ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายสุภา ศิริมานนท์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร

15
กรกฎาคม
2565
สุภา ศิริมานนท์
สุภา ศิริมานนท์

 

คุณสุภาคงให้อภัย ถ้าข้าพเจ้าจะเริ่มข้อเขียนชิ้นนี้โดยอ้างถึงค้านท์ แทนที่จะอ้างถึงมากซ์ แต่อย่างน้อยทั้งคู่ก็เป็นเยอรมันด้วยกัน และผู้อ่านคงจะไม่ถือโทษที่ข้าพเจ้าจะไม่แปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย แต่ขอให้ตั้งใจอ่าน และโยงมาคิดดูว่า ข้อความดังกล่าวเกี่ยวกับคุณสุภามากน้อยเพียงใด

 

In 1784 , the philosopher Immanuel Kant, in an essay called “An Answer to the Question : What is the Enlightenment?” wrote, “If someone asks, are we living in an enlightened age, the answer would be No. But even so, we are living in an age of enlightenment.” The statement was less paradoxical than it seemed. What Kant meant was that where as, wherever one looked, one could find evidence of man's inhumanity to man, of social inequity, of outworn and ineffective institutions, of prejudice and entrenched reaction, it was also true that dedicated and energetic people were doing their best to correct these things. “A few who think for themselves,” Kant wrote, “will always be found, even among the installed guardians of the multitude, who, after they have themselves thrown off the yoke of nonage, will spread about them the spirit of a rational estimation of the proper value and of the vocation of every man to think for himself.” And from that impulse would come general enlightenment and Social and political progress.

(The Germans by G. Craig (Penguins) 1984 p. 29)

 

คุณสุภา ศิริมานนท์ นั้น สำหรับบุคคลภายนอกส่วนมาก ยากที่จะรู้จักได้ ยิ่งเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่ต้องการคำตอบทางสังคมนิยมมากซิสม์ ย่อมจะได้รับความผิดหวังจากคุณสุภา เพราะคุณสุภาไม่มีคำตอบให้ หากคุณสุภาเป็นนักแสวงหาสัจจะ โดยใช้ลัทธิมากซ์เป็นแนวหนึ่งแห่งการเข้าถึงสัตยนัยทางด้านสังคมประชาธิปไตย และในบรรดาคนไทยทั้งหลาย ยากจะหาใครเข้าใจมากซิสม์อย่างกระจ่างชัดได้เท่าคุณสุภา ทั้งๆ ที่คุณสุภาสำนึกตัวอยู่เสมอว่าตนเองเป็นเพียงนักเรียนเล็กๆ คนหนึ่งทางด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่ก็ได้เป็นผู้ฉายแสงทางปัญญาด้านนี้ให้มหาชนคนไทยผู้ใฝ่รู้ เกือบจะยิ่งกว่าผู้ใด ทั้งนี้เราต้องไม่นับมากซิสต์ผู้บิดเบือน ผู้คลั่งคัมภีร์ และผู้เห็นว่าพรรคสำคัญเหนือทฤษฎี หรือพวกสุนัขรับใช้ต่างๆ รวมตลอดถึงนักโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายเหล่านั้นด้วย

คุณสุภารักวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เป็นคนหนึ่งในจำนวนน้อยที่สมัครเรียนวิชานี้ทางไปรษณีย์กับสถาบันที่ทรงเกียรติแห่งประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุฉะนี้ คุณสุภาจึงเคารพจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพดังกล่าว โดยแยกการโฆษณาชวนเชื่อออกอย่างเด็ดขาดจากการเสนอข้อเท็จจริงและการเสนอข้อคิดความเห็น เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ใคร่ครวญ ตรวจตราและคิดแย้งอย่างมีเหตุผล

แม้การเสนอนั้นๆ คุณสุภาอาศัยสื่ออย่างแนบเนียนเละแยบคาย ใช้ศิลปะแห่งถ้อยคำ ตลอดจนศิลปะแห่งการนำเสนอ รวมทั้งความพิถีพิถันแห่งการเลือกตัวอักษรไปจนถึงการพิสูจน์อักษร เข้าเล่ม รูปปก ฯลฯ อย่างยากที่คนธรรมคาสามัญจะเข้าใจ หรือรับรู้ว่าคุณสุภาอุทิศเวลาและความคิดเพื่อการนี้เพียงใด โดยส่วนมากชื่อคุณสุภามักไม่ปรากฏในสิ่งพิมพ์นั้นๆ ด้วยซ้ำไป

แม้นักเลงหนังสือและผู้ที่ติดตามประวัติความเป็นมาของนิตยสารเชิงภูมิปัญญาของไทย จะเคยได้รับรสหรือรู้จัก นิกรวันอาทิตย์ หรือ อักษรสาส์น ก็จะรู้จักชื่อคุณสุภาในฐานะผู้คุมบังเหียนอันสำคัญทางด้านการสาดแสงแห่งความคิดอันก้าวหน้าให้ปรากฏในช่วงนั้นๆ เท่านั้น ยากที่จะทราบได้ว่าคุณสุภาใช้วิชาชีพ ใช้คุณธรรม ใช้ความสามารถ ความอดทน ความสุขุมคัมภีรภาพและความอ่อนน้อมถ่อมตัว เลือกสรรให้บังเกิดสติปัญญาและศิลปวิทยาปรากฏออกมาได้ โดยเพื่อนร่วมงานแทบทุกคน ทั้งผู้ใหญ่และผู้เยาว์ต่างถือว่าคุณสุภาเป็นกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตตา เป็นองค์ประกอบภายนอกที่สำคัญที่สุด ท่านหมายถึงการเป็นที่ปรึกษา เป็นที่คบหา เป็นบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี เป็นผู้รู้จักเลือกเสวนา รู้การเข้าร่วมกับผู้ทรงคุณทางปัญญาที่สามารถ ตลอดจนเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดีในการศึกษาธรรม การครองชีวิตและประกอบกิจการตลอดจนธรรมปฏิบัติ

ทั้งๆ ที่คุณสุภารับสอนวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แม้ในมหาวิทยาลัยและรับเป็นวิทยากรในการอบรมนักหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะก็แก่ผู้ร่วมวิชาชีพในท้องถิ่นต่างๆ แต่คุณสุภาไม่เคยตั้งตัวเป็นครูหรือถือตัวว่าเป็นอาจารย์ หากคุณสุภาเป็นมิตรที่ดีของทุกๆ คน ผู้แสวงหาปัญญาและวิชาชีพอันสุจริต

คุณสุภาเป็นบุคคลที่กล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนอ่อนนอก แข็งใน กล้าปฏิเสธอย่างนุ่มนวล มั่นคงต่อหลักการ หากรู้จักไกล่เกลี่ยกับระบบและวิถีชีวิตอย่างแยบคาย อันยากที่คนหยาบกระด้าง หรือดื้อรั้นจะเข้าใจได้ นอกไปจากนี้แล้ว คุณสุภายังเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาคุณสูง ยอมทำผิด ยอมเสียชื่อ เพื่อเป็นการสนองคุณครูอาจารย์ ถึงกับเคยยอมรับเป็นผู้ตรวจตัดข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ก็ทำด้วยมีมนสิการเป็นที่ตั้ง โดยยากที่อคติจะเข้ามาก้าวก่ายพัวพัน

ในบรรดากัลยาณมิตรที่สำคัญของคุณสุภานั้น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คงต้องมาเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาปราชญ์ร่วมสมัย และคุณสุภาอาจเป็นคนเดียวก็ได้ที่เข้าใจความคิดทางทฤษฎีของอาจารย์ปรีดีอย่างลึกซึ้ง จนเป็นที่ไว้วางใจอย่างยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ทั้งนี้ต้องไม่นับผู้ร่วมงานบริหารราชการแผ่นดินของท่านผู้นั้น และอาจเป็นเพราะท่านต้องการพักผ่อนหรือผ่อนคลายจากราชการงานเมืองก็ได้ จึงมักนัดรับประทานอาหารร่วมกัน ๒ ต่อ ๒ กับคุณสุภาเสมอ

สมัยที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยคุณสุภาก็กล้าท้วงติงท่าน กล้าเสนอทัศนคตินอกแวดวงผู้ใกล้ชิดออกไป และกล้าให้ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ อย่างอ่อมน้อมถ่อมตน โดยที่ตนเอง ไม่เคยขอพรพิเศษอันใด หรือต้องการผลประโยชน์อย่างใดตอบแทน นับได้ว่าคุณสุภาก็เป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ปรีดีอย่างยากที่ท่านจะหาได้จากศิษย์อื่นหรือผู้ร่วมงานคนอื่นๆ โดยทั่วไป

แม้เมื่ออาจารย์ปรีดีพลัดพรากจากอำนาจทางการเมืองไปแล้ว คุณสุภาก็ยังคงกตัญญูรู้คุณและรับใช้ท่านอย่างมั่นคงตลอดมา แม้จะเสี่ยงภัยเพียงใดก็ตาม หากกระทำอย่างปิดทองหลังพระและอย่างเสียสละที่สุด จนก่อนจะสิ้นชีวิตลงครั้งนี้ ก็รับทำงานสนองคุณอาจารย์ปรีดีจนวาระสุดท้าย

