ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“กรุงเทพกลางแปลง” ความแรงของพลังแฝง กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และจิตใจ

23
กรกฎาคม
2565

ความสำเร็จของ “กรุงเทพกลางแปลง” เทศกาลหนังกลางแปลงที่จะถูกจัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 7-31 กรกฎาคม 2565 โดยความร่วมมือของภาครัฐ (กรุงเทพมหานคร) และเอกชน (สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, หอภาพยนตร์ไทย, สมาคมหนังกลางแปลง, Better Bangkok (ชมรมกรุงเทพฯ น่าอยู่กว่าเดิม), DOC CLUB และเครือข่ายผู้สนับสนุน ฯลฯ ร่วมกันจัดฉายภาพยนตร์ 25 เรื่อง โดยเลือกเรื่องที่มีบริบทเกี่ยวโยงกับย่านที่จัดฉาย 10 จุด ถูกสุดด้วยงบสนับสนุนเพียง 150,000 บาท เป็นวาระเดียวกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ทำงานครบ 1 เดือนพอดี จึงเป็นบรรยากาศของความรื่นรมย์อย่างมีความหวัง เพราะเป็นความรื่นเริงที่มาพร้อมผู้จุดประกายความหวังใหม่ให้กับประเทศไทย 

หลังจากที่ประชาชนทนเงียบเหงาเพราะพิษโควิด-19 และอยู่ในสภาพไร้หวังของบ้านเมือง (Health Crisis + Economic Crisis) ยุคนายก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอดเวลา 8 ปี มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ภายใต้บริบทของความคาดหวังสูงเพื่อการฟื้นฟูระบบราชการ และงานที่ชัชชาติรับผิดชอบ ซึ่งส่งผลกระเพื่อมถึงทุกองคาพยพในระบบราชการไทย

ท่านกลายเป็นแม่แบบและสัญลักษณ์ใหม่ของนักการเมืองในอุดมคติของประชาชนไปแล้ว รวมถึงความหวังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงหนังกลางแปลงเท่านั้นที่ใฝ่ฝันถึงการเติบโตโดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง 

แม้ว่าหลายส่วนจะอยู่นอกสายงานความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร แต่ทุกฝ่ายยังคงตั้งหวังกับผู้ว่าฯ ที่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของวิถีบันเทิงไทย มูลค่าทางธุรกิจ และชีวิตคนกลางคืน จะเป็นกระบอกเสียงและกำลังสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ แม้ต้องใช้เวลาและต้องแข่งกับปัจจัยถ่วงหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม เพราะกทม. ประกาศนโยบายผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก นั่นหมายถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหัพภาค จากนี้ไป

 

“กรุงเทพกลางแปลง” พลังแฝงที่มากกว่าการถวิลหาอดีต

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 คนรักหนังพุ่งออกจากบ้านตั้งแต่บ่ายสามตั้งใจไปดูหนังในเทศกาลหนังกลางแปลง เพราะความแรงของ “4 Kings” พุฒิพงษ์ นาคทอง เขียนบท-กำกับภาพยนตร์ สร้างโดย เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) 

ภายในบริเวณงานผู้คนหลากหลายหนาตา บ้างกำลังตั้งวงอาหารเย็น บ้างตอกเส้นนวดไทย ฯลฯ ตะลึงลานหญ้าโล่งกว้างตั้งวางจอใหญ่ขนาด 20 เมตร โดยพี่ตุ๊กหรือพี่แผน นิมิตร สัตยากุล ขุนแผนภาพยนตร์ กาญจนบุรี - ผู้ก่อตั้งสมาคมหนังกลางแปลง จัดเต็มมาพร้อมเครื่องไฟ-เครื่องฉาย-เครื่องกระจายเสียงครบครันคุณภาพระดับท็อป บนพื้นที่กว้างขวางจนทำให้คิดถึงหนังกลางแปลงแบบไดร์ฟอินช่วงฤดูใบไม้ผลิในอเมริกา ที่ฉายพร้อมกันได้หลายจอ ผู้ชมสามารถเลือกรับฟังเสียง AM - FM หรือเช่าลำโพงพกพาฟังได้ในรถที่เรียงรายลดหลั่นไล่ระดับ ไม่รบกวนกัน กับจอหนังกลางแปลงที่ใหญ่สุดของอเมริกา ในรัฐแมรีแลนด์ เมืองบัลติมอร์ แต่จอคงไม่มโหฬารเท่าเมืองไทย เพราะเรามีหนังกลางแปลงขนาดใหญ่ของ แอ๊ด เทวดา (วัชรพล ลิมปะพันธุ์ หรือ ชื่อเดิม สิบตรีคำรณ หน่ายจันทร์) นักประดิษฐ์ผู้สร้างตำนานหนังกลางแปลงที่โด่งดังได้ฉายา “จอซุปเปอร์ลูกทุ่ง” 

 

 

ผู้คนจับจองที่นั่งดูปูเสื่อกันตามอัธยาศัย ทั้งในเต็นท์นอกเต็นท์เป็นบรรยากาศที่แสนรื่นรมย์ เดินชมร้านอาหารคาวหวานมากมายหลากหลายของอร่อย สอยไก่ย่างข้าวเหนียวมาเคี้ยวแกล้มเสียงดนตรีร็อกจาก Black Head วงดัง ฟังไกลๆ ตรงข้ามกับหน่วยปฐมพยาบาลเผื่อป้าเป็นลมให้เขาแบก ได้รับแจกน้ำขิงสำเร็จรูปมาสองกล่องจากสปอนเซอร์ใจดี มีนมโยเกิร์ตกับขนมถั่วจากโก๋แก่ ช่วยให้ไม่ต้องซื้อน้ำ นั่งข้างกองแยกขยะของ กทม. มีเจ้าหน้าที่กวาดถนนเป็นคนคอยรอรับขยะด้วยความยินดีแทน pretty ต้อนรับภายในงาน 

กลุ่มจ้างวานข้า จาก มูลนิธิกระจกเงา เข้าอาสา รับพลาสติกไปใช้ประโยชน์ต่อในโครงการ “ชรารีไซเคิล” สราญใจกับการให้สัมภาษณ์น้องตี๋น้อย ครูหนุ่มเรียบร้อยน่ารักจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ youtuber สมัครเล่นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เขาเคยมาเที่ยวไทยครั้งยังเป็นนักศึกษาแล้วหลงรัก ติดใจนักในบ้านเมืองและผู้คน จนมีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มา 6 ปีแล้ว 

ภายในงานเต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศวัย ดีใจที่เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่มากันหนาตา ก่อนฉายหนังมีกิจกรรมดารานำ เป้ อารักษ์ กับผู้กำกับมาพูดคุย พร้อมยืนยันข่าวดีว่า ตุลาคม 2565 มาแน่ 4 คิงส์ภาค 2  แต่ไม่มี เป้ 

หอภาพยนตร์ส่งหนังสั้นคัดสรรมาเสิร์ฟอีกเรื่องเป็นหนังเงียบชื่อ “นักศึกษาอาชีวะชุมนุมประท้วง” เป็นการนำเข้า “4 Kings” ได้อย่างกลมกลืน ฝ่าคลื่นคนดูไปถึงหน้าจอจุดที่เต็มไปด้วยเด็ก-วัยรุ่น-กับครอบครัวนั่งกินข้าวเกรียบว่าว-ข้าวโพดคั่วเสียงก็อปแก็ป ทำให้แอบคิดถึงวัยเด็ก เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปหาอดีตอีกครั้ง

กว่าจะเป็นคนรักหนังคงไม่ใช่เหตุบังเอิญแน่นอน เพราะตอนเป็นเด็กเกิดและเติบโตมากับครอบครัวใหญ่อาศัยอยู่กับคุณย่าคุณปู่ ท่านเป็นนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น เป็นพ่อเมืองคนเก่งใจดีที่ผู้คนนับหน้าถือตาเรียก คุณพ่อ นอกจากพันธกิจในราชการ ที่บ้านท่านยังเป็นเภสัชกรตั้งโรงงานผลิตยาแผนโบราณ มีหน่วยงานฉายหนัง (ตระเวนขายยาตามจังหวัดต่างๆ) ด้วยเตาถ่าน

กลับไปที่หน้าจอ “4 Kings” ขอโทษที่เคยมองข้ามหนังเรื่องนี้เพราะไม่ชอบความรุนแรง เพิ่งได้พบว่ามันเป็นหนังดีที่ควรดูแม้ทรมานกับภาพความจริงที่โหดร้าย เหมือนฉายสารคดีชีวิตนักศึกษาอาชีวะ ที่ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ให้เป็นหนังประณีตในงานสร้าง รู้สึกสยองขวัญสั่นประสาทเป็นระยะขณะนั่งชมอย่างขมขื่น ขณะเดียวกันก็ชื่นชมทีมสร้างว่าช่างรังสรรค์ภาพรันทดได้งดงามเต็มความหมาย content ดีแท้ แล้วโชคก็ทำเอาคนรักหนังนั่งไม่ติด เมื่อเหลือบไปเห็นบุคคลสำคัญมาปรากฏกาย ผู้คนมากมายวิ่งไปถ่ายรูปถ่ายวิดีโอตามกันพรึ๊บเป็นพรวน คนรักหนังตัดใจทิ้งหนังที่กำลังถึงตอนสำคัญเผ่นไปหาคนสำคัญเช่นกัน มันเป็นเวลาเกือบสามทุ่มกว่าแล้วท่านยังอุตส่าห์มาตรวจงานตามลำพัง พันธกิจสำคัญในคืนนี้ ไม่เพียงเช็คงานหนัง แต่ท่านยังต้องตามล่าปลาไปฝากคุณแม่ ผู้ถวิลถึงบรรยากาศหนังกลางแปลงและปลาหมึกปิ้งที่ไม่ได้ลิ้มรสมา 50 กว่าปีแล้ว

 

 

หนังกลางแปลงไทยกับลมหายใจสุดท้าย? 

สถานการณ์ของหนังกลางแปลงในประเทศไทยเริ่มซบเซามาตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสู้กับสิ่งบันเทิงยุคใหม่ สนองรสนิยมคนดูเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมหนังกลางแปลงจิ๋วหลายจอ จาก สมาคมไทยแลนด์หนังจิ๋ว Fc จัดจำลองหนังกลางแปลงฉายจอจิ๋วย่อส่วนเล็กสุด 14 นิ้ว ฉายหนังเก่าด้วยระบบโปรเจ็คเตอร์  

บางหน่วยเล่นหนังฟิล์มม้วนเล็ก มีลำโพงจริงครบชุด หรือ หนังเธคที่เน้นการเปิดเพลงเต้น ล้วนเน้นโชว์แสงสีเสียงเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเสพสุนทรีย์ศิลป์จากการชมภาพยนตร์มากนัก แม้การจัดงานมหกรรมหนังเน้นจำนวนมาก 100 จอ ก็เพื่อประกาศการเป็นอยู่อย่างประคับประคอง และเรียกร้องความใส่ใจ เอนก ศาลายา (ชื่อจริง เตชธรรม เลิศลบ เจ้าของหนังกลางแปลง “เอนกมงคลฟิล์ม” ผู้ประกอบการและตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์หนังกลางแปลงทั่วประเทศ หนึ่งในคณะผู้จัดงาน “มหกรรมอนุรักษ์หนังกลางแปลงเพื่อการกุศล” 100 จอ  ได้ให้สัมภาษณ์กับ กวินพร เจริญศรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ยืนยันว่า

“ปัจจุบันนี้บริษัทที่ให้เช่าฟิล์มน่าจะเหลือน้อยแล้วครับ เมื่อก่อนจะแบ่งออกเป็นเขตตามภาค กลาง เหนือ อีสาน ตะวันออก ใต้ ราคาจะขึ้นอยู่กับหนังเก่าใหม่ หนังเก่าจะถูกหน่อย เขตผมภาคกลางเช่าบริษัท ธนาซีเนเพล็กซ์ เขาจะคิดราคาต่ำสุดตั้งแต่ 100 บาท จนถึงหลายหมื่นครับ / ปัจจุบันค่าเช่าลิขสิทธิ์ก็มีตั้งแต่ 500-5,000 บาท ส่วนใหญ่จะลงขันกันซื้อเลยมากกว่าครับ  

หนังของผมซื้อมาจากบริษัทที่ถือสิทธิ์ในประเทศไทย แล้วเอามาจัดจำหน่ายให้กับสมาชิกของเรา ที่เขาจะมีกำลังซื้อไม่เท่ากัน แม้กำลังซื้อน้อยก็สามารถเข้าถึงหนังได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นหนังใหม่เช่น 4 คิงส์ ผมซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อจัดจำหน่ายในระบบกลางแปลง จะได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่าย 3 ปี ก็ขายให้กับสมาชิกจอละ 10,000 บาท ฉายในเขตที่เรากำหนดให้เขาภายในระยะเวลา 3 ปี / แต่ถ้าไม่มีกำลังซื้อแล้วเจ้าภาพต้องการหนังก็สามารถเช่าได้ ราคาขึ้นอยู่กับพื้นที่มีตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท 

ส่วนใหญ่จะลงขันกันซื้อเลยมากกว่าครับ ผมจะจัดหนังเป็นชุด ชุดหนึ่งมี 4-5 เรื่อง จนถึง 10 เรื่อง แล้วแต่ความใหม่เก่าของหนัง ราคาเริ่มตั้งแต่ 2,000 บาท จะคิดเป็นรายปีๆ ละ 6,000 บาท จัดหนังให้ 90 เรื่อง”

“จอในเขตภาคกลางมีตั้งแต่ 5-6 เมตรขึ้นไป จนถึงใหญ่สุดไม่น่าเกิน 16-20 เมตร แต่ในเขตภาคกลางนิยมที่สุดขนาด 8 เมตรครับ แต่ภาคอีสานนิยมจอใหญ่ยิ่งใหญ่ยิ่งดีจะเริ่มตั้งแต่ 8-10-12-14-16 ยันเกิน 20 กว่าเมตรก็มีครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกำลังการจ้างของเจ้าภาพครับ แต่ถ้าเป็นทางภาคตะวันออก ภาคใต้ จะนิยมจอเล็กๆ ไม่ใหญ่ 6-7 เมตรแค่นั้นเองครับ ส่วนค่าจ้างต่อหน่วย ถ้าไปบนรถกระบะเล็กๆ เริ่มต่ำสุดอยู่ที่ 3,000-3,500 บาท ไม่เกิน 5,000 บาท / ถ้าเป็นหน่วยขนาดกลางราคาจะอยู่ตั้งแต่ 6000-10,000 บาท / ถ้าเป็นหน่วยใหญ่ขนาดมาตรฐานสูง ขนาดจอใหญ่เครื่องเสียงเยอะก็ 20,000 ไปถึงเป็นแสน ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่นำไปตามที่ตกลงกับเจ้าภาพครับ”

“กระแสของ กรุงเทพกลางแปลง ทำให้คนรู้จักมากขึ้นแน่นอนครับ แต่จะดีขึ้นหรือไม่พวกเราไม่ใช่คนตัดสินใจครับ เจ้าภาพต่างหากที่จะเป็นคนตัดสินใจว่าจ้างหนังกลางแปลงเป็นมหรสพที่เขาต้องการไหม ภาพรวม หนังกลางแปลงล้มหายตายจากไปเยอะตั้งแต่เจอพิษโควิดมา 2-3 ปีมาแล้ว ที่ยังอยู่ได้นี่เพราะบางคนเขามีงานประจำ แต่คนที่เคยประกอบอาชีพหนังกลางแปลงอย่างเดียวเลิกไปเยอะมากครับ 

ผมทำหนังกลางแปลงมา 15 ปี เริ่มต้นจากความชอบตั้งแต่เด็กๆ เท่าที่จำได้ไม่เคยมีผู้นำคนไหนให้ความสำคัญหรือพูดถึงอาชีพหนังกลางแปลงอย่างพวกเราเลย จนกลายเป็นประเด็นที่ท่านผู้ว่าชัชชาติพูดถึง ทำให้เรารักประทับใจชื่นชมมากเลยครับ เพราะอย่างน้อยยังมีคนนึกถึงว่ายังมีอาชีพนี้อยู่ครับ หลังงานเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ถ้าภาครัฐให้ความสนใจกับงานตรงนี้บ้างสักนิดหน่อย เวลามีการจัดงานก็ให้หนังกลางแปลงไปเป็นหนึ่งในมหรสพด้วย ผมว่าน่าจะช่วยทำให้อาชีพหนังกลางแปลงดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้นะครับ” ตัวแทนกลุ่ม Love Cinema ฝากวิงวอนไว้

 

หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

 

นนทรีย์ นิมิบุตร
นนทรีย์ นิมิบุตร

 

บริษัทผู้สร้างและผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย ต้นธารของหนังกลางแปลง เป็นตาน้ำที่เหือดแห้งเพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายการทำงานของรัฐไทยมาทุกยุคทุกสมัย ตัวแทนผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร หนึ่งในผู้นำการต่อสู้ปลดแอกหนังไทย ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“ในยุคปัจจุบันการสร้างหนังไทยเรามองการตลาดเป็นหลักนำ แม้แต่การเลือกดารานายทุนยังถามยอดแฟนติดตามเท่าไหร่?!?! ความตั้งใจจริงของเราต่างหากที่มันชัดเจน ความเป็นเรานี่แหละเป็นไทยอยู่แล้ว เราเป็นคนไทยคิดแบบไทยอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่เอาการตลาดตั้ง แล้วภาครัฐมีเงื่อนไขในการทำงาน ไม่ให้อิสระในการคิดการสร้างมันก็จบ ทำไมประเทศอื่นเขาทำได้หมด แต่เราถูกจำกัดจำเขี่ยมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเข้าใจว่ามันสำคัญจริงๆ นะ คำว่า soft power แปลว่าเราต้องนำเสนออะไรที่เป็นความคิดของเราให้ได้ ในแบบอิสระเสรีด้วย เราต้องคิดได้ ทำได้ในแบบของเราด้วย เราควรวิจารณ์คุณได้นั่นคือสิ่งที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่คุณปิดหูปิดตาหมดแล้วบอกว่าประเทศไทยแสนสวยงาม เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เขาอยากดูมันคือความเป็นเราในแบบที่เราเป็นเราด้วย”

“สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการทำหนังดี หนังดีคือหนังที่เราจริงใจกับมันมากๆ soft power ไม่ใช่มีแค่วัฒนธรรม เพราะความเชื่อของคนไทยในเรื่องต่างๆ เราคิดไม่เหมือนกัน แต่ละประเทศก็คิดไม่เหมือนกัน ถ้าเราเอาความเชื่อของเราออกไปให้เขาดูจะทำให้หนังเรื่องนั้นชาติไหนก็ดูได้ ไปฉายที่ไหนคนก็เข้าใจ เพราะเราพูดในบริบทของความเป็นเรา ตีความในแบบเรา ทำหนังให้เป็นตัวเราเท่านั้นแหละ 

ขอให้เราซื่อสัตย์กับจริงใจกับการทำงานเท่านั้นเอง แม้วันนี้รัฐลุกขึ้นมาพูดถึง soft power ผมไม่เชื่อว่าเขาเข้าใจมันจริงๆ ผมเคยให้สัมภาษณ์เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ว่าผมกับเป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับหนังไทยนอกกระแส นำหนังไทยสู่ตลาดสากล) เอานมถั่วเหลืองของประเทศไทยไปยืนแจกให้คนชิมมานานมากแล้ว เกือบจะสำเร็จแล้ว แต่ทุกอย่างก็ล่มสลาย... ไทยเราเคยนำหน้าไปก่อนเกาหลีแล้วครับ ต้มยำกุ้งเอย อะไรเอยอีกหลายเรื่อง  แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเห็นคุณค่าของมัน ถึงวันนี้รัฐก็ยังไม่เข้าใจในทิศทางที่ควรจะเป็น”

คนรักหนังได้แต่หวังว่า “กรุงเทพกลางแปลง” จะเป็นคบเพลิงนำทิศทางภาพยนตร์ไทย และหนังกลางแปลงฟื้นคืนมาในสถานะใหม่ ที่ไม่ใช่แค่มหรสพงานวัด จัดแก้บน ฯลฯ แต่พุ่งชนแนวทางที่มีพัฒนาการแบบก้าวหน้ากว่าที่เคย เพราะศิลปะภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงมหรสพเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่คือเครื่องมืออันทรงพลังของทั้งเศรษฐกิจและการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐไม่ควรมองข้าม เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรเหลือเฟือที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์โลก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ภูมิประเทศ เทคโนโลยี ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษา ใส่ใจอย่างจริงจัง และจริงใจ เพื่อให้ soft power ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น