ความเดิมตอนที่แล้ว: ตอนที่ 5 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”
เจ้ามหาอุปราชเพ็ดชะลาดผู้นำขบวนการกู้ชาติลาวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1945 (2488) ที่ถูกเจ้ามหาชีวิตถอดออกจากตำแหน่งเมื่อฝรั่งเศสกลับมายึดลาว ท่านจำต้องลี้ภัยในเมืองไทยร่วม 10 ปี จึงได้รับนิรโทษกรรมกลับคืนสู่อิสริยยศเดิม และได้เดินทางกลับลาวในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1957 (2500)
เมื่อท่านเสด็จถึงเวียงจันทน์ประชาชนลาวให้การต้อนรับอย่างล้นหลามและก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เจ้าพี่เจ้าน้องทั้ง 3 องค์มีโอกาสพบปะและร่วมงานเพื่อประเทศชาติ
ต่อจากนั้น เจ้าเพ็ดชะลาด พร้อม หม่อมอภิณพร ได้เสด็จไปเยี่ยม เจ้าสุพานุวง ที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1957 (2500) ทำให้ท่านได้เห็นปฏิบัติการของแนวลาวรักชาติที่ทรงประสิทธิภาพ ได้เห็นการมุ่งมั่นทุ่มเททำงานของเจ้าสุพานุวงและสหายร่วมงาน
เจ้าเพ็ดชะลาดตรัสด้วยความเชื่อมั่นว่า ชัยชนะเด็ดขาดขั้นสุดท้ายจะต้องเป็นของฝ่ายแนวลาวรักชาติอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะท่านเปรียบเทียบกับพวกฝ่ายขวาที่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตน ยอมศิโรราบต่ออามิสสินจ้างและความเน่าเฟะของการปกครอง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเจ้าเพ็ดชะลาดผู้นำการต่อสู้ในยุคต้นต้องมาสิ้นชีพิตักษัยในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (2502) ซึ่งการสิ้นชีพิตักษัยของท่าน ยังเป็นข้อกังขาของชาวลาวตราบเท่าทุกวันนี้ และอีก 14 วันให้หลัง เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวง ก็เสด็จสวรรคตในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรงสุดๆ และ เจ้าสีสว่างวัฒนาได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตต่อมา
ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1958 (2501) รัฐบาลผสมสองฝ่ายจัดให้มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมตามข้อตกลงจำนวน 21 ที่นั่ง ผลปรากฏว่าฝ่ายแนวลาวรักชาตินำโดยท่านสุพานุวงได้รับเลือกถึง 9 คน พรรคสันติภาพของ ท่านกินิม พลเสนา พันธมิตรแนวลาวรักชาติได้รับเลือกตั้ง 4 คน พรรคฝ่ายขวาและพรรคเล็กพรรคน้อยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่มาก โดยเฉพาะท่านสุพานุวงที่ลงสมัครในเขตเวียงจันทน์ได้คะแนนเสียงท่วมท้นเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งคู่แข่งขาดลอย ทั้งนี้เพราะผลงาน ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านที่ผ่านมาได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนลาว
มีเรื่องที่น่าสนใจของการเลือกตั้งในครั้งนั้นด้วยว่า ประชาชนลาวรู้จักชื่อเสียงท่านแล้ว แต่ส่วนหนึ่งยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตา จึงถามผู้ช่วยหาเสียงของท่านว่าท่านสุพานุวงหน้าตาเป็นอย่างไรจะได้เลือกถูก ก็ได้รับคำตอบให้ดูตามโปสเตอร์เลือกตั้ง “คนที่มีหนวด หน้าตาหล่อเหลา” นั่นแหละคือตัวท่านสุพานุวง
