ความเดิมตอนที่แล้ว: กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว
กองพันที่ 2 สามารถแหวกวงล้อมเดินทางกลับยังฐานที่มั่นแขวงหัวพันสำเร็จ ส่วนกองพันที่ 1 ก็กลับเข้าสู่ฐานที่มั่นแขวงพงสาลีได้เช่นกัน ทำให้ฝ่ายขวาเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง
ผุย ชนะนิกอน ออกคำสั่งให้ตำรวจที่เวียงจันทน์ล้อมบ้านพักของแนวลาวรักชาติ มิให้เคลื่อนไหวไปมาโดยเสรี ผู้คนที่จะเข้าเยี่ยมต้องได้รับอนุญาตจากพวกตน
ที่พักของ ท่านสุพานุวง ที่บ้านตำบลปากป่าสักในเวียงจันทน์ ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 300 เมตร ตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย มีตำรวจรายล้อมรอบบ้าน ไม่อาจติดต่อกับผู้คนภายนอกได้ รวมทั้งบ้านพักของสหายนำคนอื่นก็เช่นเดียวกัน นั่นก็คือแผนการร้ายของฝ่ายศัตรูเปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเด่นชัด
ต่อมา ผุยอาศัยอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกฝ่ายขวาในสภาออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 (2502) จึงจับกุมท่านสุพานุวงและสหายฝ่ายนำเข้าคุกโพนเค็ง
ท่านสุพานุวงและบรรดาสหายร่วมงานประเมินสถานการณ์ดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว สำหรับท่านไกสอน สามารถหลบหนีไปได้ นัยว่าเดินทางไปเยี่ยมน้องสาว นางสวรรค์ทอง พมวิหาน ซึ่งสามีคือ นายยุทธ หนุนภักดี ปลัดจังหวัดหนองคายในขณะนั้น
ผู้จับกุมมีจำนวนทั้งสิ้น 16 คน คือ ท่านสุพานุวง, ท่านพูมี วิจิด, ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน, ท่านพูน สีปะเสิด, ท่านคำผาย บุบผา, ท่านมา ไขคำพิทูน, ท่านสีทน กมมะดำ, ท่านคำเพ็ด พิมมะวัน, ท่านสีชนะ สีสาน, ท่านเพ้า พิมมะจัน, ท่านมหาสมบูน วงหมอบุนทำ, ท่านพูเขา, ท่านหมื่น สมวิจิด. ท่านบัวสี จะเลินสุก, ท่านมะนะ เวียงอิสาน และท่านสิงกะโป สีโคดจุนละมาลี ที่ถูกควบคุมตัวไว้ก่อนแล้ว
โพนเค็ง เป็นชื่อตำบลที่ตั้งหน่วยทหารในเวียงจันทน์ มีรั้วรอบขอบชิด ทั้งสี่มุมมีโคมไฟใหญ่ยามค่ำให้แสงเหมือนกลางวัน ประตูใหญ่ล็อกกุญแจมั่นคงแข็งแรง ตั้งอยู่บริเวณปากทางหมายเลข 13 ที่มุ่งสู่ภาคใต้ ประตูทางเข้ามีเรือน 1 หลัง และรถหุ้มเกราะ 2 คัน พวกศัตรูดัดแปลงคอกม้าของที่ปรึกษาอเมริกันมาทำเป็นคุก เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว มุงสังกะสี กั้นห้องฝั่งละ 15 ห้อง รวมเป็น 30 ห้อง ขนาดห้องขังกว้าง 2 x 3 เมตร ท่านสุพานุวงถูกขังในห้องขังหมายเลข 4 ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับห้องขังอื่นๆ คือหน้าต่างและส่วนบนของประตูห้องมีลูกกรงเหล็ก ภายในห้องขังมีเตียงนอนแบบที่ใช้ตามโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังมีโต๊ะขนาดเล็กสำหรับกินอาหารพร้อมเก้าอี้หนึ่งตัว มีหลอดไฟฟ้าหนึ่งดวง พื้นห้องปูด้วยอิฐเรียบ เพดานไม้แน่นหนา ห้องน้ำ ห้องส้วมอยู่ข้างนอก จะถ่ายหนัก-ถ่ายเบาต้องเรียกยาม
ภายหลังการจับกุมฝ่ายแนวลาวรักชาติ ผู้รักความเป็นธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศทำการประท้วง เรียกร้องให้ปล่อยตัว แต่ผุยกลับโกหกพกลมตอบไปว่าไม่ได้ถูกขังคุก แต่เอาไปไว้ในอาคารแห่งหนึ่ง คอกม้าที่ดัดแปลงทำห้องขังจะเป็น “อาคาร” ได้อย่างไร
สหายหนูฮัก ผู้มีอาวุโสที่สุด ได้รับมอบหมายให้เป็นเลขาฯ ของคณะผู้ถูกจับกุม และจัดตั้งมอบหมายภาระหน้าที่ของแต่ละคนตามความถนัดเช่น สหายสีชนะ ทำหน้าที่หาข่าว สรุปข่าวเสนอต่อองค์ประชุม สหายสิงกะโป ทำหน้าที่ขวนขวายเกลี้ยกล่อมให้สารวัตรทหารผู้ควบคุมเกิดจิตสำนึกทางการเมืองเพื่อเข้ามาเป็นพวก อาศัยเคยเป็นนักมวยเก่า มีแม่ไม้เชิงมวยสอนให้สารวัตรทหาร ไปชกนอกสถานที่ได้รับชัยชนะกลับมาสร้างความเลื่อมใสนับถือให้เกิดขึ้น
ในขั้นแรก ตำรวจทำหน้าที่ผู้ควบคุม การทำงานการเมืองขยายผลกับตำรวจเป็นผลดี ต่อมาความลับรั่วไหลจึงสับเปลี่ยนกำลังให้สารวัตรทหารมาทำหน้าที่แทน
การปลูกจิตสำนึกให้สารวัตรทหารจึงต้องเริ่มต้นกันใหม่ พวกเขาถูกสั่งมิให้สนทนากับผู้ต้องขัง แต่การทำงานได้รับผลดีเกินคาด เพราะบรรดาทหารเหล่านั้นต่างก็เป็นลูกหลานประชาชนผู้ยากไร้ เข้ารับราชการทหารเพื่อยังชีพด้วยเงินเดือนอันน้อยนิด ผู้ต้องขังแสดงน้ำใจไต่ถามถึงครอบครัวพ่อแม่ซึ่งก็เป็นชาวนา และพ่อแม่รวมทั้งทหารก็รู้จักผู้ต้องขัง เช่น พี่น้องชาวพวนจากเชียงขวางก็รู้จักสหายพูมี วงวิจิด เป็นต้น
สหายสุพานุวง และสหายพูมี วงวิจิด อยู่ในฐานะฝ่ายเสธ. ทำหน้าที่วางแผน กำหนดลู่ทาง เริ่มจากเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวจากการจับกุมที่ไม่มีเหตุผล แต่พวกฝ่ายขวาดื้อรั้นไม่ยอมปฏิบัติ แผนการขั้นต่อไปคือเตรียมหลบหนี เริ่มต้นด้วยให้ทุกคนออกกำลังวิ่งรอบบริเวณที่คุมขัง เมื่อเวลาคุกเปิดตอนเช้าเพื่ออาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และเวลาปลูกผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ โดยเพิ่มระยะทางและเวลาให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน
ผุย จัดม็อบประเภทลิ่วล้อทั้งหลายมาเดินขบวนเรียกร้องให้เอาพวกแนวลาวรักชาติที่ถูกจับกุมมาประหารชีวิตเสียให้สิ้น โทษฐานเป็นคอมมิวนิสต์ผู้ทรยศต่อชาติ ถือเป็นการปลุกกระแสของฝ่ายขวาที่มุ่งทำลายล้างแนวลาวรักชาติให้ได้
นอกจากนี้ยังสั่งพวกอัยการที่เป็นเครื่องมือเข้ามาสอบสวนผู้ต้องขังเพื่อหาทางทำคดีเอาผิดขั้นอุกฤษฏ์ให้ได้ ที่จริงอัยการเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส เป็นเครื่องมือเจ้าอาณานิคมสมัยลาวอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส มาคราวนี้กลับมาเป็นสมุนรับใช้ฝ่ายขวา แต่เมื่อเข้ามาทำการสอบสวนท่านสุพานุวงก็โต้กลับไปอย่างเถียงไม่ขึ้นว่าใครเป็นผู้ทรยศขายชาติกันแน่ ทั้งๆ ที่ก่อนมาได้ตั้งธงไว้เสียดิบดี
ท่านสุพานุวงโต้ว่าถึงแม้ท่านถูกประหารชีวิตก็จะขอแอ่นอกให้ยิงเป้าอย่างไม่สะทกสะท้าน เพราะประวัติศาสตร์จะพิสูจน์ว่าผู้ใดเป็นฝ่ายถูก เล่นเอาพวกอัยการผู้สอบสวนต้องหน้าหงายกลับไป
ผุยเองก็ตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก มักพูดเหมือนใครคนหนึ่งในบ้านเมืองเราสมัยหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
ไม่ช้าไม่นานความขัดแย้งในบรรดาฝ่ายขวาด้วยกันก็เบียดให้ผุยตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ท้าวกะต่ายคู่หูก็มาถึงแก่กรรมในเวลาไล่เลี่ยกัน ความเน่าเฟะของพวกฝ่ายขวาทำให้มวลชนเห็นว่า อย่างไรเสียก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนพวกเขาได้
ความขัดแย้งในหมู่ศัตรู การแทรกแซงอย่างหนักมือยิ่งขึ้นของจักรวรรดินิยมอเมริกาและพวกเผด็จการทหารในไทย ก่อให้เกิดการทำรัฐประหารพวกเดียวกันเอง พวกที่ขึ้นมาใหม่ก็หมดปัญญาจัดการกับกรณีที่ผุยจับกุมฝ่ายแนวลาวรักชาติมาคุมขังไว้
ในขณะที่ปฏิบัติการปลุกจิตสำนึกสารวัตรทหารคืบหน้าตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ มีการทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคง เริ่มจากมอบหมายให้ติดต่อกับเครือญาติผู้ถูกจับกุม ยกระดับขึ้นไปถึงการติดต่อกับหน่วยงานใต้ดินในเมืองของฝ่ายแนวลาวรักชาติ การกำหนดเวรยามรักษาการณ์ของสารวัตรทหารผู้พร้อมแหกคุกไปด้วยกัน
ในที่สุดสารวัตรทหารเหล่านี้ก็เข้าร่วมกับกองกำลังปเทดลาว เข้าร่วมการปลดปล่อยประเทศ บางคนเสียสละชีวิตในการสู้รบ ส่วนหนึ่งได้รับภาระหน้าที่ตำแหน่งรับผิดชอบสูงขึ้นเมื่อชัยชนะตกเป็นของประชาชน
สหายสาลี วงคำซาว ผู้รับผิดชอบคนสำคัญในการวางแผนติดต่อกับมวลชนพื้นฐานตามเส้นทางแหกคุก และเป็นการวางแผนที่ดีเยี่ยมจนฝ่ายศัตรูติดตามไม่ได้ ท่านเป็นสหายระดับอาวุโสที่มีทัศนคติและสายตายาวไกล สามารถจัดตั้งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังการปลดปล่อยท่านอยู่ในฐานะแห่งสมาชิกกรมการเมืองของพรรคฯ แต่น่าเสียดายหลังจากนั้นไม่นาน ท่านถึงแก่กรรมก่อนจะรับตำแหน่งสำคัญของประเทศ
ในระหว่างถูกกุมขัง นอกจากปลูกผักทำสวนครัวมีผักกินตลอด ยังมีการปลูกดอกไม้เมื่อถึงวันพระ สหายพูมี วงวิจิด ก็ตัดดอกไม้ให้สารวัตรทหารนำไปถวายสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชา ทำให้พระสงฆ์องค์เจ้าเถระชั้นผู้ใหญ่เห็นใจและมีเมตตาที่ถูกพวกอธรรมกลั่นแกล้งจับกุม
ในการแหกคุกนี้มีพระสงฆ์ 4 รูปสมัครใจร่วมเดินทางด้วย เมื่อถึงกำหนดนัดหมาย สมเด็จพระสังฆราชได้จัดการให้ลาสิกขาแล้วไปรวมกันที่กุฏิวัดธาตุหลวง ในบรรดาทิดสึกใหม่นั้น คนหนึ่งเป็นน้องชาย จ่าอุดอน สารวัตรทหารผู้ร่วมหลบหนีด้วย
กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์ไม่ใช่พวกไม่มีศาสนาตามคำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายปะติกาน ความจริงกลับเป็นเรื่องตรงกันข้ามองค์กรพุทธศาสนาของลาวสนับสนุนการกู้ชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ต้น และแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็มีส่วนร่วมมือก่อร่างสร้างประเทศชาติ
สารวัตรทหารนำชุดเครื่องแบบสารวัตรมาให้ทุกคนสวมพร้อมรองเท้า “ไอ้โอ๊ค” ที่ทหารใช้กันเวลานั้น สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยรองเท้าประเภทนี้จะกัดเท้าน่าดู เพราะเป็นหนังควายที่ฟอกอย่างหยาบๆ สหายสาลี จัดการให้กองหลอนชื่อ ท้าวเซียงสม กุนละวง ลักลอบเข้ามาในคุกเพื่อเป็นผู้นำทาง มีปืนคาร์บิน 10 กระบอก ปืนพกสั้น 1 กระบอก แบ่งไปแต่ละหน่วย
ในขณะรอคำสั่งออกเดินทาง สหายสุพานุวงในชุดสารวัตรทหารมีท่าทีสงบนิ่ง รอคอยเวลา ท่านถามเพียงว่าถึงเวลาหรือยัง จะได้โกนหนวดให้เรียบร้อยก่อนเดินทางที่ต้องใช้เวลาหลายวัน
จากวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 (2502) ถึง 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1960 (2503) เป็นเวลา 300 วันที่สหายสุพานุวงถูกขังคุกโพนเค็งจนกระทั่งทำการแหกคุก
ชะตาชีวิตของวีรบุรุษท่านนี้ก็ได้ผ่านเหตุการณ์ใหญ่มาแล้วถึงสองครั้งคือ “ยุทธการท่าแขก” และ “ติดคุกโพนเค็ง”
บัดนี้ ท่านสุพานุวงและคณะกำลังจะแหกคุกหรือ “โตนคุก” เพื่อกลับไปหาสหายยังฐานที่มั่น
ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. คุกโพนเค็ง, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 121-127
บทความที่เกี่ยวข้อง: