Focus
- คำอภิปราย “นายปรีดี พนมยงค์ กับประชาธิปไตยไทย” โดย ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์
- กล่าวถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ และการทำงานของคณะราษฎร ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทยนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 ได้ถือกำเนิดขึ้น ความรุดหน้าในคราวนั้นนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิ ผลักดันสังคมสยามที่ยากจนแร้นแค้นด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- พร้อมทั้งพิจารณาฐานะทางประวัติศาสตร์ต่อความสำเร็จของการอภิวัฒน์สยาม 2475 จากมุมมองของอนุชนรุ่นหลัง
ความจริงแล้วผมได้รับหัวข้อการอภิปราย ทำให้ผมรู้สึกว่าผมจะอภิปรายในเรื่องนี้ค่อนข้างยาก ที่คิดอย่างนั้น เพราะว่าหัวข้อนั้นระบุค่อนข้างที่จะเป็นทางการว่า นายปรีดี พนมยงค์กับประชาธิปไตยไทย คือความรู้สึกของผม มีแนวโน้มที่จะเรียกว่าท่านปรีดี ทีนี้พอให้หัวข้อมาเป็นนายปรีดี พนมยงค์ ผมจะพูดได้ค่อนข้างตะขิดตะขวงใจ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่และมีคุณูปการกับบ้านเมืองอย่างมาก และเราก็นิยมเรียกว่า “ท่าน” ฉะนั้นมาพูดว่านาย ก็เลยสะดุดใจกันอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าจะว่ากันตามหัวข้อที่เป็นทางการ ผมก็จะว่าไปตามนั้น
มานึกอีกทีหนึ่ง ผมคงเรียกว่า “ท่าน” ไม่ได้สนิทปาก เพราะว่าผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าบรรดาท่านที่นับถือท่านปรีดีแล้วเรียกท่านปรีดีว่า “ท่าน” นั้น จะยอมรับว่าผมเป็นคนหนึ่งซึ่งนับถือท่านปรีดีหรือเปล่า ผมอาจจะไม่เรียกท่านในความหมายที่ว่านั้น ถ้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตอนหลังรู้สึกจะเรียกว่า “พ่อปรีดี” ผมไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์ ผมก็เรียกได้ไม่สนิทปากเหมือนกัน ว่า “พ่อปรีดี”
สำหรับแง่ของนักวิชาการนั้น ถ้าจะเรียกฐานะทางวิชาการของท่านให้ถูกต้องก็คงต้องเรียก “ดร.ปรีดี” ถ้าผมเรียก ดร.ปรีดี ก็จะเป็นการเกี่ยวข้องกับท่านในแง่ของนักวิชาการเท่านั้น คนที่ไม่ใช่นักวิชาการจะเข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่ในแวดวงที่เราพูดคุยกันนั้นก็ไม่สนิท
ไหนๆ ก็จะให้ผมพูดถึงนายปรีดี ผมก็พูดถึงนายปรีดีในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งและเป็นการพูดจากคนคนหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องในแง่ส่วนตัว เพราะฉะนั้นผมจะพูดถึงนายปรีดี พนมยงค์ จากสายตาของประชาชนคนหนึ่งที่ไม่มีอคติในแง่ความผูกพันด้านส่วนตัวแต่ประการใดทั้งสิ้น ซึ่งผมคิดว่าตัวของท่านปรีดีหรือนายปรีดีที่จะให้พูดถึงนั้นก็คงจะพอใจเพราะประเด็นหลักอันหนึ่งที่สำคัญของท่าน คือต้องการที่จะให้คนไทยทุกคนมีความเป็นนายเหมือนๆ กัน ไม่ใช่ว่ามีคนพวกหนึ่งเป็นนายและคนพวกหนึ่งเป็นไพร่หรือเป็นบ่าว
ทีนี้มาดูในหัวข้อที่พูดถึง “นายปรีดี พนมยงค์กับประชาธิปไตยไทย” ผมคิดว่าสิ่งที่เราจะพูดให้ถูกต้องให้ชัดเจนจริงๆ แล้วนั้น เราคงไม่พูดว่านายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยไทยอย่างไร
สิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ นายปรีดี พนมยงค์นั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลกลุ่มหนึ่งที่สำคัญก็คือ “คณะราษฎร” และคณะราษฎรมีบทบาทอย่างสำคัญในการที่จะทำให้ประชาธิปไตยเกิดมีขึ้นในเมืองไทย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงท่านปรีดี หรือนายปรีดีต้องนึกถึงบุคคลที่รวมกันเข้าเป็นคณะราษฎรด้วย
แล้วมองต่อไปว่า คนที่เกิดในคณะราษฎรได้ทำอะไรให้เกิดขึ้นกับแผ่นดินนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงวันนี้ ถ้าจะถามว่านายปรีดี พนมยงค์ ทำอะไรกับประชาธิปไตยไทย ผมอยากจะยกถ้อยคำของพระ วันนี้ผมมากับพระผมก็อยากจะเริ่มด้วยถ้อยคำของพระ
ผมประทับใจมากในปาฐกถาธรรมของพระพิมลธรรม ซึ่งแสดง ณ ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุ เมื่อวันคล้ายวันเกิดนายปรีดี พนมยงค์
ท่านบอกว่า ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้พลิกแผ่นดินใหม่ให้พวกเราได้อยู่อาศัย เพราะแต่ก่อนพวกเราเป็นแต่เพียงผู้อาศัยแผ่นดินเขาอยู่ ถ้าเราทำไม่ดีเขาจะขับไล่ไสส่งเข้าคุกเข้าตาราง หรือนำไปตัดคอทิ้งเสีย ท่านปรีดีได้ใช้สติปัญญาพลิกแผ่นดินกลบอำนาจเหล่านั้น พร้อมทั้งเปิดทางให้ราษฎรมีอำนาจในการปกครองตัวเอง ด้วยการเลือกผู้แทนขึ้นมาบริหารประเทศชาติ อันนี้เป็นความเห็นของพระพิมลธรรม ซึ่งผมคิดว่ามีนัยสำคัญ มีความหมายอย่างลึกซึ้ง จะพูดถึงว่าท่านปรีดี พนมยงค์ ทำอะไร หรือคณะราษฎรทำอะไร ต้องนึกถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคำว่าพลิกแผ่นดินเป็นคำที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นขอให้มองคำคำนี้ให้ชัดเจนในประวัติศาสตร์ไทย
ทำไมถึงพลิกแผ่นดิน ผมอยากจะเริ่มตรงนี้ว่าแต่แรกเริ่มผู้คนที่อยู่บนแผ่นดินนี้นั้นอาจจะแบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่งก็คือพวกที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน เจ้า ขุนนางต่างๆ อีกพวกหนึ่งก็ได้แก่ผู้ที่อาศัยแผ่นดินอยู่ ได้แก่ ไพร่ ทาส ต่างๆ นั่นแสดงว่าคนมีสองพวก
ผมจะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกอันหนึ่ง ถ้าหากเราเปิดกฎหมายที่เราเรียกว่ากฎหมายเบ็ดเสร็จสมัยต้นอยุธยาที่เขียนในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายนั้นบอกชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของแผ่นดิน กฎหมายนั้นบอกไว้อย่างนี้ ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามหาดิลภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัวหากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงวันนี้เวลาคุณฟังเพลงชาติไทย เพลงชาติไทยร้องว่าอย่างไร ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ เป็นรัฐของประชาชน ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นความเปลี่ยนแปลงความแตกต่าง ที่พลิกแผ่นดิน พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เรามักจะลืมกันไป
สิ่งที่ผมอยากจะบอกว่า ถ้าหากอยากจะเห็นความแตกต่างระหว่างบ้านเมืองก่อน พ.ศ. 2475 กับปัจจุบันนี้ กับหลัง พ.ศ. 2475 ขอให้เทียบฐานะผู้คนในแผ่นดิน ในกฎหมายตราสามดวงที่ผมระบุถึง กับเนื้อเพลงชาติไทยในปัจจุบัน บอกชัดเลยว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยเป็นประชารัฐ ทีนี้เมื่อมาดูกันอย่างนั้นแล้ว ผมว่าเราคงต้องดูต่อไปด้วยว่า ถ้าจะดูฐานะ ดูความเปลี่ยนแปลงความแตกต่าง
อันแรกเราเปลี่ยนจากฐานะของคนต่อคน จากเดิมเรามีแค่ไพร่ ข้า ทาส พวกนี้เป็นคนพวกหนึ่งเป็นคนชั้นล่างของสังคม เป็นคนที่ถูกเขาเกณฑ์แรงงาน กับคนอีกพวกหนึ่งคือ เจ้า ขุนนาง พวกนี้เป็นผู้ปกครอง
หลัง พ.ศ. 2475 ความแตกต่างอันนี้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง ด้วยการออกกฎหมายหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างสองอย่างนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนไม่มีปรับไหมลงโทษผู้คนตามฐานะของตัวเอง หลัง พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกการปรับสินไหมตามศักดินา หมายความว่าไม่มีการยอมรับอีกต่อไปว่าผู้คนมีฐานะแตกต่างกันในทางกฎหมาย
อันนี้เป็นเรื่องชี้ให้เห็นถึงความพยายามของท่านปรีดี พนมยงค์ ของคณะราษฎรที่จะพลิกแผ่นดินเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน จากคนที่ไม่เท่ากัน ให้เป็นผู้คนที่เท่ากัน เป็นราษฎรเหมือนกันหมด
ทีนี้นอกเหนือจากการพยายามทำให้คนเท่าเทียมกันในแง่ของกฎหมายแล้ว ผมคิดว่าอีกประเด็นที่สำคัญคือ พยายามทำลายเงื่อนไขที่ทำให้คนนั้นต้องขึ้นแก่กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าก่อน พ.ศ. 2475 คนที่จนนั้นก็จน เหลือหลาย คนที่รวยคนที่มั่งมีก็ต่างกันเยอะกับคนจน ถ้าถามว่าจนขนาดไหน ถ้าจะใช้ภาษาปัจจุบัน จนขนาดที่ว่า “จนลากดิน” ทีนี้วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ทำอย่างไร ผมเห็นชัดอันหนึ่ง ถ้าคนเราจะจนนั้นสาเหตุส่วนหนึ่ง เป็นเพราะว่าเรามีแต่แรงกาย เครื่องมือทำกินไม่มี แผ่นดินก็อาศัยเขาอยู่ ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะไม่จนนัก หลัง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เสนอกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมา เพื่อประกันว่าถึงจะจนอย่างไร ก็ไม่ยากไร้ถึงขนาดที่ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ทำกิน นั่นคือการออกกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติห้ามยึดทรัพย์กสิกร” ใน พ.ศ. 2475 อันนั้นเป็นเครื่องประกันอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคุณจะโชคร้ายอย่างไรก็ตาม คุณยังมีเครื่องมือเครื่องไม้ มีวัวมีควายสำหรับที่จะทำมาหากินต่อไปได้ สำหรับที่จะใช้แรงงานที่มีอยู่ก่อให้เกิดผลต่อไปได้ อันนั้นเป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งว่าการพลิกแผ่นดินคราวนั้น ต้องการที่จะทำให้สถานะของคนนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ลดการขึ้นแก่กัน นอกจากนั้นยังมีกฎหมายห้ามถือที่ดินเกินขนาด เกินความสามารถที่จะทำกินได้ ถ้าจำไม่ผิดยกเลิกสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้คนได้ถือครองที่ดินเกินขนาดได้
นอกจากนั้นแล้ว ถ้าหากดูในเค้าโครงเศรษฐกิจ ท่านปรีดีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่างเค้าโครงเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ซึ่งในท้ายที่สุด ถูกตีโต้จนกระทั่งถอนออกไปและไม่มีโอกาสนำมาใช้เลย ในสมุดปกเหลืองนั้น ชี้ชัดว่าท่านปรีดีมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน โดยให้คนที่ทำงานได้เป็นเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะขอซื้อที่ดินในมือผู้ที่ไม่มีความสามารถจะทำกินได้ ที่ถือครองไว้มากเหลือเกิน เอามาจัดสรรปันส่วนให้ชาวนา โดยที่ยินดีจะให้พันธบัตร คือจะซื้อที่ดินด้วยพันธบัตร อันนั้นอยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจ ยิ่งกว่านั้นในเค้าโครงเศรษฐกิจอันหนึ่ง ก็พยายามที่จะประกันไม่ให้คนยากจนถึงขนาดแร้นแค้นไม่มีกิน นั่นคือการเสนอหลักการว่าจะมีการประกันการมีงานทำไม่ให้คนตกงาน อันนั้นอยู่ในเค้าโครงเศรษฐกิจ
และนอกจากการเปลี่ยนแปลงพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนฐานะของคน ไม่ให้คนขึ้นแก่คนมากเกินไป อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กับชาติบ้านเมืองคือ “การกู้ชาติ” ถ้าเรามองดู นอกจากเปลี่ยนระเบียบภายในบ้านเมืองนี้แล้ว สิ่งที่ท่านปรีดีพยายามทำคือทำให้บ้านนี้เมืองนี้รอดพ้นจากการขึ้นกับต่างชาติ
เริ่มแรกนั้น พยายามจะไม่ให้คนในบ้านเมืองเดียวกันขึ้นแก่กัน ไม่ให้เป็นทาสแก่กัน ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามจะทำให้บ้านเมืองของเราไม่ขึ้นกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านปรีดีขึ้นมานั้น ก็พยายามจะแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหมายความว่า ถ้าหากคนฝรั่งทำผิดกฎหมายไทย เขาไม่ยอมรับกฎหมายไทย ต้องขึ้นศาลของประเทศเขา
อันนั้นแสดงว่าประเทศชาติไม่มีอิสระที่จะไปตัดสินคนที่ทำความเสียหายในบ้านเมืองได้ ต้องให้ต่างประเทศตัดสิน กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นก็ได้พยายามทำกันมาตลอด แต่มาสำเร็จจากความพยายามสมัยท่าน อันนั้นผมอยากจะเรียกว่าเป็นความพยายามที่จะกู้ฐานะของประเทศชาติ ยกฐานะของประเทศชาติให้ขึ้นมาเสนอกับนานาอารยประเทศที่สามารถใช้กฎหมายของตนได้กับคนทุกชาติที่ทำผิดในชาติของตน
อีกอันซึ่งผมคิดว่าผู้คนไม่ลืม อยากจะใช้ภาษาของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คนที่ลืมเรื่องนี้จะเป็นคนไม่รู้คุณคน คนจะลืมเรื่่องนี้ไม่ได้ตราบใดที่เราเป็นคนไทย คือเรื่องราว ของเสรีไทย ขบวนการเสรีไทยนั้นไม่มีทางเถียงได้ว่าไม่ใช่ขบวนการกู้ชาติกู้แผ่น ดินไม่ให้ตกเป็นประเทศแพ้สงคราม งานชิ้นนี้เป็นงานใหญ่โต เป็นงานของคนทุกฝ่าย และแน่นอน ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศแพ้สงคราม
นอกจากกู้ชาติแล้ว ประเด็นถัดไปเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่โตมีผลมาจนถึงทุกวันนี้นั้นคือการสร้างชาติ ในแง่ของการสร้างชาติ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมสอนเศรษฐศาสตร์ ผมอาจจะพูดได้มาก แต่จะไม่พูดให้มาก เพราะว่าผมไม่ได้พูดกับนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ การที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะให้เราจัดการการเงินของเราได้อย่างอิสระ การที่มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและมีแผนเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้นั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เป็นความริเริ่มของท่านปรีดี พนมยงค์ แต่นั่นเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว แต่เรามาเริ่มทำปี พ.ศ. 2504 ถ้าเราถือว่าบ้านเมืองทุกวันนี้เจริญมาได้เพราะการวางแผนเศรษฐกิจ ทำไมเราไม่นึกว่าถ้าเราวางแผนตอนนั้น เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี พนมยงค์ ถ้าหากว่าได้รับการยอมรับ บ้านเมืองของเราจะเจริญกันมากถึงขนาดไหน
ผมอยากจะเน้นว่าในการสร้างชาติ ท่านปรีดีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสร้างชาติทางเศรษฐกิจเข้ามาใช้ด้วยการวางแผน และที่สำคัญที่สุดคือให้รัฐเป็นตัวนำในการวางรากฐานสร้างความมั่งคั่งทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ความริเริ่มที่จะวางรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นอุตสาหกรรมได้เริ่มมาตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีคนที่มีทุนพอจะทำอุตสาหกรรม รัฐบาลนับตั้งแต่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม ด้วยการอาศัยเงินของรัฐเป็นหลักที่เราเรียก “รัฐวิสาหกิจ” หรือเศรษฐกิจชาตินิยม จะล้มเหลวหรือจะสำเร็จอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้นั้นคือความริเริ่มนี้มาหลัง 2475