ส่วน ท่านกินิม แห่งพรรคสันติภาพเป็นกลางนั้นก็ได้มีบทบาทสร้างความสมานฉันท์นำประเทศไปสู่สันติภาพและความเป็นกลางอย่างแท้จริง เมื่อ เจ้าสุวันนะพูมา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังรัฐประหารกองแล เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1960 (2503) ท่านกินิมรับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย และรัฐมนตรีกีฬาและเยาวชนในรัฐบาลชุดแรก ภายหลังพวกฝ่ายขวานำโดย พูมี หน่อสะหวัน ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและไทย เข้าโจมตีแนวลาวรักชาติและฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวันนะพูมา แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จจึงต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมสามฝ่ายขึ้นอีก และท่านกินิม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กระนั้นก็ตาม วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1963 (2506) จักรวรรดินิยมอเมริกา และเผด็จการทหารไทยได้ยุยงสนับสนุนให้พูมี, ผุย และกุปะสิด จัดส่งฆาตกรไปกราดปืนกลสังหารท่านกินิมที่บ้านจนเสียชีวิต และภรรยาคือ ป้าไพบูน บาดเจ็บสาหัส
ป้าไพบูน ไปรักษาอาการบาดเจ็บที่เมืองจีนพร้อมด้วยลูกซึ่งอยู่ในวัยเด็ก ลูกๆ ท่านกินิมได้รับการศึกษาที่สหภาพโซเวียต ปัจจุบันดำรงตำเหน่งที่สำคัญเป็นรัฐมนตรี, เป็นนายทหาร และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในวิสาหกิจของประเทศ ประชาชาติลาวต่างยอมรับกันว่าตระกูล “พลเสนา” ได้ประกอบส่วนสำคัญยิ่งในการกู้ชาติบ้านเมือง
เล่ห์เพทุบายของฝ่ายขวาได้ปรากฏขึ้นด้วยความพยายามทำลายล้างกองกำลังปเทดลาวให้สิ้นซาก ซึ่งเป็นการแทรกแซงของจักรวรรดินิยมอเมริกาในการต้านยันคอมมิวนิสต์มิให้เติบใหญ่ขยายตัว การทุ่มเงินดอลลาร์เข้ามาหล่อเลี้ยงพวกฝ่ายขวาที่ตกเป็นเครื่องมือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการทหารด้วยการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัย และการหยิบยื่นก้อนเงินเพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจให้ทางรัฐบาลเวียงจันทน์ของพวกเขาพออยู่รอดได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คืออุปสรรคที่ขัดขวางการเจรจาระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการเจรจาทางทหารในการรวมกองทัพแห่งชาติ
ฝ่ายแนวลาวรักชาติมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงให้เป็นไปตามหลักการ แต่ก็ถูกเตะถ่วงอยู่ตลอดเวลา ยุทธวิธีอีกด้านหนึ่งของพวกเขาก็คือ เจรจากับฝ่ายแนวลาวรักชาติที่เข้ามาร่วมในรัฐบาลผสมอันมีท่านสุพานุวงเป็นหัวหน้า ประกอบด้วย ท่านพูมี, ท่านสิงกะโป และ ท่านสีชนะ เป็นต้น แต่ไม่มีผลคืบหน้าตัวอย่างเช่นการแต่งตั้งยศทางทหารตามที่ได้ตกลงกันไว้ เบื้องต้นกำหนดยศท่านสิงกะโปเป็นพันเอกต่อมาลดให้เพียงพันโท กรณีเหล่านี้ทำให้ตกลงกันไม่ได้
ทางศูนย์กลางพรรคและแนวลาวรักชาติมีการประสานงานกับท่านสุพานุวง และกองกำลังกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 อย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ได้เลวร้ายลงอย่างมากเพราะฝ่ายขวาปิดล้อมคณะของท่านสุพานุวง ปิดล้อมกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 นอกจากนี้ ผุย ชนะนิกอน และ ท้าวกะต่าย ดอนสะโสลิด ได้ส่งกำลังเข้าไปในเขตปลดปล่อยแขวงหัวพัน, พงสาลี และฐานที่มั่นแขวงอัตตะปือ ทำการสังหารเจ้าพนักงานแนวลาวรักชาติ และประชาชนพื้นฐานในบริเวณดังกล่าว
หลังจากที่ผุยกับพรรคพวกขับกลุ่มของเจ้าสุวันนะพูมาออกไปจากรัฐบาล ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจที่มีฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น ผุยจึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วม อันเป็นแนวทางของฝ่ายขวาที่เด่นชัด
