เมื่อปี พ.ศ. 2513 คือตรงกับ ค.ศ. 1970 เป็นปีที่จำได้ง่าย เพราะเป็นปีที่อาจารย์ปรีดี อายุครบ 70 ปี พอดี ในปีนั้นท่านย้ายจากจีนแผ่นดินใหญ่ลี้ภัยมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ผมจึงได้มีโอกาสไปกราบ ไปแสดงความคารวะต่อท่านด้วยตนเอง ตั้งแต่วันแรกๆ เลยที่ท่านมาถึง ตอนนั้นท่านยังพำนักอยู่ที่บ้านเล็กๆ ในกรุงปารีส เป็นบ้านเล็กมากทีเดียว และหนังสือต่างๆ ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตร ได้มีถึงท่านก็ยังส่งไปที่บ้านเล็กแห่งนั้นที่ท่านพำนักอยู่ เรื่องนี้ผมยังจำได้ดี
ต่อมาภ่ายหลังท่านอาจารย์ปรีดี ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านอองโตนี ที่ชานเมือง ทางใต้ของกรุงปารีส นั่งรถบัสก็ดี หรือ ขบวนรถไฟก็ดี สามารถเดินทางไปที่นั่นได้สะดวกมากทีเดียว ไม่กี่นาทีก็ถึง แต่บ้านหลังนั้นก็ไม่ใหญ่นัก บ้านหลังนั้นจะมีรูปถ่ายท่านอาจารย์ปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งตรงกลางเป็นภาพของชายอังกฤษท่านหนึ่ง ท่านเป็นเจ้าชายด้วยซ้ำไป ชื่อ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน (Louis Mountbatten)
‘เมาท์แบตเตน’ (Mountbatten) เป็นนามสกุลมาจาก ‘แบตตันแบก’ (Battenberg) : ซึ่งแปลงเป็นภาษาอังกฤษ
ที่เอ่ยถึงพระนามด้วยเหตุเพราะว่า เมาท์แบตเตนเป็นบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษ ท่านเป็นลุงของเจ้าชายฟิลลิป ซึ่งใกล้ชิดกับควีนอลิซาเบทมาก
ในปีนั้น เป็นปีซึ่งท่านอาจารย์ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข ได้รับเชิญเป็นแขกของรัฐบาลอังกฤษ และก็ท่านอาจารย์ปรีดีก็ได้พักที่คฤหาสน์ของเจ้าชายเมาท์แบตเตน ทีนี้การที่เอ่ยว่า การที่พูดถึงลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตนในฐานะที่เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ มีความสำคัญตรงที่ว่า ถ้าราชวงศ์อังกฤษเชื่อว่าท่านอาจารย์ปรีดีมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไปพัวพันกับคดีสวรรคตนั้น ก็คงไม่เชิญไปในวันนั้น
ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พูดถึงอาจารย์ปรีดีในทางวิเศษจริงๆ บอกว่าเป็นบุคคลซึ่งไม่เคยทอดทิ้งฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงคราม
กลับมาที่เรื่องราวระหว่างผมกับอาจารย์ปรีดี ในช่วงที่ได้ทำงานใกล้ชิดท่านนั้น ท่านจะพูดถึงเรื่องการรักษาความลับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียว ใครก็ตามถึงแม้จะเป็นคนใกล้ชิด อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ท่านก็ยังรักษาความลับของท่านไว้ตลอด นี่คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เรื่องราวของปฏิบัติการลับอย่างขบวนการเสรีไทย เป็นเรื่องราวแห่งความลับจนแทบไม่มีใครพูดถึง เพราะนั่นไม่ใช่แค่สัจจะวาจา แต่เป็นเรื่องของชีวิตคนไทยทั้งประเทศ
ผมเองก็มีโอกาสที่ได้ใกล้ชิดกับท่าน ใกล้ชิดในที่นี้ คือ ไม่ใช่ว่าไปพบท่านอย่างเดียว ผมก็ได้มีโอกาสนั่งร่วมโต๊ะทำงานกับท่าน และก็ส่วนใหญ่ผมมักจะทำหน้าที่เปิดพจนานุกรมให้บ้าง หรือว่าดูตัวสะกด คือตรวจปรู๊ฟงานบ้าง ส่วนภรรยาผมมีหน้าที่พิมพ์ข้อความต่างๆ ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสให้กับท่าน ผมอยู่กับท่านเป็นเวลาถึง 5 ปี ไปพบท่านโดยเฉลี่ยแล้วก็ทุกๆ เดือน
ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยทราบเลยว่าใครเป็นใครในเสรีไทย หลายๆ อย่างผมมาทราบทีหลัง เรื่องๆ หนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง “คุณจำกัด พลางกูร” ซึ่งเป็นคนที่ท่านเลือกให้ไปติดต่อกับจีน และก็ไปติดต่อกับเสรีไทยของเราเอง คือเสรีไทยที่สหรัฐฯ และอังกฤษ นายจำกัดเป็นคนที่เก่งมากๆ อายุสัก 28 สามารถสื่อสารกับคนระดับจอมพลเจียง ไค เช็กได้
‘เจียง ไค เช็ก’ ในตอนนั้น นอกจากต่อต้านกับญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังต่อสู้กับ ‘เหมา เจ๋อ ตุง’ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น สำหรับผมเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยว่านายจำกัดสามารถเข้าพบกับเจียง ไค เช็กถึง 25 นาที ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนนั้น “ยอมรับสถานะของเสรีไทย” แล้ว
หลังจากคุณจำกัดได้เข้าพบจึงเกิดการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญมาก มี Code name ชื่อรหัสว่า “เซกทัน” (Sextant) จัดขึ้นที่ไคโร (Cairo) ตอนนั้นอียิปต์ยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีผู้นำจาก 3 ประเทศซึ่งได้เข้าประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มีผู้นำคือ ‘แฟรงกลิน รูสเวลต์’ (Franklin Roosevelt) แห่งสหรัฐฯ และ ‘วินสตัน เชอร์ชิล’ (Winston Churchill) ของอังกฤษ
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่า เจียง ไค เช็ก ได้เข้าร่วมประชุมนี้ด้วย ซึ่งมีความสำคัญตรงที่ว่า การที่ผู้นำจีนได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวนั้น หมายความว่า อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาฝ่ายพันธมิตรยอมรับสถานะของจีนนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จีนจึงได้กลายเป็นมหาอำนาจ
หากเราต้องมองโลกในแง่ของคนอังกฤษ เราจะเข้าใจว่าอังกฤษตอนนั้นคุมประเทศต่างๆ หรือคุมอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก เพราะฉะนั้นเขายอมรับสถานะของจีน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ และด้วยเหตุนี้เอง ต่อมาภายหลัง จีนก็ได้กลายเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ
เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรรับทราบถึงสถานะของเสรีไทย การประชุมที่ไคโร ได้มีแถลงการณ์ออกมาเป็น Communiqué แถลงการดังกล่าวนั้นได้พูดถึงผลของการประชุม มีใจความว่า ให้ญี่ปุ่นถอนตัวออกจากบรรดาอาณาเขตทั้งหลาย รวมถึง ฟอร์โมซ่า (Formosa) คือไต้หวันด้วย เขาใช้คำว่าที่ขโมยมาด้วยซ้ำไป ไม่ได้ใช้ศัพท์ทางวิชาการอะไร ใช้คำว่าที่ญี่ปุ่นได้ขโมยมา
ช่วงนั้นญี่ปุ่นก็เริ่มแพ้ และในที่ประชุมนั้นมีการพูดถึงอนาคตของเกาหลีว่าให้เกาหลีเป็นประเทศที่มีเอกราช ท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาด้วยอารมณ์ที่ปกติ ท่านอาจจะมีความภูมิใจลึกๆ แต่ว่าท่านเป็นคนที่ไม่โอ้อวด จะบอกว่าสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนไทยที่เราจะต้องเรียนรู้กันนั้น คือเราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้น
การที่ไทยเราได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 มีทำให้เราไม่ได้เป็นประเทศที่แพ้สงคราม เพราะถ้าเราเป็นประเทศที่แพ้สงครามนั้น เราก็ไม่ทราบว่าอนาคตของไทยเราตอนนั้นจะเป็นอย่างไร อย่างในกรณีของเยอรมัน นอกจากจะถูกยึดครองแล้ว ก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่จริงก็ยังมีส่วนเล็กส่วนน้อยอีก ดินแดนที่เยอรมันเสียไปก็เยอะมากทีเดียว แล้วยังต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม “ค่าปฏิกรรมสงคราม” หมายความว่าคือค่าเสียหายนั้นเองนะครับ ไทยเป็นประเทศที่ไม่รวยอยู่แล้ว ก็จะลำบาก เพราะเห็นว่าในระหว่างสงครามนั้นคนไทยก็อดอยากกันเยอะแยะมากมาย แล้วก็นอกจากนั้น เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เขาจะทำอะไรกันกับประเทศเรา แต่เราก็คงอาจเป็นประเทศที่ถูกยึดครองได้ เขาคงจะมาปลดอาวุธเราด้วยซ้ำไป
เราไม่อาจทราบได้ว่าผลของการยึดครองนั้น มันจะเป็นอย่างไร และไทยเราไม่เหมือนญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีความเจริญกว่าไทยเยอะ เยอรมันสามารถสร้างชาติภายใน 10 ปีได้ เราจะเห็นว่าการศึกษาของคนเยอรมันนั้นสูงมากทีเดียว รางวัลโนเบลทั้งหลายในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่ตกเป็นของเยอรมัน กรณีของญี่ปุ่นนั้นก็จำเป็นต้องให้ต่างชาติมาร่างรัฐธรรมนูญให้ แต่ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่งก็คือว่ารัฐธรรมนูญที่ฝ่ายอเมริกันยกร่างให้กับญี่ปุ่นนั้น ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่าญี่ปุ่นก็ถูกลงโทษให้จะมีกองทัพไม่ได้ มีได้เฉพาะกองกำลังป้องกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญในสมัยนั้นเนี่ยไม่ใช่อยู่ที่ท่านอาจารย์ปรีดีคนเดียว หลายคนได้เสียสละ เสียสละทั้งเงินทอง และที่สำคัญก็คือชีวิตด้วยซ้ำไป เราไม่อาจทราบจำนวนได้ ว่าเป็นจำนวนกี่คนต่อกี่คนที่ถูกทหารญี่ปุ่นคร่าชีวิตไป แต่บุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน ต่างควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้า ที่ยอมสละชีพเพื่อให้ได้คืนซึ่งเอกราช อธิปไตยของชาติ ในเวลานั้น
ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราช” เสวนาเรื่อง ขบวนการเสรีไทยกับปรีดี พนมยงค์ โดย ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน