ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

พระเจ้าช้างเผือก กับ แนวคิดสันติวิธีของปรีดี พนมยงค์

14
มีนาคม
2565

ประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก

 

“พระเจ้าช้างเผือก” มาจากนวนิยายของปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้นในบรรยากาศการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรป ขณะเดียวกันก็อยู่ในบรรยากาศของ “ลัทธิชาตินิยม” โดยพยายามนำเสนอความไม่ชอบธรรมของลัทธิชาตินิยมทางทหาร และยืนยันนโยบายความเป็นกลางเพื่อป้องกันการแทรกแซงของต่างชาติ มีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ที่มีบทเจรจาภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่องซึ่งปรีดี พนมยงค์ เขียนในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๓ โดยมีความคิดว่าจะสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อไป ปรีดีฯ เขียนเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๓ จากนั้นได้มีการจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ เป็นฉบับภาษาอังกฤษ

ในส่วนของภาพยนตร์นั้น พระเจ้าช้างเผือกนำออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๔ ณ ศาลาเฉลิมกรุง และมีกำหนดฉายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ถึง วันพุธที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๘๔ โดยได้รับความร่วมมือจากมิตรสหายทั้งในวงการภาพยนตร์และวงการอื่นๆ มากมาย

 

เนื้อเรื่องย่อ

“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ผู้ประพันธ์ได้จินตนาการถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในสมัยอยุธยา โดยจำลองเหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าหงสาได้ทราบข่าวการจับช้างเผือกของพระเจ้าจักรา พระเจ้าหงสาซึ่งมีพระราชดำริในการขยายพระราชอำนาจของพระองค์อยู่แล้วได้ถือโอกาสนี้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามกับอโยธยาโดยส่งคณะทูตเดินทางไปอโยธยาเพื่อเรียกร้องให้พระเจ้าจักรามอบช้างเผือกที่จับได้ให้แก่หงสา

พระเจ้าหงสาทรงทราบอยู่แล้วว่าอโยธยาจะไม่ยอมยกช้างเผือกให้ เพราะหากกระทำเช่นนั้นก็เสมือนว่าอโยธยายอมตกเป็นเมืองประเทศราชของหงสา จนกลายเป็นสงครามระหว่างอาณาจักรแต่เนื่องจากพระเจ้าจักรา ไม่ทรงมีพระประสงค์ให้บรรดาทหารต้องเสียเลือดเนื้อ พระองค์จึงทรงเลือกใช้วิธีการรบแบบยุทธหัตถี คือการชนช้างแบบตัวต่อตัวกับพระเจ้ากรุงหงสาวดี[1] ผลการรบพระเจ้าจักราเป็นผู้ชนะ แต่ด้วยพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงยึดมั่นในเรื่องของ “การไม่จองเวร” ทำให้พระองค์ทรงปล่อยทหารชาวหงสาวดี[2] กลับสู่บ้านเมือง และทรงตรัสให้ทหารหาญของทั้งสองราชอาณาจักรได้เรียนรู้ถึงการให้อภัยและการไม่จองเวรต่อกัน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังต่อไป

โครงเรื่องที่ปรีดีฯ สมมติขึ้น มีส่วนผสมผสานระหว่างเรื่องราวใน สมัยสงครามช้างเผือก และ สงครามยุทธหัตถี ที่มีระบุไว้ในพงศาวดารที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในสมัยอยุธยา แต่ผู้ประพันธ์ไม่ได้ระบุช่วงเวลาและสถานที่ เพียงแต่เป็นการบรรยายคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องราวของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามในสมัยอโยธยาคือ “พระเจ้าจักรา” เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม ทรงจำเริญพระชันษาอยู่ในวัดตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยการถวายการเลี้ยงดูจากพระสงฆ์ผู้ชราภาพ

