Q : เราจะเชื่อมโยงหรือขับเคลื่อนมิติสิ่งแวดล้อมในกรอบ SDGs กับประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้อย่างไร และ สังคมไทยมีโอกาสจะไปสู่สังคม net zero ได้หรือไม่ในสถานการณ์ที่ไม่มีประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ชล บุนนาค :
ประชาชาธิปไตยกับการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง net zero จริงๆ แล้วเวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อมผมคิดว่าคนทั่วไปอาจจะมองเป็นเรื่องเทคนิคระดับหนึ่ง เช่นว่าเราจะมีวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เราจะจัดการเรื่องน้ำอย่างไร เราจะจัดการกับการกัดเซาะชายฝั่งอย่างไร โดยมากจะมองในเรื่องเทคนิค
แต่จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเรื่องสังคมและเศรษฐิกจอย่างมาก การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านในชนบทสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างยิ่ง และตัวกฎกติกาที่กำหนดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นเป็นตัวที่จะชี้ขาดเลยว่าชีวิตเขาจะดีหรือไม่ดี
บางคนไม่มีเงินแต่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยตรงก็อยู่ได้ แต่ถ้าเข้าถึงไม่ได้เลยก็จะกลายเป็นคนจน ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องสังคม เป็นเรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องการปกครอง
ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เพราะในการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องการการมีส่วนร่วม ถ้าการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน จากท้องถิ่น เราไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมตรงนั้นได้
ในทางหนึ่งจะมีผลต่อชีวิตของคนเหล่านั้นอย่างยั่งยืนได้ และในอีกทางหนึ่งเราก็จะไม่ได้แนวร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมตรงนั้นให้ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ฉะนั้นจริงๆ แล้วประชาธิปไตยสัมพันธ์กับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอย่างยิ่ง ใน SDGs goalที่ 6 target 6.B goal ที่ 14 14.c และ goal 15 15.c จะมีการพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการขับเคลื่อนจากจัดการน้ำ การจัดการทะเล และการจัดการป่าอีกด้วย ฉะนั้น SDGs นำเรื่องชุมชนเข้ามาอยู่ในเป้าหมายของโลกอย่างชัดเจน
อีกคำถามหนึ่ง คือเรื่อง Net Zero ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยจะบรรลุได้ไหม บรรลุได้แต่ไม่เป็นธรรมเพราะว่าถ้าเป็นเผด็จการสั่งได้ เธอจงลงไปลดอย่างนั้น หรืออย่างนี้ แต่ถามว่าเป็นธรรมกับเขาไหม เขาพร้อมที่จะลดหรือเปล่า เมื่อลดแล้วมีใครได้รับผลกระทบบ้างประชาธิปไตยจะทำให้เราได้ยินเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบ และทำให้เราเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านให้เป็นธรรมมากขึ้น
Net Zero คือ การบรรลุเป้าหมายที่เราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบเศรษฐกิจโดยสุทธิ แปลว่ายังปล่อยได้แต่ว่าต้องดึงกลับเข้ามาในปริมาณเท่านั้นด้วย ฉะนั้นประเด็นคือประชาธิปไตยจึงจำเป็นต่อการที่ทำให้เราบรรลุ Net Zero อย่างเป็นธรรม แต่แน่นอนประชาธิปไตยก็จะมีการใช้เวลาที่ค่อนข้างมาก ฉะนั้นในแง่ของเวลาก็อาจจะเวลามากหน่อยต้องการการปรึกษาหารือเจรจาต่อรองเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นอย่างเป็นธรรมและมีส่วนร่วม
Q : เมื่อสักครู่มีการพูดถึงว่า SDGs เยอะไปในเชิงของ Future Vision SDGs อยากทราบว่าจะสามารถสำเร็จได้ภายในปี 2030 และถ้าไม่สำเร็จโลกมันจะไปอย่างไรต่อและในฐานะนักศึกษาเราสามารถทำอะไรได้บ้าง?
ศาสตราจารย์ ชล บุนนาค :
ผมขอตอบคำถามของผมแล้วก็แชร์บางส่วนกับคุณไหมด้วยนะครับ สำหรับคำถามแรก การประเมินล่าสุดของ UNESCAP[1] (United Nations ESCAP) เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเมินว่า SDGs น่าจะบรรลุภายในปี 2065 ถ้าไปในตามเคสตอนนี้คือนานเลย
ส่วนอีกอีกคำถาม คือ ปัจจุบันมี 248 ตัวชี้วัดของ SDGs สิ่งที่นักวิชาการด้านความยั่งยืนพยายามเสนอเพื่อลดปัญหาเรื่องหนึ่งก็คือเสนอคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Sustainability Transformation[2] ซึ่ง SDG Move จัดการประชุมสัมมนาที่เอา Jeffrey Sachs แล้วก็ Professor จากทางสวิตเซอร์แลนด์มาคุยเรื่องนี้ แทนที่เราจะมองเป็น Goal แยกกัน Indicator จะมองเป็น Theme มากกว่า ซึ่งจากข้อเสนอทั้งสองบทความก็พูดถึง 6 ธีมหลักซึ่งจัดการได้ง่ายกว่า 169 Targets ซึ่ง 6 ธีมก็จะเป็นเรื่องเกียวกับ Human Wellbeing หรือว่า Probability เศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ เรื่องของระบบอาหารที่ยั่งยืน เรื่องของเมือง เรื่องของพลังงาน และประเด็น เรื่องสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้น ตอนนี้ก็พยายามจะจัดการให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ในอนาคตทาง SDG Move อาจจะทำงานเพิ่มเติมเพื่อให้มี Index ที่จำแนกแต่ไม่เยอะเกินไปที่จะใช้งานกันได้ด้วยอีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะต่อเนื่องจากคำถามคุณไหม
SDGs มุมมองของผม SDGs กับ GDP ไม่ได้ขัดกันซะทีเดียวเพียงแต่ว่า GDP เป็นตัวเลขตัวเดียวที่ง่ายเกินไปและมีการเดินเรื่องตัวชี้วัด ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เวลานักการเมืองมีตัวชี้วัดแล้วจะต้องไล่จับตัวชี้วัด แต่ที่ผ่านมาด้านสังคมสิ่งแวดล้อมไม่มีตัวชี้วัดไง ฉะนั้น SDGs ก็เลยเสนอตัวชี้วัดทุกอันจะได้ไม่ต้องมาไล่จับกัน ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้น ประเด็นก็คือมันไม่ขัดกันแต่ว่าแค่ไม่สมบูรณ์ อันนี้ในมุมมองของผม
Q : การเลือกตั้งผู้ว่ากทม.มีแนวคิดไหนที่ไม่ควรละเลยในแง่ของความยั่งยืน
เอกชัย ไชยนุวัติ :
Sustainable Development Sustainability ของเมืองอีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ความยั่งยืนจะยั่งยืนจริงหรือไม่ จะสร้างให้ยั่งยืนต้องทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ยั่งยืน ไม่ใช่ทุกเรื่องยั่งยืนแต่หมดศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ใช่ความยั่งยืนอยู่ในเมืองนี้คนไม่เหลืออะไรแล้ว อาจารย์ชลย้ำมาตลอดซึ่งจริงๆ ตัวชี้วัด คือ “ความเป็นธรรม”
หากถามถึงความยั่งยืนผมตอบได้คำเดียวเลยว่า คนครับ คือ เมืองต้องเห็นคนผมเล่า ผมเคยไปวิ่งตอนหกโมงครึ่งกับอาจารย์ชัชชาติ วิ่งไปถึงชุมชนวัดสระเกศด้วยความที่แกก็วิ่งเร็วมาก วิ่งๆไปแกก็หยุด แล้วก็เรียกนักข่าวไปดู แล้วบอกว่า นี่เขาเรียกคนจนเมือง มีชุมชนที่อยู่ข้างๆ วัดสระเกศเข้าออกจากเมืองไม่ได้
นักศึกษารู้ไหม ท่านมีเงินสดหนึ่งล้าน ท่านซื้ออะไรไม่ได้เลยนะในกทม. ห้องเช่าตึกตึกแถวไม่มีทาง ท่านต้องออกไปโน่น นนทบุรี ไทรม้า ไทรโยค ไทรน้อยแล้วนั่งรถเข้าเมือง
อาจารย์พิชญ์เขียนหลายทีแล้ว คือ เมืองนี้ผลักคนออกไปนอกเมือง เมืองไม่เหลือคน ถ้าตอบคำถามนี้จะหาความยั่งยืนได้อย่างไร ก็คือต้องรวมคนที่ให้เขามีโอกาสได้อยู่ ได้ใช้ชีวิตมีความปลอดภัย
Q : ทำอย่างไรที่จะทำให้ภาคธุรกิจใหญ่รับผิดชอบต่อการสร้างมลพิษต่อโลกมากขึ้น ไม่เพียงแค่ให้แรงงาน และคนแนวหน้าแบกรับ
ศิริกัญญา ตันสกุล :
จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจ หรือ กลุ่มทุนใหญ่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ก็ต้องเรียกว่าต้องอาศัยพลังจากประชาชนใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ อาศัยพลังจากประชาชนในการเลือกผู้แทน หรือว่าเลือกรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ไม่แคร์กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน
ในหนังสือที่รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับ SDGs มีพูดเรื่องของการจัดการเรื่องมลพิษโดยการออกกฎหมายที่เรียกว่า PRTR[3] คือ การลงทะเบียนว่าแต่ละโรงงานมีการกักเก็บและปลดปล่อยมลพิษเท่าไหร่บ้างแล้ว ในหนังสือของสภาพัฒน์ฯ ก็บ่นว่ากฎหมายนี้ยังไม่ออกสักที ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าพรรคก้าวไกลเองก็ยื่นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวกับ PRTR ให้มีผลบังคับใช้ว่าต้องไปบังคับให้โรงงานจะต้องรายงานว่ามีการกักเก็บเท่าไหร่ ปลดปล่อยมลพิษเท่าไหร่เพื่อที่เมื่อไหร่ที่มันมีการรั่วออกสู่ธรรมชาติ เราจะได้จับมือ จับตัวได้ถูกว่าใครเป็นคนปล่อย
กรณีหมิงตี้ CR มติชน
ยกตัวอย่างในกรณีของหมิงตี้หากเรายังจำกันได้ เราแทบไม่รู้เลยว่าโรงงานที่อยู่ในเขตชุมชน อยู่ในเขตที่อยู่อาศัยของประชาชนมีการกักเก็บสารเคมีมากน้อยแค่ไหน แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อถึงมือนายกกลับโดนปัดตกแบบไม่มีชิ้นดี ไม่มีการบอกเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นว่าเพราะอะไรถึงไม่รับรองกฎหมายฉบับนี้ เราจึงจำเป็นที่ต้องอาศัยพลังของประชาชนที่จะต้องเลือกรัฐบาลที่แคร์คนส่วนใหญ่มากกว่าแคร์กลุ่มทุนพลังของประชาชน
กรณี 2 คือ เรื่องการมีบทบาทเข้ามาร่วมโครงการ ในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการที่จะร่วมตรวจสอบ เมื่อกลไกลทุกอย่างถูกกดขี่ เมื่อข้อมูลมีพร้อม เมื่อพวกเขาตระหนักถึงสิทธิของตัวเองก็สามารถจะผลักดันให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีโรงงานขยะที่อ่อนนุช ทุกคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะภาคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจริงๆแล้วในกลุ่มของประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและแข็งแรงมากในการที่จะร่วมการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการยุติ การจัดการขยะที่ไม่ดีพอ และการที่ปล่อยให้มีกองขยะอยู่ข้างนอกโรงงานที่เป็นโรงงานกำจัดและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วอาณาเขตประมาณ 5 กิโลเมตร
ด้วยพลังประชาชนที่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองและต้องการที่จะมาตรวจสอบเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองก็ทำให้สุดท้ายโรงงานขยะแห่งนี้โดนคำสั่งปิดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นหนึ่งในพลังของประชาชนที่จะต้องมาร่วมมือกัน
Q : เป้าหมายในการเพิ่ม GDP กับการทำเพื่อ SDGs มันคานกันอยู่หรือไม่ แล้วเราควรจะยึดหลักไหนในการพัฒนาประเทศแทนเป็น GNH[4] ไหมหรือว่าเป็นอย่างอื่นผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า GDP กับ SDGs มันคานกันอยู่ไหม?