การรวบรวมเข้าเป็นกองทัพแห่งชาติ ทางฝ่ายปเทดลาวไม่เข้ารับยศทางทหารที่จัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม เพราะมีแผนการร้ายแอบแฝงอยู่เบื้องหลังและต้องการปลดอาวุธของทหารด้วย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทางศูนย์กลางแนวลาวรักชาติมีมติไม่ยอมให้ปลดอาวุธโดยเด็ดขาด
ฝ่ายรัฐบาลผุยส่งกำลังจำนวนหลายกองพันเข้าทำการปิดล้อมกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 เพื่อหวังจะบดขยี้
ฝ่ายปเทดลาวมีกำลังพลน้อยกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ยังไม่ถึงขั้นทันสมัย ขาดแคลนเสบียงอาหารเนื่องจากถูกปิดล้อมรอบด้าน สิ่งที่เหนือกว่าก็คือการยึดมั่นในอุดมการณ์การทำสงครามที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความถูกต้อง สันติภาพ และการอยู่ดีกินดีของประชาชนอันเป็นอนาคตสดใสเบื้องหน้า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับฝ่ายขวาที่มีทั้งกำลังคน กำลังเงิน อาวุธที่ทันสมัย แต่ขาดจิตใจสู้รบที่ไม่รู้ว่ารบไปทำไม รบเพื่อใคร จึงเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วฝ่ายกองพันที่ 1 และที่ 2 จะต้องสามารถฝ่าการปิดล้อมออกไปได้
กองพันที่ 1 ตั้งมั่นอยู่ที่เขตเมืองเชียงเงิน ทางใต้ของหลวงพระบางและอยู่ทางเหนือของชุมทางศาลาพูคูน เส้นทางแยกเข้าสู่เชียงขวาง
นายพลอ้วน ลาทิกุน ผู้เคยเข้าร่วมกู้ชาติสมัยแรกในการต่อสู้กับฝรั่งเศสเป็นชาวหลวงพระบาง ต่อมาเข้าพวกฝ่ายขวาบังคับบัญชาทหารทางภาคเหนือของประเทศ มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้บงการค้าฝิ่นจากลาวภาคเหนือ นายพลอ้วนได้รับมอบหมายให้มารับมอบการโอนกองพันที่ 1 เข้าเป็นกองทัพแห่งชาติ แต่เมื่อมาถึงบริเวณที่ตั้งปรากฏว่าไม่มีแม้แต่เงาของทหารกองพันที่ 1 เลย เพราะได้มีการลัดเลาะตะเข็บรอยต่อแขวงหลวงพระบางเข้าสู่แขวงพงสาลีได้อย่างปลอดภัย ทหารฝ่ายขวาที่ไล่ติดตามก็มีการสู้รบกันประปราย ด้วยทหารที่เกณฑ์มาจากลาวกลุ่มนั้นไม่มีจิตใจสู้รบแต่ประการใด
กองพันที่ 2 ตั้งมั่นอยู่ในบริเวณส่วนใหญ่ของแขวงเชียงขวาง มี ท่านตู้ เป็น ผ.บ.พัน ท่านผู้นี้เป็นชนเผ่าลาวสูงที่มีผลงานในการรบที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว ฝ่ายขวาใช้กำลังจำนวนหลายกองพันปิดล้อม บีบให้ยอมวางอาวุธเสียโดยดี ฝ่ายปเทดลาวใช้วิธีสู้พลางถอยพลาง ผ่านเขตเขาที่ทุรกันดารยากแก่การติดตาม โดยทาง ผ.บ.พัน วิเคราะห์สถานการณ์แล้วว่า ถ้าใช้เส้นทางหลักในการเคลื่อนพลเช่นทางหมายเลข 7 ไปสู่หัวพันนั้น ฝ่ายตรงข้ามก็สามารถใช้เครื่องบินติดตามและโจมตีได้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง
อนึ่ง แขวงเชียงขวางเป็นบ้านเกิดของ ท่านพูมี วงวิจิด ท่านจึงมีญาติและผู้ที่เคารพนับถืออยู่หลายหมู่บ้าน หลายเมือง และท่านได้มาเคลื่อนไหวจัดตั้งประชาชนในแขวงนี้ในสมัยเริ่มแรก ทำให้กองพันที่ 2 เดินทัพผ่านหมู่บ้านที่ท่านจัดตั้งไว้ได้รับความช่วยเหลือดูแลจากบรรดากองหลอนประจำหมู่บ้าน
คำว่า “กองหลอน” เป็นภาษาลาว มิได้หมายความว่าเป็นกองที่หลอกหลอนใคร แต่คือ “ทหารบ้าน” คือชาวบ้านที่เป็นทหารแห่งสงครามประชาชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมในภารธุระของสงคราม
ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. “กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว”, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 114-120
บทความที่เกี่ยวข้อง: