อันคลองที่มนุษย์ขุดขึ้นเชื่อมทะเลสองทะเลต่อกันเพื่อประโยชน์ในการเดินเรือ มีอยู่หลายคลองด้วยกัน อาทิ เช่น คลองคาเลโดเนียน ยาว 115 กิโลเมตร ในตอนเหนือของสก๊อตแลนด์ ขุดเมื่อปี พ.ศ. 2365 เชื่อมทะเลเหนือกับมหาสมุทรแอตแลนติก คลองโครินซ์ ยาว 63 กิโลเมตร ในประเทศกรีซ ขุดระหว่างปี พ.ศ. 2426 ถึง2436 เชื่อมทะเลไอโอเนียกับทะเลเอเช่ คลองเกอต้ายาว 385 กิโลเมตรในตอนกลางของประเทศสวีเดน เชื่อมทะเลบัลติกกับทะเลสกาเกอร์รัก เหล่านี้ถือเป็นคลองภายในประเทศ ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หากอยู่ในอธิปไตยของประเทศเจ้าของอาณาเขต ซึ่งมีสิทธิวางระเบียบกฎเกณฑ์ในการเดินเรือเต็มที่ เรียกได้ว่า เป็นคลองที่ไม่มีปัญหา เพราะเป็นคลองที่อยู่ห่างไกลจากชุมทางคมนาคมทางทะเล จึงไม่สู้จะอยู่ในความสนใจของต่างชาติ
มีคลองเชื่อมทะเลในปัจจุบันอยู่สามคลองที่มีปัญหาต้องตกอยู่ในระเบียบการระหว่างประเทศได้แก่ คลองสุเอซ ในทวีปแอฟริกา คลองปานามาในทวีปอเมริกา และ คลองคีล ในทวีปยุโรป ซึ่งมีประวัติพอสรุปได้ดังนี้
คลองสุเอซ
อันความดำริที่จะขุดคลองในคอคอดสุเอซของอียิปต์เพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอเรเนียนกับทะเลแดง ย้อนหลังไปถึงสมัย นโปเลียนโบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) จักรพรรดิฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2341 ต่อมาวิศวกรฝรั่งเศสชื่อ ลีนังต์ ผู้ทำงานให้แก่อุปราชเตอร์ก ผู้ปกครองอียิต์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถขุดได้แน่นอน นายเฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) กงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองอเล็กซานเดรียระหว่าง พ.ศ. 2377-2378 ให้ความสนใจในโครงการขุดคลองเป็นพิเศษ เมื่อลาออกจากอาชีพทางการทูต ในปี พ.ศ. 2392 ก็ได้คิดหาทางดำเนินโครงการ แต่ปี พ.ศ. 2397 ได้วิ่งเต้นจัดตั้งบริษัทระหว่างประเทศด้วยทุนริเริ่มจำนวน 200 ล้านฟรังก์ ได้รับสัมปทานให้ขุดคลองได้
งานเริ่มเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2402 แต่ต้องประสบอุปสรรคจากอังกฤษและผู้ครองอียิปต์ ต้องหยุดการก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2406-2409 และเริ่มดำเนินใหม่ในสมัยนโปเลียนที่ 3 การสร้างเสร็จ เปิดใช้ได้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 โดยมีอายุสัมปทานให้บริษัทเป็นเวลา 99 ปี ถึงปลายปี พ.ศ. 2511 ตามสัญญาสัมปทานซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลายครั้งหลายหน กำหนดให้คลองสุเอซเปิดแก่การเดินเรือของทุกประเทศโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะวัตถุประสงค์ของบริษัทอยู่ที่การให้เรือทะเลใช้คลองมากที่สุดเพื่อทำรายได้ การประกอบการในตอนต้น มีปัญหาสลับซับซ้อน บริษัทหวุดหวิดล้มละลายครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2415
ปลายปี พ.ศ. 2418 รัฐบาลอังกฤษเข้าซื้อหุ้นของผู้ครองอียิปต์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ความปั่นป่วนทางการเมืองภายในอียิปต์เมื่อ พ.ศ. 2424 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของคลอง จึงมีการลงนามในอนุสัญญาเมืองคอนสแตนติโนเปิล ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2431 เพื่อรักษาเสรีภาพในการใช้คลองอย่างกว้างขวางโดยอังกฤษตั้งข้อสงวนผูกมัดไว้บางประการ ซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกลงให้ยกเลิกเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2447 คลองสุเอซผ่านวิกฤตกาลของสงครามโลกทั้งสองครั้งมาด้วยความยุ่งยากพอสมควร ตามแต่โชคชะตาของการยุทธ
ตามสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับอียิปต์ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2479 อังกฤษได้รับสิทธิที่จะส่งกองกำลังทหารทั้งทางบกและทางอากาศเข้าไปประจำในบริเวณคลองโดยไม่ถึงกับเป็นการยึดครอง อียิปต์พยายามเจรจาให้อังกฤษถอนกำลังทหารออกไปโดยดี แต่ไม่สำเร็จผล ต้องรอมาถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2494 อียิปต์ประกาศยกเลิกสนธิสัญญาพันธมิตรนั้น และทั้งสองประเทศสามารถทำความตกลงกันได้ใหม่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2497 ซึ่งอียิปต์ประกาศบอกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500
ภายหลังที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล สมคบกันวางแผนใช้กำลังบุกเข้าไปยึดคลอง โดยอาศัยข้ออ้างที่อียิปต์ประกาศยึดบริษัทคลองสุเอชเป็นของชาติ ตามกฎหมายลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 การใช้กำลังของอังกฤษและฝรั่งเศสตอนนั้นต้องล้มเหลวภายในหนึ่งสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เนื่องจากการคัดค้านของสหภาพโซเวียตและความชะงักงันของสหรัฐอเมริกาที่ไม่พอใจเพราะไม่ได้รับการปรึกษาหารือก่อน รัฐบาลอียิปต์ใช้วิธีจมเรือรวม 51 ลำ เพื่อกีดขวางการเดินเรือเป็นเวลากว่า 5 เดือน จากวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2500
หลังจากนั้น อียิปต์ออกประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2500 ยืนยันจะเคารพบทบัญญัติ อนุสัญญาปี พ.ศ. 2431 และกฎบัตรสหประชาชาติ ให้เสรีภาพในการเดินเรือผ่านอย่างต่อเนื่อง และให้การบริหารคลองนั้นอยู่กับองค์การอิสระของรัฐบาลอียิปต์
สงคราม 6 วัน ระหว่างอิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2510 ทำให้มีการปิดคลองอีกวาระหนึ่ง เป็นเวลานานถึง 8 ปี จากวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2518 อียิปต์และอิสราเอลสามารถตกลงสันติภาพกันได้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 กลับเปิดการเดินเรือโดยเสรีตลอดคลองตามเดิม
คลองปานามา
ถ้ามองตามแผนที่ภูมิศาสตร์ ประโยชน์ของการขุดคลองในคอคอดปานามาเด่นชัดมาก คลองจะเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก เปิดให้มีการเดินเรือตรง ไม่ต้องอ้อมทวีปอเมริกาได้ทั้งทวีป ความคิดที่จะขุดคลอง เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่สหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2393 สหรัฐฯ กับอังกฤษทำสัญญาต่อกัน กำหนดระเบียบการระหว่างประเทศให้แก่คลองที่ยังมิได้ขุด สหรัฐฯ ไม่สู้จะติดใจในระเบียบการระหว่างประเทศเท่าใดนัก วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 จึงได้ทำสัญญากับอังกฤษใหม่ใช้แทนสัญญาปี พ.ศ. 2393 โดยอังกฤษยอมรับรู้สิทธิพิเศษของสหรัฐฯ ที่จะปกครองและป้องกันคลองในอนาคต
ตอนนั้นเขตปานามา เป็นส่วนหนึ่งของประเทศโคลัมเบีย ซึ่งย่อมจะไม่พอใจในสัญญาระหว่างอังกฤษและอเมริกาเป็นธรรมดา อีกสองปีต่อมาเกิดกระบวนการแยกดินแดนปานามาเป็นอิสระโดยปานามาประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 สหรัฐฯ รีบส่งกำลังทหารเข้าไป อ้างเหตุว่าเพื่อคุ้มครองคนชาวอเมริกัน แต่ความจริงเพื่อกีดกันมิให้กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลทำการปราบพวกกบฏแยกดินแดน แล้วภายใน 10 วัน สหรัฐฯ ก็ประกาศให้การรับรองสาธารณรัฐใหม่เป็นทางการ
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 นายจอห์น เฮย์ (John Hay) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ลงนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับ นายบูโน วาริลล่า ชาวฝรั่งเศส ผู้นำคนหนึ่งในกระบวนการแยกดินแดน และเป็นผู้ใกล้ชิดกับ นายเฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ วางตนในฐานะเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐปานามา ประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งทราบภายหลังต่อมาว่า ได้รับเงินนอกบัญชีจากสหรัฐฯ ไปถึง 40 ล้านเหรียญ และไม่เคยกลับไปปานามาอีกเลย ตามสัญญาฉบับนั้น ปานามาให้สิทธิแก่สหรัฐอเมริกา ที่จะควบคุมดินแดนประมาณ 500 ตารางไมล์ในปานามาตลอดกาลเสมือนหนึ่งอยู่ในอธิปไตยของสหรัฐฯ
พึงสังเกตว่า กรณี คลองปานามา ต่างกับกรณี คลองสุเอซ เพราะคลองสุเอซ สร้างขึ้นแล้วถึง 20 ปี ถึงได้มีการวางระบบสถานะของคลอง ส่วนคลองปานามามีการวางระบบ 11 ปีก่อนคลองสร้างเสร็จ เปิดแก่การเดินเรือ ความจริง เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ ได้เริ่มจัดตั้งบริษัทเพื่อทำการขุดคลองปานามา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 โดยเรียกเก็บเงินทุนประเดิม 300 ล้านฟรังก์ งานก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2426 แล้วต้องหยุดซะงักในปี พ.ศ. 2431 เพราะประสบปัญหาด้านวิศวกรรมมากหลาย ประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหลายเท่าตัวจากการคะเน ทำให้บริษัทต้องล้มละลาย ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ต้องรอมาจนปี พ.ศ. 2447 สหรัฐอเมริกาจึงเข้ามารับช่วงดำเนินการก่อสร้างต่อ ใช้เวลา 10 ปีจึงเสร็จ เปิดให้มีการเดินเรือผ่านได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2457
ระบบการให้สิทธิอธิปไตยอย่างกว้างขวางแก่สหรัฐอเมริกาตามสัญญาปี 2446 ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของชาวปานามาในส่วนรวมเป็นธรรมดา กระบวนการคัดค้านได้เริ่มตั้งแต่บัดนั้น ทั้งๆ ที่ข้อ 1 กำหนดให้สหรัฐอเมริกาคุ้มครองป้องกันเอกราชของสาธารณรัฐปานามา
อย่างไรก็ตาม ระเบียบการการนี้ ผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้งมาด้วยความเรียบร้อย มีการจำกัดตัดสิทธิบางครั้งบางคราว แล้วแต่ว่าสหรัฐอเมริกาวางตนอย่างไรในสงคราม กล่าวคือ ในยามที่สหรัฐฯ เป็นกลาง หรือเข้าร่วมสงคราม สิทธิในการเดินเรือของต่างชาติ และสิทธิอำนาจของสหรัฐฯ ในการควบคุมการเดินเรือของต่างชาติ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างมากน้อยตามความจำเป็น แต่รัฐบาลปานามายังคงตั้งข้อเรียกร้องในเรื่องอธิปไตยเรื่อยมา ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาได้ยินยอมผ่อนปรนลงไปบ้าง เช่น ตามกฎหมายลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2493 การปกครองเขตปานามา ให้ขึ้นอยู่กับองค์การอิสระภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการ ซึ่งรัฐบาลอเมริกันด้วยความความเห็นชอบของสภาซีเนตเป็นผู้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปี
การบริหารการเดินเรือขึ้นอยู่กับบริษัทอิสระที่กำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ ในด้านระหว่างประเทศ มีสนธิสัญญาว่าด้วยการร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับปานามา ที่ผ่อนคลายสนองข้อเรียกร้องของฝ่ายปานามาบ้าง อาทิเช่น เพิ่มจำนวนเงินรายปีที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายแก่รัฐบาลปานามาให้สูงขึ้น ให้สิทธิแก่ปานามาที่จะเรียกเก็บภาษีบางอย่างจากคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในเขตคลอง จำกัดสิทธิซื้อของคนชาวอเมริกันในเขตคลอง
ปลายปี พ.ศ. 2507 ประธานาธิบดีจอห์นสัน ประกาศตกลงรับหลักการที่จะเจรจากับรัฐบาลปานามา เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญาปี 2446 การเจรจาประสบความยุ่งยากมาตลอด จนถึงสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถทำความตกลงกันใหม่ได้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2520 คืนอำนาจการควบคุมเขตปานามาให้แก่ปานามา ตามที่เรียกร้องติดต่อมานานกว่า 70 ปี
สาระสำคัญของสนธิสัญญาใหม่ ได้แก่ การยกเลิกระบบการเดิมตามสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2446 และ พ.ศ. 2479 เปิดโอกาสให้รัฐบาลปานามาเข้าร่วมในการป้องกันคลอง กำหนดความเป็นกลางของคลอง รวมตลอดทั้งห้ามมิให้สหรัฐอเมริกาแทรกแซงเข้าไปในกิจการภายในของปานามา ส่วนการบริหารคลองให้ขึ้นต่อคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายอเมริกัน 5 และฝ่ายปานามา 4 โดยเป็นที่เข้าใจว่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 สหรัฐอเมริกาจะส่งมอบคลองและบรรดาอาคารทั้งหลายที่สร้างไว้ ให้แก่รัฐบาลปานามาทั้งหมด ทั้งจะต้องถอนกำลังทางทหารอเมริกันออกไปโดยสิ้นเชิง
คลองคีล
คลองคีล เป็นคลองที่รัฐบาลเยอรมันขุดขึ้นในดินแดนเยอรมัน เชื่อมทะเลบอลติกกับทะเลเหนือเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ การก่อสร้างเริ่มในปี พ.ศ. 2430 และมาสำเร็จเสร็จสิ้น ในปี 2438 เปิดใช้การเดินเรือทะเล ในฐานะที่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สั้นที่สุดระหว่างทะเลทั้งสองนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2450 ถึง พ.ศ. 2458 ได้มีการขยายความกว้างของคลองออกไปมาก โดยนิตินัย แล้วคลองนี้ถือเป็นทางน้ำภายในของจักรวรรดิเยอรมัน จนกระทั่ง พ.ศ. 2462 สนธิสัญญาสันติภาพเมืองแวร์ซายส์ ข้อ 380 ถึง 386 ประกาศเปิดแก่การเดินเรือระหว่างบระเทศ รับหลักเสมอภาคในการเดินเรือสำหรับทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นเรือรบหรือเรือพาณิชย์ โดยรัฐบาลเยอรมันยอมรับความผูกพันที่จะไม่สร้างป้อมปราการในบริเวณคลอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลเยอรมันจำต้องรับระบอบการระหว่างประเทศของคลองคีลเป็นผลสืบเนื่องจากการปราชัยในสงครามโลกครั้งแรก
อังกฤษและฝรั่งเศสเคยคิดจะให้ตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้น เพื่อสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามบทบัญญัติสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แต่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วย อ้างว่าคลองคีลอยู่ภายในดินแดนของเยอรมันโดยเฉพาะ มิใช่ทางน้ำระหว่างประเทศที่ผ่านหลายประเทศ ต่อมาตอนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดีทรูแมนกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เสนอความคิดเห็นว่าควรมีการจัดตั้งเขตคลองคีลขึ้นให้อยู่ในอำนาจของสหประชาชาติ แต่มิได้มีการดำเนินการจริงจังอย่างใดในเรื่องนี้
จะเห็นได้ว่า สำหรับคลองที่อยู่ในระเบียบการระหว่างประเทศทั้งสามนั้น ตามปกติมักจะมีปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับอธิปไตยของรัฐเจ้าของอาณาเขตที่คลองตั้งอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีมหาประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมักจะหาทางควบคุมการเดินเรือให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ฉะนั้น ถ้าประเทศไทยตกลงจะสร้างคลองเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย ก็น่าจะได้คำนึงหาทางป้องกันไว้ มิให้ต้องตกเข้าไปในระบอบการระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนสิทธิอธิปไตย ไม่มากก็น้อย
พึงจำกันได้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการปราชัยของญี่ปุ่น ประเทศไทยในฐานะที่ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเข้าข้างญี่ปุ่น ถูกบังคับให้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษเพื่อเลิกสถานะสงคราม ลงนามกันที่เมืองสิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการขุดคลองในข้อ 7 ว่า รัฐบาลไทยรับจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษ พึงสังเกตว่า บทบัญญัติข้อ 7 นี้ ติดตามข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลไทยต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่แก่แผนการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศที่ทางสหประชาชาติจะพึงจัดให้มีขึ้น
เหตุที่อังกฤษบังคับให้ไทยจำต้องรับพันธกรณีเช่นนั้น ก็เนื่องจากอังกฤษขาดความไว้วางใจที่เคยมีต่อประเทศไทย เดิมอังกฤษถือไทยเป็นเพื่อนที่ดีของอังกฤษ ครั้งญี่ปุ่นแปลงสงครามระหว่างฝ่ายอักษะกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปซึ่งประเทศไทยวางตนเป็นกลางมาเป็นสงครามในเอเชียและแปซิฟิค โดยเข้าโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์และยึดดินแดนในความปกครองของอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
รัฐบาลไทยสมัยท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นถึงกับประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อังกฤษผูกใจเจ็บแต่นั้น เป็นต้นมา ครุ่นคิดจะชำระบัญชีกับไทยให้สาสมที่กล้าประกาศสงครามกับจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตก ฉะนั้น ภายหลังที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ชัยในสงครามแล้ว ตามปกติ อังกฤษถือว่ามีสิทธิจะบังคับให้ไทยทำสันติภาพกับอังฤษ ทำนองเดียวกับที่บังคับเอาจากญี่ปุ่น
หากแต่มีประกาศสันติภาพของท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ถือประกาศสงครามของไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ตลอดจนการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาติว่าเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง อังกฤษจึงตกลงใจจะไม่เรียกร้องให้ไทยทำสัญญาสันติภาพ แต่เพียงขอให้ทำความตกลงเพื่อเลิกสถานะสงครามกับเขา โดยที่อังกฤษถือไทยเป็นด่านหน้าสำคัญในการป้องกันดินแดนในความปกครองของอังกฤษด้านมลายู พม่า และอินเดีย จึงคิดผูกมัดไทยโดยอาศัยระบอบความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคิดว่าทางองค์การสหประชาชาติจะสถาปนาขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานในอนาคต
หากแต่ต่อมา ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้พิชิตสงครามเกิดความสามัคคีเภทเอง ระบอบความมั่นคงส่วนภูมิภาคของสหประชาชาติ จึงไม่เกิดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์บีบบังคับให้อังกฤษต้องปลดปล่อยอาณาเขตต่างๆ ภายใต้อำนาจการปกครองในรูปแบบต่างๆ ได้อิสรภาพกันเป็นรัฐ มีเอกราชไปโดยให้มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรภพบริติชซึ่งเพียงมีความผูกพันทางจิตใจต่อกันเท่านั้น
ส่วนที่แทรกข้อจำกัดเกี่ยวกับการสร้างคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย นอกจากจะอาศัยปัจจัยความห่วงใยในความมั่นคงร่วมกันของภูมิภาคแล้ว คงคำนึงถึงการปกป้องผลประโยชน์จากการเดินเรือระหว่างประเทศในภูมิภาค และค้ำจุนสถานะความเป็นเมืองท่าสำคัญของสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหลายแหล่ที่ความตกลงสมบูรณ์แบบสานไว้ให้แล้ว ไทยขอยกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบ อังกฤษยังติดใจเรื่องคลองเชื่อมทะเลอยู่
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยสมัยนั้น คือ เสด็จในกรมฯ หรือ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ประทานคำมั่นแก่ ลอร์ดเรดิ้ง ผู้ทำการแทน นายแอนโทนี อีเดน (Anthony Eden) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ว่า ประเทศไทย ไม่คิดจะขุดคลองดังกล่าว เพราะจะต้องใช้เงินสิ้นเปลืองมหาศาล และมีปัญหาด้านวิศวกรรมมากหลาย เดชะบุญที่ไทยมิได้คิดสร้างคลองสมัยนั้น เพราะอังกฤษอาจจะอาศัยข้อผูกพันในข้อ 7 ของความตกลงสมบูรณ์แบบเรียกร้องให้ไทยต้องปรึกษาหารือกับอังกฤษ แล้วถ้าอังกฤษขัดขวางการสร้างไม่ได้ อย่างน้อยก็อาจจะขอเข้ามามีส่วนในการปกครองและดำเนินกิจการของคลองด้วยอย่างแน่นอน ต้องรอมาจนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2497 ไทยและอังกฤษจึงตกลงกันได้ ยกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบทั้งฉบับโดยไม่มีข้อแม้เหลืออยู่ในเรื่องการตัดคลอง เป็นอันถือได้ว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไทยไม่มีข้อผูกมัดจำกัดสิทธิมิให้ไทยขุดคลองกับประเทศใดๆ ทั้งสิ้น ไทยจะคิดขุดหรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจโดยเด็ดขาดของไทย
ปัญหาที่ไทยน่าจะใคร่ครวญดูให้ดีก็คือ ถ้ามีการขุดคลองดังกล่าวแล้ว จะมีผลกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของไทยในทางลบ ถึงกับเสี่ยงต่อการบั่นทอนบูรณภาพทางดินแดนของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ ในเรื่องนี้ เคยมีผู้แสดงความห่วงใยไว้ว่า ถ้าสร้างคลองแล้ว จะเท่ากับแบ่งราชอาณาจักรไทยออกเป็นสองส่วนเหนือคลอง และส่วนใต้คลอง
สำหรับส่วนใต้ เกรงว่าจะเป็นเครื่องจูงใจเพิ่มขึ้นให้แก่ความกระหาย จะแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ให้หันเหเข้าหามาเลเชีย จะเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ไทยหนักยิ่งขึ้น ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า เพื่อมิให้มีปัญหาสอดแทรก ไทยไม่พึงคิดขุดคลอง
อันที่จริง ปัญหาเรื่องการแยกดินแดนทางปักษ์ใต้ของไทย ไมใช่ของใหม่ เคยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตลอดมา จะมีคลองหรือไม่มีไม่สำคัญ ดินแดนของรัฐอิสระตามกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันแน่นอนแล้ว ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ โดยปราศจากความยินยอมเห็นชอบของรัฐเจ้าของดินแดน ระบอบขยายดินแดนสมัยศตวรรษที่ 19 ไม่ควรมีอยู่ต่อไปแล้ว เพราะถ้าต่างฝ่ายต่างอ้างประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปเรื่อยๆ ก็ไม่ทราบว่าจะหยุดการเรียกร้องได้เมื่อใด
ประเทศเพื่อนบ้านไทยทั้งเหนือใต้ทั้งตะวันออกตะวันตก ต่างก็ได้เอกราชเป็นอิสระจากการปกครองของต่างชาติไปแล้ว เราจึงน่าจะทำความเข้าใจกันให้ดีได้ เว้นเสียซึ่งการล่วงล้ำเรียกร้องดินแดนต่อกันตามบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อความสงบสุขและการพัฒนาก้าวหน้าของดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ในปัจจุบัน
ตรงกันข้าม การสร้างคลองนอกจากจะเปิดโอกาสให้ชาวประมงไทยจากฝั่งตะวันออกสามารถไปทำการประมงในทะเลอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดียได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังจะเสริมสร้างเพิ่มพูน ความมั่นคงให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย เพราะในกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ การส่งกำลังทางเรือจากอ่าวไทยไปคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยและความสงบสุขของดินแดนไทยด้านตะวันตก จะไม่เสียเวลาเดินทางอ้อมดินแดนมาเลเซีย ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งทางมาเลเซีย และอินโดนีเชียประกาศถือเป็นน่านน้ำร่วมของเขา
ยิ่งกว่านั้น ถ้าไทยมองไกลออกไป การสร้างคลองมิใช่เพียงเพื่อประโยชน์ในการเดินเรือเพียงเพื่อย่นระยะทางให้สั้นเท่านั้น แต่ยังมีแผนการพัฒนาปักษ์ใต้ให้เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้โชติช่วงชัชวาลด้วย การสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นรอบๆ คลอง ตั้งศูนย์พาณิชยกรรม พร้อมด้วยท่าเรือทะเลที่ทันสมัยและเหมาะสม ก็จะเป็นการสร้างแหล่งความต้องการกำลังแรงงานอย่างมหาศาล เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานในประเทศได้ดี
นอกจากคนท้องที่ต่างจังหวัดจะมีงานทำเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวโดยทั่วหน้า ปรับปรุงความเป็นอยู่ให้สูงขึ้นแล้ว ยังจะเป็นทางดูดดึงกำลังคนจากภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ระดมเข้าไปช่วยร่วมงานพัฒนาด้วย เป็นการกระจายพลเมืองไทยไปในตัว อย่างที่ไม่เคยมีมาในประวัติการณ์ ปักษ์ใต้จะมิใช่ดินแดนของชาวไทยมุสลิมเท่านั้น หากจะเป็นดินแดนของชาวไทยอื่นๆ ด้วย คละคนปนกันไปชั่วระยะหนึ่ง ก็จะกลายเป็นพี่น้องร่วมชาติที่ไม่แยกภาษาและศาสนา ภัยที่ไทยจะเสียดินแดนให้แก่บางกระบวนการในประเทศเพื่อนบ้าน จะอันตรธานหายไปในตัว เพราะปักษ์ใต้เจริญมั่งคั่งดีแล้ว ใครจะคิดโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น มีแต่ผู้อื่นต่างหากที่จะมองเห็นประโยชน์เข้ามาอาศัยทำมาหากินในดินแดนมั่งคั่งของไทย
ปัญหาจึงมีแต่เพียงว่า ไทยจะมีศักยภาพสามารถดำเนินการตามแผนสร้างคลองด้วยกำลังของไทยเองได้หรือไม่ ถ้าแม้แต่เพียงเพื่อจะทำการศึกษา “ความเป็นไปได้ของโครงการ” ไทยเริ่มแบมือขอให้ผู้อื่นเขาลงทุนลงรอนให้ ก็ไม่พึงคิดถึงโครงการนี้ต่อไปให้เป็นการฝันหวาน ยิ่งถ้าในการปฏิบัติตามโครงการ ไทยคิดจะอาศัยกำลังทรัพยากรและกำลังความคิดจากภายนอกด้วยแล้ว แม้แต่ฝันก็อาจจะไม่หวานอย่างคิด กลายเป็นขมขื่นไป ผู้ที่จะเข้ามาช่วย ไม่มีใครเขาช่วยเพื่อประโยชน์ของไทยโดยไม่มุ่งหวังอะไรตอบแทน ตอนนี้แหละ ดีไม่ดีจะกระทบถึงความมั่นคงของประเทศไทยละ แล้วจะก่อให้เกิดปัญหาร้อยแปดพันประการให้แก่ไทยในภายหลัง เยี่ยงคลองสุเอซและคลองปานามา อย่างที่ได้สรุปมาให้เห็นข้างต้น
ทั้งหมดพาดพิงถึงเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยโดยตรง โลกปัจจุบันยังคงแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ แทนจะเป็นโลกเดียวอย่างที่เคยกล่าวขานกันมาก่อน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองแยกระหว่างฝ่ายสหประชาชาติและฝ่ายอักษะ ภายหลังชัยชนะของสหประชาชาติ แยกระหว่างฝ่ายโลกเสรีและฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ แล้วเกิดฝ่ายที่สามขึ้นแทรกเรียกว่าโลกที่สาม หรือโลกที่ไม่ผูกพันรัฐบาลไทย แม้จะประกาศนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่วายที่ผู้นำจะชักจูงไปเข้าข้างโลกเสรี ไทยไม่นิยมคอมมิวนิสต์ น่าจะตั้งหน้าทำงานปราบปรามอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ภายในประเทศให้หมดสิ้น แต่ไม่ควรเผลอตัวไปเข้าร่วมกระบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์รอบโลกตามคำแนะนำและชี้ชวนของบางประเทศ เพราะเมื่อประเทศนั้นเกิดเปลี่ยนใจ ทำความเข้าใจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เนื่องจากฝ่ายคอมมูนิสต์ด้วยกันเกิดแตกแยก ไทยจะลอยตัวต้องรีบรุดตามเขาให้ทันโดยวางตัวเป็นเด็กดียกย่องสดุดีคอมมิวนิสต์บางประเทศเป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ และหันเข้าพึ่งพาอาศัยให้ช่วยขบปัญหาระหว่างประเทศของไทย แสดงว่าเด็กไทยไม่โตสักที ถ้าไม่พึ่งมหาประเทศนั้น หรือพึ่งประเทศนั้นไม่ได้ก็ต้องหันไปพึ่งมหาประเทศนี้
เราเห็นกันอยู่แล้วว่าไม่มีประเทศใดไม่ว่าจะมีอานุภาพใหญ่ยิ่งเพียงใดก็ตาม สามารถวางตนเป็นตำรวจรักษาความปลอดภัยให้แก่โลกได้ เมื่ออภิมหาประเทศหนึ่งเที่ยวแสวงหาฐานทัพเพื่อสนับสนุนแสนยานุภาพของตนรอบโลก อภิมหาประเทศคู่แข่งก็ย่อมจะหาทางเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญไว้ถ่วงบ้าง ใครเลยจะยินยอมปล่อยให้มีการปิดล้อมตัวให้อยู่ในวงจำกัด
การที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทย บำเพ็ญตนเข้าฝ่ายอภิมหาประเทศหนึ่ง ย่อมจะก่อให้เกิดความระแวงจากอีกอภิมหาประเทศหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่พ้น ไม่พึงหลงเชื่อว่าอภิมหาประเทศเขาจะยอมเสี่ยงภัยสงครามสมัยใหม่ สงครามนิวเคลียร์บนดินแดนของเขา เขาอาจจะทำสงครามบนดินแดนของประเทศอื่น เป็นสงครามตัวแทนประเทศเล็กๆ ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของการขัดแย้งระหว่างประเทศใหญ่ จะได้รับประโยชน์อันใด นอกจากจะเป็นเพียงลูกไล่ถูกใช้เป็นสมรภูมิเพื่อทดลองอาวุธสมัยใหม่
ถ้าไทยตัดสินใจจะขุดคลอง แล้วเริ่มไปคิดแต่จะอาศัยทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากมหาอำนาจ ก็เท่ากับเราสร้างห่วงรัดคอเราเพิ่มขึ้นอีกห่วงหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเราทำไม่ได้โดยลำพังตนเองก็ควรเลิกคิดที่จะทำดีกว่า
ที่กล่าวว่าไทยควรทำโดยลำพังตนเองนั้นมิได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องลงมือทำเอง น่าจะปล่อยให้เป็นธุรกิจฝ่ายเอกชน โดยรัฐบาลตกลงในหลักการ แล้วคอยควบคุมดูแลจากภายนอก รัฐวิสาหกิจของไทยดำเนินงานได้ผลดีผลเสียเพียงใดย่อมตระหนักทราบกันดีอยู่แล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้ ตกลงกันได้ในการสร้างอุโมงค์ทางรถไฟใต้ทะเลเชื่อมสองประเทศด้วยกัน ได้รับหลักการใช้วิธีการธุรกิจเอกชน การประกอบการเอกชนที่จะเข้าร่วมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขาอย่างละเอียดถี่ถ้วนไม่ปล่อยให้การเมืองหรือปัจจัยอื่นใดอันมิใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้าครอบงำ เมื่อเอกชนพัฒนาโครงการได้แล้วประโยชน์ย่อมตกได้แก่รัฐบาลด้วยในตัว
ข้อควรคำนึงอีกข้อหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาว่าด้วยการดำเนินการตามโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลของไทยจะกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ เฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเชีย คลองของไทยจะแย่งปริมาณการเดินเรือทะเลจากช่องแคบมะละกาเพียงไรหรือไม่ ความจริงเวลานี้ช่องแคบมะละกาดูจะแคบและตื้นเกินไปแล้ว
สำหรับการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้นในระยะหลังๆ โครงการคลองไทยไม่น่าจะมองเป็นคู่แข่งแย่งการเดินเรือทะเลในช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ แต่ควรถือเป็นโครงการเกื้อกูล เป็นทางเผื่อเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งควรแก่การส่งเสริมมากกว่า ยิ่งกว่านั้นเมื่อโครงการของไทยไม่จำกัดเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการเดินเรือผ่านเท่านั้น หากยังประกอบด้วยแผนพัฒนาทั้งทางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง น่าจะถือเป็นผลดีในระยะไกลแก่ความเจริญมั่นคงและความไพบูลย์พูนสุขของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนรวม และจะเป็นทางแก้ปัญหาภัยคุกคามของกระบวนการคอมมิวนิสต์ด้วย
เมื่อราษฎรมีความเป็นอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ภัยคอมมิวนิสต์จะสูญหายสลายตัวไป โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาอิทธิพลภายนอกเข้าช่วย จุดสำคัญอยู่ที่จะต้องจัดให้ผลได้จากการพัฒนาเกิดเป็นผลดีต่ออาณาประชาราษฎรไทยทั่วถึง มิใช่เป็นประโยชน์เฉพาะแก่กลุ่มชนหมู่ใดหมู่หนึ่งที่มั่งคั่ง
ถ้าหากปรากฏชัดว่า การระดมสรรหากำลังพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม อยู่ในลักษณะมหึมาเกินวิสัยที่ประเทศไทยจะรับภาระโดยลำพัง จะเป็นด้วยไทยยังขาดความสามารถทั้งด้านเงินลงทุนและด้านวิศวกรรมโยธา ทางหนึ่งที่กระทำได้ก็คือ จัดให้เป็นโครงการอาเซียนเสีย อาเซียนสถาปนามาเป็น 20 ปีแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์หลักที่จัดให้มีการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาคีจนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่เห็นมีโครงการใดที่จัดได้ว่าเป็นโครงการของอาเซียน น่าจะอาศัยโครงการสร้างคลองและการพัฒนาต่อเนื่อง จัดให้มีการร่วมมือโดยใกล้ชิด ระหว่างสมาชิกในกลุ่มอาเซียนรวมกันลงทุนลงแรงให้สัมถทธิ์ผล เป็นเครื่องทดสอบที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ภาคีอาเซียนมุ่งหวังจะให้เกิดการร่วมมือทางเศรษฐกิจจริงจังเพียงใด หรือจะเป็นเพียงยาหอมที่นำออกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในทางโฆษณาเท่านั้น
การให้เอเชียเข้ามาร่วมมีผลดีอีกประการหนึ่งก็คือ ตัดปัญหาเรื่องขัดแย้งคัดค้านออกไป เปิดโอกาสให้ภาคีอาเซียนเข้ามีส่วนได้เสีย ได้รับผลประโยชน์กับไทย โดยการจัดตั้งเป็นบริษัทอาเซียนขึ้น ซึ่งไทยถือหุ้นข้างมากไว้ ในการวิศวกรรมสร้างคลอง หากว่าต้องอาศัยความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีที่เรายังอาจจะขาดอยู่ ก็อาจจะอาศัยผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาช่วยในฐานะที่ปรึกษาซึ่งจะไม่พัวพันกับงานด้านบริหารอย่างเด็ดขาด
อันประเทศภายนอกที่จะสนใจในการเดินเรือผ่านคลองไทย คงจะได้แก่ประเทศในเอเชียด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีการค้าติดต่อเป็นประจำกับประเทศทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ในทวีปแอฟริกาเลยไปถึงยุโรปเป็นประจำ และประเทศในยุโรปและแอฟริกาที่มีการค้าติดต่อกับประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี เวียดนาม กัมพูชา และลาว ในบรรดาประเทศดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นคงจะนำหน้าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด เพราะในปัจจุบันต้องอาศัยน้ำมันจากตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก ประเทศเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากคลองไทยโดยตรง
สำหรับสหรัฐอเมริกาที่สร้างอิทธิพลและวางกำลังทหารไว้ในส่วนต่างๆ ของมหาสมุทรแปซิพิคและสหภาพโซเวียตที่หาทางสร้างฐานทัพของตนขึ้นบ้างในภูมิภาค เพื่อคานอำนาจของสหรัฐฯ การรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ย่อมทำให้ทั้งสองประเทศต้องระแวดระวังเป็นพิเศษ มิให้ได้หรือเสียเปรียบต่อกัน ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะมีผลสร้างความพึงพอใจให้แก่ฝ่ายหนึ่ง และในขณะเดียวกันสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่ายหนึ่ง ไทยจะต้องวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ป้องกันมิให้การขัดแย้งระหว่างสองชาติขยายตัวเข้ามาในดินแดนไทยให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเขตสันติภาพ อิสรภาพ และเป็นกลาง ปลอดจากการแทรกแซงไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ของรัฐบาลภายนอกตามอุดมการณ์ที่กำหนดไว้โดยเอกฉันท์ในปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นั้น
ในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในส่วนรวมทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมต่างๆ อาจจะจัดให้มีการลงทุนร่วมกับต่างประเทศโดยทั่วไป ในลักษณะธุรกิจเอกชน เร่งรัดให้ก้าวหน้าโดยรวดเร็ว
ขอเน้นว่า คลองอยู่ในอธิปไตยของไทย ซึ่งหมายความว่า คลองจะอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของประเทศไทยเต็มที่ รัฐสภาไทยมีสิทธิที่จะร่างบทกฎหมาย วางระเบียบการเดินเรือเพื่อรักษาความปลอดภัย ป้องกันการชนกันและมลภาวะเป็นพิษ คลองจะเปิดให้แก่เรือพาณิชย์เอกชนทุกชาติ โดยเสรีเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไทยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีอากรอย่างใดก็ได้ ทั้งจะกำหนดระวางและขนาดความยาวของเรือที่จะผ่านตามความเหมาะสม
สำหรับเรือรบหรือเรือทางราชการของต่างประเทศ ย่อมแล่นผ่านคลองได้เหมือนกัน แต่จะต้องบอกกล่าวให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทราบและได้รับอนุญาตล่วงหน้า ถ้าเป็นเรือใต้น้ำจะต้องลอยลำขึ้นมาเวลาผ่าน ทั้งนี้ โดยไทยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือจะอัธยาศัยยกเว้นให้ก็ได้ คลองจะจัดอยู่ในระบบการรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของประเทศไทยอย่างเด็ดขาด ไทยจะวางกำลังทหารและตำรวจ ณ ที่ใดๆ บริเวณคลองโดยอิสระ ทั้งจะวางแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งทางอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางเพียงใดก็ได้
บรรดาอรรถคดีที่หากจะเกิดขึ้นระหว่างเรือแล่นผ่านคลองต้องขึ้นต่อศาลไทยโดยเฉพาะ นอกจากเรือรบหรือเรือทางราชการต่างประเทศ ซึ่งมีหลักเกณฑ์พิเศษตามกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้วในยามสงคราม โดยฝ่ายไทยจะเข้าร่วมเป็นฝ่ายหรือไม่ก็ตาม ไทยอาจจะกระชับความเข้มงวดกวดขันในการเดินเรือได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้เป็นที่แน่นอนว่า ย่อมจะเพิ่มภาระที่จะต้องทำการรักษาคลอง ป้องกันปัดเป่าภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณคลองซึ่งจะต้องอาศัยงบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อยเพื่อประสิทธิภาพของเหล่าทัพทั้งหลาย แต่ก็ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ปักษ์ใต้เป็นดินแดนด้อยพัฒนา เป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการคอมมิวนิสต์ หรือขบวนการแยกดินแดนที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา : กนต์ธีร์ ศุภมงคล. คลองกระกับปัญหาความมั่นคง, ใน, คลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ, (กรุงเทพฯ: เล็กซ์โนว่า, 2560 ), น. 35-48
หมายเหตุ : พิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ “คลองกระกับอนาคตของประเทศไทย” จัดพิมพ์โดย อชวท. พ.ศ. 2532