ในงานวิจัย เรื่อง “กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์” กรณีศึกษาเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”ผู้เขียนได้ศึกษาแนวคิดเรื่อง “สันติภาพและสันติวิธี” ที่ปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอไว้ในงานวรรณกรรมเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งท่านได้ประพันธ์ขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อประกาศจุดยืนเรื่องสันติภาพและความเป็นกลางของประเทศไทย และได้ถ่ายทอดงานวรรณกรรมเล่มดังกล่าวออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์เสียงภาษาอังกฤษเรื่องแรกของไทย
ผู้เขียนได้ค้นพบบทเรียนสำคัญหลายๆ ประการเมื่อมองย้อนกลับไปยังงานวิจัยของตนเอง ประการแรก คือ เงื่อนไขทางกาลเวลาและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้การทำลายหรือการประหัตประหารกันของมนุษย์ลดน้อยถอยลง ในทางตรงกันข้าม ยิ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้นเท่าไร การทำลายล้างกันของมนุษย์ก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ประการที่สอง การขยายอำนาจของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อเข้ายึดครองผู้ที่มีความอ่อนแอยังมีอยู่เสมอ ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปนานเพียงไรก็ตาม เพียงแต่วิธีการและวัตถุประสงค์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง เช่น การขยายอำนาจของพระเจ้าหงสาในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก โดยการยกกองทัพเข้าประหัตประหารเมืองอโยธยา ประเทศเพื่อนบ้านของตนเอง เพื่อขยายอำนาจและอาณาเขตของประเทศ มาถึงการทำสงครามของฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายอักษะในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อปกป้องอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของฝ่ายที่ศรัทธาในอำนาจเผด็จการอย่างฝ่ายอักษะกับฝ่ายที่เชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอย่างฝ่ายพันธมิตร
จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ผู้ซึ่งเคยประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ ได้อาศัยอุดมการณ์ประชาธิปไตยบังหน้าเพื่อเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศที่อ่อนแอกว่าอย่างอิรัก และบทเรียนหรือข้อคิด ประการที่สาม คือ ตราบใดที่ประชาชนผู้รักสันติทั้งหลายยังยินยอมพร้อมใจให้ผู้นำที่ยุติธรรมนำอำนาจที่ตนเองมอบให้ไปใช้ในทางที่ผิด เมื่อนั้นหายนะก็ย่อมเกิดขึ้นกับประชาชนในชาตินั้นๆ นั่นเอง เช่น การที่ประชาชนชาวหงสาในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ยินยอมพร้อมใจอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าหงสาผู้กระหายสงคราม บ้านเมืองก็มีแต่การศึก ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ก็ไม่มีวันอยู่อย่างสงบสุข หรือ เหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ประชาชนซึ่งอยู่ใต้อำนาจของผู้นำเผด็จการยินยอมให้ผู้นำของตนนำประเทศเข้าสู่สงครามก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนในชาติที่เข้าสู่สงครามนั่นเอง
เหตุการณ์ในปัจจุบันซึ่งประเทศต่างๆ หลายประเทศยังยินยอมให้ผู้นำใช้อำนาจที่ตนมอบให้ไปในทางที่ไร้ความชอบธรรม ก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนของคนในชาติ และด้วยผลพวงของลักษณะสังคมแบบโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน ความเดือดร้อนดังกล่าว ก็ขยายผลไปยังประชาชนส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากบทเรียนดังกล่าว ผู้เขียนจึงคิดต่อไปว่า ในฐานะประชาชนของประเทศและพลเมืองของโลกที่รักในสันติภาพ และศรัทธาในการแก้ปัญหาโดยการใช้สันติวิธี เราจะมีวิธีการเผยแพร่แนวคิดหรือความเชื่อที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร
บทความชิ้นนี้จะพยายามวิเคราะห์ว่า บทเรียนที่ผู้เขียนได้จากการศึกษาเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” จะสามารถนำมาปรับใช้กับการนำเสนอทัศนคติหรือแนวคิดเพื่อการแสวงหาสันติภาพได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงสันติภาพและการใช้สันติวิธีในขณะนี้ อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเชื่อมั่นและความศรัทธาในแนวคิดดังกล่าวอย่างสูงยิ่ง เพราะขณะที่เริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ สงครามอย่างเป็นทางการในอิรักเพิ่งจะสิ้นสุดลงไป และดูเหมือนว่าประเทศสหรัฐอเมริกา จักรวรรดินิยมยุคใหม่ มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจยึดครองประเทศอิรักอย่างเบ็ดเสร็จ และเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนทัศน์หลักในสังคมที่ว่า การใช้กำลังทางทหารและการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกที่ถูกต้องและมีผลสัมฤทธิ์สูง
ขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ รัฐบาลอเมริกันกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลในอิรักซึ่งมีผู้นำที่รัฐบาลอเมริกันเห็นชอบ อันเป็นสิ่งที่สามารถทำนายได้ตั้งแต่ตอนที่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศจะบุกอิรัก เพราะนี่คือวิธีการในการยึดครองประเทศที่ประชาชนและรัฐบาลมีความอ่อนแอโดยการใช้กำลังทหารเข้าบุกขยี้และติดตามด้วยการตั้งรัฐบาลตัวแทน รัฐบาลอเมริกันมีความถนัดและได้ปฏิบัติมาโดยตลอด สันติภาพในปัจจุบันจึงยังเป็นได้เพียงในจินตนาการ ถ้าตราบใดที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจในประเทศซึ่งมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกายังขาดจิตสำนึกเรื่องสันติภาพอย่างแท้จริง
หากย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าขณะนั้นรัฐบาลอเมริกันและอังกฤษอยู่ในฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลที่ฝักใฝ่แนวคิดจักรวรรดินิยม แต่ใน พ.ศ. นี้ ผู้ที่เคยทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยกลับกลายมาเป็นผู้นำในการใช้อำนาจเผด็จการโดยการปฏิเสธมติสหประชาชาติ ฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและทำตัวเป็นอันธพาลบุกเข้าโจมตีประเทศที่อ่อนแอกว่าอย่างขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนั้นมีเหตุผลหลักมาจากผลประโยชน์อันมากมายมหาศาลในประเทศอิรักนั่นเอง
เมื่อเหตุการณ์ในโลกปัจจุบันล้วนเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง และดูเหมือนว่าความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ยิ่งต้องมีการพิจารณาถึงวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ยังยึดการแก้ปัญหาโดยการใช้ความรุนแรง และร่วมกันคิดว่าจะสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ดังกล่าวให้หันมาพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีได้อย่างไร
การพูดถึงปฏิบัติการสันติวิธี ในขณะที่โลกกำลังร้อนระอุด้วยไฟสงครามอาจฟังดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน สันติภาพที่มนุษย์ปรารถนาดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องในจินตนาการ แต่การมองโลกในแง่ดีเป็นคุณสมบัติประการสำคัญที่ผู้ใฝ่หาสันติภาพต้องมี โดยเฉพาะ ผู้ที่เชื่อมั่นว่า สันติภาพสามารถแสวงหามาได้ด้วยกระบวนการแบบสันติวิธี เพราะหากเราไม่มองโลกในแง่ดีแล้ว ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะทำให้เราเชื่อได้ว่า “ผู้มีอาวุธเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะ”
ปัจจุบันนี้อาจมีมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียวซึ่งหาหนทางใช้กำลังอำนาจของตนเองแสวงหาผลประโยชน์จากเพื่อนร่วมโลก โดยเฉพาะเพื่อนร่วมโลกที่อ่อนแอกว่า ผู้ใฝ่หาสันติภาพหลายคนอาจจะรู้สึกว่าแล้วเราจะต่อสู้กับมหาอำนาจเช่นนี้ได้อย่างไร ในเมื่อหันไปทางไหนก็ดูเหมือนจะมีเงาของชาติมหาอำนาจดังกล่าวครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ แต่หากผู้ที่ยึดมั่นในการสร้างสรรค์สันติภาพได้มองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า โลกของเราเคยมีมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาแล้วมากมาย แต่ในที่สุดด้วยกฎแห่งอนิจจัง อำนาจที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นก็บั่นทอนตัวเองจนต้องล่มสลายไปมีจักรวรรดิต่างๆ มากมายในอดีตที่ดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถต้านทานได้แต่ในที่สุด จักรวรรดิเหล่านั้นก็เหลือเพียงซากแห่งความเจริญในอดีต แม้แต่อิรักซึ่งเคยเป็นแหล่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีตก็กลายเป็นเพียงประเทศยากจนในปัจจุบัน
ดังนั้น คงถึงเวลาที่เราจะใช้สัจธรรมข้อนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้สามารถเห็นความจริงได้ทุกแง่มุมและช่วยกันรณรงค์ให้มีการต่อต้านอำนาจอันไร้ความชอบธรรมที่คุกคามความสงบสุขในด้านต่างๆ อยู่ทุกหัวระแหง คงถึงเวลาที่หญ้าแพรกจะรวมตัวให้สายใยที่ฝังลึกอยู่ใต้ผืนดินได้แทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ และช่วยกันทำให้ผืนดินมั่นคงสำหรับหมู่คนผู้รักสันติ และรวมตัวกันประกาศอุดมการณ์ในการต่อต้านอำนาจที่อยุติธรรมด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด ไม่ต้องลงทุนมากมาย เพียงแต่ใช้การมองโลกในแง่ดี ความอดทน และสติปัญญา การบั่นทอนอำนาจที่เหนือกว่าก็จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ที่ต้องการต่อสู้เพื่อสันติภาพ นอกเหนือจากการมองโลกในแง่ดีก็คือ ความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เราอาจพบว่าโลกปัจจุบันนี้มีวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมายที่ส่งผลให้เกิดการขาดสันติภาพของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านการเมืองอันเกิดจากอำนาจของรัฐบาลที่ฉ้อฉล ซึ่งส่งผลไปถึงความเดือดร้อนของผู้คนที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเหล่านั้น
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง วิกฤตด้านศีลธรรมที่นับวันความเจริญทางเทคโนโลยีจะมีลักษณะตรงข้ามกับความเจริญด้านจิตใจของมนุษย์ วิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ลัทธิวัตถุนิยมได้ครอบงำมนุษย์จนต้องทำทุกอย่างเพื่อการครอบครองวัตถุอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งการขาดสันติภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม ความสับสนวุ่นวายอันเกิดจากวิกฤตการณ์เหล่านี้ ก็ได้ทำให้มนุษย์จำนวนมากมายในปัจจุบันเริ่มมองเห็นถึงสาเหตุหรือต้นตอแห่งปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งได้พยายามแสวงหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว ขบวนสันติวิธีอันมีฐานความคิดอยู่ที่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ ภายใต้ความรัก การเสียสละ การแบ่งปัน ความปรารถนาดีต่อกัน น่าจะเป็นตัวเลือกที่มนุษย์ผู้ใฝ่หาสันติทั้งหลายจะได้นำมาพิจารณาเป็นทางออกให้กับการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ดังกล่าว
ที่มา : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ). “เสรีไทย : อุดมการณ์ที่ไม่ตาย”, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2546)