ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ทรรศนะประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์

12
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ประชาธิปไตยของท่านปรีดี คือ ประชาธิปไตยที่ประโยชน์นั้นต้องตกแก่ราษฎรทั้งหลาย ตามคำที่คู่กันเสมอคือ ประเทศชาติและราษฎร
  • ความพยายามเปลี่ยนแปลงตามหลักหกประการของคณะราษฎรมีในหลายทาง เช่น การเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรี
  • ความผิดพลาดการอภิวัฒน์ 2475 ที่ท่านปรีดีสรุปไว้ ได้แก่ (1) ความขัดแย้งในขบวนของผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 (2) ความคิดแต่ยุทธวิธีที่จะยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้คิดรักษาเรื่องอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการโต้อภิวัฒน์ของพวกทวนกระแสทั้งหลาย (3) สมาชิกคณะราษฎร ก็ยังขาดความชำนาญในการติดต่อราษฎร คือการสัมผัสกับประชาชนต่างๆ และ (4) การเชิญขุนนางเก่ามาร่วมบริหาร แต่ขุนนางเหล่านั้นไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรต่อการเปลี่ยนแปลง

 

ผมฟังอาจารย์แลมาตลอดนะครับ รวมถึงท่านอาจารย์ปรีชาได้พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ การพูดวันนี้คงพูดด้วยความสบายใจ ไม่ได้มาปาฐกถาหมู่ เพราะเมื่อกี้อาจารย์แลก็โยนลูกมาแล้ว ผมมีความคิดว่าท่านทั้งหลายที่นั่งในที่นี้ คงจะเห็นพ้องต้องกันประการหนึ่งว่าถ้าเราจะพูดถึงประชาธิปไตยที่ท่านปรีดีได้มีส่วนในการสร้างขึ้น หรือ นำมาในประเทศไทย และเวลานี้เราก็ได้ยิน คำว่า ประชาธิปไตยมากมายหลายครั้งหลายหน 

ในประวัติศาสตร์การเมืองของเรา สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องเฉลียวใจไว้ด้วยว่า เรามีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยตรงกันหรือป่าว หรือ ประชาธิปไตยของท่านปรีดีนั้นต่างจากประชาธิปไตยของผู้เสวยอำนาจ ผู้พ้นจากอำนาจคนอื่นอย่างไรบ้าง ผมเห็นว่านี้เป็นสาระสำคัญประการหนึ่ง เพราะถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราก็คงจะมีส่วนหลงทางเหมือนกัน 

สำหรับถ้าเผื่อเรามาดูในวิถีชีวิตของท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้นะครับ ผมเห็นอย่างหนึ่งว่า เป็นข้อที่น่าอัศจรรย์ว่า ทำไมท่านจึงมีความตื่นตัวทางการเมืองเร็วเหลือเกิน ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่ที่อยุธยานี้ กระนั้นก็ดูเหมือนอายุท่านจะไม่มากนักประมาณสัก 11 ปีเห็นจะได้ และท่านมองดูปัญหาบ้านเมืองท่านมองไปไกล ได้รับผลกระเทือนจากสิ่งที่ไกลที่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าท่านเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงจากคณะเก๊กเหม็งในประเทศจีนก่อน แล้วก็ครูที่อยุธยาก็คงจะเป็นครูที่ดี ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ก็พูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันนั้น แล้วก็พูดถึงว่าโลกเปลี่ยนอย่างไร พร้อมทั้งตั้งคำถามที่ท่านปรีดีเอง ท่านก็ต้องเอามาขบคิดต่อว่าคือครูตั้งคำถาม ระหว่างระบบซาร์ที่รัสเซียกับที่ประเทศสยามนี้ ใครจะเปลี่ยนก่อนกัน เพื่อให้ประชาชนได้ถือครองสิทธิการที่จะปกครองตัวเอง 

และนี้เป็นความคิดที่ก่อตัวและตั้งเค้ามาตั้งแต่ท่านเรียนมัธยม พอท่านไปเรียนกฎหมาย ท่านก็มีความรู้สึกว่า อธิปไตยทางการศาลตรงนี้หรือเปล่า เพราะว่าขณะคดีความขึ้นสู่ศาล ประชาชนไทยได้เสียสิทธิในบางอย่างไปเสียแล้ว เหล่าปัญหารูปธรรมเหล่านี้เข้ามากระทบท่าน เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ผมเห็นว่าประชาธิปไตยของท่านปรีดีนั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เลื่อนลอย แต่เป็นประชาธิปไตยที่ท่านเน้นและย้ำว่าประโยชน์นั้นต้องตกแก่ราษฎรทั้งหลาย เพราะท่านจะใช้คำที่คู่กันเสมอคือ เพื่อประเทศชาติและราษฎร ถ้าเผื่อจะมีประชาธิปไตยแบบอื่นที่แอบแฝงเร้น โดยอ้างเพื่อประชาชน แต่ประโยชน์ตกอยู่ที่กลุ่มอื่น คงจะไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของท่านปรีดี 

ท่านอาจารย์แลได้กรุณาสร้างโครงร่างหัวข้อของเรื่อง กลุ่มคุกคามทั้งในทางการเมืองทั้งในทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นผมก็เดินตามท่าน อาจารย์แลตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทางเศรษฐกิจไว้ว่าท่านริเริ่มหลายอย่าง ตั้งแต่ในทางคลัง ตั้งสำนักงานธนาคารแห่งชาติ ในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ เค้าโครงเศรษฐกิจ แต่ไม่มีโอกาสปฏิบัติอย่างเป็นจริง มามีเอาในสมัย พ.ศ. 2504 

แล้วอาจารย์แลก็ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในแผนงานเศรษฐกิจทั้งหลายนั้นต่างกับของท่านปรีดีสิ้นเชิง ตรงที่ว่าพึ่งตัวเองกับไม่พึ่งตัวเอง ผมอยากจะเสริมตรงนี้ของอาจารย์แลอีกนิดว่า ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นเท่านั้น ของท่านปรีดี ท่านสร้าง ท่านคิด เพราะหวังผลประโยชน์ประเทศชาติและท่านริเริ่มทำเอง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งแม้จะมาเริ่มเอาในปี พ.ศ. 2504 ก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแม้ในทางความคิด แต่ว่าเป็นแผนที่ถูกเสนอแนะกำหนดขึ้นมาเพื่อจะได้กู้เงินธนาคารโลกได้ ธนาคารโลกควรเสนอ เขาให้ข้อมูลอันนี้มา 

เพราะฉะนั้นอีกอันหนึ่งที่ผมจะกราบเรียนว่า ในการที่จะร่วมสถาปนาประชาธิปไตยในสังคมไทย คงจะไม่ได้อยู่ที่เพียงการพลิกแผ่นดินประการเดียว การเปลี่ยนอำนาจการปกครองอย่างเดียว แต่ว่าการที่จะรักษา จะรักษาอย่างไร 

ระบบอีกอันหนึ่งคือพรรคการเมือง นักการเมืองทั้งหลายให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย แต่ขณะเดียวกันมาเป็นนัยสำคัญในการอ้างว่า จะมีประชาธิปไตยในบ้านเมือง หรือ ไม่มีประชาธิปไตยในบ้านเมือง การจะมี ส.ส. ประเภทที่ 2 หรือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ บางครั้งเรียกว่า พฤฒสภา ก็มักจะอ้างว่าราษฎรขาดความรู้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในแง่นี้คือ การศึกษาที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้มีคนมองเห็นเหมือนที่ท่านปรีดีมองเห็นหรือไม่ ท่านเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงอำนาจเป็นเพียงการใช้กำลัง เป็นเพียงการใช้ความเด็ดเดี่ยวในชั่วระยะหนึ่ง ที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ แต่การจะรักษาผลสำเร็จไว้ได้ ให้มีผลต่อเนื่องนั้น ต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถีวัฒนธรรม เปลี่ยนอะไรต่างๆ ท่านปรีดีจับหมัดอันนี้ได้มั่นและก็อยู่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร  แล้วในทางระดับสูงขึ้นมาคือ ผมเห็นว่าเรื่องนี้ ท่านอาจารย์ปรีชาอาจจะกรุณาพูดได้ดีกว่าผมเป็นพิเศษก็คือการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการที่จะผดุงและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เป็นจริง มีการศึกษาความคิดทางการเมือง แล้วก็ไม่ใช่มีการศึกษาความคิดทางการเมืองอย่างลอย แต่ยังเป็นแขนขาในการที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 

ตรงนี้ผมคิดว่าในปี พ.ศ. 2475 ถ้าไปเทียบเคียงกับในสมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญพอๆ กันนะครับ เพราะว่าในทัศนะท่านขณะนั้น เมื่อท่านจะปฏิรูปการปกครอง ท่านไม่มีผู้คน ท่านก็จัดการสรรหาโดยเอาพระเจ้าน้องยาเธอมาอบรมมาศึกษา เพื่อที่จะเป็นแขนเป็นขา แล้วก็บอกว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเพชรประดับมหาพิชัยมงกุฎ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ก็เป็นคนสำคัญ 

ท่านจับหลักอันนี้คือต้องมีคนมาเป็นกลไกสำคัญของรัฐ ทีนี้ ตัวท่านปรีดีเองร่วมขบวนการ พ.ศ. 2475 แล้วผมเข้าใจว่าท่านว้าเหว่นะครับ เพราะถึงแม้ท่านจะคุยกับบรรดานายทหารปืนใหญ่อย่างเช่น จอมพล แปลก พิบูลสงครามที่ไปจบโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่ที่ฝรั่งเศส มีใครหลายๆ คน แต่ผมเชื่อว่าพอท่านเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จแล้ว ท่าว้าเหว่แน่ๆ คือมันขาดความต่อเนื่องทางความคิด แล้วก็คนที่เข้าใจอันเดียวกัน แล้วตรงนี้ทำให้ผมเห็นว่าท่านกำหนดบทบาทของท่าน แต่ละระยะอย่างเหมาะสมที่สุด สำหรับความจำเป็นของบ้านเมือง

ตรงนี้จะไปกล่าวหา ท่านเป็นวีรชน หรือ เอกชน ไม่ได้เพราะดูแล้วก็หาตัวคนที่จะเล่นบทของท่านได้ยาก คือเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านเริ่มจากเป็นเลขาธิการสภา เพราะการปกครองระบอบสภานั้นต้องสร้างรากฐานอันนี้ให้มั่นคงก่อน พอท่านไปอยู่สภาแล้วต่อมาท่านมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วมาจัดการเลือกการปกครอง จัดการปกครองภายในเรียบร้อย ท่านมากระทรวงการต่างประเทศ มาแก้ไขเอกเทศสัญญาทั้งหลาย สนธิสัญญาทั้งหลาย เสร็จแล้วมาอยู่ กระทรวงการคลัง แต่มาภายหลังมีปัญหาขัดแย้งกับ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ท่านจึงถูกย้ายไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งก็เป็นผลดีกับประเทศไทย 

ในช่วงที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้นเอง ท่านได้พลิกสถานะการเมืองไทย ซึ่งน่าจะตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นประเทศที่ยังคงรักษาเอกราชและอธิปไตยอันสมบูรณ์ของตัวเองไว้ได้ การกำหนดบทบาทศาลท่านเป็นเพียงการเร่งในเส้นทางสายกลาง แต่สิ่งที่ท่านทำไว้ในระยะยาวที่มีคุณกว่า ผมเห็นว่าการตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นตลาดวิชาในการเปิดโอกาสให้ลูกของสามัญชน ให้กับคนทั่วไปได้มีโอกาสเล่าเรียน และเขาได้จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในระยะเวลาต่อมา ซึ่งต้องวงเล็บว่า บางส่วนก็เป็นปฏิกิริยาจากบ้านเมืองด้วย ด้วยความยุติธรรม ในแง่นี้กระผมคิดว่าสำคัญนะ และที่สำคัญไปกว่านั้น ผมมองท่านในแง่การศึกษาตลอด เพราะในแง่อื่นผมคิดว่าวิทยากรท่านอื่นน่าจะพูด 

คนเราเมื่อประสบความสำเร็จ สำหรับท่านปรีดี ถ้าพูดอย่างสายตาชาวบ้านคือผ่านมาหมดทุกอย่างด้วยลักษณะที่สูงสุดทุกทาง นายกรัฐมนตรีเคยเป็น ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิเคยเป็น รัฐบุรุษอวุโสก็มีอยู่ท่านเพียงคนเดียว ท่านประสบความสำเร็จในทุกทาง แต่ในขณะเดียกันท่านก็ต้องเผชิญกับคลื่นลมในทุกๆ ทาง ต้องเผชิญการทดสอบทุกๆ ทาง จนกระทั่งบัดนี้ เหลือแต่เพียงเถ้าอัฐิ

และเราทั้งหลายในที่นี้ก็พร้อมจะน้อมคารวะด้วยความจริงใจไม่มีความรู้สึกที่จะเป็นอื่นไปได้ ผมเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ท่านได้พูดแล้วค่อนข้างจะไม่มีนักการเมืองคนไหนทำในฐานะเดียวกันกับวิถีความคิดของท่าน ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจได้อีกว่าท่านเป็นรัฐบุรุษ ขณะที่นักการเมืองก็เป็นนักการเมือง พรมแดนระหว่างรัฐบุรุษกับนักการเมืองยังต่างกันตรงนี้ 

ท่านได้พูดถึงความล้มเหลว ความผิดพลาดสำคัญของ พ.ศ. 2475 ของการอภิวัฒน์ครั้งนั้น ผมคิดว่าเรื่องตรงนี้สำคัญมากถ้าเผื่อเราจะพูดถึงความสำเร็จโดยไม่พูดถึงความล้มเหลว พูดถึงข้างหน้าแต่ไม่มองไปข้างหลัง เราจะไม่มีวันได้บทเรียนที่สมบูรณ์เลย 

ผมขออนุญาตสรุปที่ท่านเคยสรุปความผิดพลาด 2475 เอาไว้ว่า ถ้าจะพูดไปแล้วมันมีความขัดแย้งอยู่ 2 ชนิดที่จะต้องศึกษา ชนิดที่ 1 เป็นกรณีทั่วไปในกระบวนการเมืองทุกกระบวนการ ซึ่งมีความขัดแย้งภายในด้วยกันทั้งนั้น ในขบวนของผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ก็เช่นเดียวกัน ก็ล้อขบวนการเสรีไทยว่าหมดสงครามไปแล้วก็ยังทำตัวลึกลับ จะไปประชุมกันหรืออย่างไร อันนี้ ประการที่1 ที่เราเห็นว่า บางทีถ้าจะเข้าสู่วิธีทางการเมือง หรือ แม้กระทั่งการเป็นประชาชน ถ้าขาดการศึกษาเรื่องพวกนี้แล้ว มันก็มีผลเช่นกัน 

ประการที่ 2 ที่ท่านสรุปไว้ก็คือ ได้คิดแต่ยุทธวิธีที่จะยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้คิดรักษาเรื่องอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการที่จะต้องโต้อภิวัฒน์ คือโต้พวกทวนกระแสทั้งหลาย ซึ่งยังต้องทำอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังต้องสู้อยู่ 

ประการที่ 3 สมาชิกคณะราษฎร ก็ยังขาดความชำนาญในการติดต่อราษฎร นี้คือการสัมผัสกับประชาชนต่างๆ ที่จะไปแพร่ข่าวภายในต่างๆ เพราะฉะนั้นฝ่ายที่โต้อภิวัฒน์ เล็กๆ น้อยๆ บางทีก็หยิบมาเป็นประเด็นว่า พ.ศ. 2475 ราษฎรเขาไม่รู้เรื่อง รัฐธรรมนูญยังถูกกล่าวเป็นชื่อลูก พระยาพหลพลพยุหเสนา ท่านปรีดีท่านบอกเลยว่า การที่กล่าวเช่นนี้เป็นการดูถูกประชาชน ในเวลานั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการชี้แจ้ง ได้มีการพยายามทำความเข้าใจ ขอกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกฝ่าย รวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า ได้ไปทำความเข้าใจกับคณะราษฎร ถ้าพูดเช่นนี้แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร ว่าบุคคลฐานะต่างๆ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี ข้าราชการก็ดี เป็นอะไรไปเสียแล้ว 

และ ประการที่ 4 ท่านบอกว่า เชิญขุนนางเก่ามาร่วมบริหารจนลืมไปว่าขุนนางเหล่านั้นไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรและการหวังในการเปลี่ยนแปลงของอะไรต่างๆ บางทีการยืมมือคนอื่นความไม่พร้อม อะไรต่างๆเหล่านี้มามีปัญหา 

เดิมทีผมคิดว่า เราจะพูดเรื่องอาจารย์ปรีดีล้วนๆ หรือพูดให้สัมพันธ์กับการเมืองไทยปัจจุบัน เพราะเราคิดว่างานที่จัดขึ้นในปัจจุบันในคราวนี้เป็นการสมโภชอดีตของท่าน ก็พูดในเรื่องที่จะเป็นมงคล ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองไทยปัจจุบันอาจจะไม่เป็นมงคลก็ได้ แต่ผมก็มาคิดอีกอีกทางหนึ่ง อาจจะต้องพูดด้วยเพราะสิ่งใดก็ตามที่มีเสนียดจัญไร มีความไม่ดีไม่งามนั้น น้ำพระพุทธมนต์ หรือ พุทธมนต์ทั้งหลายก็ควรจะตกถึง และคนดีศรีอยุธยาที่ท่านอาจารย์แลได้พูดไว้เราไม่ได้กังขา หรือ คลางแคลงใจเลยว่าท่านปรีดีนั้นไม่ได้เป็นคนดีศรีอยุธยา

แต่สัจธรรมว่ามีคนดีศรีอยุธยาอยู่นั้นเป็นสัจธรรมเพียงครึ่งทาง เพราะเรามักจะพูดอันนี้ต่อเมื่อเรารู้สึกสิ้นหวัง เราหวังพึ่งคนอื่น เราไม่ได้หวังพึ่งตัวเอง และขณะเดียวกัน เราลืมด้วยว่า การที่คนดีศรีอยุธยาจะเกิดขึ้นได้นั้น มันจะต้องมีคนไม่ดีของศรีอยุธยาด้วยที่ทำเหตุ และคนดีศรีอยุธยาจะต้องมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง กระผมขอกราบเรียนแค่นี้ ขอบพระคุณครับ

ที่มา : ธรรมเกียรติ กันอริ, การอภิปรายเรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับประชาธิปไตยไทย” ณ เรือนไทยหอประชุมภายในเขตอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พฤษภาคม, 2529.