ศิริกัญญา ตันสกุล :
จริงๆ แล้วมันเรียบง่ายมากกว่าการที่จะไปดูตัว Gross National Happiness (GNH) ก็คือดูรายได้ของประชาชน ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่ Common Sense ด้วยซ้ำไป รัฐบาลควรจะต้องดูแต่ไม่มีการเก็บรายได้ครัวเรือนเก็บทุกๆ สองปี เก็บทุกๆ ปีคู่ ปีคี่จะเก็บเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ดังนั้น เราแทบจะไม่รู้เลยว่ารายได้คนจริงๆ เงินในกระเป๋าของประชาชนจริงๆ เพิ่มขึ้นลดลงอย่างไร
อาจจะมีการเก็บค่าจ้างแรงงานที่เก็บถี่หน่อยทุกๆ ไตรมาส แต่ก็เก็บเฉพาะลูกจ้างที่มีเงินเดือน แรงงานนอกระบบไม่มีข้อมูล จริงๆ เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน ไม่ได้ต้องการให้ไปวัดความสุข ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าความสุขของไอติม ความสุขของพี่ไหมเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งมีความ Subjective มาก
เราต้องการตรงไปตรงมา แม้แต่รายได้เกษตรกรที่ทุกวันนี้เอาราคาคูณกับปริมาณ คือ ไม่ได้ไปสอบถามจริงๆ ว่า เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ เอาแค่นี้เอาค่าจ้าง รายได้แรงงานนอกระบบ รายได้เกษตรกร รวมกันว่ามันโตขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีรายงานทุกๆ สามเดือนว่าไปให้เราได้ติดตามความเป็นอยู่ที่ขั้นต่ำที่สุดรายได้ของประชาชนเป็นอย่างไร แทนที่จะพูดแต่ GDP เป็นความต้องการขั้นต่ำสุด
Q : การศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้บ้าง?
พริษฐ์ วัชรสินธุ :
ถ้าเราตีความคำว่า “ยั่งยืน” ผมคิดว่าในมิติของการสร้างระบบการศึกษาที่ยั่งยืน สิ่งที่เราหมายถึงก็คือ “ระบบการศึกษาที่มีพลวัต” คือไม่ใช่ว่าแก้วันนี้เสร็จแล้วไม่แก้อีกเลย แล้วปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมา แต่ทำอย่างไรให้เรามีระบบที่สามารถแก้ปัญหาได้เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเรารู้ว่าการศึกษาที่ดีคงไม่ใช่การศึกษาที่หยุดอยู่กับที่แต่ต้องมีวิวัฒนาการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของโลก
ผมคิดว่า 4 แนวทางหลัก ถ้าต้องการไปสู่ระบบการศึกษา
1. ผมคิดว่าต้องเริ่มต้นจาก การมีสัญญาระหว่างรัฐกับนักเรียนว่าเกิดมาเป็นพลเมืองในประเทศนี้ในฐานะนักเรียน คุณมีสิทธิที่จะเข้าถึงสิทธิสวัสดิการใดบ้าง เช่น เรียนฟรีต้องฟรีจริง สวัสดิการมื้ออาหาร เช้า กลางวันควรจะรับประกันหรือไม่ เราอาจจะมองว่า ถ้าต้องมีการเดินทางจากบ้านไปสู่โรงเรียนที่ไกลที่สุดที่ระยะทางนานเกินไปจะต้องมีการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางหรือไม่ มาถึงวันนี้เราอาจจะมองกว้างไปถึงสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
มีรัฐหนึ่งที่ประเทศอินเดีย ศาลตีความว่า ถ้าจะบอกว่ารัฐคุ้มครองสิทธิของคนในการเข้าถึงการศึกษา ตรงนี้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ ถ้าไม่คุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะว่าตอนนี้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งของสื่อการเรียนการสอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อย่างแรกผมว่าต้องมารับประกันกันก่อนว่าในฐานะนักเรียนคนหนึ่ง เกิดมาในประเทศนี้ คุณมีสิทธิในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอะไรบ้าง รวมถึงการคุ้มครองเรื่องความปลอดภัย สิทธิของนักเรียนไม่ถูกลงโทษเกินขอบเขต ไม่ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
2. ผมว่าเราต้องมา ปรับตัวหลักสูตร วิธีการสอน การประเมิน แล้วผมจะใช้คำว่า “การออกแบบอนาคตการศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาอนาคต” หมายความว่า ถ้าเราอยากจะออกแบบหลักสูตรการศึกษา เราต้องไปดูว่าอนาคต โลกต้องการคนที่มีทักษะแบบไหน แล้วออกแบบหลักสูตร วิธีการสอน การประเมินให้สอดคล้องกับตรงนั้น
เราบอกว่าโลกแห่งอนาคตต้องการคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ไม่ต้องการแล้วคนที่ต้องการท่องจำอะไรได้เยอะๆ เพราะว่าเสิร์ช Google ก็เข้าหาอะไรได้หมด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น เราบอกว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ คือ ทักษะที่สำคัญ ก็ต้องออกแบบหลักสูตรวิธีการสอนการประเมินให้สอดคล้องกับทักษะตรงนั้น ซึ่งผมใช้ 3 คำนี้เพราะว่าต้องไปด้วยกันทั้ง
