ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การพัฒนาที่ยั่งยืนกับความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา

6
พฤษภาคม
2565

บริบทของสังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของความขัดแย้งและการใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กลายมาเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถูกนำมาพูดถึงในเวทีสาธารณะทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) สมัชชาสหประชาชาติได้ร่วมกันกำหนด "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยประกอบไปด้วยเป้าหมายสำคัญ 17 ประการ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน และมีเจตจำนงที่จะให้เป้าหมายทั้ง 17 ประการ สามารถบรรลุได้ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

เมื่อพิจารณาเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วจะเห็นได้ว่า เป้าหมายโดยส่วนใหญ่นั้นมีการพูดถึงความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร โดยช่วยให้สมาชิกในสังคม (ประเทศ) สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้[1] เช่น เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดหรือที่ใดก็ตาม หรือ เป้าหมายที่ 2 การขจัดความอดอยาก โดยยุติความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหาร การปรับปรุงด้านการโภชนาการและส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรักษาความยุติธรรมในสังคม

ความยุติธรรมของคนในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

"การสร้างความยุติธรรมในสังคม" เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ในการจะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้นั้นความยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากสังคมไร้ซึ่งความยุติธรรมแล้วสังคมจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย[2] ซึ่งความยุติธรรมที่กล่าวถึงนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงความยุติธรรมในทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม แต่รวมถึงความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรด้วย ซึ่งการเข้าถึงทรัพยากรเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตได้แล้ว ก็จะนำไปสู่ข้อจำกัดในการใช้สิทธิอื่นๆ

ในอดีตภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม สิ่งแรกที่คณะราษฎรโดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ ได้ย้ำเตือนความสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้าการอภิวัฒน์[3]

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนา คือ การสร้างความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรระหว่างคนในสังคมอย่างทั่วถึงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม วิธีคิดดังกล่าวนั้นเป็นรากฐานสำคัญของยุคที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายๆ เรื่อง เช่น การสร้างระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน (รัฐสวัสดิการ) การชดเชยให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในนโยบายการพัฒนา การสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้พิการ หรือการยอมรับสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรหรือใช้สิทธิของตนได้อย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ดี การพิจารณาความยุติธรรมในลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องของ ความยุติธรรมในช่วงเวลาปัจจุบัน หรือ ความยุติธรรมของคนในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (intragenerational justice)[4]

อย่างไรก็ดี การพิจารณาเฉพาะความยุติธรรมในช่วงเวลาปัจจุบันนั้นอาจจะไม่เพียงพอกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

ความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา

แนวคิดเรื่อง "ความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา" ถูกพูดถึงในปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "ทรัพยากรธรรมชาติ" โดยแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา (intergenerational justice) นี้ หมายถึง การคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในช่วงเวลาปัจจุบันโดยตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในช่วงวัย (generation) ถัดไป

แนวคิด "ความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา" ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงหลังเพื่อนำเสนอแนวทางที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวนั้น หากไม่คำนึงถึงความยุติธรรมของคนในช่วงเวลาถัดไป และใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพจนเกิดผลกระทบต่อคนในช่วงเวลาถัดไปแล้ว การพัฒนาดังกล่าวย่อมไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดเรื่องความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลานั้น เป็นกรอบกว้างๆ และถูกนำมาใช้ในหลายประเด็นของสังคม เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ได้ลงนามในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตระหนักว่า ความพยายามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ[5] และกำหนดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะกระตุ้นให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น[6] 

ดังจะเห็นได้ว่า มาตรการที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนสำหรับคนในช่วงวัยถัดไป โดยสร้างเงื่อนไขให้คนในยุคปัจจุบันจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้[7] หรือ ในเรื่องของการคลังสาธารณะและการดำเนินนโยบายการคลังสาธารณะ ในแนวคิดเรื่องความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลาได้ขยายมาสู่เรื่องของการคลังสาธารณะและการดำเนินนโยบายการคลังสาธารณะ โดยในบางประเทศได้กำหนดให้ในการดำเนินนโยบายทางการคลังสาธารณะของรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในช่วงวัยถัดไป โดยจะต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อคนในช่วงวัยถัดไป[8] เป็นต้น

ลักษณะดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นว่า หลักการความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา เริ่มเข้ามามีบทบาทความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาสมัยใหม่

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย การดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ความยุติธรรมระหว่างช่วงเวลา เท่าที่ควร ดังจะเห็นได้ว่า จากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะกระทำโดยคำนึงถึงคนในช่วงวัยถัดไป

 

 

ขอเชิญเข้าร่วมงาน PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

 

 

พุธที่ 11 พฤษภาคม 2565
ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT 2) คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เวลา 10.00 - 12.00 น.

 

เนื่องด้วยวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เป็น “วันปรีดี พนมยงค์” เพื่อเป็นการรำลึกวาระ 122 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” โดยประเด็นการเสวนาครั้งนี้มีแนวคิดมาจาก Sustainable Development Goals เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ โดยผสานกับหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ คือ เศรษฐกิจการเมือง, สังคมวัฒนธรรม, เอกราชอธิปไตย และสันติภาพความเป็นกลาง ซึ่งในมิติทางสังคมนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ขาดออกจากกันไม่ได้

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย :

  • กล่าวเปิดงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
  • นำเสนอบทความรางวัลชนะเลิศรางวัล ‘ทุนปาล พนมยงค์’ ประจำปี 2565
  • นำเสนอบทความรางวัลรองชนะเลิศรางวัล ‘ทุนปาล พนมยงค์’ ประจำปี 2565
  • เสวนา หัวข้อ “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

ผู้ร่วมเสวนา :

  • ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)
  • นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
  • นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย
  • นายพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee

ผู้ดำเนินรายการ :

  • ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม :

กดสนใจหรือเข้าร่วมเพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้นได้ที่ :

รายละเอียดกิจกรรมและกำหนดการ :

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :

  • ชาคริต​ วิเศษสุภมิตร​  09-8326-9564
  • ณภัทร ปัญกาญจน์  06-5956-6648

หมายเหตุ :

กิจกรรมดำเนินการภายใต้การควบคุมโรคติดเชื้อ Covid 19

  • 1. จำกัดผู้เข้าร่วมและเว้นระยะห่างทุกที่นั่ง
  • 2. ขอความร่วมมือแนบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ในฟอร์มลงทะเบียน
  • 4. ขอความร่วมมือแสดงผลตรวจ ATK / RT-PCR (ผลลบ) ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม (สามารถแสดงเป็นรูปถ่ายได้)
  • 5. ขอความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัย ตลอดกิจกรรม

 

*กิจกรรมนี้มีถ่ายทอดสดทาง Facebook สถาบันปรีดี พนมยงค์ https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute

 

 

[1] SDG Move, ‘SDG 101’ (SDG Move) <https://www.sdgmove.com/sdg-101/> สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2565.

[2] โตมร ศุขศรี, ‘เมื่อ ‘ความยุติธรรม’ คือคุณธรรมแรกสุดของทุกสถาบันทางสังคม’ (The MATTER, 30 ตุลาคม 2563) <https://thematter.co/thinkers/theory-of-justice/127272> สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2565.

[3] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) <https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304> สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2565.

[4] InforMEA ‘intragenerational equity’ (InforMEA) <https://www.informea.org/en/terms/intragenerational-equity> accessed 28 April 2022.

[5] Paris Agreement Article 2 (1.) (a).

[6] Paris Agreement Article 4 (1.).

[7] James M. Nguyen, ‘Intergenerational Justice and the Paris Agreement’ (E-International Relations, 11 May 2020) <https://www.e-ir.info/2020/05/11/intergenerational-justice-and-the-paris-agreement/> accessed 28 April 2022.

[8] Charter of Budget Honesty Clause 1 and 20 – 21.