ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : เส้นขนานที่ 17

1
ตุลาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 10
ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ป้อมค่ายแห่งความปราชัย

ด้วยผลแห่งชัยชนะในการเผด็จศึก เดียนเบียนฟู ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งมี นายปีแอร์ มังเดส ฟรังซ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยอมลงนามในข้อตกลงที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับทางฝ่ายเวียดนาม โดยกำหนดสาระสำคัญให้บริเวณพื้นที่ตั้งแต่เส้นขนานที่ 17 ขึ้นไปทางเหนือเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ส่วนบริเวณทางใต้ของเส้นขนานที่ 17 อยู่ในความดูแลชั่วคราวของฝรั่งเศสจนกว่าจะมีการเลือกตั้งภายในอีก 2 ปีข้างหน้า และให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลของทั้งสองฝ่ายไปยังดินแดนตามที่ตกลงกันไว้ กล่าวคือ กองกำลังเวียดนามที่ปฏิบัติการสู้รบทางภาคใต้เคลื่อนย้ายขึ้นมายังบริเวณเหนือเส้นขนานที่ 17 และกำหนดให้มีกรรมการชาติเป็นกลาง 3 ชาติ คือ อินเดีย, โปแลนด์ และแคนาดา ทำหน้าที่ดูแลควบคุมให้เป็นไปตามข้อตกลง

 

การฝึกเครื่องกีดขวาง
การฝึกเครื่องกีดขวาง

 

เคลื่อนพลข้ามแม่น้ำมุ่งสู่สมรภูมิภาคใต้
เคลื่อนพลข้ามแม่น้ำมุ่งสู่สมรภูมิภาคใต้

 

ภายหลังข้อตกลงเจนีวา ปี ค.ศ. 1954 กองพลทหารราบที่ 308 แห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม โดยมี นายพลหวอเหงียนย้าป ผู้บัญชาการกองทัพนำกองทหารเคลื่อนมาจากทางทิศตะวันตก ข้ามสะพานลองเบียนที่ทอดข้ามแม่น้ำแดงเข้าสู่กรุงฮานอยอย่างสง่าผ่าเผย ในขณะที่กองทหารฝรั่งเศสก็ถอนกำลังไปขึ้นเรือที่เมืองท่าไฮฟองเพื่อกลับไปยังเวียดนามภาคใต้ ก่อนที่จะถอนกำลังทั้งหมดกลับฝรั่งเศส

เกียรติภูมิของนายพลหวอเหงียนย้าปแพร่กระจายไปทั่วโลก ในฐานะนักการทหารจากประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่ในที่สุดสามารถเผด็จศึกเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสที่เคยมีอดีตยิ่งใหญ่ ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นสุดยอดของชีวิตนายทหารท่านนี้

ภาระหน้าที่ของท่านหาได้สิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้ เพราะจะต้องรับผิดชอบในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านได้เสนอให้ นายพลฮว่างวันถาย (Hoang Van Thai) ผู้ร่วมก่อตั้งกองทัพประชาชนเวียดนาม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1944 และในสมรภูมิเดียนเบียนฟูก็ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการใหญ่ ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับแม่ทัพ ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

 

ภารกิจลาดตระเวนรักษาลำน้ำในท้องถิ่น

 

ภารกิจลาดตระเวนรักษาลำน้ำในท้องถิ่น
ภารกิจลาดตระเวนรักษาลำน้ำในท้องถิ่น

 

นักรบเวียดมินห์ที่สู้รบในเวียดนามภาคใต้ก็มีจำนวนเหยียบแสนคนพร้อมทั้งส่วนที่เป็นครอบครัวของนักรบ ทางประเทศโปแลนด์ได้จัดเรือสินค้าขนบุคคลเหล่านี้จากภาคใต้สู่ภาคเหนือ หวอเหงียนย้าปพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารผู้รับผิดชอบก็ต้องจัดตั้งค่ายทหารขึ้นตามสถานที่ต่างๆ อาทิเช่น ในเขตจังหวัดเตียนกวางฟูธ่อ และไถเหวียน เป็นต้น โดยการจัดกำลังพลให้เข้าเป็นทหารประจำการของกองทัพประชาชนเวียดนาม ส่วนเยาวชนจากเวียดนามภาคใต้ที่มาพร้อมกับครอบครัวทางประเทศค่ายสังคมนิยม เช่น สหภาพโซเวียต จีน ฯลฯ ก็ได้รับไปให้การศึกษาเลี้ยงดูและเป็นที่น่ายินดี คือ เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นภายหลังการปลดปล่อยรวมประเทศเป็นเอกภาพก็กลับมารับใช้ประเทศทางเวียดนามภาคใต้เป็นจำนวนไม่น้อย