ส่วนกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพม่านั้น ปรีดีฯ เพียงแต่เรียกว่า “พระเจ้าหงสา” แต่ไม่ได้ระบุว่าทรงขึ้นครองราชย์ในสมัยใด ระบุแต่เพียงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีลักษณะเผด็จการ หลงมัวเมาในสุราและสตรีเพศ ทรงฝักใฝ่ในการทำสงคราม โดยการขยายพระราชอาณาจักรโดยไม่ทรงคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม

 

แนวความคิดสันติวิธีจาก “พระเจ้าช้างเผือก”

 

ปรีดีฯ ได้เน้นถึงเรื่อง "ธรรมสงคราม" ในแง่ของความชอบธรรม และความไม่ชอบธรรมในการเข้าร่วมสงครามอยู่ตลอดเวลา โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการเข้าสู่สงครามของฝ่ายพระเจ้าหงสา และความชอบธรรมในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของฝ่ายพระเจ้าจักรา

เหตุผลของพระเจ้าหงสาในการเข้าสู่สงครามนั้นเป็นความไม่ชอบธรรมเพราะเป็นการรุกรานผู้อื่น นอกจากนั้นทหารหงสายังได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไม่ปราณี ดังนั้นการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองของกองทัพอโยธยาจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และถือเป็นความชอบธรรมในการเข้าสู่สงคราม

 

สันติภาพ : ไม่ใช่การยอมจำนน

ปรีดีฯ แสดงให้เห็นความชอบธรรมในการเข้าร่วมสงครามของพระเจ้าจักราว่าเป็นไปเพื่อการป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่ได้คิดจะทำร้ายฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด ดังนั้นการต่อสู้กับอธรรมในกรณีที่ถูกรุกรานนั้น ปรีดีฯ ไม่ได้ระบุอย่างนักสันติวิธีที่ว่า การต่อสู้ทุกชนิดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น สันติภาพของปรีดีฯ จึงไม่ใช่ได้มาด้วยการยอมจำนนต่ออธรรมอย่างขลาดเขลา

ปรีดีฯ แสดงให้เห็นว่าสงครามเกิดจากความต้องการของผู้นำเท่านั้นโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็น ภาพของพม่าจึงเปลี่ยนจาก “คนนุ่งโสร่งโพกหัวไล่ฆ่าคนไทย” มาเป็นการนำเสนอปัญหาที่แท้จริงของการเกิดสงคราม การต่อสู้โดยใช้ยุทธหัตถีของพระเจ้าจักราเพื่อหลีกเสี่ยงการเสียเลือดเนื้อของทหาร เป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้นำในด้านชีวิต และความสงบสุขของทหารและประชาชน

 

สันติวิธี : มุมมองจากศาสนาพุทธ

ปรีดีฯ นำเสนอความเป็นอนิจจังผ่านตัวละครของพระเจ้าจักราที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในวิถีแห่งสันติ ทำให้พระองค์ไม่ทรงยึดติดในตัวตน ทำให้เกิดสันติภาพในบ้านเมืองโดย "สันติภาพ"  มิได้เป็นเพียงแค่การต่อต้านสงคราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น ปรีดีฯ ยังแสดงให้เห็นว่า ต้นตอของการขาดสันติภาพของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์หลงติดอยู่ในพันธนาการของกิเลส

การกล่าวย้ำเรื่องความเมตตากรุณา ดังจะเห็นได้จากการกล่าวถึงภาษิตของพระพุทธศาสนาในเรื่อง “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ในตอนที่พระเจ้าจักราสามารถเอาชนะกองทัพของพระเจ้าหงสาแล้วทรงปล่อยตัวเชลยศึกให้เป็นอิสระ ซึ่งนอกจากจะเป็นคำสอนให้ใช้ความเมตตากรุณาเอาชนะความเกลียดแล้ว ยังแฝงนัยของการเอาชนะความชั่วด้วยความดี และการเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงอันเป็นปรัชญาของสันติวิธี

นอกจากนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดยิ่งอีกอย่างก็คือ คุณค่าของการมีขันติธรรมในการนับถือศาสนา โดยการนำเสนอผ่านบทสนทนาในคราวต้อนรับแขกเมืองของพระเจ้าจักรา มีการวิจารณ์ถึงการกระทำของกษัตริย์ในโลกตะวันตกที่หลงใหลในอำนาจ และพยายามขยายอาณาจักรของตนในการทำสงคราม ปรีดีฯ ยังได้กล่าวถึงการมีขันติธรรมในแง่ของการเคารพชีวิตผู้อื่น เช่น ท่าทีของพระเจ้าหงสาที่ไม่ให้ความเคารพชีวิตทหารของตนเองที่ได้สู้รบเพื่อชาติตลอดมา ในฉากที่พระเจ้าหงสาใช้หอกสังหารทหารชราที่ออกมาต่อต้านการประกาศสงครามของพระเจ้าหงสา และให้เห็นถึงข้อเสียของโทสะจริตที่ครอบงำพระเจ้าหงสา และยังเป็นการวิจารณ์การขาดสันติธรรมโดยไม่ให้ความเคารพต่อความคิดผู้อื่น โดยการทำลายชีวิตของผู้อื่น เพียงเพราะไม่คล้อยตามความคิดของตน

 

สันติภาพเชิงโครงสร้าง : หนทางสู่สันติภาพในสังคม

ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” แม้ว่าจะเน้นถึงการต่อต้านสงคราม และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สันติภาพทางตรงแล้ว ยังกล่าวถึงหน้าที่ของกษัตริย์ในการรับใช้ประเทศชาติ ในแง่ของการส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน การมีเสรีภาพ และความรู้สึกมีความหมายในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ทำให้เรื่องราวในพระเจ้าช้างเผือกครอบคลุมไปถึงสันติภาพเชิงโครงสร้างที่แสดงออกถึงความสงบสุขของประชาชน อันเกิดจากความกินดีอยู่ดี ซึ่งมีการบรรยายไว้ในฉากต่างๆ เช่น ฉากชีวิตที่สงบสุข และบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ของประชาชนชาวอโยธยา อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของประชาชนอาจเปลี่ยนไปหากต้องประสบกับภาวะสงคราม

จากการที่ตัวเอกฝ่ายหญิงคือเรณู ได้กล่าวว่า ควรนำพระราชทรัพย์ในการดูแลพระสนม ๓๖๕ คน ไปใช้ในการส่งเสริมความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาราษฎร์และความรุ่งเรืองของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ความกินดีอยู่ดี และความรุ่งเรืองของประเทศเป็นภาระหน้าที่ของกษัตริย์ได้ถูกนำเสนอโดยปรีดีฯ

กล่าวโดยสรุป “แนวคิดสันติวิธีของปรีดี พนมยงค์” เป็นการผสมผสานแนวคิดเรื่องสันติภาพทั้งจากมุมมองทางการเมือง ศาสนา และสังคม จากการศึกษาแนวคิดสันติภาพและสันติวิธีทางการเมือง พบว่า ปรีดี พนมยงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้สันติวิธีในทางการเมือง แต่สิ่งที่ทำให้ ปรีดี พนมยงค์ แตกต่างจากนักสันติวิธีคือ การยอมรับการใช้ความรุนแรงในระดับหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อการป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ ยึดมั่นเสมอ คือ คำสอนทางพุทธศาสนา โดยมองว่าพุทธศาสนา คือ จุดเริ่มต้นไปสู่สันติภาพของสังคม

ข้อความนี้คัดมาจาก นิทรรศการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ สู่ศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ จัดแสดง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๔-๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๒

 

หมายเหตุ :

  • ข้อมูลประกอบการเขียนทางคณะผู้จัดทำเรียบเรียงมาจาก สุรัยยา เบ็ญโสะ : แนวคิดสันติวิธีในเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ของปรีดี พนมยงค์ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๐

[1] ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ใช้ตาม “พระเจ้าช้างเผือก” ฉบับแปลครั้งแรก

[2] เพิ่งอ้าง