เพราะถ้าเราปรับหลักสูตรให้มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น แต่วิธีการสอนยังคงเป็นการบรรยายแบบเดิม ก็จะเป็นการไม่สำเร็จผล ถ้าเราปรับหลักสูตร วิธีการสอน ให้เป็นการคิดวิเคราะห์แล้ว แต่เข้าห้องสอบกลับเจอคำถามที่ทดสอบแค่การท่องจำ ในที่สุดทุกอย่างมันก็ต้องวนกลับมาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็ต้องทำอย่างไรให้เราปรับหลักสูตรวิธีการสอน การประเมินควบคู่กันไป เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะที่อนาคตต้องการ
3. ผมคิดว่า เราควรจะนำบทบาทเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคุณครูให้มากขึ้น คือ หลายคนเวลาพูดถึงเทคโนโลยีทางด้านการศึกษาจะกังวลว่าเทคโนโลยีจะมาแทนครูรึเปล่า แต่สำหรับผม ผมมองว่าเทคโนโลยีสำหรับครูเหมือนกองหน้า กองหลังของทีมฟุตบอล ถึงอย่างไรเราก็ไม่อยากให้กองหลัง หรือว่าเทคโนโลยีมาทำหน้าที่แทนกองหน้าอยู่แล้ว เพราะทำได้ดีไม่เท่า แต่ทำอย่างไรให้กองหลังป้องกันประตูได้ดี เพื่อให้กองหน้าไม่ต้องมาวิ่งไล่บอลด้วยตัวเอง อยู่ข้างหน้าประตูยิงไป เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีเหมือนกองหลัง คุณครูเหมือนกองหน้า โจทย์คือทำอย่างไรให้คุณครูทำสิ่งที่เทคโนโลยีทำแทนได้น้อยลง
งานเอกสาร งานจัดตาราง การตรวจข้อสอบ อะไรที่เทคโนโลยีทำแทนได้ ทำไปให้หมด แบ่งเบาภาระครูให้หมด เพื่อให้คุณครูมีเวลาเต็มที่ในการทำสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทำแทนได้ อย่างเช่น การเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน การดูแลพัฒนาการของเด็ก การออกแบบกระบวนการเรียนรู้
4. การกระจายอำนาจ ผมคิดว่าท้ายสุดแล้ว เราไม่มีทางรู้ว่าการศึกษาที่สมบูรณ์แบบหน้าตาเป็นอย่างไร หรือจะดีกว่านั้น ถ้าเราสามารถให้แต่ละโรงเรียน หรือแต่ละพื้นที่สามารถบริหารจัดการการศึกษาของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เพื่อที่ว่าจะได้ดูว่าแต่ละวิธีที่ถูกนำไปใช้ อะไรที่ทำไปแล้วเวิร์ค อะไรที่ทำไปแล้วอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลเท่า
การกระจายอำนาจให้อยู่ใกล้ชิดกับโรงเรียนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจว่าจะใช้งบประมาณกับอะไรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกัน อำนาจในการคัดสรรบุคลากร พัฒนาบุคลากรตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียน หรือว่าอำนาจในการออกแบบหลักสูตรบางส่วนควรจะอยู่ที่โรงเรียน
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า 4 ข้อนี้เป็น 4 ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษามีความยั่งยืนมากขึ้น และผมทิ้งท้ายด้วยการบอกว่าเวลาพูดถึงเรื่องการศึกษาหลายคนจะบอกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะว่าเราทำตอนนี้ กว่าจะเห็นผลต้องบวกไปอีก 10 - 20 ปี กว่าเด็กเหล่านั้นจะโตขึ้นมา เพราะเป็นแบบนั้นมันเลยเร่งด่วนมาก เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ถึงแม้ทำตอนนี้ก็ไม่เห็นผลอีก จนกระทั่ง 10 - 20 ปี ถ้ายิ่งไม่ทำตอนนี้ยิ่งเห็นผลช้าเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้น “ผมจึงคิดว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญมาก เป็นปัญหาหนึ่งที่เร่งด่วนที่สุดของสังคมไทย และก็ของการพยายามนำพาประเทศไปสู่เป้าหมาย SDGs ครับ”
Q : การใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัดกำลังทำลายความเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่ แล้วมันกำลังดึงมนุษย์และประชาชนของเราออกจากแนวคิดของอาจารย์ปรีดีรึเปล่า ยกตัวอย่าง Social Enterprise หรือ CSR ของบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศ มีโครงการที่เอาเกษตรกรมารวมกันแล้วก็เพิ่มอัตราการจ้างงานให้เขา ภายใต้บริษัทพวกนี้ของตัวเองมันตอก GDP จริง เพิ่มอัตราการจ้างงาน ก็มีเหมือนกับว่าหยิบฉวยเอาอิสรภาพในการดำเนินชีวิตและความเป็นธรรมชาติในการครองชีวิตของมนุษย์ออกไปหรือไม่ เหมือนกับว่าสุดท้ายเขาก็ไม่ได้มีอิสระจริง เขาก็ไม่ได้ใช้ชีวิตของเขาเอง เขาแค่มีรายได้ภายใต้บริษัทเพิ่ม GDP เฉยๆ
พริษฐ์ วัชรสินธุ :
คลี่ประเด็นคำถามไปเลยแล้วกันนะครับ เพราะคิดว่าจะมีสองประเด็นย่อยอยู่ประเด็นแรก คือ เทคโนโลยี และ ประเด็นที่สอง คือ ประโยชน์ของโครงการ CSR เพราะมันคนละประเด็นกัน
CSR ผมว่าก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี และการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ย่อมไม่ดีเสมอ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่ CSR โครงการรัฐที่ให้สิทธิของชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น มีส่วนร่วมในการออกแบบ ก็มักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เสมอ แต่ถ้ามาเรื่องเทคโนโลยี ที่ผมไล่มือถือเพราะพยายามจะหาบทความของอาจารย์ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดีน่าจะพูดถึงการนำวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเทคโนโลยี ถ้าเรามองมันก็คือผลพลอยได้จากวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้
ผมคิดว่าเทคโนโลยีไม่ได้ดีในตัวมันเอง เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราอาจจะแก้ปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ได้มาก่อน หรือว่าแก้ในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือที่คนประสงค์ไม่ดี หรือว่าสามารถถูกนำไปใช้สร้างอะไรที่ไม่ดีได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นอะไรที่ดี หรือไม่ดีในตัวมันเอง แต่มันก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้ แต่ถ้าจะทำให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ดีจริงๆ ผมว่าปัญหาหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี
ในช่วงโควิด 19 เราเห็นชัดมากว่าสิ่งที่เรียกว่า Digital Divide หรือว่าความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตของคนที่เข้าถึงโลกออนไลน์กับเข้าไม่ถึง มันห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเราไม่รีบแก้ประเด็นนี้ แทนที่เทคโนโลยีจะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มันกลับจะมาเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หรือจินตนาการสมมติว่า เด็กทุกคนเข้าถึงมือถือสมาร์ทโฟนหมด เข้าถึงแพลตฟอร์มหมด เทคโนโลยีจะดีมาก ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่าครูจะอยู่ที่ไหนเด็กทุกคนเข้าถึงครูคนเดียวกันหมด
แต่ถ้าสมมติว่า 70% ของนักเรียนเข้าถึงมือถือสมาร์ทโฟน แต่อีก 30% เข้าไม่ถึง การมีเทคโนโลยีหรือการสอนออนไลน์ อาจจะดีในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็ก 70 คนนั้น แต่จะทำให้คุณภาพของการศึกษาที่เด็ก 70 คนนั้นเข้าถึงกับอีก 30 คนเข้าถึงห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
มันก็เลยเป็นเหตุผลที่กลับมาคำถาม คำตอบของคำถามที่แล้ว คือ ผมคิดว่าที่จำเป็นอย่างมาก คือ การรับประกันสิทธิของเด็กในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่ง ณ ปัจจุบันอาจจะมองว่าคืออินเทอร์เน็ต แต่ว่าในอนาคตก็อาจจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราควรจะมองว่าเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนแล้ว ไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ที่แค่บางคนเข้าถึง
ที่มา : PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 "มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์" เนื่องในวาระ 122 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ จัดขึ้น ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
[1] คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (อังกฤษ: Economic And Social Commission For Asia And The Pacific) หรือ แอสแคป (ESCAP) เป็นหนึ่งในห้าคณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อแรกก่อตั้ง เรียกว่า คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (Economic Commission For Asia And The Far East, ECAFE) ภารกิจ คือ การให้ความช่วยเหลือเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
[3] กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ
[4] "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ GNH นับเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมที่สมดุล โดยตั้งอยู่บนความตระหนักที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์แสวงหาความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหลักการของ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" จึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการอันสูงสุดนี้ของพลเมืองทุกคน โดยภูฏานเป็นผู้ประกาศทฤษฎีและดำเนินนโยบายเป็นแบบอย่างแก่โลกในปัจจุบัน