ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์ 

19
พฤษภาคม
2565

 

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติได้เสนอและประเทศสมาชิกทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้รับรองในปี 2015 โดยเป้าหมายชุดนี้มีอายุ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2016 - 2030 ตอนนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 8 ปีเท่านั้น

 

 

SDGs มีความสำคัญอย่างไร ในฐานะคนธรรมดาอย่างเราทำไมจึงต้องรู้ 

SDGs ไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ประเทศจะต้องไปเล่าให้ UN ฟังว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่คือบรรทัดฐานการพัฒนาของโลก แปลว่าเป็นคอนเซ็ปต์และเป็นเป้าหมายที่บอกว่าการพัฒนาของประเทศไหนถือว่าดี การพัฒนาของประเทศไหนถือว่าไม่ดี ยิ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปรับเอา SDGs มาอยู่ในประเทศไทยแล้ว รับมาทำแล้ว นั่นหมายถึงรัฐบาลไทยก็ได้เรียกว่า Subscribe หรือว่าสมัครใจในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายชุดนี้ 

ฉะนั้นแปลว่ารัฐบาลไทยเองก็อยู่ภายใต้บรรทัดฐานของการพัฒนาชุดนี้ด้วย โจทย์ก็คือว่า ถ้าส่วนต่างๆ จัดใช้ SDGs ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนามาผลักดันวาระการพัฒนาของตนเองอย่างไร และวาระการพัฒนาประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็คงเป็นวาระหนึ่งที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ก็ต้องการจะผลักดัน 

ทีนี้ ความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs กับประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทางน้องที่ได้รางวัลที่หนึ่งก็พูดไปอย่างครอบคลุมมากทีเดียว ก็อยากจะขออนุญาตทบทวนอีกสักครั้งหนึ่ง ในส่วนที่เป็นประชาธิปไตยทางการเมือง

 

SDGs เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

ที่มาภาพ : SDG MOVE

 

ต้องบอกว่า เป้าหมายที่ 16 เรื่องสันติภาพ ความเป็นธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง มีเป้าหมายย่อยหลายตัวมากที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องของประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็คือมีส่วนที่พูดถึงนิติธรรมและธรรมภิบาล พูดถึงการกระทำคอร์รัปชัน พูดถึงการเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับ และพูดถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน 

เรื่องที่น่าสนใจก็คือใน SDGs ไม่มีคำว่าประชาธิปไตยอยู่เลย ในระดับเป้าหมายและเป้าหมายย่อย นั่นเป็นเพราะว่า SDGs เป็นผลผลิตของการเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศในการรับรอง ประเทศอย่างเกาหลีเหนือ พม่า หรือจีนเองก็รับรอง SDGs ด้วยเช่นกัน 

แต่ถึงกระนั้น สาระสำคัญสำหรับประชาธิปไตยด้านเศรษฐกิจจริงๆ เป็นส่วนที่อาจจะไม่ตรงตามที่ท่านอาจารย์ปรีดีพูดถึงขนาดนั้น แต่ว่าก็มีการพูดถึงการมีงานที่ดี การเคารพสิทธิแรงงาน และการรวมตัวกันของแรงงาน รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ 

สำหรับในเรื่องของการศึกษาอาจจะเห็นต่างจากน้องที่ได้รางวัลที่หนึ่งสักเล็กน้อย จริงๆ ในตัวที่สี่มีการพูดถึงเป้าหมายย่อยที่พูดถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและองค์ประกอบของการศึกษาพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเรือนโลก Global Citizenship Education ซึ่งในก้อนนี้จะมีทั้งการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน การเข้าใจเรื่องกระบวนการสันติภาพ สันติวิธี และเรื่องของความหลากหลายของวัฒนธรรม ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งสิ้นเลย 

ฉะนั้น ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนที่เสริมจากน้องได้พูดมา SDGs ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ SDGs จะบรรลุไม่ได้ถ้าไม่มีประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ เพราะว่า หนึ่งปัญหาที่อยู่ใต้ SDGs เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ในโลกที่ซับซ้อนผันผวนขนาดนี้ไม่มีใครแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน จำเป็นอย่างยิ่งเลยที่ทุกภาคส่วน ต้องมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 

“ประชาธิปไตย” น่าจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวของการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสมาร่วมให้ความเห็นแล้วก็ขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน ฉะนั้น จริงๆ แล้วประชาธิปไตยจะมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน SDGs มาก

ประการที่สอง คือ SDGs เรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางด้านระบบธรรมาภิบาลระหว่างประเทศก็ว่าได้ เพราะว่าเป็นการเหนี่ยวนำให้ทุกประเทศทำอะไรด้วยกันโดยใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เป็น Goal Oriented Governance ฉะนั้น ประเด็นคือเหมือนการให้การบ้านนักศึกษา ให้การบ้านไปแล้วต้องมีการติดตามว่าทำหรือไม่ กับให้การบ้านไปแล้วไม่ตามก็คงไม่อยากทำ 

ระดับโลกมีเวทีอย่างเช่น High Level Political Forum On Sustainable Development ซึ่งเป็นเวที UN ที่ให้ประเทศต่างๆ ได้มานำเสนอว่าทำอะไรไปบ้างในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทย Active มาก ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ไปนำเสนอแล้วสองครั้ง แต่โดนบางคนบอกว่าประเทศไทยก็ไปสร้างภาพในเวทีโลกไหม ความน่าสนใจของเวทีนี้ก็คือเขาเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ให้มาร่วม Intervention ด้วย 

 

การประชุม HLPF 2021 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม - 15 กรกฎาคม 2564

 

เราก็จะได้ฟังคำถามที่น่าสนใจจากภาคประชาสังคม คำถามที่ตรงไปตรงมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ กระตือรือร้นอยากทำอะไรให้ก้าวหน้าขึ้น แต่ในประเทศไทยเราไม่มีกลไกตรงนี้ กลไกของรัฐที่จัดการเรื่อง SDGs คือ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่รู้ว่าครม. ไปรายงานต่อสภาหรือไม่? 

สิ่งสำคัญ คือ เราต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรมาทำหน้าที่ให้เป็นคนที่รัฐบาลรับผิด รับชอบต่อประชาชนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจริงๆ แล้ววาระที่อยู่ใน SDGs ถ้าดูในรายละเอียดนั้นตอบโจทย์คนธรรมดามากๆ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประการสุดท้าย คือ ในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืน เราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมด้วย การที่เรามุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การที่มุ่งสู่ BCG Model [1] การที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำมันไม่ได้ดีไปเสียทุกอย่างกับทุกคน การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมแปลว่าเมื่อมีคนเสียเราจะทำอย่างไรกับคนที่เสีย จะเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาร่วมแสดงความเห็นแล้วก็เรียกร้องสิ่งที่เขาควรจะได้หรือรับการชดเชยหรือไม่ 

 

 

กระบวนการประชาธิปไตยจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น 

สามสิ่งที่บอกว่า การบรรลุ SDGs ต้องการประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็อาจจะบรรลุได้ ถ้าเราใช้ SDGs ให้เป็นประโยชน์เช่นกัน อย่างที่เรียนไปตอนต้น SDGs โดยบรรทัดฐานของการพัฒนาระดับโลกเป็นภาษาที่คนทุกภาคส่วนใช้ร่วมกัน ภาคเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม ภาคองค์กรของประเทศ ใช้ภาษานี้ทั้งหมด 

การใช้ภาษานั้นแปลว่าเราเชื่อมโยงกับอำนาจที่มาจากบรรทัดฐานการพัฒนา คำถามคือ คนทั่วไป พรรคการเมือง ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือภาคประชาสังคมเองจะใช้ภาษา SDGs อย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อการผลักดันวาระของตนเอง เราต้องใช้ภาษานี้ให้มากขึ้น ต้องใช้บรรทัดฐานนี้ให้มากขึ้น ต้องทำให้ SDGs ไม่เป็นเรื่องของคนใส่สูท ต้องทำให้ SDGs เป็นเรื่องของทุกคน โดยประโยชน์โดยที่ทุกคนสามารถผลักดันวาระของตนเองได้ ถ้าเราทำได้แบบนี้ SDGs ก็จะมีส่วนช่วยในการผลักดันประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

 

 

ที่มา : งานเสวนา PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวาระ 122 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์, พุธที่ 11 พฤษภาคม 2565, ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่


[1] การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (สืบค้นจาก สวทช. 19/05/2022)