ท่ามกลางสงครามเย็นในสมัยที่โลกได้แบ่งออกเป็นฝ่ายทุนนิยมฝ่ายหนึ่งและฝ่ายคอมมิวนิสต์อีกฝ่ายหนึ่ง ชื่อเสียงของ ‘ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์’ ไม่ค่อยจะดีนัก บ้างก็ว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ บ้างก็ว่าท่านมีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคต ยิ่งกว่านั้น การที่ท่านพำนักอยู่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งคนจากเมืองไทยโดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่า “จีนแดง” ทำให้ภาพลักษณ์ของท่านอาจารย์ปรีดีเปรียบเสมือนเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ที่ไม่มีใครเขาอยากคบค้าสมาคมด้วย
“คุณพ่อผมเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์และคุณงามความดีของท่านเสมอ” โดยได้เคยทำงานเป็นลูกน้อง คุณปู่หลวงอรรถกิตติ กำจร (นายกรึง พนมยงค์) น้องชายของคุณปู่ปรีดี ทั้งที่สถานทูตไทยที่สวิตเซอร์แลนด์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และที่สถานทูตไทยที่สวีเดนเกี่ยวกับงานเสรีไทยในระยะต่อมา
ผมได้ไปเยี่ยมคารวะคุณปู่ปรีดีตั้งวันแรกๆ ที่ท่านเดินทางถึงปารีส ซึ่งตอนนั้นพักกันชั่วคราวในบ้านหลังกระติ๊ดเดียวในย่านนักศึกษา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ตำบลอองโตนีที่ชานกรุงปารีส
บ้านเดี่ยวหลังนี้แม้ใหญ่กว่าเดิม แต่ก็อยู่กันอย่างค่อนข้างแออัด แต่ไม่อึดอัดทางความคิด มีสวนหย่อมเล็กๆ หลังบ้าน เป็นสถานที่ที่คุณปู่ปรีดีและคุณย่าพูนศุขมักใช้สำหรับการต้อนรับแขกในยามที่อากาศดีมีแดด สวนนั้นเคยเป็นสถานที่ให้บรรดานักการทูตของราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รู้กัน โดยการพบปะครั้งกระนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการที่จะนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนในระยะต่อมา
“คุณปู่ย่อมมีความยินดีที่จะอุทิศเวลาให้แก่ชาติและราษฎรโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใดเสมอ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคุณปู่จะทำงานเพื่อชาติในเรื่องใดก็ตาม ท่านจะให้ความสำคัญกับการรักษาความลับเป็นสำคัญ”
คุณปู่เป็นคนที่ทำงานโดยตลอดทุกวัน โดยจะนั่งเขียนหนังสือและพิมพ์ดีดด้วยวิธีใช้นิ้วค่อยๆ จิ้มทีละตัวสองตัว บนโต๊ะอาหารที่ดัดแปลงเป็นที่ทำงานในแต่ละวัน ในขณะที่ภรรยาผมช่วยพิมพ์งานที่เป็นภาษาฝรั่งเศส ผมก็จะนั่งติดๆ กับท่าน คอยดูท่านทำงานทุกๆ เดือนโดยประมาณ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ในยามที่ผมไม่มีธุระที่มหาวิทยาลัย บางครั้งผมจะช่วยท่านในการตรวจปรู๊ฟ ตรวจทานและแปลข้อความสั้นๆ บางครั้งท่านก็จะวานให้ผมไปซื้อกระดาษและอุปกรณ์เครื่องเขียนที่ปารีส
คุณปู่จะพูดช้าๆ เสียงค่อนข้างเบา แต่ชัดเจนและหนักแน่น เรื่องแต่ละเรื่องจะมีสาระ นานๆ ทีถึงจะมีเรื่องตลกแทรกอยู่นิดๆ เช่น เมื่อพูดถึงพวกสวะสังคมที่ประกอบด้วยผู้ที่ไร้อุดมการณ์ซึ่งรวมถึงนักบิดปากกาด้วยนั้นที่ท่านเรียกว่า “ลุมเพ่น” (ย่อมาจาก Lupenproletariat) ท่านก็จะอมยิ้มด้วยอารมณ์ขำคล้ายกับว่าหัวเราะนิดๆ
ท่านจะสูบบุหรี่เป็นครั้งคราว และตลอด 5 ปีที่อยู่กับท่าน ท่านไม่เคยแสดงอารมณ์โมโหเสียเลย ท่านมีลักษณะเป็นสุภาพบุรุษตลอดเวลา ให้เกียรติแก่คู่สนทนาเสมอ ไม่เคยใช้คำหยาบหรือพูดจาในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่น แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นปรปักษ์ในทางการเมืองก็ตาม
ท่านเข้าใจกิเลสตัณหาของปุถุชนโดยจะมองอาการต่างๆ ของปัญหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ คือ ระบบสังคมมนุษย์ ที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งมีการเกิด การเจริญเติบโต การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและการดับสลาย เป็นเรื่องปกติธรรมดา
คุณปู่ปรีดีและคุณย่าพูนศุข เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด การใช้ชีวิตที่บ้านอองโตนีจึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยท่านทั้งสองพร้อมจะให้อภัยคนอื่นอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงที่บางครั้งอาจนำไปสู่การนองเลือด ผู้ที่มีอภิสิทธิ์หรืออำนาจควรเสียสละ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณปู่เคยสอนผม หากมีสิ่งใดที่ท่านรังเกียจ นั่นก็คือลัทธินาซีและนักเผด็จการที่เห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะโดยการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือโดยการกดขี่เบียดเบียนราษฎรตาดำๆ จึงได้มุ่งสร้างชาติด้วยระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่ราษฎรเป็นเจ้าของประเทศ โดยคนทุกคนมีความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง
การสร้างระบอบประชาธิปไตยไม่ทันจะเกาะตัวได้แน่น ความคิดเก่าๆ ที่ตกค้างอยู่จึงได้วกกลับมา ท่านได้เล่าให้ผมฟังถึงคุณพ่อผมซึ่งถูกกดหัวไม่ให้เจริญในทางราชการทั้งๆ ที่ทำงานดีและทำงานหนัก และเมื่อได้ข่าวว่าภรรยาผมได้ร่วมประท้วงกับเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสเรื่องการขอขึ้นเงินเดือน ท่านก็ดีใจด้วยเพราะได้มีการเรียกร้องตามสิทธิ ไม่ชอบให้นายทุนเอาเปรียบ
ด้วยความจำเป็น ผมต้องทำงานในระหว่างการเรียนไปด้วย โดยเป็นลูกจ้างท้องถิ่นของสถานทูตไทยที่กรุงบอนน์ (เมืองหลวงเยอรมนีตะวันตกในขณะนั้น) ในตำแหน่งนักการภารโรงซึ่งมีขั้นเงินเดือนต่ำสุด รายละเอียดของงานประกอบด้วยการแปลเสียส่วนใหญ่ เมื่อทราบว่าผมได้คิดค่าแปลเอกสาร แม้งานแปลดังกล่าวจะเป็นงานนอกเหนือจากงานสถานทูตก็ตาม ท่านก็ไม่ค่อยจะพอใจผมในเรื่องนั้นนัก ต้องการที่จะเห็นผมอุทิศตัวเองให้แก่สังคมมากกว่าที่เป็นอยู่
ผมยอมรับว่าเรื่องราวต่างๆ สมัยที่ผมอยู่กับคุณปู่ปรีดี มีหลายเรื่องที่ผมลืมไปหรือไม่เคยเข้าใจตั้งแต่ต้นเพราะขาดพื้นฐาน เนื่องจากไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทยมาก่อน การเรียนของผมอยู่ในเกณฑ์ธรรมดา ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตกก็เคยมี แต่เรื่องเผด็จการฟาสซิสต์ทุกรูปแบบ เป็นเรื่องที่ผมจำได้ดี จนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านรังเกียจ และก็เป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมจีนถึงต้อนรับและดูแลท่านเป็นอย่างดีเพราะต่างก็เคยได้ต่อต้านการรุกรานจากฝ่ายญี่ปุ่นในสมัยสงครามด้วยกันมาก่อน
ต่อมาเมื่อจีนได้ประสบความสำเร็จในการทดลองการทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 โจว เอินไหล ได้ส่งโทรเลขถึงท่านอาจารย์ปรีดีความว่า “ไม่ว่าในกรณีใดๆ จีนจะไม่เป็นประเทศแรกที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นอันขาด”
อย่างไรก็ดี ด้วยประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมท่านอาจารย์ปรีดีจึงอยู่ในฐานะที่จะอธิบายแนวความคิดทางการเมืองในสมัยสงครามเย็นแก่นักศึกษาและผู้สนใจในเรื่องลัทธิเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเป็นอย่างดี เมื่อทูตเวียดนามประจำฝรั่งเศสได้จัดงานเลี้ยงรับรองฉลองวันที่ได้เป็นเอกราชสมบูรณ์ในวันที่สามารถชนะสงครามเหนือสหรัฐอเมริกาได้ คุณปู่ตลอดทั้งครอบครัวได้พาผมติดตามไปงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย ทำให้ผมเข้าใจสถานการณ์รอบโลกได้ดียิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก
มีอยู่วันหนึ่ง คุณปู่ปรีดีได้หยิบรูปภาพที่ตั้งอยู่บนชั้นเหนือเตาผิงในห้องรับแขกให้ผมดู ภาพนั้นเป็นภาพถ่ายที่มี Lord Louis Mountbatten ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างท่านกับคุณย่าหน้าประตูอาคารแห่งหนึ่ง คุณปู่ถามผมว่า ผมทราบหรือไม่ว่า Mountbatten เป็นพระปิตุลา (ลุง) ของ Prince Philip ถ้าราชวงศ์อังกฤษไม่เชื่อในความบริสุทธิ์ของปู่ คงไม่เชิญปู่และย่าไปพักที่คฤหาสน์ที่อังกฤษของท่านอย่างแน่นอน