ทำไมเราต้องพัฒนาเศรษฐกิจ ทำไมเราต้องพัฒนาความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ผมคิดว่าในกรณีเช่นนี้ คนอ่านประวัติศาสตร์จะพบว่าความพยายามครั้งแล้ว ครั้งเล่าก่อนหน้า พ.ศ. 2475 ไม่เป็นผลสำเร็จเลย จะเห็นได้ว่าการก่อการ ร.ศ. 130 หรือ กบฏเก๊กเหม็งนั้น เหตุอ้างที่สำคัญคือ ประเทศชาติเราทั้งๆ ที่อุดมสมบูรณ์ แต่ผู้คนนั้นอดตายเสมอมา คนอย่าง ร้อยโท เหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม ร.ศ. 130 มีทหารเข้าร่วมจำนวนมาก ทหารจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นชัดว่าแม้ในท้องที่อย่างอำเภอนครไชยศรีนั้น ผู้คนก็อดตาย สาเหตุที่อดตายคือเนื่องจากเศรษฐกิจของเรานั้นแย่มันทรุดโทรม ไม่มีการทำนุบำรุงจากรัฐบาลเลย
เพราะฉะนั้น พ.ศ. 2475 รัฐบาลจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะ “วางรากฐานทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” อันนั้นเป็นการกระทำที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยนับแต่บัดนั้น จนกระทั่งขณะนี้ก็เดินตามแนวนั้นไม่เปลี่ยนไป ที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคนั้น แม้ว่าเราพยายามจะทำ และดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากยุคนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเด่นชัดคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงนั้น เป็นการพัฒนาแบบมุ่งที่จะพึ่งตัวเอง
ในเค้าโครงเศรษฐกิจนั้นระบุแน่ชัดว่า ประเทศเราพยายามที่จะใช้เครื่องจักรใช้กลไกมาก แต่จะพึ่งต่างประเทศให้น้อยที่สุด และทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจนกระทั่งเราเป็นหนี้ท่วมหัวในขณะนี้นั้น เป็นไปในลักษณะที่มีปรัชญาแตกต่างกับเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ประเทศเราเริ่มเปลี่ยนปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนที่จะมุ่งพึ่งตนเอง เอาทรัพย์สินที่เรามีมาลงทุน กลายเป็นว่าเรากู้เขามาก่อนได้ถ้าเราไม่มี สิ่งนี้ไม่ได้อยู่แค่รัฐบาลแต่มันระบาดไปถึงผู้คนทุกคน ในเช้าทุกวันนี้ถ้ารถติดจอดรถไปเคาะกระจกคนข้างๆ และถามว่ารถคันนี้เหลือผ่อนอีกกี่เดือน ผมว่าโดนหมัดสวนมาแน่ เพราะมันกระทบจิตใจทุกคนที่ขับรถอยู่ เพราะไม่มีรถคันไหนเลยที่ไม่ผ่อนอยู่ นี่คือแนวความคิดที่มาหลัง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ “ยืมเขามาก่อนถ้าไม่มี” แต่ว่าสมัย พ.ศ. 2475 นั้นเราเน้นการพึ่งตัวเองเป็นหลักสำคัญ
และสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด บังเอิญเป็นการอภิปรายไม่ได้เป็นการบรรยาย เพราะหากผมว่าโดยรายละเอียด เมื่อผมได้กลับบ้านก่อน แล้วพอผมถึงบ้านแล้ว ผู้อภิปรายเหล่านี้คงพึ่งจะอภิปรายจบ เพราะฉะนั้นจะรวบรัดให้จบประเด็นสุดท้าย ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องตระหนักคือ มีข้อโต้แย้ง มีข้อวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรเช่นเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ มากมาย เช่น บอกว่าจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติในครั้งนั้น เป็นการกระทำที่ล้มเหลว เป็นการกระทำที่ถอนรากถอนโคนอารยธรรมไทย เป็นการปฏิวัติของคนชั้นสูงเพื่อคนชั้นสูงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะกำหนดกฎเกณฑ์ เราจะวางหลัก เราจะตั้งธง ว่าความสำเร็จนั้นคืออะไรนี่เป็นเรื่องสำคัญ การจะบอกว่าการกระทำอะไรสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกันก่อนว่าต้องทำให้สำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง บางคนก็บอกว่าสำเร็จสิ เพราะมีการยึดอำนาจได้ บางคนบอกยึดอำนาจได้นั่นแหละมันไม่สำเร็จ เพราะหลังจากนั้นมันเสียอำนาจ มันก็เถียงกันได้
สิ่งที่ควรจะต้องคุยกันคือว่า ตกลงกันก่อนอย่างนี้ดีไหม เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนั้นไม่ใช่ละครฉากเดียวจบ ไม่ใช่ละครตอนเดียวจบ แต่มันเป็นลูกคลื่นที่เกิดขึ้นอันหนึ่งแล้วจะต้องสะท้อนออกไป บ้านเมืองไม่ได้เปลี่ยนได้ในเวลา 3 ปี 5 ปี เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มทำขึ้นมา จะบอกว่าสำเร็จไม่สำเร็จด้วยเขาคนเดียวนั้น เป็นเรื่องที่พูดยาก และที่สำคัญผมอยากจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว หรือของคนกลุ่มเดียว และยิ่งกว่านั้นมันไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นเดียวด้วย
ถ้าเราบอกว่าจะประเมินความสำเร็จของคณะราษฎร ของท่านปรีดี พนมยงค์ คำถามคือเราในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง เรากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เราเพียงแต่รอเสวยผลพวงของคนที่เสียสละในอดีต และก็นั่งคอยเป็นกรรมการตัดสินว่าถ้าเราได้ เราสำเร็จ ถ้าเราไม่ได้ ไม่สำเร็จ ผมคิดว่าทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองนั้นมีพันธะที่จะต้องทำสิ่งดีให้มันดีขึ้น ให้มันถึงที่สุด
ถ้าเราจะต้องประเมินบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ของคณะราษฎรที่มีต่อประชาธิปไตยไทย ที่มีต่อสังคมไทย ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงอย่างน้อยที่สุด ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นคนจุดประทีปแห่งประชาธิปไตยขึ้นเป็นคนแรก และพยายามจะประคองประทีปน้อยอันนั้นให้ไปถึงฝั่ง ให้ไปถึงจุดหมายให้ได้ แน่นอนตลอดเวลาที่ผ่านมาบางครั้งลมกระโชกแรง บางครั้งกระโชกเบา บางครั้งกระโชกถี่ บางครั้งนานๆ ก็กระโชกทีหนึ่ง แต่ว่าเราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า คนที่จุดประทีปนี้ขึ้น คนที่ประคองประทีปนั้นมาถึงช่วงหนึ่งของอายุขัย ไม่มีความหมาย เพียงเพราะว่าประทีปนั้นมันไม่ถึงที่สุด อย่างนั้นหรือ
ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือว่าการพลิกแผ่นดินให้คนทั้งหลายได้มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน ถ้าหากว่าการกู้ชาติ ถ้าหากว่าการสร้างชาติให้ประเทศมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เป็นความดี เป็นคุณูปการของผู้กระทำแล้วไซร้ ผมอยากรู้ว่าใครจะปฏิเสธได้ว่า คนอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่คนดีศรีอยุธยา ขอบคุณครับ
ที่มา : แล ดิลกวิทยรัตน์, การอภิปรายเรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับประชาธิปไตยไทย” ณ เรือนไทยหอประชุมภายในเขตอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พฤษภาคม, 2529.
- วันปรีดี พนมยงค์
- แล ดิลกวิทยรัตน์
- ปรีดี พนมยงค์
- ประชาธิปไตย
- เผด็จการทหาร
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- อนุสรณ์สถานกรุงเก่า
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
- คณะราษฎร
- พระพิมลธรรม
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- เค้าโครงเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- ส. ศิวรักษ์
- ขบวนการเสรีไทย
- ร.ศ. 130
- กบฏเก๊กเหม็ง
- รัฐวิสาหกิจ