หน้าที่ในการรักษาความสงบภายใน ขั้นต้นยังขึ้นกับความรับผิดชอบของนายพลหวอเหงียนย้าป มีการจัดรูปแบบโดยแยกกำลังทหารส่วนหนึ่งออกมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลรักษาความสงบภายในให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ภายใต้สภาพการณ์หลังการสงบศึก

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสถอดใจไปแล้ว อเมริกาก็ย่ามใจเข้ามาแทนที่ จุดเริ่มต้นของอเมริกาในการกระโจนเข้าสู่สมรภูมิเวียดนาม เกิดจากนักบินเดนตายที่อ้างว่าเป็นอาสาสมัครอเมริกัน เข้าช่วยขับเครื่องบินให้ฝรั่งเศสในการป้องกันเดียนเบียนฟู และแล้วนักบินอเมริกันก็ถูกยิงตกเสียชีวิตไปสองนาย

ด้วยการมองการณ์ไกลของโฮจิมินห์ และองค์กรนำของพรรคที่ได้คาดการณ์ไว้อย่างถูกต้องว่า ต่อไปนี้อเมริกาจะเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศสในการทำสงครามรุกรานเวียดนาม

การเตรียมพร้อมจัดกำลังทหาร การซ้อมรบในสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับทางภาคใต้ และยกระดับทางเทคนิคต่อสู้ในสงครามครั้งใหม่ให้สูงขึ้น แม้กระทั่งอาวุธประจำกายของทหารราบก็เป็นอาวุธที่ทันสมัย มีอานุภาพร้ายแรงกว่าอาวุธอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพโซเวียตได้คิดค้นปืนกลมือ AK47 ที่เราเรียกว่าปืนอาก้าและปืนยิงเร็ว CKC (เซกาเซ) และรวมทั้งปืนกลเบา, ปืนกลหนัก ซึ่งอาวุธเหล่านี้มีความทันสมัยไม่แพ้หรืออาจจะดีกว่าอาวุธ M16 ของอเมริกา

ภายหลังชัยชนะในสมรภูมิป้อมค่ายที่เดียนเบียนฟู หวอเหงียนย้าปได้เดินทางไปยังเขตปลดปล่อยภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อเยี่ยมคารวะโฮจิมินห์ ซึ่งท่านได้จับมือแสดงความยินดีต่อหวอเหงียนย้าป และได้กล่าวว่า “ประชาชนของเราจักต้องต่อสู้ต่อไปกับอเมริกา” แสดงว่าทางเวียดนามมีความเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างทะลุปรุโปร่ง

 

นักรบหญิง
นักรบหญิง

 

ร่วมแรงร่วมใจลำเลียงยุทธปัจจัยสู่สมรภูมิภาคใต้

 

ร่วมแรงร่วมใจลำเลียงยุทธปัจจัยสู่สมรภูมิภาคใต้
ร่วมแรงร่วมใจลำเลียงยุทธปัจจัยสู่สมรภูมิภาคใต้

 

ภาระหน้าที่ของนายพลหวอเหงียนย้าปเมื่อมีข้อตกลงเจนีวา กลางปี ค.ศ. 1954 ก็คือ การติดต่อให้ความร่วมมือกับกรรมการชาติเป็นกลาง เพื่อรักษาไว้ซึ่งข้อตกลงมิให้มีการละเมิดใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันดีแล้วว่า อินเดียผู้ทำหน้าที่ประธานแทบไม่มีกำลังและบทบาทอะไรเพียงแต่จัดกำลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซิกข์ ทำหน้าที่เฝ้ายามตามสนามบินและเส้นทางรถไฟชายแดน รวมทั้งตามถนนหนทางเขตด่านชายแดน แต่ก็ไม่มีทางตรวจจับการละเมิดใดๆ ได้ เท่ากับเป็นตุ๊กตาเฝ้าศาลพระภูมิ แคนาดาในฐานะกรรมการก็ย่อมมีความเอนเอียงไปทางค่ายเสรีประชาธิปไตยตะวันตก ส่วนโปแลนด์ในฐานะร่วมกลุ่มประเทศแห่งค่ายสังคมนิยมในขณะนั้น ย่อมมีความเข้าใจและเห็นใจเวียดนามเป็นธรรมดาและน่าสังเกตว่าอเมริกามิได้ร่วมลงนามในข้อตกลงด้วยเลย

นอกจากนี้ ในข้อตกลงยังได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนที่เคยตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส อันได้แก่ เขมรและลาวด้วย กล่าวคือ สำหรับเขมรนั้นกองกำลังที่เคยร่วมกับเวียดมินห์ต่อสู้ โดยมี ซอนหงอกมิน อดีตพระสงฆ์แห่งพุทธศาสนาเป็นผู้นำ เมื่อเขมรภายใต้เจ้าสีหนุได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ก็ได้จัดการให้ซอนหงอกมินหายสาบสูญ เป็นตายร้ายดีไม่ปรากฏ

ส่วนลาวนั้น เมื่อได้รับเอกราชก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายลาวเวียงจันทน์ ค่อนข้างสนิทสนมกับฝรั่งเศสและชาติตะวันตก และฝ่ายขบวนการปเทดลาวซึ่งร่วมมือกับเวียดมินห์ในการต่อสู้ กองกำลังของขบวนการปเทดลาวสองกองพันตั้งมั่นอยู่ที่แขวงพงสาลีและซำเหนือ (หัวพัน) โดยมี ท่านไกสอน พมวิหาน และ เจ้าสุพานุวง เป็นผู้นำ ก็ได้ทำการเจรจาเพื่อร่วมกันสร้างประเทศให้เป็นเอกภาพ แต่ในที่สุดฝ่ายขบวนการปเทดลาวและแนวลาวรักชาติ ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ก็ได้รับความสำเร็จในการปลดปล่อยประเทศชาติ เกิดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี ค.ศ. 1975 ตราบเท่าทุกวันนี้

เครื่องบินของคณะกรรมการสงบศึกทาสีขาวทั้งลำ บินว่อนไปมาจากฮานอย - ไซ่ง่อน - พนมเปญ - เวียงจันทน์ เพื่อประสานงานด้านต่างๆ แต่ไม่ปรากฏผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

อเมริกาเป็นผู้ทำลายข้อตกลงโดยสิ้นเชิง เริ่มจากการให้ โงดินเดียม ขึ้นมาโค่นอำนาจจาก เบ่าใด๋ จักรพรรดิหุ่นเวียดนาม ที่ได้สละราชสมบัติไปแล้ว แต่ฝรั่งเศสอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นหุ่นเชิดให้อีกครั้งก่อนการพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟูไม่นานนัก ในเวลาต่อมา อเมริกาก็ได้วางแผนสนับสนุนให้โงดินเดียมเขี่ยเบ่าใด๋ออกไปและตั้งตนเป็นประธานาธิบดีแห่งเวียดนามใต้ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงเจนีวาอย่างชัดแจ้ง

โงดินเดียม เป็นขุนนางที่รับใช้ทั้งฝรั่งเศสและเบ่าใด๋ อ้างตัวว่าเป็นผู้นับถือศาสนาโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ทำตัวเสมือนเป็นนักบวช ไม่มีภรรยา แต่มีน้องชายคนหนึ่งชื่อ โงดินนู ซึ่งมีภรรยาที่ชาวโลกในสมัยนั้นรู้จักดีในนาม มาดามนู ผู้ใช้ชีวิตพิลึกพิลั่นอยู่ร่วมกับสามีและพี่ชายสามี และยังมีพี่น้องอีกคนหนึ่งชื่อ โงดินทัด ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระราชาคณะชั้นบิชอบ (Bishop) แห่งโรมันคาทอลิก

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวคาทอลิกที่ยึดมั่นในคุณธรรมคำสั่งสอนของศาสนา ย่อมไม่อาจยอมรับครอบครัวโงดินเดียมว่าเป็นชาวคาทอลิกที่แท้จริงได้ เพราะปฏิบัติการเข่นฆ่าประชาชนอย่างเมามัน โดยข้ออ้างที่ว่าเป็นผู้ร่วมมือกับเวียดมินห์ และร้ายยิ่งกว่านั้น คือ การกดขี่ชาวพุทธเวียดนาม ซึ่งเป็นประชากรเวียดนามส่วนใหญ่ จนถึงขนาดพระเถระผู้ใหญ่แห่งพุทธศาสนานิกายมหายานของเวียดนาม ได้เผาตัวเองประท้วงจนเกิดเรื่องราวลุกลามใหญ่โต จนที่สุดอเมริกาเห็นท่าไม่ดีจึงจัดการให้ทหารเวียดนามใต้ในอาณัติของตนลุกขึ้นทำรัฐประหารโค้นล้มโงดินเดียม นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่อเมริกาเข้ามาบงการ และสั่งให้แม่ทัพนายกองเวียดนามใต้สยบยอมอยู่ภายใต้การปกครองของตน

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), เส้นขนานที่ 17, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 100 - 106.

บทความที่เกี่ยวข้อง :