คุณปู่และคุณย่าเป็นคนที่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ท่านทั้งสองก็จะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยจิตใจที่มีความเมตตาเสมอ เมื่อภรรยาผมป่วยหนักและต้องผ่าตัดใหญ่ โอกาสที่จะรอดเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หมอบอกภายหลัง ช่วงพักฟื้น คุณปู่คุณย่าไม่ต้องการให้แอ๊วอยู่ตามลำพัง จึงให้มาอาศัยอยู่ที่บ้านอองโตนีเป็นเวลาแรมเดือนทั้งๆ บริเวณในบ้านมีพื้นที่จำกัด
ในช่วงที่ผมไม่จำเป็นต้องอยู่ที่บอนน์ต่อไปยกเว้นเวลาต้องไปสอบ ผมได้ย้ายมาอยู่ที่ปารีสและใช้ห้องสมุดที่ฝรั่งเศสแทน เมื่อพร้อมที่จะแต่งงาน ผมและแอ๊วจึงจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตไทยที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2516 วันรุ่งขึ้น คุณปู่คุณย่าได้เป็นเจ้าภาพงานพิธีสมรสให้ที่บ้านอองโตนี แขกที่ได้รับเชิญมีจำนวนไม่มาก เดิมทีเดียวได้จัดโต๊ะเล็กๆ เรียงๆ กันอย่างสวยงามในสวน เพราะเห็นว่าอากาศดีมาโดยตลอด
พอถึงบ่ายสายๆ ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 อากาศเกิดเย็นลงมากอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องเชิญท่านทูตและข้าราชการสถานทูตไปที่ห้องรับแขก ส่วนเพื่อน ๆ ทั้งไทยและฝรั่งเศสต้องหลบเข้าไปอยู่ใต้ถุนแทน มีการเอาผ้าปูที่นอนและผ้าอะไรก็ได้ที่สามารถหาได้ในขณะนั้นปิดคลุมกองหนังสือและหนังสือพิมพ์ตลอดจนสามภาระเบ็ดเตล็ด แม้ภาพจะไม่มีความสวยงามแม้แต่นิด แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างความร่าเริง ส่วนข้างบนในห้องรับแขกผู้ใหญ่จะฟังวิทยุและดูข่าวทางโทรศัพท์เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อที่จะขับไล่เผด็จการ รุ่งขึ้น วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นวันสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย
หลายคนจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าท่านเป็นนักภาษาศาสตร์ด้วย เป็นต้นว่า การถ่ายทอดแนวความคิดต่างประเทศเป็นภาษาไทยท่านได้ทำดีโดยใช้รากภาษาบาลีและสันสกฤตมาบัญญัติเป็นคำใหม่ เช่น คำว่า “materialism” ท่านแปลว่า “สสารธรรม” แทน “วัตถุนิยม” โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้ “นิยม” มาประกอบด้วย เพราะไม่ได้เกี่ยวกับความนิยมชมชอบ
ดังนั้น คำว่า “ทุนนิยม” อาจใช้คำว่า “ธนานุภาพ” มาแทนได้ สำหรับคำว่า “จักรวรรดินิยม” ถ้าใช้ “บรมธนานุภาพ” หรืออะไรทำนองนั้นน่าจะเข้าใจง่ายกว่า
ทั้งนี้ ในการแสวงหาความรู้และความจริงนั้น คุณปู่ปรีดีเน้นว่า จะต้องมีจิตใจที่เป็นวิทยาศาสตร์และจิตใจเป็นธรรม เป็นพื้นฐานในการคิดเพื่อที่จะได้มองโลกในเชิงภาววิสัย ไม่ใช่อัตวิสัย ซึ่งการมองโลกในเชิงภาววิสัยนั้นเป็นการมองโลกโดยปราศจากอคติ ไม่เอาอารมณ์ของตนเองมาปะปนหรือมาปรุงแต่ง
ดังนั้น เวลาวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองในเชิงภาววิสัยสำหรับท่านนั้น ความถูกต้องของข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะต้องเป็นหลัก หากมองย้อนหลัง ยิ่งไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ความจริงนั้นมีอยู่หนึ่งเดียว ดังนั้น หลักฐานชั้นต้นจึงมีความสำคัญที่สุดที่คุณปู่ปรีดีได้ยึดเป็นหลักตลอดมา
ท่านจะไม่ให้เรียนจากคำขวัญ หรือจากเรื่องที่เขาว่ากัน หรือเชื่อเรื่องราวต่างๆ เพราะได้ยินมาเช่นนั้น เมื่อถูกนักศึกษาถาม ท่านมักจะไม่ตอบโดยตรง แต่กลับไปให้ผู้ถามกลับไปคิดต่อ พร้อมกับฝากนักศึกษาไว้ด้วยว่าเมื่อกลับเมืองไทยไปแล้ว “ระวังอย่าให้สังคมกลืนนะคุณ”