ข้าพเจ้าเองเป็นผู้เยาว์กว่าคุณสุภาทั้งทางอายุและทางสติปัญญา ตลอดจนเป็นผู้มีอุปนิสัยแข็งกระด้าง เรียกได้ว่าแข็งนอกอ่อนใน โดยไม่เข้าใจภูมิปัญญาอันก้าวหน้าและลึกซึ้งของคุณสุภา เติบโตมาในแวดวงของสังคมเก่า มีอนุรักษนิยมและเสรีนิยมเป็นพื้นฐาน โดยแอบนิยมเผด็จการราชาธิปไตยมาอย่างเงียบๆ อีกด้วยซ้ำไป

ทั้งข้าพเจ้ายังเริ่มทำนิตยสาร “ปัญญาชน” ด้วยการโจมตีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นระลอกๆ จะโดยจงใจ จะโดยอคติหรืออวิชชาก็สุดแท้ แต่คุณสุภาไม่เคยโต้แย้งหรือดูแคลนข้าพเจ้าเลย หากรับข้าพเจ้าไว้ในฐานะกัลยาณมิตรผู้เยาว์ สนับสนุนให้กำลังใจ ให้ข้อเท็จจริง ทั้งยังกล้าเตือนสติอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อเห็นว่าท่านผู้นั้นเข้าใจข้าพเจ้าผิดไป ทัศนคติของคุณสุภาก็คือผู้เยาว์ควรได้รับอภัย มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งควรคงไว้ซึ่งขันติธรรมและพรหมวิหารธรรม

 

ปรีดี พนมยงค์ สนทนากับ สุภา ศิริมานนท์ ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส
ปรีดี พนมยงค์ สนทนากับ สุภา ศิริมานนท์
ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

 

คุณสุภาไม่เคยสรรเสริญอาจารย์ปรีดีให้ข้าพเจ้าฟัง ไม่เคยแสดงความโกรธเคืองเมื่อข้าพเจ้าล่วงเกินอาจารย์ปรีดี แม้คุณสุภาจะเตือนสติข้าพเจ้า ก็ด้วยเรื่องอื่นๆ โดยคุณสุภาพูดความจริงกับข้าพเจ้าเสมอ และข้าพเจ้ารู้ตลอดเวลาว่าคุณสุภาเป็นมิตรผู้มีอุปการคุณ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคุณสุภาเป็นตัวเชื่อมโยงให้ข้าพเจ้าเจริญโยนิโสมนสิการ อันเป็นองค์ประกอบภายในที่สำคัญสุดเพื่อให้แลเห็นความผิดของตัวเอง ให้ได้เริ่มคิดอย่างถูกวิธี ให้รู้จักมองอาจารย์ปรีดี พนมมงค์ อย่างแยบคาย

ทั้งนี้ คุณสุภาใช้วิธีให้ข้อเท็จจริงให้ความเมตตากรุณา โดยไม่โน้มนำใจด้วยการโฆษณาชวนเชื่อแต่ประการใด พร้อมกันนั้นคุณสุภาก็เรียนเสนออาจารย์ปรีดีให้ทราบถึงข้อดีต่างๆ ของข้าพเจ้าโดยคุณสุภาไม่เอ่ยถึงข้อเสียของข้าพเจ้าเอาเลยก็ว่าได้

แท้ที่จริง คุณสุภามองหาข้อเสียของคนอื่นแทบไม่พบ แม้จะรู้ว่าผู้นั้นผู้นี้มีข้อบกพร่อง แต่คุณสุภามองเห็นคุณธรรมความดี โดยกลบลบเหนือจุดอ่อนต่างๆ เหล่านั้นได้อยู่เสมอ

การที่คุณสุภาทำคุณให้ข้าพเจ้าละมานะทิษฐิและอคติในเรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้นั้น ไม่ปรากฏในเอกสารใดๆ ข้าพเจ้าจึงใคร่ประกาศสำนึกในบุญคุณไว้ในที่นี้ ใครก็ตามที่ยังมีอุปาทาน หรือยังปกปิดบาปกรรมอยู่ในกมลสันดานเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หากไม่สารภาพหรือเปลี่ยนทัศนคติเสียแต่ยังมีชีวิตอยู่ โดยปลงอาบัติเสียให้ลุล่วงไป และประกอบกุศลกรรมหนี้อกุศลเจตนาที่ครอบงำจิตอันขุ่นมัวนั้นๆ ไว้ ด้วยการยกย่องเชิดชูผู้ที่ควรบูชา จิตใจจะไม่สงบ ถึงจะทำบุญทำทานเจริญจิตสิกขาอย่างใดๆ ก็จักเป็นการหนีปัญหา วนอยู่ในวัฏจักรแห่งความโสมม ยากที่จิตจักผ่องใส ตายไปก็ย่อมเข้าสู่นรกภูมิหรือเปรตวิสัยเป็นแท้ โดยผู้ที่สืบสันดานต่อไปจากตนก็จะทุกข์ทนหม่นไหม้อย่างไม่รู้จบสิ้น การเอาชนะอกุศลจิตได้ ไม่มีทางอื่นนอกจากการกล้าเผชิญสัจจะ โดยยอมรับความผิดอย่างอาจหาญและอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว

ไม่แต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่ได้รับอุปการคุณจากคุณสุภา แม้มิตรผู้เยาว์อื่นๆ ที่ได้รับความเป็นกัลยาณมิตรเช่นนี้ก็มีอีกมาก หากรัฐบาลและบ้านเมืองกลับไม่เห็นคุณค่าของคนดีแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด เพราะความมืดบอด บ้าคลั่ง และค่านิยมอันจอมปลอมเป็นใหญ่อยู่ทั่วไป

แม้ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้วยเหตุฉะนี้ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ส่วนมากจึงปราศจากคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ จำเพาะมนุษย์ที่แท้เท่านั้น ที่อ่อนน้อมถ่อมตัวพอที่จะรับมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์อย่างสยบยอม และมองดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์กึ่งดิบกึ่งดีเหล่านั้นด้วยมุทิตาจิต

นอกจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์แล้ว คุณสุภายังเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่และใกล้ชิดด้วยอีกหลายท่าน เช่น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ม.จ.ทองทีฆายุ ทองใหญ่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาประมวญวิชชาพูน และหลวงดำรงดุริตเรข เป็นต้น

ทางด้านครอบครัว คุณสุภาได้รับอิทธิพลมาจากตาและยาย ซึ่งอบรมคุณธรรมแบบไทยให้อย่างมีคุณค่ามาก นับว่าสืบมรดกทางวัฒนธรรมมาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนี้โดยมีพุทธกระแสเป็นแกนกลางที่สำคัญ และในบรรดากัลยาณมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของคุณสุภาคือ คุณจินดา ซึ่งเป็นคู่สุขคู่ทุกข์ เข้าใจกันและกันอย่างยากที่จะหาสามีภรรยาคู่ใดเปรียบเทียบได้ตลอดจนลูกหลานก็เป็นสะพานสืบช่วงคุณค่าต่อไปอย่างน่านิยมยกย่อง

คุณสุภารักษาศีล เจริญธรรม และให้ทานเป็นอาจิณปฏิบัติ โดยพวกพุทธบริษัทที่เคร่งครัดตามรูปแบบย่อมยากที่จะเข้าใจได้ เพราะคุณสุภาเข้าที่แก่น นอกเหนือเปลือกและกระพี้ที่ห่อหุ้มไว้ แม้จะยอมรับระเบียบพิธีกรรมอยู่ด้วยบ้างก็ตาม เช่น ทำบุญที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำทุกเดือน และบำเพ็ญกุศล สวดมนต์เลี้ยงพระด้วยบ้างตามประเพณี

ดูคุณสุภาจะอ่านหนังสือธรรมะมากกว่าตำรามากซิสม์ด้วยซ้ำไป เข้าใจเนื้อหาแห่งพระพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง แม้จะพูดอยู่เสมอว่าเป็นเพียงนักเรียนเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น การที่คุณสุภาอ่านงานของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุนั้น ไม่จับเอาแต่ประเด็นเท่านั้น หากติดตามลีลาแห่งภาษาและการใช้ถ้อยคำของท่านอย่างใกล้ชิด นิยมพจนประพันธ์ภาษิตด้านงานเขียนของท่าน ยิ่งกว่าการพูดอัดเทปในระยะหลังๆ มา

การที่คุณสุภาสวดสังวัธยายพระชินบัญชรคาถาอยู่เนืองๆ นั้น ไม่ได้แสดงว่าเคารพปฏิปทาแห่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังเท่านั้นก็หาไม่ หากแสดงว่าเคารพเลื่อมใสในองค์คุณแห่งพระรัตนตรัยอย่างลึกซึ้ง การบริกรรมพระนามพระบรมศาสดาและพระมหาสาวก โดยอาราธนาพระคุณของท่านนั้นๆ ให้มาสถิตอยู่กับตน ย่อมเป็นมหามงคล เป็นมหากุศล และเป็นการเจริญจิตสิกขาส่วนหนึ่งด้วย

แม้ข้าพเจ้าจะเสียใจอย่างลึกซึ้งในการจากไปของคุณสุภา ศิริมานนท์ แต่ก็เชื่อมั่นว่าคุณสุภา จะไปยังที่สว่าง สะอาด และสงบ ดังวิถีชีวิตของคุณสุภาที่แล้วๆ มา ดำเนินตามมรคาไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างแจ่มชัดอยู่แล้ว

ส. ศิวรักษ์

 

ที่มา : ส. ศิวรักษ์.2529. “นายสุภา ศิริมานนท์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร.” ใน “พจมาลัย สุภา ศิริมานนท์”. (กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์). หน้า 25 - 29.