ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เสียงประกาศแถลงการณ์ที่ดังขึ้นมาแทนเสียงลูกคอดาราลิเก

27
กุมภาพันธ์
2565

ภายหลังรัฐประหารเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ครั้นช่วงต้นปี พ.ศ. 2492 มีกระแสข่าวลือเรื่อง นายปรีดี ลอบกลับเข้ามาในเมืองไทยและรวบรวมกำลังเพื่อยึดอำนาจทวงคืนประชาธิปไตยจากฝ่ายเผด็จการ นั่นทำให้ทางคณะรัฐประหารตระเตรียมความพร้อมไว้รับมือและปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างแข็งขัน 

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น ก็ยิ่งแว่วยินหนาหูว่า นายปรีดี พยายามติดต่อกับฝ่ายทหารเรือให้ช่วยสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของตน โดยเฉพาะ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ), พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ขณะเดียวกัน มีการซ้อมรบของทหารเรือจนดูผิดปกติ พอวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ฝ่ายคณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึก กองทัพบกเร่งรัดให้มีการซ้อมรบหลายครั้ง

คืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำโดย นายปรีดี และสมัครพรรคพวกเข้ายึดพื้นที่เมืองหลวง เริ่มเวลาราว 21.00 น. จากการมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนจะสั่งการให้กองกำลังส่วนหนึ่งไปปลดอาวุธกองทหารผู้รักษาพระบรมมหาราชวังเพื่อจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้น

อีกฉากในเหตุการณ์ดังกล่าว คือการที่กองกำลังของ ขบวนการประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรุงเทพฯ หรือ สถานีวิทยุพญาไท ช่วงเวลาประมาณ 21.05 น.  จากนั้นจึงส่งเสียงประกาศแถลงการณ์สั่งปลดบุคคลสำคัญในรัฐบาลชุดปัจจุบันและแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผู้ถูกสั่งปลด ได้แก่

  1. พลโท ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก
  2. พลโทกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก
  3. พันตำรวจโทละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล
  4. พลตำรวจโท หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ
  5. พลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ

และสั่งย้าย หลวงอุตรดิตถาภิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี มาเข้าประจำกระทรวง

ขณะเดียวกันประกาศแต่งตังรัฐบาลของฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย ได้แก่

  1. นายดิเรก ชัยนาม นายกรัฐมนตรี
  2. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  3. พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธินให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  4. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่นๆ ทุกกระทรวงที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง ก็ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนไปก่อน พร้อมกับแต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้แก่

  1. พลเรือโท หลวงสินธุ์สงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นแม่ทัพใหญ่
  2. สมบูรณ์ ศรานุชิต รองแม่ทัพใหญ่
  3. พลตรีเนตร เขมะโยธิน ผู้บัญชาการทหารบก
  4. พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ผู้รักษาความสงบทั่วประเทศและอธิบดีกรมตำรวจ
  5. พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

และแต่งตั้งให้ นาวาโท ประดิษฐ์ พูลเกศ  ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธินสัตหีบ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี

ลงท้ายแถลงการณ์ว่า ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหารทุกหน่วยจากที่ตั้งเด็ดขาดไม่ว่าจะกรณีใดๆ นอกจากจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่

ปกติแล้ว หลักฐานเอกสารบันทึกของทางการย่อมจะแจกแจงรายละเอียดการยึดสถานีวิทยุพญาไทเพียงเท่านี้ แต่ถ้าลองวิเคราะห์เอกสารอื่นๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์จำพวกนิตยสาร อาจเผยให้เห็นภาพสถานการณ์เดียวกันหลากหลายแง่มุม 

เฉกเช่น ล็อบบี้ยิสต์  ผู้เขียนคอลัมน์ ‘งานของชาติ’  แห่ง สยามสมัยรายสัปดาห์ ได้บรรยายบรรยากาศการรับฟังประกาศแถลงการณ์ข้างต้นลงในนิตยสารฉบับที่ 95 ปีที่ 2 ประจำวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2492 ความว่า

“...เมื่อเสียงของสุชิน เทวะผลิน ดาราลิเกซึ่งกำลังจะลงมือแสดงศิลปะของเขาในรายการภาคบันเทิงทางวิทยุขาดหายไป เสียงหนึ่งดังเข้ามาแทนที่  ประกาศอย่างร้อนรนว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ และให้ปลดคนสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลปัจจุบันออกจากตำแหน่ง”

สุชิน เทวะผลิน ผู้ได้รับการเอ่ยพาดพิงถึงนั้น เป็นชาวพระนคร บิดาคือ นายชื่น นักตีฆ้องที่หาตัวจับยาก เขาถือกำเนิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันน่าจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450)  พอเรียนจบชั้นมัธยม ก็เข้าไปเป็นนักเรียนพรานหลวงรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเคยเป็นนักเรียนนายดาบ ก่อนจะลาออก ต่อมาได้เข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทำงานกรมสรรพสามิตต์ เป็นครูสอนในโรงเรียนที่จังหวัดกาญจนบุรี ผู้คุมเกาะตะรุเตา ก่อนจะมาทำงานที่กรมสรรพากร

 

สุชิน เทวะผลิน ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์สุชิน เทวะผลิน
สุชิน เทวะผลิน
ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์สุชิน เทวะผลิน

 

สุชิน นำเอาศิลปะการแสดงมาถ่ายทอดผ่านทางวิทยุกระจายเสียงนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470  ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เสียอีก ซึ่งยุคนั้นวิทยุได้รับความนิยมอย่างยิ่ง เริ่มจากมีการทดลองกระจายเสียงวิทยุครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 ณ กรมไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง ปีต่อมาก็ย้ายสถานีมาอยู่ศาลาแดง ก่อนจะก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกที่พญาไทคือสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2473 จะเปิดสถานีตอนกลางคืนเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป 

การแสดงของ สุชิน ประกอบด้วยเสภารำและนาฏดนตรี ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุศาลาแดง ครั้นต่อมากรมโฆษณาการถือกำเนิดขึ้นในยุครัฐบาลคณะราษฎร สุชินได้นำเสนอ “ลิเกวิทยุ”  จนสร้างชื่อเสียงลือลั่น เขากลายเป็นยอดดาราลิเกนามระบือไปทั่วประเทศ 

ตามโปรแกรมของคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คณะลิเกของสุชินจะต้องออกอากาศ ณ สถานีวิทยุพญาไทช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. แต่จู่ๆ เสียงลูกคอของยอดลิเกมีอันเงียบหายไป แล้วยินเสียงประกาศแถลงการณ์แทน ถัดจากนั้น ขบวนการประชาธิปไตยก็กระจายกำลังเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ 

ล็อบบี้ยิสต์ เขียนว่า “ประเทศไทยได้เข้าสู่ชั่วโมงของการปะทะกันด้วยอาวุธนับแต่นาทีนั้นเป็นต้นมา”  สืบเนื่องจาก พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้รับมอบหมายให้ปราบปรามการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล สฤษดิ์สั่งให้รถถังปิดล้อมพระบรมมหาราชวังและใช้กำลังทหารบุกเข้าโจมตี  ท้ายที่สุด “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ที่นำโดย นายปรีดี จึงประสบความพ่ายแพ้

 

สุชิน เทวะผลินกำลังรับมอบถ้วยรางวัลจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในการประกวด เมื่อปี พ.ศ. 2495 ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์สุชิน เทวะผลิน
สุชิน เทวะผลินกำลังรับมอบถ้วยรางวัลจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ในการประกวด เมื่อปี พ.ศ. 2495
ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์สุชิน เทวะผลิน

 

เหตุการณ์เข้ายึดสถานีวิทยุกรุงเทพฯ เพื่อประกาศแถลงการณ์ของขบวนการประชาธิปไตย ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ อาจนับเป็น  “ประวัติศาสตร์การฟังวิทยุ” ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประชาชนชาวไทย และน่าเชื่อว่าคงจะจำหลักความทรงจำของผู้ฟังยุคนั้นจำนวนไม่น้อย กระทั่งนักหนังสือพิมพ์ยังนำมาเขียนรายงาน

แม้ค่ำคืนนั้นจะไม่มีเสียงลูกคอเอื้อนกลอนลิเกของสุชิน เทวะผลิน  หากผู้รับฟังวิทยุก็คงได้รับทราบว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ กำลังสำแดงตนแม่นมั่น ในการจะมาทวงคืนประชาธิปไตยจากฝ่ายเผด็จการ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. เกียรติศักดิ์. (27 กุมภาพันธ์ 2492).
  2. ไทยเขษมรวมข่าว. (9 กุมภาพันธ์ 2472)
  3. ไทยเขษมรวมข่าว. (1 มีนาคม 2473)
  4. ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ).  ๒๕ คดีกบฏ. พระนคร : ประมวลสาส์น, 2513
  5. สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (95), (7 มีนาคม 2492).
  6. สุเพ็ญ ศิริคูณ. กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518
  7. อนุสรณ์สุชิน เทวะผลิน. พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ สุชิน เทวะผลิน ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม  7 มีนาคม 2514. กรุงเทพฯ: สุริวงศ์การพิมพ์, 2514