ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาท สำหรับใช้จ่ายในการจัดตั้งกองทหารรับจ้างชาวไทยจำนวน 36 กองพัน (ประมาณ 20,000 คน) เผด็จการทหารไทยเห็นดีในโครงการนี้เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเเม้เเต่สตางค์เเดงเดียว
ซีไอเอขอเป็นผู้คัดเลือกผู้นำทัพฝ่ายไทยเอง หลังจากติดตามผลงานของนายทหารไทยยศพันเอกวัย 39 ปี ผู้เคยผ่านโรงเรียนเสนาธิการทหารไทย และโรงเรียนเสนาธิการทหารสหรัฐฯ แล้วจึงตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วย 333 ในชื่อพรางว่า “เทพ จิตรเดช” หรือ “เทพ 333” หรือ “เสธ.ทพ” หรือ “นายเทพ” ตั้งกองบัญชาการอยู่ในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ในปี ค.ศ. 1963 (จวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1972)
ผู้รับผิดชอบซีไอเอในลาวได้แก่ นายดิ๊ก เฮิร์ม ผู้มีประสบการณ์โชกโชนจากหลายสมรภูมิ
ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ซีไอเอสั่งซื้อจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ให้จัดส่งมาไทยเพื่อส่งต่อไปลาว ทั้งอาวุธและกระสุนต่างๆ มีพร้อมเพรียงเต็มอัตราศึก การจัดส่งกำลังบำรุงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ซีไอเอโดยใช้กองทัพไทยเป็นผู้ช่วย คลังแสงซีไอเอส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตทหารของไทย เช่นที่ตาคลี เป็นต้น
มีการคัดเลือกกำลังรบอาสาสมัครจากทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ระดับหัวหน้าจะเป็นนายทหาร, ตำรวจชั้นสัญญาบัตร และเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงต้องให้บุคคลเหล่านี้ทำหนังสือลาออกจากราชการไว้ก่อน ในกรณีที่ถูกจับเป็นเชลยก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลจากสนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยเชลยศึก ดังนั้น การถูกจับเป็นเชลยจึงเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด นายทหารไทยที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. หลายรุ่นได้สมัครเข้าไปรบในลาว ด้วยความตั้งใจที่ว่าไปรบคอมมิวนิสต์นอกบ้านประกอบกับรายได้จากเงินเดือนเบี้ยเลี้ยง ก็เป็นสิ่งจูงใจไม่น้อย
กำลังรบทั่วไปได้มาจากทหารกองหนุนหรือทหารประจำการที่มีฝีไม้ลายมือ สามารถทำการรบได้ อีกพวกหนึ่งคือผู้รับจ้างทั่วไปที่มิได้ทำการรบ ทำหน้าที่เป็นพนักงานลำเลียงของบนเครื่องบินเพื่อส่งให้หน่วยรบบ้าง, พนักงานเติมน้ำมันให้เครื่องบินบ้าง บุคคลเหล่านี้มิได้มีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด ทำงานเสี่ยงอันตราย แลกเงินเดือนสูงถึง 5,000 บาท หาได้ไม่ง่ายนักในสมัยนั้น แต่ต้องไปทำหน้าที่ยังสนามบินขนาดเล็กในเเนวรบ เช่นที่เมืองสุย, ล่องเเจ้ง เป็นต้น พอฝ่ายตรงข้ามระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาก็ต้องวิ่งหนีหลบแบบตัวใครตัวมัน
ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ซีไอเอให้ตำรวจสันติบาลไทยทำการสืบประวัติอย่างละเอียด โดยเกรงว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แปลกปลอมเข้ามา สันติบาลไทยก็ดีใจหาย สอบพบประวัติบางคนมีใบแจ้งโทษฐานเล่นการพนันไม่หลาบจำก็ส่งไปให้พิจารณาปรากฏว่าซีไอเอไม่สนรับเข้าทำงานทันที
สำหรับการส่งกำลังบำรุงซึ่งต้องใช้การขนส่งทางอากาศเป็นหลักซีไอเอได้จัดตั้ง บริษัทสายการบินแอร์อเมริกา เป็นสายการบินหลัก โดยใช้เครื่องบิน C47 ดาโกต้าที่ยังใช้งานได้ดี รวมทั้งเครื่องบินคาริบู (Caribou) อันเป็นชื่อกวางป่าในทวีปอเมริกาเหนือ เครื่องบินชนิดนี้มีลำตัวกว้าง ใช้ลานบินขึ้นลงที่ไม่ต้องยาวมาก เหมาะแก่การขนส่งทุกประเภทโดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ นอกจากนี้ก็ยังใช้เครื่องปอร์ตเตอร์ อันเป็นเครื่องขนาดเล็กสำหรับตรวจการณ์ และเฮลิคอปเตอร์ในกิจการอเนกประสงค์ทั่วไป นักบินส่วนใหญ่เป็นพวกอเมริกันเดนตาย ยามเสร็จสิ้นภารกิจก็กินเหล้าเคล้าพาร์ทเนอร์ตามบาร์ในเวียงจันทน์บ้างอุดรธานีบ้าง ไม่เคยคิคว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
นอกจากแอร์อเมริกาแล้ว ซีไอเอยังจัดตั้งสายการบินขึ้นอีกสายหนึ่งชื่อ เบิร์ดแอร์ เป็นสายการบินเล็กมีภารกิจลับยิ่งยวดในการบินลึกเข้าไปในชายแดนลาว-จีน, ลาว-เวียดนาม และเวียดนาม-จีน ชื่อของสายการบินนี้จะคลับคล้ายคลับคลากับชื่อของนายใหญ่ซีไอเอคนหนึ่งในเมืองไทยขณะนั้น
ดังนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 เป็นตันมา บก. 333 ได้เริ่มปฏิบัติการในลาว “เทพ 333” หรือ “นายเทพ” - พันเอกวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (ยศในขณะนั้น) ได้จัดให้มีการฝึกทหาร “ม้ง” ของวังเปา ทำให้บุคคลทั้งสองมีความสนิทสนมกัน และเป็นการเปิดฉากส่งทหารรับจ้างเข้าไปรบในลาวอย่างเต็มตัว
เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว การเข้าไปรบในลาวของซีไอเอจำต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลลาว "เจ้าสุวันนะพูมา" เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีสถานะรัฐบาลผสม แต่ "ท่านสุพานุวง" ได้กลับคืนสู่เขตปลดปล่อยเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน เพื่อความปลอดภัยจากเเผนลอบสังหารที่เวียงจันทน์ ดังนั้น การบริหารงานรัฐบาลผสมจึงตกเป็นของฝ่ายขวาเวียงจันทน์ และตัวเจ้าสุวันนะพูมา
ถึงแม้ว่าเจ้าสุวันนะพูมาจะเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของเจ้าสุพานุวงแต่แนวคิดเพื่อชาติบ้านเมืองมิได้มีความเห็นพ้องในแนวทางเดียวกัน เจ้าสุวันนะพูมาเอนเอียงไปทางประเทศตะวันตก เชื่อมั่นว่าจะช่วยลาวให้ดำรงสถานะแห่งความเป็นกลาง เกิดความสามัคคีปรองดองแห่งชาติ ภายใต้การปกครองของท่านที่ยึดนโยบายเป็นกลาง แต่ที่จริงแล้วฝ่ายขวาเวียงจันทน์เป็นผู้มีอำนาจแท้จริง
ส่วนทางฝ่ายแนวลาวรักชาติที่ท่านสุพานุวงเป็นประธานนั้นได้มองเห็นเล่ห์เพทุบายของฝ่ายขวาที่อยู่ภายใต้การครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกา และจะไม่หลงกลฝ่ายตรงข้าม การเข้าร่วมรัฐบาลผสมของแนวลาวรักชาติเป็นเครื่องแสดงเจตนารมณ์ให้ประชาชนและชาวโลกเห็นว่าแนวลาวรักชาติต้องการแนวทางความปรองดองแห่งชาติ สันติภาพ และความเป็นกลางที่แท้จริง
นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมาไม่มีสถานะที่จะพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้เลย จำต้องอาศัยความช่วยเหลือจากอเมริกา เท่ากับว่าในฐานะแห่งหนี้บุญคุณจึงตกเป็นเครื่องมือ และเห็นชอบให้ซีไอเอเข้ามาปฏิบัติงานในลาวได้อย่างสะดวกสบาย โดยลาวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประกอบกับทหารลาวฝ่ายขวาด้อยประสิทธิภาพ ไม่ต้องออกรบกับคนลาวด้วยกัน ให้ทหารรับจ้างจากไทยและชาวม้งของนายพลวังเปาไปฆ่าฟันฝ่ายตรงกันข้าม เจ้าสุวันนะพูมาจะได้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ แต่ในความคติธรรมแห่งพุทธศาสนาการกระทำเช่นนี้ก็คือ การเห็น “กงจักรเป็นดอกบัว”
ทางด้าน เทพ จิตรเดช แห่ง บก.333 ก็มีความสามารถเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับนายกรัฐมนตรี - เจ้าสุวันนะพูมา ทำให้การเข้าสู่สมรภูมิของนักรบรับจ้างผู้ไปรบกับคอมมิวนิสต์นอกบ้าน ภายใต้องค์อุปถัมภ์ค้ำชูของซีไอเอในขณะเริ่มปฏิบัติการมีความราบรื่นอยู่ไม่น้อย
ทหารบกไทยและตำรวจพลร่มที่ได้รับการคัดเลือกและอาสาไปรบในลาว ต่างได้รับเงินเพิ่มสู้รบ (พสร.) เป็นพิเศษจากเงินเดือนประจำที่ยังรับตามปกติ ถึงแม้ว่าทำหนังสือลาออกเอาไว้ เงินเพิ่มสู้รบนี้เพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนและก็คงได้รับตลอด แต่เงินส่วนใหญ่ที่ซีไอเอจ่ายจะเข้ากระเป๋าส่วนตัวของผู้ใดบ้างก็ขอให้คิดดูเอาเองด้วยคาถาที่ว่าไปรบคอมมิวนิสต์นอกบ้านและปกป้องชายเเดนไทยทำให้บรรดานักรบรับจ้างเหล่านี้กระโจนเข้าสู่สมรภูมิที่ตนไม่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน จึงต้องประสบกับความยากลำบากนานัปการ สูญหายล้มตายไปส่วนหนึ่ง พิการทุพพลภาพก็ไม่น้อย แม้กระทั่งเมื่อกลับมาแล้วสติสตังก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว พวกที่ถูกส่งไปทำงานทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง หรือ ดินแดนของลาวที่อยู่บนผืนดินแผ่นเดียวกับไทยโดยไม่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง ดังตัวอย่างเช่นทางแขวงไซยะบุรีตอนเหนือ และส่วนหนึ่งของแขวงจำปาศักดิ์ทางใต้นั้น การสู้รบมิได้ดุเดือดเช่นทางแขวงเชียงขวางทางตะวันออกเฉียงเหนือ
การสู้รบที่มีความรุนแรงและมีการบันทึกไว้ คือ
1. ภูผาที ร.อ.จำลอง ศรีเมือง (ยศในขณะนั้น) ในชื่อแฝงว่าหัวหน้า “โยธิน” ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ป้องกันรักษาฐานเรดาร์ที่อเมริกาสร้างขึ้น เพื่อควบคุมบอกทิศทางแก่เครื่องบินอเมริกาในการโจมตีเป้าหมายในเวียดนามเหนือ บริเวณฐานเรดาห์นี้มีพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 1,800 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ห่างจากพรมเเดนเวียดนามเหนือไม่มากนัก จึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง
อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องการทำสงครามของอเมริกัน แต่หัวหน้า “โยธิน” กลับถูกส่งไปปฏิบัติการป้องกันฐานเรดาห์ และแน่นอนที่สุดที่เวียดนามเหนือต้องการทำลายให้ได้ ถึงแม้ต้องปีนป่ายหน้าผาสูงเพื่อบุกขึ้นไป การโจมได้เริ่มในเดือนมกราคม ค.ศ. 1968 ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดตลอดเวลาเกือบ 3 เดือน บาดเจ็บล้มตายไปไม่น้อย ในที่สุดพอถึงวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1968 ฐานแห่งนี้ก็ถูกตีแตก มีการกล่าวกันว่าถ้าเป็นศึกสงครามโดยทั่วไปนั้น หัวหน้า “โยธิน” น่าจะได้รับเหรียญกล้าหาญ เสียดายที่เป็น “สงครามที่ไม่ประกาศ”
2. เมืองสุย เขตที่อยู่อาศัยของชาวม้ง ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองเชียงขวาง ภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าเขา อเมริกากำหนดใช้เป็นฐานส่งกำลังบำรุงให้ทหารม้งของวังเปา ที่ไปรับการฝึกจากค่ายทหารไทยหลายแห่ง มีการสร้างสนามบินสำหรับลำเลียงขนส่งยุทโธปกรณ์
นักรบแห่งหน่วย 333 จากไทยจำนวนประมาณ 200 คนร่วมปฏิบัติการกับทหารม้ง โดยทำหน้าที่ยิงปืนใหญ่เข้าสู่เป้าหมายที่คาคเดาว่าจะเป็นฐานของฝ่ายขบวนการปเทดลาว แต่ก็ไม่ค่อยจะได้รับผลชัดแจ้งนอกจากนี้ยังมีตำรวจพลร่มไทยที่อยู่ภายใต้กอง บก.333 และเป็นผู้ที่เคยฝึกอาวุธให้ทหารม้งเข้าร่วมบัญชาการรบด้วย
"เมืองสุย" เป็นสมรภูมิสู้รบที่ดุเดือดอีกแห่งหนึ่ง เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1970 กองกำลังปเทดลาวจำนวน 2 กองพัน และหน่วยจู่โจมพิเศษ (คอมมานโด) ของอาสาสมัครเวียดนามหรือ “ดักกง” จำนวนหนึ่งหมวด ซึ่งฝ่ายอเมริกาชอบเรียกว่า “แซบเปอร์” เปิดฉากโจมตีฐานเมืองสุยอย่างฉับพลันทั้งๆ ที่ทางซีไอเอจัดการส่งกำลังบำรุง มีอาวุธยุทธภัณฑ์พร้อม แต่ก็ไม่อาจต้านทานต้องถูกตีแตกพ่ายไป
3. ล่องแจ้ง สนามปฏิบัติการรบสำคัญที่สุดของสงครามซีไอเอ หลังเเตกทัพมาจากเมืองสุย ทหารรับจ้างไทยภายใต้การสั่งการของ บก.333 พร้อมกับทหารม้งจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 กองพันได้มาตั้งมั่นที่ล่องแจ้ง บริเวณปลายเขตของเชียงขวาง และใกล้กับแขวงเวียงจันทน์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถือกันว่าถ้าแนวลาวรักชาติยึดล่องแจ้งได้จะทำให้นครหลวงเวียงจันทน์ตกอยู่ในอันตราย
การรบที่ล่องแจ้งดำเนินไปอย่างดุเดือดถึง 17 วัน 17 คืน ทำให้ทหารรับจ้างรบเพื่ออามิสสินจ้าง ไร้อุดมการณ์ ไม่สามารถยืนหยัดต่อสถานการณ์อันโหดร้ายของสงครามได้ ส่วนหนึ่งเสียชีวิตไป ที่บาดเจ็บพิการและถูกจับเป็นเชลยก็ไม่น้อย แต่ได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศไทยในที่สุด
ที่ยกตัวอย่างทั้งสมรภูมิภูผาที, เมืองสุย และล่องแจ้งมาเป็นสังเขปก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้ซีไอเอจะใช้อำนาจเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยใช้ทหารและตำรวจพลร่มไทยเข้าไปปฏิบัติงานในฐานะทหารรับจ้าง มีนายทหารไทย “เทพ 333” เป็นแม่ทัพ ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ทั้งหลายทั้งปวงย่อมไม่อาจต้านทานฝ่ายทำสงครามที่เป็น “ธรรม” ได้
เวียดนาม ลาว เขมร เป็นกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง นับตั้งแต่ฝรั่งเศสยึดเอาเป็นเมืองขึ้น เรียกว่าอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว สงครามยุคอาณานิคมจบลงด้วยชัยชนะแห่งสมรภูมิ “เดียนเบียนฟู” ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกไปอเมริกาจักรวรรดินิยมตัวใหม่เข้ามาแทนที่ จวบจนกระทั่งสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา
การเจรจาที่ปารีส ระหว่าง คิสซิงเกอร์ กับ เลอดุ๊กโถ่ มีบทสรุปนำมาซึ่งการถอนทหารอเมริกันนับแสนคนออกจากเวียดนามใต้ ทั้งนี้รวมไปถึงการลดบทบาทของกองทัพซีไอเอในลาวด้วย
บก.333 เมื่อขาดการสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องเงินก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย ปล่อยให้ลาวฝ่ายขวาจากเวียงจันทน์ต้องเผชิญสถานการณ์อย่างโดดเดี่ยว นับวันฝ่ายแนวลาวรักชาตินำโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะก้าวเข้าสู่ชัยชนะขั้นสุดท้าย ตามลักษณะพิเศษของลาวที่เสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด ต่างจากสงครามภายในของเขมร ส่วนเวียดนามนั้นก็คือการก้าวไปสู่การรวมประเทศเป็นเอกภาพ
สำหรับ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ 333” ช่วงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ ดูแลการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ถนอม-ประภาส” หลังจากนั้นก็ถูกเตะโด่งไปเป็นที่ปรึกษาวัฒนธรรมแห่งสถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว (ตำแหน่งผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่งดูไปไม่น่าเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ช่ำชองเลย
ต่อมาก็กลับเข้ากองทัพบก และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นที่สุดท้าย หลังเกษียณอายุหันมาจับงานด้านธุรกิจเป็นผู้บริหารโรงแรมโทรกาเดโร มุมถนนสุรวงศ์ รับช่วงมาจาก นายวิลาศ บุนนาค อดีตหนุ่มสังคมรุ่นเดอะ และ ร.ต.อ.ประโพธิ เปาโรหิต นอกจากนี้ยังเป็นนักเล่นของเก่า อาทิวัตถุโบราณบ้านเชียง ซึ่งผู้ใกล้ชิดอ้างว่าได้มอบคืนให้กับทางราชการไปหมดเกลี้ยงเรียบร้อยแล้ว จากนั้นข่าวคราวเงียบหายไปจนไม่อาจทราบว่ามีความรู้สึกนึกคิดเรื่องสงครามซีไอเอที่ผ่านมาอย่างไร แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ แก่นัก น.ส.พ. “สยามรัฐ” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1973 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ มีข้อความว่า
“ผมขอเล่าอย่างเปิดอกเสียที บางอย่างอาจจะเป็นความลับ เก้าปีกับสามเดือนมาแล้วที่ผมทำงานกับซีไอเอ เพราะงานนี้เริ่มต้นเป็นการร่วมมือกันระหว่างอเมริกัน-ลาว เพื่อรักษาและช่วยสนับสนุนการป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในลาว ผมเป็นผู้รับงานฝ่ายไทยมาตลอด โดยงบประมาณทั้งหมดได้มาจากซีไอเอ เป็นเงินจำนวนมากเสียด้วย ปีหนึ่ง 125 ล้านเหรียญอเมริกัน ประกอบด้วยทหารรับจ้าง มีพวกชาวเขา เช่น เย้า ม้ง เเละพวกเสือพราน ทหารไทย เรียกว่าหน่วย 333 ก่อนนี้มีถึง 30 กองทัพ ปัจจุบันลดเหลือ 7 กองพัน มีฐานฝึก 3 ฐานใหญ่ ผมขอรับว่าผมทำงานกับซีไอเอจริงๆ ทำมานานแล้วด้วย”
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. สงครามซีไอเอ, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2552, น. 164-176)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ยกแรกของการประกาศเอกราช
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ศึกป้องกันเมืองท่าแขก
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : คุกโพนเค็ง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐประหาร “กองแล”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สามเจ้าลาว